วันพุธที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2564

ว่าด้วยการทำเกินประมาณ (คาถามือกลอง)

"ธเม ธเม นาติธเม,  อติธนฺตญฺหิ ปาปกํ;    ธนฺเตน หิ สตํ ลทฺธํ, อติธนฺเตน นาสิตนฺติ ฯ  เจ้าจะตีก็พึงตีเถิด แต่อย่าตีให้เกินประมาณ เพราะการตีเกินประมาณเป็นการเลวร้ายแก่เราทั้งสอง, ทรัพย์ที่หาได้มาตั้งร้อยเพราะตีกลอง ได้ฉิบหายไป เพราะเจ้าตีกลองเกินประมาณ"

เภริวาทชาดกอรรถกถา

พระบรมศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารทรงปรารภภิกษุว่ายากรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า ธเม ธเม ดังนี้.

ความย่อว่า พระศาสดาตรัสถามภิกษุนั้นว่า „จริงหรือภิกษุที่เขาว่า เธอเป็นผู้ว่ายาก„ เมื่อภิกษุนั้นกราบทูลรับว่า „ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นความจริงพระเจ้าข้า“ ก็ตรัสว่า „ดูก่อนภิกษุ เธอเป็นผู้ว่า ยากในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้ แม้ในกาลก่อน เธอก็เคยเป็นว่า ยากเหมือนกัน“ ดังนี้แล้ว ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-  ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี  พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลคนตีกลอง อยู่ ณ บ้าน ตำบลหนึ่ง.

พระโพธิสัตว์ ฟังข่าวว่า ในกรุงพาราณสี มีงานเอิกเกริก ก็คิดว่า „เราจักนำกลองไปตีใกล้บริเวณที่เขามีมหรสพหาทรัพย์“ แล้วพาลูกชายไปในกรุงพาราณสีนั้น ตีกลองได้ทรัพย์จำนวนมาก นำทรัพย์ไปบ้านของตน ผ่านดงโจร ก็ห้ามลูกชายผู้ตีกลองไม่หยุดหย่อนว่า „ลูกเอ๋ย เจ้าอย่าตีกลองไม่หยุดระยะจงตีเป็นระยะ ๆ เหมือนเขาตีกลองเวลาคนใหญ่โตเดินทาง“. ลูกชายแม้จะถูกบิดาห้ามปราม กลับพูดว่า „ฉันจักไล่พวกโจรให้หนีไปด้วยเสียงกลองให้จงได้“ แล้วก็ตีกระหน่ำไม่หยุดระยะเลย. 

พวกโจรฟังเสียงกลองครั้งแรกทีเดียว คิดว่า „จังหวะเหมือนกลองคนใหญ่โต“ พากันหนีไป ครั้นฟังเสียงติด ๆ กันเกินไปก็พูดกันว่า „ต้องไม่ใช่กลองคนใหญ่โต" หวนกลับมาซุ่มดู เห็นคนสองคนเท่านั้น ก็รุมทุบแย่งเอาทรัพย์ไป.  พระโพธิสัตว์กล่าวว่า „เจ้าตีกลองกระหน่ำเป็นเสียงเดียว เป็นเหตุทำให้ทรัพย์ที่เราหามาได้โดยเหนื่อยยาก สูญหายหมด“ แล้วกล่าวคาถานี้ว่า :- „เมื่อจะตีก็พึงตีเถิด แต่อย่าตีเกินประมาณ เพราะการตีเกินประมาณ เป็นการเลวร้ายแก่พวกเรา ทรัพย์ที่ได้มาตั้งร้อยเพราะการตีกลองได้ ฉิบหายไป เพราะเจ้าตีกลองเกินประมาณ“.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธเม ธเม ความว่า กลองควรตีไม่ใช่ไม่ควรตี อธิบายว่า กลองน่ะ ตีได้ ไม่ใช่ไม่ให้ตี.  บทว่า นาติธเม ความว่า แต่ไม่ควรตีกระหน่ำไปจนไม่หยุดหย่อน. เพราะเหตุไร ? เพราะว่า การตีเกินไป เป็นการชั่วช้าของเรา หมาย ความว่า การตีกลองไม่หยุดหย่อน เป็นความชั่ว คือก่อให้เกิดสถานการณ์เลวร้ายแก่เราทั้งสองในบัดนี้.  บทว่า ธมนฺเตน สตํ ลทฺธํ ความว่า เพราะการตีกลองในพระนครได้ทรัพย์มาร้อยกหาปณะ.  บทว่า อติธนฺเตน นาสิตํ ความว่า แต่บัดนี้เพราะลูกชายของเรา ไม่ทำตามคำสั่ง ตีกลองกระหน่ำไปที่ดงโจรนี้ เพราะการตีกลองกระหน่ำไปนั้น ทรัพย์ทั้งหมดวอดไปแล้ว.  พระบรมศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วทรงสืบอนุสนธิประชุมชาดกว่า ลูกชายในครั้งนั้น มาเป็นภิกษุว่า ยากในบัดนี้ ส่วนบิดาได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.

ที่มา : Palipage : Guide to Language - Pali



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: