วันพุธที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2564

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๔๔)

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๔๔) ปัญหาที่ ๓ คิหิปัพพชิตสัมมาปฏิปัตติปัญหา (การปฏิบัติชอบแห่งผู้เป็นคฤหัสถ์ และผู้เป็นบรรพชิต) 

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า

"คิหิโน   วาหํ   ภิกฺขเว   ปพฺพชิตสฺส   วา   สมฺมาปฏิปตฺตึ   วณฺเณมิ ฯ    คิหี   วา   ภิกฺขเว   ปพฺพชิโต   วา   สมฺมาปฏิปนฺโน   สมฺมาปฏิปตฺตาธิกรณํ   อาราธโก   โหติ   เญยฺยธมฺมํ   กุสลํ."  (องฺ.ทุก. ๒๐/๘๘)

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราขอกล่าวถึงสัมมาปฏิบัติของผู้เป็นคฤหัสถ์ และของผู้เป็นบรรพชิต  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นคฤหัสถ์ก็ดี ผู้เป็นบรรพชิตก็ดี ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติชอบ ย่อมเป็นผู้ทำญายธรรมที่เป็นกุศลให้สำเร็จได้ เพราะเหตุที่ได้ก่อสัมมาปฏิบัติไว้  ดังนี้ 

พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากว่าพวกคฤหัสถ์ครองผ้าขาว บริโภคกาม คลองที่อยู่ที่แออัดด้วยบุตรและภรรยา เสวยจันทร์หอม (แป้ง – ณัฏฐ) จากแคว้นกาสี ทัดทรงพวงดอกไม้ของหอมเครื่องลูบไล้ ยินดีทองและเงิน ประดับต่างหูและ มุ่นมวยผมแปลกๆกัน ก็เป็นผู้ปฏิบัติชอบ ทำญายธรรมที่เป็นกุศลให้สำเร็จได้ แม้ผู้เป็นบรรพชิตครองผ้ากาสาวะ อาศัยก้อนข้าวของผู้อื่น ผู้ทำให้บริบูรณ์โดยชอบในกองศีล ๔ ประพฤติสมาทานสิกขาบท ๑๕๐ ประพฤติในธุดงค์คุณ ๑๓ ไม่มีเหลือก็ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติชอบ ทำญายธรรมที่เป็นกุศลให้สำเร็จได้ไซร้ พระคุณเจ้า เมื่อเป็นเช่นนั้น ในบุคคล ๒ จำพวกนั้น ผู้เป็นคฤหัสถ์ก็ดี ผู้เป็นบรรพชิตก็ดี จะมีอะไรเป็นข้อที่แตกต่างกันเล่า การบำเพ็ญตบะ (แผดเผากิเลส อกุศลธรรม – ณัฏฐ) ก็เป็นอันว่าไร้ผล การบวชก็เป็น ว่าหาประโยชน์มิได้ การรักษาสิกขาบทก็เป็นอันว่าเป็นหมัน (สูญเปล่า – ณัฏฐ) การสมาทานธุดงค์ก็เป็นอันว่าเหลวเปล่า ประโยชน์อะไรด้วยการสั่งสมแต่ความทุกข์ยากในความเป็นบรรพชิตนั้นเล่า เพราะว่ามีความสุขสบายนั่นแหละ ก็อาจบรรลุสุขได้มิใช่หรือ ?

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เราขอกล่าวถึงสัมมาปฏิบัติของผู้เป็นคฤหัสถ์ และของผู้เป็นบรรพชิต ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นคฤหัสถ์ก็ดี ผู้เป็นบรรพชิตก็ดี ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติชอบ ย่อมเป็นผู้ทำญายธรรมที่เป็นกุศลให้สำเร็จได้ เพราะเหตุที่ได้ก่อสัมมาปฏิบัติไว้ ดังนี้จริง ขอถวายพระพรข้อที่ว่านี้ เป็นอย่างที่ตรัสมานี้ บุคคลผู้ปฏิบัติชอบนั่นเทียว ชื่อว่าเป็นผู้ประเสริฐสุด ขอถวายพระพร แม้ว่าเป็นบรรพชิต แต่ถ้าคิดว่าเราบวชแล้ว แล้วไม่ปฏิบัติชอบ เมื่อเป็นเช่นนั้น เขานั้นก็จัดว่าอยู่ห่างไกลจากสมัญญา ว่าบรรพชิตนั้น อยู่ห่างไกลจากความเป็นผู้ประเสริฐ จะป่วยกล่าวไปใยถึงผู้เป็นคฤหัสถ์ครองผ้าขาวเล่า ขอถวายพระพร ทั้งคฤหัสถ์ผู้ปฏิบัติชอบ ก็เป็นผู้ทำญายธรรมที่เป็นกุศลให้สำเร็จได้ ทั้งบรรพชิตผู้ปฏิบัติชอบ ก็เป็นผู้ทำญายธรรม ที่เป็นกุศลให้สำเร็จได้

ขอถวายพระพร ก็แต่ว่า ผู้เป็นบรรพชิตเท่านั้น ย่อมเป็นอิสระ เป็นใหญ่แห่งสามัญญผล ขอถวายพระพร การบวชมีคุณมากมาย มีคุณหลายอย่าง มีคุณหาประมาณมิได้ บุคคลไม่อาจทำการนับคุณของการบวชได้.  ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า บุคคลไม่อาจใช้ทรัพย์ทำการนับค่าของแก้วมณี (ของพระเจ้าจักรพรรดิ) ที่บันดาลแต่สิ่งที่ต้องการ ว่าแก้วมณีมีค่าเท่านั้นเท่านี้ได้ ฉันใด ขอถวายพระพร การบวชมีคุณมากมาย มีคุณหลายอย่าง มีคุณหาประมาณมิได้ บุคคลไม่อาจทำการนับคุณของการบวชได้ ฉันนั้นเหมือนกัน.  ขอถวายพระพร บุคคลไม่อาจทำการนับลูกคลื่นในมหาสมุทรได้ ว่าในมหาสมุทรมีลูกคลื่นอยู่เท่านั้นเท่านี้ได้ ฉันใด ขอถวายพระพร การบวชมีคุณมากมาย มีคุณหลายอย่าง มีคุณหาประมาณไม่ได้ บุคคลไม่อาจทำการนับคุณของการบวชได้ ฉันนั้นเหมือนกัน.  

ขอถวายพระพร กิจที่ควรทำอย่างใดอย่างหนึ่ง กิจทั้งหมดนั้น ย่อมสำเร็จได้โดยพลันทีเดียว แก่ผู้เป็นบรรพชิต หาสำเร็จได้โดยพลันแก่ผู้เป็นคฤหัสถ์ไม่ เพราะเหตุใดหรือ, ขอถวายพระพร ผู้เป็นบรรพชิตเป็นผู้มักน้อย สันโดษ สงัดวิเวกไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ปรารภความเพียร ไม่มีที่อยู่ ไม่มีบ้าน มีศีลบริบูรณ์ มีความประพฤติขูดเกลากิเลส ฉลาดในข้อปฏิบัติที่เป็นองค์คุณกำจัดกิเลส เพราะเหตุนั้น กิจที่พึงทำอย่างใดอย่างหนึ่ง มีอยู่ กิจทั้งหมดนั้น ย่อมสำเร็จได้โดยพลันทีเดียว แก่ผู้เป็นบรรพชิต หาสำเร็จโดยพลันแก่ผู้เป็นคฤหัสถ์ไม่ ขอถวายพระพร มหาบพิตร เปรียบเหมือนว่า ลูกศรที่ปราศจากปม ขัดเรียบดี ตรงดีไม่มีสนิม เวลานายขมังธนูยิงไป ก็ย่อมไปได้ด้วยดี ฉันใด ขอถวายพระพร กิจที่พึงทำอย่างใดอย่างหนึ่ง มีอยู่ กิจทั้งหมดนั้น ย่อมสำเร็จได้โดยพลันทีเดียว แก่ผู้เป็นบรรพชิต หาสำเร็จโดยพลันแก่ผู้เป็นคฤหัสถ์ไม่ ฉันนั้นเหมือนกันแล.

พระเจ้ามิลินท์, ดีจริง พระคุณเจ้านาคเสน ข้าพเจ้าขอยอมรับคำตามที่ท่านกล่าวมานี้.  จบคิหิปัพพชิตสัมมาปฏิปัตติปัญหาที่ ๓

คำอธิบายปัญหาที่ ๓

ปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติชอบแห่งผู้เป็นคฤหัสถ์และผู้เป็นบรรพชิต ชื่อว่า คิหิปัพพชิตสัมมาปฏิปัตติปัญหา.  คำว่า ญายธรรมที่เป็นกุศล  ความว่า พระอริยมรรคทั้งหลาย ท่านเรียกว่า “ญายธรรม” เพราะเป็นธรรมที่ควรรู้หรือควรแทงตลอด พระอริยมรรคนี้ ชื่อว่าเป็นกุศล กล่าวคือ วิวัฏฏคามิกุศล (กุศลที่เป็นเหตุถึงวิวัฏฏะพระนิพพาน หรือ ที่เป็นไปเพื่อคลายวัฏฏะ) เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่า ญายธรรมที่เป็นกุศล.   คำว่า เพราะเหตุที่ได้ก่อสัมมาปฏิบัติไว้ ความว่า เพราะเหตุที่ได้ก่อคือได้สั่งสม ได้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งชื่อว่าสัมมาปฏิบัติ (ข้อปฏิบัติชอบ) เพราะเป็นข้อปฏิบัติชอบ ในส่วนเบื้องต้นไว้.   คำว่า ในกองศีล ๔ คือในหมวดศีล ๔ อย่างที่เรียกว่า “จตุปาริสุทธิศีล” ศีลบริสุทธิ์ ๔ อย่างมีปฏิโมกข์สังวรศีลเป็นต้น.  คำว่า ประพฤติสมาทานสิกขาบท ๑๕๐ คือประพฤติด้วยอำนาจความตั้งใจจะถือเอาไว้ด้วยดี ซึ่งสิกขาบทบัญญัติ ๑๕๐ ข้อ อันมาแล้วในปาฏิโมกขอุเทส.  คำว่า ประพฤติในธุดงค์คุณ ๑๓ คือประพฤติปฏิบัติในคุณคือธุดงค์ ๑๓ อย่าง มีปังสุกุลิกังคะ – องค์แห่งภิกษุผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นปกติเป็นต้น บัณฑิตพึงทราบความเกี่ยวกับธุดงค์ในธุกตังคปัญหาข้างหน้าเถิด.   

คำว่า เพราะว่ามีความสุขสบายนั่นแหละ ก็อาจบรรลุสุขได้มิใช่หรือ ความว่า เพราะมีความสุขสบายด้วยกามสุขในเพศฆราวาสนั่นแหละ ก็อาจบรรลุพระนิพพานอันเป็นสันติสุข โดยการที่สามารถสำเร็จญายธรรม นั้นได้ไม่ใช่หรือ อธิบายว่า ประโยชน์อะไรด้วยการบวชที่มีแต่ความทุกข์ยากด้วยข้อวัตรปฏิบัติที่เหลวเปล่าเหล่านั้นเล่า.   คำว่า ย่อมเป็นอิสระ เป็นใหญ่แห่งสามัญญผล คือย่อมเป็นผู้มีอำนาจ มีความเป็นใหญ่แห่งการปฏิบัติเพื่อการบรรลุสามัญญผล (ผลแห่งความเป็นสมณะ) ๔ ประการ มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.  ชื่อว่า กิจที่พึงทำ ได้แก่กิจมีการสมาทานศีลเป็นต้น หรือกิจที่พึงทำในอริยสัจ ๔ มีการกำหนดรู้ทุกข์เป็นต้น ซึ่งเป็นกิจที่เมื่อทำได้บริบูรณ์แล้ว ก็เป็นเหตุให้สำเร็จญายธรรมที่เป็นกุศล.  คำว่า ย่อมสำเร็จได้โดยพลัน คือย่อมสำเร็จได้โดยง่ายดาย.   จบคำอธิบายปัญหาที่ ๓

ปัญหาที่ ๔ ปฏิปทาโทสปัญหา (โทษของปฏิปทา – ณัฏฐ)

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ตั้งแต่พระโพธิสัตว์ ได้บำเพ็ญทุกกริยาแล้ว การปรารภความเพียร การทำความเพียรก้าวออกไป จากความเกียจคร้าน การรบกับกิเลส การกำจัดพลมาร การกำหนดอาหาร การบำเพ็ญทุกกริยาที่เป็นเช่นนี้ ก็ไม่ได้มีในคราวอื่นอีก เมื่อทรงมีความบากบั่นเห็นป่านฉะนี้ ก็มีทรงได้รับคุณวิเศษอะไรๆ จึงทรงล้มเลิกพระทัย ตรัสอย่างนี้ว่า เราไม่บรรลุอุตตริมนุสสธรรมซึ่งเป็นความรู้ความเห็นพิเศษของพระอริยเจ้า ด้วยการบำเพ็ญทุกกริยาที่เผ็ดร้อนนี้ได้ ทางไปสู่การตรัสรู้ทางอื่นพึงมีหรือหนอ ดังนี้ ทรงเบื่อหน่ายคลายจากทางนั้นแล้ว ก็ทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณโดยทางอื่น แต่กลับทรงอนุศาสน์ชักชวนสาวกทั้งหลายด้วยปฏิปทานั้นอีกว่า

"อารพฺภถ  นิกฺขมถ  ยุญฺชถ  พุทฺธสาสเน    ธุนาถ  มจฺจุโน  เสนํ  นฬาคารํว   กุญฺชโร"   (สํ.สคาถ. ๑๕/๒๑๖)

พวกเธอจงปรารภความเพียร  จงเพียรก้าวออกไป  ประกอบในพระพุทธศาสนา  จงกำจัดกองทัพแห่งพญามัจจุเสีย ดุจช้างทำร้ายเรือนไม้อ้อฉะนั้น เถิด ดังนี้ 

พระคุณเจ้านาคเสน เพราะเหตุไร พระตถาคตพระองค์เองทรงเบื่อหน่าย ไม่ทรงยินดี ปฏิปทาใด แต่กลับทรงอนุศาสน์ชักชวนสาวกทั้งหลายด้วยปฏิปทานั้นเล่า

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร ปฏิปทาทั้งในคราวนั้น ทั้งในคราวนี้นั้น ก็เป็นอันเดียวกันนั่นแหละ พระโพธิสัตว์ทรงได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณเพราะได้ปฏิบัติปฏิปทานั้นนั่นแหละ ขอถวายพระพร ก็แต่ว่าพระโพธิสัตว์ทรงกระทำความเพียรเกินไป ทรงห้ามขาดอาหารโดยสิ้นเชิงจึงเกิดพระทัยอ่อนกำลังไป เพราะมีพระทัยอ่อนกำลังไป จึงไม่ทรงสามารถบรรลุพระสัพพัญญุตญาณได้ พระโพธิสัตว์นั้นเมื่อ ทรงหวนกลับมาเสวยพระกพฬิงการาหาร อย่างเพียงพอก็ได้ทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณต่อกาลไม่นานเลย ด้วยปฏิปทานั้นนั่นแหละ ขอถวายพระพร พระตถาคตเจ้าทุกพระองค์ ล้วนทรงมีปฏิปทาเพื่อบรรลุพระสัพพัญญุตญาณเป็นอย่างเดียวกันนั้นนั่นเทียว

ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงล้วนมีอาหารเป็นสิ่งอุปถัมภ์ค้ำจุน สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ผู้อิงอาศัยอาหารย่อมเสวยสุข ฉันใด ขอถวายพระพร พระตถาคตเจ้าทุกพระองค์ ล้วนทรงมีปฏิปทาเพื่อการบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ เป็นอย่างเดียวกันนั้นนั่นเทียว ฉันนั้นเหมือนกัน ขอถวายพระพร เหตุที่ทำให้พระตถาคตไม่ทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณในสมัยนั้นได้นี้ ไม่ใช่โทษของการปรารภความเพียร ไม่ใช่โทษของการทำความเพียรก้าวออกไป ไม่ใช่โทษของการรบกับกิเลส ทว่า นี้เป็นโทษของการห้ามขาดอาหาร ปฏิปทานี้ เป็นอันต้องมีประจำตลอดกาลทุกเมื่อเทียว

ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า บุรุษคนหนึ่งเดินทางไกล วิ่งไปด้วยความเร็วยิ่ง เพราะเหตุนั้น เขาจึงบาดเจ็บบ้าง ง่อยเปลี้ยเพลียไปบ้าง สัญจรไปบนพื้นแผ่นดินไม่ได้อีก ขอถวายพระพร โทษของแผ่นดินใหญ่ที่เป็นเหตุให้บุรุษผู้นั้นเป็นคนบาดเจ็บมีอยู่หรือ ?

พระเจ้ามิลินท์, ไม่มีหรอก พระคุณเจ้า แผ่นดินใหญ่มีเป็นประจำตลอดกาลทุกเมื่อพระคุณเจ้า แผ่นดินใหญ่นั้นจะมีโทษได้แต่ไหนเล่า เหตุที่ทำให้บุรุษผู้นั้นเป็นคนบาดเจ็บไปนี้คือโทษของความพยายามนั่นเอง

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน เหตุที่ทำให้พระตถาคตไม่ทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณในสมัยนั้นได้นี้ ไม่ใช่โทษของการปรารภความเพียร ไม่ใช่โทษของการทำความเพียรก้าวออกไป ไม่ใช่โทษของการรบกับกิเลส ทว่า นี้เป็นโทษของการห้ามขาดอาหารแล ปฏิปทานี้ เป็นอันต้องมีประจำตลอดกาลทุกเมื่อเทียว

ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนว่า บุรุษคนหนึ่ง นุ่งผ้าสาฎกเศร้าหมอง เขาไม่ใช้น้ำซักผ้าผืนนั้นให้สะอาด ข้อที่เขาไม่ใช้น้ำซักผ้าผืนนั้นให้สะอาดนี้ ไม่ใช่โทษของน้ำ น้ำมีประจำอยู่ตลอดกาลทุกเมื่อ ข้อนี้เป็นโทษของบุรุษผู้นั้นเองเทียว ฉันใด ขอถวายพระพร เหตุที่ทำให้พระตถาคตไม่บรรลุพระสัพพัญญุตญาณในสมัยนั้นได้นี้ ไม่ใช่โทษของการปรารภความเพียร ไม่ใช่โทษของการทำความเพียรก้าวออกไป ไม่ใช่โทษของการรบกับกิเลส ทว่า นี้เป็นโทษของการห้ามขาดอาหารแล ปฏิปทานี้ เป็นอันต้องมีประจำตลอดกาลทุกเมื่อ ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น พระตถาคตจึงทรงอนุศาสน์สาวกทั้งหลายด้วยปฏิปทานั้นเหมือนกัน ขอถวายพระพร ปฏิปทานั้นหาโทษมิได้ เป็นอันต้องมีประจำตลอดกาลทุกเมื่อ อย่างนี้แล

พระเจ้ามิลินท์, ดีจริง พระคุณเจ้านาคเสน ข้าพเจ้าขอยอมรับคำตามที่ท่านกล่าวมานี้.  จบปฏิปทาโทสปัญหาที่ ๔

คำอธิบายปัญหาที่ ๔

ปัญหาเกี่ยวกับโทษแห่งปฏิปทา ชื่อว่า ปฏิปทาโทสปัญหา.  คำว่า พวกเธอจงปรารภความเพียร นี้ เป็นอันตรัสถึงความเพียรเริ่มแรก ที่เรียกว่า “อารัมภธาตุ”.   ส่วนคำว่า จงเพียรก้าวออกไป เป็นอันตรัสถึงความเพียรที่ก้าวออกไปจากความเกียจคร้าน ครอบงำความเกียจคร้านได้แล้ว ที่เรียกว่า “นิกกมธาตุ”.   คำว่า ประกอบในพระพุทธศาสนา ความว่า เพราะเหตุที่ความเพียรทั้งสองอย่างย่อมเป็นไป ย่อมสำเร็จประโยชน์ก็โดยเกี่ยวกับเป็นผู้ประกอบในพระพุทธศาสนา คือเจริญสมถะและวิปัสสนา เพราะฉะนั้น ก็จงประกอบชอบในพระศาสนาของพระผู้มีพระภาค คือเจริญสมถะและวิปัสสนาให้ก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป อันเป็นกิจที่จำต้องอาศัยความเพียรนั้น ด้วยอำนาจความเป็นผู้ตื่นอยู่เสมอ ไม่มักมากในการนอนหลับ.คำว่า กองทัพแห่งพญามัจจุ ความว่า กองทัพคือกิเลส ชื่อว่ากองทัพแห่งพญามัจจุ คือความตาย.  

คำว่า ดุจช้างทำร้ายเรือนไม้อ้อ ความว่า ช้างเป็นสัตว์ใหญ่โตแข็งแรง ย่อมทำลายเรือนไม้อ้อซึ่งเป็นเรือนที่อ่อนแอไม่แข็งแรงได้โดยพลัน ฉันใด พระโยคาวจรก็จงใช้พลานุภาพที่ยิ่งใหญ่ของความเพียร กำจัด ขยี้กองทัพแห่งพญามัจจุเสียโดยพลัน ฉันนั้นเหมือนกัน.  คำว่า ไม่ทรงยินดีปฏิปทาใด คือไม่ทรงยินดีปฏิปทาคือความเพียรที่เคร่งครัดเห็นปานนั้น ใด.  คำว่า ปฏิปทาทั้งในคราวนั้น ทั้งในคราวนี้นั้น ก็เป็นอันเดียวกันนั่นแหละ ความว่าปฏิปทาคือความเพียร ทั้งในคราวที่ยังเป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญทุกกริยานั้น ทั้งในคราวที่ทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้วทรงแนะนำสาวกทั้งหลายนี้นั้น ก็เป็นอันเดียวกันนั่นแหละ คือเป็นความเพียร ๒ อย่าง (อารัมภธาตุ และ นิกกมธาตุ) ด้วยกันนั่นแหละ. คำว่า ปฏิปทานี้ เป็นอันต้องมีประจำตลอดกาลทุกเมื่อเดียว คือปฏิปทาอันได้แก่ความเพียร ๒ อย่างนี้ เป็นอันต้องมีประจำตลอดกาล แห่งบุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อพ้นจากภัยในวัฏฏะ.

ในอุปมาที่ ๒ คำว่า โทษของความพยายาม ได้แก่โทษคือการวิ่งเร็วเกินไปนั่นเอง.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๔.  จบมิลินทปัญหา (ตอนที่ ๔๔)

ขอให้ การอ่าน การศึกษา ของทุกท่านตามกุศลเจตนา ได้เป็นพลวปัจจัย เพิ่มพูลกำลังสติ กำลังปัญญา ให้สามารถนำตนให้พ้นจากวัฏฏทุกข์ด้วยเทอญ

ณัฏฐ สุนทรสีมะ

ที่มา : http://dhamma.serichon.us/

มิลินทปัญหา (ตอนที่ 50) ,  (ตอนที่ 49) ,  (ตอนที่ 48) ,  (ตอนที่ 47) ,  (ตอนที่ 46) ,  (ตอนที่ 45) ,  (ตอนที่ 44) ,  (ตอนที่ 43) ,  (ตอนที่ 42) ,  (ตอนที่ 41) ,  (ตอนที่ 40) ,  (ตอนที่ 39) ,  (ตอนที่ 38) ,  (ตอนที่ 37) ,  (ตอนที่ 36) ,  (ตอนที่ 35) ,  (ตอนที่ 34) ,  (ตอนที่ 33) ,  (ตอนที่ 32) ,  (ตอนที่ 31) ,  (ตอนที่ 30) ,  (ตอนที่ 29) ,  (ตอนที่ 28) ,  (ตอนที่ 27) ,  (ตอนที่ 26) ,  (ตอนที่ 25) ,  (ตอนที่ 24) ,  (ตอนที่ 23) ,  (ตอนที่ 22) ,  (ตอนที่ 21 ต่อ) ,  (ตอนที่ 21) ,  (ตอนที่ 20) ,  (ตอนที่ 19) ,  (ตอนที่ 18) ,  (ตอนที่ 17) ,  (ตอนที่ 16) ,  (ตอนที่ 15) ,  (ตอนที่ 14) ,  (ตอนที่ 13) ,  (ตอนที่ 12) ,   (ตอนที่ 11) ,  (ตอนที่ 10) ,  (ตอนที่ 9) ,  (ตอนที่ 8) ,  (ตอนที่ 7) ,  (ตอนที่ 6) ,  (ตอนที่ 5) ,  (ตอนที่ 4) ,  (ตอนที่ 3) ,  (ตอนที่ 2) ,  (ตอนที่ 1) ,  ประโยชน์​การอุปมา​อันได้จากการศึกษา​คัมร์ในทางพุทธศาสนา มีคัมภีร์​มิลินท์​ปัญหาเป็นต้น​ ,   มิลินทปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับการไม่เคลื่อนไปก็ปฏิสนธิได้  ,  เหตุไร ตรัสให้คฤหัสถ์โสดาบันกราบไหว้ ลุกรับภิกษุสามเณรปุถุชนเล่า?  ,  นิปปปัญจปัญหา ​- ปัญหา​เกี่ยวกับ​ธรรม​ที่ปราศจาก​เหตุ​ให้เนิ่น​ช้าในวัฏฏทุกข์  ,   ถามว่า​ อานิสงส์​การเจริญเมตตา​ ห้ามอันตราย​ต่างๆ​ เหตุไรสุวรรณ​สามผู้เจริญเมตตา​จึงถูกยิงเล่า?



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: