วันพุธที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2564

สูกรชาตกํ - ว่าด้วยหมูท้าราชสีห์

สูกรชาตกํ - ว่าด้วยหมูท้าราชสีห์

"จตุปฺปโท  อหํ  สมฺม,   ตฺวมฺปิ  สมฺม  จตุปฺปโท;   เอหิ  สมฺม  นิวตฺตสฺสุ,   กึ  นุ  ภีโต  ปลายสิ ฯ   ดูกรสหาย เราก็มี ๔ เท้า, แม้ท่านก็มี ๔ เท้า, จงกลับมาสู้กันก่อนเถิดสหาย, ท่านกลัวหรือ จึงหนีไป?"

"อสุจิ  ปูติโลโมสิ,   ทุคฺคนฺโธ  วาสิ  สูกร;   สเจ  ยุชฺฌิตุกาโมสิ,  ชยํ  สมฺม  ททามิ  เตติ ฯ   ดูกรหมู ท่านเป็นสัตว์สกปรก มีขนเหม็นเน่า มีกลิ่นเหม็นฟุ้งไป ดูกรสหาย ถ้าท่านประสงค์จะสู้รบกับเรา เราก็จะให้ชัยชนะแก่ท่าน."

อรรถกถาสูกรชาดกที่ ๓

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันทรงปรารภพระเถระแก่รูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้มีคำเริ่มต้นว่า  จตุตปฺปโห  อหํ  สมฺม  ดังนี้

ในวันหนึ่ง เมื่อการฟังธรรมยังเป็นไปอยู่ในตอนกลางคืนเมื่อพระศาสดาประทับยืน ณ แผ่นหินแก้วมณี ใกล้ประตูพระคันธกุฏี ประทานสุคโตวาทแก่หมู่ภิกษุแล้วเสด็จเข้าพระคันธกุฏีพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรถวายบังคมพระศาสดาแล้วได้ไปยัง บริเวณของตน. พระมหาโมคคัลลานะก็ไปยังบริเวณของตนเหมือนกัน พักอยู่ครู่หนึ่งจึงมาหาพระเถระแล้วถามปัญหา.

พระธรรมเสนาบดีได้แก้ปัญหาที่พระมหาโมคคัลลานะถามแล้ว ๆได้ทำให้ชัดเจนดุจทำพระจันทร์ให้ปรากฏบนท้องฟ้า. แม้บริษัทสี่ก็นั่งฟังธรรมอยู่.  

ณ ที่นั้นพระเถระแก่รูปหนึ่งคิดว่า „หากเราจะเย้าพระสารีบุตร ถามปัญหาในท่ามกลางบริษัทนี้. บริษัทนี้รู้ว่า ภิกษุนี้เป็นพหูสูต ก็จักกระทำสักการะและยกย่อง“ จึงลุกขึ้นจากระหว่างบริษัทเข้าไปหาพระเถระยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่งแล้วกล่าวว่า „ดูก่อนอาวุโสสาริบุตร ข้าพเจ้าจักถามปัญหาข้อหนึ่งกะท่านขอจงให้โอกาสแก่เราบ้าง ขอท่านจงให้การวินิจฉัยแก่ข้าพเจ้า โดยอ้อมก็ตาม โดยตรงก็ตาม ในการติเตียนก็ตาม ในการยกย่องก็ตาม ในการวิเศษก็ตาม ในการไม่วิเศษก็ตาม.“

พระเถระแลดูพระแก่นั้นแล้วคิดว่า หลวงตานี่ตั้งอยู่ในความริษยา โง่ ไม่รู้อะไรเลย จึงไม่พูดกับพระแก่นั้นละอายใจวางพัดวีชนี ลงจากอาสนะเข้าไปยังบริเวณ. แม้พระมหาโมคคัลลานเถระก็ได้เข้าไปยังบริเวณของตนเหมือนกัน. พวกมนุษย์พากันลุกขึ้นประกาศว่า พวกท่านจงจับพระแก่ใจร้ายนี้ ไม่ให้พวกเราได้ฟังธรรมอันไพเราะแล้วก็พากันติดตามไป พระเถระนั้นหนีไปตกในวัจจกุฏีเต็มด้วยคูถซึ่งมีไม้เลียงหักพังท้ายวิหาร ลุกขึ้นมาทั้งที่เปื้อนคูถ. พวกมนุษย์เห็นดังนั้นพากันรังเกียจได้ไปเฝ้าพระศาสดา.

พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นมนุษย์เหล่านั้นจึงตรัสถามว่า อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย พวกท่านมาทำไมนอกเวลา. พวกมนุษย์พากันกราบทูลเนื้อความให้ทรงทราบ.  พระศาสดาตรัสว่า „อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ภิกษุแก่นี้ผยอง ไม่รู้กำลังของตน ทำทัดเทียมกับผู้มีกำลังมากแล้วก็เปื้อนคูถ มิใช่ในบัดนี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อนภิกษุแก่นี้ก็เคยผยองไม่รู้กำลังของตนทำทัดเทียมกับผู้มีกำลังมากแล้วก็เปื้อนคูถ“ เมื่ออุบาสกอุบาสิกาทูลอาราธนา จึงทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่า :-

ครั้งอดีต เมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี   พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นราชสีห์ อาศัยอยู่ในถ้ำภูเขาใกล้หิมวันตประเทศ. ในที่ไม่ไกลภูเขานั้นมีสุกรเป็นอันมากอาศัยสระแห่งหนึ่งอยู่. พระดาบสทั้งหลายก็อาศัยสระนั้นอยู่บนบรรณศาลา อยู่มาวันหนึ่งราชสีห์ฆ่าสัตว์มีกระบือและช้างเป็นต้น ตัวใดตัวหนึ่ง เคี้ยวกินเนื้อจนเพียงพอแล้ว ลงไปยังสระนั้นดื่มน้ำขึ้นมา.

ขณะนั้นสุกรอ้วนตัวหนึ่งเที่ยวหาอาหารอยู่แถวสระนั้น. ราชสีห์เห็นสุกรอ้วนตัวนั้น จึงคิดว่า „สักวันหนึ่งเราจักกินเจ้าสุกรตัวนี้ แต่มันเห็นเราเข้าจะไม่มาอีก“ เพราะกลัวมันจะไม่กลับมา จึงขึ้นจากสระหลบไปเสียข้างหนึ่ง. สุกรมองดูราชสีห์คิดว่า „ราชสีห์นี้พอเห็นเราเข้าก็ไม่อาจจะเข้าใกล้เพราะกลัวเรา จึงหนีไปเพราะความกลัว.“  วันนี้เราควรจะต้องต่อสู้กับราชสีห์ นี้แล้วชูหัวร้องเรียกราชสีห์ให้มาต่อสู้กัน กล่าวคาถาแรกว่า :-

„ดูก่อนสหาย เราก็มี ๔ เท้า แม้ท่านก็มี ๔ เท้าจงกลับมาสู้กันก่อนเถิดสหายท่านกลัว หรือจึงหนีไป.“

ราชสีห์ได้ฟังคำท้าของสุกรนั้นจึงกล่าวว่า „ดูก่อนสหายสุกร วันนี้เราไม่สู้กับท่านแต่จากนี้ไป ๗ วัน จงมาสู้กันในที่นี้แหละ“ แล้วก็หลีกไป. สุกรรื่นเริงเบิกบานใจว่า „เราจักได้สู้กับราชสีห์“ จึงเล่าเรื่องนั้นให้พวกญาติฟัง.  พวกญาติสุกรฟังแล้วพากันตกใจกลัวพูดขึ้นว่า „เจ้าจะพาพวกเราทั้งหมดให้ถึงความฉิบหายกันคราวนี้แหละ เจ้าไม่รู้จักกำลังของตัวจะหวังสู้กับราชสีห์ ราชสีห์จักมาทำให้เราทั้งหมดถึงแก่ความตาย เจ้าอย่าทำกรรมอุกอาจนักเลย.“

สุกรสะดุ้งตกใจกลัวถามว่า „คราวนี้เราจะทำอย่างไรดีเล่า?“ พวกสุกรต่างพากันพูดว่า „นี่แน่ะสหาย เจ้าจงไปในที่ถ่ายอุจจาระของพวกดาบสเหล่านี้แล้วเกลือกตัวเข้าที่คูถเหม็น รอให้ตัวแห้งสัก ๗ วัน ถึงวันที่ ๗ จงเกลือกตัวให้ชุ่มด้วยน้ำค้างแล้วมาก่อนราชสีห์มา จงสังเกตทางลมแล้วยืนเหนือลม ราชสีห์เป็นสัตว์สะอาดได้กลิ่นตัวเพื่อนแล้ว จักให้เพื่อนชนะแล้วกลับไป.“

สุกรอ้วนได้ทำตามนั้น ในที่วันที่ ๗ได้ไปยืนอยู่ ณ ที่นั้น. ราชสีห์ได้กลิ่นตัวมันเข้าก็รู้ว่า ตัวเปื้อนคูถจึงกล่าวว่า „ดูก่อนเพื่อนสุกรท่านคิดชั้นเชิงดีมาก หากท่านไม่ เปื้อนคูถ เราจักฆ่าท่านเสียตรงนี้แหละ แต่บัดนี้ เราไม่อาจกัด ตัวท่านด้วยปาก เหยียบตัวท่านด้วยเท้าได้ เราให้ท่านชนะ“ แล้วจึงกล่าวคาถาที่สอง ว่า :-

„ดูก่อนสุกร เจ้าเป็นสัตว์สกปรก มีขน เหม็นเน่า มีกลิ่นเหม็นฟุ้งไป ดูก่อนสหายหากท่านประสงค์จะสู้กับเรา เราก็จะให้ชัยชนะแก่ท่าน.“

ในบทเหล่านั้น บทว่า  ปูติโลโมสิ  ได้แก่ ขนมีกลิ่นเหม็นเน่าเพราะเปื้อนขี้.  บทว่า  ทุคฺคนฺโธ  วายสิ  ได้แก่ มีกลิ่นปฏิกูลน่าเกลียดยิ่งนัก ฟุ้งไป.  บทว่า  ชยํ  สมฺม  ททามิ  เต  ได้แก่ เราให้ท่านชนะ.

ราชสีห์ครั้นกล่าวว่า „เราแพ้แล้ว เจ้าไปเสียเถิด“ ดังนี้แล้ว ก็กลับจากที่นั้นเที่ยวแสวงหาอาหาร ดื่มน้ำในสระ เสร็จแล้วก็กลับเข้าถ้ำภูเขาตามเดิม.

แม้สุกรก็บอกแก่พวกญาติว่า „เราชนะราชสีห์แล้ว.“ พวกสุกรเหล่านั้นพากันตกใจกลัวว่า „ราชสีห์จะกลับมาสักวันหนึ่งอีก จักฆ่าพวกเราตายหมด“ จึงพากันหนีไปอยู่ที่อื่น.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วจึงทรงประชุมชาดก. สุกรในครั้งนั้นได้เป็นภิกษุแก่ในครั้งนี้ ส่วนราชสีห์ได้เป็นเราตถาคตนี้แล.  จบอรรถกถาสูกรชาดกที่ ๓

ที่มา : Palipage: Guide to Language - Pali



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: