"ยํ พฺราหฺมโณ อวาเทสิ, วีณํ สมุขเวฐิโต; อณฺฑภูตา ภตา ภริยา, ตาสุ โก ชาตุ วิสฺสเสติฯ พราหมณ์ถูกภรรยาผูกหน้าให้ดีดพิณ ก็รู้ไม่ทันภรรยา ที่ท่านนำมาเลี้ยง ไว้แต่ยังไม่คลอด, ใครจะวางใจในภรรยาเหล่านั้นได้"
อัณฑภูตชาดกอรรถกถา
พระบรมศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารทรงปรารภภิกษุผู้กระสันนั่นแหละ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า ยํ พฺราหฺมโณ อวาเทสิ ดังนี้.
ความย่อว่า พระศาสดาตรัสถามภิกษุนั้นว่า „จริงหรือภิกษุ ที่เขาว่า เธอกระสัน“ ครั้นภิกษุนั้นกราบทูลว่า „จริงพระเจ้าข้า“ จึงตรัสว่า „ดูก่อนภิกษุ ขึ้นชื่อว่าหญิงทั้งหลาย ใคร ๆ ก็รักษาไม่ได้ ในครั้งก่อนบัณฑิตทั้งหลาย ถึงจะรักษาหญิงไว้ตั้งแต่ออกจากครรภ์ ก็ไม่อาจรักษาไว้ได้“, แล้วทรงนำเรื่องในอดีตมาสาธกดังต่อไปนี้ :- ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในคัพโภทรแห่งพระอัครมเหสีของพระเจ้าพรหมทัตนั้น ครั้นทรงพระเจริญวัย ก็ประสพความสำเร็จการศึกษาในศิลปะทุกอย่าง พอพระราชบิดาสวรรคตก็ได้เสวยราชย์โดยธรรม. พระองค์ทรงพอพระทัยทรงสกากับท่านปุโรหิต ก็เมื่อจะทรงเล่นทรงขับเพลงสำหรับการพนันบทนี้ว่า :- „แม่น้ำทุกสายไหลคด ป่าทั้งหมดสำเร็จด้วยไม้ หญิงทั้งหลายคงทำชั่ว เมื่อได้โอกาสที่ลับตา“ ดังนี้ พลางก็ซัดลูกบาศก์ทอง เหนือแผ่นกระดานเงิน.
เมื่อพระราชาทรงเล่นโดยวิธี นี้ทรงชนะเป็นนิตย์. ส่วนปุโรหิตพ่ายแพ้. ท่านปุโรหิตครั้นทรัพย์สมบัติในเรือนร่อยหลอไปโดยลำดับก็ได้คิดว่า „ขืนเป็นเช่นนี้ ทรัพย์สินในเรือนทุกอย่างต้องหมดแน่จำเราต้องเสาะแสวงหามาตุคามคนหนึ่ง ที่ไม่เคยสมสู่กับบุรุษอื่นเลย มาไว้ในเรือนให้ได้“. ครั้นแล้ว ก็กลับเกิดปริวิตกว่า „เราไม่อาจจะรักษาหญิงที่เคยเห็นชายอื่นมาแล้วไว้ได้ จำเราจักต้องรักษาหญิงคนหนึ่ง แต่แรกคลอด ต่อเจริญวัยแล้วจึงให้อยู่ในอำนาจ ทำให้เป็นหญิงมีชายเดียว จัดแจงการรักษาอย่างมั่นคง จึงจะนำทรัพย์มาจากราชสกุลได้“
ก็แลปุโรหิตเป็นคนฉลาด ในวิชาดูอวัยวะ ดังนั้น พอเห็นหญิงทุคคตะคนหนึ่งมีครรภ์ ก็ทราบว่า „นางจักคลอดลูกเป็นหญิง“ จึงเรียกนางมาหา ให้เสบียงให้อยู่แต่ภายในเรือนเท่านั้น พอคลอดแล้ว ก็ให้เงินส่งตัวไปไม่ให้เด็กหญิงนั้นเห็นชายอื่น ๆ เลย มอบให้ในมือของพวกหญิงเท่านั้น เลี้ยงดูจนเจริญวัย จึงให้นางอยู่ในอำนาจของตน ระหว่างที่กุมารีนั้นยังไม่เติบโตท่านปุโรหิตไม่ยอมเล่นสกาพนันกับพระราชา ครั้นให้กุมารีอยู่ในอำนาจแล้ว ก็กราบทูลพระราชาว่า „ข้าแต่มหาราชเจ้า เราเล่นพนันสกากันเถิด“. พระราชาทรงรับสั่งว่า „ดีละ“ ทรงเล่นโดยทำนองเดิมนั่นแหละ ในเวลาที่พระราชาทรงขับเพลงทอดลูกบาศก์ ปุโรหิตก็กล่าวว่า „ยกเว้นมาณวิกา". ตั้งแต่นั้นมา ปุโรหิตกลับชนะ พระราชาแพ้. พระโพธิสัตว์ทรงคะเนว่า „ในเรือนของปุโรหิตนี้ คงจะมีหญิงคนหนึ่ง ที่มีชายแต่คนเดียวทรงให้อำมาตย์สืบดู ก็ทรงทราบว่า มีจริงทรงพระดำริต่อไปว่า ต้องให้คนทำลายศีลของนางเสีย รับสั่งให้นักเลงผู้หนึ่งมาเฝ้า มีพระดำรัสว่า „เจ้าจักสามารถทำลายศีลแห่งหญิงของท่านปุโรหิตได้หรือไม่ ?“ นักเลงผู้นั้น รับสนองพระราชประสงค์ว่า „ข้าพระองค์อาจอยู่พระเจ้าข้า“.
ครั้งนั้น พระราชาทรงพระราชทานทรัพย์แก่เขา มีพระดำรัสว่า „ถ้าเช่นนั้น จงทำให้สำเร็จโดยเร็วเถิด“ ทรงส่งเขาไป. เขารับพระราชทานทรัพย์แล้ว ก็จ่ายของมีเครื่องหอม ธูปกระแจะและการบูรเป็นต้น ไปเปิดร้านขายเครื่องหอมทุก ๆอย่าง ไม่ไกลเรือนของท่านปุโรหิตนั้น. แม้เรือนของท่านปุโรหิต ก็เป็นเรือน ๗ ชั้น มีซุ้มประตู ๗ แห่งและที่ซุ้มประตูทุกแห่งมีหญิงรักษาทั้งนั้น ชายอื่นเว้นแต่ท่านพราหมณ์ ไม่มีผู้ใดจะได้เข้าไปสู่เรือนเลย แม้ตะกร้าทิ้งขยะ ก็ต้องเป็นหญิงเข้าไปชำระทั้งนั้นปุโรหิตคนหนึ่ง หญิงบำเรอของมาณวิกานั้นคนหนึ่ง เท่านั้นที่ได้เห็นมาณวิกานั้น. ครั้งนั้น หญิงบำเรอของมาณวิกา ถือเอาทรัพย์อันเป็นมูลค่าสำหรับซื้อเครื่องหอมและดอกไม้เดินไปเวลาไปก็เดินผ่านไปใกล้ ๆ ร้านของนักเลงนั้น เขารู้เป็นอย่างดีว่า „หญิงคนนี้ เป็นหญิงบำเรอของมาณวิกา“ วันหนึ่งพอเห็นนางเดินมา ก็ลุกขึ้นจากร้าน ถลันไปฟุบที่ใกล้เท้านาง กอดเท้าทั้งคู่ไว้แน่น ด้วยแขนทั้งสองข้าง พลางร่ำไห้ปริเวทนาว่า „แม่จ๋าแม่ไปไหนเสียเล่า ตลอดเวลานานประมาณเท่านี้ ?“ พวกนักเลงที่ซ้อมกันไว้ แม้ที่เหลือยืนอยู่ข้างหนึ่ง ก็พากันพูดว่า „แม่กับลูกดูละม้ายกันโดยสัณฐาน ของมือเท้าและใบหน้าและอากัปกิริยาดูเหมือนกับคน ๆ เดียวกัน“.
หญิงนั้น เมื่อคนพวกนั้นช่วยกันพูดก็เชื่อแน่แก่ตน เข้าใจว่า „บุรุษนี้เป็นลูกของเราแน่นอน“ แม้ตนเองก็พลอยร้องไห้ไปด้วย. คนแม้ทั้งสอง ต่างยืนกอดกันร้องไห้. คราวนั้น นักเลงจึงกล่าวว่า „แม่จ๋า แม่อยู่ที่ไหน ?" นางตอบว่า „พ่อคุณ แม่บำรุงหญิงสาวของท่านปุโรหิต ผู้มีลีลาเยื้องกรายเสมอด้วยกินรี มีรูปงามเป็นเลิศอยู่จ๊ะ“. เขาถามต่อไปว่า „บัดนี้ แม่กำลังจะไปไหนต่อละจ๊ะ ?“ นางบอกว่า „แม่กำลังจะไปหาซื้อของหอมและพวงมาลาให้นายสาว“. เขากล่าวว่า "แม่จ๋า แม่จะต้องไปซื้อที่อื่นทำไม นับแต่นี้ไป โปรดรับเอาของของฉันไปเถิดแล้วไม่รับเงินเป็นมูลค่า“ ให้สิ่งของมีหมากพลูแลกระวานเป็นต้น กับดอกไม้ต่าง ๆ เป็นอันมากไป. มาณวิกาเห็นเครื่องหอมและดอกไม้มากมาย ก็กล่าวว่า „แม่คุณ วันนี้ท่านพราหมณ์ของเราใจดี หรืออย่างไร ?“ นางถามว่า „ทำไมคุณนายพูดอย่างนี้เล่า ?“ มาณวิกา „เพราะฉันเห็นของเหล่านี้มากมาย“ นางกล่าวว่า „พราหมณ์ไม่ได้ให้เงินค่าของมากขึ้นเลยแต่ของนี้ ฉันนำมาจากสำนักลูกของฉัน“.
นับแต่นั้นมา นางริบเอาค่าของที่พราหมณ์ให้เสียเองแล้วก็ไปรับเอาเครื่องหอมและดอกไม้เป็นต้น มาจากสำนักของนักเลงคนนั้นเรื่อยมา. ล่วงมาสองสามวัน นักเลงก็ทำลวงว่า เป็นไข้นอนเสีย. นางไปที่ประตูร้านของเขา ไม่เห็นก็ถามว่า „ลูกของเราไปไหน ?“ คนในร้านบอกว่า „ลูกชายของท่านไม่สบาย". นางไปถึงที่นอนของเขาแล้วนั่งลูบหลังถามว่า „ลูกเอ๋ยไม่สบายเป็นอะไรไปหรือ ?“ เขานิ่งเสีย นางก็ถามว่า „ทำไมไม่พูดเล่า ลูกเอ๋ย“. นักเลงพูดว่า „แม่จ๋า ถึงฉันจะตายก็ไม่สามารถจะบอกแม่ได้“.
นางจงกล่าวว่า „เจ้าไม่บอกแม่แล้ว จะควรบอกใครเล่า บอกเถิดพ่อคุณ“ นักเลงจึงบอกว่า „แม่จ๋า ฉันไม่ป่วยไข้เป็นอะไรหรอก, แต่ฉันได้ยินดีคำสรรเสริญนางมาณวิกาแล้ว ก็มีจิตผูกพันมั่นคง เมื่อฉันได้นางจึงจะมีชีวิตสืบไป เมื่อไม่ได้ จักยอมตายที่นี่แหละ“. นางกล่าวว่า „พ่อคุณ เรื่องนี้เป็นภาระของแม่เอง ลูกอย่าเสียใจเพราะเรื่องนี้เลย“ ปลอบเอาใจเขาแล้วก็ขนของหอมและดอกไม้ไปมากมาย มาถึงสำนักมาณวิกา ก็กล่าวว่า „คุณนายเจ้าขา ลูกดิฉันได้ยินคำสรรเสริญคุณนายจากสำนักของฉันแล้ว มีจิตผูกพันมั่นคง ทำอย่างไรกันดีเล่า ?“ มาณวิกาตอบว่า „ถ้าแม่พาเขามาได้ ฉันจะให้โอกาสเหมือนกัน“.
นางฟังคำของมาณวิกาแล้ว แต่บัดนั้นมา ก็กวาดขยะเป็นอันมากจากทุกซอกทุกมุมของเรือน เทรดหัวหญิงที่เป็นยาม. หญิงที่เป็นยามอึดอัดใจด้วยเรื่องนั้น ก็ออกไป. โดยทำนองเดียวกันนี้แหละ หญิงที่เป็นยามคนไหน พูดอะไร ๆ นางจะทิ้งขยะรดหัวหญิงยามนั้น ๆ ตั้งแต่นั้น นางจะนำสิ่งใดเข้ามา หรือนำออกไปก็ไม่มีใครกล้าตรวจค้นสิ่งนั้น. ได้เวลา นางให้นักเลงนั้นนอนในตะกร้าดอกไม้ แบกไปสู่สำนักมาณวิกา. นักเลงทำลายศีลของมาณวิกาเสียแล้วได้อยู่ในปราสาทนั้นเอง สองสามวัน. เมื่อท่านปุโรหิตออกไปข้างนอกแล้ว ทั้งสองคนก็ร่วมอภิรมย์กัน. เมื่อปุโรหิตมา นักเลงก็ซ่อนเสีย. ครั้นล่วงมาได้วันสองวัน มาณวิกาก็พูดกะนักเลงว่า „ที่รัก บัดนี้ท่านควรจะไปเสียที“. นักเลงก็กล่าวว่า „ฉันจะตี (หัว)พราหมณ์ให้ได้เสียก่อนถึงจะไป“. มาณวิกากล่าวว่า „อย่างนั้นก็ได้“แล้วให้นักเลงซ่อนตัวเสีย.
เมื่อพราหมณ์มา ก็พูดอย่างนี้ว่า „ท่านเจ้าขา ดิฉันอยากจะฟ้อนในเมื่อท่านบรรเลงพิณ“. พราหมณ์ รับคำว่า „เจ้าจงฟ้อนเถิด“ นางผู้เจริญแล้วก็บรรเลงพิณ. นางมาณวิกากล่าวว่า „ท่านเจ้าขา ดิฉันละอายในเมื่อท่านจ้องดู, ดิฉันขอปิดหน้าท่านเสียก่อนถึงจะฟ้อน“. ปุโรหิตกล่าวว่า „ถ้าเจ้าละอาย ก็จงกระทำอย่างนั้นเถิด". มาณวิกาหยิบผ้าเนื้อหนาปิดตาท่านปุโรหิตแล้วผูกหน้าจนมิด พราหมณ์ยอมให้ปิดหน้า บรรเลงพิณไปเรื่อย ๆ นางฟ้อนได้สักครู่ ก็กล่าวว่า „ท่านเจ้าขา ดิฉันอยากจะเคาะศีรษะท่านสักครั้งหนึ่งน๊ะเจ้าค๊ะ“. พราหมณ์ผู้หลงใหลในสตรี ไม่รู้เหตุการณ์อะไร ก็กล่าวว่า „เคาะเถิด“.
มาณวิกา ให้สัญญาแก่นักเลง. เขาย่องเข้ามาใกล้ ๆ ยืนอยู่หลังพราหมณ์ทีเดียวแล้วถองศีรษะด้วยศอก. นัยน์ตาของพราหมณ์ถึงกับถลน. หัวโนขึ้น พราหมณ์เจ็บปวดรวดร้าวกล่าวว่า „เจ้าจงส่งมือมานี่“. มาณวิกาส่งมือของตนวางไว้บนมือพราหมณ์. พราหมณ์กล่าวว่า „มือนิ่ม ๆ แต่เขกแข็ง“. นักเลงครั้นเขกหัวพราหมณ์แล้วก็ซ่อนตัวเสีย. มาณวิกาเมื่อนักเลงไปซ่อน ก็เปลื้องผ้าออกจากหน้าพราหมณ์ หยิบน้ำมันมาทานวดศีรษะให้ เมื่อพราหมณ์ออกไปข้างนอกแล้ว หญิงบำเรอให้นักเลงนอนในตะกร้าดังเก่า พาออกไป. นักเลงจึงไปเฝ้าพระราชากราบทูลเรื่องราวทั้งหมดให้ทรงทราบ.
พระราชา ตรัสแก่พราหมณ์ผู้มาเฝ้าพระองค์ว่า „เราเล่นสกาพนันกันเถิดท่านพราหมณ์“. ท่านปุโรหิตรับสนองพระดำรัสว่า "ดีละ พระเจ้าข้า“. พระราชาโปรดให้จัดตั้งวงเพื่อเล่นสกาทรงขับเพลงการพนันแล้วทรงทอดลูกบาศก์ พราหมณ์ไม่รู้เรื่องที่มาณวิกาถูกทำลายตบะเสียแล้ว คงกล่าวว่า „ยกเว้นมาณวิกา“ แม้จะกล่าวอย่างนี้ ก็ต้องแพ้อยู่นั่นเอง.
พระราชาทรงชนะแล้วตรัสว่า „พราหมณ์ท่านกล่าวอะไร ?“ พระโพธิสัต์: „ตบะแห่งมาณวิกาของท่านถูกทำลายแล้ว, ท่านอุตส่าห์รักษามาตุคามตั้งแต่อยู่ในครรภ์กระทำการป้องกันในที่ถึง ๗ แห่งสำคัญว่า เราจักรักษาได้ขึ้นชื่อว่ามาตุคาม แม้บุรุษจะเอาใส่ไว้ในท้องเที่ยวไป ก็ไม่อาจรักษาไว้ได้, ขึ้นชื่อว่าหญิงที่มีบุรุษคนเดียวไม่มีดอก, มาณวิกาของท่านกล่าวว่า ดิฉันปรารถนาจะฟ้อน เอาผ้าผูกหน้าของท่านผู้บรรเลงพิณเสีย ให้ชายชู้ของตนเอาศอกถองศีรษะท่านแล้วก็ส่งไป คราวนี้ท่านจะยกเว้นได้อย่างไรเล่า“ ดังนี้แล้ว ตรัสคาถา ความว่า :- „พราหมณ์ถูกนางเอาผ้าผูกหน้าเสียหมด ให้บรรเลงพิณ เพราะเหตุใด ไม่ทราบเหตุนั้นเลย หญิงที่เลี้ยงมาตั้งแต่ยังเป็นพืช เป็นภรรยายังทำเสียได้ ใครเล่าจะวางใจในภรรยานั้น ๆ ได้แน่นอน“.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยํ พฺราหมฺโณ อวาเทสิ วีณํ สมฺมุขเวฐิโต ความว่า พราหมณ์ถูกนางเอาผ้าเนื้อหนาผูกหน้ามิดชิด ให้บรรเลงพิณไป เพราะเหตุอันใด ไม่ได้ทราบเหตุอันนั้น. เพราะนางต้องการลวงเขาจึงได้กระทำอย่างนี้. แต่พราหมณ์ ไม่รู้อาการที่หญิงทั้งหลายมีมายามากนั้น หลงเชื่อมาตุคามจึงได้สำคัญอย่างนี้ว่า นางละอายเรา. พระราชาเมื่อจะประกาศความไม่รู้ของพราหมณ์นั้น จึงตรัสอย่างนี้นี้เป็นคำอธิบายในข้อนี้.
บทว่า อณฺฑภูตา ภตา ภริยา ความว่า อัณฑะท่านเรียกว่า พืช คือ หญิงที่ถูกนำมาเลี้ยงตั้งแต่ยังเป็นพืช คือถูกนำมาเลี้ยงแต่ในเวลาที่ยังไม่คลอดจากต้องของแม่. อีกอย่างหนึ่ง ศัพท์ว่า ภตา หมายถึงเป็นคำถาม คือถามว่า นั่นเป็นใคร ? เป็นภรรยาคือเป็นเจ้าของบุตร เป็นหญิงบำเรอ. เพราะว่า หญิงนั้นท่านเรียกว่า ภรรยา เพราะเป็นหญิงที่ต้องเลี้ยงด้วยภัตร์และผ้าเป็นต้น ๑ เพราะมีความสังวรระวังอันถูกทำลายแล้ว ๑ เพราะต้องเลี้ยงด้วยโลกธรรม ๑. บทว่า ชาตุ ในบาทคาถาว่า ตาสุ โก ชาตุ วิสฺสเส นี้เป็นคำกล่าวโดยส่วนเดียว. อธิบายว่า ในเมื่อภรรยาเหล่านั้นแม้ถึงจะถูกคุ้มกัน ตั้งแต่อยู่ในท้องของมารดา ก็ยังถึงวิการ(นอกใจ)อย่างนี้ได้ใครเล่า คือคนฉลาด หน้าไหน จะพึงวางใจได้ภรรยาได้อย่างแน่นอนได้แก่ ใครเล่า ควรจะเชื่อได้ว่า หญิงเหล่านี้ไม่มีวิการ (นอกใจ) ในเรา. เพราะว่า ขึ้นชื่อว่ามาตุคามในเมื่อมีผู้เรียกร้อง ในเมื่อมีผู้เชื้อเชิญด้วยอำนาจอสัทธรรมใคร ๆก็ไม่อาจรักษาไว้ได้เลย.
พระโพธิสัตว์ทรงแสดงธรรมแก่พราหมณ์อย่างนี้. พราหมณ์ฟังธรรมเทศนาของพระโพธิสัตว์แล้ว ไปสู่นิเวศน์ กล่าวกะมาณวิกานั้นว่า „ได้ยินว่า เจ้ากล้าทำชั่วถึงขนาดนี้เชียวหรือ ?“ มาณวิกาถามว่า „ท่านเจ้าค๊ะ ใครพูดอย่างนี้เล่าค่ะ, ดิฉันนี่แหละเขกหัวที่ท่านคนอื่นไม่มีใครดอก, ถ้าท่านไม่เชื่อว่าดิฉันไม่ทรามสัมผัสชายอื่น เว้นจากท่านแล้ว จักกระทำสัจจกิริยาลุยไฟให้ท่านเชื่อ“. พราหมณ์กล่าวว่า „อย่างนั้นก็ดี“ จึงให้สุมฟืนกองใหญ่จุดไฟแล้วเรียกนางมากล่าวว่า „ถ้าเจ้าแน่ใจตนเอง จงลุยไฟเถิด“. ฝ่ายมาณวิกากล่าวซักซ้อมกะหญิงผู้บำรุงของตนไว้ก่อนทีเดียวว่า „แม่คุณ จงไปบอกลูกของแม่ให้ไปที่นั่น ในเวลาฉันลุยไฟ ให้จับมือฉันไว้“.
หญิงนั้นก็ไปบอกอย่างนั้น. นักเลงมายืนอยู่ท่ามกลางมหาชน. มาณวิกาหวังจะลวงพราหมณ์ ยืนอยู่ท่ามกลางมหาชน กระทำสัจจกิริยาว่า „ข้าแต่ท่านพราหมณ์ขึ้นชื่อว่าการสัมผัสด้วยมือของชายอื่น ยกเว้นท่านแล้ว ดิฉันไม่เคยรู้จักเลย ด้วยสัจจะนี้ ขอไฟนี้อย่าไหม้ฉันเลย พลางทำท่าจะลุยไฟ“. ในขณะนั้น นักเลงก็ประกาศว่า „ดูเถิดท่านผู้เจริญทั้งหลาย จงดูการกระทำของพราหมณ์ปุโรหิตท่านจะให้มาตุคามผู้งามอย่างนี้ลุยไฟ“ แล้วตรงไปจับมือนางไว้. นางสะบัดมือแล้วพูดกับปุโรหิตว่า "ท่านเจ้าขา สัจจกิริยาของดิฉันถูกทำลายเสียแล้ว ดิฉันไม่อาจลุยไฟได้เจ้าค่ะ". พราหมณ์ถามว่า „เพราะเหตุไร ?“ มาณวิกาตอบว่า „ในวันนี้ดิฉันได้ทำสัจจกิริยาไว้อย่างนี้ว่า ยกเว้นสามีของดิฉันแล้ว ดิฉันไม่รู้สัมผัสมือของชายอื่นเลย, บัดนี้ ดิฉันถูกชายคนนี้จับมือเสียแล้ว เจ้าค่ะ". พราหมณ์รู้ทันว่า „เราถูก นางมาณวิกาลวงเอา“ ก็โบยตีนางแล้วได้ไป. ได้ยินว่า „หญิงเหล่านี้ประกอบไปด้วยอสัทธรรมอย่างนี้ ทำกรรมชั่วช้าเป็นอันมากเพื่อจะลวงสามีของตน ทำการสบถได้ทั้งวันว่า „ดิฉันไม่ได้กระทำอย่างนี้ ย่อมเป็นหญิงมีจิตปรวนแปรไปได้ต่าง ๆ“. สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ว่า :-
(ก) „สภาพของหญิงทั้งหลายที่หาสัจจะได้ โดยยาก เป็นโจร ร้อยเล่ห์มายา รู้ได้ยาก เหมือนการไปของปลาในน้ำฉะนั้น“. (ข) „นางพูดเท็จเหมือนจริง พูดจริงเหมือนเท็จ เหมือนโคทั้งหลายเล็ม กินแต่หญ้าอ่อน ๆที่มากมาย ความสวยของเรา ประเสริฐแท้“. (ค) „แท้จริงหญิงเหล่านี้เป็นโจรหยาบคาย ร้ายกาจ กลับกลอกเหมือนก้อนกรวด ความล่อลวง บรรดามีในหมู่มนุษย์ ไม่มีข้อไหนที่ พวกนางจะไม่รู้ „.
พระบรมศาสดาก็ตรัสว่า „มาตุคามใคร ๆ รักษาไว้ไม่ได้ อย่างนี้“ ดังนี้, ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสประกาศ สัจจะ. ในเวลาจบสัจจะภิกษุผู้กระสันบรรลุโสดาปัตติผล. พระศาสดา ทรงสืบอนุสนธิประชุมชาดกว่า พระเจ้ากรุงพาราณสีในครั้งนั้นได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.
ที่มา : Palipage : Guide to Language - Pali
0 comments: