ความหมายของคำว่า สุญญตา โลกว่าง จิตว่าง ที่เรียกว่า “ว่าง” คือ ว่างจาก “ตัวตน” ว่างจาก “ของตน”
…. “ถ้ามีตัวตน มันก็ควรจะมีความถาวร หรือเป็นตัวมันเองได้ ไม่อยู่ในกระแสแห่งการเกิด-ดับเรื่อยไปเช่นนั้น หรือว่า ถ้ามันมีตัวตน เป็นของตน มันก็ควรจะควบคุมตัวเองได้ เดี๋ยวนี้ไม่มีอะไรที่จะเป็นตัวตน หรือเป็นไปตามความต้องการของตนได้ จึงเรียกว่า “ว่างจากตัวตน – ว่างจากของตน” มีแต่กระแสแห่งการเปลี่ยนแปลง คือ การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ซึ่งเรียกว่า กระแสแห่งการเปลี่ยนแปลง นี้เท่านั้น ดังนั้น จึงเรียกสิ่งเหล่านั้นว่า “ว่างจากตัวตน” หรือ “ว่างจากของตน” และมีหลักที่จะกำหนดจดจำได้โดยง่ายๆ ว่า ที่เรียกว่าว่างนั้นเพราะว่างจากตัวตนหรือว่างจากของตน
…. พระพุทธเจ้าท่านตรัสสอน ให้มองเห็นโลกโดยความเป็นของว่างนั้น ก็คือ ให้เห็นความว่างจากตัวตนและของตนอย่างนี้ และที่ตรัสให้มีสติอยู่เสมอ ก็หมายความว่า ให้เห็นความว่างชนิดนี้อย่างแจ่มแจ้งอยู่เสมอไป อย่าได้เผลอหลงเห็นเป็นตัวเป็นตนที่น่ายึดถือแต่ประการใดขึ้นมา เมื่อใดเผลอไปเกิดความรู้สึกเห็นเป็นตัวเป็นตนขึ้นมาแล้ว เมื่อนั้นเรียกว่า เกิด และ เป็นทุกข์ เพราะมีตัวตน มีความรู้สึกเป็นตัวตน หรือเป็นของของตน ก็ต้องมีความทุกข์และความรู้สึกกังวล ความยึดมั่นถือมั่น แม้ไม่มีอะไรเลยก็ยังมีความรู้สึกที่หนัก เหมือนกับมีของหนักมาสุมทับอยู่ในจิตในใจ เพราะมีจิตใจยึดมั่นถือมั่นสิ่งเหล่านั้นไว้ ดังนั้น จึงได้กล่าวว่า “ความเกิดเป็นทุกข์”โดยแน่นอน และทุกครั้ง และหมายถึงความเกิดแห่งความรู้สึกว่าตัวตน หรือของตน ที่เป็นของผู้ใดใครคนหนึ่งนั่นเอง” -พุทธทาสภิกขุ
ที่มา : ธรรมบรรยายหัวข้อเรื่อง “ธรรมจักษุ ดวงตาที่เห็นธรรม” แสดงในวันอาสาฬหบูชา เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๐๙ ณ สวนโมกขพลาราม จากเอกสารชุดมองด้านใน อันดับที่ ๑๒
…. ด้วยเหตุนี้แหละ พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสสอนว่า “จงมองดูโลกนี้โดยความเป็นของว่างอยู่เสมอ” เหมือนอย่างทรงสอนโมฆราช ใน โสฬสปัญหา ว่า... “สุญฺญโต โลกํ อเวกฺขสฺสุ โมฆราช สทา สโต = ดูก่อน โมฆราช เธอจงเป็นผู้มีสติ มองเห็นโลกโดยความเป็นของว่างอยู่เสมอไป” เมื่อเห็นโลกโดยความเป็นของว่าง จิตก็ไม่มีความยึดถืออะไรด้วยอุปาทาน ความว่างอย่างนี้ของจิตเราเรียกว่า “สุญฺญตา”
…. ฉะนั้น เราได้ใจความครั้งแรกว่า “โลกนี้ว่าง” เพราะว่างจาก “ตัวตน” “ของตน” …. ได้ใจความถัดมาว่า “จิตว่าง” เพราะว่างจาก ราคะ โทสะ โมหะ โดยเหตุที่จิตนี้ได้มองเห็นว่าโลกนี้ว่าง ไม่มีอะไรที่ควรยึดถือว่าตัวตนของตน นี่คือ ความหมายของคำว่า “สุญญตา” -พุทธทาสภิกขุ
ที่มา : ธรรมบรรยายเรื่อง “สุญฺญตา หัวใจของพุทธศาสนา”, ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ – รวบรวม
0 comments: