วันพุธที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2564

“ปฏิบัติธรรม” คืออย่างไร? มาทำความเข้าใจให้ถูกตรง

“ปฏิบัติธรรม” คืออย่างไร? มาทำความเข้าใจให้ถูกตรง

“ปฏิบัติธรรม” ก็คือ เอาธรรมมาปฏิบัติ เอาธรรมมาใช้ เอามาใช้ดำเนินชีวิต ทำการทำงาน คือเอาธรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตจริงนั่นเอง

เมื่อปฏิบัติธรรม ก็หมายถึงว่า เอาธรรมมาใช้ในชีวิตจริง หรือเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิต ถ้ายังไม่ได้ใช้ ก็ไม่เรียกว่าเป็นการปฏิบัติ

คำว่า “ปฏิบัติ” นี้ เดิมนั้นแปลว่า “เดินทาง” มาจากภาษาบาลี ของเดิมนี้มีคำคล้ายๆกันอีกคำหนึ่งคือ “ปฏิปทา”

“ปฏิปทา” แปลว่าอะไร จะเห็นได้ในคำว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” ที่เราแปลกันว่า “ทางสายกลาง” มัชฌิมา แปลว่า สายกลาง และปฏิปทา แปลว่า ทาง คือ ที่ที่จะเดิน คำว่าปฏิปทา ก็คือที่ที่จะเดิน

คำว่า ปฏิปทา กับคำว่า ปฏิบัติ นี้เป็นคำเดียวกัน รากศัพท์อันเดียวกัน ถ้าเป็นกริยาก็มีรูปเป็น ปฏิปชฺชติ เช่นในคำว่า “มคฺคํ ปฏิปชฺชติ” แปลว่า เดินทาง.   เพราะฉะนั้น ปฏิปชฺชติ มาเป็น ปฏิบัติ หรือเป็น ปฏิปทา ก็ตาม ก็แปลว่า การเดินทาง หรือแปลว่า ทางที่เดิน 

ถ้าเป็นการเดินทางก็นิยมใช้ในรูปว่า “ปฏิปตฺติ” หรือไทยใช้ว่า “ปฏิบัติ” ถ้าเป็นทางที่เดินก็นิยมใช้ “ปฏิปทา” เพราะฉะนั้น เราเอาถ้อยคำสำหรับสิ่งที่เป็นรูปธรรมนั่นเอง มาประยุกต์ใช้ในทางนามธรรม

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรม ก็คือ เอาธรรมมาใช้ในการเดินทางชีวิต หรือเอามาช่วยให้ดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง หรือเอามาช่วยในการเดินทางชีวิต เพื่อให้การดำเนินชีวิตนั้นเป็นไปด้วยดี

การปฏิบัติธรรมก็จึงเป็นเรื่องกว้างๆ ไม่เฉพาะการที่จะปลีกตัวออกจากสังคม ไปอยู่ที่วัด ไปอยู่ที่ป่า แล้วก็ไปนั่งบำเพ็ญสมาธิ อะไรอย่างนั้น ไม่ใช่แค่นั้น อันนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่ง เป็นการพยายามนำธรรมมาใช้ในขั้นลึก ในการที่จะฝึกฝนจิตใจอย่างจริงๆจังๆ ถ้าจะเรียกเป็นภาษาสมัยใหม่ การปลีกตัวไปปฏิบัติแบบนั้น ก็เรียกว่าเป็นการปฏิบัติแบบ intensive เป็นการปฏิบัติแบบเข้มข้น หรือลงลึกเฉพาะเรื่อง

ที่จริงนั้น การปฏิบัติธรรมต้องมีตลอดเวลา เรานั่งกันอยู่ในที่นี้ ก็ต้องมีการปฏิบัติธรรม คือเอาธรรมมาใช้ เมื่อปฏิบัติสิ่งนั้น ทำสิ่งนั้นอย่างถูกต้อง ก็เป็นการปฏิบัติธรรม  ดังนั้น ถ้าตนมีหน้าที่ศึกษาเล่าเรียน มีความขยันหมั่นเพียร ตั้งใจเล่าเรียน เล่าเรียนให้ได้ผล ก็เป็นการปฏิบัติธรรม เช่น เล่าเรียนโดยมี อิทธิบาท ๔   มีฉันทะ พอใจรักในการเรียนนั้น   มีวิริยะ มีความเพียร ใจสู้   มีจิตตะ เอาใจใส่ รับผิดชอบ   มีวิมังสา คอยไตร่ตรอง ตรวจสอบ ทดสอบ ทดลองให้ได้ผลดียิ่งขึ้นไป 

อย่างนี้ก็เรียกว่า “ปฏิบัติธรรม” หรือในการทำงานก็เหมือนกัน

แม้แต่ออกไปในท้องถนน ไปขับรถ ถ้าขับโดยรักษากฎจราจร ขับเรียบร้อยดีไม่ประมาท มีความสุภาพ หรือลึกเข้าไป แม้กระทั่งว่า ทำจิตใจให้สบาย ไม่เครียด มีความผ่องใสสบายใจในเวลาที่ขับรถนั้นได้ ก็เป็นการปฏิบัติธรรมในระดับต่างๆ แล้วแต่ว่าใครจะสามารถเอาธรรมมาใช้ในการดำเนินชีวิต หรือในการทำกิจหน้าที่นั้นๆ ให้ได้ผลแค่ไหนเพียงไร ก็เรียกว่า “ปฏิบัติธรรม” ทั้งนั้น

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมที่แท้จริงนั้น ต้องมีอยู่ตลอดเวลา เพราะเราทุกคนมีหน้าที่ต้องดำเนินชีวิตให้ดีงามถูกต้อง

แม้แต่การนั่งฟังปาฐกถานี่ ก็มีการปฏิบัติธรรม เมื่อตั้งใจฟัง ฟังเป็น ใช้ความคิดพิจารณาไตร่ตรองสิ่งที่รับฟังนั้น ทำให้เกิดปัญญาขึ้น ก็เป็นการปฏิบัติธรรมทั้งนั้น   เป็นอันว่า การปฏิบัติธรรมนี้ เป็นเรื่องที่กว้างมาก หมายถึง การนำเอาธรรมมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิต หรือการทำกิจทำงานทำหน้าที่ให้ถูกต้อง ทำทุกเรื่องทุกอย่างให้ถูกต้อง ให้ดี ให้เกิดผลเป็นประโยชน์ เพื่อจะได้เข้าถึงชีวิตที่ดีงามมีความสุขที่แท้จริงนั่นเอง เป็นการ “ปฏิบัติธรรรม”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ที่มา : จากหนังสือ “ปฏิบัติธรรมให้ถูกทาง”

คำว่า “ปฏิบัติธรรม” ปัจจุบันกำลังมีความหมายเพี้ยนไป 

“ในปัจจุบัน คำบางคำก็กำลังจะมีความหมายเพี้ยนไป ยกตัวอย่างคำที่กำลังพูดถึงกันบ่อยๆ ก็คือคำว่า “ปฏิบัติธรรม” เดี๋ยวนี้เราเข้าใจคำว่า “ปฏิบัติธรรม” อย่างไร คนจำนวนมากทีเดียวจะเข้าใจคำว่าปฏิบัติธรรม หรือพูดถึงคำว่าปฏิบัติธรรม ในความหมายว่าเป็นการปลีกตัวเข้าวัด หรือต้องไปในป่า และไปอยู่เงียบๆ สักระยะหนึ่ง ไปนั่งสมาธิ ไปทำกรรมฐาน ไปบำเพ็ญเพียรทางจิตใจเป็นพิเศษ ไปอยู่ในที่วิเวกห่างไกลจากผู้คน ออกจากสังคมไป จึงเรียกกันว่าปฏิบัติธรรม 

ถ้าเราเข้าใจกันอย่างนี้ ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็เข้าใจกันอย่างนั้นมากแล้ว ก็แสดงว่าเดี๋ยวนี้คำว่า “ปฏิบัติธรรม” ก็เป็นคำหนึ่งที่กำลังมีความหมายเพี้ยนไป และเป็นเครื่องแสดงด้วยว่า วัฒนธรรมของไทยในปัจจุบันมีอะไรๆ ที่กำลังผันแปรไปอีก

คำว่า “ปฏิบัติธรรม” นี้คืออะไร ปฏิบัติธรรม ก็คือการนำเอาธรรมมาใช้มาปฏิบัติ เรามาทำงาน ถ้าทำงานด้วยใจรักงาน ก็เรียกว่ามี ‘ฉันทะ’ ทำงานด้วยความขยันหมั่นเพียร ก็เรียกว่ามี ‘วิริยะ’ ทำงานด้วยความเอาใจใส่ รับผิดชอบ ก็เรียกว่ามี ‘จิตตะ’ ทำงานด้วยการใช้ปัญญาไตร่ตรอง ใคร่ครวญ หาทางแก้ไขตรวจสอบ ทำให้งานดียิ่งขึ้น พิจารณาข้อยิ่งข้อหย่อนในการงานนั้น มีการตรวจตราวัดผลต่างๆ ก็เรียกว่ามี ‘วิมังสา’ ถ้าทำครบ ๔ อย่างนี้ ก็เรียกว่า ทำงานด้วย "อิทธิบาท ๔" "อิทธิบาท ๔" ก็เป็นหลักธรรมสำคัญหมวดหนึ่ง เมื่อทำงานด้วยอิทธิบาท ๔ ก็คือ การปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน 

หลายท่านในที่นี้ก็มีรถยนต์ เมื่อขับรถไปในท้องถนนนั้น ถ้าเราขับด้วยความมีสติ ระมัดระวัง มีความไม่ประมาท รักษากฎจราจร อยู่ในระเบียบข้อบังคับและขับด้วยความสุภาพ อย่างนี้ก็เรียกว่าปฏิบัติธรรม แน่นอนไม่มีพลาดเลย แม้แต่จะกินอาหาร ถ้ากินอย่างรู้จักประมาณ มุ่งส่งเสริมคุณภาพชีวิต ไม่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ไม่ลุ่มหลงมัวเมา ไม่ตะกละมูมมาม ก็เป็นการปฏิบัติธรรม แต่คนปัจจุบันไม่ค่อยมองถึงการปฏิบัติธรรม ในความหมายอย่างนี้ แม้แต่เพียงเรานั่งอยู่เฉยๆ เราตั้งจิตคิดนึกจะทำความดี ตั้งใจจะทำความดีต่อผู้อื่น ปรารถนาดีหวังดีต่อเขา เพียงเท่านี้ก็เป็นการปฏิบัติธรรมอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันนี้เราเอาคำว่าปฏิบัติธรรมไปใช้ในความหมายที่แคบลงๆ จนกระทั่งมีความหมายเฉพาะ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าพิจารณาและระมัดระวังกัน"

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )

ที่มา : จากธรรมนิพนธ์ เรื่อง “ธรรมกับการศึกษาของไทย” หัวข้อเรื่อง “ความหลงตัวเอง: ความยึดติตในวัฒนธรรมของตน”

ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ - รวบรวม 


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: