การหัดตาย ก็คือปล่อยใจจากสิ่งทั้งหลาย ก่อนที่จะถูกความตายบังคับให้ปล่อย
..“ ปราชญ์ทางพุทธศาสนาคือผู้มีปัญญา ท่านสอนให้เร่งอบรม “มรณสติ” นึกถึงความตาย หัดตายก่อนตายจริง จุดมุ่งหมายสำคัญของการหัดตาย ก็คือ เพื่อปล่อยใจจากสิ่งทั้งหลาย ก่อนที่จะถูกความตายบังคับให้ปล่อย
..กิเลส เครื่องเศร้าหมองใจ, ตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยาก, อุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นทั้งหลายทั้งปวง, หัดใจให้ปล่อยเสียพร้อมกับหัดตาย สิ่งอันเป็นเหตุให้โลภ ให้โกรธ ให้หลง ให้เกิดตัณหา อุปาทาน หัดละเสีย ปล่อยเสีย พร้อมกับหัดตาย ซึ่งจะมาถึงเราทุกคนเข้าจริงๆได้ทุกวินาที ไม่ว่าจะแก่เฒ่าหนุ่มสาวหรือเด็กเล็กเพียงไหน
ผู้ละโลกนี้ไปในขณะที่จิตเศร้าหมอง “ทุคติ” เป็นอันหวังได้อย่างแน่นอน
..เมื่อลมหายใจออกจากร่างไม่กลับเข้าอีก สิ่งที่เป็นนามแลไม่เห็นด้วยสายตา เช่นเดียวกับลมหายใจ คือ “จิต” ก็จะออกจากร่างนั้นด้วย จิตจะออกจากร่างโดยคงสภาพเดิม ลักษณะเดิม คือ พร้อมด้วยกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งปวงที่มีอยู่ ในขณะจิตจะออกจากร่าง คือ ขณะยังเป็นจิตของคนเป็น ขณะยังเป็นจิตของคนยังไม่ตาย
..พระพุทธองค์ทรงกล่าวว่า “ผู้ละโลกนี้ไปในขณะที่จิตเศร้าหมอง ทุคติเป็นอันหวังได้” กิเลสทั้งปวงเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต จิตที่มีกิเลสจึงเป็นจิตที่เศร้าหมอง กิเลสมากจิตก็เศร้าหมองมาก กิเลสน้อยจิตก็เศร้าหมองน้อย จิตที่มีกิเลสเศร้าหมอง เมื่อละจากร่างก็จะคงกิเลสนั้นอยู่ คงความเศร้าหมองนั้นไว้ ภพภูมิไปสู่นั้นจึงเป็นทุคติ คติที่ชั่ว คติที่ไม่ดี คติที่ไม่มีความสุข (คือ อบายภูมิ ๔ มี นรก กำเนิดเดรัจฉาน เปรต อสุรกาย) มากน้อย หนักเบา ตามกิเลส ตามความเศร้าหมองของจิต”
สมเด็จพระญาณสังวร
0 comments: