พระราชปุจฉา-เพชรรุ่งจากฟากฟ้า
เมื่อวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๖๔ สำนักพระราชวังส่งพระราชปุจฉาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปถวายสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก
หัวใจในพระราชปุจฉามีความว่า - “จะส่งเสริมการเรียนการสอนพระบาลีอย่างไรให้เข้าถึงพระไตรปิฎก”
วันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๖๔ สมเด็จพระสังฆราชทรงมีพระบัญชาถึงกรรมการมหาเถรสมาคมทุกรูปให้เรียบเรียงความแก้พระราชปุจฉาตามมติส่วนตน ... ให้เป็นแนวทางปฏิบัติจริงได้ เพื่อนำมาประมวลความถวายวิสัชนาต่อไป
ผมสังเกตเห็นว่า ข่าวนี้ปรากฏออกมาแบบเงียบๆ ผมไม่ได้อ่านหนังสือพิมพ์และไม่ได้ดูโทรทัศน์ จึงไม่ทราบว่าสื่อสายนั้น “เล่น” ข่าวนี้หรือเปล่า แต่ทางเฟซบุ๊กและทางไลน์ค้อนข้างเงียบสงบ เห็นมีนำมาเสนอหนึ่งหรือสองรายเท่านั้น แล้วก็ดูเหมือนจะไม่มีใครส่งไม้-รับลูกอีก
ผมลองจินตนาการ ... ไปนมัสการถามพระเถระระดับเจ้าอาวาสรูปหนึ่ง “พระเดชพระคุณเคยได้ยินเรื่องประเพณีพระราชปุจฉาบ้างหรือเปล่าขอรับ”
“ประเพณีอะไรนะ ยังไม่เคยได้ยิน” พระคุณเจ้าตอบ
“ในหลวงมีพระราชปุจฉาไปถึงสมเด็จพระสังฆราช พระเดชพระคุณทราบหรือยังขอรับ”
“เอ ยังไงก็ไม่รู้ ไม่เห็นมีใครบอก เรื่องอะไรกันล่ะ”
ผมเชื่อว่าถ้าไปถามจริงๆ คำตอบก็คงประมาณเดียวกันนี้. เพราะฉะนั้น คงไม่ผิดแน่ถ้าจะสรุปว่า ชาววัด-คือพระภิกษุสามเณร และชาวบ้านทั่วไปในเมืองไทยของเรา ณ วันนี้ ส่วนมากไม่รู้และไม่มีความรู้เรื่องประเพณีพระราชปุจฉา
“ประเพณีพระราชปุจฉา” อธิบายง่ายๆ สั้นๆ ก็คือ พระเจ้าแผ่นดินตรัสถามปัญหาพระธรรมวินัยและการพระศาสนาไปยังคณะสงฆ์. ถ้าพูดแบบนี้ยังไม่เข้าใจก็พูดใหม่ - พระเจ้าแผ่นดินถามปัญหาธรรมะให้พระตอบ. พระในบ้านเมืองเรา ที่ใหญ่ที่สุดก็คือสมเด็จพระสังฆราช เพราะฉะนั้นเมื่อจะทรงถามพระ ก็ต้องทรงถามไปที่สมเด็จพระสังฆราช. สมเด็จพระสังฆราชจะทรงตอบเป็นส่วนพระองค์ก็ไม่ได้ ต้องตอบในนามคณะสงฆ์ ดังนั้น ก็จะต้องทรงปรึกษาหารือกับบรรดาพระเถรานุเถระทั้งหลายด้วย และวิธีตอบนั้นจะตอบปากเปล่าก็ไม่ได้ ต้องเขียนตอบเป็นลายลักษณ์อักษร พระเจ้าแผ่นดินทรงสงสัยเรื่องอะไร ก็จะตรัสถามให้พระตอบแบบนี้เป็นคราวๆ ไป อย่างนี้แหละคือ “ประเพณีพระราชปุจฉา” พระเจ้าแผ่นทรงสงสัยเรื่องอะไร ย่อมทรงสามารถศึกษาสอบสวนด้วยพระองค์เองหรือตรัสถามเอาจากข้าราชบริพารใกล้ชิดก็ได้มิใช่หรือ ทำไมจะต้องถามไปที่พระ
ตามหลักการ พระเป็นผู้รู้เรื่องพระศาสนาดีที่สุด พูดตามภาษาสมัยใหม่ก็ว่า พระเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ปัญหาเรื่องการพระศาสนาจึงต้องให้ผู้เชี่ยวชาญทางพระศาสนาเป็นผู้ตอบ. เหตุผลอีกอย่างหนึ่งที่ต้องตรัสถามพระ ผู้รู้ท่านสันนิษฐานกันว่า เป็นอุบายวิธีที่จะให้พระมีอุตสาหะในการศึกษาค้นคว้าหลักพระธรรมวินัยพระไตรปิฎก
เรื่องอะไรที่พระเจ้าแผ่นตรัสถาม จะตอบส่งเดชไม่ได้ ต้องค้นคว้าหาหลักวิชามาตอบให้หนักแน่นแม่นยำมั่นคง หลักแห่งพระศาสนาย่อมมีอยู่ในคัมภีร์คือพระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกาทั้งปวง วิธีที่จะได้คำตอบไปถวายก็ต้องช่วยกันค้นในคัมภีร์
ถ้าตรัสถามบ่อยๆ ก็ต้องค้นบ่อยๆ เมื่อได้ตรัสถามครั้งหนึ่งแล้ว จะตรัสถามอีกเมื่อไรก็ไม่อาจรู้ได้ เพราะฉะนั้น ในระหว่างที่ยังไม่ได้ตรัสถามก็ต้องเตรียมพร้อมไว้เสมอ ด้วยการศึกษาสืบค้นคัมภีร์บ่อยๆ และในกระบวนการศึกษาสืบค้นเรื่องราวในคัมภีร์นั้น พระเถระย่อมจะไม่ต้องค้นเองไปเสียทุกเรื่อง ถ้าท่านมีสัทธิวิหาริก-อันเตวาสิก คือศิษย์ของท่าน ท่านก็จะใช้ให้ศิษย์เป็นผู้ช่วยค้นให้ นี่ก็คือวิธีฝึกสอนให้ศิษย์รู้จักศึกษาพระธรรมวินัยไปในตัว
เมื่อทั้งอาจารย์ทั้งศิษย์ค้นคว้าบ่อยๆ ค้นคว้าอยู่เสมอ ก็ได้ความรู้ความเข้าใจมากขึ้น ได้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแล้วก็จะประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยได้อย่างถูกต้อง เอาคำสอนไปเผยแผ่สั่งสอนประชาชน ก็เป็นการเผยแผ่พระธรรมคำสอนที่ถูกต้อง ประชาชนนำไปปฏิบัติ บ้านเมืองก็เกิดความสุขสงบร่มเย็น. พระศาสนาย่อมดำรงอยู่และดำเนินไปอย่างมั่นคงได้ด้วยอาการอย่างนี้. นี่คือผลที่ประสงค์ และนี่คือการที่พระเจ้าแผ่นดินทรงปฏิบัติหน้าที่ขององค์เอกอัครศาสนูปถัมภก คือทรงอุปถัมภ์บำรุงพระศาสนาให้เจริญมั่นคงโดยทรงใช้ “พระราชปุจฉา” เป็นอุบายวิธีอย่างหนึ่ง
ถ้าเข้าใจอย่างนี้ เราก็จะเห็นว่า ประเพณีพระราชปุจฉานี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเอาใจใส่ โดยเฉพาะในหมู่ชาววัดด้วยแล้วควรจะต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ. ถ้ายังไม่รู้ ต้องรีบหาความรู้ จะคิดว่าเป็นเรื่องของสมเด็จพระสังฆราชและพระเถรานุเถระ ไม่เกี่ยวกับเรา-ดังนี้ไม่ได้เลย
เรื่องการพระศาสนาเกี่ยวกับเราทุกคน
เห็นกิริยาท่าทีที่ออกจะเฉยเฉื่อยแล้วผมนึกถึงอะไร. ผมนึกถึงคนที่โหยหาเฝ้ารอที่จะได้มีได้ชมสมบัติแก้วแหวนเงินทอง แต่เจ้ากรรมจริงๆ-ไม่รู้จักว่าแก้วแหวนเงินทองที่ตนอยากมีอยากชมนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร
พระราชปุจฉา-อุปมาดั่งเพชรเม็ดงามที่ร่วงลงมาจากฟากฟ้าอยู่ตรงหน้าเราแล้ว. เก็บสิขอรับ มัวรออะไรอยู่. ทำยังไง? รีบไปหาหนังสือประชุมพระราชปุจฉามาศึกษาโดยพลัน. ถ้าเป็นเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้วก็ต้องแต่งตัวออกไปห้องสมุดใกล้บ้าน ถ้าอยู่ในกรุงก็ต้องไปที่หอสมุดแห่งชาติ แต่วันนี้ไม่ต้องทำอย่างนั้นแล้ว นั่งกระดิกขาอยู่กับวัดหรืออยู่กับบ้านนั่นแหละก็มีให้อ่านได้. ผมเอาลิงก์ตัวอย่างใส่จานมาประเคนให้ตรงนี้แล้ว คลิกเข้าไปได้เลย :- https://cse.google.com/cse....
ศึกษาแล้ว รู้ตระหนักถึงความมีคุณค่าสำคัญของเพชรเม็ดนี้แล้วทำไงต่อ? ก็พิจารณาตัวเองสิขอรับว่า เราท่านแต่ละคนพอจะมีส่วนร่วมด้วยช่วยกันในการช่วยกันเจียระไนเพชรเม็ดนี้ให้สุกสกาววาวแววยิ่งๆ ขึ้นไปด้วยอาการอย่างไรได้บ้าง. เริ่มจากช่วยกันขบคิดหัวใจสำคัญในพระราชปุจฉาครั้งนี้ -- “จะส่งเสริมการเรียนการสอนพระบาลีอย่างไรให้เข้าถึงพระไตรปิฎก”
หัวใจสำคัญในพระราชปุจฉาคือคำว่า "เข้าถึงพระไตรปิฎก" กินความแค่ไหนหรือทรงมุ่งหมายอย่างไร ควรจะต้องตีกรอบหรือตีความกันให้แตกและรอบคอบอย่างยิ่ง ถ้าจับหัวใจตรงนี้ผิด คำตอบก็จะพลาดไปด้วย การปฏิบัติที่ติดตามมาก็จะหลงทางกันไปอีก เพราะฉะนั้น ต้องคอยจับตาดูว่า คำถวายวิสัชนาของคณะสงฆ์จะออกมาในแนวทางไหน โดยเฉพาะพระบัญชาที่ว่า “เป็นแนวทางปฏิบัติจริงได้” นั้นสำคัญนัก มิใช่แค่ถวายวิสัชนาเป็นทฤษฎีหรูหรา แต่ต้องเป็นวิธีการที่เอามาทำได้จริง และที่สำคัญ ไม่ใช่ถวายวิสัชนาแล้วก็แล้วกันไป-ก็ลืมกันไป แต่ต้องเอามาทำ และต้องทำจริงๆ ตรงนี้แหละครับที่ผมคิดว่า เราควรเตรียมจัดระเบียบตัวเองไว้แต่เนิ่นๆ ว่า งานพระศาสนาครั้งนี้เราควรจะอยู่ตรงไหน ในฐานะพุทธบริษัทนะครับ ไม่ใช่ในฐานะไก่
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย, ๒๔ เมษายน ๒๕๖, ๑๑:๔๔
ที่มา : ทองย้อย แสงสินชัย
พระราชปุจฉา-เพชรรุ่งจากฟากฟ้า ------------------------------- เมื่อวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๖๔...
โพสต์โดย ทองย้อย แสงสินชัย เมื่อ วันศุกร์ที่ 23 เมษายน 2021
0 comments: