"ยถา นที จ ปนฺโถ จ, ปานาคารํ สภา ปปา; เอวํ โลกิตฺถิโย นาม, นาสํ กุชฺฌนฺติ ปณฺฑิตาติ ฯ แม่น้ำ หนทาง โรงสุรา สภา และบ่อน้ำ ฉันใด ขึ้นชื่อว่าหญิงในโลก ก็ฉันนั้น, บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่โกรธหญิงเหล่านั้น"
อนภิรติชาดกอรรถกถา
พระบรมศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารชื่อว่าเชตวันทรงปรารภอุบาสกผู้มีเรื่องอย่างนั้นแหละ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า ยถา นที ปนฺโต จ ดังนี้.
ก็เมื่ออุบาสกนั้น คอยเฝ้าจับตาดูอยู่ ก็รู้ความที่หญิงผู้เป็นภรรยานั้น มีความประพฤติชั่ว จึงมีจิตเดือดดาลและเพราะเหตุที่ตนเป็นผู้มีจิตกังวลขุ่นมัว จึงไม่ได้ไปสู่ที่บำรุงพระศาสดาเสีย ๗-๘ วัน. ครั้นวันหนึ่งเขาไปวิหาร ถวายบังคมพระตถาคตเจ้านั่งเรียบร้อยแล้ว เมื่อพระศาสดาตรัสว่า „เพราะเหตุไร ? จึงไม่มาเสีย ๗-๘ วัน, จึงกราบทูลว่า „ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภรรยาของข้าพระองค์ เป็นหญิงมีความประพฤติชั่ว เพราะเหตุที่ข้าพระองค์ มีจิตขุ่นหมองในเรื่องชั่ว ๆ ของนาง จึงมิได้มาเฝ้า พระเจ้าข้า“.
พระศาสดาตรัสว่า „ดูก่อนอุบาสก บุรุษต้องไม่ทำความขุ่นเคืองในหญิงทั้งหลายว่า „หญิงเหล่านี้ประพฤติอนาจาร“ พึงวางตนเป็นกลางอย่างเดียว, แม้ในกาลก่อน บัณฑิตทั้งหลายก็บอกท่านแล้ว, แต่ท่านกำหนดเหตุนั้น ไม่ได้ เพราะภพอื่นปกปิดไว้“ อุบาสกกราบทูลอาราธนา จึงทรงนำเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :- ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้เป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ โดยนัยก่อนนั่นแล.
ครั้งนั้น ศิษย์ของท่านก็ได้เห็นโทษของภรรยาแล้ว ไม่มาหาเสีย ๒-๓ วัน เพราะความเป็นผู้มีจิตขุ่นหมอง วันหนึ่งถูกอาจารย์ถาม ก็แจ้งเหตุนั้น ให้ทราบ. ครั้นแล้วอาจารย์ของเขาจึงกล่าวว่า „พ่อเอ๋ย ขึ้นชื่อว่าหญิง เป็นของทั่วไปแก่คนทั้งปวงบัณฑิตทั้งหลายจะไม่ทำความขุ่นเคืองในหญิงเหล่านั้นเลยว่า „หญิงเหล่านี้เป็นคนทุศีล มีแต่บาปธรรม“ แล้วกล่าวคาถานี้ โดยมุ่งให้เป็นคำสอนว่า :- „ขึ้นชื่อว่าหญิงทั้งหลายในโลก มีอุปมา เหมือนแม่น้ำ หนทาง โรงน้ำดื่ม ที่ประชุมและบ่อน้ำ, บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมไม่ถือโกรธหญิง เหล่านั้น“.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยถา นที ความว่า แม่น้ำมีท่ามาก เป็นสถานที่สาธารณะ แม้แก่คนชั้นต่ำ มีคนจัณฑาลเป็นต้น แม้แก่คนชั้นสูง มีกษัตริย์เป็นต้น ผู้มุ่งมาเพื่อจะอาบ ในบรรดาคนเหล่านั้นใคร ๆชื่อว่าจะอาบไม่ได้ ไม่มีเลย. แม้ในบทมีอาทิว่า ปนฺโถ ก็มีอธิบายว่า แม้หนทางใหญ่ก็เป็นทางสาธารณะ สำหรับคนทั้งปวง ใคร ๆที่จะชื่อว่าไม่ได้เดินทางนั้น ก็มิได้มี. บทว่า ปานาคารํ ความว่า โรงเหล้าจัดเป็นสถานสาธารณะสำหรับคนทั่วไป คนใด ๆปรารถนาจะดื่ม ทุก ๆคนก็มีสิทธิเข้าไปในโรงเหล้านั้นได้ทั้งนั้น แม้ถึงสภาที่ผู้ปรารถนาบุญสร้างไว้ เป็นที่พักอาศัยของมนุษย์ทั้งหลาย ในที่นั้น ๆก็เป็นสถานสาธารณะ ใคร ๆจะไม่ได้เข้าไปในสภานั้น ก็มิได้มีแม้ประปา ที่เขาตั้งตุ่มน้ำสำหรับดื่มใกล้ทางใหญ่สร้างขึ้นไว้ก็เป็นของสาธารณะสำหรับคนทั่วไป ใคร ๆจะไม่ได้ดื่ม น้ำดื่มในที่นั้น ก็มิได้มี ฉันใด.
บทว่า เอวํ โลกิตฺถิโย นาม ความว่า ดูก่อนพ่อมาณพหนุ่มน้อย หญิงทั้งหลายในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นของสาธารณะสำหรับคนทั่วไป คือเป็นเช่นกับ แม่น้ำ หนทาง โรงดื่มสภาและประปา ด้วยอรรถว่า เป็นของทั่วไปนั้นแล. เพราะเหตุนั้น บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมไม่โกรธเคืองหญิงเหล่านั้นอธิบายว่า บัณฑิตคือคนฉลาด สมบูรณ์ด้วยความรู้ คิดเสียว่า หญิงเหล่านี้ลามก อนาจาร ทุศีล เป็นหญิงสาธารณะแก่คนทั่วไป ดังนี้แล้ว จึงไม่โกรธหญิงเหล่านั้น.
พระโพธิสัตว์ให้โอวาทแก่ศิษย์อย่างนี้. เขาฟังโอวาทนั้นแล้วจึงวางใจเป็นกลางได้ แม้ภรรยาของเขา ก็คิดว่า „ได้ยินว่า อาจารย์รู้เรื่องของเราแล้ว“ ตั้งแต่บัดนั้น ก็ไม่ทำกรรมอันลามกอีก. แม้ภรรยาของอุบาสกนั้น ก็คิดว่า "ได้ยินว่า พระศาสดาททรงรู้เรื่องของเราแล้ว" ตั้งแต่นั้นก็ไม่ทำบาปกรรมอีก. พระศาสดา ทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสประกาศ สัจจะทั้งหลาย เมื่อจบสัจจะอุบาสกก็ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล. แม้พระศาสดาก็ทรงสืบอนุสนธิประชุมชาดกว่า คู่ผัวเมียในครั้งนั้นได้มาเป็นคู่เมียผัวในครั้งนี้ ส่วนพราหมณ์เป็นอาจารย์ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.
ที่มา : Palipage : Guide to Language - Pali
0 comments: