วันพุธที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2564

ทรัพย์แท้คือทรัพย์ภายใน พลังแท้คือความเป็นไท

ทรัพย์แท้คือทรัพย์ภายใน พลังแท้คือความเป็นไท

พรอีกข้อหนึ่งคือ “โภคะ” ที่เพิ่มเข้ามา ทำให้พร ๔ เป็น พร ๕ ซึ่งแทรกเข้ามาตรงนี้ เป็นข้อที่ ๔ ในพร ๕ ประการ

โภคะ คือ ทรัพย์สมบัติ ทรัพย์สมบัติเรามีไว้ทำไม ก็เพื่อใช้สอย แต่ทางพระท่านบอกว่า โภคะ หรือทรัพย์สมบัติทางจิตใจได้แก่ คุณธรรมคือ พรหมวิหาร ๔ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกเขา นี้แหละ เป็นทรัพย์สมบัติที่อยู่กับตัว ที่ใช้ไม่รู้จักหมด.  เมตตา มีไมตรีจิตมิตรภาพกับคนทั่วไป เจอใครทักทาย ยิ้มแย้มแจ่มใส รักใคร่ปรารถนาดีต่อทุกๆ คน  กรุณา เห็นใครตกทุกข์ได้ยาก ช่วยเหลือเขาไป  มุทิตา เห็นใครดี ประสบผลสำเร็จ มีความเจริญก้าวหน้า ก็โมทนา ส่งเสริมไป  อุเบกขา มีเรื่องมีราวทะเลาะเบาะแว้งกัน เราวางใจเป็นธรรม ให้ความเป็นธรรม วางใจเป็นกลาง ใช้ปัญญาฝึกให้คนรู้จักรับผิดชอบ

เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา นี้เป็นทรัพย์ที่เราสร้างไว้กับตัว เป็นโภคะที่มองไม่เห็น ใช้ไม่รู้จักหมด บางทีของบางอย่างซื้อด้วยเงินไม่ได้ แต่ใช้เมตตา ก็สำเร็จได้มาเองเลย บางทีเขาก็ขนเอามาให้ ไม่ต้องขอไม่ต้องบอก บริการเต็มที่ และใช้ได้กับสิ่งที่ทรัพย์สินเงินทองซื้อไม่ได้ด้วย จึงเป็นทรัพย์สมบัติที่มีลักษณะพิเศษ คือ  ๑. ใช้ไม่หมด  ๒. ซื้อสิ่งที่ซื้อด้วยเงินไม่ได้  ฉะนั้น โภคะคือพรหมวิหารนี้ จึงเป็นสิ่งที่ควรจะสร้างขึ้นมา ถ้าเราทำได้ ก็เป็นโภคะอันประเสริฐ

ต่อไปพรข้อสุดท้ายคือ “พละ” ได้แก่ กำลัง ตามความหมายนี้เราจะนึกถึงว่ากำลังกายก็ตาม กำลังใจก็ตาม ท่านบอกว่าใช่ทั้งนั้น.  ท่านมีหมวดธรรมให้ตั้งเยอะ พละ ๕ ที่พูดถึงกันอยู่เสมอในวงการของนักปฏิบัติธรรมคือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ก็เป็นกำลังทางจิตใจ แต่เราไม่มีเวลาพูดมากพอ เพราะฉะนั้น เรามาเอากำลังขั้นสุดยอดกันเลย กำลังขั้นสุดยอดนี้ ก็คือ อิสรภาพ

ทำไมพระพุทธเจ้าว่าอย่างนั้น อิสรภาพเป็นกำลังได้อย่างไร ขอให้พิจารณาดู คนจะมีกำลังเท่าไรก็ตาม ร่างกายจะเข้มแข็งเท่าไรก็ตาม แต่ถ้าร่างกายนั้นถูกมัดเสีย จะเป็นอย่างไร ตอบได้เลยว่าไม่มีความหมาย กำลังมากมายไม่มีความหมาย ทำอะไรไม่ได้ ในทางตรงข้าม คนมีกำลังน้อยก็ตาม มากก็ตาม ถ้าร่างกายเป็นอิสระ ไม่ถูกจับมัด เขามีกำลังเท่าใดก็ใช้ได้เต็มที่เท่านั้น ใช่หรือเปล่า ฉะนั้นความเป็นอิสระจึงเป็นกำลังที่สำคัญที่สุด

ที่พูดมานั้นเป็นเรื่องของอิสรภาพ หรือความเป็นอิสระทางกาย แต่ยังมีอีกด้านหนึ่ง คืออิสรภาพ หรือความเป็นอิสระทางจิตใจ ซึ่งสำคัญยิ่งกว่าอิสรภาพทางกาย. ความเป็นอิสระของจิตใจ มีลักษณะที่สำคัญ ๒ อย่าง คือ  ๑. ไม่ถูกอะไรครอบงำ หรือคอยบังคับชักจูงให้ถดถอยหรือใช้กำลังหันเหไปในทางอื่น  ๒. ไม่ถูกสิ่งใดผูกมัด มีกำลังเท่าไรก็ใช้ได้เต็มที่

ขอขยายความเพียงนิดหน่อย

๑. จิตใจนั้นไม่ถูกกิเลสครอบงำ หรือไม่อยู่ใต้อำนาจ บังคับของกิเลส จะพูดว่าไม่เป็นทาสของกิเลสก็ได้. กิเลสที่จะมาครอบงำใจนั้น มีมากมาย พูดง่ายๆ ก็อย่างโลภะ โทสะ โมหะ หรือความโลภ โกรธ หลง จะทำอะไรก็ตาม ถ้ามัวแต่คำนึงถึงลาภสักการะ หรือถูกความโกรธแค้น ความพยาบาท ความน้อยใจเข้าครอบงำ ก็เสียกำลัง ทำอะไรไม่ได้เต็มที่ อย่างง่ายๆ ถูกความกลัวคุกคามบ้าง ถูกความเกียจคร้านหน่วงเหนี่ยวไว้บ้าง ก็สูญเสียกำลัง ทำอะไรไม่ได้เต็มที่ เพราะฉะนั้น ความเป็นอิสระในการที่จิตใจไม่ถูกกิเลสครอบงำ จึงเป็นกำลังที่เข้มแข็งอย่างยิ่ง

๒. จิตใจมีกำลังเท่าใดใช้ได้เต็มที่ เพราะไม่มีอะไรผูกมัดไว้ การจะทำอะไรต่างๆ ไม่ว่าจะทำความดีก็ตาม จะทำการงานก็ตาม ถ้าไม่มีห่วงกังวลอะไรเข้ามาผูกมัดใจ เราก็ทำได้เต็มที่.  แต่ทั้งๆ ที่เรามีกำลังกายเข้มแข็ง ถ้าใจเราถูกผูกมัดเสีย เช่นมีห่วงมีกังวล มีอะไรต่างๆ หน่วงเหนี่ยว หรือผูกมัดใจอยู่ก็ทำไม่ได้ ไม่สามารถจะทำสิ่งนั้นได้เต็มที่.  ในทางตรงข้าม ถ้าไม่ถูกผูกมัด เป็นอิสระแล้ว ก็จะทำสิ่งนั้นได้เต็มที่ ฉะนั้นความเป็นอิสระจึงสำคัญมาก

ความเป็นอิสระนี้มีหลายขั้น ในทางพระมีศัพท์เรียกสั้นๆ ว่า วิมุตติ แปลว่า ความหลุดพ้น หรือจะแปลว่าการปลดปล่อยก็ได้ คือปลดปล่อยจิตใจให้พ้นเป็นอิสระไปจากกิเลสที่ครอบงำ และสิ่งที่ผูกมัดหน่วงเหนี่ยวทั้งหลาย ตลอดจนพ้นจากอวิชชา คือความไม่รู้.  อิสรภาพหรือวิมุตติที่มีหลายขั้นนั้น พูดมาเท่านี้ก็มากแล้ว ควรจะพอก่อน

ที่มา : https://www.payutto.net



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: