วันศุกร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2564

ผู้มีปัญญาทรามทำให้เสียประโยชน์

ผู้มีปัญญาทรามทำให้เสียประโยชน์

"น เว อนตฺถกุสเลน,  อตฺถจริยา สุขาวหา;    หาเปติ อตฺถํ ทุมฺเมโธ, โกณฺฑญฺโญ วารุณึ ยถาติฯ  (วารุณิทูสกชาตกํ สตฺตมํ)  ผู้ฉลาดในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ถึงจะทำความเจริญ ก็ไม่สามารถจะนำ  ความสุขมาให้ ผู้มีปัญญาทรามย่อมทำประโยชน์ให้เสีย เหมือนกับโกณทัญญบุรุษทำสุราให้เสีย ฉะนั้น"

วารุณิทูสกชาดกอรรถกถา

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารทรงปรารภคนทำลายเหล้า ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า น เว อนตฺถกุสเลน ดังนี้.

ได้ยินมาว่า พ่อค้าเหล้าเพื่อนของท่านอนาถบิณฑิกะคนหนึ่งผสมเหล้ารสเข้มข้น ขายได้เงินทองมากมาย (วันหนึ่ง) เมื่อมหาชนประชุมกันในร้าน จึงกำชับลูกจ้างว่า „พ่อคุณ พวกเจ้าจงขายเหล้าตามราคาที่เขาซื้อ“ แล้วก็ไปอาบน้ำ.  ลูกจ้างเมื่อขายเหล้าให้มหาชน เห็นคนเหล่านั้นเรียกเกลือมากัดแกล้มเป็นระยะ ๆ จึงคิดว่า เหล้าคงไม่เค็ม เราต้องใส่เกลือผสมลงไปแล้ว ใส่เกลือลงไปในเหล้าประมาณทะนานหนึ่ง ตวงขายให้แก่คนเหล่านั้น. คนเหล่านั้นดื่มเต็มปากแล้ว ก็บ้วนทิ้ง ดาหน้ากันเข้าไปถามว่า „เจ้าทำอย่างไร ? „ ลูกจ้างตอบว่า „ข้าพเจ้าเห็นพวกท่านดื่มสุราแล้ว เรียกเกลือมากัดกิน จึงผสมเกลือลงไป „. คนเหล่านั้นพากันติเตียนลูกจ้างนั้นว่า „อ้ายหน้าโง ! ทำเหล้าดี ๆ เช่นนี้เสียหมด“ แล้วลุกพรวดพราดขึ้น หลีกหนีไป.

พ่อค้าเหล้า กลับมาไม่เห็นคนกินเลยสักคนเดียว จึงถามว่า „พวกนักดื่มเหล้าไปไหนกันหมด ?“ ลูกจ้างจึงแจ้งเรื่องนั้นให้ทราบ.  ลำดับนั้น พ่อค้าเหล้าก็ตำหนิว่า „ไอ้หน้าโง่ ! ทำเหล้าดี ๆ เสียหมด“ พลางไปแจ้งเหตุให้ท่านอนาถบิณฑิกะทราบ.  ท่านอนาถบิณฑิกะเศรษฐีดำริว่า „บัดนี้เรามีเรื่องอันเป็นเค้าแห่งกถามรรคแล้ว“ ไปสู่พระวิหารเชตวัน ถวายบังคมพระบรมศาสดา พลางกราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบ. 

พระบรมศาสดาตรัสว่า „ดูก่อนคฤหบดี มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่คนผู้นี้ทำเหล้าให้เสีย แม้ในกาลก่อนก็ทำเหล้าให้เสียมาแล้วเหมือนกัน“ อันท่านอนาถบิณฑิกะกราบทูลอาราธนาจึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้. :-

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี #พระโพธสัตว์เสวยพระชาติเป็นเศรษฐีชาวเมืองพาราณสี. พ่อค้าเหล้าคนหนึ่งอาศัยท่านเลี้ยงชีพอยู่ วันหนึ่งพ่อค้าปรุงเหล้ารสเข้มข้นแล้ว ก็สั่งลูกจ้างให้ขายเหล้าแทนแล้วก็ไปอาบน้ำ. พอพ่อค้าพ้นไปเท่านั้นแหละ เขาก็เอาเกลือใส่ลงไป ในเหล้า ทำให้เหล้าเสียไป โดยนัยเดียวกันนี้แหละ. ครั้นพ่อค้ากลับมาได้ทราบเรื่องของลูกจ้างแล้ว ไปเรียนให้ท่านเศรษฐีทราบ.

ท่านเศรษฐีกล่าวว่า „ธรรมดาคนโง่ไม่เข้าใจประโยชน์คิดว่า จักทำประโยชน์ กลับทำให้เสียประโยชน์ไป“ ดังนี้แล้ว กล่าวคาถานี้ว่า :- „การบำเพ็ญประโยชน์ โดยคนที่ไม่ฉลาด ในประโยชน์ จะไม่นำความสุขมาให้, คนโง่ ๆมีแต่จะทำประโยชน์ให้เสียไป เหมือนนาย โกณฑัญญะ ทำเหล้าดี ๆให้เสียไป ฉะนั้น“.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โกณฺฑญฺโญ วารุณึ ยถา ความว่า ลูกจ้างของพ่อค้าเหล้าคนนี้ชื่อว่าโกณฑัญญะ คิดว่า เราจักทำประโยชน์ ใส่เกลือลงไปในเหล้า ทำเหล้าให้เสียรสหมดราคาต้องเททิ้ง ฉันใด คนที่ไม่ฉลาดในประโยชน์แม้ทั่วไป ก็ทำประโยชน์ให้เสียไปได้ฉันนั้น.

พระโพธิสัตว์แสดงธรรมด้วยคาถานี้.

แม้พระบรมศาสดา ก็ตรัสว่า „ก่อนคฤหบดี มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่คนผู้นี้ทำเหล้าให้เสียไป แม้ในกาลก่อน ก็ทำเหล้าให้เสียไปแล้วเหมือนกัน“ ดังนี้แล้ว ทรงสืบอนุสนธิ ประชุมชาดกว่า คนที่ทำเหล้าเสียในครั้งนั้น มาเป็นคนที่ทำให้เหล้าเสียในครั้งนี้ ส่วนท่านเศรษฐีเมืองพาราณสี มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล. 

ที่มา : Palipage : Guide to Language - Pali




Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: