วันอังคารที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2564

“กิ่งใบใครว่าไม่สำคัญ”

“กิ่งใบใครว่าไม่สำคัญ”

ต้นไม้ที่มีกิ่งและใบวิบัติแล้ว สะเก็ดก็ดี เปลือกก็ดี กระพี้ก็ดี แม้แก่นของต้นไม้นั้นก็ดี ก็ย่อมไม่บริบูรณ์เช่นกัน

บุคคลผู้มีศีลวิบัติแล้วก็เช่นเดียวกัน ย่อมไม่บริบูรณ์ด้วยคุณอันยิ่งขึ้นไป เพราะเป็นผู้มีรากคือศีลอันถูกกำจัดแล้วนั่นเอง คือ

๑. ความทุศีล  ย่อมก่อให้เกิดความเดือดร้อนใจในภายหลัง (วิปฏิสาร)    ๒. ความเดือดร้อนใจ  ย่อมก่อให้เกิดความไม่ความปลื้มใจ (ปราโมทย์วิบัติ)    ๓. ความไม่ปลื้มใจ  ย่อมก่อให้เกิดความไม่อิ่มเอมใจ (ปีติวิบัติ)     

๔. ความไม่อิ่มเอมใจ  ย่อมก่อให้เกิดความไม่สงบจากกิเลส (ปัสสัทธิวิบัติ)   ๕.  ความไม่สงบจากกิเลส   ย่อมก่อให้เกิดความไม่สบายกายไม่สบายใจ (สุขวิบัติ)    

๖.  ความไม่สบายกายไม่สบายใจ  ย่อมก่อให้เกิดความไม่ตั้งใจมั่นโดยชอบ (สัมมาสมาธิวิบัติ)    ๗. ความไม่ตั้งใจมั่นโดยชอบ  ย่อมก่อให้เกิดความไม่รู้เห็นตามความเป็นจริง (ยถาภูตญาณทัสสนะวิบัติ)   

๘. ความไม่รู้เห็นตามความเป็นจริง  ย่อมก่อให้เกิดความไม่เบื่อหน่ายในกองทุกข์และไม่คลายกำหนัดในกามคุณ (นิพพิทาและวิราคะวิบัติ)   

๙. ความไม่เบื่อหน่ายในกองทุกข์และไม่คลายกำหนัดในกามคุณ  ย่อมก่อให้เกิดความไม่รู้เห็นในความหลุดพ้น (วิมุตติญาณทัสสนะวิบัติ)

เมื่อยังไม่รู้เห็นว่า “หลุดพ้นแล้วจากอาสวะ” ก็เท่ากับยังต้องเดือดร้อนอยู่ในสังสารวัฏคือต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ต่อไป

ส่วนบุคคลผู้มีศีลบริสุทธิ์ย่อมไม่เดือดร้อนใจ มีความปลื้มใจ มีความอิ่มเอมใจ ใจสงบจากข้าศึกคือกิเลส เกิดความสุขกายสบายใจจริง เมื่อจิตตั้งมั่นโดยชอบและถูกทางแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง เกิดความเบื่อหน่ายคลายความกำหนัดในกองทุกข์ทั้งปวง จนเกิดความรู้เห็นว่า “หลุดพ้นแล้วจากอาสวกิเลสทั้งปวง” ดังนี้ เพราะฉะนั้น อย่าให้มูลรากคือศีลของตนถูกกำจัดเด็ดขาด.

สาระธรรมจากปฐมอุปนิสสูตร

พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ)

7/9/64




Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: