วันเสาร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2564

อลีนจิตฺตชาตกํ - ว่าด้วยกัลยาณมิตร

อลีนจิตฺตชาตกํ - ว่าด้วยกัลยาณมิตร

"อลีนจิตฺตํ  นิสฺสาย,  ปหฏฺฐา  มหตี  จมู;     โกสลํ   เสนาสนฺตุฏฺฐํ,  ชีวคฺคาหํ  อคาหยิ ฯ

เสนาหมู่ใหญ่อาศัยเจ้าอลีนจิต มีใจรื่นเริง ได้จับเป็นพระเจ้าโกศลผู้ไม่ทรงอิ่มพระทัยด้วยราชสมบัติของพระองค์ ฉันใด."

"เอวํ  นิสฺสยสมฺปนฺโน,   ภิกฺขุ  อารทฺธวีริโย;      ภาวยํ  กุสลํ ธมฺมํ,  โยคกฺเขมสฺส  ปตฺติยา;     ปาปุเณ  อนุปุพฺเพน,   สพฺพสํโยชนกฺขยนฺติ ฯ

ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยกัลยาณมิตรเป็นที่พึ่งอาศัย ปรารภความเพียร เจริญกุศลธรรม เพื่อบรรลุนิพพานอันเกษมจากโยคะ พึงบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งสังโยชน์ทั้งปวงโดยลำดับ ก็ฉันนั้น."

อรรถกถาอลีนจิตตชาดกที่ ๖ 

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันทรงปรารภภิกษุคลายความเพียรรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า  อลีนจิตฺตํ  นิสฺสาย  ดังนี้.

เรื่องราวจักมีแจ้งในสังวรชาดกในเอกาทสกนิบาต. ภิกษุนั้นเมื่อพระศาสดาตรัสถามว่า „ดูก่อนภิกษุ ได้ยินว่า เธอคลายความเพียรจริงหรือ?“ กราบทูลว่า „จริง พระเจ้าข้า.“

ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะภิกษุนั้นว่า „ดูก่อนภิกษุ เมื่อก่อนเธอได้ทำความเพียรยึดเอาราชสมบัติในกรุงพาราณสีประมาณ ๑๒ โยชน์ ถวายราชกุมารหนุ่มเช่นกับชิ้นเนื้อมิใช่หรือ. เหตุไรในบัดนี้ เธอบวชในพระศาสนาเห็นปานนี้ จึงคลายความเพียรเสียเล่า“ แล้วทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่า :-

ในอดีตกาล ครั้งเมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติ ในกรุงพาราณสีได้มีบ้านช่างไม้อยู่ไม่ห่างจากกรุงพาราณสี. พวกช่างไม้ ๕๐๐ คน อาศัยอยู่ ณ ที่นั้น พวกเขาเดินเรือขึ้นเหนือน้ำแล้วพากันเข้าไปในป่า.  

ตัดฟันไม้เครื่องเรือนปรุงปราสาทต่างชนิด มีพื้นชั้นเดียวและสองชั้นเป็นต้น ณ ที่นั้นเองแล้วทำเครื่องหมายไว้ในไม้ทุกชิ้น ตั้งแต่เสา ขนไปยังฝั่งแม่น้ำ บรรทุกเรือล่องมาถึงพระนครตามกระแสน้ำ ผู้ใดต้องการเรือนชนิดใด ก็ปรุงเรือนชนิดนั้นแก่ผู้นั้นแล้วรับเอากหาปณะกลับไป ขนเครื่องเรือนในที่นั้นมาอีก.

เมื่อเขาเลี้ยงชีวิตอยู่อย่างนี้ คราวหนึ่งเมื่อเขาตั้งค่ายตัดฟันไม้อยู่ในป่า ในที่ไม่ไกลนักมีช้างตัวหนึ่งเหยียบตอตะเคียนเข้า. ตอได้แทงเท้าช้างเข้า มันเจ็บปวดเป็นกำลัง. เท้าบวมกลัดหนอง.  ช้างได้รับทุกขเวทนาสาหัสได้ยินเสียงตัดฟันไม้ของพวกช่างไม้ จึงหมายใจว่า เราจักมีความสวัสดีเพราะอาศัยพวกช่างไม้เหล่านี้แล้วเดินสามเท้าเข้าไปหาเขาหมอบลงใกล้ ๆ.

ช่างไม้เห็นช้างมีเท้าบวม จึงตรงเข้าไปใกล้พบตออยู่ที่เท้าแล้วใช้มีดที่คมกรีดรอบตอ ใช้เชือกดึงตอออก บีบหนอง เอาน้ำอุ่นชะ ไม่นานนักที่พวกเขารักษาแผลให้หายด้วยใช้ยาที่ถูกต้อง.  ช้างหายเจ็บปวดจึงคิดว่า เราได้ชีวิต เพราะอาศัยช่างไม้เหล่านี้เราควรช่วยเหลือตอบแทนเขา. ตั้งแต่นั้นมาเมื่อช่างไม้นำไม้มาถาก ช้างก็ช่วยพลิกให้ส่งเครื่องมือมีมีดเป็นต้นให้กับพวกช่างไม้. มันใช้งวงพันจับปลายเชือกสายบรรทัด.

ในเวลาบริโภคอาหาร พวกช่างไม้ต่างก็ให้ก้อนข้าวแก่มันคนละปั้นให้ถึง ๕๐๐ ปั้น. อนึ่งช้างนั้นมีลูกขาวปลอด เป็นลูกช้างอาชาไนย. เพราะเหตุนั้น มันจึงคิดว่า เวลานี้เราก็แก่เฒ่าเราควรให้ลูกแก่ช่างไม้เหล่านี้. เพื่อทำงานแทนเราแล้วเข้าป่าไป.  

ช้างนั้นมิได้บอกแก่พวกช่างไม้เข้าป่านำลูกมากกล่าวว่า ช้างน้อยเชือกนี้เป็นลูกของข้าพเจ้า พวกท่านได้ช่วยชีวิตของข้าพเจ้าไว้ข้าพเจ้าขอให้ลูกนี้เป็นบำเหน็จค่าหมอของพวกท่านตั้งแต่นี้ไปลูกนี้จักทำการงานให้พวกท่านแล้วจึงสอนลูกว่า „ดูก่อนเจ้าลูกน้อย ตั้งแต่นี้ไปเจ้าจงทำการงานแทนเรา“ ครั้นมอบลูกน้อยให้พวกช่างไม้แล้ว ตัวเองก็เข้าป่าไป.

ตั้งแต่นั้นมา ลูกช้างก็ทำตามคำของพวกช่างไม้ เป็นสัตว์ว่า นอนสอนง่าย กระทำกิจการทั่วไป. แม้พวกช่างไม้ก็เลี้ยงดูลูกช้างน้อยด้วยอาหาร ๕๐๐ ปั้นลูกช้างน้อยทำงานเสร็จแล้วก็ลงแม่น้ำอาบเล่นแล้วก็กลับ. พวกเด็กช่างไม้ก็จับลูกช้างน้อยที่งวงเป็นต้น เล่นกับลูกช้างทั้งในน้ำและบนบก.

ธรรมดาชาติอาชาไนยทั้งหลาย จะเป็นช้างก็ตามม้าก็ตาม คนก็ตามย่อมไม่ถ่ายอุจจาระ หรือปัสสาวะลงในน้ำ เพราะฉะนั้น ลูกช้างนั้นจึงไม่ถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะลงในน้ำถ่ายแต่ริมฝั่งแม่น้ำภายนอกเท่านั้น. อยู่มาวันหนึ่ง ฝนตกลงมาเหนือแม่น้ำ. ลูกช้างที่แห้งก็ไปสู่แม่น้ำได้ติดอยู่ที่พุ่มไม้แห่งหนึ่งที่ท่ากรุงพาราณสี.

ครั้งนั้น พวกควาญช้างของพระราชานำช้าง ๕๐๐ เชือกไปด้วยประสงค์จะให้อาบน้ำ. ช้างเหล่านั้นได้กลิ่นคูถของช้างอาชาไนยเข้า จึงไม่กล้าลงแม่น้ำสักตัวเดียวชูหางพากันหนีไปทั้งหมด. พวกควาญช้างจึงแจ้งเรื่องแก่นายหัตถาจารย์.

พวกเขาคิดกันว่า ในน้ำต้องมีอันตราย จึงทำความสะอาดน้ำเห็นคูถช้างอาชาไนยติดอยู่ที่พุ่มไม้ ก็รู้ว่า นี่เองเป็นเหตุในเรื่องนี้ จึงให้นำถาดมาใส่น้ำขยำคูถลงในถาดนั้นแล้วให้รด จนทั่วตัวช้างทั้งหลาย. ตัวช้างก็มีกลิ่นหอม. ช้างเหล่านั้นจึงลงอาบน้ำกันได้.  นายหัตถาจารย์ทูลเล่าเรื่องราวนั้นแด่พระราชาแล้วกราบทูลว่า „ขอเดชะพระองค์ควรสืบหาช้างอาชาไนยนั้นนำมาเถิดพระเจ้าข้า.“

พระราชาเสด็จสู่แม่น้ำด้วยเรือขนาน เมื่อเรือขนานแล่นไปถึงตอนบน ก็บรรลุถึงที่อยู่ของพวกช่างไม้. ลูกช้างกำลังเล่นน้ำอยู่ได้ยินเสียงกลอง จึงกลับไปยืนอยู่กับพวกช่างไม้. พวกช่างไม้ถวายการต้อนรับพระราชาแล้วกราบทูลว่า „ขอเดชะหากพระองค์มีพระประสงค์ด้วยไม้ เหตุไรต้องเสด็จมา จะทรงส่งคนให้ขนไปไม่ควรหรือพระเจ้าข้า.“

พระราชารับสั่ง „นี่แน่พนาย เรามิได้มาเพื่อประสงค์ไม้ดอกแต่เรามาเพื่อต้องการช้าง เชือกนี้.“ พวกช่างไม้กราบทูลว่า „ขอเดชะโปรดให้จับไปเถิดพระเจ้าข้า.“ ลูกช้างไม่ปรารถนาจะไป.  พระราชารับสั่งถามว่า „ช้างจะให้ทำอย่างไรเล่า พนาย.?“ พวกเขากราบทูลว่า „ขอเดชะช้างจะให้พระราชทานค่าเลี้ยงดูแก่ช่างไม้พระเจ้าข้า.“

พระราชารับสั่งว่า ตกลงพนายแล้วโปรดให้วางกหาปณะลงที่เท้าช้างทั้ง ๔ ข้าง ที่งวงและที่หางแห่งละแสนกหาปณะ แม้เพียงนี้ช้างก็ไม่ไป ครั้นพระราชทานผ้าคู่แก่ช่างไม้ทั้งหมด พระราชทานผ้าสาฎกสำหรับทั้งนุ่งแก่ภรรยาช่างไม้ แม้เพียงนี้ก็ไม่ไป ต่อเมื่อพระราชทานเครื่องบริหารสำหรับเด็กแก่เด็กชายหญิงที่เล่นอยู่ด้วยกัน ลูกช้างจึงเหลียวไปดูพวกช่าง เหล่าสตรีและพวกเด็กแล้วเดินไปกับพระราชา.

พระราชาทรงพาไปถึงพระนคร รับสั่งให้ประดับพระนครและโรงช้างทรงให้ช้างกระทำปทักษิณพระนครแล้วให้เข้าไปโรงช้างทรงประดับด้วยเครื่องประดับทั้งปวงทรงทำการอภิเษกยกขึ้นเป็นราชพาหนะทรงตั้งไว้ในฐานะเป็นสหายของพระองค์ พระราชทานราชสมบัติกึ่งหนึ่งแก่ช้างได้ทรงกระทำการเลี้ยงดูเสมอด้วยพระองค์.

ตั้งแต่ช้างมา ราชสมบัติในชมพูทวีปทั้งสิ้นได้ตกอยู่ในเงื้อมพระหัตถ์ของพระราชาทั้งสิ้นเชิง. ครั้นกาลเวลาผ่านไปอย่างนี้ พระโพธิสัตว์ทรงถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระอัครมเหสีของพระราชาพระองค์นั้น.

ในเวลาที่พระนางทรงครรภ์แก่ พระราชาได้สวรรคตเสียแล้ว. หากพญาช้างพึงรู้ว่า พระราชาได้สวรรคตเสียแล้ว หัวใจของพญาช้างก็จะต้องแตกทำลายไป ณ ที่นั้นเอง. ดังนั้นพวกคนเลี้ยงช้างจึงบำรุงมิให้พญาช้างรู้ว่า พระราชาได้สวรรคตเสียแล้ว.  ฝ่ายพระเจ้ากรุงโกศล ซึ่งมีพระราชอาณาจักรใกล้เคียงกันทรงสดับข่าวว่า พระราชาสวรรคตแล้วทรงดำริว่า นัยว่า ราชสมบัติกรุงพาราณสีว่างผู้ครอง จึงยกกองทัพใหญ่ล้อมพระนคร.

ชาวพระนครพากันปิดประตูเมือง ส่งสาส์นถวายพระเจ้ากรุงโกศลว่า พระอัครมเหสีของพระราชาของพวกข้าพเจ้าทรงครรภ์แก่. พวกโหรทำนายว่า จากนี้ไปเจ็ดวันพระอัครมเหสีจักคลอดพระโอรส พวกข้าพเจ้าจักขอรบในวันที่เจ็ด จักไม่มอบราชสมบัติให้ ขอได้โปรดทรงรอไว้ชั่วเวลาเพียงเท่านี้. พระเจ้ากรุงโกศลทรงรับว่า ตกลง

ครั้นถึงวันที่เจ็ด พระเทวีประสูติพระโอรส. ก็ในวันขนานพระนาม มหาชนได้ขนานพระนามพระโอรสว่า อลีนจิตตราชกุมาร เพราะพระโอรสทรงบันดาลให้จิตท้อแท้ของมหาชนมีขวัญดีขึ้น.  ตั้งแต่วันที่เจ็ดพระโอรสประสูติ ชาวพระนครของพระองค์ก็สู้รบกับพระเจ้ากรุงโกศล. เพราะขาดผู้นำ แม้จะมีกำลังต่อสู้มากมายเพียงไรเมื่อต่อสู้ไปก็ถอยกำลังลงทีละน้อย ๆ.

พวกอำมาตย์พากันกราบทูลความนั้นแด่พระเทวีแล้วทูลถามว่า „ข้าแต่พระแม่เจ้าเมื่อกำลังลดถอยลงอย่างนี้ พวกข้าพเจ้าเกรงว่า จะแพ้สงคราม. มงคลหัตถีสหายของพระราชา มิได้รู้ว่า พระราชาสวรรคต พระโอรสประสูติพระเจ้ากรุงโกศลเสด็จมาทำสงคราม. พวกข้าพเจ้าจะบอกให้พญาช้างนั้นรู้ดีไหมพระเจ้าข้า.“

พระเทวีรับสั่งว่า „ดีแล้ว“  จึงตกแต่งพระโอรสให้บรรทมเหนือพระอู่บุด้วยภูษาเนื้อดี เสด็จลงจากปราสาท มีหมู่อำมาตย์แวดล้อม เสด็จถึงโรงพญาช้างให้พระโพธิสัตว์บรรทมใกล้ ๆ พญาช้างแล้วตรัสว่า „ดูก่อนพญามงคลหัตถี พระสหายของท่านสวรรคตเสียแล้ว พวกข้าพเจ้ามิได้บอกเพราะเกรงว่า ท่านจะหัวใจแตกทำลาย นี่คือพระราชโอรสแห่งพระสหายของท่านพระเจ้าโกศลเสด็จมาล้อมพระนคร ต่อสู้กับพระโอรสของท่านไพร่พลหย่อนกำลังท่านอย่าปล่อยให้พระโอรสของท่านตายเสียเลย จงยึด ราชสมบัติถวายแก่เธอเถิด.“

ขณะนั้นพญามงคลหัตถีก็เอางวงลูบคลำพระโพธิสัตว์แล้วยกขึ้นประดิษฐานไว้เหนือกระพองร้องไห้คร่ำครวญแล้วางวางพระโพธิสัตว์ให้บรรทมบนพระหัตถ์ของพระเทวีแล้วออกจากโรงช้างไป หมายใจว่า จักจับพระเจ้ากรุงโกศล.  ลำดับนั้น พวกอำมาตย์จึงสวมเกราะ ตกแต่งพญาช้างเปิดประตูพระนคร พากันห้อมล้อมพญาช้างนั้นออกไป.

พญามงคลหัตถีครั้นออกจากพระนครแล้ว ก็แผดเสียงโกญจนาถยังมหาชนให้หวาดสะดุ้งพากันหนีทำลายค่ายข้าศึก คว้าพระเมาลีพระเจ้ากรุงโกศลไว้ได้แล้วพามาให้หมอบลง ณ บาทมูลของพระโพธิสัตว์ครั้นหมู่ทหารเข้ารุมล้อมเพื่อฆ่าพระเจ้ากรุงโกศลพญาช้างก็ห้ามเสียแล้วถวายโอวาทว่า „ตั้งแต่นี้ไปพระองค์อย่าประมาท อย่าสำคัญว่า พระกุมารนี้ยังเป็นเด็ก“ แล้วจึงกลับไป.

ตั้งแต่นั้นมาราชสมบัติทั่วชมพูทวีป ก็ตกอยู่ในเงื้อมพระหัตถ์ของพระโพธิสัตว์. ขึ้นชื่อว่าข้าศึกปัจจามิตรอื่น ๆไม่สามารถจะเผชิญได้เลย. พระโพธิสัตว์ได้รับการอภิเษกในเมื่อพระชนม์ได้ ๗ พระพรรษาทรงพระนามว่าอลีนจิตตราชทรงปกครองราชสมบัติโดยธรรมทรงบำเพ็ญทางไปสวรรค์จนวาระสุดท้ายพระชนม์ชีพ.  พระศาสดาทรงนำอดีตนี้มา เมื่อทรงบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า :-

„เสนาหมู่ใหญ่อาศัยเจ้าอลีนจิต มีใจรื่นเริงได้จับเป็นพระเจ้าโกศล ผู้ไม่ทรงอิ่มด้วยราชสมบัติ ฉันใด.“ 

„ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยกัลยาณมิตรเป็นที่ พึ่งอาศัย ปรารภความเพียรเจริญกุศลธรรม เพื่อบรรลุนิพพานอันเกษมจากโยคะ พึงบรรลุธรรม เป็นที่สิ้นไปแห่งสังโยชน์ทั้งปวงโดยลำดับ ก็ฉันนั้น.“

ในบทเหล่านั้น บทว่า  อลีนจิตฺตํ  นิสฺสาย  ได้แก่ อาศัยพระอลีนจิตราชกุมาร.   บทว่า  ปหฏฺฐา  มหตี  จมู  ความว่า เสนา หมู่ใหญ่ต่างพากันรื่นเริงยินดีว่า เราได้ราชสมบัติสืบสายราชประเพณีคืนมาแล้ว.   บทว่า  โกสลํ  เสนาสนฺตฺฏฺฐํ  พระเจ้ากรุงโกศล ผู้ไม่ทรงอิ่มด้วยราชสมบัติของพระองค์ เสด็จมาด้วยทรงโลภในราชสมบัติของผูอื่น.   บทว่า  ชีวคาหํ  อคาหยิ  ความว่า เสนานั้นขอให้พญาช้างจับเป็นพระราชาอย่าฆ่า.

บทว่า  เอวํ  นิสฺสยสมฺปนฺโน  ความว่า เสนานั้น ฉันใด กุลบุตรแม้อื่นซึ่งสมบูรณ์ด้วยนิสัยได้กัลยาณมิตรซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าก็ดี สาวกของพระพุทธเจ้าก็ดี พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ดี ให้เป็นที่พึ่งอาศัยก็ฉันนั้น.  บทว่า  ภิกฺขุ   นี้เป็นชื่อของผู้บริสุทธิ์.  บทว่า  อารทฺธวีริโย  ได้แก่ เป็นผู้ประคองความเพียร คือประกอบด้วยความเพียรอันปราศจากโทษสี่ประการ.  บทว่า  ภาวยํ  กุสลํ  ธมฺมํ  ความว่า เมื่อเจริญธรรมอันเป็นกุศล คือ ไม่มีอาลัย ได้แก่ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ. บทว่า  โยคกฺเขมสฺส  ปตฺติยา  ได้แก่ เจริญธรรมนั้นเพื่อบรรลุนิพพานอันเกษมจากโยคะ ๔.  

บทว่า  ปาปุเณ  อนุปุพฺเพ  สพฺพสํโยชนกฺขยํ  ความว่า ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยอุปนิสัยอันเป็นกัลยาณมิตรนั้น เมื่อเจริญกุศลธรรมนี้ ตั้งแต่การเห็นแจ้งอย่างนี้ ก็จะบรรลุวิปัสสนาญาณโดยลำดับและมรรคผลเบื้องต่ำ ในที่สุดย่อมบรรลุพระอรหัต กล่าวคือการสิ้นสังโยชน์ทั้งหมด เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในที่สุดแห่งความสิ้นไปของสังโยชน์ ๑๐.  อนึ่งเพราะสังโยชน์ทั้งหมดสิ้นไป เพราะอาศัยพระนิพพาน ฉะนั้น พระนิพพานนั้นก็เป็นอันสิ้นสังโยชน์ทั้งหมด. อธิบายว่า ภิกษุย่อมบรรลุความสิ้นไปแห่งสังโยชน์ทั้งหมด อันได้แก่ พระนิพพานด้วยประการฉะนี้.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงรวบยอดแห่งพระธรรมเทศนาด้วยอมตมหานิพพาน ด้วยประการฉะนี้ แล้วจึงทรงประกาศสัจธรรมให้ยิ่ง ๆขึ้นไปแล้วจึงทรงประชุมชาดก. ในเมื่อจบสัจธรรม ภิกษุผู้คลายความเพียรได้บรรลุพระอรหัต.

พระมารดาในครั้งนั้นได้เป็นพระมหามายา. พระบิดาได้เป็นพระเจ้าสุทโธทนมหาราช. พญาช้างซึ่งช่วยให้ได้ราชสมบัติได้เป็นภิกษุผู้คลายความเพียรรูปนี้. บิดาของพญาช้างได้เป็นสาริบุตร. ส่วนอลีนจิตตราชกุมารได้เป็นเราตถาคตฉะนี้แล.  จบอรรถกถาอลีนจิตตชาดกที่ ๖

ที่มา : Palipage: Guide to Language - Pali











Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: