วันพฤหัสบดีที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2564

มงคลที่ ๙ วินโย จ สุสิกขิโต เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ - วินัยที่ศึกษาดีแล้ว เป็นอุดมมงคล

มงคลที่ ๙ มีวินัยที่ดี - วินะโย จะ สุสิกขิโต

๏ อันวินัยนำระเบียบสู่เรียบร้อย  คนใหญ่น้อยเปรมปรีดิ์ดีนักหนา  วินัยสร้างกระจ่างข้อก่อศรัทธา เพราะรักษากติกาพาร่วมมือ  ไม่พูดเท็จพูดสอดเสียดและพูดมาก  ละความยากสร้างวิบากฝากยึดถือ คนหมู่มากมักถางถากปากข่าวลือ  ต้องสัตย์ซื่อถือวินัยใช้ร่วมกัน ๛

วินัย ก็คือข้อกำหนด ข้อบังคับ กฏเกณฑ์เพื่อควบคุมให้มีความเป็นระเบียบนั่นเอง มีทั้งวินัยของสงฆ์และของคนทั่วไป สำหรับของสงฆ์นั้นมีทั้งหมด ๗ อย่างหรือเรียกว่า อนาคาริยวินัย ส่วนของบุคคลทั่วไปก็มี ๑๐ อย่าง คือการละเว้นจากอกุศลกรรม ๑๐ ประการ

อนาคาริยวินัยของพระมีดังนี้

๑. ปาฏิโมกขสังวร คือการอยู่ในศีลทั้งหมด ๒๒๗ ข้อ การผิดศีลข้อใดข้อหนึ่งก็ถือว่าต้องโทษแล้วแต่ความหนักเบา เรียงลำดับกันไปตั้งแต่ ขั้นปาราชิก สังฆาทิเสส ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ ทุพภาสิต เป็นต้น (ความหมายของแต่ละคำมันต้องอธิบายเยอะ จะไม่กล่าวในที่นี้)   ๒. อินทรียสังวร คือการสำรวมอายตนะทั้ง ๕ และกาย วาจา ใจ ให้อยู่กับร่องกับรอย โดยอย่าไปเพลิดเพลินติดกับสิ่งที่มาสัมผัสเหล่านั้น  ๓. อาชีวปาริสุทธิสังวร คือการหาเลี้ยงชีพในทางที่ชอบ นั่นก็คือการออกบิณฑบาตร ไม่ได้เรียกร้อง เรี่ยไรหรือเที่ยวขอเงินชาวบ้านมาเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของตัวเอง  ๔. ปัจจยปัจจเวกขณะ คือการพิจารณาในสิ่งของทั้งหลายถึงคุณประโยชน์โดยเนื้อแท้ของสิ่งของเหล่านั้นอย่างแท้จริง โดยใช้เพื่อบริโภค เพื่อประโยชน์ ความอยู่รอด และความเป็นไปของชีวิตเท่านั้น

วินัยสำหรับฆราวาส หรือบุคคลทั่วไป เรียกว่าอาคาริยวินัย มีดังนี้ (อกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ)  ๑. ไม่ฆ่าชีวิตคน หรือสัตว์ไม่ว่าน้อย ใหญ่  ๒. ไม่ลักทรัพย์ ยักยอกเงิน สิ่งของมาเป็นของตัว  ๓. ไม่ประพฤติผิดในกาม ผิดลูกผิดเมีย ข่มขืนกระทำชำเรา  ๔. ไม่พูดโกหก หลอกลวงให้หลงเชื่อ หรือชวนเชื่อ  ๕. ไม่พูดส่อเสียด นินทาว่าร้าย ยุยงให้คนแตกแยกกัน  ๖. ไม่พูดจาหยาบคาย ให้เป็นที่แสลงหูคนอื่น  ๗. ไม่พูดจาไร้สาระ หรือที่เรียกว่าพูดจาเพ้อเจ้อไม่มีสาระ เหตุผล หรือประโยชน์อันใด  ๘. ไม่โลภอยากได้ของเขา คือมีความคิดอยากเอาของคนอื่นมาเป็นของเรา  ๙. ไม่คิดร้าย ผูกใจเจ็บ แค้น ปองร้ายคนอื่น  ๑๐. ไม่เห็นผิดเป็นชอบ เช่น เห็นว่าพ่อแม่ไม่มีความสำคัญ บุญหรือกรรมไม่มีจริงเป็นต้น 

ที่มา : http://www.dhammathai.org 

วินโย  จ  สุสิกขิโต  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ - วินัยที่ศึกษาดีแล้ว เป็นอุดมมงคล

บัดนี้ จักได้วิสัชนาในมงคลที่ ๙ ตามพระบาลีและอรรถกถาว่า วินะโย นามะ ทุวิโธ เป็นต้น ความว่า ธรรมชาติอันใด เป็นเครื่องนำเสียซึ่งโทษทางกายและวาจา ธรรมชาตินั้นชื่อว่าวินัย ทุวิโธ วินะโย อันว่าวินัยนั้นมี ๒ ประการ คือ อาคาริยวินัย ได้แก่วินัยของฆราวาส ๑ อนาคาริยวินัย ได้แก่วินัยของบรรพชิต ๑ ฯ

บัดนี้ จะได้วิสัชนาในอนาคาริยวินัย เป็นินัยของบรรพชิต คือ นักบวชในพระพุทธศาสนา เป็นผู้ระงับรักษาไม่ให้ต้องซึ่งอาบัติขันธ์ ๗ ประการ คือ ปาราชิก ๑ สังฆาทิเสส ๑ ถุลลัจจัย ๑ ปาจิตตีย์ ๑ ปาฎิเทสนียะ ๑ ทุกกฎ ๑ ทุพพาสิต ๑ รวมเป็น ๘ ฯ  ปาราชิก ๑ สังฆาทิเทส ๑ ทั้งสอง ๒ นี้เป็นครุกาบัติ นอกนั้นอีก ๕ เป็นลหุกาบัติ อาบัติทั้ง ๒ กองนี้เรียกว่าอนาคาริยวินัย ภิกษุใดศึกษาไว้ด้วยดีซึ่งวินัยเหล่านี้ จัดเป็นมงคลอันประเสริฐ ย่อมจะนำมาซึ่งประโยชน์ในชาตินี้และชาติหน้า

ถามว่า อนาคาริยวินัยนั้นได้แก่อะไร แก้ว่า ได้แก่ศีลของภิกษุในพระพุทธศาสนา เป็นเครื่องชำระกาย วาจา ให้บริสุทธิ์ ผ่องใส ถามว่า ศีลของภิกษุมีเท่าไร แก้ว่า มี ๔ คือ ปาฎิโมกขสังวรสีล ความสำรวมรักษาในพระปาฎิโมกข์ ๑ อินทรินสังวรสีล ความสำรวมรักษาในอินทรีย์ ๑ อาชีวปาริสุทธิสีล การแสวงหาเลี้ยงชีวิตอันบริสุทธิ์ ๑ ปัจจยสันนิสสิตสีล ได้แก่ภิกษุพิจารณาปัจจัย ๔ มีบิณฑบาติเป็นต้น ๑ ในที่นี้จะแก้แต่ย่อ ๆ พอสมควรแก่กาล ถ้าจะดูให้พิสดารจงไปดูในพระวินัยเถิด ฯ

ถามว่า ภิกษุไม่รักษาศีล ๔ จะเป็นอย่างไร แก้ว่า ภิกษุไม่รักษาศีล ๔ แล้ว ก็เป็นอลัชชีย่ำยีพระศาสนา ครั้นทำกาลกิริยาก็ไปบังเกิดในอบาย ให้เป็นอันตรายแก่ทางสวรรค์นิพพาน ถามว่า อันตรายมีกี่อย่าง แก้ว่า มี ๕ อย่าง คือ กัมมันตราย ได้แก่อนันตริยกรรม ๕ มีการฆ่าบิดามารดาเป็นต้น

กิเลสันตราย ได้แก่นิยตมิจฉาทิฏฐิเห็นว่าโลกเที่ยงสัตว์เที่ยงไม่แปรปรวน ๑ เห็นว่า โลกสูญสัตว์สูญไม่มีเกิดต่อไป ๑ วิปากันตราย ได้แก่ผลแห่งอกุศลกรรมนำสัตว์ทั้งหลายไปบังเกิดในกำเนิดอันต่ำช้า มีกระเทยและบัณเฑาะก์ใบ้บ้าและนรกเป็นต้น ถามว่า บัณเฑาะก์มีกี่อย่าง แก้ว่า ๕ อย่าง คือ ปักขบัณเฑาะก์ มีความกระวนกระวายในข้างแรม ครั้นถึงข้างขึ้นก็หายกระวนกระวายไป หรือมีความกระวนกระวายในข้างขึ้น ข้างแรมก็หายไป ๑ ฯ

ที่ ๒ โอปักกมิกบัณเฑาะก์ ตอนเสียซึ่งพืชดังวัวและควาย ให้หายความกระวนกระวาย ๑ ฯ ที่ ๓ อุสสุยบัณเฑาะก์ ได้ดูดกินซึ่งน้ำกามของผู้อื่นจึงระงับความกระวนกระวาย ๑ ฯ ที่ ๔ นปุงสกบัณเฑาะก์ ไม่มีเพศหญิงเพศชาย โลกเรียกว่ากระเทย ๑ ฯ ที่ ๕ อุภโตพยัญชนกบัณเฑาะก์ มีทั้งเพศหญิงเพศชาย ๑ ทั้ง ๕ นี้เป็นอันตรายแก่มรรคผลนิพพาน ฯ อุปาวาอันตรายนั้น ได้แก่อกุศลที่ติเตียนพระอริยเจ้า ถ้ายังไม่ได้ขอขมาโทษตราบใด ก็ยังเป็นอันตรายอยู่ตราบนั้น ๑ อาณาวิติกกมันตราย ได้แก่ครุกาบัติและลหุกาบัติ ภิกษุทั้งหลายต้องแล้วไม่แสดงเสียให้พ้นโทษ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาติไว้ ๑

บัดนี้ จะว่าด้วยวิธีแสดงอาบัติขันธก์ ๗ ภิกษุต้องอาบัติปาราชิกแล้วให้แสดงตนเป็นสามเณรและคฤหัสถ์รักษาศีล ๕ ศีล ๘ เป็นทางสวรรค์ แต่มรรคผลในชาตินั้นไม่ได้ ด้วยเป็นโมฆบุรุษไม่มีมรรคผลในชาตินั้น ถ้าปกปิดไว้ไม่แสดงตนเป็นสามเณรและคฤหัสถ์แล้วให้เป็นอันตรายแก่ทางสุคติ สวรรค์และนิพพาน

ถามว่า ปาราชิกมีกี่อย่าง แก้ว่า มี ๔ อย่าง คือ ภิกษุเสพเมถุน ๑ ภิกษุลักทรัพย์ครบบาท ๑ ภิกษุฆ่ามนุษย์ให้ตาย ๑ ภิกษุอวดมรรคผล ๑ ถามว่า ปาราชิกทั้ง ๔ เกิดด้วยอะไร แก้ว่า เกิดด้วยทรงไว้ซึ่งอธิศีล คือ ประปาฎิโมกข์อาบัติสังฆทิเสส ๑๓ แสดงโทษด้วยอยู่ปริวาสกรรมเป็นต้น แต่อาบัตินอกนั้ั้น ๕ ให้แสดงโทษแก่ภิกษุผู้มีสังวาสอันเดียวกัน เมื่อแสดงอาบัตินั้นให้บอกซึ่งวัตถุ คือ ชื่อแห่งอาบัติเหล่านั้นตามมากและน้อยเถิด ฯ

บัดนี้จะว่าด้วยโทษแห่งอาบัติขันธ์ ๗ อาบัติปาราชิกโทษถึงอเวจีมหานรก อาบัติสังฆาทิเทสโทษถึงมหาตาปนรก แต่อาบัตินอกนั้นก็ตกไปนรกเป็นลำดับตามยถากรรม หนึ่ง อาบัติทั้งหลายที่ภิกษุต้องแล้วไม่แสดงเสีย ย่อมกระทำอันตรายแก่ทางสุคติมีมนุษย์เป็นต้น. 

ที่มา : http://larnbuddhism.com

มงคลที่ 1 , มงคลที่ 2 , มงคลที่ 3มงคลที่ 4 , มงคลที่ 5 , มงคลที่ 6 , มงคลที่ 7 มงคลที่ 8 , มงคลที่ 9 , มงคลที่ 10 , มงคลที่ 11 , มงคลที่ 12 , มงคลที่ 13 , มงคลที่ 14 , มงคลที่ 15 , มงคลที่ 16 , มงคลที่ 17 , มงคลที่ 18 มงคลที่ 19 , มงคลที่ 20 , มงคลที่ 21 , มงคลที่ 22 , มงคลที่ 23 , มงคลที่ 24 มงคลที่ 25 , มงคลที่ 26 , มงคลที่ 27 , มงคลที่ 28 , มงคลที่ 29 , มงคลที่ 30 , มงคลที่ 31 , มงคลที่ 32 , มงคลที่ 33 มงคลที่ 34 , มงคลที่ 35 , มงคลที่ 36มงคลที่ 37มงคลที่ 38 ฯ


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: