วันพฤหัสบดีที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2564

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๒๒)

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๒๒) ปัญหาที่ ๗ สัทธัมมันตรธานปัญหา  (เป็นปัญหาเกี่ยวกับอายุของพระพุทธศาสนา – ณัฏฐ)

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตคำนี้ไว้ว่า  ปญฺเจว  ทานิ  อานนฺท  วสฺสสตานิ  สทฺธมฺโม  ฐสฺสติ. (วิ. จุ. ๗/๒๖๘, องฺ.อฏฐก. ๒๓/๓๐๒) ดูก่อน อานนท์ บัดนี้พระสัทธรรมจะตั้งอยู่ได้ ๕๐๐ ปีเท่านั้นดังนี้.  และในสมัยปรินิพพาน พระผู้มีพระภาคผู้อันสุภัททปริพาชกทูลถามปัญหา ก็ได้ตรัสไว้อีกว่า  อิเม  จ  สุภทฺท  ภิกฺขุ  สมฺมา  วิหเรยยํุ,  อสุญฺโญ  โลโก  อรหนฺเตหิ  อสฺส. (ที.มหา. ๑๐/๑๗๗) ดูก่อน สุภัททะ ภิกษุเหล่านี้พึงเป็นอยู่โดยชอบไซร้ โลกก็จะเป็นอันไม่ว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย ดังนี้

คำที่ตรัสไว้นี้ เป็นคำที่หาส่วนเหลือมิได้ คำที่ตรัสไว้นี้ไม่มีส่วนเหลือ คำที่ตรัสไว้นี้เป็นคำพูดโดยนิปริยาย พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากว่าพระตถาคตตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ บัดนี้พระสัทธรรมจะตั้งอยู่ได้ ๕๐๐ ปีเท่านั้น ดังนี้จึงไชร้ ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า โลกก็จะเป็นอันไม่ว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย ดังนี้ ก็ต้องเป็นคำพูดที่ผิด ถ้าหากว่าพระตถาคตตรัสว่า โลกก็จะเป็นอันไม่ว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย ดังนี้ จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้นคำที่ว่า ดูก่อนอานนท์ บัดนี้พระสัทธรรมจะตั้งอยู่ได้ ๕๐๐ ปีเท่านั้น ดังนี้นั้น ก็ต้องเป็นคำพูดที่ผิด ปัญหาแม้ข้อนี้มี ๒ เงื่อน เป็นของยุ่งยิ่งกว่ายุ่ง ยากยิ่งกว่ายาก เป็นปมยิ่งกว่าเป็นปม ปัญหานั้นตกถึงแก่ท่านแล้ว ขอจงแสดงพลังแผ่ไปแห่งญาณของท่านในปัญหานั้น ดุจมังกรผู้อยู่ในมหาสาครแสดงพลังแผ่ไปในมหาสาครนั้น ฉะนั้นเถิด.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสคำนี้ไว้ว่า ดูก่อน อานนท์ บัดนี้พระสัทธรรมจะอยู่ได้ ๕๐๐ ปีเท่านั้น ดังนี้จริง และในสมัยใกล้เสด็จดับขันปรินิพพาน ก็ได้ตรัสแก่สุภัททปริพาชกว่า ดูก่อน สุภัททะ ภิกษุเหล่านั้นพึงเป็นอยู่โดยชอบไซร้ โลกก็จะ เป็นอันไม่ว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย ดังนี้จริง ขอถวายพระพร ก็แต่ว่า คำที่พระผู้มีพระภาคตรัสนั้นเป็นคำที่มีอรรถต่างกันด้วย มีพยัญชนะต่างกันด้วย คำหนึ่งเป็นคำกำหนด (อายุ) พระศาสนา อีกคำหนึ่งเป็นคำแสดง (ยกย่อง) การปฏิบัติ แล, ก็คำทั้งสองนั้น แยกห่างกันและกัน ขอถวายพระพร คำทั้งสองนั้น แยกห่างกันและกันเหมือนฟ้าแยกห่างจากดิน เหมือนนรกแยกห่างจากสวรรค์ เหมือนกุศลแยกห่างจากอกุศล เหมือนสุขแยกห่างจากทุกข์ ฉะนั้น

ขอถวายพระพร ถึงกระนั้น รับสั่งถามของพระองค์ก็ขอจงอย่าเสียไปเปล่าเลย อาตมภาพจะถวายพระพรวิสัชนาแก่พระองค์ เปรียบเทียบกันโดยรส คำที่ตรัสว่า ดูก่อน อานนท์ บัดนี้พระสัตย์ธรรมจะตั้งอยู่ได้ ๕๐๐ ปีเท่านั้น ดังนี้ เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคเมื่อจะทรงเสด็จความสิ้นไป (แห่งอายุพระศาสนา) ก็ส่งกำหนดถึงส่วนที่เหลืออยู่ อย่างนี้ว่า ดูก่อนอานนท์ ถ้าหากว่าหญิงทั้งหลายไม่บวชเป็นภิกษุณีพระสัทธรรมจะตั้งอยู่ได้ถึง ๑,๐๐๐ ปี ดูก่อน อานนท์ บัดนี้ พระสัทธรรมจะตั้งอยู่ได้ ๕๐๐ ปี (ฉบับของไทย ๕,๐๐๐ ปี) เท่านั้น ดังนี้ ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคเมื่อตรัสอย่างนี้ ชื่อว่าตรัสถึงการอันตรธานแห่งพระสัทธรรม หรือตัดปฏิเสธการตรัสรู้ธรรม กระนั้นหรือ ?  พระเจ้ามิลินท์, หามิได้ พระคุณเจ้า.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร จึงเป็นคำที่พระผู้มีพระภาคเมื่อจะทรงประกาศอายุพระศาสนาส่วนที่เสื่อมหายไปแล้ว ก็ทรงกำหนดแสดงอายุพระศาสนาส่วนที่ยังเหลืออยู่ ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า บุรุษผู้ทำของหายคนหนึ่ง ถือเอาของที่เหลืออยู่ทั้งหมดไปแสดงแก่คนอื่น ว่า ของของข้าพเจ้าหายไปเท่านี้ นี้คือส่วนที่เหลืออยู่ ดังนี้ ฉันใด ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคเมื่อจะทรงแสดงอายุพระศาสนาที่เสื่อมหายไปแล้ว ก็ต่างอายุพระศาสนาส่วนที่ยังเหลืออยู่แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายว่า ดูก่อน อานนท์ บัดนี้ พระสัทธรรมจะตั้งอยู่ได้ ๕๐๐ ปีเท่านั้น ดังนี้ ฉันนั้น นี้จึงเป็นคำกำหนด (อายุ) พระศาสนา

ส่วน คำตรัสยกย่องสมณะทั้งหลายแห่งสุภัททปริพาชกในสมัยใกล้เสด็จดับขันปรินิพพาน ที่ว่า ดูก่อนสุภัททะ ภิกษุเหล่านี้พึงเป็นอยู่โดยชอบไซร้ โรคก็จะเป็นอันไม่ว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย ดังนี้ เป็นคำแสดง (ยกย่อง) การปฏิบัติ ขอพระองค์จงทรงกระทำคำกำหนดอายุพระศาสนา และคำแสดง (ยกย่อง) การปฏิบัติ ให้มีรสเป็นอันเดียวกันเถิด ถ้าหากว่าพระองค์ทรงมีความพอพระทัย อาตมาภาพก็จะขอถวายพระพรข่าว ทำให้มีรสเป็นอันเดียวกัน ขอพระองค์อย่าทรงมีพระหทัยวุ่นวาย ขอทรงตั้งพระทัยจะด้วยดี มนสิการด้วยดี เถิด.  ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า สระแห่งหนึ่งในโลกนี้ที่เต็มเปี่ยมด้วยน้ำใหม่ๆ สูงเสมอขอบปาก เป็นสระที่เขาขุดตักเป็นสระกลม เมื่อสะนั้นยังไม่ทันได้เหงื่อแห้งเลย ก็มีฝนห่าใหญ่ตกหนักเหนือสระ ติดต่อสืบเนื่องกันไป ขอถวายพระพรน้ำในสระนั้นพึงถึงความสิ้นไป เพิ่งถึงความเหือดแห้งไปหรือไรหนอ ?  พระเจ้ามิลินท์, หาไม่ได้ พระคุณเจ้า. พระนาคเสน, เพราะเหตุใดหรือ ขอถวายพระพร.  พระเจ้ามิลินท์, เพราะมีฝนตกลงมาติดต่อกัน พระคุณเจ้า.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใดอุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน สระใหญ่คือพระสัทธรรมอันเป็นพระศาสนาประเสริฐของพระชินวรพุทธเจ้า ก็เต็มเปี่ยมด้วยน้ำใหม่ที่สะอาดปราศจากมลทินคืออาจารคุณ ศีลคุณ ข้อวัตรปฏิบัติทั้งหลายดำรงอยู่สูงส่ง ครอบงำภวัคคพรหม ถ้าหากว่าภิกษุผู้เป็นพุทธบุตรทั้งหลายเพิ่งทำฝนห่าใหญ่คืออาจารคุณ ศีลคุณ ข้อวัตรปฏิบัติทั้งหลาย ให้ตกลงมาติดต่อกัน (หมายความว่าปฏิบัติอาจารย์คุณเป็นต้นเหล่านั้นติดต่อกันไปไม่ขาดสาย) บนสระใหญ่คือพระสัทธรรมนั้นไซร้ การกระทำอย่างนี้ นี้ จะเป็นเหตุให้สระใหญ่คือพระสัตย์ธรรมอันเป็นพระศาสนาประเสริฐของพระชินวรพุทธเจ้าตั้งอยู่ได้ตลอดกาลนาน และโลกก็จะเป็นอันไม่ว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงหมายเอาอรรถาธิบายดังกล่าวมากระนี้ นี้ จึงตรัสไว้ว่า ดูก่อน สุภัทท ภิกษุเหล่านี้พึงเป็นอยู่ได้โดยชอบไซร้ โลกก็เป็นอันไม่ว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย ดังนี้.  ขอถวายพระพร เมื่อกองไฟใหญ่กำลังลุกโพลงอยู่บนแผ่นดินนี้ บุคคลก็ยังเอาหญ้าแห้ง ไม้แห้ง ก้อนโคมัยใส่เข้าไปติดต่อกันไป ขอถวายพระพร กองไฟใหญ่นั้นพึงหมอดดับไปหรือหนอ ?

พระเจ้ามิลินท์, หามิได้ พระคุณเจ้า กองไฟนั้นมีแต่จะลุกโพลงยิ่งๆขึ้นไปเสียเท่านั้น มีแต่จะส่องสว่างยิ่งๆขึ้นไปเสียเท่านั้น.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น แม้นพระศาสนาประเสริฐของพระชินวรพุทธเจ้าก็ลุกโพลง รุ่งเรือง ด้วยอาจารคุณ ศีลคุณ ข้อวัตรปฏิบัติทั้งหลาย ส่องสว่างไปในหมื่นโลกธาตุ ขอถวายพระพร ถ้าหากว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นพุทธบุตร พึ่งเป็นผู้ประกอบพร้อมด้วยองค์แห่งภิกษุผู้มีความเพียร ๕ ประการ ไม่ประมาท บากบั่นเป็นประจำ พึ่งเกิดฉันทะศึกษาในสิกขา ๓ เพิ่งทำจารีตตศีลให้เต็มเปี่ยมเสมอไซร้ ข้อนี้ก็จะเป็นเหตุให้พระศาสนาอันประเสริฐของพระชินวรพุทธเจ้าซึ่งตั้งอยู่ได้ตลอดกาลละนานยิ่งๆขึ้นไป และโลกก็จะเป็นอันไม่ว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงหมายเอาอธิบายดังกล่าวมากระนี้ นี้ จึงได้ตรัสไว้ว่า ดูก่อน สุภัททะ ภิกษุเหล่านี้พึงเป็นอยู่โดยชอบไซร้ โลกก็เป็นอันไม่ว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย ดังนี้.  ขอถวายพระพร บุคคลในโลกนี้เพิ่งใช้ผงดินสอพองที่ละเอียดอ่อน ขัดกระจกที่ได้คัดไว้เกลี้ยงเกลา ใสแวววาว ปราศจากมลทินแล้วไปเรื่อยๆ อ้ายขอถวายพระพร เปือกตม ขี้ฝุ่น ขี้ไคลอันเป็นมลทิน ยังเกิดขึ้นที่กระจกนั้นได้หรือไร ?  พระเจ้ามิลินท์, เกิดไม่ได้หรอก พระคุณเจ้า กระจกนั้นก็มีแต่ปราศจากมลทินยิ่งๆขึ้นไปเท่านั้น

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น พระศาสนาประเสริฐของพระชินวรพุทธเจ้าเป็นธรรมชาติที่ไม่มีมลทินตามปกติ ปราศจากขี้ฝุ่น ปราศจากที่ใครอันเป็นมลทินคือกิเลส ถ้าหากว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นพุทธบุตร เพิ่งใช้คุณเครื่องขัดเกลากิเลส เครื่องกำจัดกิเลส คืออาจารคุณ ศีลคุณ ข้อวัตรปฏิบัติทั้งหลาย ขัดเกลาพระศาสนาประเสริฐของพระชินวรพุทธเจ้าติดต่อกันไป ไซร้ ข้อนี้ จะเป็นเหตุให้พระศาสนาประเสริฐของพระชินวรพุทธเจ้าพึงตั้งอยู่ได้ตลอดกาลอันยาวนาน และโลกก็จะเป็นอันไม่ว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงหมายเอาอรรถาธิบายดังกล่าวมาฉะนี้ นี้ จึงตรัสว่า ดูก่อน สุภัททะ ภิกษุเหล่านี้พึงเป็นอยู่โดยชอบได้ ไซร้ โลกก็เป็นอันไม่ว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย ดังนี้ ขอถวายพระพรพระศาสนาของพระศาสดามีการปฏิบัติเป็นรากเหง้า มีการปฏิบัติเป็นเหตุ เมื่อการปฏิบัติยังไม่อันตรธาน ก็ย่อมตั้งอยู่ได้แล.  พระเจ้ามิลินท์ พระคุณเจ้านาคเสน ท่านกล่าวว่า อันตรธาน (ความเลือนหาย) แห่งพระสัทธรรม ดังนี้ใด อันตรธานแห่งพระสัทธรรมนั้น เป็นไฉน ?  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อันตรธานแห่งพระสัทธรรมมี ๓ อย่างเหล่านี้ ๓ อย่างอะไรบ้าง ? ได้แก่  – อธิคมอันตรธาน ความเลือนหายแห่งอธิคม – ปฏิปัตตติอันตรธาน ความเลือนหายแห่งการปฏิบัติ – ลิงคอันตรธาน ความเลือนหายแห่งเครื่องหมายแสดงเพศ (ภิกษุ)

ขอถวายพระพร เมื่ออาทิคมอันตรธาน ภิกษุแม้ว่าเป็นผู้ปฏิบัติดี ก็ไม่มีการตรัสรู้ธรรม, เมื่อปฏิบัติอันตรธาน สิกขาบทบัญญัติก็ย่อมอันตรธาน เหลือแต่ลิงคะเท่านั้น ตั้งอยู่, เมื่อลิงคอันตรธาน ประเพณีความสืบต่อแห่งเพศบรรพชิตก็ขาดสายไป ขอถวายพระพร มหาบพิตร อันตรธานแห่งพระสัทธรรมมี ๓ อย่างเหล่านี้ แล.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจปัญหาดีแล้ว ปัญหาที่ลึกซึ้ง ท่านก็ได้ทำให้ตื้นได้แล้ว ท่านหักปรปวาทะให้พี่นาได้แล้ว ทำให้หมดรัศมีแล้ว ท่านได้มาถึงความเป็นผู้องอาจในหมู่คณะอันประเสริฐแล้ว.  จบสัทธัมมันตรธานปัญหาที่ ๗

คำอธิบายปัญหาที่ ๖

ปัญหาเกี่ยวกับความเสื่อมหายไปแห่งพระสัทธรรม ชื่อว่า สัทธัมมันตรธานปัญหา.  คำว่า พระสัทธรรม แปลว่าธรรมของสัตบุรุษ ได้แก่ พระศาสนาทั้งสิ้นของท่านผู้เป็นสัตบุรุษคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ท่านผู้เป็นสัตบุรุษคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศ.  ก็สำหรับคำที่ตรัสไว้ในที่ ๒ แห่งนั้น ถ้าหากคำหนึ่งถูก คำที่เหลือก็ต้องผิด เพราะเมื่อทรงกำหนดอายุพระศาสนาไว้แล้วว่าจะตั้งอยู่ต่อไปได้เพียง ๕๐๐ ปีอย่างนี้ บุคคลจะบรรลุเป็นพระอรหันต์กันได้ก็ชั่วระยะตราบเท่าที่พระศาสนานี้ตั้งอยู่ได้คือ ๕๐๐ ปีนี้เท่านั้น หลังจากนั้นก็ไม่อาจบรรลุได้ เพราะไม่มีพระศาสนาเป็นที่ตั้งอาศัย ด้วยว่า การตรัสรู้ธรรมสำเร็จเป็นพระอริยบุคคล แม้ทั้ง ๔ พวก มีพระโสดาบันเป็นต้น ไม่มีในธรรมวินัยอื่น ในศาสนาอื่น มีเฉพาะธรรมวินัยนี้ ในพุทธศาสนานี้เท่านั้น ข้อนี้ สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า  อิเธว  สุภทฺท  สมโณ,  อิธ  ทุติโย  สมโณ. (ที.มหา. ๑๐/๑๗๗) ดูก่อนสุภัททะ สมณะที่ ๑ พระโสดาบัน มีอยู่ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น สมณะที่ ๒ พระสกทาคามี ก็มีอยู่ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น ดังนี้เป็นต้น.  เพราะฉะนั้น พ้น ๕๐๐ ปีนั้นไปแล้ว เมื่อไม่มีธรรมวินัยนี้แล้ว เมื่อไม่มีพระศาสนานี้แล้ว เพราะอันตรธานเสื่อมหายไปหมดสิ้นแล้ว ก็ย่อมไม่มีใครๆ ที่ปฏิบัติสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในโลกนี้ โลกก็เป็นอันว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย, เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมขัดแย้งกับคำตรัสที่ว่า ดูก่อน สุภัททะ ภิกษุเหล่านี้พึงเป็นอยู่โดยชอบไซร้ โลกก็จะเป็นอันไม่ว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย ดังนี้ เพราะคำนี้แสดงให้ทราบว่า การจะบรรลุธรรมสำเร็จเป็นพระอรหันต์ มิได้เนื่องอยู่กับระยะเวลาเหมือนคำก่อน ทว่าเรื่องอยู่กับการปฏิบัติเท่านั้น อย่างนี้ว่า ถ้าภิกษุทั้งหลายพึงเป็นอยู่โดยชอบ คือยังปฏิบัติดีปฏิบัติชอบกันอยู่ โลกก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้น เมื่อขัดแย้งกันอยู่อย่างนี้ ก็ย่อมกล่าวได้ว่า หากยอมรับว่าคำหนึ่งถูกต้อง ก็ไม่อาจยอมรับอีกคำที่เหลือว่าถูกต้องได้ ฉะนี้แล

คำว่า เป็นคำที่มีอรรถต่างกันด้วย มีพยัญชนะ ต่างกันด้วย ความว่า คำที่ตรัสไว้ใน ๒ ที่ ๒ แห่งนั้น เป็นคำที่มีอรรถคือมีเนื้อความ มีความหมาย มีอรรถาธิบายแตกต่างกันด้วย มีพยัญชนะ คือมีคำพูด มีโวหาร ต่างกันด้วย.  คำว่า คำหนึ่งเป็นคำกำหนด (อายุ) พระศาสนา คือคำว่า บัดนี้ พระสัทธรรมจะตั้งอยู่ได้ ๕๐๐ ปีเท่านั้น ดังนี้เป็นคำกำหนดอายุพระศาสนา.  คำว่า อีกคำหนึ่งเป็นคำแสดงการปฏิบัติ คือคำว่า ภิกษุเหล่านี้พึงเป็นผู้อยู่โดยชอบไซร้ โลกก็จะเป็นอันไม่ว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย ดังนี้ เป็นคำที่แสดงคือยกย่องการปฏิบัติว่าไม่เป็นโมฆะ ไม่เหลวเปล่า ถ้าว่าย่อมมีผล.  คำว่า เปรียบเทียบกันโดยรส คือเทียบเคียงกันโดยอรรถรส.  คำว่า ดูก่อน อานนท์ ถ้าหากหญิงทั้งหลายไม่บวชเป็นภิกษุณี ฯ บัดนี้ พระสัทธรรมจะตั้งอยู่ได้ ๕๐๐ ปีเท่านั้น ความว่า เมื่อพระศาสดาทรงอนุญาตให้สตรีได้บวชเป็นภิกษุณี โดยมีพระนางมหาปชาบดีโคตมีเป็นภิกษุณีรูปแรกตามคำทูลขอร้องของพระอานนท์แล้วก็รับสั่งเกี่ยวกับอายุพระศาสนากับพระอานนท์ว่าอย่างนี้ ในคำนี้ มีอรรถาธิบายอย่างนี้ว่า  ในโคตมีสูตร เมื่อจะทรงอนุญาตให้พระนางมหาปชาบดีโคตมีได้ผนวชนั้น ได้รับสั่งกับพระอานนท์อย่างนี้ว่า  ดูก่อน อานนท์ ถ้าหากพระนางมหาปชาบดีโคตมีทรงรับครุธรรม ธรรมที่พึงปฏิบัติอย่างเคารพ หนักแน่น ๘ ประการได้แล้วไซร้ พระนางก็จะทรงมีการอุปสมบทได้ คือผู้เป็นภิกษุณีแม้ว่าบวชได้ ๑๐๐ พรรษาแล้ว ก็จะต้องทำการกราบไหว้ การต้อนรับ การทำอัญชลี การทำกิจที่สมควรทำ ต่อภิกษุผู้แม้บวชในวันนั้น ธรรมแม้ข้อนี้ ภิกษุณีจะต้องสักการะ เคารพนับถือ บูชา ไม่ล่วงละเมิดตลอดชีวิต ดังนี้เป็นต้น อันบัณฑิตควรค้นหาความทั้งหมดในสูตรนี้ ในตอนท้ายสุดได้กล่าวไว้อย่างนี้ว่า.  ดูก่อน อานนท์ บุรุษพึงผู้แนวเขื่อนกั้นสระใหญ่ไว้เสียก่อน เพื่อน้ำจะได้ไม่ไหลล้นออกไป ฉันใด ดูก่อน อานนท์เราก็บัญญัติครุธรรม ๘ ประการแก่ภิกษุณีไว้เสียก่อน ก็เพื่อภิกษุณี จะได้ไม่ล่วงละเมิดตลอดชีวิต ฉันนั้นเหมือนกัน

ดังนี้ในคำนี้มีอรรถาธิบายตามอรรถกถาว่า  เปรียบเหมือนว่า แม้เมื่อไม่มีการผูกแนวเขื่อนสำหรับสระใหญ่ไว้ ก็จะขังน้ำไว้ไม่ได้อยู่หน่อยหนึ่ง (คือส่วนที่ล้นออกไป) แต่เมื่อมีการผูกเขื่อนไว้ก่อน น้ำที่พึงขังเอาไว้ไม่ได้เพราะไม่มีการผูกแนวเขื่อนเป็นปัจจัย ก็จะกลับเป็นน้ำที่ขังไว้ได้ ฉันใด แม้ยังไม่มีวัตถุ (เหตุการณ์ที่เป็นเหตุบัญญัติสิกขาบท) เกิดขึ้น พระศาสดาก็ทรงบัญญัติคุรุธรรม เพื่อให้เป็นข้อที่ภิกษุณีละเมิดมิได้แก่ก่อน เพราะว่าเมื่อไม่ทรงบัญญัติไว้ก่อน พระสัทธรรมก็จะพึงตั้งอยู่ได้เพียง ๕๐๐ ปี เพราะเหตุที่มีมาตุคามมาบวช แต่เพราะได้บัญญัติ ครุธรรมไว้เสียก่อน พระสัตย์ธรรมก็จะพึงตั้งอยู่ได้ต่อไปอีก ๕๐๐ ปี รวมกันแล้วก็เป็น ๑,๐๐๐ ปี ฉันนั้น

ก็คำว่า พระสัทธรรมจะตั้งอยู่ได้ ๑,๐๐๐ ปี นี้ ตรัสไว้เกี่ยวกับพระขีณาสพผู้บรรลุปฏิสัมภิทาญาณ คือว่า พระสัทธรรมส่วนที่เป็นปฏิเวธจะตั้งอยู่ได้ ๕,๐๐๐ ปี อย่างนี้คือ แม้ต่อจาก ๑,๐๐๐ ปีแรกที่มีพระขีณาสพ (พระอรหันต์) ผู้บรรลุปฏิสัมภิทาญาณนั้น ก็จะมีพระปฏิเวธสัทธรรมตั้งอยู่ได้ต่อไปอีก ๑,๐๐๐ ปี โดยเกี่ยวกับมีบุคคลผู้สำเร็จเป็นพระขีณาสพประเภทสุกขวิปัสสนา (ผู้แห้งแล้งเห็นแจ้งอริยสัจ ๔ หมายความว่าไม่มีฌาน) ต่อจากนั้น ก็จะตั้งอยู่ได้ไปอีก ๑,๐๐๐ ปี ดูเกี่ยวกับมีบุคคลผู้สำเร็จเป็นพระสกทาคามี ต่อจากนั้น ก็จะตั้งอยู่ต่อไปอีก ๑,๐๐๐ ปี (เป็น ๑,๐๐๐ ปีที่ ๕) ดูเกี่ยวกับบุคคลผู้สำเร็จเป็นพระโสดาบันดังนี้ แม้พระสัทธรรมส่วนปริยัติ ก็อย่างนั้นเหมือนกัน เพราะว่าปฏิเวธจะมีได้เพราะมีปริยัติ เมื่อไม่มีปฏิเวธก็เป็นอันว่าไม่มีปริยัติ ส่วนลิงคะ (เครื่องหมายแสดงเพศบรรพชิต มีผ้ากาสาวพัสตรเป็นต้น) แม้ว่าปริยัติจะอันตรธานเลือนหายไปแล้ว ก็ยังเป็นไปต่อไปได้อีก ดังนี้ เมื่อในอรรถกถากล่าวว่าอย่างนี้ก็เป็นอันสรุปความได้ว่า ที่ตรัสไว้ว่า หากไม่มีสตรีเข้ามาบวชเป็นภิกษุณี พระสัทธรรมจะต้องอยู่ได้ถึง ๑,๐๐๐ ปีนั้นเป็นคำอุกฤษณ์กำหนดไว้สูงสุด คือเกี่ยวกับระยะเวลาที่มีพระอรหันต์ประเภทที่บรรลุปฏิสัมภิทาญาณ ๔ เท่านั้น พระสัทธรรมนี้จะตั้งอยู่ได้ถึง ๕,๐๐๐ ปี โดยเกี่ยวกับมีพระอริยบุคคลผู้มีคุณวิเศษลดหลั่นกันลงมาอย่างนี้คือ

– ๑,๐๐๐ ปีแรกนับแต่ครั้งพุทธกาล ยังมีพระอรหันต์ผู้ได้ปฏิสัมภิทาญาณ  – ๑,๐๐๐ ปีที่ ๒ ไม่มีพระอรหันต์ผู้ใดได้ปฏิสัมภิทาญาณ (หรือแม้ได้คุณวิเศษอย่างอื่นๆ คืออภิญญา ๖ วิชชา ๓ อันเนื่องมาจากฌาน) เพราะกล่าวว่า มีแต่พระอรหันต์ประเภทสุกขวิปัสสก – ๑,๐๐๐ ปีที่ ๓ ไม่มีพระอรหันต์ทุกจำพวก ยางสูงสุดมีเพียงพระอนาคามี – ๑,๐๐๐ ปีที่ ๔ ไม่มีแม้พระอนาคามี ยางสูงสุดมีเพียงพระสกทาคามี – ๑,๐๐๐ ปีที่ ๕ ไม่มีพระสกทาคามี มีได้เพียงพระโสดาบันจำพวกเดียวเท่านั้น – ส่วนลิงคะ ยังจะมีเกินเลย ๕,๐๐๐ ปีนั้นต่อไปอีก แล้วก็จะอันตรธานหมดไปในที่สุด นี้เป็นการกล่าวถึงพระปฏิเวธสัทธรรมอันตรธานโดยยกบุคคล.  ส่วนในอรรถกถา เอกกนิบาต กล่าวเกี่ยวกับอธิคมอันตรธานไว้อย่างนี้ว่า

ชื่อว่า อธิคม ได้แก่ มรรค ๔ ผล ๔ ปฏิสัมภิทา ๔ วิชชา ๓ อภิญญา ๖ ก็อธิคมนั้น เมื่อจะเสื่อมหายไป ก็ย่อมเสื่อมหายเริ่มตั้งแต่ปฏิสัมภิทาไป คือว่า ตลอดระยะเวลา ๑,๐๐๐ ปีทีเดียว นับแต่กาลเสด็จดับขันปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ภิกษุทั้งหลายไม่อาจทำปฏิสัมภิทาให้บังเกิดได้ หลังจาก ๑,๐๐๐ ปีนั้นไป ก็ไม่อาจทำอภิญญา ๖ ให้มันเกิดได้ แม้ไม่อาจทําอภิญญา ๖ ให้บังเกิดได้ ก็ยังทำวิชชา ๓ ให้บังเกิดได้ เมื่อกาลล่วงไปๆ ไม่อาจทำวิชชาให้บังเกิดได้ ก็เป็นพระอรหันต์ประเภทสุกขวิปัสสก แม้ท่านที่เป็นพระอนาคามี พระสกทาคามี พระโสดาบัน ก็มีลำดับความเสื่อมแห่งอธิคมโดยอุบายนี้เหมือนกัน เมื่อยังทรงอิทธิคมเหล่านั้นไว้ได้ ก็ชื่อว่า นิคมยังไม่อันตรธาน พ่อพระโสดาบันท่านสุดท้ายสิ้นชีวิต อิทธิคมก็ชื่อว่าเป็นอันตรธานแล้วแล มีชื่อว่า อธิคมอันตรธาน ดังนี้ เพราะฉะนั้น คำที่ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถาเอกกนิบาตนี้ จึงเป็นอันแสดงความอันตรธานเสื่อมหายแห่งอธิคม คือแห่งปฏิเวธอันได้แก่มรรค ๔ เป็นต้นโดยตรง บัณฑิตพึงเทียบเคียงกับที่ท่านกล่าวไว้โดยการยกบุคคลในอรรถกถาอัฏฐกนิบาตนั้น แล้วพึงสงเคราะห์เข้ากันตามสมควรเถิด

คำว่า ทำให้มีรสเป็นอันเดียวกัน คือละคนคำที่ตรัสไว้ใน ๒ ที่ ๒ แห่งเข้าด้วยกันเป็นอันเดียวกันโดยอรรถรส.  คำว่า องค์แห่งภิกษุผู้มีความเพียร ๕ ประการได้แก่องค์คุณแห่งภิกษุผู้ชื่อว่ามีความเพียร หรือปรารภความเพียรได้ดี ๕ ประการ ที่ตรัสไว้ในปธานิยังคสูตร อย่างนี้ คือ  ๑.) เป็นผู้มีศรัทธา เพื่อความตรัสรู้ของพระตถาคต  ๒.) เป็นผู้มีอาพาธน้อย มีทุกข์น้อย ถึงพร้อมด้วยไฟธาตุบ่มกายดี ไม่เย็นเกินไป ไม่ร้อนเกินไป ปานกลางเหมาะสมแก่ (การปรารภ) ความเพียร  ๓.) เป็นผู้ไม่หลอกลวง เสแสร้ง เปิดเผยตนตามความเป็นจริงในพระศาสนาและในวิญญูชนผู้เป็นเพื่อนประพฤติพรหมจรรย์  ๔.) เป็นผู้ปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรมทั้งหลาย เพื่อทำกุศลทั้งหลายให้ถึงพร้อมอยู่ มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคงไม่ทอดทิ้งธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย  ๕.) เป็นผู้มีปัญญา ด้วยปัญญาที่สามารถรู้ความเกิดขึ้นและดับไป แห่งสังขาร ด้วยปัญญาประเสริฐสามารถทิ่มแทงกิเลส เป็นไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบดังนี้

คำว่า อธิคมอันตรธาน ได้แก่ อันตรธานแห่งปฏิเวธสัทธรรมนั่นเอง เพราะมรรค ๔ เป็นต้น เรียกว่าอธิคมก็ได้เพราะเป็นสิ่งควรบรรลุ และเรียกว่าปฏิเวธก็ได้ เพราะเป็นสิ่งควรแทงตลอด.  คำว่า เมื่อปฏิบัติอันตรธาน สิขาบทบัญญัติ ก็ย่อมอันตรธาน ความว่าเมื่อปฏิบัติอันตรธาน ปริยัติคือพระพุทธพจน์ทั้งสิ้น ก็ย่อมอันตรธานไปตามลำดับ จนแม้สิกขาบททั้งหลาย ก็หาผู้ทรงจำไว้เพื่อประโยชน์แก่การสมาทานรักษาไม่ได้ ด้วยท้อใจอยู่ว่า สมาทานรักษาไปก็ไม่อาจทำให้บรรลุมรรคผลได้.  คำว่า เหลือแต่ลิงคะเท่านั้น คือเหลือแต่เครื่องหมายแสดงเพศว่าเป็นภิกษุมีผ้ากาสาวพัสตร์ที่ครองอยู่เป็นต้นเท่านั้น.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๗.  จบมิลินทปัญหา ตอนที่ ๒๒.  ขอให้ การอ่าน การศึกษา ของทุกท่านตามกุศลเจตนา ได้เป็นพลวปัจจัย เพิ่มพูลกำลังสติ กำลังปัญญา ให้สามารถนำตนให้พ้นจากวัฏฏทุกข์ด้วยเทอญ.  อ่านบทความเกี่ยวข้อง :- มาตุคามกับเวลาสูญสิ้นของพระพุทธศาสนา 

ณัฏฐ สุนทรสีมะ

ที่มา : http://dhamma.serichon.us

มิลินทปัญหา (ตอนที่ 50) ,  (ตอนที่ 49) ,  (ตอนที่ 48) ,  (ตอนที่ 47) ,  (ตอนที่ 46) ,  (ตอนที่ 45) ,  (ตอนที่ 44) ,  (ตอนที่ 43) ,  (ตอนที่ 42) ,  (ตอนที่ 41) ,  (ตอนที่ 40) ,  (ตอนที่ 39) ,  (ตอนที่ 38) ,  (ตอนที่ 37) ,  (ตอนที่ 36) ,  (ตอนที่ 35) ,  (ตอนที่ 34) ,  (ตอนที่ 33) ,  (ตอนที่ 32) ,  (ตอนที่ 31) ,  (ตอนที่ 30) ,  (ตอนที่ 29) ,  (ตอนที่ 28) ,  (ตอนที่ 27) ,  (ตอนที่ 26) ,  (ตอนที่ 25) ,  (ตอนที่ 24) ,  (ตอนที่ 23) ,  (ตอนที่ 22) ,  (ตอนที่ 21 ต่อ) ,  (ตอนที่ 21) ,  (ตอนที่ 20) ,  (ตอนที่ 19) ,  (ตอนที่ 18) ,  (ตอนที่ 17) ,  (ตอนที่ 16) ,  (ตอนที่ 15) ,  (ตอนที่ 14) ,  (ตอนที่ 13) ,  (ตอนที่ 12) ,   (ตอนที่ 11) ,  (ตอนที่ 10) ,  (ตอนที่ 9) ,  (ตอนที่ 8) ,  (ตอนที่ 7) ,  (ตอนที่ 6) ,  (ตอนที่ 5) ,  (ตอนที่ 4) ,  (ตอนที่ 3) ,  (ตอนที่ 2) ,  (ตอนที่ 1) ,  ประโยชน์​การอุปมา​อันได้จากการศึกษา​คัมร์ในทางพุทธศาสนา มีคัมภีร์​มิลินท์​ปัญหาเป็นต้น​ ,   มิลินทปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับการไม่เคลื่อนไปก็ปฏิสนธิได้  ,  เหตุไร ตรัสให้คฤหัสถ์โสดาบันกราบไหว้ ลุกรับภิกษุสามเณรปุถุชนเล่า?  ,  นิปปปัญจปัญหา ​- ปัญหา​เกี่ยวกับ​ธรรม​ที่ปราศจาก​เหตุ​ให้เนิ่น​ช้าในวัฏฏทุกข์  ,   ถามว่า​ อานิสงส์​การเจริญเมตตา​ ห้ามอันตราย​ต่างๆ​ เหตุไรสุวรรณ​สามผู้เจริญเมตตา​จึงถูกยิงเล่า?


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: