มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๒๓) ปัญหาที่ ๘ อกุสลัจเฉทปัญหา
พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พระตถาคตทรงเป็นผู้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณ เผาอกุศลได้ทั้งหมดหรือ หรือว่าทรงเป็นผู้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณเมื่อยังทรงมีอกุศลเหลืออยู่เล่า ? พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณ เผาอกุศลได้ทั้งหมดแล้ว พระผู้มีพระภาคไม่ทรงมีอกุศลเหลืออยู่. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า ตถาคตเคยทรงเกิดทุกขเวทนาทางกายหรือไม่ ? พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ใช่ พระผู้มีพระภาคเคยทรงเกิดทุกข์เวทนาทางกายคือ ที่กรุงราชคฤห์ พระบาทข้างหนึ่งของพระตถาคตถูกสะเก็ดหินกระทบเอา ครั้งหนึ่ง, ทรงเกิดพระอาพาธโรคบิด ครั้งหนึ่ง, หมอชีวกได้ทำการปัดพระโลหิตในพระวรกายที่ใครๆทำให้ฉีกขาดไม่ได้ ครั้งหนึ่ง เมื่อเกิดพระอาพาธโรคลม พระเถระผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ก็ได้เที่ยวหาน้ำร้อนมาถวาย
พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากว่าพระตถาคตทรงเป็นผู้บรรลุสัพพัญญุตญาณ เผาอกุศลได้ทั้งหมดแล้ว จึงทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณจริงไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำพูดที่ว่า พระบาทข้างหนึ่งของพระตถาคตถูกสะเก็ดหินกระทบเอา ว่า ครั้งหนึ่งทรงเกิดพระอาพาธโรคบิด และว่า ครั้งหนึ่งทรงเกิดพระอาพาธโรคลม ดังนี้ ก็ต้องเป็นคำพูดที่ผิด ถ้าหากว่าพระบาทของพระตถาคตถูกสะเก็ดหินกระทบจริง ครั้งหนึ่งทรงเกิดพระอาพาธโรคบิดจริง และครั้งหนึ่งทรงเกิดพระอาพาธโรคลมจริง แล้วไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำพูดที่ว่า พระตถาคตทรงเผาอกุศลได้ทั้งหมดแล้ว จึงทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ดังนี้ ก็ย่อมเป็นคำพูดที่ผิด พระคุณเจ้า เวรกรรมเสียเท่านั้น เวทนาก็หามีได้ไม่ เวทนาทั้งหมดนั้นล้วนมีกรรมเป็นมูล เวทนานั้นมีได้เพราะกรรมเท่านั้น แม้ปัญหานี้ ก็มี ๒ เงื่อน ตกถึงแก่ท่านแล้ว ขอท่านจงคลี่คลายปัญหานั้นเถิด. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร เวทนาทั้งปวงล้วนมีกรรมเป็นมูล ก็หาไม่ ขอถวายพระพร เวทนาทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นเพราะเหตุ ๘ อย่าง ซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายมากมายได้สวยเวทนา เพราะเหตุ ๘ อย่างอะไรบ้าง, ขอถวายพระพร ๑.) เวทนาบางอย่าง ย่อมเกิดขึ้นในโลกนี้ เป็นเวทนาที่มีลมเป็นสมุฏฐาน ๒.) เวทนาบางอย่าง ย่อมเกิดขึ้นในโลกนี้ เป็นเวทนาที่มีดีเป็นสมุฏฐาน ๓.) เวทนาบางอย่าง ย่อมเกิดขึ้นในโลกนี้ เป็นเวทนาที่มีเสมหะเป็นสมุฏฐาน ๔.) เวทนาบางอย่าง ย่อมเกิดขึ้นในโลกนี้ เป็นเวทนาที่เกิดจากสันนิบาต ๕.) เวทนาบางอย่าง ย่อมเกิดขึ้นในโลกนี้ เป็นเวทนาที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงแห่งอุตุ ๖.) เวทนาบางอย่าง ย่อมเกิดขึ้นในโลกนี้ เป็นเวทนาที่เกิดจากการบริหารไม่สม่ำเสมอ ๗.) เวทนาบางอย่าง ย่อมเกิดขึ้นในโลกนี้ เป็นเวทนาที่เกิดจากความพยายาม ๘.) เวทนาบางอย่าง ย่อมเกิดขึ้นในโลกนี้ เป็นเวทนาที่เกิดโดยเป็นวิบากของกรรม
ขอถวายพระพร มหาบพิตร สัตว์ทั้งหลายมากมาย ย่อมเสวยเวทนาเพราะเหตุ ๘ เหล่านี้ แล ในเหตุ ๘ อย่างนั้นบุคคลเหล่าใดกล่าวแต่ว่า “กรรมย่อมเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย” ดังนี้ บุคคลเหล่านั้น ชื่อว่าปฏิเสธเหตุ ๗ อย่าง คำพูดของบุคคลเหล่านั้น นั้น นับว่าผิด. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน เวทนาที่เกิดจากลมก็ดี เวทนาที่เกิดจากดีก็ดี เวทนาที่เกิดจากเสมหะก็ดี เวทนาที่เกิดจากสันนิบาตก็ดี เวทนาที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงแห่งอุตุก็ดี เวทนาที่เกิดจากการบริหารร่างกายไม่สม่ำเสมอก็ดี เวทนาเกิดจากความพยายามก็ดี เวทนาเหล่านั้นทั้งหมด ก็ล้วนตั้งขึ้นเพราะกรรมทั้งนั้นแหละ เวทนาเหล่านั้นทั้งหมด ล้วนเกิดได้เพราะกรรม อย่างเดียว. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร ถ้าหากว่าความเจ็บไข้ได้ป่วย (ทุกขเวทนา) ทั้งหลายทั้งปวง ล้วนมีกรรมเป็นสมุฏฐานอย่างเดียวไซร้ ความเจ็บไข้ได้ป่วยเหล่านั้น ก็ไม่น่าจะมีลักษณะเป็นอย่างๆ (แตกต่างกัน) ขอถวายพระพร ลมเมื่อจะกำเริบ ย่อมกำเริบเพราะเหตุ ๑๐ อย่าง คือ เพราะความหนาวเย็น ๑, เพราะความร้อน ๑, เพราะความหิว ๑, เพราะความกระหาย ๑, เพราะอาหารที่บริโภคมากเกินไป ๑, เพราะการยืนที่นานเกินไป ๑, เพราะความเพียรที่มากเกินไป ๑, เพราะการวิ่งเร็วเกินไป ๑, เพราะความพยายามของตนหรือของผู้อื่น ๑, เพราะวิบากของกรรม ๑, ใน ๑๐ อย่างนั้น เหตุ ๙ อย่างไม่ใช่เหตุอดีต ไม่ใช่เหตุอนาคต ย่อมเกิดขึ้นเป็นปัจจุบัน เพราะฉะนั้น ก็ไม่ควรกล่าวว่า เวทนาทั้งหลายทั้งปวง มีกรรมเป็นแดนเกิด. ขอถวายพระพร ดีเมื่อจะกำเริบ ย่อมกำเริบเพราะเหตุ ๓ อย่างคือ เพราะความหนาวเย็น ๑, เพราะความร้อน ๑, เพราะกินของแสลง ๑, เสมหะเมื่อจะกำเริบ ย่อมกำเริบเพราะเหตุ ๓ อย่าง คือ เพราะความหนาวเย็น ๑, เพราะความร้อน ๑, เพราะของกินของดื่ม ๑, ขอถวายพระพร ลมก็ดี ดีก็ดี เสมหะก็ดี กําเริบเพราะเหตุกำเริบเหล่านั้นๆ แล้ว ก็เป็นของเจือปนกัน ชักเอาเวทนาที่เป็นของตนของตนมา
ขอถวายพระพร เวทนาที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงแห่งอุตุ ย่อมเกิดขึ้นเพราะความเปลี่ยนแปลงแห่งอุตุ เวทนาที่เกิดจากการบริหารไม่สม่ำเสมอ ก็ย่อมเกิดขึ้นจากการบริหารที่ไม่สม่ำเสมอ เวทนาที่เกิดจากความพยายาม ย่อมมีได้เพราะการกระทำ วิบากของกรรมมีอยู่ เวทนาที่เกิดโดยเป็นวิบากของกรรม ย่อมเกิดขึ้นเพราะเป็นวิบากของกรรมที่ทำไว้ในกาลก่อน ขอถวายพระพร เวทนาที่เกิดโดยเป็นวิบากของกรรม จัดว่ามีเพียงเล็กน้อย ดังกล่าวมานี้ แล ในความข้อที่ว่านั้น พวกคนพาลทั้งหลาย ย่อมคิดเลยเถิดไปว่า เวทนาทุกอย่าง ล้วนเกิดโดยเป็นวิบากของกรรม ดังนี้ ยกเว้นพระพุทธเจ้าผู้ทรงมีพระพุทธญาณแล้ว ใครๆ ไม่อาจที่จะกำหนดกรรมนั้นได้หรอก. ขอถวายพระพร ข้อที่พระบาทข้างหนึ่งของพระผู้มีพระภาค ถูกสะเก็ดหินกระทบเอาใด ข้อนั้น หาใช่เวทนาที่มีลมเป็นสมุฏฐานไม่ หาใช้เวทนาที่มีดีเป็นสมุฏฐานไม่ หาใช่เวทนาที่มีเสมหะเป็นสมุฏฐานไม่ หาใช่เวทนาที่เกิดจากสันนิบาตไม่ หาใช่เวทนาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงแห่งอุตุไม่ หาใช่เวทนาที่เกิดจากการบริหารที่ไม่สม่ำเสมอไม่ หาใช่เวทนาที่เกิดโดยเป็นวิบากของกรรมไม่, ทว่า เป็นเวทนาที่เกิดจากความพยายามนั่นเทียว. ขอถวายพระพร พระเทวทัตผูกอาฆาตในพระตถาคตติดต่อกันมาตลอดหลายแสนชาติ งัดหินก้อนใหญ่หนักขึ้นมา ด้วยหมายใจว่า เราจะกลิ้งให้ตกไปโดนหัว ดังนี้ แล้วปล่อยให้กลิ้งลงมา ลำดับนั้น ก็มีหินอื่น ๒ ก้อน โผล่ขึ้น มารับเอาหินใหญ่ที่มาจวนถึงพระตถาคตก้อนนั้นเอาไว้ได้ เพราะก้อนหินเหล่านั้นมากระทบกระทั่งกัน ก็เกินสะเก็ดหินปริออก กระเด็นไปกระทบพระบาทของพระผู้มีพระภาค ทำพระโลหิตให้ห้อขึ้น ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เวทนาของพระผู้มีพระภาคนี้ จะจัดว่าเป็นเวทนาที่บังเกิดโดยเป็นวิบากของกรรมก็ได้, เป็นเวทนาที่บังเกิดจากการกระทำก็ได้, ไม่มีเวทนาอื่นที่นอกเหนือไปจากเวทนา ๒ อย่างนั้น
ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า เพราะสถานที่เพาะปลูกไม่ดี หรือเพราะความเป็นเมล็ดพืชที่ไม่ดี เมล็ดพืชจึงงอกออกหน่อดีไม่ได้ ฉันใด เวทนาของพระผู้มีพระภาคนี้ เป็นเวทนาที่บังเกิดโดยวิบากของกรรมก็ได้ เป็นเวทนาที่บังเกิดจากการกระทำก็ได้ ไม่มีเวทนาอื่นที่นอกเหนือไปจากเวทนา ๒ อย่างนั้น ฉันนั้นเหมือนกัน. ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนว่า เพราะมีที่เก็บไม่ดี หรือว่าเพราะเป็นอาหารที่ไม่ดี ของกินจึงกลายเป็นของแสลง ไม่ควรกินไป ฉันใด ขอถวายพระพร เวทนาของพระผู้มีพระภาคนี้ เป็นเวทนาที่บังเกิดโดยวิบากของกรรมก็ได้ เป็นเวทนาที่บังเกิดจากการกระทำก็ได้ ไม่มีเวทนาอื่นที่นอกเหนือไปจากเวทนา ๒ อย่างนั้น ฉันนั้นเหมือนกัน. ขอถวายพระพร อีกนัยหนึ่ง สำหรับพระผู้มีพระภาค หาทรงมีเวทนาที่เกิดโดยเป็นวิบากของกรรมไม่ หาทรงมีเวทนาที่เกิดจากการบริหารร่างกายไม่สม่ำเสมอไม่ พระผู้มีพระภาคทรงเกิดเวทนาจากสมุฏฐานที่เหลือ แต่ว่าเวทนานั้น ไม่อาจจะปลงพระชนม์ชีพของพระผู้มีพระภาคได้. ขอถวายพระพร มหาบพิตร เวทนาที่ดีและไม่ดี ที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา ย่อมประชุมกันอยู่ในกายอันประกอบด้วยมหาภูต ๔ นี้ ขอถวายพระพร ก้อนดินที่เขาขว้างไปในอากาศ ย่อมตกลงมาที่แผ่นดินใหญ่นี้ ขอถวายพระพร ก้อนดินนั้นตกลงมาที่พื้นแผ่นดินใหญ่ได้เพราะกรรมที่แผ่นดินใหญ่ได้ทำกรรมไว้ หรือไร ?
พระเจ้ามิลินท์, หามิได้ พระคุณเจ้า เหตุที่ทำให้แผ่นดินใหญ่พึงเสวยวิบากของกุศลและอกุศล หามีไม่ พระคุณเจ้า ก้อนดินนั้นตกลงมาที่แผ่นดินใหญ่ เพราะเหตุปัจจุบันที่ไม่ใช่กรรม. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พึงเห็นว่า พระตถาคตทรงเปรียบได้ด้วยแผ่นดินใหญ่เถิด ก้อนดินตกลงมาที่แผ่นดินใหญ่ได้เพราะเหตุ (อื่น) อันไม่ใช่กรรมที่แผ่นดินใหญ่ทำไว้ในกาลก่อน ฉันใด สะเก็ดหินนั้นก็ตกลงมาที่พระบาทของพระตถาคตได้ เพราะเหตุ (อื่น) อันไม่ใช่กรรมที่พระตถาคตทรงทำไว้ในกาลก่อน ฉันนั้นเหมือนกัน. ขอถวายพระพร พวกคนทั้งหลายในโลกนี้ ย่อมตัดและขุดแผ่นดินใหญ่ ขอถวายพระพร แผ่นดินใหญ่ถูกคนเหล่านั้น ตัดและขุด เพราะแผ่นดินใหญ่ได้ทำกรรมไว้หรือหนอ ? พระเจ้ามิลินท์, หามิได้ พระคุณเจ้า. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นนั่นเทียว สะเก็ดหินที่ตกไป (กระทบ) พระบาทของพระผู้มีพระภาคนั้น ก็หาได้ตกไป (กระทบ) พระบาทของพระผู้มีพระภาคเข้า เพราะเหตุที่พระผู้มีพระภาคทรงได้ทำกรรมไว้ในกาลก่อนไม่ ขอถวายพระพร แม้พระอาพาธโรคบิดที่เกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาค ก็หาได้เกิดขึ้นเพราะเหตุที่พระผู้มีพระภาคทรงกระทำกรรมไว้ในกาลก่อนไม่ ขอถวายพระพร พระอาพาธทางพระวรกายอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาค พระอาพาธเหล่านั้น หาบังเกิดเพราะกรรมไม่ (ทว่า) บังเกิดเพราะสมุฏฐาน ๖ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง. ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นที่ยิ่งเหล่าเทพทั้งหลายได้ทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ในสังยุตตนิกาย ใน โมฬิยสีวกพยากรณ์ว่า :-
ดูก่อน สีวกะ เวทนาบางอย่างที่มีดีเป็นสมุฏฐาน ย่อมเกิดขึ้นในโลกนี้ ข้อที่ว่าเวทนาบางอย่างที่มีดีเป็นสมุฏฐานย่อมเกิดขึ้นในโลกนี้ นี้ แม้เราเองก็รับรู้ว่าจริงตามอย่างที่มันเป็น ข้อเวทนาบางอย่างที่มีดีเป็นสมุฏฐานย่อมเกิดขึ้นในโลกนี้ นี้ แม้ชาวโลกก็มีการรับรู้กันว่าจริงตามอย่างที่มันเป็น ดูก่อน สีวกะ ในเรื่องนั้น สมณะและพราหมณ์พวกที่มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า บุรุษบุคคลเสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง จะเป็นสุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม ไม่ทุกข์ไม่สุขก็ตาม เวทนาทั้งหมดนั้น มีกรรมที่ทำไว้ในกาลก่อนเป็นเหตุ ดังนี้ ใด สมณะและพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่า ย่อมคิดเลยเถิดสิ่งที่เราเองก็รับรู้ ชื่อว่าย่อมคิดเลยเถิดสิ่งที่ชาวโลกก็รับรู้กันอยู่ว่าเป็นจริง เพราะฉะนั้น เราขอกล่าวว่า พวกสมณะและพราหมณ์เหล่านั้นมีวาทะและทิฏฐิที่ผิดพลาด. ดูก่อน สีวกะ เวทนาบางอย่างแม้ที่มีเสมหะเป็นสมุฏฐานย่อมเกิดขึ้นในโลกนี้ เวทนาบางอย่างแม้ที่มีลมเป็นสมุฏฐาน ฯลฯ แม้ที่มีสันนิบาตเป็นสมุฏฐาน ฯลฯ แม้ที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงแห่งอุตุ ฯลฯ แม้นที่เกิดจากการบริหารที่ไม่สม่ำเสมอ ฯลฯ แม้ที่เกิดจากความพยายาม ฯลฯ แม้ที่เกิดโดยเป็นวิบากของกรรม ย่อมเกิดขึ้นในโลกนี้ ข้อที่เวทนาบางอย่างที่เกิดโดยเป็นวิบากของกรรม ย่อมเกิดขึ้นในโลกนี้ นี้ แม้เราก็รับรู้ว่าจริงตามอย่างที่มันเป็น ข้อที่เวทนาบางอย่างที่เกิดโดยเป็นวิบากของกรรม ย่อมเกิดขึ้นในโลกนี้ นี้ แม้ชาวโลกก็รับรู้กันว่าจริงตามอย่างที่มันเป็น
ดูก่อน สีวกะ ในเรื่องนั้นสมณะและพราหมณ์พวกที่มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ ว่าบุรุษบุคคลเสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง จะเป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม ไม่ทุกข์ไม่สุขก็ตาม เวทนาทั้งหมดนั้น มีกรรมที่ทำไว้ในกาลก่อนเป็นเหตุ ดังนี้ ใด สมณะและพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าย่อมคิดเลยเถิดสิ่งที่เราเองรับรู้ ชื่อว่าย่อมคิดเลยเถิดสิ่งที่ชาวโลกรับรู้กันอยู่ว่าเป็นจริง เพราะฉะนั้น เราขอกล่าวว่าพวกสมณะและพราหมณ์เหล่านั้น มีวาทะและทิฏฐิที่ผิดพลาดดังนี้ ขอถวายพระพร แม้เพราะเหตุนี้ เวทนาทุกอย่าง หาล้วนเกิดโดยเป็นวิบากของกรรมแต่อย่างเดียวไม่ ขอถวายพระพร ขอพระองค์จงทรงยอมรับความข้อนี้ อย่างนี้เถิด ว่า พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ทรงเผาอกุศลได้ทั้งหมด. พระเจ้ามิลินท์, ดีจริง พระคุณเจ้านาคเสน ข้าพเจ้า ขอยอมรับความข้อนี้ ตามประการที่ท่านได้กล่าวมานี้. จบอกุสลัจเฉทนปัญหาที่ ๘
คำอธิบายปัญหาที่ ๘
ปัญหาเกี่ยวกับการตัดอกุศลกรรมแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชื่อว่า อกุสลัจเฉทนปัญหา. คำว่า พระคุณเจ้านาคเสน พระตถาคตทรงเป็นผู้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณ เผาอกุศลได้ทั้งหมด เป็นต้น ความว่า พระคุณเจ้านาคเสน พระตถาคตทรงเป็นผู้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณ สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เผาอกุศลได้หมดหรือ หรือว่าทรงเป็นผู้บรรลุสัพพัญญุตญาณในเมื่อยังมีอกุศลเหลืออยู่ ยังไม่ทรงเผาได้หมดเล่า ? ในคำเหล่านั้น คำว่า อกุศล พระราชาตรัสหมายเอาอกุศลกรรมที่เป็นเหตุแห่งทุกข์เวทนา. คำว่า ครั้งหนึ่ง หมอชีวกได้ทำการคัดพระโลหิตในพระวรกายที่ใครๆ ทำให้ฉีกขาดไม่ได้ ความว่า หมอชีวกได้ทำการผ่าตัดที่พระบาท คัดพระโลหิตที่ห้อขึ้นเนื่องจากถูกสะเก็ดหินกระทบ ในคราวนั้น ทรงเสวยทุกขเวทนาทางกายคือที่พระบาท เพราะเหตุการผ่าตัดนั้น ก็พระกายของพระผู้มีพระภาค ใครๆก็ไม่อาจทำให้ฉีกขาดด้วยคมศาสตราเป็นต้นได้ ข้อนี้เป็นสภาวะธรรมดาแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ส่วนการที่หมอชีวกทำการผ่าตัดทำพระบาทส่วนนั้นให้ฉีกขาดไปได้นั้น เป็นเพราะทรงยินยอมอนุญาต
ใจความที่ขัดแย้งกัน ก็มีเพียงแค่นี้เท่านั้น คือ ถ้าหากพระตถาคตทรงเผาอกุศลได้ทั้งหมด ไม่มีอกุศลกรรมเหลืออยู่จริงไซร้ พระองค์ก็จะไม่ทรงเสวยทุกขเวทนาใดๆ อีก เพราะไม่มีเหตุ คืออกุศลกรรมนั้น เพราะฉะนั้น คำที่ว่า พระบาทข้างหนึ่งถูกสะเก็ดหินกระทบเอาอันเป็นเหตุให้ทรงเสวยทุกขเวทนาดังนี้เป็นต้น ก็ย่อมเป็นคำพูดที่ไม่ถูกต้อง ถ้าหากเรื่องเกี่ยวกับพระบาทข้างหนึ่งถูกสะเก็ดหินกระทบเป็นต้น เป็นความจริงไซร้ ก็เป็นอันว่ายังทรงเผาอกุศลกรรมได้ไม่หมด ยังมีส่วนเหลืออยู่ เพราะฉะนั้น คำที่ว่า พระตถาคตทรงเผาอกุศลกรรมได้ทั้งหมด ดังนี้ ก็ย่อมเป็นคำพูดที่ไม่ถูกต้อง ไม่จริง. คำว่า พระคุณเจ้า เวรกรรมเสียเท่านั้น เวทนาก็หามีได้ไม่ เวทนาทั้งหมดล้วนมีกรรมเป็นมูล ความว่า เวรกรรม คือ กุศลกรรม อกุศลกรรมเสียอย่างเดียว เวทนาทั้งหลาย จะเป็นสุขเวทนาก็ตาม ทุกขเวทนาก็ตาม อุเบกขาเวทนาก็ตาม หามีได้ไม่ เวทนาทั้งหมดคือทุกอย่างล้วนมีกรรมเป็นมูลคือเป็นรากเหง้า ทำให้ผุดโผล่คือทำให้เกิด หรือว่าเป็นมูลคือเป็นเหตุที่เป็นประธาน ก็พระอาพาธคือความเจ็บไข้ได้ป่วยทั้งหลายของพระตถาคตเป็นทุกขเวทนา ย่อมมีได้เพราะอกุศลกรรม เพราะฉะนั้น พระตถาคตยังทรงมีอกุศลกรรมอยู่ ยังทรงเผาคือยังทรงละได้ไม่หมด
คำว่า มีลมเป็นสมุฏฐาน คือมีลมที่กำเริบขึ้นในกายเป็นสมุฏฐานคือเป็นเหตุทำให้ตั้งขึ้น. คำว่า เกิดจากสันนิบาต คือเกิดจากเหตุ ๓ อย่างข้างต้นประชุมกัน. คำว่า เกิดจากความเปลี่ยนแปลงแห่งอุตุ คือเกิดจากความหนาวเย็นและความร้อนรอบตัวที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอหรือเกิดจากความเปลี่ยนแปลงแห่งฤดูกาล. คำว่า เกิดจากการบริหารไม่สม่ำเสมอ คือเกิดจากการบริหารกายไม่สม่ำเสมอ หรือไม่สมควร คือผลัดเปลี่ยนอิริยาบถไม่สม่ำเสมอ มีนั่งมากเกินไป นอนน้อยเกินไป เป็นต้นบ้าง ใช้กำลังมากเกินไป มีแบกของหนักมากเกินไปเป็นต้นบ้าง เที่ยวไปในเวลาที่ไม่สมควร หรือในสถานที่ที่ไม่สมควร จนถูกสัตว์เลื้อยคลานมีงูเป็นต้น ขบกัดเอา ถูกแสงแดดแผดเผา ถูกลมแรงพัดกระทบมากเกินไปเป็นต้นบ้าง. คำว่า เกิดจากความพยายาม คือเกิดจากความพยายามคือการกระทำของผู้อื่น เช่น ผู้อื่นสำคัญว่าเป็นโจรแล้วจับตัวไปทรมานเป็นต้น หรือเกิดจากความพยายามของตนในคราวที่ใช้มือถอนเส้นผมเพื่อปลงผมบวชเป็นบรรพชิตในลัทธิเดียรถีย์ ในคราวที่อาศัยทิฏฐิว่าการทำอย่างนี้เป็นเหตุให้เป็นผู้บริสุทธิ์ ดังนี้ แล้วทรมานกายโดยการนอนบนขวากหนามเป็นต้น หรือในคราวที่ใช้ศัสตราฆ่าตัวเป็นต้น. คำว่า โดยวิบากของกรรม คือโดยวิบากคือผลของอกุศลกรรม ก็เวทนาที่เกิดจากเหตุ ๘ อย่างเหล่านี้ พระเถระกล่าวหมายเอาทุกขเวทนาทางกายเป็นสำคัญ
ความจริง ในทางพระอภิธรรม ทุกขเวทนาทางกายล้วนเป็นวิบากของอกุศลกรรม มีการฆ่าสัตว์หรือเบียดเบียนสัตว์เป็นต้น แต่การที่พระเถระกล่าวว่า บุคคลใดกล่าวว่า กรรมย่อมเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย ฯลฯ คำพูดของบุคคลเหล่านั้นนับว่าผิด ดังนี้ นั้น พระเถระกล่าวหมายเอาความเป็นเหตุที่เป็นประธาน เป็นความจริงว่า ในบรรดาเวทนา ๗ อย่างที่เหลือ เวทนาที่มีลมเป็นสมุฏฐาน ย่อมเป็นเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะลมในกายกำเริบ บุคคลแม้ได้ทำอกุศลกรรมไว้แล้วแต่หากว่าลมในกายไม่กำเริบ เวทนาที่ชื่อว่ามีลมเป็นสมุฏฐานนี้ก็ไม่อาจเกิดได้ เพราะฉะนั้นกรรมแม้ว่ามีส่วนเป็นเหตุแห่งเวทนาที่มีลมเป็นสมุฏฐานนี้ ก็ไม่จัดว่าเป็นเหตุที่เป็นประธาน ลมนั่นแหละเป็นเหตุที่เป็นประธาน กรรมนับว่ายังเป็นเหตุไกล ส่วนลมนับว่าเป็นเหตุใกล้ แม้เวทนาที่เหลืออันเกิดจากเหตุ ๖ อย่างนอกนี้ ก็เพิ่งทราบความตามทำนองเดียวกันนี้ เพราะฉะนั้น บุคคลใดกล่าวให้ผู้อื่นสำคัญผิดโดยนัยว่าอกุศลกรรมเท่านั้น ย่อมเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย โดยการสร้างทุกขเวทนาให้เกิดขึ้น ดังนี้ โดยไม่แลเหลียวถึงเหตุอย่างอื่น ถือเอาแต่กรรมเท่านั้นเป็นประมาณ คำพูดของบุคคลนั้น ย่อมเป็นคำพูดที่ผิดพลาด เป็นเหตุให้กำหนดปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความสิ้นทุกข์ผิดพลาด
คำว่า ยกเว้นพระพุทธเจ้าผู้ทรงมีพระพุทธญาณแล้วใครๆไม่อาจกำหนดกรรมนั้นได้หรอก ความว่า พระพุทธเจ้าผู้ทรงมีพระพุทธญาณ คือพระสัพพัญญุตญาณเท่านั้น ทรงทราบถึงกรรมทั้งหลายต่างๆ การที่สัตว์ได้ทำไว้ในกาลก่อน โดยนัยว่า อาพาธความเจ็บไข้ได้ป่วยอันเป็นทุกข์เวทนาของบุคคลผู้นี้ บังเกิดเพราะกรรมอะไร ทำไว้แต่ครั้งไหน บุคคลนอกนี้ไม่อาจกำหนดรู้ ไม่อาจกำหนดแยกแยะกรรมแต่ละอย่าง และเวทนาแต่ละอย่าง ที่เกิดเพราะกรรมเหล่านั้นได้เลย เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรอ้างเฉพาะแต่กรรม. ในอุปมาที่ว่า ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า เพราะสถานที่เพาะปลูกไม่ดี เป็นต้น มีอรรถาธิบายอย่างสังเขปเพียงนี้เท่านั้น คือ เพราะสถานที่เพาะปลูกไม่ดี เกี่ยวกับว่ามีอิฐมีหินปนอยู่เกลื่อนกล่น มีวัชพืชรุกราน เป็นต้น หรือเพราะเมล็ดพืชที่จะหว่านโปรยเป็นเมล็ดพืชที่ไม่ดีเองเพราะเปียกเกินไป แห้งเกินไป มีหนอนเจาะไช เป็นต้น บุคคลแม้เพาะปลูกหว่านโปรยเมล็ดพืชเหล่านั้นไว้ เมล็ดพืชเหล่านั้นก็ไม่ผลิตหน่อออกมาดี บางเมล็ดเท่านั้นที่มีหน่อ บางเมล็ดก็ไม่มีหน่อ จะมีหน่อไปทุกเมล็ดก็หาไม่ ฉันใด แม้พระวรกายของพระผู้มีพระภาค ก็เป็นสถานที่เพาะปลูกเวทนาไม่ดี เกี่ยวกับว่าทรงตัดปัจจัยที่จะทำให้เวทนาบางอย่างเกิดขึ้นได้แล้ว เวทนาบางอย่างเท่านั้นเกิดขึ้นในพระวรกายของพระองค์ได้ เวทนาบางอย่างไม่อาจเกิดได้ คือเวทนาที่บังเกิดโดยเป็นวิบากของกรรม และเวทนาที่บังเกิดจากการกระทำ เกิดได้ เวทนานอกนี้เกิดไม่ได้ฉันนั้นเหมือนกัน แม้ในอุปมาที่เหลือก็พึงทราบในนัยนี้. คำว่า ที่บังเกิดจากการกระทำ คือที่บังเกิดจากการกระทำที่เรียกว่าเป็นความพยายามนั่นเอง
พระผู้มีพระภาค แม้ว่าทรงละอกุศลกรรมได้แล้ว ก็ยังทรงเสวยทุกขเวทนาอันเป็นผลของอกุศลกรรมทั้งหลายได้อยู่ตราบเท่าที่ยังไม่เสด็จดับขันธปรินิพพาน ซึ่งเป็นอกุศลกรรมที่ทรงทำไว้ในอดีตภพทั้งหลาย ซึ่งคอยตามให้ผลเมื่อมีโอกาส ส่วนอกุศลกรรมที่ทรงละได้ เป็นอกุศลกรรมในภพปัจจุบันนี้ ที่อาจทำทุกเวทนาให้บังเกิดในอนาคต เพราะฉะนั้น พระองค์แม้ว่าทรงละอกุศลกรรมทั้งหลายได้แล้ว โดยเกี่ยวกับว่าไม่ทำให้เกิดขึ้น ก็ยังทรงมีพระอาพาธเจ็บป่วยเสวยทุกขเวทนาแม้ที่เนื่องจากกรรมโดยตรงในคราวนั้นๆ ได้ เช่นในคราวที่มีสะเก็ดหินกระเด็นมากระทบพระบาทเป็นต้น อีกอย่างหนึ่ง เฉพาะในคราวที่มีสะเก็ดหินมากระทบพระบาทนี้ จะนับว่าเป็นทุกข์เวทนาที่เกิดจากความพยายามก็ได้ ซึ่งก็เห็นชัดเจนอยู่ คือความพยายามของพระเทวทัต ฉะนี้แล. จบคำอธิบายปัญหาที่ ๘
ปัญหาที่ ๙ อุตริกรณียปัญหา
พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พวกท่านกล่าวกันว่า กิจที่ต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่งแห่งพระตถาคต พระตถาคตทรงทำกิจทั้งหมดนั้นจบสิ้นแล้ว ณ โคนต้นศรีมหาโพธิ์ พระตถาคตไม่ทรงมีกิจที่ต้องทำต่อไปอีก และไม่ทรงมีการรวบรวมกิจที่ทรงทำแล้ว ดังนี้ ก็แต่ว่าเรื่องที่พระตถาคตทรงมีการอยู่หลีกเร้นตลอด ๓ เดือนนี้ ก็ปรากฏอยู่ พระคุณเจ้านาคเสนถ้าหากว่ากิจที่ต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่งแห่งพระตถาคต พระตถาคตทรงทำกิจทั้งหมดนั้นจบสิ้นแล้ว ณ โคนต้นศรีมหาโพธิ์ พระตถาคตไม่ทรงมีกิจที่ต้องทำต่อไปอีก และไม่ทรงมีการรวบรวมกิจที่ทรงทำแล้ว จริงแล้วไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำว่า ทรงมีการอยู่หลีกเร้นตลอด ๓ เดือน ดังนี้ก็ต้องเป็นคำพูดที่ผิดพลาด ถ้าหากว่า พระตถาคตทรงมีการอยู่หลีกเร้นตลอด ๓ เดือนจริง แล้วไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า กิจที่ต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่งแห่งพระตถาคต พระตถาคตทรงทำกิจนั้นทั้งหมดจบสิ้นแล้วที่โคนต้นศรีมหาโพธิ์ ดังนี้ ก็ต้องเป็นคำพูดที่ผิดพลาด คนที่ได้ทำกิจที่ต้องทำจบสิ้นแล้วย่อมไม่มีการอยู่หลีกเร้น คนที่ยังมีกิจที่ต้องทำเท่านั้น จึงจะมีการอยู่หลีกเร้น เปรียบเหมือนว่าคนที่เจ็บป่วยเท่านั้น จึงมีกิจที่ต้องทำด้วยยา สำหรับคนที่ยังไม่เจ็บป่วย ประโยชน์อะไรด้วยยาเล่า, คนหิวอยู่เท่านั้น จึงมีกิจที่ต้องทำด้วยอาหาร สำหรับคนที่ยังไม่หิวประโยชน์อะไรด้วยอาหารเล่า ฉันใด, พระคุณเจ้านาคเสนคนที่ได้ทำกิจที่ต้องทำจบสิ้นแล้ว ย่อมไม่มีการอยู่หลีกเร้น คนที่ยังมีกิจที่ต้องทำเท่านั้น จึงจะมีการอยู่หลีกเร้น ฉันนั้นเหมือนกัน ปัญหาแม้นี้ก็มี ๒ เงื่อน ตกถึงแก่ท่านตามลำดับแล้ว ท่านจงคลี่คลายปัญหานั้นเถิด
พระนาคเสน, กิจที่ต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่งแห่งพระตถาคต พระตถาคตทรงทำกิจทั้งหมดนั้นจบสิ้นแล้วที่โคนต้นศรีมหาโพธิ์ พระตถาคตไม่ทรงมีกิจที่ต้องทำต่อไปอีก และไม่ทรงมีการรวบรวมกิจที่ทรงทำไว้แล้ว จริง, และพระผู้มีพระภาคก็ทรงมีการอยู่หลีกเร้นตลอด ๓ เดือนจริง, ขอถวายพระพร การอยู่หลีกเร้นเป็นของมีคุณค่ามาก แล พระตถาคตแม้ทุกพระองค์ทรงอยู่หลีกเร้นแล้วจึงทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ พระตถาคตทั้งหลายเหล่านั้น เมื่อทรงหวนระลึกถึงคุณแห่งการหลีกเร้นที่พระองค์ทรงทำไว้ดีแล้วนั้น จึงยังทรงส้องเสพการหลีกเร้นอยู่ ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า บุรุษคนหนึ่งได้รับพร ได้รับโภคทรัพย์จากสำนักของพระราชาแล้ว เมื่อหวนระลึกถึงคุณแห่งพระราชาที่ทรงทำไว้ดีแล้วนั้น ก็ย่อมกลับมาสู่สถานที่พำนักแห่งพระราชาอยู่เรื่อยๆ ฉันใด ขอถวายพระพร พระตถาคตแม้นทุกพระองค์ทรงอยู่หลีกเร้นแล้ว จึงทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ พระตถาคตเจ้าเหล่านั้น เมื่อทรงหวนระลึกถึงคุณแห่งการอยู่หลีกเร้นที่ทรงทำไว้ดีแล้วนั้น จึงยังทรงส้องเสพการหลีกเร้นอยู่ ฉันนั้นเหมือนกัน. ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนว่า บุรุษคนหนึ่งเป็นคนขี้โรค เป็นทุกข์ เป็นไข้หนัก พอได้ไปหาหมอแล้วก็ถึงความสวัสดีได้ เมื่อหวนระลึกถึงคุณของหมอที่หมอทำไว้ดีแล้วนั้น ก็ย่อมคบหาหมออยู่เรื่อยๆ ฉันใด ขอถวายพระพร พระตถาคตแม้ทุกพระองค์ทรงอยู่หลีกเร้นแล้ว จึงทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ พระตถาคตเจ้าเหล่านั้น เมื่อทรงระลึกถึงคุณแห่งการอยู่หลีกเร้นที่ทรงทำไว้ดีแล้วนั้น จึงยังทรงส้องเสพการหลีกเร้นอยู่ ฉันนั้น.
ขอถวายพระพร คุณแห่งการอยู่หลีกเร้นมี ๒๘ อย่างเหล่านี้ ซึ่งเป็นคุณที่พระตถาคตทรงระลึกถึงแล้วก็ยังทรงส้องเสพการหลีกเร้นอยู่ ๒๘ อย่างอะไรบ้าง ? ขอถวายพระพร – การอยู่หลีกเร้นย่อมรักษาตนผู้อยู่หลีกเร้น ๑, – การอยู่หลีกเร้นย่อมทำให้เจริญอายุ ๑, – การอยู่หลีกเร้นย่อมมอบกำลังให้ ๑, – การอยู่หลีกเร้นย่อมปิดกั้นโทษได้ ๑, – การอยู่หลีกเร้นย่อมขจัดความเป็นคนไม่มียศ ๑, – การอยู่หลีกเร้นย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมียศ ๑, – การอยู่หลีกเร้นย่อมบรรเทาความไม่ยินดี ๑, – การอยู่หลีกเร้นย่อมทำความยินดีให้ตั้งขึ้น ๑,– การอยู่หลีกเร้นย่อมขจัดความกลัวได้ ๑, – การอยู่หลีกเร้นย่อมสร้างความกล้าหาญ ๑, – การอยู่หลีกเร้นย่อมขจัดความเกียจคร้านได้ ๑, – การอยู่หลีกเร้นย่อมทำให้เกิดความเพียร ๑, – การอยู่หลีกเร้นย่อมขจัดราคะได้ ๑, – การอยู่หลีกเร้นย่อมขจัดโทสะได้ ๑, – การอยู่หลีกเร้นย่อมขจัดโมหะได้ ๑, – การอยู่หลีกเร้นย่อมถอนมานะได้ ๑, – การอยู่หลีกเร้นย่อมทำลายวิตกได้ ๑, – การอยู่หลีกเร้นย่อมทำจิตให้มีอารมณ์เดียวได้ ๑, – การอยู่หลีกเร้นย่อมทำให้ผูกจิตไว้ได้ ๑, – การอยู่หลีกเร้นย่อมทำให้เกิดความบันเทิง ๑, – การอยู่หลีกเร้นย่อมทำให้เป็นคนน่าเคารพ ๑, – การอยู่หลีกเร้นย่อมทำให้เกิดลาภ ๑, – การอยู่หลีกเร้นย่อมทำให้เป็นที่น่านอบน้อม ๑, – การอยู่หลีกเร้นย่อมทำให้ได้รับปีติ ๑, – การอยู่หลีกเร้นย่อมสร้างความปราโมทย์ ๑, – การอยู่หลีกเร้นย่อมทำให้เห็นสภาวะแห่งสังขารทั้งหลาย ๑, – การอยู่หลีกเร้นย่อมทำให้เพิกถอนปฏิสนธิในภพได้ ๑,– การอยู่หลีกเร้นย่อมมอบสามัญญผลให้ ๑,
ขอถวายพระพร คุณแห่งการอยู่หลีกเร้นมี ๒๘ อย่างเหล่านี้ แล ซึ่งเป็นคุณที่พระตถาคตทรงระลึกถึงแล้ว ก็ยังทรงส้องเสพการอยู่หลีกเร้นอยู่. ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง พระตถาคตเจ้าทั้งหลายผู้ทรงมีพระดำริสำเร็จแล้ว ทรงเป็นผู้ใคร่จะเสวยรสที่น่ายินดีแห่งสมาบัติซึ่งสงบเป็นสุข จึงทรงส้องเสพการอยู่หลีกเร้น ขอถวายพระพร พระตถาคตทรงส้องเสพการอยู่หลีกเร้นด้วยเหตุ ๔ อย่าง แล ด้วยเหตุ ๔ อย่างอะไรบ้าง ? – ขอถวายพระพร พระตถาคตเจ้าทั้งหลาย ทรงส้องเสพการอยู่หลีกเร้นเพื่อความอยู่ผาสุก ๑, – พระตถาคตเจ้าทั้งหลาย ทรงส้องเสพการอยู่หลีกเร้น ๑, – พระตถาคตเจ้าทั้งหลาย ทรงส้องเสพการอยู่หลีกเร้นแม้เพราะความ (ที่ทรงเล็งเห็นว่า) ไม่มีโทษและมากด้วยคุณ ๑, – พระตถาคตเจ้าทั้งหลาย ทรงส้องเสพการอยู่หลีกเร้นแม้เพราะเป็นทางดำเนินแห่งพระอริยเจ้าทั้งหลายทุกท่าน ไม่มีเหลือ ๑, พระตถาคตเจ้าทั้งหลาย ทรงส้องเสพการอยู่หลีกเร้นแม้เพราะเป็นของประเสริฐที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสชมเชยแซ่ซ้องสรรเสริญ ๑, ขอถวายพระพร พระตถาคตเจ้าทั้งหลาย ทรงส้องเสพการอยู่หลีกเร้นด้วยเหตุ ๔ อย่างเหล่านี้แล. ขอถวายพระพร พระตถาคตเจ้าทั้งหลาย ทรงส้องเสพการอยู่หลีกเร้น เพราะยังทรงเป็นผู้มีกิจที่ต้องทำ ก็หาไม่ และเพราะทรงประสงค์จะรวบรวมกิจที่ทำแล้ว ก็หาไม่ แต่ทว่าพระตถาคตเจ้าทั้งหลาย ทรงส้องเสพการอยู่หลีกเร้นเพราะทรงเล็งเห็นคุณทั้งหลายต่างๆ กัน ตามประการดังกล่าวมานี้ แล. พระเจ้ามิลินท์, ดีจริง พระคุณเจ้านาคเสน ข้าพเจ้าขอยอมรับตามประการที่ท่านกล่าวมานี้. จบอุตตริกรณียปัญหาที่ ๙
คำอธิบายปัญหาที่ ๙
ปัญหาเกี่ยวกับกิจที่ต้องทำที่ยิ่งขึ้นไป หรือที่ต้องทำต่อไปอีกข้างหน้า (แห่งพระตถาคต) ชื่อว่า อุตตริกรณียปัญหา (ฉบับของไทยเป็น อุตตริกรณียาภาวปัญหา – ปัญหาเกี่ยวกับความไม่มีแห่งกิจที่ต้องทำที่ยิ่งขึ้นไป) คำว่า การอยู่หลีกเร้น คือการหลีกออกจากหมู่คณะไปสู่สถานที่ที่วิเวกแต่เพียงผู้เดียว แล้วเร้นคือยั้งจิตไว้ในกรรมฐาน เจริญสมถะหรือวิปัสสนา. คำที่เหลือง่ายอยู่แล้ว จบคำอธิบายปัญหาที่ ๙ จบมิลินทปัญหาตอนที่ ๒๓.
ขอให้ การอ่าน การศึกษา ของทุกท่านตามกุศลเจตนา ได้เป็นพลวปัจจัย เพิ่มพูลกำลังสติ กำลังปัญญา ให้สามารถนำตนให้พ้นจากวัฏฏทุกข์ด้วยเทอญ. (ณัฏฐ สุนทรสีมะ)
ที่มา : http://dhamma.serichon.us
มิลินทปัญหา (ตอนที่ 50) , (ตอนที่ 49) , (ตอนที่ 48) , (ตอนที่ 47) , (ตอนที่ 46) , (ตอนที่ 45) , (ตอนที่ 44) , (ตอนที่ 43) , (ตอนที่ 42) , (ตอนที่ 41) , (ตอนที่ 40) , (ตอนที่ 39) , (ตอนที่ 38) , (ตอนที่ 37) , (ตอนที่ 36) , (ตอนที่ 35) , (ตอนที่ 34) , (ตอนที่ 33) , (ตอนที่ 32) , (ตอนที่ 31) , (ตอนที่ 30) , (ตอนที่ 29) , (ตอนที่ 28) , (ตอนที่ 27) , (ตอนที่ 26) , (ตอนที่ 25) , (ตอนที่ 24) , (ตอนที่ 23) , (ตอนที่ 22) , (ตอนที่ 21 ต่อ) , (ตอนที่ 21) , (ตอนที่ 20) , (ตอนที่ 19) , (ตอนที่ 18) , (ตอนที่ 17) , (ตอนที่ 16) , (ตอนที่ 15) , (ตอนที่ 14) , (ตอนที่ 13) , (ตอนที่ 12) , (ตอนที่ 11) , (ตอนที่ 10) , (ตอนที่ 9) , (ตอนที่ 8) , (ตอนที่ 7) , (ตอนที่ 6) , (ตอนที่ 5) , (ตอนที่ 4) , (ตอนที่ 3) , (ตอนที่ 2) , (ตอนที่ 1) , ประโยชน์การอุปมาอันได้จากการศึกษาคัมร์ในทางพุทธศาสนา มีคัมภีร์มิลินท์ปัญหาเป็นต้น , มิลินทปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับการไม่เคลื่อนไปก็ปฏิสนธิได้ , เหตุไร ตรัสให้คฤหัสถ์โสดาบันกราบไหว้ ลุกรับภิกษุสามเณรปุถุชนเล่า? , นิปปปัญจปัญหา - ปัญหาเกี่ยวกับธรรมที่ปราศจากเหตุให้เนิ่นช้าในวัฏฏทุกข์ , ถามว่า อานิสงส์การเจริญเมตตา ห้ามอันตรายต่างๆ เหตุไรสุวรรณสามผู้เจริญเมตตาจึงถูกยิงเล่า?
0 comments: