การปรับตัวเพื่อความอยู่รอด
เราพูดถึง “การปรับตัว” กันอยู่เสมอ และเหตุผลที่ต้องปรับตัวก็อ้างกันว่า-เพื่อ “ความอยู่รอด” คงไม่มีใครปฏิเสธเรื่องการที่จะต้องปรับตัว เวลานี้แม้แต่ผู้นำในวงการพระศาสนาก็บอก-ว่าพระพุทธศาสนาจะต้องปรับตัว-เพื่อความอยู่รอด ที่ไม่ควรลืมถามกันด้วยก็คือ -
ปรับตัวเพื่อความอยู่รอด แล้วอยู่รอดไปเพื่ออะไร? เราอาจจะเพ่งมองแต่ความอยู่รอด แต่ลืมตั้งคำถามว่า รอดไปเพื่ออะไร แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ-อะไรอยู่รอด? ที่ว่ารอดนั้นอะไรรอด อะไรที่ว่ารอดนั้นรอดแล้วเป็นอะไร?
การอยู่รอดนั้นสำคัญมาก เพราะถ้าอยู่ไม่รอดก็จะไม่เหลืออะไรเลย แต่ที่สำคัญกว่าก็คือ - ที่เหลือรอดอยู่นั้นคืออะไร ที่เหลือรอดอยู่นั้นคือพระพุทธศาสนา หรือว่าคืออะไร ถ้าที่เหลือรอดอยู่นั้นไม่ใช่พระพุทธศาสนา จะว่าอย่างไร
เพราะฉะนั้น ต้องคิดไปพร้อมๆ กัน คือ-ต้องอยู่รอดด้วย และที่รอดนั้นต้องคือ-พระพุทธศาสนาด้วย มิเช่นนั้น อาจกลายเป็นว่า เรายอมทุ่มเททุกอย่าง-เพื่อความอยู่รอด แต่แล้ว สิ่งที่รอดนั้นกลายเป็นสิ่งอื่น ไม่ใช่พระพุทธศาสนา เพราะ-ถ้าสิ่งที่รอดนั้นไม่ใช่พระพุทธศาสนา
เราจะทุ่มเทเพื่อให้สิ่งนั้นอยู่รอดไปเพื่ออะไรกัน? เพราะฉะนั้น จึงต้องตั้งหลักกันที่-ศึกษา เรียนรู้ และปฏิบัติ ให้ถูก ให้ตรง และให้มั่นใจได้แน่นอนว่า-นี่แหละคือพระพุทธศาสนาที่ถูกต้อง
แล้วยึดพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องนั้นไว้ให้มั่นคง ต่อจากนั้นจึงทุ่มเททุกอย่างเพื่อความอยู่รอดของพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องนั้น
ไม่ใช่-ทุ่มเททุกอย่างเพื่อความอยู่รอดของอะไรก็ไม่รู้ หรือรู้-ว่าเพื่อความอยู่รอดของพระพุทธศาสนา แต่เป็นพระพุทธศาสนาที่ไม่ถูกต้อง
ถ้าไม่อย่างนั้น ก็ต้องจับเข่าคุยกันก่อนว่า เราจะทุ่มเททุกอย่างเพื่อความอยู่รอดเท่านั้น เราไม่สนใจว่าสิ่งที่อยู่รอดนั้นจะเป็นพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องหรือไม่ก็ตาม เราต้องการอย่างเดียว คือให้สิ่งที่ประทับตราว่า “พระพุทธศาสนา” อยู่รอดก็แล้วกัน เนื้อในจะเป็นอะไรก็ช่างมัน จะเป็นพระพุทธศาสนาที่ถูกต้อง หรือจะเป็นพระพุทธศาสนาที่ไม่ถูกต้อง ก็ช่างมัน
จะเอาอย่างนี้ใช่ไหม?
หรือจะพูดเป็นกลางๆ แบบที่นิยมพูดกันทั่วไปว่า-เราจะพยายามทำให้ดีที่สุด เพื่อรักษาพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องไว้ให้ได้มากที่สุด ซึ่งก็คือ-จะพยายามรักษาพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องไว้ให้ได้ หรือจะไม่พยายามอะไรทั้งนั้น ก็ไม่ใช่ข้อผูกพัน อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของผม ความคิดที่จะต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดนั้นเป็นทางสองแพร่ง
แพร่งหนึ่ง นำไปสู่การดำรงอยู่ แต่แพร่งนี้น่าจะตีบตันมาก และไปได้ยากอย่างยิ่ง แต่ก็ต้องไป คือต้องพยายามบากบั่นไปให้จงได้ อีกแพร่งหนึ่ง นำไปสู่อันตรธาน แพร่งนี้ค่อนข้างโล่ง และไปได้ง่ายที่สุด
นั่นคือ-เราก็พยาม “ปรับตัว” กันไปเรื่อยๆ โดยอ้างว่า “เพื่อความอยู่รอด” แต่ปรับไปปรับมากลายเป็นเดินหน้าไปสู่อันตรธาน คือไม่เหลืออะไรที่เรียกว่า “พระพุทธศาสนาที่ถูกต้อง” ให้รอด - ทั้งๆ ที่อ้างนักอ้างหนาว่าเพื่อความอยู่รอด!!
เพราะฉะนั้น เรามาช่วยกันศึกษาแนวคิดเรื่อง “อันตรธาน” ให้เข้าใจดีขึ้นสักหน่อย ดีไหมครับ ถ้ายังไม่รู้แม้แต่คำว่า “อันตรธาน” ว่าท่านหมายถึงอะไร ก็อาการหนักหน่อยนะครับ แต่ไม่เป็นไร ค่อยๆ หาความรู้ไป เดี๋ยวก็เข้าใจเอง เรื่องอันตรธานท่านแสดงไว้ที่ไหนบ้าง เรียนบาลีมาแล้ว ค้นสิครับ
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย, ๒๓ เมษายน ๒๕๖๓, ๑๖:๒๖
ช่วงวันเวลาที่คนไทยต้องร่วมกันให้กำลังใจหมอ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ของไทยและของโลก
0 comments: