....“ใช่หรือไม่? ว่าสิ่งที่เรามีอยู่แล้วในมือนั้น ไม่ทำให้เรามีความสุขได้มากกว่าสิ่งที่ได้มาใหม่ มีเสื้อผ้าอยู่แล้วนับร้อยก็ไม่ทำให้จิตใจเบ่งบานได้เท่ากับเสื้อ ๑ ตัวที่ได้มาใหม่ มีซีดีอยู่แล้วนับพันก็ไม่ทำให้รู้สึกตื่นเต้นได้เท่ากับซีดี ๑ แผ่นที่ได้มาใหม่ ในทำนองเดียวกัน มีเงินนับร้อยล้านในธนาคาร ก็ไม่ทำให้รู้สึกปลาบปลื้มใจเท่ากับเมื่อได้มาใหม่อีก ๑ ล้าน
..พูดอีกอย่างก็คือ คนเรานั้นมักมีความสุขจากการได้ มากกว่าความสุขจากการมี มีเท่าไรก็ยังอยากจะได้มาใหม่ เพราะเรามักคิดว่าของใหม่จะให้ความสุขแก่เราได้มากกว่าสิ่งที่มีอยู่เดิม บ่อยครั้งของที่ได้มาใหม่นั้นก็เหมือนกับของเดิมไม่ผิดเพี้ยน แต่เพียงเพราะว่ามันเป็นของใหม่ ก็ทำให้เราดีใจแล้วที่ได้มา ..จะว่าไปนี่ อาจเป็นสัญชาตญาณที่มีอยู่กับสัตว์หลายชนิด ไม่เฉพาะแต่มนุษย์เท่านั้น ถ้าโยนน่องไก่ให้หมา หมาก็จะวิ่งไปคาบ แต่ถ้าโยนน่องไก่ชิ้นใหม่ไปให้ มันจะรีบคายของเก่าและคาบชิ้นใหม่แทน ทั้งๆที่ทั้งสองชิ้นก็มีขนาดเท่ากัน ไม่ว่าหมาตัวไหนก็ตาม ของเก่าที่มีอยู่ในปากไม่น่าสนใจเท่ากับของใหม่ที่ได้มา
..ถ้าหากว่าของใหม่ให้ความสุขได้มากกว่าของเก่าจริง เรื่องก็น่าจะจบลงด้วยดี แต่ปัญหาก็คือ ของใหม่นั้นไม่นานก็กลายเป็นของเก่าและความสุขที่ได้มานั้นในที่สุดก็จางหายไป ผลก็คือ กลับมารู้สึก“เฉยๆ”เหมือนเดิม และดังนั้นจึงต้องไล่ล่าหาของใหม่มาอีก เพื่อหวังจะให้มีความสุขมากกว่าเดิม แต่แล้วก็วกกลับมาสู่จุดเดิม เป็นเช่นนี้ ไม่รู้จบ ..น่าคิด ว่าชีวิตเช่นนี้จะมีความสุขจริงหรือ? เพราะไล่ล่าแต่ละครั้งก็ต้องเหนื่อย ไหนจะต้องขวนขวายหาเงินหาทอง ไหนจะต้องแข่งกับผู้อื่น เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ ครั้นได้มาแล้วก็ต้องรักษาเอาไว้ให้ได้ ไม่ให้ใครมาแย่งไป แถมยังต้องเปลืองสมองหาเรื่องใช้มัน เพื่อให้รู้สึกคุ้มค่า ยิ่งมีมากชิ้นก็ยิ่งต้องเสียเวลาในการเลือกว่าจะใช้อันไหนก่อน
..ทำนองเดียวกับคนที่มีเงินมากๆ ก็ต้องยุ่งยากกับการตัดสินใจว่าจะไปเที่ยว ลอนดอน นิวยอร์ค ลาสเวกัส โตเกียว มาเก๊า หรือซิดนีย์ ดี ..ถ้าเราเพียงแต่รู้จักแสวงหาความสุขจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว ชีวิตจะยุ่งยากน้อยลง และโปร่งเบามากขึ้น ..อันที่จริงความพอใจในสิ่งที่เรามีนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่ที่เป็นปัญหาก็เพราะเราชอบมองออกไปนอกตัว และเอาสิ่งใหม่มาเทียบกับของที่เรามีอยู่ หาไม่ก็เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น เมื่อเห็นเขามีของใหม่ ก็อยากมีบ้าง
..คงไม่มีอะไรที่จะทำให้เราทุกข์ได้บ่อยครั้ง เท่ากับการชอบเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น การเปรียบเทียบจึงเป็นหนทางลัดไปสู่ความทุกข์ที่ใครๆก็นิยมใช้กัน นิสัยชอบเปรียบเทียบกับคนอื่นทำให้เราไม่เคยมีความพอใจในสิ่งที่ตนมีเสียที แม้มีแฟนที่ดีก็ยังไม่พอใจเพราะรู้สึกว่าแฟนของคนอื่นสวยกว่า หล่อกว่า หรือเอาใจเก่งกว่า แม้มีลูกที่น่ารักก็ยังไม่พอใจ เพราะรู้สึกว่าสู้ลูกของคนอื่นไม่ได้ แม้จะมีหน้าตาดี ก็ยังรู้สึกว่าตัวเองไม่สวย เพราะไปเปรียบเทียบตัวเองกับดาราหรือพรีเซนเตอร์ในหนังโฆษณา การมองแบบนี้ทำให้ “ขาดทุน” สองสถาน คือ นอกจากจะไม่มีความสุขกับสิ่งที่มีอยู่แล้ว ยังเป็นทุกข์เพราะไม่ได้สิ่งที่อยาก ..พูดอีกอย่างคือ ไม่มีความสุขกับปัจจุบัน แถมยังเป็นทุกข์เพราะอนาคตที่พึงปรารถนายังมาไม่ถึง
..ไม่มีอะไรที่เป็นอุทธาหรณ์สอนใจได้ดีเท่ากับนิทานอีสป เรื่องหมาคาบเนื้อ คงจำได้ว่า มีหมาตัวหนึ่งได้เนื้อชิ้นใหญ่มา ขณะที่กำลังเดินข้ามสะพานมันมองลงมาที่ลำธาร เห็นเงาของหมาตัวหนึ่ง ( ซึ่งก็คือตัวมันเอง ) กำลังคาบเนื้อชิ้นใหญ่ เนื้อชิ้นนั้นดูใหญ่กว่าชิ้นที่มันกำลังคาบเสียอีก ด้วยความโลภ (และหลง) มันจึงคายเนื้อที่คาบอยู่เพื่อจะไปคาบชิ้นเนื้อที่เห็นในน้ำ ผลก็คือ เมื่อเนื้อตกน้ำ ชิ้นเนื้อในน้ำก็หายไป มันจึงสูญทั้งเนื้อที่คาบอยู่และเนื้อที่เห็นในน้ำ
..บ่อเกิดแห่งความสุขมีอยู่กับเราทุกคนในขณะนี้อยู่แล้ว เพียงแต่เรามองข้ามไปหรือไม่รู้จักใช้เท่านั้น เมื่อใดที่เรามีความทุกข์แทนที่จะมองหาสิ่งนอกตัว ลองพิจารณาสิ่งที่เรามีอยู่และเป็นอยู่ ไม่ว่ามิตรภาพ ครอบครัว สุขภาพ ทรัพย์สิน รวมทั้งจิตใจของเรา ล้วนสามารถบันดาลความสุขให้แก่เราได้ทั้งนั้น ขอเพียงแต่เรารู้จักชื่นชม รู้จักมองและจัดการอย่างถูกต้องเท่านั้น แทนที่จะแสวงหาแต่ความสุขจากการได้ ลองหันมาแสวงหาความสุขจากการมี หรือจากสิ่งที่มี ขั้นต่อไปคือการแสวงหาความสุขจากการให้ กล่าวคือ ยิ่งให้ความสุข ก็ยิ่งได้รับความสุข สุขเพราะเห็นน้ำตาของผู้อื่นเปลี่ยนเป็นรอยยิ้ม และสุขเพราะภาคภูมิใจที่ได้ทำความดีและทำให้ชีวิตมีความหมาย จากจุดนั้นแหละก็ไม่ยากที่เราจะค้นพบความสุขจากการไม่มี นั่นคือ สุขจากการปล่อยวาง ไม่ยึดถือในสิ่งที่มี และเพราะเหตุนั้น แม้ไม่มีหรือสูญเสียไปก็ยังเป็นสุขอยู่ได้ เกิดมาทั้งที น่าจะมีโอกาสได้สัมผัสกับความสุขจากการให้และการไม่มี เพราะนั่นคือ สุขที่สงบเย็นและยั่งยืนอย่างแท้จริง”
พระไพศาล วิสาโล , ที่มา : ธรรมะเพื่อทางพ้นทุกข์ โดย ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ
0 comments: