“การปฏิบัติธรรม” คืออะไร? จุดมุ่งหมายของ “การปฏิบัติธรรม” นั้นเพื่ออะไร?
“การปฏิบัติธรรม” มิใช่เป็นเพียงการแสดงแบบ หรือแสดงท่าทางด้วยกิริยาอาการภายนอก แท้จริงเป็น “การปฏิวัติดวงใจ” ของผู้ปฏิบัตินั้นเอง ให้กลับกลายจากความเป็นแหล่งที่รับทุกข์มาเป็นแหล่งที่เต็มไปด้วยสุข, จากความเป็นทาสไปสู่ความเป็นอิสระจากธรรมชาติฝ่ายต่ำของใจทุกๆประการ, ดวงจิตที่เคยถูกอวิชชาหุ้มห่อ กลับกลายเป็นจิตที่ผ่องใสแหลมคมต่อการทำลายรากเหง้าของความทุกข์หรือสิ่งที่ตนไม่พึงประสงค์, รวมความว่า เปลี่ยนดวงจิตที่เคยก่อสร้างทุกข์ ให้กลายเป็นก่อสร้างสุขเพื่อตัวเอง.
อาการกิริยาที่ฝึกฝนบำเพ็ญแต่ภายนอก เช่น ศีล ธุดงค์ สมาธิ นั้นๆ ก็คือการเริ่มลงมือปฏิวัติดวงจิตเป็นลำดับๆ จากหยาบไปหาละเอียดนั่นเอง.
อาการภายนอกเป็นเพียงเครื่องหมาย แต่ไม่เป็นเครื่องหมายที่แน่นอนเสมอไป เพราะถ้าผู้ใดปฏิบัติปฏิปทาเหล่านี้เป็นโลกาธิปไตยเพียงภายนอกให้โลกสรรเสริญแล้ว หาจัดเป็นการปฏิบัติธรรมได้ไม่ จัดเป็นการทำปลอมปฏิบัติธรรม
โดยนัยนี้ จะเห็นได้ว่า การปฏิบัติธรรมนั้นคือการปฏิวัติดวงจิตแท้ๆ ปฏิวัติดวงจิตที่เคยทุกข์ให้เป็นสุข ปฏิวัติสุขที่ไม่แท้ให้เป็นสุขที่แท้จริง จนกว่าจะลุถึงยอดสุข
กิริยาปฏิวัติในที่นี้ คือ การปลดเปลื้องชีวิตให้หลุดพ้นจากแอกอธิปไตยแห่งกิเลส ปราบกิเลสให้หมดอิทธิพล ให้เป็นอิสระแก่ตัวเองได้.
“กิเลส” นั้นได้แก่ ความรู้สึกตามสัญชาตญาณที่เป็นไปในฝ่ายต่ำ คือตามที่มันนึกใคร่อย่างไร และเป็นความรู้สึกของจิตที่ยังไม่ได้รับการศึกษาหรือขูดเกลาตามวิธีที่ถูกตรงตามหลักความจริง กิเลสเป็นของแฝงอยู่กับจิต และปรากฏตัวให้เห็นต่อเมื่อมีสิ่งยั่วให้มันลุกโพลงหรือพล่านขึ้นเป็นคราวๆ แล้วก็หายตัวเงียบแฝงอยู่ ดุจเดียวกับตัวหนังสือลับที่เขียนด้วยหมึกลับ จะปรากฏให้เห็นต่อเมื่อแช่กระดาษลงในน้ำ แห้งแล้วก็หายเสียฉะนั้น. เพราะมันแฝงตัวอยู่ได้อย่างลี้ลับ อย่างที่ค้นไม่เห็นตัว แต่มันอาจโผล่ออกมาเมื่อไรก็ได้ในทุกกาลทุกสถานที่ มันจึงเป็นเหมือนกับเป็น “สมบัติกายสิทธิ์” ของจิต ที่มีไว้สำหรับการแล่นท่องเที่ยวไปใน“ทะเลทุกข์”ด้วยกัน เหมือนคนกับเรือฉะนั้น. บางแห่งเราเรียกกิเลสนี้ว่า “กิเลสอย่างละเอียด” เพราะนอนในสันดาน และ เรียกปรากฏการณ์ของกิเลสที่ปรากฏอยู่ในใจว่า “กิเลสอย่างกลาง” และ ที่ปรากฏออกมากระทั่ง ทางกาย วาจา ว่า “กิเลสอย่างหยาบ” และเราวางหลักต่อไปว่า ศีล เป็นคู่ปรับกับกิเลสอย่างหยาบ, สมาธิ เป็นคู่ปรับกับกิเลสอย่างกลาง, และ ปัญญา เป็นคู่ปรับกับกิเลสอย่างละเอียด, และเรียกการบำเพ็ญธรรมที่เป็นคู่ปรับทั้ง ๓ อย่างนี้ว่า “การปฏิบัติธรรม”
“การปฏิบัติธรรม” คือการบำเพ็ญให้เต็มที่ในข้อปฏิบัติต่างๆ อันย่นลงแล้วเรียกว่า “ศีล สมาธิ ปัญญา”
ศีล คือ การชำระกายและวาจาให้บริสุทธิ์ ปราศจากโทษ เมื่อบริสุทธิ์แล้วเป็นเครื่องช่วยให้เกิดสมาธิ, สมาธิ คือ ความที่ใจผ่องใสตั้งมั่นเป็นจุดเดียว มีกำลังกล้าแข็งสำหรับการคิดปัญหาอันลี้ลับ การตีปัญหาลี้ลับ ก็คือ การบำเพ็ญปัญญา นั่นเอง เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วิปัสสนาภาวนา”
พระพุทธภาษิตเหลือที่เหลือจะประมาณได้ ที่สอนให้ภิกษุในพระศาสนานี้เจริญศีล สมาธิ ปัญญา สมาธิและปัญญาเป็นงานทางใจชั้นประณีตที่สุด เพื่อให้เร็วเข้าจึงทรงสอนให้ตัด“ปลิโพธ” เครื่องกังวลรบกวนต่างๆ แล้วหลีกออกบำเพ็ญในที่สงัด ดังที่ทรงระบุไว้ คือ โคนไม้ ป่า และ เรือนว่าง ได้แก่ ถ้ำ ซอกเขา ป่าช้า ลอมฟาง กลางแจ้ง ป่าชัฏ ทรงสอนให้ตั้งหน้าคิดให้เห็นแจ้งตลอดเป็นลำดับไป เริ่มตั้งแต่การพิจารณาร่างกายนี้ ค้นให้พบสภาวะธรรมดาตามที่เป็นจริงอย่างไร จนหายยึดมั่น สลัดเครื่องเศร้าหมองของดวงจิตออกให้สิ้นเชิง มีปรีชาญาณไม่ติดขัดในปัญหาอันเกี่ยวกับชีวิต โดยเฉพาะคือสุขและทุกข์อีกสืบไป นี่คือ “การปฏิบัติธรรม” ซึ่งเป็นการทำลายรากเหง้าของความทุกข์ ได้แก่ อวิชชา”
พุทธทาสภิกขุ
ที่มา : จากหนังสือ “ชุมนุมเรื่องยาว ของ พุทธทาสภิกขุ” หัวข้อเรื่อง “เรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม”
0 comments: