วันศุกร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2564

พระพุทธศาสนา เป็น “วิภัชชวาท”

พระพุทธศาสนา เป็น “วิภัชชวาท” คือ มองความจริงอย่างวิเคราะห์ แยกแยะ จำแนก แจกแจง ให้เห็นครบทุกแง่ ทุกด้าน

..“ วิภัชชวาท คือ การแสดงความจริงหรือการสอนโดยจำแนกแยกแยะ หมายความว่า ไม่มองความจริงเพียงด้านเดียว แต่จำแนกแยกแยะมองความจริงครบทุกแง่ทุกด้าน ไม่ดิ่งไปอย่างใดอย่างหนึ่ง บุคคลผู้มีหลักการแสดงความจริงด้วยวิธีอย่างนั้น ก็เรียกว่า วิภัชชวาท หรือ วิภัชชวาที ..เป็นความโน้มเอียงของมนุษย์ที่จะมองอะไรข้างเดียว ด้านเดียว พอเจออะไรอย่างหนึ่ง ด้านหนึ่ง ก็สรุปตีความว่า นั่นคือสิ่งนั้น ความจริงคืออย่างนั้น แต่ความจริงที่แท้ของสิ่งทั้งหลายนั้นมีหลายด้าน ต้องมองให้ครบทุกแง่ทุกมุม พระพุทธศาสนานั้น มีลักษณะจำแนกแยกแยะ ดังที่เรียกว่า “วิภัชชวาท”

..คำว่า “วิภัชช” แปลว่า จำแนกแยกแยะ มีการจำแนกแยกแยะทั้งในด้านความจริง เช่น เมื่อพูดถึงชีวิตคน ท่านจะจำแนกออกไปเป็นขันธ์ ๕ โดยแยกออกไปเป็นรูปธรรมและนามธรรมก่อน แล้วแยก “นามธรรม” ออกไปอีกเป็น ๔ ขันธ์ (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) แม้แต่ ๔ ขันธ์นั้น แต่ละขันธ์ยังแยกแยะออกไปอีก อันนี้เป็นลักษณะหนึ่งของการจำแนก คือแยกแยะความจริงให้เห็นทุกแง่ทุกด้าน ไม่ตีคลุมไปอย่างเดียว คนจำนวนมากมีลักษณะตีขลุมและก็คลุมเอาอย่างเดียว ทำให้มีการผูกขาดความจริงโดยง่าย

..แม้แต่ในการตอบคำถาม ก็จะมีลักษณะของการจำแนกแยกแยะ ไม่ตีขลุมไปอย่างเดียว ยกตัวอย่างเช่น มีผู้มาทูลถามพระพุทธเจ้าว่า คฤหัสถ์คือชาวบ้านนั้น เป็นผู้ที่จะยังข้อปฏิบัติที่เป็นกุศลให้สำเร็จ แต่บรรพชิตไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ใช่หรือไม่ นี่ถ้าตอบแบบตีความข้างเดียว ที่เรียกว่า เอกังสวาท ก็ต้องตอบดิ่งไปข้างหนึ่ง โดยต้องปฏิเสธ หรือว่ารับ ถ้ายอมรับก็บอกว่าใช่แล้ว คฤหัสถ์เท่านั้นทำสำเร็จ บรรพชิตไม่สำเร็จ ถ้าปฏิเสธก็บอกว่าไม่ใช่ คฤหัสถ์ไม่สำเร็จ บรรพชิตจึงจะสำเร็จ แต่พระพุทธเจ้าไม่ตรัสอย่างนั้น พระพุทธเจ้าตรัสแบบวิภัชชวาท ทรงชี้แจงว่า พระองค์ไม่ตรัสเอียงไปข้างเดียวอย่างนั้น พระองค์ตรัสว่า คฤหัสถ์ก็ตาม บรรพชิตก็ตาม ถ้ามีสัมมาปฏิบัติแล้ว ก็ทำกุศลธรรมให้สำเร็จทั้งสิ้น แต่ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตก็ตาม เป็นคฤหัสถ์ก็ตาม ถ้าเป็นมิจฉาปฏิบัติ ปฏิบัติผิดแล้วก็ทำกุศลธรรมให้สำเร็จไม่ได้ด้วยกันทั้งสองฝ่าย ลักษณะอย่างนี้เรียกว่า วิภัชชวาท

..อีกตัวอย่างหนึ่ง มีคนมากราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า วาจาที่ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น พระองค์ตรัสไหม ถ้าเป็นเรา เราจะตอบว่าอย่างไร ถ้าเขามาถามว่า คำพูดที่คนอื่นไม่ชอบใจ ไม่เป็นที่รักของเขา ท่านพูดไหม ท่านจะตอบว่าอย่างไร จะตอบว่าพูดหรือจะตอบว่าไม่พูด ถ้าอย่างนั้นเรียกว่าดิ่งไปข้างเดียว พระพุทธเจ้าไม่ตรัสอย่างนั้น พระองค์ตรัสว่า ในข้อนี้เราไม่มีการตอบดิ่งไปข้างเดียว แล้วพระองค์ก็ตรัสแยกแยะให้ฟังว่า...:-

วาจาใดไม่จริง ไม่เป็นประโยชน์ ไม่ถูกใจผู้ฟัง พระองค์ไม่ตรัส

วาจาใดจริง ไม่เป็นประโยชน์ ไม่ถูกใจผู้ฟัง พระองค์ก็ไม่ตรัส

วาจาใดจริง เป็นประโยชน์ ไม่ถูกใจผู้ฟัง พระองค์เลือกกาลที่จะตรัส

วาจาใดไม่จริง ไม่เป็นประโยชน์ ถูกใจผู้ฟัง พระองค์ก็ไม่ตรัส

วาจาใดจริง ไม่เป็นประโยชน์ ถูกใจผู้ฟัง พระองค์ก็ไม่ตรัส

วาจาใดจริง เป็นประโยชน์ ถูกใจผู้ฟัง พระองค์เลือกกาลที่จะตรัส

..เขาถามเพียงคำถามเดียว พระองค์ตรัสแยก ๖ อย่าง ขอให้พิจารณาดู อย่างนี้เรียกว่า วิภัชชวาท นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงถึงลักษณะท่าทีของการสนองตอบ หรือปฏิกิริยาต่อสิ่งทั้งหลายแบบชาวพุทธ ซึ่งมีการมองอย่างวิเคราะห์และแยกแยะ จำแนกแจกแจง เพื่อให้เห็นความจริง ครบทุกแง่ทุกด้าน ..อีกตัวอย่างหนึ่ง คือในการแยกประเภทคฤหัสถ์ พระพุทธเจ้าตรัสกามโภคี ๑๐ ประเภท แสดงหลักการวินิจฉัยคฤหัสถ์โดยการแสวงหาทรัพย์ วินิจฉัยโดยการใช้จ่ายทรัพย์ และวินิจฉัยโดยท่าทีของจิตใจต่อทรัพย์ เป็นต้น แล้วก็แยกประเภทคฤหัสถ์ไปตามหลักการเหล่านี้

..หลักการต่างๆ ในพระพุทธศาสนาจะเป็นอย่างนี้มาก เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่า ธรรมในพระพุทธศาสนานี้มีลักษณะพิเศษที่มักจะมีเป็นข้อๆ จัดเป็นหมวดธรรมต่างๆ เช่น หมวดสอง หมวดสาม หมวดสี่ หมวดห้า หมวดหก ..พระพุทธเจ้าเป็นนักจำแนกธรรม จึงได้รับการเฉลิมพระนามอย่างหนึ่งว่า ภควา ภควานั้นแปลได้ ๒ อย่าง แปลว่า ผู้มีโชค ก็ได้ แปลว่า ผู้จำแนกแจกธรรม ก็ได้ นี้เป็นลักษณะที่เรียกว่า วิภัชชวาท คือ เป็นนักวิเคราะห์ จำแนกแจกธรรม หรือแยกแยะให้เห็นครบทุกแง่ทุกด้านของความจริง”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )

ที่มา : จากธรรมนิพนธ์ เรื่อง “แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา”, ธรรมะเพื่อทางพ้นทุกข์ โดย ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: