วันพุธที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2564

ที่พึ่งอันประเสริฐสุด

ที่พึ่งอันประเสริฐสุด

วันนี้เป็นเวลาฟังธรรม เพื่อจะได้ทำให้ใจสงบอีก จะอย่างไรก็ตาม ถึงใครจะไม่มาทำความสงบ แต่วัดป่าพงก็ทำเช่นนี้เรื่อยๆไป ถึงแม้เป็นฤดูร้อน ฝน หนาว หรือฤดูอะไรก็ตาม ซึ่งมีพระผู้มีพระภาคเรียกว่าการอบรมบ่มนิสัยการประกาศวัตรปฏิบัติเป็นอกาลิโกไม่มีกาลไม่มีเวลา

การกระทำคุณงามความดีนั้นพวกเราควรมีประโยคพยายามทำไปเรื่อยๆ เพราะว่าชีวิตและวันคืน เราท่านทั้งหลายไม่คงที่ยืนอยู่ มันมีอาการไม่แน่นอน ผลัดไป หมุนไปเปลี่ยนไปเรื่อยๆตลอดเวลา ไม่รู้ว่าใครจะมีความสุข ความทุกข์อะไรก็ตามที กาลเวลานั้นก็เดินไปตามกระแสเวลาเรื่อยๆไป ไม่มีหยุด

ชีวิตมนุษย์ก็เหมือนกันฉันนั้น ใครจะสุข จะทุกข์ จะหนุ่ม จะน้อย ใครจะเจ็บ จะสบาย หรือจะไข้หรือไม่สบาย ก็ตามที อาการของกาลเวลานี้ย่อมหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปอยู่อย่างนี้ ถึงแม้พวกเราทั้งหลายยังไม่เกิดมา อาการของโลกก็หมุนเวียนเปลี่ยนไปอยู่อย่างนี้ ถึงแม้เราทั้งหลายมาประสบพบเห็น อาการของโลกก็หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงเป็นอยู่อย่างนี้ ไม่มีการหยุดยั้ง อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา โลกเป็นอยู่อย่างนี้

ฉะนั้น พวกเราชาวพุทธทั้งหลายนั้นได้ปฏิญาณตน มีพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆเจ้า เป็นสรณะที่พึ่งของเราทุกๆคนนั้น อันนี้ให้เราระลึกดูว่ามันจริงหรือเปล่า มันถูกแล้วหรือยัง ถ้าหากว่าเป็นพุทธบริษัทอย่างแท้จริงขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา แล้วนั้นจะไม่เป็นผู้กระทบกระเทือนในความเป็นอยู่ในโลก มันจะเย็น มันจะร้อน มันจะเผ็ด อะไรๆก็ตาม มันจะเป็นอย่างไรก็เรื่องของโลกมันเป็นไป ความเห็นของเราทั้งหลายนั้น ก็เห็นว่าเรื่องของโลกมันเป็นอยู่อย่างนี้ ถึงแม้ว่าเราจะรู้จักมัน หรือไม่รู้จักมัน มันก็เป็นอยู่อย่างนี้

แต่ความเป็นจริงนั้น คือการกระทำ พระองค์เรียกว่ากรรม ฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงให้นับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่ง ไม่นับถือสิ่งอื่นยิ่งกว่านี้ นับถืออย่างอื่นได้เหมือนกันแต่ไม่ยิ่งกว่านี้ จะเป็นที่อยู่อาศัย ข้าวปลาอาหาร ทุกประการนั้น เราก็ถือว่าเป็นที่พึ่งของเราอยู่ แต่ไม่ยิ่งกว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทั้งสามนี้เป็นที่พึ่ง เป็นสรณะแก่ชาวพุทธทั้งหลาย ผู้นับถือพุทธศาสนาอย่างแท้จริง

ถ้าหากว่าเราเป็นพุทธบริษัทที่ยอดเยี่ยมที่สมบูรณ์แล้วเราจะพากันสบายกายและสบายใจเรารู้กันอยู่แล้วว่าอาหารสองอย่างคือ อาหารของกายอย่างหนึ่ง ของจิตใจอย่างหนึ่งอาหารของจิตนี้สำคัญมาก ถึงแม้ว่าจิตของเราคิดถูก แน่ใจเจ้าของดีว่าทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว แล้ว ไม่ต้องให้ใครมาตัดสินให้เราพระพุทธเจ้าสอนให้เรารู้จักตัวเราเอง ไม่ต้องไปนั่งทางในไปดูฤกษ์ยาม ไม่ต้องไปหาเทวดาอารักษ์ที่ไหนก็พระพุทธเจ้าท่านให้มองดูจิตของตัวเองนี้

จิตนี้เป็นผู้ทำงานส่วนรวม ในส่วนที่เป็นรูป-นามนี้ มีกาย ทั้งหมดมารวมตรงที่จิต เช่น ตาเรามองเห็นรูป หูฟังเสียง อย่างนี้ ตาเห็นรูปเราว่าสวย หูฟังเสียงไพเราะ จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ ไม่ใช่ตาเห็นรูปแล้วมันสวยนะ ไม่ใช่ตาเห็นสวยนะ ตาไม่รู้จักสวยหรอก มันรู้จักสีแดง สีดำ สีขาวเท่านั้นแหละ มันไม่รู้จักความสวยงาม เรื่องจิตเป็นคนทำงาน จิตเป็นผู้รับภาระ ตามองเห็นเฉยๆเท่านั้นเอง

เปรียบประหนึ่ง ตาไฟฟ้ารถยนต์ มันก็สว่าง แต่ว่ารถยนต์ไม่สว่าง มันสว่างแก่คนขับรถ คนโดยสาร จะได้มองดูทิศทาง แต่ความสว่างจ้านั้นมันมีอยู่ แต่รถยนต์ไม่รู้เรื่อง ไม่เห็นอะไร อันนี้ก็เหมือนกัน ตาเรามองเห็นรูป เรารักสวยรักงามขึ้นมา ไม่ใช่ว่าตามันสวย ตามันงาม พอตามันมองเห็นแล้ว ก็มาวางไว้ในใจ หูได้ยินแล้วมันก็มาวางไว้ในใจสารพัดอย่าง ตกลงแล้วว่าใจเป็นผู้ที่ทำงาน

เหมือนกับคนทำงานธนาคารนับแบงก์ นับเงินทั้งวัน แต่ไม่ได้เงิน หยิบไปหยิบมาไม่รู้ว่ากี่หมื่นกี่แสน ทั้งวันทั้งคืน ไม่ได้เงิน เงินเก็บไปรวมไว้ที่อื่นเสียเลย อันนี้ก็เช่นกัน ตา หู จมูก ลิ้น กาย แม้จะสัมผัสถูกต้องอะไรทุกอย่างก็จริงอยู่ แต่ว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่ได้รับส่วน เพราะสิ่งทั้งหลายเหล่านี้รวมมาให้จิตเป็นผู้ทำงาน

ดังนั้น พระบรมศาสดาจึงสั่งให้พวกเราทั้งหลายพากันพิจารณาจิตดูจิตให้ตามรักษาจิตของตน "ผู้ตามรักษาจิตของตน ผู้นั้นจะพ้นจากบ่วงของมาร" ใครไม่เป็นผู้ตามรักษาจิตของตน ก็ต้องเป็นผู้ถูกเขาหลอกลวงอยู่ตลอดกาล ตลอดเวลา

พระองค์จึงให้ภาวนา ให้ทาน แล้วก็รักษาศีล รักษาศีลแล้วก็ต้องภาวนา ให้ทานก็ดี รักษาศีลก็ดี ถ้าไม่ได้ภาวนาแล้วก็ไม่สำเร็จประโยชน์ ศีลก็ทำไม่ถูก ทานก็ไม่ถูก เพราะไม่พิจารณา ภาวนาหาเหตุผลหลักการพิจารณานี้เรียกว่าการภาวนา

ให้รู้เรื่องว่ามันเกิดจากอะไร มันเป็นอะไร เช่นว่าจิตของเรามันเป็นทุกข์อย่างนี้ มันทุกข์จากอะไรใครให้มันเป็นทุกข์มันคิดอย่างไรจึงเป็นทุกข์ ต้องตามไปอย่างนั้น ถ้าเป็นสุขเพราะอะไรมันถึงเป็นสุขมันสุขมาจากอะไรอะไรทำให้ใจเราเป็นสุขในส่วนที่เป็นจริงในสิ่งเหล่านี้มิใช่ว่ามันจะสุขขึ้นมาลอยๆ มันทุกข์ขึ้นมาลอยๆ ไม่ใช่อย่างนั้น มันต้องมีเหตุ คล้ายๆร่างกายเรา เราจะเกาก็เพราะมีที่คัน ทำไมมันถึงคัน คงมีเหตุ คือ แมลงกัด หรือไม้แทง จึงมีความรู้สึกแล้วก็คัน เราจึงได้เกา เกาแล้วจึงหมดปัญหานั้นไป

ทุกสิ่งทุกประการก็เหมือนกันฉันนั้น จิตของเรานี้จะมีความสุข มีความทุกข์อะไร ต้องมาจากเหตุ ไม่ใช่ว่ามันเกิดมาเฉยๆ ถ้าเราไม่พิจารณา มันก็ไม่รู้เรื่อง เหมือนกับลิงมันจะกระโจน ทำอะไร ก็ทำไปตามเรื่องของมันเฉยๆ ธรรมดาของลิงเป็นเช่นนั้น เราก็เหมือนกัน จิตเป็นอย่างไร ก็ปล่อยไปตามความนึกคิดของตัวเอง

มนุษย์เรามีมันสมองดีกว่าสัตว์ พระองค์จึงให้พิจารณา ภาวนาทั้งทางกาย ทางใจ จะทำอะไรก็ให้เป็นผู้ที่มีความยับยั้งให้เป็นผู้พิจารณา อย่าทำแต่ว่ารู้สึกแล้วก็พูดไปทำไป จะเสียคน ไม่เป็นคนที่อยู่ในลักษณะที่ว่ามีพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ควบคุมอยู่

เราขึ้นอยู่ต่อพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อยู่แล้ว จึงให้เป็นผู้มีปัญญาว่องไว เราโกรธขึ้นมากๆมันสบายไหม เราอยากได้มากๆมันสบายไหม เราโกหกคน มันสบายไหมทำผิดมันสบายไหมไม่สบายทำไมไปทำมันล่ะใครบังคับให้ไปทำในสิ่งที่ไม่สบาย สิ่งที่ไม่สบายมันก็ทำผิด มันไม่ถูกมันก็บาปมันก็ตกนรกสิ่งที่มันทุกข์ เราไม่ชอบจะทำ และไม่ชอบจะเอามัน ทำไมเราถึงไปคิดให้มันทุกข์ คิดทำไมใครบังคับให้เราทุกข์อย่างนั้น

เราต้องควรคิดพิจารณา ดูเหอะ เราจะนั่งก็หาที่สบายๆ จะนอนก็หาที่สบายๆ จะกินก็หาที่อร่อยๆ ทุกอย่างจะเอาสบายๆทั้งนั้น แต่ทำไมถึงได้ปล่อยใจของเราให้เป็นทุกข์ สิ่งที่ทำให้เกิดทุกข์ทำไมถึงตามมัน ไปละความโลภความโกรธความหลงมันเกิดขึ้นมาทำให้เราทุกข ์ทำไมเราถึงไม่เชื่อพระพุทธเจ้า ทำไมเราไม่นับถือพระพุทธพระธรรมพระสงฆ ์ทำไมจึงไปนับถือโลภโกรธหลงเป็นอาจารย์ของเรา มันจะเป็นพุทธบริษัทได้อย่างไร

ถ้าพิจารณาเห็นความแจ่มชัดในจิตของตนเองแล้วจะสบาย เรามาวัดก็เพื่อวัดดูจิต วัดดูใจ วัดธรรมะคำสอนที่พระพุทธเจ้าท่านเทศน์ไว้ ที่ครูบาอาจารย์สอนเสมอๆว่า กายวาจา จิต ของตนนี้ อยู่ที่กาย วาจา จิตนี้ ท่านให้มองเห็นโลกที่เราอยู่ทุกวันนี้ ทำไมมันจึงเป็นเช่นนี้ เคยคิดไหม

เกิดมาทุกๆคนอยากเกิดมา อยากเกิดแต่ไม่อยากตาย ขอแล้วขอเล่า ไม่อยากจะตาย เมื่อเจ็บไข้ก็โศกเศร้า ร้องไห้ แต่ไม่รู้ว่าเรานี้สมัครมาตายกัน ไม่รู้เรื่อง มีใครรู้สึกบ้างว่าเรามาสมัครตายกันบ้าง ไม่ได้คิด เมื่อเข้าโรงพยาบาล นึกถึงความตาย ร้องไห้เสียใจแล้ว แต่ความเป็นจริง เรามาทำงานโดยตรงแล้วเราสมัครตายเราจึงเกิดเป็นเรื่องของเรา ไม่ใช่เรื่องของคนอื่นเราจะหลีกไปทางไหนละไม่มีที่หลีกเลี่ยงแล้วมันต้องเป็นจริงอย่างนี้เรียกว่าภาวนา

ถ้าเราเห็นอย่างนี้ก็ยอมแล้วมันจะเป็นอะไรๆก็ช่างมันเถอะทำคุณงามความดีไว้ก็พอแล้ว ในโลกนี้ก็มีแต่เรื่องมาสะกิด มาทิ่มแทงให้เราเป็นทุกข์อยู่ทั้งนั้นแหละ คนนั้นว่าให้อย่างนี้ อย่างนั้น เป็นธรรมดา มีแต่เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ ฉะนั้นจะได้ไปวัดฟังธรรมก็หาโอกาสก่อนเพราะมัวแต่ยุ่งกับสิ่งเหล่านี้ผลัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อยจนตายก็ไม่ได้ไป ไม่ใช่ว่าเราจะยุ่งกับสิ่งดีอะไรเลย

การภาวนา ให้รู้เรื่องของความเป็นจริงแล้วจะทำที่ไหนก็ได้ เรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตายเราก็รู้ว่าเมื่อเกิด ตายก็ตามเรามา หยิบเกิดก็ติดตายทันที หนีไปจากนี้ไม่ได้เลย ต้องยอมรับว่าเป็นอย่างนี้ เรามาสมัครตายก็ต้องยอมรับ ถ้าไม่ยอมรับ ต้นกับปลายก็ไม่ตรงกัน ยอมรับอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ความสุข ความทุกข์ ว่าของมันเป็นคู่อย่างนี้

จะไปที่ไหนก็ตาม มันก็เป็นแต่เรื่องสมมุติเอา โลหะ ตะกั่ว ดีบุก ทอง มันแยกกันออกไป เราตั้งชื่อให้มัน จะเอาทองคำเป็นตะกั่ว มันก็เป็นตะกั่ว จะเอาตะกั่วเป็นทองคำมันก็เป็นทองคำให้เรา จะว่าไปก็ไม่จบสักอย่าง เพราะสิ่งที่เป็นอยู่ในโลกนี้มันเป็นอยู่อย่างนี้ เราก็มาเรียกว่า อันนี้มีราคา อันนี้ไม่มีราคา อันนี้ฉันชอบ อันนี้ฉันไม่ชอบ อันนี้ของเรา อันนี้ของเขา วุ่นวาย

สมมุติแล้วก็ติดสมมุติอยู่นั่นแล้ว เหมือนแมลงวันตอมน้ำผึ้งจนตัวเอง ตายเพราะเพลิดเพลินในความหวานนั่นเอง อันนี้ก็ตายอยู่ที่ลูกของเรา ตายอยู่ที่หลานของเรา รวมความว่าอะไรๆก็ตายอยู่ที่ของเราทั้งนั้นแหละ คิดดูเอาเถิด เราพิจารณาไม่ถึงก็ยังไม่ยอม ถ้ามีคนทายถูกว่า คนนั้นๆตายภายในเวลาที่กำหนดไว้เท่านั้นเท่านี้ ทายถูกมาแล้ว บัดนี้มาทายคนอีกคนว่าอีก ๑๕ วันตาย คงจะอยู่ไม่ได้แล้วนะ รีบวิ่งเข้าวัดทันที ทิ้งบ้านช่อง ข้าวของ ลูกเมีย ทันที ไม่ห่วงอะไรแล้ว

ถ้าเราภาวนาได้ว่าเราตายแน่ๆก็ยอมรับ แล้วไม่โกง มีแต่จะทำความดี ที่พระท่านสอนว่า ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ฟังเฉยๆเท่านั้นเอง ไม่ยอมรับจริงจัง รู้ไหมรู้ แต่รู้ไม่ถึง ถ้ารู้...จะยอมรับแล้วก็ปฏิบัติ ดังนั้นโลกเราจึงเป็นเช่นนี้ เรามาเห็นผิดกันเสียถ้ารู้ว่า รูปังอนิจจัง รูปไม่เที่ยง อย่างนี้ ความชั่วก็ไม่ทำแล้ว ไม่ประมาท ทำเสร็จหมดแล้ว พอแล้ว พอหมดทุกอย่าง พอดี หนาว ร้อน ทุกข์ สุข รวย จน พอดี ฉะนั้นธรรมะจึงไม่เข้าสู่ใจเราท่านทั้งหลาย ถ้าหากว่าเป็นคนพอ มันถูกหมด รูปพอ กายพอ จิตใจพอกายนี้ไม่เที่ยง รูปนี้ จิตใจนี้ไม่เที่ยง ไม่มีอะไร มีแต่ของอย่างนั้น เกิดขึ้น ตั้งอยู่ เปลี่ยนไป

คือเราไม่รู้จักทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ ไม่รู้จักความดับแห่งทุกข์ ไม่รู้จักข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งทุกข์ การปฏิบัติธรรมะคือทำไปเรื่อยๆ อย่างเช่นเรามีความรู้ชนิดนี้ ปฏิบัติไปจนวันตาย ท่านให้รู้อย่างนี้ เบื่อหน่ายๆ ไม่ต้องมองอื่นไกลหรอก รอบตัวเรานี่แหละ ตั้งแต่เกิดมา ใครๆรอบตัวเรานี้ เราก็มองเห็นอนิจจังทั้งนั้น ถึงเวลาก็ทิ้ง เราจะแบกของที่กินไม่ได้ทำไม ทุกข์เปล่าๆ มันไม่เห็นง่ายๆธรรมะที่พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ทิ้งไปแต่มันเป็นสิ่งที่เราจะต้องเอาเสียด้วย ท่านอะไรจำไม่ได้ ไปหาพระพุทธเจ้า คนทั่วไปเขาว่าสวยเป็นหนึ่ง พระพุทธเจ้าท่านว่าไม่สวย พระองค์ว่าไม่สวย โกรธให้พระองค์ ไม่ยอมรับ มันติด พระพุทธเจ้าว่าไม่สวย มันมองไม่เห็น คือจิตไม่พิจารณาให้เห็น ผลที่สุด มาเห็นอสุภะจนบรรลุธรรม

หญิง ชาย คนหนุ่ม แก่ ความเป็นหนุ่มมันปิดบังความแก่ไว้หมด เมื่อถึงเวลาแล้ว มันปิดไม่ไหว ถ้าอายุมากจะโผล่มาให้เห็นเอง ถ้าพูดถึงร่างกายนี้แล้วเหมือนกันหมดไม่มีใครเกินใคร จะไม่มีทิฏฐิมานะเลยยิ่งดูโครงกระดูกแล้วไม่ผิดกันเลย ไม่บอกว่าหญิง ชาย หนุ่ม แก่ จะเหมือนกันหมด แล้วจะมีอะไรอีก ไม่มีความหมาย ถ้าเอามาเปรียบตัวเราแล้ว เราก็สวย ก็ดีกว่า เพราะมีเนื้อหนังปิดไว้พอมี แต่โครงกระดูกเท่านั้น ไม่แตกต่างกันเลย ไปที่ไหนก็เหมือนกันหมด คนรวยคนจนหญิงชายเด็กหนุ่ม แก่มีแต่ความดีเท่านั้น ควรทำให้มากฯ

ที่มา : http://www.ajahnchah.org/ 


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: