มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๒๑) ปัญหาที่ ๕ สิวิราชจักขุทานปัญหา
พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พวกท่านกล่าวกันอย่างนี้ว่า “พระเจ้าสีวิ ได้พระราชทานพระจักษุแก่คนผู้ทูลขอ ต่อมาทิพย์จักษุได้เกิดขึ้นแก่พระองค์ผู้ทรงเป็นคนบอด” ดังนี้ คำพูดแม้นี้ เป็นคำที่มีข้อบกพร่อง มีข้อที่ควรข่มได้ มีข้อที่เป็นโทษ มีคำกล่าวในพระสูตรว่า “เมื่อได้ถอนเหตุเสียแล้ว เมื่อไม่มีเหตุ คือเมื่อไม่มีวัตถุ ทิพย์จักษุก็หาเกิดได้ไม่” ดังนี้พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากว่าพระเจ้าสีวิราชชทานพระจักษุแก่คนผู้ทูลขอจริงไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า ต่อมาทิพย์จักษุได้เกิดขึ้น ก็ต้องเป็นคำพูดที่ผิด ถ้าหากว่าทิพย์จักษุเกิดขึ้นได้จริง แม้คำว่า พระเจ้าสีวิพระราชทานพระจักษุแก่ผู้ทูลขอ ดังนี้ ก็ต้องเป็นคำพูดที่ผิด ปัญหานี้มี ๒ เงื่อน เป็นปมยิ่งกว่าปม เป็นของยุ่งยิ่งกว่ายุ่ง ก็ปัญหานั้นตกถึงแก่ท่านแล้ว ขอท่านจงทำให้ข้าพเจ้าเกิดความพอใจในปัญหานั้นเพื่อขจัด เพื่อข่มพระวาทะทั้งหลายเถิด. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระเจ้าสีวิได้พระราชทานพระจักษุแก่ผู้ที่ทูลขอจริง ขอพระองค์อย่าได้ทรงเกิดความสงสัยในข้อนั้นและต่อมาก็ทรงเกิดทิพย์จักษุจริง พระองค์อย่าได้ทรงเกิดความสงสัยแม้ในข้อนั้น
พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ก็แต่ว่า เมื่อได้ถอนเหตุเสียแล้ว เมื่อไม่มีเหตุ คือเมื่อไม่มีวัตถุ ทิพย์จักษุยังเกิดได้อีกหรือ ? พระนาคเสน, เกิดไม่ได้หรอก มหาบพิตร. พระเจ้ามิลินท์, อะไรเป็นเหตุในเรื่องนี้เล่า ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้ทิพย์จักษุยังเกิดได้ แม้ว่าได้เพิกเหตุแล้ว ไม่มีเหตุ คือไม่มีวัตถุแล้ว เอาเถอะ ขอท่านจงทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจด้วยเหตุผลเถิด. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร ในทางโลก ชนผู้เป็นสัจจวาที (มีปกติกล่าวคำสัจ) ย่อมทำสัจจกริยาด้วย สัจจะใด สัจจะนั้นมีอยู่หรือไม่ ? พระเจ้ามิลินท์, ใช่ พระคุณเจ้า ชื่อว่าสัจจะมีอยู่ในทางโลก ชนผู้เป็นสัจจวาที ทำสัจจกริยาแล้ว ก็ย่อมทำให้ฝนตก ทำให้ไฟดับ กำจัดพิษได้ ย่อมกระทำกิจที่ควรทำมีประการต่างๆ แม้อย่างอื่นได้ด้วยสัจจะ. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้น ข้อที่พระเจ้าสีวิทรงเกิดทิพย์จักษุ ด้วยกำลังแห่งสัจจะ ก็ย่อมถูกต้องสมควร ขอถวายพระพร เมื่อไม่มีวัตถุ ทิพย์จักษุก็ยังเกิดได้เพราะกำลังแห่งสัจจะ สัจจะนั้นเองเป็นวัตถุเพื่อความเกิดขึ้นแห่งทิพจักษุในที่นั้น. ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า สัตว์ทั้งหลาย (ชนทั้งหลาย) พวกใดพวกหนึ่ง กล่าวสัจจอธิษฐาน ว่า ขอฝนห่าใหญ่ จงโปรยปรายลงมา ดังนี้ ฝนหาใหญ่ก็ย่อมโปรยปรายลงมา พร้อมกับเสียงกล่าวสัจจอธิษฐานของสัตว์เหล่านั้น ขอถวายพระพร สัตว์เหล่านั้นมีการสั่งสมเหตุที่ทำให้ฝนตกไว้ในอากาศ ด้วยคิดว่า จะเป็นเหตุให้ฝนห่าใหญ่ตกลงมา ดังนี้หรือไร ?
พระเจ้ามิลินท์, หามิได้ พระคุณเจ้า สัจจะนั่นแหละเป็นเหตุที่ทำให้ฝนห่าใหญ่ตกลงมา. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน พระเจ้าสีวิมิได้ทรงมีเหตุตามปกติแห่ง (การได้) ทิพย์จักษุนั้น ในที่นี้ สัจจะนั่นเองเป็นวัตถุ เพื่อความเกิดขึ้นแห่งทิพย์จักษุ. ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่าสัตว์ (ชน) เหล่าใดเหล่าหนึ่ง กล่าวสัจจะอธิษฐานว่า ขอกองไฟใหญ่ที่กำลังลุกโพลงจงมอดไปเถิด ดังนี้ กองไฟใหญ่ที่ลุกโพลง ก็ย่อมมอดไปทันที พร้อมกับเสียงกล่าวสัจจอธิษฐานของสัตว์เหล่านั้น ขอถวายพระพร สัตว์เหล่านั้น มีการสั่งสมเหตุไว้ในกองไฟใหญ่ที่ลุกโพลง ด้วยคิดว่า จะเป็นเหตุให้กองไฟใหญ่ที่กำลังลุกโพลงมอดไปทันที ดังนี้ หรือไร ? พระเจ้ามิลินท์, หามิได้ พระคุณเจ้า สัจจะนั่นเอง เป็นวัตถุแห่งการมอดไปทันที แห่งกองไฟใหญ่ที่ลุกโพลง ในที่นั้น. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน พระเจ้ามิได้ทรงมีเหตุตามปกติ (การได้) ทิพย์จักษุนั้น ในที่นี้ สัจจะนั้นเองเป็นวัตถุเพื่อความเกิดขึ้นแห่งทิพจักษุ ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า สัตว์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง กล่าวสัจจอธิษฐาน ว่า ขอพิษที่ร้ายแรงจนกลายเป็นยาถอนพิษไปเสียเถิด ดังนี้ พิษที่ร้ายแรงก็มีอันกลายเป็นยาถอนพิษไปทันที พร้อมกับเสียงกล่าวสัจจอธิษฐานของสัตว์เหล่านั้น ขอถวายพระพร สัตว์เหล่านั้น มีอันได้สั่งสมเหตุไว้ในพิษที่ร้ายแรงด้วยคิดว่า จะเป็นเหตุให้กลายเป็นยาถอนพิษไปทันที ดังนี้ หรือไร ?
พระเจ้ามิลินท์, หามิได้พระคุณเจ้า ในที่นี้สัจจะนั่นเองเป็นเหตุกำจัดพิษร้ายแรงได้ทันที. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใดอุปไมยก็ฉันนั้น เว้นเหตุตามปกติเสีย สัจจะนั่นเอง เป็นวัตถุเพื่อความเกิดขึ้นแห่งทิพย์จักษุ ขอถวายพระพร วัตถุเพื่อการแทงตลอดอริยสัจ ๔ อย่างอื่น หามีไม่ บุคคลย่อมทำสัจจะให้เป็นเหตุ (ที่ตั้งอาศัย) แล้วแทงตลอดอริยสัจ ๔ ได้ ขอถวายพระพร ในแคว้นจีนะ มีพระราชาทรงพระนามว่า พระเจ้าจีนะ พระเจ้าจีนะนั้น ทรงใคร่จะเล่นน้ำในมหาสมุทร ทรงกระทำสัจจะกิริยาแล้วเสด็จเข้าไปใต้มหาสมุทรลึกโยชน์หนึ่งพร้อมกับรถทรง กองน้ำใหญ่ทางเบื้องหน้าหัวรถย่อมแหวกออก เมื่อเสด็จขึ้นมาแล้ว กองน้ำใหญ่จึงรวมตัวกันใหม่ ขอถวายพระพร มหาสมุทรนั้นสามารถทำให้แหวกออกได้ด้วยกำลังตามปกติของชาวโลกที่มีพร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย หรือไร ? พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้าน้ำในสระแม้เล็กๆ ก็ไม่อาจทำให้แหวกออกได้ด้วยกำลังตามปกติของชาวโลกที่มีพร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ได้ จะป่วยกล่าวไปใยถึงน้ำในมหาสมุทรเล่า. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร แม้เพราะเหตุนี้ขอพระองค์ทรงจงสร้างเถิดว่า ฐานะที่บุคคลจะพึงบรรลุด้วยสัจจะมิได้หามีไม่. ขอถวายพระพร ที่เมืองปาตลีบุตร พระเจ้าอโศกธรรมราชาผู้ทรงมีหมู่อำมาตย์ ข้าราชบริพาร มหาอำมาตย์ พร้อมทั้งหมู่ชาวนิคมชาวชนบททั้งหลายแวดล้อมเสด็จไปเล่นกีฬาทางน้ำที่มหาคงคา ทอดพระเนตรเห็นแม่น้ำคงคาที่เต็มเปี่ยมด้วยน้ำใหม่ๆ ไหลเพียบท่าซึ่งยาว ๕๐๐ โยชน์ กว้าง ๑ โยชน์อยู่ จึงรับสั่งกับพวกอำมาตย์ทั้งหลายว่า นี่แหนะ พนาย มีคนที่สามารถจะทำหาคงคานี้ให้ไหลทวนกลับบ้างไหม ? พวกอำมาตย์กราบทูลว่า เป็นเรื่องทำได้ยาก พระเจ้าข้า
ในสมัยนั้นนั่นแหละ มีหญิงคณิกาคนหนึ่ง ชื่อพันธุมดียืนอยู่ที่ฝั่งคงคา ได้สดับข่าวว่า พระราชารับสั่งถามอย่างนี้ว่า มีคนสามารถจะทำมหาคงคานี้ให้ไหลทวนกลับบ้างไหม ดังนี้แล้ว จึงกล่าวกับพวกอำมาตย์อย่างนี้ว่า ฉันเป็นหญิงคณิกาอยู่ที่เมืองปาตลีบุตร เป็นผู้ใช้รูปการเลี้ยงชีพ มีอาชีพอันต่ำต้อย แต่ว่า ขอพระราชาจงทรงทอดพระเนตรดูสัจจะกริยา (การทำสัจจอธิษฐาน) ของฉันเถิด ลำดับนั้น หญิงคณิกาผู้นั้น ได้ทำสัจจกิริยา มหาคงคานั้นก็ได้ไหลทวนกลับทันที ส่งเสียงครืนๆ พร้อมกับการทำสัจจกิริยาของหญิงนั้น ต่อหน้าฝูงชนหมู่ใหญ่ที่กำลังจ้องดูอยู่. ลำดับนั้น พระราชาพอได้ทรงสดับเสียงดังสนั่นที่กำลังของคลื่นที่ม้วนตัวกลับมาทำให้เกิดแล้ว ก็ทรงประหวั่นพระทัยทรงเกิดความอัศจรรย์ ความแปลกพระทัย จึงรับสั่งกับพวกอำมาตย์ว่า นี่แหละ พนาย เพราะเหตุไรมหาคงคานี้จึงไหลทวนกลับเล่า ? พวกอำมาตย์กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หญิงคณิกาชื่อว่า พันธุมดี ได้ทราบรับสั่งของพระองค์ จึงได้กระทำสัจจกิริยา เพราะสัจจกิริยาของนาง มหาคงคานี้จึงม้วนตัวไหลย้อนกลับมา พระเจ้าข้า
ลำดับนั้นพระราชาทรงมีพระทัยไหวหวั่น ทรงผลันผลันเสด็จไปหานางคณิกาผู้นั้นด้วยพระองค์เอง รับสั่งถามว่า นี่แหละ หล่อน ได้ยินว่าหล่อนทำแม่น้ำคงคานี้ ให้ไหลทวนกลับได้ด้วย (การทำ) สัจจกิริยา จริงหรือ ? หญิงคณิกากราบทูลว่า จริงพระเจ้าข้า พระราชารับสั่งว่า ในการทำแม่น้ำคงคาให้ไหลย้อนกลับนั้น เจ้ามีอะไรเป็นกำลัง หรือว่าใครเป็นผู้ยอมรับทำตามคำของเจ้า (ยักษ์หรือว่านาค) เจ้าใช้กำลังอะไรทำมหาคงคานี้ ให้ไหลย้อนกลับได้ ? หญิงคณิกานั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ใช้กำลังสัจธรรมมหาคงคานี้ให้ไหลย้อนกลับได้ พระเจ้าข้า พระราชาจึงตรัสว่า กำลังจะจากของเจ้าผู้เป็นนางโจร เป็นหญิงนักเลงไม่มีสติ เป็นคนชั่วช้า ศีลขาด ไม่มียางอาย เที่ยวเล้าประโลมคนมืดบอด มีอยู่หรือ ? หญิงคณิกา ข้าแต่พระองค์ ข้าพระองค์เป็นคนอย่างนั้นจริง ข้าพระองค์แม้ว่าเป็นคนเช่นนั้น ก็มีสัจจกิริยา พระเจ้าข้า เมื่อต้องการ ข้าพระองค์ก็ย่อมเปลี่ยนแปลงโลกพร้อมทั้งเทวโลกได้ พระเจ้าข้า พระราชา สัจจกิริยาของเจ้านั้น เป็นไฉนเล่า ขอเชิญว่าให้เราฟังที ? หญิงคณิกา ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผู้ใดเป็นกษัตริย์ก็ตาม เป็นพราหมณ์ก็ตาม เป็นแพศย์ก็ตาม เป็นศูทรก็ตาม เป็นผู้ใดผู้หนึ่งก็ตาม ให้ทรัพย์แก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์ก็ย่อมบำรุงบำเรอบุคคลเหล่านั้นเท่าเทียมกันทีเดียว ไม่มีบุคคลพิเศษที่ว่า เป็นกษัตริย์ ไม่มีบุคคลที่ควรดูหมิ่นที่ว่า เป็นศูทร ข้าพระองค์มีจิตที่ไม่ประกอบด้วยความยินดีร้าย บำรุงบำเรอคนมีทรัพย์เท่าเทียมกัน ข้าแต่ผู้ทรงเป็นสมมติเทพ ข้อที่ว่านี้ เป็นสัจจกิริยาของข้าพระองค์ ซึ่งข้าพระองค์ใช้ทำมหาคงคานี้ให้ไหลทวนกลับ พระเจ้าข้า
ขอถวายพระพร บุคคลทั้งหลาย ตั้งอยู่ในสัจจะแล้ว จะไม่ได้รับประโยชน์อะไรๆเลย หามีไม่ แม้อย่างที่กล่าวมานี้ ขอถวายพระพร พระเจ้าสีวิพระราชทานพระจักษุแก่คนผู้ขอแล้ว แต่ทิพย์จักษุก็ยังเกิดได้ ข้อนั้น มีได้เพราะสัจจกิริยา ก็คำที่ท่านกล่าวไว้ในพระสูตรว่า เมื่อมังสจักษุพินาศไป ไม่มีเหตุไม่มีวัตถุแล้ว ทิพย์จักษุก็หามีอันเกิดขึ้นได้ไม่ ดังนี้ใด คำนั้นหมายเอา (ทิพย) จักษุที่บังเกิดเพราะภาวนา ขอพระองค์จงทรงรับทราบข้อนี้ อย่างนี้เถิด. พระราชา ดีจริง พระคุณเจ้านาคเสน ท่านได้แก้ปัญหาดีแล้ว ท่านแสดงไขข้อควรคมได้ดีแล้ว ท่านได้ย่ำยีปรปวาทะดีแล้ว ข้าพเจ้าขอยอมรับปัญหาข้อนี้ ตามประการที่ท่านได้เฉลยนั้น. จบสิวิราชจักขุทานปัญหาที่ ๕. ปัญหาเกี่ยวกับการที่พระเจ้าสีวิพระราชทานพระจักษุชื่อว่า สิวิราชจักขุทานปัญหา. เรื่องราวย่อๆเกี่ยวกับพระเจ้าสีวิ มีดังนี้
ในสมัยที่พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าสีวิ กรุงอริฏฐปุระ แคว้นสีวิ ทรงยินดีมีพระทัยน้อมไปในการบริจาคทานเป็นอย่างยิ่ง ทรงดำริในพระทัยว่า อย่าว่าแต่วัตถุภายนอกเลย แม้แต่วัตถุภายในคืออวัยวะทั้งหลายรวมทั้งนัยน์ตา ทั้ง ๒ ข้าง หากมีคนมาขอเราก็จะให้ ท่านท้าวสักกะทรงทราบพระดำริข้อนี้ ใครจะทดลอง จึงทรงแปลงร่างเป็นพราหมณ์แก่ตาบอด ถ้วยขอแบ่งพระจักษุพระเจ้าสีวิข้างหนึ่ง พระเจ้าสีวิครั้นถูกพราหมณ์ทูลขอพระจักษุเช่นนี้ ก็ทรงเกิดความบันเทิงรื่นเริงในพระทัยอย่างยิ่ง ทรงพระจักษุทั้งสองข้างมอบให้ไป ท้าวสักกะทรงกระทำให้เพศพราหมณ์หายไป แสดงพระองค์เบื้องพระพักตร์พระเจ้าสีวิ ตราดสรรเสริญชมเชยพระเจ้าสีวิเป็นอันมาก ทรงแนะนำให้พระเจ้าสีวิกระทำสัจจกิริยา เพื่อพระจักษุจะได้บังเกิดขึ้นอีก เมื่อพระเจ้าสีวิทรงกระทำสัจจกิริยาครั้งแรกอย่างนี้ ว่า บุคคลผู้ขัดสนจนยาก มีชื่อโคตรต่างๆกันมาเพื่อขอเรา แม่เขาขอนัยน์ตาทั้งสอง เขาก็ย่อมเป็นคนที่น่ารักสำหรับเรา ด้วยสัจจะวาจาข้อนี้ ขอนัยน์ตาจงเกิดแก่เราเถิด ดังนี้ พระจักษุข้างที่ ๑ ก็เกิดขึ้นแก่พระองค์ เมื่อทรงกระทำสัจจะกิริยา ตราพระสัจจะวาจาเป็นครั้งที่ ๒ ว่า พราหมณ์ผู้ใดขัดสนจนยาก มาเพื่อจะขอเรา กล่าวว่า ขอพระองค์ทรงพระราชทานพระจักษุแก่หม่อมฉันเถิด เราก็ได้ให้นัยน์ตาทั้งสองแก่พราหมณ์ผู้นั้นแล้ว ปีติได้ซึมซาบจิตใจเรายิ่งขึ้นอีก ทั้งโสมนัสอันมีกำลังมิใช่น้อยหาประมาณมิได้ ก็ได้เกิดขึ้นแก่เรา ด้วยสัจจะวาจานี้ ขอนัยนฺตาข้างที่ ๒ จงเกิดขึ้นแก่เราเถิด ดังนี้พระจักษุข้างที่ ๒ ก็เกิดขึ้นแก่พระองค์
ก็พระจักษุทั้ง ๒ ข้างนั้น ไม่ใช่จะสุขตามปกติ เพราะไม่ส่งอาจทำให้พระจักษุที่ทรงมอบแก่พราหมณ์นั้นไปแล้ว ให้หวนกลับมามีแก่พระองค์ได้อีก ทั้งไม่ใช่ทิพย์จักษุ เพราะเป็นธรรมดาว่าทิพย์จักษุที่เป็นอภิญญา อันเป็นอานิสงส์ของการเจริญสมาธิ จะไม่เกิดแก่บุคคลผู้มีจักษุวัตถุ (ประสาทตา) เสียหาย พิการ และทิพย์จักษุอันเกิดจากวิบากของกรรม อย่างทิพย์จักษุของพวกเทวดาทั้งหลาย ก็ไม่มีแก่ผู้เป็นมนุษย์ แต่กล่าวได้ว่า เป็นสัจจปารมิตาจักษุ (จักษุที่เกิดจากสัจจบารมี) มีอานุภาพในการมองเห็นดุจทิพย์จักษุทุกประการ จะเรียกว่าทิพย์จักษุก็ได้ แต่เป็นทิพย์จักษุพิเศษอย่างหนึ่งต่างหากจากทิศจากจุดที่เหลือ ซึ่งเกิดจากสัจจบารมีเท่านั้น.
คำว่า เมื่อไม่มีเหตุ คือเมื่อไม่มีวัตถุ เป็นต้น ความว่า เมื่อไม่มีประสาทตาอันเป็นวัตถุคือที่ตั้งอาศัยแห่งจักขุวิญญาณแม้ทิพย์จักษุก็เกิดไม่ได้ เพราะแม้นแต่จ่าตานั้นก็เป็นเหตุเบื้องต้นแห่งทิพย์จักษุ. คำว่า ทำสัจจกิริยา คือการตั้งจิตปรารถนาความสำเร็จในสิ่งที่ประสงค์ ด้วยการกล่าวคำสัตย์ยืนยันถึงความเป็นผู้ตั้งใจไว้ก่อนว่าจะทำอย่างนี้ แล้วในภายหลังก็สามารถทำอย่างนั้นได้จริง ของตน. คำว่า มิได้ทรงมีเหตุตามปกติแห่งทิพย์จักษุ คือมิได้ทรงมีฌานสมาธิอันเป็นเหตุตามปกติ คือเป็นบริกรรม และเป็นบาทแห่งความเกิดขึ้น แห่งทิพย์จักษุ. คำว่า คำนั้นหมายเอาจักษุที่บังเกิดเพราะภาวนา ความว่า ค่ำนั้นหมายเอาทิพย์จักษุที่เป็นอภิญญา อันเป็นอานิสงส์แห่งสมาธิ ที่บังเกิดเพราะสมาธิภาวนา. จบคำอธิบายปัญหาที่ ๕. ปัญหาที่ ๖ คัพภาวักกันติปัญหา. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า
ติณฺณํ โข ปน ภิกฺขเว สนฺนิปาตา คพฺภสฺสาวกฺกนฺติ โหติ ฯปฯ เอวํ ติณฺณํ สนฺนิปาตา คพฺภสฺสาวกฺกนฺติ โหติ (ม.มู. ๑๒/๔๒๙) ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย การก้าวล่วงสู่ครรภ์ ย่อมมีได้เพราะการประชุมกันแห่งเหตุ ๓ อย่างคือ มารดาและบิดาในโลกนี้ร่วมกัน ๑, มารดามีระดู ๑, มีสัตว์ปรากฏ ๑, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การก้าวลงสู่ครรภ์ย่อมมีได้เพราะการประชุมกัน แห่งเหตุ ๓ อย่างเหล่านี้ ดังนี้ คำที่ตรัสไว้นี้ เป็นคำที่หาส่วนเหลือมิได้ คำที่ตรัสไว้นี้ ไม่มีส่วนเหลือ คำที่ตรัสไว้นี้เป็นคำพูดโดยนิปริยาย นี้เป็นคำของท่านผู้เป็นพระอรหันต์ พระผู้มีพระภาคประทับนั่งตรัสคำนี้ท่ามกลางมนุษย์พร้อมทั้งเทวดาทั้งหลาย แปลว่าการก้าวลงสู่ครรภ์เพราะความประชุมกันแห่งเหตุ ๒ อย่าง (เว้นการร่วมกันแห่งมารดากับบิดา) ก็มีอยู่ คือข้อที่ ทุกูลดาบสใช้นิ้วหัวแม่มือข้างขวาลูบไล้สะดือของนางปาริกาดาบสหญิงผู้กำลังมีระดู ก็เพราะการที่ทุกูลดาบสนั้น ใช้นิ้วมือลูบไล้สะดือนั้น สุวรรณสามกุมารจึงบังเกิด แม้ตังคฤๅษี ก็ใช้นิ้วหัวแม่มือข้างขวาลูบไล้สะดือของนางกัญญาพราหมณีในคราวมีระดูเพราะการที่มาตังคฤๅษีนั้นลูบไล้สะดือนั้น มัณฑพยมานพจึงบังเกิด พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากว่าพระผู้มีพระภาคตรัสว่า การก้าวลงสู่ครรภ์ย่อมมีเพราะการประชุมกันแห่งเหตุ ๓ ประการดังนี้จึงไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า สุวรรณสามกุมาร มัณฑพยมานพ คนทั้งสองเหล่านั้น บังเกิดได้เพราะการลูบไล้สะดือ ดังนี้ ก็ต้องเป็นคำพูดที่ผิด พระคุณเจ้า ถ้าหากว่าพระตถาคตตรัสว่า สุวรรณสามกุมาร มัณฑพยมานพบังเกิดได้เพราะการลูบไล้สะดือ ดังนี้ จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า การก้าวลงสู่ครรภ์ย่อมมีได้เพราะการประชุมแห่งเหตุ ๓ อย่าง ดังนี้ ก็ต้องเป็นคำพูดที่ผิด ปัญหานี้มี ๒ เงื่อน แสนลึกซึ้ง แสนละเอียด ปัญหานั้นเป็นวิสัยของท่านผู้รู้เท่านั้น ตกถึงแก่ท่านตามลำดับแล้ว ขอท่านจงทำลายช่องทางความคลางแคลงใจ ทรงไว้ซึ่งความสว่างไสวแห่งญาณอันประเสริฐ เถิด
พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสคำนี้ไว้ว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย การก้าวล่วงสู่ครรภ์ ย่อมมีได้เพราะการประชุมกันแห่งเหตุ ๓ อย่างคือ มารดาและบิดาในโลกนี้ร่วมกัน ๑, มารดามีระดู ๑, มีสัตว์ปรากฏ ๑, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การก้าวลงสู่ครรภ์ย่อมมีได้เพราะการประชุมกัน แห่งเหตุ ๓ อย่างเหล่านี้แล ดังนี้จริง และตรัสไว้ว่า สุวรรณสามกุมาร มัณฑพยมานพบังเกิดได้เพราะการลูบไล้สะดือ ดังนี้จริง. พระเจ้ามิลินท์, ถ้าอย่างนั้นนะ พระคุณเจ้านาคเสน ขอเชิญท่านทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจ ด้วยเหตุผลที่ใช้วินิจฉัยปัญหาได้ด้วยดีเถิด. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พระองค์เคยทรงสดับมาหรือไม่ว่า บุคคลเหล่านี้ คือ สังกิจจกุมาร อิสิสิงคดาบส และ พระกุมารกัสสปเถระ บุคคลเหล่านั้นเป็นผู้บังเกิดเพราะเหตุ ตามที่กล่าว นี้. พระเจ้ามิลินท์, ใช่ พระคุณเจ้า ข้าพเจ้าได้ฟังมา บุคคลเหล่านั้นมีการเกิดน่าอัศจรรย์ คือแม่เนื้อ ๒ ตัวในคราวที่มีระดู ได้ไปยังสถานที่ถ่ายปัสสาวะของดาบส ๒ รูป ได้ดื่มกินน้ำปัสสาวะปนน้ำสัมภวะของดาบสแล้ว สังกิจจกุมาร อิสิสิงคดาบสจึงได้เกิด เพราะน้ำสัมภวะในปัสสาวะนั้น เมื่อพระอุทายีเถระได้เข้าไปยังสำนักของภิกษุณีทั้งหลาย มีจิตกำหนัดกำลังเพ่งจ้ององคชาติของนางภิกษุณีรูปหนึ่งอยู่ ก็ปล่อยน้ำสัมภวะออกมาเปื้อนผ้ากาสาวพัสตร์ ครั้งนั้นแล ท่านพระอุทายีกล่าวกับนางภิกษุณีรูปนั้นว่า นี่แนะ น้องหญิง จงไปเอาน้ำมาที เราจะชำระจีวร ดังนี้ ต่อจากนั้น ภิกษุณีรูปนั้นซึ่งในสมัยนั้นกำลังมีระดู ก็ใช้ปากรับเอาน้ำสัมภวะนั้นไว้ส่วนหนึ่ง สอดใส่เข้าไปในองคชาตส่วนหนึ่ง เพราะการกระทำนั้น พระกุมารกัสสปะจึงได้บังเกิดขึ้น เรื่องนี้ คนทั้งหลายก็พูดถึงกัน
พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พระองค์ทรงเชื่อคำนั้นหรือไม่ ? พระยามิลินท์, เชื่อ พระคุณเจ้า ในเรื่องนั้น ข้าพเจ้าได้เหตุผลที่หนักแน่น ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าเชื่อว่าบุคคลเหล่านั้นได้บังเกิดเพราะเหตุนี้. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ในเรื่องนี้ ส่งได้เหตุผลที่หนักแน่นอะไรหรือ ? พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า พืชที่หว่านไปบนดินที่ตระเตรียมไว้ดีแล้ว ย่อมงอกงามได้เร็ว ไม่ใช่หรือ ? พระนาคเสน, ใช่ ขอถวายพระพร. พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น ภิกษุณีรูปนั้นเป็นคนมีระดูเมื่อเลือดในรังไข่ขาดไป เมื่อธาตุ ระดู ยังตั้งอยู่ ถือเอาน้ำสัมภวะใส่ไปที่รังไข่นั้น ก็เป็นเหตุให้ภิกษุณีรูปนั้นตั้งครรภ์ได้ ข้าพเจ้าเชื่อเหตุผลที่ทำให้บุคคลเหล่านั้นบังเกิดได้ในเรื่องนั้น อย่างนี้. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อาตมาภาพก็ขอรับรองความข้อนี้ ตามอย่างที่ได้ตรัสมานี้ว่า เพราะมีการสอดใส่น้ำสัมภวะเข้าไปทางองคชาติ จึงเกิดมีคันขึ้น มหาบพิตร พระองค์ทรงยอมรับว่า พระอุมานกับสปาเทระมีการหยั่งลงสู่ครรภ์ตามประการดังกล่าวมานี้ หรือ ? พระเจ้ามิลินท์, ใช่ พระคุณเจ้า ข้าพเจ้ายอมรับ. พระนาคเสน, ดีล่ะ มหาบพิตร ถ้าอย่างนั้นก็ขอจงทรงกลับมายังวิสัย (แนวทางความคิด) ของอาตมาพระองค์เมื่อตรัสยอมรับการก้าวลงสู่ครรภ์โดยวิธีการหนึ่งนั่นเทียว ก็จะเป็นอันคล้อยตามกำลังของอาตมภาพ เมื่อเป็นเช่นนั้น ข้อที่ว่าแม่เนื้อ ๒ ตัวนั้นดื่มน้ำปัสสาวะแล้วได้การตั้งครรภ์ พระองค์ก็ทรงเชื่อล่ะสิว่า มีการก้าวลงสู่ครรภ์แห่งแม่เนื้อทั้ง ๒ ตัวนั้นจริง ?
พระเจ้ามิลินท์, ถูกต้อง พระคุณเจ้า ข้าพเจ้าเชื่อ สิ่งที่ได้ดื่มแล้ว กินแล้ว เคี้ยวแล้ว ยิ้มแล้ว อย่างใดอย่างหนึ่ง สิ่งนั้นทั้งหมดย่อมหยั่งลงสู่รังไข่ได้ ถึงสถานที่แล้วก็ถึงความเจริญ พระคุณเจ้านาคเสน เปรียบเหมือนว่า ขึ้นชื่อว่าแม่น้ำทั้งหลายเหล่าใดเหล่าหนึ่ง แม่น้ำทั้งหมดเหล่านั้นย่อมหยั่งสู่มหาสมุทร ถึงสถานที่แล้ว ก็ถึงความเจริญ ฉันใด พระคุณเจ้านาคเสน สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ได้กินแล้ว ดื่มแล้ว เคี้ยวแล้ว ลิ้มแล้ว สิ่งนั้นทั้งหมด ย่อมหยั่งลงสู่รังไข่ได้ ถึงสถานที่แล้ว ก็ถึงความเจริญ ฉันนั้น เพราะเหตุผลข้อนั้น ข้าพเจ้าจึงเชื่อว่า การหยั่งลงสู่ครรภ์ย่อมมีได้ แม้ด้วยปัสสาวะปนน้ำสัมภวะที่เข้าไปทางปาก. พระนาคเสน, ดีล่ะ มหาบพิตร พระองค์ทรงเข้าถึงวิสัยของอาตมา ขอถวายพระพร ขอจงทรงยอมรับเถิดว่า แม้มีการประชุมกันแห่งเหตุ ๒ อย่าง โดยการใช้ปากดื่ม สังกิจจกุมาร อิสิสิงคดาบส และพระกุมารกัสสปเถระ ก็มีการก้าวลงสู่ครรภ์ได้
พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า ข้าพเจ้าขอยอมรับเราว่าเหตุ ๒ อย่างผสมกัน ก็มีการหยั่งลงสู่ครรภ์ได้. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร แม้สุวรรณสามกุมาร แม้มัณฑพยมานพ ก็เนื่องอยู่ในเหตุ สามอย่างประชุมกัน มีอาการเดียวกันกับบุคคลก่อนๆนั่นแหละ อาตมาภาพจะกล่าวถึงเหตุการณ์ในการเกิด แห่งคนเหล่านั้น ขอถวายพระพร มีเรื่องว่า บุคคล ๒ คนนั้น คือทุกูลดาบส และนางปาลิกาดาบสหญิง อาศัยอยู่ในป่า มีจิตน้อมไปในวิเวก แสวงหาประโยชน์สูงสุด มีเดชตบะทำให้โลกร้อนไปตลอดถึงพรหมโลกได้ ในสมัยนั้น ท่านท้าวสักกะจอมเทพได้เสด็จมาทะนุบํารุงบุคคลทั้งสองนั้น ในเวลาเช้า เวลาเย็น เพราะมีความรักใคร่หนักแน่นต่อบุคคลเหล่านั้น ท่านท้าวสักกะนั้นจึงทรงตรวจสอบ ถึงภัยอันตราย ทรงพบว่าในการอนาคต จักษุทั้งสองข้างของคนเหล่านั้นจะมืดบอด ครั้นทรงพบแล้วก็ตรัสกับคนทั้งสองนั้นว่า ท่านผู้เจริญทั้งสอง ขอท่านจงทำตามคำของข้าพเจ้าสักอย่างหนึ่งเถิด คือว่า จะเป็นการดีถ้าท่านพึงเกิดบุตรสักคนหนึ่ง เขาจะเป็นผู้ทะนุบำรุงและดูแลพวกท่าน คนเหล่านั้นทูลตอบว่า อย่าเลย ท่านท้าวโกสีย์ พระองค์อย่าได้ตรัสอย่างนี้เลย คนเหล่านั้นไม่ยอมรับคำขอของท้าวสักกะนั้น ท่านท้าวสักกะจอมเทพผู้ทรงมีพระทัยอนุเคราะห์ ใคร่ประโยชน์ ได้จากกับบุคคลเหล่านั้น แม้นเป็นครั้งที่ ๒ แม้เป็นครั้งที่ ๓ ว่า ท่านผู้เจริญทั้งสอง ขอท่านจงทำตามคำของข้าพเจ้าสักอย่างหนึ่งเถิด คือว่า จะเป็นการดีถ้าท่านพึงเกิดบุตรสักคนหนึ่ง เขาจะเป็นผู้ทะนุบำรุงและดูแลพวกท่าน คนเหล่านั้นก็ทูลตอบ แม้เป็นครั้งที่ ๓ ว่า อย่าเลย ท่านท้าวโกสีย์ พระองค์อย่าได้ตรัสชวนพวกอาตมภาพในเรื่องไร้ประโยชน์เลย ในกาลไหนๆ กายนี้จะยังไม่แตกทำลาย ขอให้กายที่มีความแตกทำลายเป็นธรรมดานี้จงแต่ทำลายไปเสียเถอะ แม่เมื่อธรณีจะล่มสลายไปแม้เมื่อภูเขาหินจะล้มลงไป แม้เมื่ออากาศจะพลิกกลับไป แม้เมื่อพระจันทร์พระอาทิตย์จะตกไป พวกอาตมภาพก็จะไม่ขอคลุกคลีอยู่ด้วยโลกธรรมทั้งหลาย ต่อจากนี้ไป ขอพระองค์จงอย่าเสด็จเข้าใกล้พวกอาตมาภาพได้เห็นพระพักตร์ ความสนิทสนมกับพระองค์ผู้ใกล้ชิดนี้ ดูเหมือนว่ามีแต่จะทำให้พวกอาตมาภาพเสื่อมเสีย.
ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพ เมื่อทรงชักจูงใจของคนเหล่านั้นไม่ได้ ก็ทรงทำความเคารพ ประคองอัญชลี ร้องขออีกว่า ถ้าท่านทั้งสองไม่ขวนขวายทำตามคำของข้าพเจ้าเวลาใดท่านดาบสหญิงเกิดมีระดู ท่านผู้เจริญ ในเวลานั้นท่านจงใช้นิ้วหัวแม่มือข้างขวาลูบไล้สะดือเถิด ท่านดาบสหญิงนั้นจะตั้งครรภ์ การกระทำนั้น นี้เป็นการประชุมกันเพื่อการก้าวลงสู่ครรภ์ทีเดียว ดังนี้ ท่านดาบสยอมรับ ทูลว่า ท่านท้าวโกสีย์ ข้าพเจ้าอาจทำตามคำของท่านได้ เพราะด้วยการกระทำเพียงเท่านี้ ตบะของอาตมาภาพจะไม่เสียหาย ดังนี้ ก็ในเวลานั้น ที่ภพเทวดา มีเทพบุตรองค์หนึ่งผู้มีกุศลมูลหนาแน่น สิ้นอายุ ครบอายุขัยแล้ว สามารถที่จะก้าวลง มาเกิด แม้ในจักรพรรดิสกุลได้ตามที่ปรารถนา ลำดับนั้น ท่านท้าวสักกะจอมเทพเสด็จเข้าไปหาเทพบุตรองค์นั้น แล้วรับสั่งขอร้องอย่างนี้ ว่า มาเถอะ ท่านผู้นิรทุกข์ วันนี้เป็นวันแจ่มใสของท่านท่านจะบรรลุความสำเร็จประโยชน์ เราได้พบที่พำนักของท่านแล้ว ท่านจะมีการอยู่ในโอกาสที่น่ารื่นรมย์ ท่านจะมีการปฏิสนธิในตระกูลที่สมควร ท่านจะพึงเจริญเติบโตด้วยมารดาและบิดาผู้ดีงาม มาเถอะ ขอจงทำตามคำของเราดังนี้ ได้ประคองอัญชลีเหนือพระเศียร ตรัสขอร้องแม้เป็นครั้งที่ ๒ แม้เป็นครั้งที่ ๓
ต่อจากนั้น เทพบุตรองค์นั้นได้กราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ พระองค์ทรงยกย่องตระกูลไหนอยู่บ่อยๆ พระเจ้าข้า ท่านท้าวสักกะตรัสตอบว่า นุกูลดาบส และนางปาลิกาดาบสหญิง เทพบุตรองค์นั้นพอได้สดับคำของท่านท้าวสักกะ ก็เป็นผู้ยินดี ยอมรับ กล่าวว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ความพอพระทัยของพระองค์ดีจริง พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ก็หวังจะเกิดในตระกูลที่ปรารถนา คิดอยู่ว่า เราจะเกิดในตระกูลไหน ในตระกูลที่เป็นอัณฑชะ หรือว่าที่เป็นชลาพุชะ หรือว่าที่เป็นสังเสทชะ หรือว่าที่เป็นโอปาติกะ ดังนี้ ท่านท้าวสักกะตรัสว่า ท่านผู้นิรทุกข์ ขอท่านจงเกิดในชลาพุชะกําเนิดเถอะ ครั้งนั้น ท่านท้าวสักกะจอมเทพทรงนับวันที่เทพบุตรจะไปเกิดไว้ ทรงแจ้งข่าวแก่ทุกูลดาบสว่า ดาบสหญิงจะมีระดูในวันโน้น ท่านผู้เจริญ ถึงตอนนั้นขอท่านจงใช้หัวแม่มือข้างขวาลูบไล้ที่สะดือเถิด ดังนี้ ขอถวายพระพร เมื่อวันนั้นมาถึง ดาบสหญิงก็เป็นผู้มีระดู เทพบุตรก็ได้เข้าไปปรากฏตัวในที่นั้นและดาบสก็ได้ใช้หัวแม่มือขวาลูบไล้ที่สะดือของดาบสหญิง ประการฉะนี้ ดูจึงมีเหตุ ๓ อย่างเหล่านั้นประชุมกัน นางดาบสหญิงย่อมเกิดราคะเพราะการลูบไล้สะดือ ก็ราคานั้นของนางดาบสหญิงนั้น ย่อมเกิดเพราะอาศัยการลูบไล้สะดือ ขอพระองค์อย่าทรงสำคัญการร่วมกันนั้นว่าเป็น อัชฌาจาร (ความประพฤติละเมิด) เลย แม้แต่การหัวเราะก็จัดว่าเป็นการร่วมกันได้ แม้การพูดกันก็จัดว่าเป็นการร่วมกันได้ แม้การเพ่งจ้องกันก็จัดว่าเป็นการร่วมกันได้ ย่อมเกิดการร่วมกันโดยอาศัยราคะที่มีในส่วนเบื้องต้นลูบไล้เนื้อตัว และเพราะมีการร่วมกัน ก็ย่อมมีการก้าวลงสู่ครรภ์แล
ขอถวายพระพร การก้าวลงสู่ครรภ์ย่อมมีได้เพราะการลูบคลำแม้ที่ไม่ถึงขั้นเป็นอัชฌาจาร มหาบพิตร ไฟที่ลุกโพลงย่อมขจัดความเย็นแห่งสิ่งที่เพียงแต่เข้าใกล้ ไม่แตะถึงตัวได้ฉันใด การก้าวลงสู่ครรภ์ย่อมมีได้เพราะการลูบไล้ แม้ที่ไม่ถึงขั้นเป็นอัชฌาจาร ฉันนั้น. ขอถวายพระพร การก้าวลงสู่ครรภ์แห่งสัตว์ทั้งหลายย่อมมีได้ด้วยอำนาจแห่งเหตุ ๔ อย่าง คือ ด้วยอำนาจแห่งกรรม ๑, ด้วยอำนาจแห่งโยนิ (กำเนิด) ๑, ด้วยอำนาจแห่งตระกูล ๑, ด้วยอำนาจแห่งการร้องขอ ๑ แม้ว่าสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้จะเป็นผู้มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นเหตุทำให้ตั้งขึ้นก็ตาม. ขอถวายพระพร การก้าวลงสู่ครรภ์ ย่อมมีด้วยอำนาจแห่งกรรมอย่างไร ? มหาบพิตร สัตว์ผู้มีกุศลมูลหนาแน่นย่อมเกิดได้ตามที่ปรารถนา คือในตระกูลกษัตริย์มหาศาลก็ได้ คือในตระกูลพราหมณ์มหาศาลก็ได้ ในตระกูลคฤหบดีมหาศาลก็ได้ ในหมู่เทวดาทั้งหลายก็ได้ ในอัณฑชกำเนิดก็ได้ ในชลาพุชกำเนิดก็ได้ ในสังเสทชกำเนิดก็ได้ นายโอปาติกะกำเนิดก็ได้ ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า บุรุษผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินเพียงพอ มีอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจเพียงพอ มีเงิน ข้าวสารเพียงพอ มีบุคคลฝ่ายที่เป็นญาติเพียงพอ ยอมจ่ายเงินแม้แพงเป็น ๒ เท่า ๓ เท่า ซื้อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง คือทาสหญิงก็ได้ ทาสชายก็ได้ ที่นาก็ได้ วัตถุก็ได้ บ้านก็ได้ นิคมก็ได้ ชนบทก็ได้ ตามที่ใจปรารถนา ตามที่ใจต้องการ ฉันใด ขอถวายพระพร สัตว์ทั้งหลายผู้มีกุศลมูลหนาแน่น ย่อมเกิดได้ตามที่ปรารถนา คือในตระกูลกษัตริย์มหาศาลก็ได้ ในตระกูลพราหมณ์มหาศาลก็ได้ ในตระกูลคฤหบดีมหาศาลก็ได้ ในหมู่เทวดาทั้งหลายก็ได้ นายอัณฑชกำเนิดก็ได้ ในชลาพุชกำเนิดก็ได้ ในสังเสทชกำเนิดก็ได้ นายโอปาติกะกำเนิดก็ได้ ฉันนั้น การก้าวลงสู่ครรภ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย ย่อมมีได้ด้วยอำนาจแห่งกรรม ตามประการดังกล่าวมานี้
การก้าวลงสู่ครรภ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย ย่อมมีได้ด้วยอำนาจแห่งโยนิ อาการที่เกิด อย่างไร ? พวกไก่ป่า เพราะมีลมพัดก็มีการก้าวลงสู่ครรภ์ พวกนกยาง พอมีเสียงฟ้าร้องก็มีการก้าวลงสู่ครรภ์ พวกเทวดาทั้งหลายแม้ทุกตน ไม่ได้เป็นสัตว์ผู้เกิดในครรภ์เลยเทียว สัตว์เหล่านั้นมีการก้าวลงสู่ครรภ์โดยอาการต่างๆกัน ขอถวายพระพร มหาบพิตร เปรียบเหมือนว่าผู้คนทั้งหลายย่อมเที่ยวไปในแผ่นดิน โดยอาการต่างๆกัน บางพวกปิดแค่ข้างหน้า บางพวกปิดแค่ข้างหลัง บางพวกก็เปลือย บางพวกหัวโล้น ทรงผ้าขาว บางพวก มวยผม บางพวกหัวโล้น นุ่งห่มผ้ากาสายะ บางพวกมวยผม นุ่งห่มผ้ากาสายะ บางพวกมีชฎา ทรงจีวรเปลือกไม้ บางพวกนุ่งหนังสัตว์ บางพวกนุ่งบังเหียน ผู้คนเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมเที่ยวไปในแผ่นดินโดยอาการต่างๆกัน ฉันใด ขอถวายพระพร มหาบพิตร สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์เหล่านั้นย่อมมีการก้าวลงสู่ครรภ์โดยอาการต่างๆกัน ก้าวลงสู่ครรภ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย ย่อมมีได้ด้วยอำนาจแห่งโยนิ (อาการที่เกิด) ตามประการดังกล่าวมานี้
การก้าวลงสู่ครรภ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย ย่อมมีได้ด้วยอำนาจแห่งตระกูล อย่างไร ? ขอถวายพระพร มหาบพิตร ชื่อว่าตระกูล ได้แก่ตระกูล ๔ คือ อัณฑชะ ตระกูลสัตว์ผู้เกิดในไข่ ๑, ชลาพุชะ ตระกูลสัตว์ผู้เกิดในมดลูก ๑, สังเสทชะ ตระกูลผู้เกิดในที่เปียกแฉะ ๑, โอปาติกะ ตะกูลสัตว์ผู้พูดเกิดฉับพลัน ๑, ในตระกูลทั้ง ๔ นั้น ถ้าหากว่าสัตว์ละจากภพใดภพหนึ่ง มาเกิดในตระกูลที่เป็นอัณฑชะ ในภพนั้นสัตว์ผู้นั้นก็ได้ชื่อว่า เป็นอัณฑชะ สัตว์ผู้เกิดในไข่ ฯลฯ สัตว์ทั้งหลายย่อมเป็นเช่นเดียวกันทั้งหมดในตระกูลทั้งหลาย (แต่ละตระกูล) นั้นๆนั่นเทียว ขอถวายพระพรเปรียบเหมือนว่า หมู่เนื้อและนกพวกใดพวกหนึ่งเข้าถึงภูเขาหิมวติเนรุ หมู่เนื้อและนกเหล่านั้นทั้งปวงย่อมเป็นผู้ละผิวพรรณ (ตามปกติ) ของตน แล้วกลายเป็นผู้มีผิวพรรณดุจทองคำ ฉันใด ขอถวายพระพร สัตว์พวกใดพวกหนึ่ง ละจากภพหนึ่งพบใดมาเข้าถึงอัณฑชกำเนิดแล้ว สัตว์เหล่านั้นย่อมเป็นผู้ละรูปร่างที่มีอยู่ของตนเสีย แล้วเป็นอัณฑชสัตว์เหมือนกันหมด ฯลฯ เข้าถึงชลาพุชกำเนิด ฯลฯ เข้าถึงสังเสทชะกำเนิด ฯลฯ เข้าถึงโอปาติกะกำเนิดแล้ว สัตว์เหล่านั้นย่อมเป็นผู้ละรูปร่างที่มีอยู่ของตนเสีย แล้วเป็นโอปาติกสัตว์เหมือนกันหมด ฉันนั้น การก้าวลงสู่ครรภ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย ย่อมมีได้ด้วยอำนาจแห่งตระกูล ตามประการดังกล่าวมานี้
การก้าวลงสู่ครรภ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย ย่อมมีได้ด้วยอำนาจแห่งการร้องขอ อย่างไร ? ขอถวายพระพร ในโลกนี้ตระกูลซึ่งยังไม่มีบุตร แต่มีทรัพย์มาก ถึงพร้อมด้วยศรัทธา มีศีล มีกัลยาณธรรม อาศัยตบะ ก็มีอยู่ และเทพบุตรผู้มีกุศลมูลหนาแน่น ผู้จะต้องเคลื่อนจากเทวโลกนั้นๆ เป็นธรรมดาก็มีอยู่ ครั้งนั้น ท่านท้าวสักกะจอมเทพทรงประสงค์อนุเคราะห์ตระกูลนั้น จึงทรงร้องขอเทพบุตรผู้นั้นว่า นี่แน่ะท่านผู้นิรทุกข์ ขอท่านจงตั้งปณิธานว่า เราจะไปเกิดในท้องนายหญิงแห่งตระกูลโน้น เถิด ดังนี้ เพราะการร้องขอเป็นเหตุ เทพบุตรตนนั้นจึงตั้งปณิธานปรารถนาตระกูลนั้น ขอถวายพระพร มหาบพิตร เปรียบเหมือนว่า คนทั้งหลายผู้ต้องการบุญ นิมนต์ร้องขอสมณะที่ตนมีใจยกย่อง ให้เข้าไปยังเรือนด้วยคิดว่า สมณะผู้นี้เข้าไปแล้วก็จะเป็นผู้นำแต่ความสุขให้แก่ตะกูลทั้งปวง ฉันใด ขอถวายพระพร ท้าวสักกะจอมเทพทรงร้องขอเทพบุตรตอนนั้นให้เข้าไปสู่ตระกูลนั้น ฉันนั้น การก้าวลงสู่ครรภ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย ย่อมมีด้วยอำนาจแห่งการร้องขอ ตามประการดังกล่าวมานี้
ขอถวายพระพร มหาบพิตร สุวรรณสามกุมารซึ่งเป็นผู้ที่ท่านท้าวสักกะจอมเทพทรงร้องขอ ก็ได้ก้าวลงสู่ครรภ์ของนางปาริกาดาบสหญิงแล้ว ขอถวายพระพร เพราะการตั้งจิตปณิธานแห่งบุคคล ๓ คน คือสุวรรณสามกุมาร ซึ่งเป็นผู้ที่ได้สั่งสมบุญไว้แล้ว มารดาและบิดาซึ่งเป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม ท่านท้าวสักกะซึ่งเป็นผู้ร้องขอ สุวรรณสามกุมารจึงบังเกิดได้ ขอถวายพระพร มหาบพิตร เปรียบเหมือนว่า บุรุษผู้ฉลาดในนัยอุบายในโลกนี้ จากพึงหว่านโปรยพืชในไร่ที่ปรับไว้ดี ก็เมื่อบุรุษนั้นขจัดสิ่งเป็นอันตรายแห่งพืชแล้ว พืชนั้นจะพึงมีอันตรายขัดขวางความเจริญงอกงามอะไรๆ อยู่อีกหรือหนอ ? พระเจ้ามิลินท์, หามิได้ พระคุณเจ้า พืชปราศจากอันตรายเข้าไปขัดขวางแล้ว ก็จะพึงเจริญงอกงามได้เร็ว. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกันแล สุวรรณสามกุมารพ้นจากอันตรายทั้งหลายที่เกิดขึ้น จึงบังเกิดได้ เพราะความตั้งจิตปณิธานแห่งบุคคลทั้ง ๓. ขอถวายพระพร พระองค์เคยทรงสดับมาหรือไม่ว่า มีชนบทใหญ่พร้อมทั้งฝูงชนมั่งคั่ง แผ่ไพศาลแห่งหนึ่ง ต้องสาบสูญไปเพราะจิตประทุษร้ายของพวกฤาษีทั้งหลาย ? พระเจ้ามิลินท์, ใช่พระคุณเจ้า ข้าพเจ้าเคยฟังมาว่าสถานที่ทั้งหมดนั้นเป็นป่า กลายเป็นป่าไปหมด คือป่าทัณฑกะ ป่ามัชฌะ ป่ากาลิงคะ ป่าตังคะ ชนบท (ชาวชนบท) ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ มีอันถึงความสิ้นไปเพราะจิตประทุษร้ายของพวกฤาษีทั้งหลาย
พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ถ้าหากว่าชนบททั้งหลายย่อมสาบสูญไป เพราะจิตประทุษร้ายของพวกฤๅษีเหล่านั้นได้ไซร้ ถ้าอย่างนั้นก็น่าจะมีอะไรๆ บังเกิดเพราะจิตชื่นชมเลื่อมใสของพวกฤาษีเหล่านั้นได้ ไม่ใช่หรือ ? พระเจ้ามิลินท์, ใช่ น่าจะมีได้ พระคุณเจ้า. พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้น สุวรรณสามกุมารก็บังเกิดเพราะจิตชื่นชมเลื่อมใสของบุคคลผู้มีพลานุภาพ ๓ คน ได้เหมือนกัน จัดว่าเป็นผู้อันฤาษีเนรมิต ขอพระองค์จงทรงรับรองข้อที่ว่านี้ ตามประการดังกล่าวมานี้เถิด. ขอถวายพระพร ท่านท้าวสักกะจอมเทพทรงร้องขอเทพบุตร ๓ ตน (ให้บังเกิดในตระกูล) ๓ ตนใครบ้าง ? ได้แก่ สุวรรณสามกุมาร ๑, พระเจ้ากุสราชา ๑, พระเจ้ามหาปนาทะ ๑, (ฉบับของไทยว่า ๔ รวมเอาพระราชาเวสสันดร). พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านได้แสดงไขเรื่องการก้าวลงสู่ครรภ์ได้ดีแล้ว ท่านได้กล่าวถึงเหตุผลดีแล้ว ท่านได้ทำความมืดให้เป็นความสว่างแล้ว ได้ถางชัฏแล้ว ถอนทิ้งปรปวาทะทั้งหลายได้แล้ว ข้าพเจ้าขอยอมรับคำตามที่ท่านกล่าวมาแล้วนี้. จบคัพภาวักกันติปัญหาที่ ๖ (ยังมีต่อ). จบมิลินทปัญหา ตอนที่ ๒๑
ขอให้ การอ่าน การศึกษา ของทุกท่านตามกุศลเจตนา ได้เป็นพลวปัจจัย เพิ่มพูลกำลังสติ กำลังปัญญา ให้สามารถนำตนให้พ้นจากวัฏฏทุกข์ด้วยเทอญ
ณัฏฐ สุนทรสีมะ
ที่มา : http://dhamma.serichon.us
มิลินทปัญหา (ตอนที่ 50) , (ตอนที่ 49) , (ตอนที่ 48) , (ตอนที่ 47) , (ตอนที่ 46) , (ตอนที่ 45) , (ตอนที่ 44) , (ตอนที่ 43) , (ตอนที่ 42) , (ตอนที่ 41) , (ตอนที่ 40) , (ตอนที่ 39) , (ตอนที่ 38) , (ตอนที่ 37) , (ตอนที่ 36) , (ตอนที่ 35) , (ตอนที่ 34) , (ตอนที่ 33) , (ตอนที่ 32) , (ตอนที่ 31) , (ตอนที่ 30) , (ตอนที่ 29) , (ตอนที่ 28) , (ตอนที่ 27) , (ตอนที่ 26) , (ตอนที่ 25) , (ตอนที่ 24) , (ตอนที่ 23) , (ตอนที่ 22) , (ตอนที่ 21 ต่อ) , (ตอนที่ 21) , (ตอนที่ 20) , (ตอนที่ 19) , (ตอนที่ 18) , (ตอนที่ 17) , (ตอนที่ 16) , (ตอนที่ 15) , (ตอนที่ 14) , (ตอนที่ 13) , (ตอนที่ 12) , (ตอนที่ 11) , (ตอนที่ 10) , (ตอนที่ 9) , (ตอนที่ 8) , (ตอนที่ 7) , (ตอนที่ 6) , (ตอนที่ 5) , (ตอนที่ 4) , (ตอนที่ 3) , (ตอนที่ 2) , (ตอนที่ 1) , ประโยชน์การอุปมาอันได้จากการศึกษาคัมร์ในทางพุทธศาสนา มีคัมภีร์มิลินท์ปัญหาเป็นต้น , มิลินทปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับการไม่เคลื่อนไปก็ปฏิสนธิได้ , เหตุไร ตรัสให้คฤหัสถ์โสดาบันกราบไหว้ ลุกรับภิกษุสามเณรปุถุชนเล่า? , นิปปปัญจปัญหา - ปัญหาเกี่ยวกับธรรมที่ปราศจากเหตุให้เนิ่นช้าในวัฏฏทุกข์ , ถามว่า อานิสงส์การเจริญเมตตา ห้ามอันตรายต่างๆ เหตุไรสุวรรณสามผู้เจริญเมตตาจึงถูกยิงเล่า?
0 comments: