วันพุธที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2564

“ธรรมวินัย” เป็นศาสดาของชาวพุทธ หลักการมาตรฐานสำหรับวินิจฉัยคำสอนว่า ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนาหรือไม่?


“ธรรมวินัย” เป็นศาสดาของชาวพุทธ หลักการมาตรฐานสำหรับวินิจฉัยคำสอนว่า ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนาหรือไม่?  และ ผู้ที่จะรักษาพุทธศาสนาไว้ได้ต้องมีคุณสมบัติที่น่าไว้วางใจ

การที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า เมื่อพระองค์ล่วงลับไปแล้ว “พระธรรมวินัย”ที่พระองค์ได้ทรงแสดงและบัญญัติไว้ จะเป็นศาสดาของพุทธบริษัททั้งหลาย พุทธพจน์นี้ เป็นการประทานหลักการสำคัญของสถาบันพระศาสนา และตัดความเป็นห่วงว่า เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วใครจะมาทำหน้าที่แทนพระองค์ เป็นผู้นำของพุทธบริษัทต่อไป พระพุทธเจ้าไม่ทรงตั้งบุคคลใด แต่ได้ทรงประกาศว่า “ธรรมวินัย” คือคำสั่งสอนของพระองค์นี่แหละ จะเป็นศาสดาของชาวพุทธ

เพราะฉะนั้น ชาวพุทธก็จะต้องนับถือ“ธรรมวินัย” มั่นในธรรมวินัยอยู่เสมอ จะต้องมีสติรำลึกเตือนตัวเอง ให้ศึกษาว่าธรรมวินัยของพระพุทธเจ้านั้นเป็นอย่างไร แล้วประพฤติปฏิบัติกันให้ถูก ไม่ใช่เพียงแค่ว่า คอยเชื่อคอยฟังตามกันไป อย่างที่เรียกว่า “ปรัมปรา” ต่อไปนานๆเข้าก็จะคลาดเคลื่อน แต่จะต้องมีการศึกษาอยู่เสมอ ให้รู้ชัดว่า พระธรรมวินัยนั้น คืออย่างไร ว่าอย่างไรกันแน่

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )

ที่มา : ธรรมบรรยาย ณ มกุฏพันธนเจดีย์ เมืองกุสินารา ประเทศอินเดีย จากหนังสือ “จารึกบุญ จารึกธรรม

หลักการมาตรฐานสำหรับวินิจฉัยคำสอนว่า  ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนาหรือไม่?

“หลักการสำหรับใช้วินิจฉัยคำสอน และการประพฤติปฏิบัติทั่วไป ว่าถูกต้องตามหลักพุทธศาสนาหรือไม่ ซึ่งเรียกว่า “หลักตัดสินธรรมวินัย”

หลักตัดสินพระธรรมวินัยนี้ พระพุทธเจ้าทรงตรัสแก่ “พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี” ครั้งหนึ่ง และแก่ “พระอุบาลีเถระ” ครั้งหนึ่ง  ที่ทรงตรัสแก่พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี มี ๘ ข้อ ใจความว่า

ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อ   ๑. สราคะ ( ความติดใคร่ย้อมใจ )  ๒. สังโยค ( ความผูกรัดมัดตัวอยู่ในวังวนแห่งทุกข์ )  ๓. อาจยะ ( ความพอกพูนกิเลส )  ๔. มหิจฉตา ( ความมักมากอยากใหญ่ )  ๕. อสันตุฏฐี ( ความไม่รู้จักพอ )  ๖. สังคณิกา ( ความมั่วสุมคลุกคลี )  ๗. โกสัชชะ ( ความเกียจคร้าน ) ๘. ทุพภรตา ( ความเป็นคนเลี้ยงยาก ),  ธรรมเหล่านี้ พึงรู้ว่า ไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่สัตถุสาสน์(คำสอนของพระศาสดา)

ส่วนธรรมเหล่าใด เป็นไปเพื่อ   ๑. วิราคะ ( ความคลายออกเป็นอิสระ )   ๒. วิสังโยค ( ความเปลื้องตนจากวังวนแห่งทุกข์ )   ๓. อปจยะ ( ความไม่พอกพูนกิเลส )   ๔. อัปปิจฉตา ( ความมักน้อย ไม่มากอยากใหญ่ ) ๕. สันตุฏฐี ( ความสันโดษ )  ๖. ปวิเวก ( ความสงัด )  ๗. วิริยารัมภะ ( ความเร่งระดมความเพียร )  ๘. สุรภตา ( ความเป็นผู้เลี้ยงง่าย ),  ธรรมเหล่านี้ พึงรู้ว่า เป็นธรรม เป็นวินัย เป็นสัตถุสาสน์”  (ที่มา : วินย. ๗/๕๒๓/๓๓๑)

ส่วนชุดที่ตรัสแก่ พระอุบาลีเถระ มี ๗ ข้อ ใจความว่า 

ธรรมเหล่าใด เป็นไปเพื่อ   ๑. เอกันตนิพพิทา (ความหน่ายหายติดได้สิ้นเชิง)   ๒. วิราคะ (ความคลายออกเป็นอิสระ)   ๓. นิโรธ (ความดับกิเลสได้ไม่มีทุกข์เกิดขึ้น)   ๔. อุปสมะ (ความสงบที่กิเลสระงับราบคาบไป)   ๕. อภิญญา (ความรู้ประจักษ์ตรงต่อความจริงจําเพาะ)   ๖. สัมโพธะ (ความตรัสรู้หยังเห็นความจริงเต็มพร้อม)   ๗. นิพพาน (ภาวะดับทุกข์หายร้อนเย็นสนิท),  ธรรมเหล่านี้จึงรู้ว่า เป็นธรรม เป็นวินัย เป็นสัตถุศาสน์ (คําสอน ของพระศาสดา)” (อง สตุตก. ๒๓/๘๐/๑๔๖) 

ถ้าตรงข้ามกับข้างต้นนี้ก็ไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่สัตถุสาสน์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )

ที่มา : จากหนังสือ “กรณีธรรมกาย” หน้า ๓๘ - ๔๐

จะรักษาพระพุทธศาสนาได้  พุทธบริษัทต้องมีคุณสมบัติที่น่าไว้วางใจ

 “ธรรมเนียมในการแสดงธรรมที่มีมาแต่โบราณ ก็แสดงว่า คนสมัยก่อนได้เอาใจใส่ให้ความสําคัญแก่หลักคําสอนในพระ ไตรปิฎกตลอดมา เช่น เวลาเทศน์ก็จะต้องตั้งบาลีนิกเขปบทขึ้นก่อน คือยกคาถาพุทธภาษิตหรือพุทธพจน์ขึ้นมาตั้งเป็นกระทู้แล้ว วิสัชนาไป กับทั้งในระหว่างอธิบายก็มีการยกพุทธพจน์อื่นขึ้นมาอ้างตามโอกาส

แนวปฏิบัตินี้ ได้สืบต่อมาในหลักสูตรนักธรรมและธรรมศึกษาของคณะสงฆ์ไทย คือ ในวิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรม   ที่ว่านี้ มิใช่หมายความว่าจะต้องถือตามรูปแบบเก่าอย่างนั้น แต่เป็นการเตือนกันว่า รูปแบบวิธีอาจเปลี่ยนแปลงไปให้ได้ผล สมกาลสมัย แต่ในแง่สาระก็คือ ให้เป็นการอธิบายธรรม ตลอดจนแสดงทัศนะอย่างอิงหลัก หรืออย่างมีหลักฐาน

ที่ว่านี้ มิใช่เป็นการติดคัมภีร์ แต่เป็นการซื่อตรงต่อพระพุทธเจ้า หรือเคารพองค์พระศาสดา เมื่อเราจะแสดงคําสอนที่เรียกว่า “พระพุทธศาสนา” ก็ต้องพยายามสื่อพุทธธรรมออกไปให้ได้ ไม่ใช่อ้างชื่อพระพุทธศาสนาแต่คําที่พูดไปกลายเป็นเพียงความรู้ ความเข้าใจความคิดเห็นหรือประสบการณ์ส่วนตัว  การติดคัมภีร์นั้นเป็นสุดโต่งอีกทางหนึ่ง ตรงข้ามกับการสอนอย่างเลื่อนลอย เราไม่ควรไปหาสุดโต่ง ๒ อย่างนั้น แต่ควรดําเนินตามทางสายกลาง ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง คือการสอนอย่างมีหลัก มีที่ไปที่มา ที่อ้างอิงได้

การปฏิบัติอย่างนี้ นอกจากเป็นการช่วยกันดํารงรักษาพระพุทธศาสนาแล้ว ก็เป็นการทําให้มีเอกภาพในวงพุทธบริษัทด้วย นอกจากนั้นก็จะเป็นเครื่องช่วยเร่งเร้ากระตุ้นเตือน หรือเป็นเงื่อนไข ให้พระสงฆ์ต้องเอาใจใส่ศึกษาพุทธพจน์ในพระไตรปิฎก  ประโยชน์พิเศษอีกอย่างหนึ่งที่จะพลอยได้ไปด้วย ก็คือ พุทธบริษัทจะมีความสามารถปกป้องพระธรรมวินัย ปิดช่องทางแห่ง ปรัปวาท (คําจ้วงจาบพระธรรมวินัย) และรักษาพระพุทธศาสนาที่แท้ไว้ได้

มิฉะนั้น เวลามีคําสอนแปลกปลอมเกิดขึ้น พุทธบริษัทเองก็สับสน ถูกคํากล่าวอ้างพุทธพจน์หรืออ้างพระไตรปิฎกแบบบิดเบือนหรือปลอมปน ก็เสียกระบวน ถ้าไม่พลอยเขวไป ก็ตั้งรับไม่ทัน ฯ

ถ้าจะเป็นพุทธบริษัทที่ดี ตามมาตรฐานของพระพุทธเจ้า ถึงขั้นเป็นที่น่าไว้วางใจที่จะเป็นศาสนทายาท รับมอบพระพุทธ ศาสนาจากพระบรมศาสดามาสืบทอดรักษาไว้ได้ จะต้องมีคุณสมบัติ ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงไว้ว่า พระองค์จะปรินิพพาน ต่อเมื่อพุทธบริษัททั้ง ๔ ไม่ว่าจะเป็นภิกษุก็ตาม ภิกษุณีก็ตาม อุบาสกก็ตาม อุบาสิกาก็ตาม มีคุณสมบัติ ๓ ประการต่อไปนี้ (ที. ม. ๑๐/๑๐๒/๑๓๒)

๑. ด้านตนเอง  

ก) รู้เข้าใจหลักธรรมคําสอนของพระพุทธเจ้า  ข) ปฏิบัติได้ถูกต้องตามหลักธรรมคําสอนนั้น 

๒. ด้านความสัมพันธ์กับผู้อื่น ทั้งมีความรู้ความสามารถและมีน้ำใจเมตตาที่จะเผื่อแผ่ให้ความรู้ธรรมแก่ผู้อื่นได้

๓. ด้านหลักการ สามารถชี้แจงแก้ไข “ปรัปวาท” คือ คํากล่าวร้ายหรือความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากพระพุทธศาสนา…”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.  อ. ปยุตฺโต)

ที่มา : จากหนังสือ “กรณีธรรมกาย” ฉบับเพิ่มเติม-จัดลำดับใหม่ พิมพ์ครั้งที่ ๒๔ หน้า ๑๖๐-๑๖๓


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: