จิตที่อบรมดีแล้วย่อมเห็นสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง
ถ้าเราทำจิตให้มันเป็นสมาธิได้ ก็เกิดความสุขชนิดใหม่
ชนิดหนึ่งขึ้นมา ยิ่งกว่าความสุขทั้งโลกๆ ด้วย ใครจะพอใจความสุขเกิดจากสมาธิก็ได้ ไม่เป็นเรื่องงมงาย แต่มันจะเป็นเรื่องหยุดหรือติดอยู่ที่นั่น ฉะนั้นเราก็ไม่สนใจ ที่จะติดอยู่ที่นั่น จะใช้จิตที่อบรมดีแล้วทำการศึกษาค้นคว้าต่อไป จนเป็นเรื่องของปัญญา
จึงทำสมาธิเพื่อเป็นรากฐานบาทฐานของปัญญา
เพราะว่าจิตที่อบรมดีแล้ว ย่อมเห็นสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง คือว่าจิตที่เป็นสมาธิแล้ว จะเห็นความจริงของธรรมชาติลึกซึ้งลงไปตามที่เป็นจริง พูดตรงๆ ก็ว่า จิตที่อบรมดีแล้วเป็นสมาธิแล้ว จะเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือ สุญญตา หรือ ตถาตา ของธรรมชาตินี้ ได้ง่ายกว่า ลึกกว่า เร็วกว่า ดีกว่า ดีกว่าจิตไม่เป็นสมาธิ เราจึงทำสมาธิด้วยความมุ่งหวังอย่างนี้
มันก็เลยเป็นการเข้าถึงความจริงของสมาธิ สมาธิของผู้นั้นก็ไม่เป็นเรื่องไสยศาสตร์ ไม่เป็นเรื่องลึกลับ ไม่เป็นสีลัพพตปรามาส แต่มาเป็นสมาธิในพระพุทธศาสนา มีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ คือเป็นเรื่องของธรรมชาติ เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ กระทำถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ แล้วจิตก็เป็นสมาธิ
พุทธทาสภิกขุ l ธรรมโฆษณ์, ธรรมะในฐานะวิทยาศาสตร์ (น.69), สโมสรธรรมทาน, สวนโมกข์กรุงเทพ, สวนโมกข์ชวนอ่าน
ที่มา : Line ปันบุญ ปันธรรม
0 comments: