วันพุธที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2564

วิธีทำบุญ (๑)

สมัยยังรับราชการอยู่ในกองทัพเรือ ผมเขียนบทความไว้เรื่องหนึ่ง ชื่อ “วิธีทำบุญ” เป็นบทความสำหรับบรรยายในรายการ “ธรรมธารา” ซึ่งสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ ขอให้กองอนุศาสนาจารย์ของทั้ง ๓ เหล่าทัพหมุนเวียนกันไปบรรยาย 

รายการ “ธรรมธารา” นี้ มีเป็นประจำทุกวันอาทิตย์ ออกอากาศเวลา ๐๙:๐๐ น. ผมไม่ได้ฟังวิทยุมานานแล้ว ไม่ทราบว่ารายการนี้ยังมีอยู่หรือเปล่า เดาเอาว่าคงยกเลิกไปแล้วเพื่อความเหมาะสมตามยุคสมัย

คราวหนึ่ง เมื่อถึงวาระที่กองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ จะต้องไปออกอากาศ ผู้บังคับบัญชาสั่งการให้ผมเป็นผู้ไปบรรยายออกอากาศ ผมจึงเขียนเรื่องนี้ขึ้น และได้บรรยายไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๒

ผมเก็บต้นฉบับไว้ เอามาอ่านดู เห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ ก็เลยคิดถึงญาติมิตรทางเฟซบุ๊ก จึงขออนุญาตนำมาเสนอไว้ในที่นี้ แต่จะแบ่งเป็นตอนสั้นๆ อ่านไม่ทันเบื่อก็จบตอนหนึ่ง ท่านที่สนใจคงตามอ่านได้ไม่ยาก ไม่กี่ตอนก็จบครับ

สวัสดีครับ ท่านผู้ฟังที่เคารพ

เมื่อปลายปี ๒๕๔๑ มีข่าวกระทบความรู้สึกของชาวพุทธในเมืองไทยอยู่เรื่องหนึ่ง ข่าวนั้นนำไปสู่คำถามว่า ทำบุญด้วยทรัพย์สินเงินทองมาก ๆ ย่อมได้บุญมาก จริงหรือ และวิธีทำบุญนั้นต้องบริจาคเงินจำนวนมาก ๆ เท่านั้นหรือจึงจะเป็นบุญ ไม่มีวิธีทำบุญแบบอื่นอีกหรือ? 

รายการธรรมธาราวันนี้จึงจะขอถือโอกาสตอบคำถามดังกล่าวนี้เท่าที่เวลาจะอำนวย

คำถามที่ว่า ทำบุญด้วยทรัพย์สินเงินทองมาก ๆ ย่อมได้บุญมาก จริงหรือ ข้อนี้ต้องเข้าใจให้ถูกต้องเสียก่อนว่า คำว่าบุญในคำที่ว่า “ได้บุญ” นี้ หมายถึงประโยชน์และความสุข หมายความว่า ผู้ทำก็ได้ความสุข ผู้รับก็ได้ประโยชน์ ถ้าผู้รับประโยชน์จากบุญนั้นมีมาก ก็เป็นบุญมาก ถ้าได้ประโยชน์น้อยคน บุญก็น้อย 

ตัวอย่างเช่น ถวายรถยนต์ให้พระภิกษุ ก ไว้ใช้ส่วนตัว ก็ได้ประโยชน์น้อยหน่อย แต่ถ้าถวายรถยนต์ให้วัดไว้ใช้รับส่งพระภิกษุสามเณรทั้งวัด ก็ได้ประโยชน์มาก ย่อมจะได้บุญมาก หรือสร้างพระพุทธรูปถวายวัดที่มีพระพุทธรูปบริบูรณ์อยู่แล้ว ก็ได้ประโยชน์น้อย ถ้าสร้างถวายวัดที่ยังขาดพระพุทธรูปอยู่ ก็ได้ประโยชน์มาก นี่มองในแง่เป็นประโยชน์ 

ส่วนในแง่ความสุขของผู้ทำหรือผู้ให้นั้น ท่านว่าจะได้บุญมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเจตนา หรือความตั้งใจ เต็มใจ ซึ่งมีอยู่ ๓ ระยะ คือ 

ก่อนทำ เรียกว่า บุพเจตนา   ขณะทำ เรียกว่า มุญจนเจตนา  และ หลังทำ เรียกว่า อปรเจตนา

ถ้าเจตนาทั้ง ๓ ระยะนี้มีอยู่เต็มที่เต็มเปี่ยม ผ่องใสตลอดเวลา แม้ไทยธรรมคือทรัพย์สิ่งของที่บริจาคจะมีจำนวนเล็กน้อย แต่ก็ย่อมได้อานิสงส์มาก ตรงกันข้าม แม้บริจาคมาก แต่ถ้าเจตนาทั้ง ๓ ระยะไม่ผ่องใส บุญทานนั้นก็ไม่มีผลมาก นี่เป็นคำตอบเรื่องได้บุญมากหรือได้บุญน้อย 

อนึ่ง ขอย้ำว่า ที่ว่า “ได้บุญ” นั้นคือผู้ให้หรือผู้ทำบุญได้ความสุข ผู้รับได้ประโยชน์ นี่คือได้บุญ มิใช่หมายถึงว่า ทำบุญแล้วถูกหวย ทำบุญแล้วคลาดแคล้วจากอุบัติเหตุ ทำบุญแล้วหายจากโรคภัยไข้เจ็บ ผลดังกล่าวนี้ไม่จำเป็นต้องเกิดจากการทำบุญให้ทานโดยตรง แต่เป็นเหตุโดยอ้อม หรือเป็นเพียงผลพลอยได้ ซึ่งอาจจะเกิดหรือไม่เกิดก็ได้

ที่ต้องย้ำเพราะมักจะมีคนทำบุญจำพวกหนึ่งคร่ำครวญเสมอว่า ทำบุญตั้งมากมายทำไมไม่ถูกหวยสักที ทำบุญแล้วไม่เห็นรวยสักที ทำบุญแล้วทำไมยังประสบความเดือดร้อนอยู่อีก ซึ่งการคร่ำครวญเช่นนี้เกิดจากความไม่เข้าใจเรื่องผลบุญ หรือเรียกร้องเอาผลบุญแบบไม่สมเหตุสมผลนั่นเอง

(ยังไม่จบ)

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย,  ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๔,  ๑๖:๓๕

วิธีทำบุญ (๑),  วิธีทำบุญ (๒),   วิธีทำบุญ (๓),  วิธีทำบุญ (๔),  วิธีทำบุญ (๕)-จบ






Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: