วันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2564

"รู้อะไรไม่เท่ารู้ใจตน" (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)

"รู้อะไรไม่เท่ารู้ใจตน" (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)

".." การอบรมภาวนานั้นหมายความว่า ทำใจของตนให้เป็นอารมณ์อันเดียว "อยู่ในจุดเดียวให้รู้ใจของตนว่า คิดดีคิดชั่วหยาบและละเอียดอยู่ตลอดเวลา ยืน เดิน นั่ง นอน

"คิดดีก็พยายามประครองอารมณ์นั้นไว้ให้เกิดปิติอิ่มใจ คิดชั่วก็พยายามละทิ้ง" อย่าให้ติดอยู่กับใจ "ทำความรู้เรื่องของใจเท่านี้เป็นพอ" ไม่ไปรู้เรื่องอื่น เรื่องอื่นของคนอื่นไม่ใช่เรื่องของเรา ถ้าเราไม่เข้าไปเกี่ยวข้องแล้วจะทำอะไรให้เราไม่ได้

"ภาวนาคือหัดทำความสงบของใจ" รู้ใจของตนอยู่เสมอว่า คิดดีคิดชั่วหยาบและละเอียดทุกอิริยาบถ "ไม่ต้องอยากรู้โน่นนี่ต่าง ๆ นานา มันไม่เป็นภาวนาเสียแล้ว รู้อะไรไม่เท่ารู้ใจของตนเอง ".. "

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๑๙ 

ณ พุทธสมาคม เมืองบันดุง อินโดนีเซีย 

ขอขอบคุณ ที่มา : dhammathai.org

"ความเชื่อที่งมงาย" (พุทฺธทาสภิกฺขุ อินฺทปญฺโญ)

ปุถุชนเราตั้งแต่เกิดมา ย่อมมีความยึดมั่นถือมั่นในเรื่องที่ก่อความใคร่ (กาม) เป็นสมบัติชิ้นที่ ๑ แล้วยึดมั่นถือมั่นในความคิดความเชื่อของตัวเอง (ทิฏฐิ) เป็นสมบัติชิ้นที่ ๒ ส่วนสมบัติชิ้นที่ ๓ ก็คือ “ความงมงาย” (สีลัพพตปรามาส) ผู้ใดมัวแต่หอบหิ้วสมบัติชิ้นใหญ่ ๆ เหล่านี้อยู่ ย่อมไม่สามารถละจากความเป็นปุถุชน เพื่อไปสู่ความเป็นอารยชนหรือพระอริยเจ้าได้

ฉะนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ปุถุชน (คนที่มีผ้าปิดบังดวงตาหนาทึบ กล่าวคือ คนโง่ คนเขลา คนหลง) จะต้องรู้ความผิดพลาดหรือเหตุที่ต้องทนทุกข์ทรมานเพราะการหอบหิ้วทรัพย์สมบัติอย่างนี้อยู่ หลักพระพุทธศาสนาในส่วนปริยัติและการปฏิบัตินั้น ได้แก่ความรู้และการปฏิบัติ เพื่อถอนความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง ไม่ฝังตัวเข้าไปในสิ่งทั้งหลายด้วยความยึดมั่นถือมั่น ในหลักศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น ดังที่ท่านได้ตรัสยืนยันของท่านเอง สรุปแล้วก็คือ “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น”

แต่ปุถุชนไม่สามารถจะทำลายความยึดมั่นถือมั่น หรือไม่สามารถจะปล่อยวางสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่นได้ ก็เพราะมีของน่ารักน่าใคร่เป็นเครื่องล่อ แล้วมีทิฏฐิความเห็นผิดของตนนานาชนิดเป็นเหมือนบ่วงหรือเบ็ด ทีนี้ยังเหลืออยู่แต่ว่า คนทั้งหลายจะโง่งมงายเข้าไปกินเหยื่อติดบ่วงติดเบ็ดนี้หรือไม่เท่านั้น ถ้าหากว่าไม่งมงาย เหยื่อกับบ่วงนั้นก็เป็นหมันไป เหยื่อกับบ่วงกลายเป็นสิ่งอันตรายขึ้นมา ก็เพราะความโง่เขลางมงายของตนเองมากกว่า ถ้าหากว่า คนเราปราศจากความงมงายแล้ว เหยื่อกับบ่วงก็ไม่อาจทำอันตรายแก่เราได้ ฉะนั้นเราจึงควรศึกษาเรื่องความงมงาย ที่อาตมาเรียกว่าเป็นสมบัติชิ้นที่ ๓ ที่ปุถุชนหอบหิ้วมาอย่างรุงรังนุงนังไปหมด ตั้งแต่สมัยป่าเถื่อนที่สุด จนกระมั่งถึงปัจจุบันนี้ ถ้าคนใดยังมัวแต่หอบหิ้วสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๓ อย่างนี้อยู่แล้ว ก็ไม่สามารถเข้าไปในเขตของพระอริยเจ้า เราจะต้องสลัดทิ้งสิ่งที่เป็นข้าศึกเหล่านี้ออกให้หมด จึงจะเข้าถึงฝ่ายอันเป็นพระอริยเจ้าได้

นี่ไม่ใช่เป็นการกล่าวอย่างอวดดีหรือยกย่องตัวเอง หรือชักชวนท่านทั้งหลายให้มักใหญ่ใฝ่สูง แต่เป็นการแสดงให้ทราบว่า เมื่อปุถุชนต้องการจะให้พ้นจากความทุกข์ ก็ต้องปฏิบัติตามร่องรอยของหลักธรรมที่ท่านวางเอาไว้ จึงจะละความเป็นปุถุชน คือคนหนาไปด้วยฝ้าในดวงตา ให้มาสู่ความเป็นอริยเจ้า มีสติปัญญารู้แจ้งสิ่งทั้งปวงตามที่มันเป็นจริง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็คือรู้ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ปุถุชนย่อมไม่เห็นความจริงข้อนี้ จึงมีความยึดมั่นถือมั่นอย่างเหนียวแน่นเพราะไฝฝ้าที่บังดวงตากล่าวคือ ความเขลา ความโง่ ความหลงงมงาย มีหนามากมนดาวงตามันหุ้มห่อปัญญามากจนปัญญาไม่สามารถทำหน้าที่ของปัญญาได้ เราจึงจำเป็นที่จะต้องขูดเกลาสิ่งเหล่านี้ออก เมื่อดวงตาสามารถมองเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริงได้ ก็เรียกว่าเริ่มละจากความเป็นปุถุชนเข้าสู่ความเป็นพระอริยเจ้า ซึ่งมีความหมายแต่เพียงว่าเป็นผู้เอาชนะหรือเริ่มเอาชนะความทุกข์ได้ดังนี้เป็นต้น

ความงมงายนี้มีมาตั้งแต่เดิมยากที่จะถอนได้ แล้วยังทำให้สิ่งต่าง ๆ ที่เป็นของดีของถูก พลอยเป็นของไม่ดีไม่ถูกไปเสียด้วย พระอริยเจ้าจำพวกแรกที่สุดกล่าวคือ “พระโสดาบัน” ผู้ที่เข้าถึงกระแสของพระนิพพานนั้นจะต้องละได้ ๓ อย่าง คือ “สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา” และ “สีลัพพตปรามาส” อันสุดท้ายนี้แหละคือความงมงาย อนึ่ง มีสิ่งที่ควรกำหนดรู้ด้วยว่า ถ้าสติปัญญามีมากพอที่จะละความงมงายได้แล้วย่อมละ “สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา” สองข้อแรกนั้นได้อยู่ในตัว

สิ่งที่เรียกว่า “สีลัพพตปรามาส” นี้มีผู้เข้าใจผิด เพราะเหตุที่ไม่มีคำอธิบายอย่างชัดแจ้งอยู่ในพระบาลีเลย มีกล่าวถึง “สีลัพพตปรามาส” แต่เพียงชื่อ จึงต้องอาศัยอรรถกถา คือคำอธิบายที่เขียนขึ้น ทำไมพระบาลีจึงไม่มีคำอธิบายในเรื่องนี้ อาตมาเชื่อแน่ว่าเพราะเป็นคำธรรมดาที่ใคร ๆ ในสมัยนั้นเข้าใจได้ทันทีว่าหมายถึงอะไร ในบาลีจึงไม่มีคำอธิบาย ต่อมาจึงไม่รู้ว่าคืออะไรแน่ ที่มีอธิบายไว้ก็กระท่อนกระแท่นเต็มที ซึ่งทำให้เห็นว่า แม้ในสมัยของอรรถกถา ซึ่งเขียนกันประมาณพันปีเศษ หลังจากปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ก็ได้มีปัญหาในคำนี้มาแล้วเลยเขียนไว้สั้น ๆ ว่า ได้แก่การประพฤติอย่างใด อย่างสุนัข เช่น ทรมานตนอย่างใด กินหญ้าอย่างใด ทำลายความผาสุกทางกาย เป็นการทรมานอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเขาหวังว่ากิเลสจะเบาบางไปเพราะเหตุนั้น ประพฤติอย่างสุนัขก็เช่นเดียวกัน เช่นถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ กินอาหารอย่างสุนัข นอนอย่างสุนัข ซึ่งเป็นของพวกมิจฉาทิฏฐิ นอกพุทธศาสนา และมีมาก่อนพุทธศาสนา แล้วมีอยู่เรื่อย ๆ มา เป็นเพียงวัตรปฏิบัติของนิกายเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งไม่มีชื่อเสียงโด่งดังอะไร การที่อรรถกถาอธิบายเช่นนี้ก็เพราะผู้อธิบายไม่รู้ไม่เข้าใจคำว่า “สีลัพพตปรามาส” นั่นเอง

ถ้าหาก คำนี้หมายความถึง ความประพฤติอย่างสุนัขหรืออย่างโค แล้ว ก็เห็นได้ว่าในพวกเราเวลานี้ไม่มีใครประพฤติอย่างสุนัขและโค ซึ่งหมายความว่าพวกเราละความงมงายกันได้แล้วทุกคน แม้ในสมัยพุทธกาลหรือในสมัยต่อ ๆ มา ก็ปรากฏว่าไม่มีพุทธบริษัทประพฤติตัวอย่างโคหรืออย่างสุนัข ซึ่งก็แปลว่าเขาไม่มีความงมงายอยู่เป็นปกติแล้ว จะต้องกล่าวทำไมอีกถึงเรื่องนี้ นี่เป็นข้อที่ขัดแย้งในตัวเอง ฉะนั้น คำอธิบายของพระอรรถกถาจารย์ในเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ไร้สาระที่สุด

ทีนี้เราก็จะต้องวินิจฉัยเอาเองว่า ความงมงายที่แท้จริงจะต้องละนั้นคืออะไร เมื่อได้พิจารณาโดยทางตัวหนังสือของคำนี้แต่ละคำ หรือทางความหมายก็จะเข้าใจได้ทันทีว่า ได้แก่ความงมงายทุกชนิดที่เป็นสมบัติประจำตัวปุถุชน ความงมงายของคนเราที่มีอยู่เป็นอย่างไร เราต้องรู้สึกนึกถึงสมัยที่ยังป่าเถื่อน คือตั้งแต่เริ่มมีมนุษย์ในโลก เมื่อยังเป็นคนป่า เมื่อยังกลัวฟ้ากลัวฝน กลัวธรรมชาติที่เข้าใจไม่ได้ จนกระทั่งค่อย ๆ เปลี่ยนมากลัวผีสางนางไม้ หรือเทวดาที่ตนเชื่อว่าสิงประจำอยู่ในธรรมชาติเหล่านี้ แล้วก็มีการมอบกายถวายชีวิตแด่นางไม้ เทวดา หรือพระเป็นเจ้า มีพิธีบูชาขอร้องต่าง ๆ นานา ซึ่งก็ได้รับการปรับปรุงแก้ไขเรื่อย ๆ มาจนกระทั่งบัดนี้ แม้ในทุก ๆ วันนี้ก็ได้มีระเบียบวิธีสำหรับการบูชาที่ถือว่าขลังหรือศักดิ์สิทธิกันโดยวิธีแยบคายที่สุด กล่าวคือเพื่อจูงคนให้เลื่อมใสคล้อยตามไปได้มากที่สุด นี่คือสายหรือแนวแห่งความงมงายที่ตั้งต้นขึ้นมาตั้งแต่สมัยป่าเถื่อน แล้วก็มีการปรับปรุงขยับขยายให้จับอกจับใจขึ้นทุกที ๆ จนกระทั่งถึงบัดนี้ก็ยังละความงมงายกันไม่ได้ บางคนยังสะดุ้งกลัวต่อสิ่งที่คนเรียกว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ยังหวาดเสียวต่อสิ่งที่นาเองมองไม่เห็นตัวหรือเข้าใจไม่ได้ และยังมีความเชื่อว่าสิ่งเหล่านั้นมีอิทธิพลอยู่เหนือคน บังคับบัญชาคนอยู่ แม้จะได้เป็นนักศึกษาผ่ารนมหาวิทยาลัยมาแล้วก็ยังรู้สึกขนพองสยองเกล้าต่อสิ่งที่คนเข้าใจไม่ได้เหล่านั้นอยู่ คือ “ความงมงาย”

ทำไมเราจึงเรียกความงมงายว่า สีลัพพตปรามาส ทั้งนี้เป็นด้วยเหตุ ๒ อย่าง คือ ความงมงายต่อสิ่งเหล่านี้มันทำให้บุคคลบัญญัติศีล และข้อวัตรปฏิบัติต่าง ๆ ขึ้นตามความงมงายของตนอย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่งนั้นคือ บุคคลที่กำลังประพฤติสิ่งที่ถูกต้องอยู่แล้วนั่นแหละ เช่นให้ทาน รักษาศีล หรือทำสมาธิด้วยความงมงาย ด้วยความเข้าใจผิดอย่างใดอย่างหนึ่ง หวังผลผิด ใช้เหตุผลผิด หรือไม่ประกอบด้วยเหตุผลเสียเลย ทำเอาข้อปฏิบัติที่ถูกต้องหรือบริสุทธิ์สะอาดกลายเป็นข้อปฏิบัติทีสกปรก หม่นหมองไปเพราะความงมงายของผู้ปฏิบัติเอง สรุปความสั้น ๆ ก็คือ ความงมงายทำให้คนบัญญัติการปฏิบัติขึ้นมาอย่างงมงาย จนแทบจะมองดูไม่ได้ แล้วความงมงายของคนยังทำให้ ข้อวัตรปฏิบัติของพระพุทธเจ้าที่บริสุทธิ์ดีนั้น ให้กลายเป็นของมัวหมองไปเสียอีก สองอย่างนี้เรียกว่า “สีลัพพตปรามาส”

ถ้าคนใดยังละความงมงาย ๒ ประการนี้ไม่ได้ ก็แปลว่า ยังไม่ถึงพระพุทธศาสนา แม้จะเรียกตัวเองว่าเป็นพุทธบริษัท ก็ยังไม่ใช่พุทธบริษัทที่แท้ และจะไม่สามารถละจากโคตรเดิม กล่าวคือโคตรปุถุชนเข้ามาสู่โคตรใหม่ คือโคตรของพระอริยเจ้าได้ ต้องเป็นปุถุชนหนาไปตามเดิม ไม่มีทางที่ใครจะช่วยได้ ฉะนั้น จึงต้องสนใจเรื่องความงมงายนี้กันเป็นพิเศษ ถ้าเราอยากจะมีความพ้นทุกข์ หรือดับทุกข์ตามหลักแห่งพระพุทธศาสนา ที่ถึงขนาดจะเรียกได้ว่าเป็นผู้ปลอดภัย คือเข้ามาถึงกระแสแห่งพระนิพพาน ซึ่งมีหวังแน่นอนว่า ต่อไปข้างหน้าผู้นั้นจะบรรลุถึงพระนิพพานในโอกาสใดโอกาสหนึ่งโดยไม่ต้องสงสัย

เดี๋ยวนี้มีปัญหาอยู่ที่ว่า คนส่วนมากยังไม่สามารถละความงมงายดังกล่าวนั้นได้ ยังติดแน่นหรือติดตังอยู่ที่ความงมงาย ถึงจะรักษาศีลมาเท่าไร ๆ ก็ไม่รู้สึกว่ามีศีลบริสุทธิ์ หรือศีลช่วยอะไรไม่ได้ ประพฤติวัตรปฏิบัติมานมนานเท่าใด ก็ไม่เคยเห็นผล ฉะนั้น มันต้องทีอะไรผิดอยู่สักอย่างหนึ่งในการประพฤติธรรม อาตมาถึงขอร้องย้ำแล้วย้ำอีกว่า จงดูให้ดี ๆ แม้ว่าเป็นอุบาสก อุบาสิกา ภิกษุสามเณร หรือพระเถระก็ตาม สิ่งที่เรียกว่าความงมงายนี้ อาจจะมีอยู่ได้ในข้อปฏิบัติของคนเหล่านั้น ตัวอย่างเช่น พระภิกษุบางองค์ถือว่าพอได้ลงปาฏิโมกข์แล้วก็สะอาดหมดบาปหมดกรรม หมดเวรกันไปเสียที มีความรู้เพียงเท่านี้ มีความเชื่ออย่างนี้ แล้วก็ไปลงปาฏิโมกข์ในวันอุโบสถ นั่งฟังอยู่อย่างนกแก้วนกขุนทอง จบแล้วก็โล่งใจว่าบริสุทธิ์กันเสียที เหมือนกับสะบัดขี้ฝุ่นออกจากตัวอย่างนั้น ลักษณะอย่างนี้ถือว่าเป็นความงมงายอย่างยิ่ง เป็นความงมงายไร้เหตุผล ทำลายความมุ่งหมายเดิมของการลงอุโบสถหรือปาฏิโมกข์นั้นให้หายไปหรือเปลี่ยนไป หรือให้กลายเป็นสิ่งที่น่าหัวเราะเยาะไป แม้แต่ในเรื่องของภิกษุที่ถือกันว่าคงแก่เรียนนั้น ความงมงายก็ยังมีอยู่ได้ถึงเพียงนี้ การประพฤติปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยความงมงายไม่ชอบด้วยเหตุผล เช่นว่ารักษาศีลหรือปฏิบัติธุดงค์ หรือว่าสมาทานวัตรอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเชื่อว่าจะกลายเป็นผู้มีอะไรพิเศษขึ้นมา เกิดอำนาจขลังศักดิ์สิทธิ์อะไรขึ้นมา หรือแม้ที่สุด ไปคิดเสียว่ามันจะทำให้โชคดี มีโอกาสร่ำรวยได้โดยง่าย หรือจะฟลุกถูกรางวัลนั่นนี่ได้โดยง่าย หรือแม้ที่สุดว่าทำเพื่อหวังไปเกิดในสวรรค์ในวิมาน ซึ่งมีความหมายเป็นกามคุณอย่างยิ่งเช่นนี้ก็ถือว่าเป็นความงมงายทั้งนั้น เพราะเหตุว่าศีลและวัตรต่าง ๆ พระพุทธเจ้าไม่ได้ตั้งไว้เพื่อความมุ่งหมายดังกล่าว ท่านบัญญัติไว้เพื่อขูดเกลาความเห็นแก่ตัวหรือขูดเกลากิเลสให้เบาบาง ให้ยึดมั่นถือมั่นน้อยลงต่างหาก เมื่อไปเปลี่ยนความมุ่งหมายเดิมจนกลายมาเป็นเรื่องจะพอกพูนความเห็นแก่ตัวจัด เอาอะไรเป็นของตัวตามอำนาจของกิเลสตัณหาหรือทิฏฐิเหล่านี้แล้ว มันก็เท่ากับมีมืออันสกปรกมาลูบคลำศีลและวัตรที่บริสุทธิ์สะอาดให้กลายเป็นสิ่งที่สกปรกไป จึงกล่าวได้ว่าเป็นความงมงาย กลายเป็นเรื่องนอกลูนอกทาง นอกรีตนอกรอยและนอกพระพุทธศาสนาไป เราจะต้องระมัดระวังกันเป็นพิเศษอย่าให้เสียเกียรติของพุทธบริษัทเป็นอันขาด พุทธบริษัท แปลว่า กลุ่มของบุคคลผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน สมกับที่เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นจอมแห่งคน รู้คนตื่น คนเบิกบาน จะมีเรื่องงมงายก็กำลังมีอยู่ในที่ทั้งปวง มีอยู่ในวัตรปฏิบัติของพุทธบริษัททุกแขนง และทุกระดับไม่ว่าที่ไหน และเมื่อใด

ส่วนมากของความงมงาย ก็ได้แก่ความเข้าใจผิดในทางขลังทางศักดิ์สิทธิ์ เพราะมันเป็นมาแต่สมัยดึกดำบรรพ์โน้น สมัยที่ยังเป็นคนป่าคนดง เป็นคนที่ยังไม่มีการศึกษาอะไรเลย ครึ่งคน ครึ่งสัตว์ กลัวต่อวิ่งที่ตนไม่อาจเข้าใจได้ เรียกว่ากลัวต่อสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ ความรู้สึกว่าศักดิ์สิทธิ์หรือขลังนั้นยังไม่ได้สูญหายไป ยังคงมีสืบมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ แม้ในหมู่คนที่มีการศึกษาดี ๆ แม้เป็นภิกษุสามเณรก็ยังรู้สึกว่ามีอำนาจอะไรที่ศักดิ์สิทธิ์นอกเหนือไปกว่าธรรมดา ยังหวาดสะดุ้งต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนมองไม่เห็นตัว แล้วมีความเชื่อว่ามันมีอยู่จริงจึงเกิดการปฏิบัติต่าง ๆ ที่กระทำไปเพื่อปลดเปลื้องความกลัวนี้ เช่นการเสกเป่าบนบานอ้อนวอนบูชา ฯลฯ กระทำกันอยู่ในหมู่ภิกษุหรือแม้ในหมู่พระเถระอย่างงมงาย ไม่ต้องตามหลักของพระพุทธศาสนาหรือของพระพุทธเจ้า ทำไปโดยอำนาจของความเขลาในของศักดิ์สิทธิ์ เชื่อในของขลังของศักดิ์สิทธิ์ บางทีตัวเองก็อาจจะรู้เหมือนกันว่า ไม่ใช่เรื่องของพุทธศาสนา แต่เมื่อไม่อาจจะละได้ ก็เลยถือว่าเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ฝากไว้ ในฐานะเป็นของผนวกเข้ากับพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็เกี่ยวกับเรื่องผีสางเทวดาเป็นส่วนมาก ถ้าใครยังสะดุ้งกลัวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยอำนาจอุปาทาน หรือ สีลัพพตปรามาสอย่างนี้แล้ว ก็ขอให้มั่นใจเถอะว่าคนนั้นยังมีความงมงาย ไม่ว่าจะเป็นคนชนิดไหนหรืออยู่ในเพศใด

อำนาจของความกลัวและความงมงายทำให้คนต้องกันเข้าหาที่พึ่งภายนอก คือแทนที่จะพึ่งความดีที่ตนเองกระทำ กลับไปพึ่งที่พึงภายนอก แล้วแต่เขาจะมีความงมงายไปทางไหน อาจจะถือที่พึ่งเป็นผีสางเทวดาหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากลโลก หรือแม้ที่สุดการคิดพึ่งผู้อื่นอะไรก็ให้คนอื่นเขาช่วยเสียเรื่อยไป ถ้าไม่มีใครช่วยก็ถือว่าไม่ยุติธรรม อย่างนี้ก็ควรถือว่าเป็นการถือที่พึ่งภายนอกด้วยเหมือนกัน มีใครสักกี่คนที่มีความแน่ใจในการพึ่งการกระทำของตนเอง คือพึ่งความดี พึ่งการกระทำที่ถูกต้องของตนเอง แทบจะกล่าวได้ว่า คนที่มีจิตใจแน่วแน่กล้าหาญเฉียบขาดอย่างนี้หาได้ยากที่สุด มีแต่คนที่จะคิดพึ่งผู้อื่นแล้วยิ่งได้รับการสอนการอบรมมาผิด ๆ ก็ยิ่งคิดจะพึ่งผีสางนางไม้ พึ่งอะไรที่มองไม่เห็นตัวเหล่านั้นมากยิ่งขึ้น วัดความงมงายของคนได้ด้วยเหตุที่มีศาลพระภูมิมากขึ้น มีการดูฤกษ์ยามมากขึ้น ถ้ามีศาลพระภูมิ หรือมีหมอสะเดาะเคราะห์มากขึ้น ก็เป็นเครื่องแสดงที่แน่ชัดที่สุดว่า คนเราหวังที่พึ่งภายนอกมากขึ้น ๆ แทนการหวังที่พึงภายในคือการกระทำอันถูกต้องคลองธรรมด้วยสติปัญญาที่รุ่งเรืองตามองค์พระพุทธ พระธรรม และพระอริยสงฆ์ที่แท้จริง ซึ่งได้แก่การกระทำที่ถูกต้อง จนเกิดความสะอาด สว่าง สงบขึ้นในใจ

ยังมีเครื่องหมายแสดงให้เห็นว่า การถือที่พึ่งภายนอกมีมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งเชื่อได้ว่า ความงมงายไม่อยู่ในอำนาจแห่งเหตุผล ยิ่งหนาแน่นมากขึ้นเท่านั้น หุ้มห่อคนโง่เหล่านั้นให้มืดมิด ให้ตกจมไปในห้วงแห่งความงมงายมากขึ้น แล้วผลที่จะตามมาข้างหน้าต่อไปนั้น ก็จะต้องเป็นความสับสนยุ่งยากอลเวงมากขึ้นทุกที ๆ ตามสัดส่วนของความงมงาย จนกระทั่งเหลือวิสัยที่พวกเราจะปัดเป่าความยุ่งยากโกลาหลนี้ให้หมดสิ้นไปได้ เพราะว่าเราได้เพิ่มเติมความงมงายขึ้นในพวกของเรากันเองนี้อยู่เรื่อย ๆ ให้มันมากขึ้น ๆ เท่า ๆ กับที่การศึกษาในทางโลก ๆ ได้เจริญมากขึ้น พิสูจน์กันได้ง่าย ๆ โดยข้อเท็จจริงที่ว่าเครื่องหมายของการถือปัจจัยภายนอก เช่นการหวังพึ่งเทวดา หรือศาลพระภูมิ การดูฤกษ์ยาม หรือการอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากลโลก มันมีมากขึ้น หนาขึ้น มันไม่น้อยลง ผู้ที่มีความเข้าใจถูกต้องในพระพุทธศาสนา จะไม่อ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลกมาเป็นเครื่องบันดาล มันเพิ่งเกิดมีขึ้นใหม่ไม่นานมานี้เอง เราจะเห็นได้ว่าในประเทศไทยเรานี้ ยิ่งมีความงมงายหนาแน่นยิ่งขึ้นกว่ายุคก่อน ๆ เป็นอันว่า เราไม่ควรจะนอนใจว่า ความงมงายนั้นเป็นสิ่งที่ไม่น่าหวาดเสียว ไม่สำคัญสำหรับเรา “สีลัพพตปรามาส” ไม่ใช่ข้อปฏิบัติอย่างสุนัข อย่างโค แต่ร้ายไปยิ่งกว่าการปฏิบัติอย่างสุนัข อย่างโคเสียอีก ทำไมจึงว่าอย่างนี้ ถ้าเราจะพิจารณาดู ก็จะเห็นว่าสุนัขหรือโคที่เขาอ้างถึงในอรรถกถา มันไม่ได้กลัวผีกลัวเทวดา มันไม่ได้อ้อนวอนพระภูมิเหมือนกับพวกมนุษย์ มันไม่ได้หมอบกราบสิ่งที่มันไม่รู้จักตัวเหมือนกับพวกมนุษย์ ใครเคยเห็นสุนัขหรือโคกลัวผีกลัวเทวดา หรือทำพิธีบวงสรวงอ้อนวอน เราจะเห็นว่าไม่มีเลย แต่แล้วทำไมมนุษย์ที่เจริญด้วยการศึกษากลับมาหมอบราคาบแก้วหัวจรดดินไหว้ผีไหว้สาง บวงสรวงบุชาเทวดา อันไหนมันจะร้ายกว่ากัน ไม่ต้องสงสัยละ ความงมงายของคนที่เป็นถึงขนาดนี้ มันย่อมร้ายกาจยิ่งไปกว่าศีลและวัตรของสุนัขหรือโคแน่ ๆ

อาตมาอยากจะขอยกตัวอย่างง่าย ๆ อีกสักเรื่องหนึ่งว่า ถ้าใครเรียนวิชาความรู้โดยผิดความมุ่งหมายของวิชานั้นก็ถือว่าเป็น “สีลัพพตปรามาส” เหมือนกัน เช่นภิกษุเรียนธรรมวินัยด้วยความมุ่งหมายผิดไปจากธรรมวินัยแล้ว ต้องถือว่าการกระทำนั้นเป็นความงมงาย อีกอย่างหนึ่งมีพระบาลีพุทธภาษิตว่า “พวกโมฆบุรุษนี้เรียนปริยัติ เพราะปรารภเสียงสรรเสริญของปริยัติ และเพื่อจะใช้เป็นเครื่องอ้างเพิ่มน้ำหนักให้เป็นคำพูดของตนเอง” ลองฟังดูให้ดี ๆ ถ้าใครก็ตามเรียนปริยัติ เรียนธรรมะและวินัย เพราะความปรารถนาสรรเสริญของโลก หรือว่าเรียนให้รู้แตกฉาน เพื่อจะได้เอามาประกอบคำพูดของตัวให้มีน้ำหนักก็ดี อย่างนี้ท่านเรียกว่า “โมฆบุรุษ” คือเป็นคนไม่ได้รับประโยชน์จากธรรมวินัย ความมุ่งหมายของการเรียนธรรมวินัยก็คือ เพื่อให้รู้ว่าอะไรเป็นทุกข์ อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ และปฏิบัติอย่างไรจึงจะเกิดทุกข์ อย่างนี้เท่านั้น ใครเรียนเพื่อลาภ ยศ สักการะ เสียงสรรเสริญ ฯลฯ ไม่ได้เรียนสำหรับนำไปปฏิบัติเพื่อดับทุกข์โดยตรงแล้ว ท่านเรียกว่าเป็น “โมฆบุรุษ” ซึ่งถือว่าเป็นคำด่าอย่างแรงที่สุดในพุทธศาสนา

ฉะนั้นเรื่องสีลัพพตปรามาสนี้ เราจะต้องพิจารณากันเสียใหม่ อย่าได้ปล่อยไว้ในฐานะเป็นเรื่องเล็กน้อย ที่ได้นำมากล่าวอย่างซ้ำซาก และยกตัวอย่างไว้อย่างกว้างขวางเช่นนี้ ก็เพราะอาตมามีความสลดใจ หรือมีความเป็นห่วงเป็นทุกข์แทนพวกเราทุกคน ในการมี่ไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าความงมงาย พวกเราได้ปล่อยให้สิ่งนี้ขยายตัวกว้างออกครอบคลุมพวกเรามากขึ้น ๆ คล้ายกับว่า เราได้เผลอปล่อยให้สิ่งที่น่าสะดุ้งน่าหวาดเสียวนี้ครอบงำพวกเรามากขึ้นทุกที ความงมงายเกิดขึ้นโดยไม่รู้สึกตัว ถ้ารู้สึกตัวเสียแล้วก็ไม่ใช่ความงมงาย ถ้าเรายิ่งเผลอ หรือยิ่งทำเล่น ๆ กับมันมากเพียงใด ความงมงายก็ยิ่งขยายตัวขึ้นมากเพียงนั้น ฉะนั้น หวังว่าคนทุกคนคงจะได้สอบสวนพิจารณาตัวเองให้รู้จักสิ่งที่ควร เรียกว่า “ความงมงาย” นี้ให้มากเป็นพิเศษกว่าที่แล้ว ๆ มา ขอให้เข้าใจว่า ความงมงายคือเรื่องที่ไม่อยู่ในอำนาจของเหตุผลทุกชนิด เป็นสมบัติชิ้นที่ ๓ ของปุถุชนที่ได้อุตส่าห์หอบหิ้วแบกหามกันมานานหนักหนาแล้วนับตั้งหมื่นปี แสนปี มาจนกระทั่งบัดนี้ ยังไม่ยอมปล่อย ฉะนั้นปุถุชนเหล่านี้จึงเข้าไปในเขตของพระอริยเจ้าไม่ได้ เพราะมัวคิดหรือมัวแต่แบกหามหอบหิ้วสมบัติชิ้นที่ ๓ นี้กันอย่างไม่หยุดหย่อน จึงนับว่าเป็นสิ่งที่น่าสะดุ้งหวาดเสียวที่สุด เพราะว่าตั้งหลายหมื่นหลายแสนปีแล้วที่ได้หอบหิ้วกันมา และเป็นเครื่องกักขังตัวเองไว้ในกรงของปุถุชนคนหนา อย่างที่ไม่มีวันที่จะหลุดออกได้ เราต้องอาศัยหลักพระพุทธศาสนามาเป็นเครื่องมือสำหรับถอนความงมงายข้อนี้ แล้วเราจึงจะเข้าถึงตัวพระพุทธศาสนาที่แท้จริง

ทีนี้จะกล่าวถึงหลักพระพุทธศาสนาที่เป็นเครื่องขจัดหรือถ่ายถอนความงมงายหลักนี้เราเรียกว่า “กาลามสูตร” หรือ เกสปุตติยสูตร เป็นพุทะภาษิตจัดไว้สำหรับแก้ไขความงมงาย เฉพาะเรื่องเดิมมีอยู่ว่า คนกลุ่มหนึ่งได้ทูลถามสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ถึงข้อที่เขากำลังงงกันไปหมดโดยไม่อาจทราบได้ว่า ข้อปฏิบัติอย่างใดจะดับทุกข์ได้โดยตรง ครูบาอาจารย์พวกนี้ก็มาสอนอย่างหนึ่ง พวกโน้นก็มาสอนอีกอย่างหนึ่ง มากมายหลายพวกด้วยกัน จนไม่รู้ว่าอันไหนเป็นที่เชื่อถือได้ ขอให้พระผู้มีพระภาคเจ้าช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ให้แก่เขา

ลักษณะเช่นนี้ เราน่าจะนำมาเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในยุคของพวกเราทุกวันนี้บ้างเหมือนกัน เพราะว่าในปัจจุบันนี้ ก็มีหลักปฏิบัติพุทธศาสนาในพระไตรปิฎกบ้าง นอกพระไตรปิฎกบ้าง ครึ่ง ๆ กลาง ๆ บ้าง ของไทยบ้าง ของต่างประเทศบ้าง ดูจะสับสนวุ่นวายกันพอใช้ จนประชาชนที่สนใจเกิดงงงันกันไป แล้วเราจะทำอย่างไร ฉะนั้นน่าจะอาศัยการแก้ปัญหาข้อนี้ของพระผู้มีพระภาคเจ้าเช่นเดียวกัน คือพระองค์ได้ตรัสสอนคนเหล่านั้นว่า

๑. อย่าได้ถือโดยเหตุสักว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่บอกต่อ ๆ กันมา ๒. อย่าเชื่อโดยเหตุสักว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เขาได้ทำตาม ๆ กันมา ๓. อย่าได้เชื่อโดยเหตุสักว่า มันเล่าลือกันกระฉ่อนไปหมดแล้ว ว่าเป็นความจริง ๔. อย่าได้เชื่อถือโดยเหตุสักว่า มันมีอ้างอยู่ในคัมภีร์หรือปิฎก (ตำรับตำรา) ๕. อย่าได้เชื่อถือโดยการเดาของตัวเอง ๖. อย่าได้เชื่อถือโดยการคาดคะเนของตัวเอง ๗. อย่าได้เชื่อถือโดยการตรึกตรองตามเหตุผลส่วนตัว ๘. อย่าได้เชื่อถือโดยเหตุสักว่า มันเข้ากันได้กับลัทธิความเชื่อถือที่ตนกำลังถืออยู่เป็นประจำ ๙. อย่าได้เชื่อถือโดยเหตุสักว่า ผู้พูดหรือผู้สอนนั้นเป็นครูบาอาจารย์ของเรา

ในข้อสุดท้ายนี้ ขอให้เข้าใจไว้ด้วยว่า คำว่า “ครูบาอาจารย์” นั้น หมายถึงพระพุทธเจ้าท่านเองด้วย เพราะว่าในบาลีแห่งอื่นได้กล่าวไว้ชัดเจน พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธว่า “อย่าเชื่อโดยเหตุว่าตถาคตกล่าว” หรือ “อย่าเชื่อคำของตถาคต โดยไม่พิจารณาให้เห็นแจ้งเห็นจริง” นี่เราจะเห็นว่า พระพุทธเจ้าท่านได้มีพุทธประสงค์จะให้เราหลุดพ้นจากการเป็นทาสของความงมงายเพียงไร ท่านให้อิสรภาพอย่างไร ท่านให้เราเป็นผู้กล้าหาญในการวิพากษ์วิจารณ์อย่างไร ท่านทรงมุ่งหมายให้เราหลุดจากความเป็นคนงมงายโดยเด็ดขาด เพราะความงมงายนี้ ย่อมเป็นอุปสรรคอันดับแรกของการที่จะดำเนินไปสู่เขตแดนของพระอริยเจ้า

ข้อแรกที่ว่า อย่าเชื่อเพราะเหตุสักแต่ว่าคนเขาบอกต่อ ๆ กันมา นี่ก็หมายถึงสิ่งที่เขาสอน ๆ กันมาตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงคนชั้นนี้ เราจะถือว่าถูกต้องตามไปด้วยนั้นยังไม่ได้ เราจะต้องใช้ปัญญาของเราพิจารณาด้วย

ข้อ ๒. ที่ว่า อย่าเชื่อเพราะเขาทำตาม ๆ กันมา ก็ด้วยการทำด้วยกายให้เป็นตัวอย่าง เช่น พ่อแม่ตื่นนอนขึ้น ก็เสกคาถาอย่างนั้นอย่างนี้ ลุกหลานเห็นเข้าก็เสกคาถาตาม การไหว้ทิศ ไหว้พระอาทิตย์ หรือไหว้ของศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ก็เช่นเดียวกัน พอลูกหลานเห็นบิดามารดาทำ ก็ทำตามไปด้วย พ่อแม่คนใดออกไปนอกพระพุทธศาสนา เด็ก ๆ ก้ออกไปตามโดยไม่รู้สึกตัว นี่เป็นการสอนเด็กของเราให้หันเหออกไปนอกพระพุทธศาสนา ไปรับเอาลัทธิที่งมงายเป็นภัยเป็นอันตรายแก่เด็กเองมากยิ่งขึ้นทุกที ๆ และพวกเด็กไม่มีเหตุผลของตนเองว่าทำไปแล้วมันจะเกิดทุกข์เกิดโทษอย่างไร เมื่อมีการสอนด้วยวาจา หรือการกระทำให้ดูเป็นตัวอย่าง เด็กก็ตะครุบเอาทันที เป็นอันว่า การใช้สติปัญญาพิจารณาโดยเหตุผล ไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นได้เลย ฉะนั้น การบอกต่อ ๆ กันมาหรือการทำตาม ๆ กันมา การอ้างประเพณีนั้นประเพณีนี้ จึงเป็นทางทำให้เกิดความงมงายขึ้นเท่านั้น แม้ในเรื่องการวิปัสสนาหรือกรรมฐาน คนเราก็กลับนิยมสิ่งที่บอกต่อ ๆ กันมา หรือทำตาม ๆ กันมา หรือเชื่อข่าวเล่าลือมากกว่าที่จะยึดเอาตามหลักเกณฑ์ที่มีอยู่ในตำราเสียอีก คิดดูให้ดี ๆ เพียงแต่ว่ามีอยู่ในตำรา พระพุทธเจ้าท่านก็ยังห้ามไม่ให้ยึดถือทันที แต่แล้วพวกเราก็ยังยึดถือสิ่งที่อยู่นอกตำรับตำราทันที

วิปัสสนากรรมฐานเรื่องอานาปานสติ มีอยู่อย่างสมบูรณ์ในตัวพระไตรปิฎกเอง โดยเฉพาะที่เป็นหัวข้อแท้ ๆ มีอยู่ในมัชฌิมนิกาย การทำอานาปานสติอย่างไรตั้งแต่ต้นถึงที่สุดก็มีอยู่ยืดยาวสมบูรณ์ที่สุด ถูกต้องที่สุดตามหลักของพระพุทธศาสนา แต่แล้วก็ไม่มีใครสนใจเลย สู้เอาตามที่เขาบอกต่อ ๆ กันมาด้วยปากไม่ได้ สู้เอาที่เขาทำตามกันมาอย่างปรัมปราไม่ได้ หรือสู้แบบที่เขาเล่าลือแตกตื่นสรรเสริญกันฟุ้งไปหมดว่าที่นั่นวิเศษ ว่าที่นี่วิเศษไม่ได้ อันนี้เองจึงเป็นเหตุให้เกิดวิปัสสนาอย่างงมงายกันขึ้น เพราะโทษที่ไม่ถือตามที่พระพุทธเจ้าท่านทรงกำชับไว้ อาตมาไม่ได้ตั้งใจกระทบกระเทียบกระแนะกระแหนผู้ใด หรือหมู่คณะใด ประสงค์จะยกตัวอย่างเรื่องจริง ๆมาปรับทุกข์กันมากกว่า ว่าการตื่นข่าวเล่าลือหรือว่าความเชื่ออย่างงมงายที่บอกต่อ ๆ กันมาตาม ข้อ ๓ นี้นั้น มันทำให้เกิดความงมงายขึ้นในวงการชั้นสูงของพระพุทธศาสนา กล่าวคือวงการของวิปัสสนาอันเป็นขั้นที่จะบรรลุมรรคผลนิพพาน แต่แล้วก็ถูกความงมงายครอบงำทับไปหมด สูญสิ้นไปหมด เกิดวิปัสสนากรรมฐานชนิดที่นอกตำรับตำราขึ้นมาแทน นี่แหละเป็นที่น่าสลดสังเวชใจและน่าห่วงสักเพียงใด ขอให้เราลองใช้ปัญญาคิดกันดู

ข้อที่ ๔. พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า พวกเธออย่าเชื่อโดยเหตุสักว่า สิ่งนี้มีอ้างอยู่ในตำรับตำรา แต่การที่อาตมาชักชวนท่านทั้งหลายให้ถืออานาปานสติกรรมฐาน โดยอ้างว่ามีอยู่ในพระไตรปิฎกนั้น ที่แท้แล้วอาตมาไม่ต้องการให้ท่านทั้งหลายยึดถือเอาข้อปฏิบัติเหล่านี้ โดยเหตุแต่เพียงว่า มันมีอยู่ในตำรา แต่ได้ชี้ให้เห็นว่า มันมีอย่างสมบูรณ์ในพระไตรปิฎก ซึ่งเราจะต้องพิจารณาศึกษาให้ละเอียดให้เข้าใจแจ่มแจ้งชัดเจนด้วยสติปัญญาของตัวเอง ว่าถ้าเราทำไปอย่างนี้แล้ว ในระดับนี้ จิตจะสงบเป็นสมาธิได้จริง ในระดับนี้จิตจะยกเอาความสุขที่เกิดจากสมาธินั้น มาเป็นอารมณ์ของการพิจารณาให้เห็นว่า ความสุขอย่างนี้มันก็ไม่เที่ยง ไม่น่ายึดถือ และในขั้นสุดท้ายก็จะต้องปล่อยทั้งหมด นับว่าเป็นการพิจารณาโดยสติปัญญาของตนเอง แล้วก็เห็นสมจริงตามข้อความที่ท่านกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก มันเกิดผลขึ้นมาจริงอย่างไรนั้นเป็นลำดับ ๆ ไป การแน่ใจอย่างนี้ไม่ใช่ความงมงาย เพราะได้พิจารณาโดยเหตุผลแล้วยังได้ปฏิบัติตั้งแต่ต้นจนตลอด และรู้จักสิ่งเหล่นั้นด้วยการที่ได้ผ่านไปจริง ๆ กลายเป็นความรุ้แจ้งแทงตลอดด้วยปัญญาหยั่งรู้หยั่งเห็น ส่วนความงมงายนั้นมันไม่ประกอบด้วยเหตุผลเสียเลย มันจึงเป็นสิ่งที่ท่านสมเพชเวทนาอย่างยิ่ง

ข้อที่ ๕ – ๖ – ๗ เกี่ยวกับ การเดาเอาเอง คาดคะเนเอาเอง และตรึกตรองตามเหตุผลส่วนตัว หรือสิ่งแวดล้อมเฉพาะตัว ๓ ข้อนี้เป็นความงมงายอย่างหนัก จริงอยู่ที่คนพวกนี้เขาไม่เชื่อตำรา ไม่ตื่นข่าวเล่าลือที่บอกกันต่อ ๆ มา หรือทำสืบ ๆ กันมา แต่กลับเดาเอาเอง ใช้เหตุผลในเรื่องของตัวเอง อย่าได้ถือว่าการใช้สติปัญญาของตนเองแล้วจะไม่เป็นการงมงายเสมอไป มันอาจเป็นความงมงายที่ซ้อนความงมงาย คือตัวนึกว่าตัวมีปัญญาของตัวเองจนไม่เชื่อคำของคนอื่น แต่ที่ถูกนั้นเราจะต้องอาศัยเหตุผลอย่างอื่น ๆ เข้ามาประกอบการนึกคิดของเราด้วย แม้สิ่งที่คนบอกเล่ากันมาก็เอามาประกอบเป็นเหตุผล ถ้าทำอย่างนี้การคาดคะเนจะผิดน้อยลง อย่างไรก็ตามพระพุทธเจ้าท่านว่ายังไม่พอ ท่านต้องลองให้ปฏิบัติดูจนเกิดผลปรากฏขึ้นมาจริง ๆ แล้ว ข้อที่ ๕ – ๖ – ๗ นี้จึงจะปลอดภัย

ข้อที่ ๘. ที่ว่า อย่าเชื่อเพราะมันตรงกับลัทธิของตน นั้น หมายความว่า ตามธรรมดา คนเราทุกคนย่อมมีทิฏฐิหรือความเชื่อ ความคิด ความเห็น ความเข้าใจอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นของประจำตัวอยู่เสมอ นี่เรียกว่าลัทธิของตัว เป็นลัทธิความเชื่อที่สร้างขึ้นเอง ยึดมั่นถือมั่นเองอย่างเหนียวแน่น และยกขึ้นเป็นสัจจธรรมของตัวเอง ตามธรรมชาติของคนทั้งหลายเขาจะไม่เชื่อสิ่งต่าง ๆ นอกเหนือไปกว่าที่เขากำลังเข้าใจอยู่ในขณะนั้น ถ้าเขามีความรู้เท่าใด เคยเชื่ออย่างไรและสันดานอย่างไร เขาจะยึดเอาเพียงแค่นั้นว่าเป็นความจริงถูกต้องของเขา จนกว่าเขาจะได้รับการศึกษาเพิ่มเติมขึ้นอีก หรือปฏิบัติเพิ่มเติมก้าวหน้าต่อไปอีก ความจริงหรือความเชื่อของเขาจึงจะก้าวหน้าต่อไปได้ สัจจธรรมของบางคนก็อยู่ในระดับต่ำมาก เช่นความเชื่อของเด็ก ๆ หรือของคนเกเรอันธพาล แต่เขาก็ถือว่าของเขาถูก ถึงหากบางทีเขาไม่กล้าค้านความเห็นของบุคคลอื่นเพราะจำนนต่อเหตุผล เขาอาจจะยอมรับเอออวยไปด้วย ซึ่งก็เป็นแต่ปากเท่านั้น ส่วนใจจริงของเขายังถือตามความเชื่อเดิมของตน ลัทธิเดิมจึงเป็นสิ่งครอบงำคนนั้นอย่างเหนียวแน่นควบคุมหรือป้องกันคนคนนั้นไม่ให้หลุดไปจากความงมงายได้ ขอเราทุกคนอย่าได้ตกอยู่ในลักษณะอย่างนี้ จงค่อย ๆ ถอนตัวออกมาจากความเชื่อเดิม ๆ มาสู่สัจธรรมที่เป็นของจริงของแท้ของพระพุทธเจ้า มิฉะนั้นแล้วคนนั้นจะต้องตกอยู่ในความเชื่อของตัวตลอดไป และจะถูกล่อลวงเมื่อไรก็ได้ ถ้าคนหลอกลวงเหล่านั้นเขามีอะไรมาให้ ชนิดจะเข้ากันได้กับความเชื่อเดิม ๆ ของตน ความงมงายนั้นก็จะทำให้ผู้นั้นรับเอาทันทีอย่างไม่ลืมหูลืมตา ถูกล่อลวงโดยไม่รู้ตัวว่าถูกล่อลวง เพราะมันตรงกับความเชื่อของตนอยู่ดั้งเดิม และผู้พูดก็อยู่ในฐานะที่พอจะเชื่อได้เสียด้วย เช่น พวกนักบวชเป็นต้น

ข้อที่ ๙. ที่ว่า อย่าเชื่อเพราะผู้พูดอยู่ในฐานะที่พอจะเชื่อได้ นี้ ขอยกตัวอย่างเกี่ยวกับอาตมาเอง คือมีคนชอบอ้างว่า “ถ้าไม่เชื่อก็ให้ถามท่านดูซิ” นี่แสดงว่า เขาจะให้คนอื่นเชื่ออาตมา เพราะอาตมาอยู่ในฐานะที่พอจะเชื่อได้ อย่างนี้แล้ว ถ้าอาตมาร่วมมือก็รู้สึกว่าเป็นการร่วมกันกบฏต่อพระพุทธศาสนา และล้มล้างระเบียบของพระพุทธเจ้า ฉะนั้น ยอมไม่ได้ เราต้องตักเตือนเขาให้พิจารณาดูด้วยสติปัญญาของตัวเอง ให้เข้าใจคำพูดหรือตัวหนังสือทุก ๆ ประโยค แล้วให้เขาไปสอดส่องจนเกิดความเห็นแจ้งขึ้นมาเอง ฉะนั้นเราควรเลิกอ้างบุคคล เชื่อถือคำพูดของบุคคล เชื่อความคิดของใคร ๆ แต่เราจะรับฟังไว้ในฐานะว่า ท่านพอจะเชื่อได้บ้าง แต่ท่านก็อาจจะเข้าใจเรื่องผิด ฟังผิด สำคัญผิด วินิจฉัยผิดไปได้เหมือนกัน เราจะรับคำของท่านไปพิจารณาดูเท่านั้น เราจะไม่ถือเอาคำพูดของท่านเป็นคำพิพากษาเด็ดขาด

ข้อที่ ๑๐. อันเป็นข้อสุดท้ายว่า อย่าเชื่อเพราะเหตุที่เป็นครูบาอาจารย์ของเรา ทำไมพระพุทธเจ้าจึงตรัสอย่างนี้ คล้ายกับว่า จะไม่ให้เราเชื่อบิดามารดาครูบาอาจารย์ เดี๋ยวนี้เรามีปัญหาเฉพาะหน้าที่ทำความยุ่งยากมากอยู่แล้ว คือเด็ก ๆ ไม่ค่อยเชื่อบิดามารดาครูบาอาจารย์ แต่แล้วทำไมพระพุทธเจ้าท่านจึงสอนเช่นนั้น เรื่องนี้ต้องวินิจฉัยกันให้มากสักหน่อย มิฉะนั้นแล้วจะเข้าใจความหมายข้อนี้ผิด คือเราต้องแบ่งคนตามขั้นของจิตใจ เมื่อใครไม่อยู่ในวิสัยที่จะคิดนึกได้ด้วยตนเอง ผู้นั้นก็ต้องอยู่ในกรอบของระเบียบประเพณีไปก่อน นี่หมายความว่า เมื่อใครยังไม่มีเหตุผลพอที่จะลบล้างขนบธรรมเนียมประเพณี ก็จำต้องเชื่อไปก่อน เหมือนเด็กจะต้องเชื่อบิดามารดาครูบาอาจารย์ไว้ก่อน เมื่อโตขึ้น ค่อยศึกษา ค่อยวินิจฉัยวิพากษ์วิจารณ์สิ่งเหล่านั้นในภายหลัง จนกระทั่งรู้ว่า ตัวเองผิดอย่างไร ถูกอย่างไรได้ด้วยตนเอง ยิ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์วินิจฉัยมากขึ้นเท่าใด คำแนะนำสั่งสอนก็พิสูจน์ตัวเอง ว่า ถูกหรือผิดมากขึ้นเท่านั้น ฉะนั้นการที่เด็ก ๆ จะต้องเชื่อฟังบิคามารดาครูบาอาจารย์ในที่นี้จึงไม่ขัดกับ “กาลามสูตร” แต่ส่วนมากก็คือว่า เด็กไม่ยอมเชื่อ เพราะมันไม่ตรงกับความต้องการของตัวเอง หรือด้วยความสำคัญผิด ฉะนั้นจึงต้องทำความเข้าใจในข้อ ๑๐ นี้ให้ดี ๆ มิฉะนั้นจะไปลบหลู่บิดามารดาครูบาอาจารย์เข้าก็ได้ พระพุทธเจ้าท่านไม่เคยสอนอะไรผิด แต่เราไม่ได้เชื่อตามท่านทันที

ในบรรดาความงมงายทั้งสิบประการนี้ ขอให้พวกเราสำรวจตัวเองดูว่า มันมีอยู่ในตัวเราข้อใดบ้าง และมากน้อยเพียงใด พระพุทธเจ้าท่านถือว่า ความงมงายนี้เป็นเหตุอันหนึ่งซึ่งจะนำคนไปสู่ความพินาศตามความต้องการของพญามาร คือ กิเลสตัณหา ที่ทำให้เกิดความทุกข์ ชนิดที่เรียกว่า ตกนรกทั้งเป็น การตกบ่อ บ่อที่มีหอกแหลนหลาวนั้นเป็นการเจ็บเพียงแต่กาย ไม่ได้ทำให้คนเสียมนุษยธรรมหรืออะไรดี ๆ ของมนุษย์เลย แต่ถ้าเราตกบ่อความงมงายเหล่านี้ มันจะสูญเสียความเป็นมนุษย์ เสียคุณธรรมที่ดีหมด จึงถือได้ว่าน่ากลัว น่าหวาดเสียว ยิ่งกว่าความตายทางกาย ความตายทางจิตใจนี้ คือตายหรือตกจมอยู่ในความมืดของความโง่ หลง แต่พวกเรากลับไม่กลัวกันเลย ไปกลัวความเจ็บไข้ความตายทางกาย กลัวอด กลัวไม่ได้อะไรมาบำรุงร่างกาย จึงได้กล้าทำสิ่งต่าง ๆ ที่ผิดศีลธรรม เมื่อผิดศีลธรรมแล้วก็ไม่ต้องสงสัย มันย่อมขัดขวางความบรรลุมรรคผลนิพพาน จึงหวังว่าท่านทั้งหลายคงจะได้พิจารณากันดูให้รู้จักสมบัติชิ้นที่ ๓ ของปุถุชนที่อุตส่าห์หอบหิ้วกันมาแต่สมัยดึกดำบรรพ์โน้น คือสมัยที่ยังเป็นครึ่งคนครึ่งสัตว์ มาจนกระทั่งทุกวันนี้โดยไม่เสื่อมสิ้นไปได้ เพราะอำนาจของอะไร เพราะอำนาจของสีลัพพตปรามาสนั่นเอง ถ้าความเชื่อความงมงายนี้ยังไม่ถูกละออกจากตัวใครแล้ว คนนั้นก็ไม่มีหวังจะเข้าไปถึงเขตของพระอริยเจ้า ทั้ง ๆ ที่ตนจะทำวิปัสสนาชนิดไหนมากเท่าใด และประพฤติปฏิบัติกันอย่างไร การปฏิบัติธรรมของผู้นั้น จะถูกลูบคลำให้เศร้าหมองไปด้วยความงมงายโดยสิ้นเชิง ฉะนั้น ควรถือว่า ความงมงาย หรือที่เรียกว่า ความไม่อยู่ในอำนาจของเหตุผลนั้น เป็นปัญหาที่จะต้องสนใจอย่างยิ่ง ไม่ควรปล่อยปละละเลยต่อไปอีก

ที่มา: http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/buddhadas/bdd-32.htm
"อำนาจวาสนา ต้องอาศัยความเพียร" (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)

"อำนาจวาสนา ต้องอาศัยความเพียร" (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)

"..การสร้างวาสนาให้สมบูรณ์ขึ้นมา" ให้มีอำนาจวาสนามาก ก็สร้างที่ตัวเราเอง" สร้างทีละเล็กละน้อย สร้างไม่หยุดไม่ถอยก็สมบูรณ์ไปเอง เช่นเดียวกับปลวกมันสร้าง "จอมปลวก" ได้ใหญ่โตขนาดไหน ขุดเป็นเดือน ๆ ก็ไม่ราบ เมื่อจะขุดให้มันราบเหมือนที่ดินทั้งหลาย "ฟันมันสองซี่เท่านั้นแหละ มันสามารถสร้างจอมปลวกได้เกือบเท่าภูเขา" นี่แหละความพากเพียรของมัน

เรามีความสามารถฉลาดในอุบายวิธีต่าง ๆ ยิ่งกว่าปลวก "ฟันเราก็หลายซี่ กำลังของเราก็มากยิ่งกว่าปลวก" ทำไมเราจะสร้างตัวเราให้มีความสูงเด่นขึ้นไม่ได้ "ถ้าเรามีความเพียรเหมือนกับปลวกน่ะ! นอกจากไม่เพียรเท่านั้นจึงจะสู้มันไม่ได้" ต้องสร้างให้สูงได้ด้วยอำนาจแห่งความเพียร จะหนีความเพียรไปไม่พ้น... "

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน 

http://www.luangta.com/thamma/thamma_talk_text.php?ID=1597&CatID=1 

การฝึกใจ

ชีวิตคนในสมัยของท่านอาจารย์มั่น และท่านอาจารย์เสาร์นั้น สบายกว่าในสมัยนี้มาก ไม่มีความวุ่นวายมากเหมือนอย่างทุกวันน ี้สมัยโน้นพระไม่ต้องมายุ่งเกี่ยวกับพิธีรีตองต่างๆ เหมือนอย่างเดี๋ยวนี้ท่านอาศัยอยู่ตามป่า ไม่ได้อยู่เป็นที่หรอก ธุดงค์ไปโน่น ธุดงค์ไปนี่เรื่อยไป ท่านใช้เวลาของท่านปฏิบัติภาวนาอย่างเต็มที่.  สมัยโน้นพระท่านไม่ได้มีข้าวของฟุ่มเฟือยมากมายอย่างที่มีกันทุกวันนี้หรอก เพราะมันยังไม่มีอะไรมากอย่างเดี๋ยวนี้ กระบอกน้ำก็ทำเอา กระโถนก็ทำเอา ทำเอาจากไม้ไผ่นั่นแหละ

ความสันโดษของพระป่า  

ชาวบ้านก็นานๆจึงจะมาหาสักที ความจริงพระท่านก็ไม่ได้ต้องการอะไร ท่านสันโดษกับสิ่งที่ท่านมี ท่านอยู่ไป ปฏิบัติภาวนาไปหายใจเป็นกรรมฐานอยู่นั่นแหละ. พระท่านก็ได้รับความลำบากมากอยู่เหมือนกัน ในการที่อยู่ตามป่าตามเขาอย่างนั้น ถ้าองค์ใดเป็นไข้ป่า ไข้มาลาเรีย ไปถามหาขอยาอาจารย์ก็จะบอกว่า "ไม่ต้องฉันยาหรอก เร่งปฏิบัติภาวนาเข้าเถอะ".  ความจริงสมัยนั้นก็ไม่มีหยูกยามากอย่างสมัยนี้ มีแต่สมุนไพรรากไม้ที่ขึ้นอยู่ตามป่า พระต้องอยู่อย่างอดอย่างทนเหลือหลาย ในสมัยนั้นเจ็บไข้เล็กๆน้อยๆ ท่านก็ปล่อยมันไป เดี๋ยวนี้สิเจ็บป่วยอะไรนิดหน่อยก็วิ่งไปโรงพยาบาลแล้ว. บางทีก็ต้องเดินบิณฑบาตตั้งห้ากิโล พอฟ้าสางก็ต้องรีบออกจากวัดแล้ว กว่าจะกลับก็โน่นสิบโมงสิบเอ็ดโมงโน่น แล้วก็ไม่ใช่บิณฑบาตได้อะไรมากมาย บางทีก็ได้ข้าวเหนียวสักก้อน เกลือสักหน่อย พริกสักนิด เท่านั้นเอง ได้อะไรมาฉันกับข้าวหรือไม่ก็ช่างท่านไม่คิด เพราะมันเป็นอย่างนั้นเอง ไม่มีองค์ใดกล้าบ่นหิวหรือเพลียท่านไม่บ่น เฝ้าแต่ระมัดระวังตน. ท่านปฏิบัติอยู่ในป่าอย่างอดทน อันตรายก็มีรอบด้าน สัตว์ดุร้ายก็มีอยู่หลายในป่านั้น ความยากลำบากกาย ลำบากใจในการอยู่ธุดงค์ก็มีอยู่หลายแท้ๆ แต่ท่านก็มีความอดความทนเป็นเลิศ เพราะสิ่งแวดล้อมสมัยนั้นบังคับให้เป็นอย่างนั้น

การภาวนาของท่านนักปฏิบัติสมัยนี้

มาสมัยนั้นสิ่งแวดล้อมบังคับเราไปในทางตรงข้ามกับสมัยโน้นไปไหนเราก็เดินไป ต่อมาก็นั่งเกวียนแล้วก็นั่งรถยนต์ แต่ความทะยานอยากมันก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เดี๋ยวนี้ถ้าไม่ใช่รถปรับอากาศ ก็จะไม่ยอมนั่งดูจะไปเอาไม่ได้เทียวแหละ ถ้ารถนั้นไม่ปรับอากาศ คุณธรรมในเรื่องความอดทนมันค่อยอ่อนลงๆ การปฏิบัติภาวนาก็ย่อหย่อนลงไปมากเดี๋ยวนี้เราจึงเห็นนักปฏิบัติภาวนาชอบทำตามความเห็น ความต้องการของตัวเอง.  เมื่อผู้เฒ่าผู้แก่พูดถึงเรื่องเก่าๆแต่ครั้งก่อน คนเดี๋ยวนี้ฟังเหมือนว่าเป็นนิทานนิยาย ฟังไปเฉยๆแต่ไม่เข้าใจเลยแหละ เพราะมันเข้าไม่ถึง พระภิกษุที่บวชในสมัยก่อนนั้นจะต้องอยู่กับพระอุปัชฌาย์อย่างน้อยห้าปี นี่เป็นระเบียบที่ถือกันมา และต้องพยายามหลีกเลี่ยงการพูดคุย อย่าปล่อยตัวเที่ยวพูดคุยมากเกินไป อย่าอ่านหนังสือ แต่ให้อ่านใจของตัวเอง

พิจารณาอ่านใจและดูใจตัวเอง

ดูวัดหนองป่าพงเป็นตัวอย่าง ทุกวันนี้มีพวกที่จบจากมหาวิทยาลัยมาบวชกันมาก ต้องคอยห้ามไม่ให้เอาเวลาไปอ่านหนังสือธรรมะ เพราะคนพวกนี้ชอบอ่านหนังสือ แล้วก็ได้อ่านหนังสือมามากแล้ว แต่โอกาสที่จะอ่านใจของตัวเองน่ะหายากมาก ฉะนั้นระหว่างที่มาบวชสามเดือนนี้ ก็ต้องขอให้ปิดหนังสือ ปิดตำรับตำราต่างๆให้หมดในระหว่างที่บวชนี้น่ะ เป็นโอกาสวิเศษแล้วที่จะได้อ่านใจของตัวเอง.  การตามดูใจของตัวเองนี่ น่าสนใจมาก ใจที่ยังไม่ได้ฝึก มันก็คอยวิ่งไปตามนิสัยเคยชินที่ยังไม่ได้ฝึก ไม่ได้อบรม มันเต้นคึกคักไปตามเรื่องตามราว ตามความคะนอง เพราะมันยังไม่เคยถูกฝึก ดังนั้นจงฝึกใจของตัวเอง การปฏิบัติภาวนาในทางพุทธศาสนาก็คือการปฏิบัติเรื่องใจ ฝึกจิตฝึกใจของตัว ฝึกอบรมจิตของตัวเองนี่แหละเรื่องนี้สำคัญมาก การฝึกใจเป็นหลักสำคัญ พุทธศาสนาเป็นศาสนาของใจ มันมีเท่านี้ ผู้ที่ฝึกปฏิบัติทางจิต คือผู้ปฏิบัติธรรมในทางพุทธศาสนา

การฝึกใจ

ใจของเรานี่มันอยู่ในกรง ยิ่งกว่านั้นมันยังมีเสือที่กำลังอาละวาดอยู่ในกรงนั้นด้วย ใจที่มันเอาแต่ใจของเรานี้ ถ้าหากมันไม่ได้อะไรตามที่มันต้องการแล้ว มันก็อาละวาด เราจะต้องอบรมใจด้วยการปฏิบัติภาวนา ด้วยสมาธิ นี้แหละที่เราเรียกว่า "การฝึกใจ"

พื้นฐานของการปฏิบัติธรรม

ในเบื้องต้นของการฝึกปฏิบัติธรรม จะต้องมีศีลเป็นพื้นฐานหรือรากฐาน ศีลนี้เป็นสิ่งอบรมกาย วาจา ซึ่งบางทีก็จะเกิดการวุ่นวายขึ้นในใจเหมือนกัน เมื่อเราพยายามจะบังคับใจไม่ให้ทำตามความอยาก. กินน้อย นอนน้อย พูดน้อย นิสัยความเคยชินอย่างโลกๆ ลดมันลง อย่ายอมตามความอยาก อย่ายอมตามความติดของตน หยุดเป็นทาสมันเสีย พยายามต่อสู้เอาชนะอวิชชาให้ได้ด้วยการบังคับตัวเองเสมอ นี้เรียกว่าศีล. เมื่อพยายามบังคับจิตของตัวเองนั้น จิตมันก็จะดิ้นรนต่อสู้มันจะรู้สึกถูกจำกัด ถูกข่มขี่ เมื่อมันไม่ได้ทำตามที่มันอยาก มันก็จะกระวนกระวายดิ้นรน ทีนี้เห็นทุกข์ชัดละ

เห็นทุกข์ทำให้เกิดปัญญา

"ทุกข์" เป็นข้อแรกของอริยสัจจ์ คนทั้งหลายพากันเกลียดกลัวทุกข์ อยากหนีทุกข์ ไม่อยากให้มีทุกข์เลย ความจริง ทุกข์นี่แหละจะทำให้เราฉลาดขึ้นล่ะ ทำให้เกิดปัญญา ทำให้เรารู้จักพิจารณาทุกข์ สุขนั่นสิมันจะปิดหูปิดตาเรา มันจะทำให้ไม่รู้จักอด ไม่รู้จักทน ความสุขสบายทั้งหลายจะทำให้เราประมาท. กิเลสสองตัวนี้ทุกข์เห็นได้ง่าย ดังนั้นเราจึงต้องเอาทุกข์นี่แหละมาพิจารณา แล้วพยายามทำความดับทุกข์ให้ได้ แต่ก่อนจะปฏิบัติภาวนาก็ต้องรู้จักเสียก่อนว่าทุกข์คืออะไร.  ตอนแรกเราจะต้องฝึกใจของเราอย่างนี้ เราอาจยังไม่เข้าใจว่ามันเป็นอย่างไร ทำไป ทำไปก่อน ฉะนั้นเมื่อครูอาจารย์บอกให้ทำอย่างใดก็ทำตามไปก่อน แล้วก็จะค่อยมีความอดทนอดกลั้นขึ้นเองไม่ว่าจะเป็นอย่างไรให้อดทนอดกลั้นไว้ก่อน เพราะมันเป็นอย่างนั้นเองอย่างเช่นเมื่อเริ่มฝึกนั่งสมาธิ เราก็ต้องการความสงบทีเดียวแต่ก็จะไม่ได้ความสงบ เพราะมันยังไม่เคยทำสมาธิมาก่อน ใจก็บอกว่า"จะนั่งอย่างนี้แหละจนกว่าจะได้ความสงบ"

อย่าทอดทิ้งจิต

แต่พอความสงบไม่เกิดก็เป็นทุกข์ ก็เลยลุกขึ้น วิ่งหนีเลย การปฏิบัติอย่างนี้ไม่เป็น "การพัฒนาจิต" แต่มันเป็นการ "ทอดทิ้งจิต"ไม่ควรจะปล่อยใจไปตามอารมณ์ ควรที่จะฝึกฝนอบรมตนเองตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ขี้เกียจก็ช่าง ขยันก็ช่าง ให้ปฏิบัติมันไปเรื่อยๆ ลองคิดดูซิ ทำอย่างนี้จะไม่ดีกว่าหรือ การปล่อยใจตามอารมณ์นั้นจะไม่มีวันถึงธรรมของพระพุทธเจ้า. เมื่อเราปฏิบัติธรรม ไม่ว่าอารมณ์ใดจะเกิดขึ้นก็ช่างมัน แต่ให้ปฏิบัติไปเรื่อยๆ ปฏิบัติให้สม่ำเสมอ การตามใจตัวเองไม่ใช่แนวทางของพระพุทธเจ้า ถ้าเราปฏิบัติธรรมตามความคิดความเห็นของเรา เราจะไม่มีวันรู้แจ้งว่าอันใดผิด อันใดถูก จะไม่มีวันรู้จักใจของตัวเองและไม่มีวันรู้จักตัวเอง ดังนั้นถ้าปฏิบัติธรรมตามแนวทางของตนเองแล้วย่อมเป็นการเสียเวลามากที่สุด แต่การปฏิบัติตามแนวทางของพระพุทธเจ้าแล้วย่อมเป็นหนทางตรงที่สุด

การพัฒนาจิต

ขอให้จำไว้ว่า ถึงจะขี้เกียจก็ให้พยายามปฏิบัติไป ขยันก็ให้ปฏิบัติไป ทุกเวลาและทุกหนทุกแห่ง นี่จึงจะเรียกว่า "การพัฒนาจิต" ถ้าหากปฏิบัติตามความคิดความเห็นของตนเองแล้ว ก็จะเกิดความคิดความสงสัยไปมากมาย มันจะพาให้คิดไปว่า "เราไม่มีบุญ เราไม่มีวาสนาปฏิบัติธรรมก็นานนักหนาแล้ว ยังไม่รู้ ยังไม่เห็นธรรมเลยสักที" การปฏิบัติธรรมอย่างนี้ไม่เรียกว่าเป็น "การพัฒนาจิต" แต่เป็น "การพัฒนาความหายนะของจิต".  ถ้าเมื่อใดที่ปฏิบัติธรรมไปแล้ว มีความรู้สึกอย่างนี้ว่ายังไม่รู้อะไร ยังไม่เห็นอะไร ยังไม่มีอะไรใหม่ๆเกิดขึ้นบ้างเลย นี่ก็เพราะที่ปฏิบัติมามันผิด ไม่ได้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

สิ้นสงสัยด้วยการปฏิบัติที่ถูกต้อง

พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า "อานนท์ ปฏิบัติให้มาก ทำให้มากแล้วจะสิ้นสงสัย" ความสงสัยจะไม่มีวันสิ้นไปได้ ด้วยการคิด ด้วยทฤษฎี ด้วยการคาดคะเน หรือด้วยการถกเถียงกัน หรือจะอยู่เฉยๆไม่ปฏิบัติภาวนาเลย ความสงสัยก็หายไปไม่ได้อีกเหมือนกัน กิเลสจะหายสิ้นไปได้ก็ด้วยการพัฒนาทางจิต ซึ่งจะเกิดได้ก็ด้วยการปฏิบัติที่ถูกต้องเท่านั้น.  การปฏิบัติทางจิตที่พระพุทธเจ้าทรงสอนนั้น ตรงกันข้ามกับหนทางของโลกอย่างสิ้นเชิง คำสั่งสอนของพระองค์มาจากพระทัยอันบริสุทธิ์ ที่ไม่ข้องเกี่ยวกับกิเลสอาสวะทั้งหลาย นี่คือแนวทางของพระพุทธเจ้าและสาวกของพระองค์. เมื่อเราปฏิบัติธรรม เราต้องทำใจของเราให้เป็นธรรม ไม่ใช่เอาธรรมะมาตามใจเรา ถ้าปฏิบัติอย่างนี้ ทุกข์ก็จะเกิดขึ้น แต่ไม่มีใครสักคนหรอกที่จะพ้นจากทุกข์ไปได้ พอเริ่มปฏิบัติ ทุกข์ก็อยู่ตรงนั้นแล้ว หน้าที่ของผู้ปฏิบัตินั้นจะต้องมีสติ สำรวม และสันโดษ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราหยุด คือเลิกนิสัยความเคยชินที่เคยทำมาแต่เก่าก่อนทำไมถึงต้องทำอย่างนี้ ถ้าไม่ทำอย่างนี้ ไม่ฝึกฝนอบรมใจตนเองแล้วมันก็จะคึกคะนอง วุ่นวายไปตามธรรมชาติของมัน

ธรรมชาติของจิตฝึกได้เสมอ

ธรรมชาติของใจนี้มันฝึกกันได้ เอามาใช้ประโยชน์ได้ เปรียบได้กับต้นไม้ในป่า ถ้าเราปล่อยทิ้งไว้ตามธรรมชาติของมัน เราก็จะเอามันมาสร้างบ้านไม่ได้ จะเอามาทำแผ่นกระดานก็ไม่ได้ หรือทำอะไรอย่างอื่นที่จะใช้สร้างบ้านก็ไม่ได้ แต่ถ้าช่างไม้ผ่านมาต้องการไม้ไปสร้างบ้าน เขาก็จะมองหาต้นไม้ในป่านี้และตัดต้นไม้ในป่านี้เอาไปใช้ประโยชน์ ไม่ช้าเขาก็สร้างบ้านเสร็จเรียบร้อย. การปฏิบัติภาวนาและการพัฒนาจิตก็คล้ายกันอย่างนี้ ก็ต้องเอาใจที่ยังไม่ได้ฝึกเหมือนไม้ในป่านี่แหละ มาฝึกมัน จนมันละเอียดประณีตขึ้น รู้ขึ้น และว่องไวขึ้น ทุกอย่างมันเป็นไปตามภาวะธรรมชาติของมัน เมื่อเรารู้จักธรรมชาติ เข้าใจธรรมชาติ เราก็เปลี่ยนมันได้ ทิ้งมันก็ได้ ปล่อยมันไปก็ได้ แล้วเราก็จะไม่ทุกข์อีกต่อไป

จิตยึดมั่นมันก็สับสนวุ่นวาย

ธรรมชาติของใจเรามันก็อย่างนั้น เมื่อใดที่เกาะเกี่ยวผูกพันยึดมั่นถือมั่นก็จะเกิดความวุ่นวายสับสน เดี๋ยวมันก็จะวิ่งวุ่นไปโน่นไปนี่พอมันวุ่นว่ายสับสนมากๆเข้า เราก็คิดว่าคงจะฝึกอบรมมันไม่ได้แล้วแล้วก็เป็นทุกข์ นี่ก็เพราะไม่เข้าใจว่ามันต้องเป็นของมันอย่างนั้นเองความคิด ความรู้สึก มันจะวิ่งไปวิ่งมาอยู่อย่างนี้ แม้เราจะพยายามฝึกปฏิบัติ พยายามให้มันสงบ มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น มันจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ เมื่อเราติดตามพิจารณาดูธรรมชาติของใจอยู่บ่อยๆก็จะค่อยๆเข้าใจว่าธรรมชาติของใจมันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น มันจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้

ปล่อยวางได้จิตใจก็สงบ

ถ้าเราเห็นอันนี้ชัด เราก็จะทิ้งความคิดความรู้สึกอย่างนั้นได้ ทีนี้ก็ไม่ต้องคิดนั่นคิดนี่อีก คอยแต่บอกตัวเองไว้อย่างเดียวว่า "มันเป็นของมันอย่างนั้นเอง" พอเข้าใจได้ชัด เห็นแจ้งอย่างนี้แล้ว ทีนี้ก็จะปล่อยอะไรๆได้ทั้งหมด ก็ไม่ใช่ว่าความคิดความรู้สึกมันจะหายไป มันก็ยังอยู่นั่นแหละ แต่มันหมดอำนาจเสียแล้ว.  เปรียบก็เหมือนกับเด็กที่ชอบซน เล่นสนุก ทำให้รำคาญ จนเราต้องดุเอา ตีเอา แต่เราก็ต้องเข้าใจว่าธรรมชาติของเด็กก็เป็นอย่างนั้นเอง พอรู้อย่างนี้ เราก็ปล่อยให้เด็กเล่นไปตามเรื่องของเขาความเดือดร้อนรำคาญของเราก็หมดไป มันหมดไปได้อย่างไร ก็เพราะเรายอมรับธรรมชาติของเด็ก ความรู้สึกของเราเปลี่ยน และเรายอมรับธรรมชาติของสิ่งทั้งหลาย เราปล่อยวาง จิตของเราก็มีความสงบเยือกเย็น นี่เรามีความเข้าใจอันถูกต้องแล้ว เป็นสัมมาทิฏฐิ.  

ถ้ายังไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ยังเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่ แม้จะไปอยู่ในถ้ำลึกมืดสักเท่าใด ใจมันก็ยังยุ่งเหยิงอยู่ ใจจะสงบได้ก็ด้วยความเห็นที่ถูกต้อง เป็นสัมมาทิฏฐิเท่านั้น ทีนี้ก็หมดปัญหาจะต้องแก้เพราะไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น นี่มันเป็นอย่างนี้ เราไม่ชอบมัน เราปล่อยวางมัน เมื่อใดที่มีความรู้สึกเกาะเกี่ยวยึดมั่นถือมั่นเกิดขึ้น เราปล่อยวางทันที เพราะรู้แล้วว่าความรู้สึกอย่างนั้นมันไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อจะกวนเรา แม้บางทีเราอาจจะคิดอย่างนั้น แต่ความเป็นจริงความรู้สึกนั้นเป็นของมันอย่างนั้นเอง. ถ้าเราปล่อยวางมันเสีย รูปก็เป็นสักแต่ว่ารูป เสียงก็สักแต่ว่าเสียง กลิ่นก็สักแต่ว่ากลิ่น รสก็สักแต่ว่ารส โผฏฐัพพะก็สักแต่ว่าโผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ก็สักแต่ว่าธรรมารมณ์ เปรียบเหมือนน้ำมันกับน้ำท่า ถ้าเราเอาทั้งสองอย่างนี้เทใส่ขวดเดียวกัน มันก็ไม่ปนกัน เพราะธรรมชาติมันต่างกัน เหมือนกับที่คนฉลาดก็ต่างกับคนโง่ พระพุทธเจ้าก็ทรงอยู่กับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ แต่พระองค์ทรงเป็นพระอรหันต์ พระองค์จึงทรงเห็นสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงสิ่ง "สักว่า" เท่านั้น

ใจก็สักว่าใจ ความคิดก็สักว่าความคิด

พระองค์ทรงปล่อยวางมันไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ทรงเข้าพระทัยแล้วว่า ใจก็สักว่าใจ ความคิดก็สักว่าความคิด พระองค์ไม่ทรงเอามันมาปนกัน ใจก็สักว่าใจ ความคิดความรู้สึกก็สักว่าความคิด ความรู้สึกปล่อยให้มันป็นเพียงสิ่ง "สักว่า" รูปก็สักว่ารูป เสียงก็สักว่าเสียงความคิดก็สักว่าความคิด จะต้องไปยึดมั่นถือมั่นทำไม ถ้าคิดได้รู้สึกได้อย่างนี้เราก็จะแยกกันได้ ความคิดความรู้สึก (อารมณ์) อยู่ทางหนึ่งใจก็อยู่อีกทางหนึ่ง เหมือนกับน้ำมันกับน้ำท่า อยู่ในขวดเดียวกันแต่มันแยกกันอยู่.   พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกของพระองค์ ก็อยู่ร่วมกับปุถุชนคนธรรมดาที่ไม่ได้รู้ธรรม ท่านไม่ได้เพียงอยู่ร่วมเท่านั้น แต่ท่านยังสอนคนเหล่านั้น ทั้งคนฉลาด คนโง่ ให้รู้จักวิธีที่จะศึกษาธรรมปฏิบัติธรรมและรู้แจ้งในธรรม ท่านสอนได้เพราะท่านได้ปฏิบัติมาเองท่านรู้ว่ามันเป็นเรื่องของใจเท่านั้น เหมือนอย่างที่ได้พูดมานี่แหละ.  ดังนั้นการปฏิบัติภาวนานี้อย่าไปสงสัยมันเลย เราหนีจากบ้านมาบวช ไม่ใช่เพื่อหนีมาอยู่กับความหลงหรืออยู่กับความขลาดความกลัว แต่หนีมาเพื่อฝึกอบรมตัวเอง เพื่อเป็นนายตัวเอง ชนะตัวเองถ้าเราเข้าใจได้อย่างนี้ เราก็จะปฏิบัติธรรมได้ ธรรมะจะแจ่มชัดขึ้นในใจของเรา

ธรรมะมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง

ผู้ที่เข้าใจธรรมะก็เข้าใจตัวเอง ใครเข้าใจตัวเองก็เข้าใจธรรมะทุกวันนี้ก็เหลือแต่เปลือกของธรรมะเท่านั้น ความเป็นจริงแล้วธรรมะมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ไม่จำเป็นที่จะต้องหนีไปไหน ถ้าจะหนีก็ให้หนีด้วยความฉลาด ด้วยปัญญา หนีด้วยความชำนิชำนาญ อย่าหนีด้วยความโง่ ถ้าเราต้องการความสงบก็ให้สงบด้วยความฉลาด ด้วยปัญญาเท่านั้นก็พอ. เมื่อใดที่เราเห็นธรรมะ นั่นก็เป็นสัมมาปฏิปทาแล้ว กิเลสก็สักแต่ว่ากิเลส ใจก็สักแต่ว่าใจ เมื่อใดที่เราทิ้งได้ ปล่อยวางได้แยกได้เมื่อนั้นมันก็เป็นเพียงสิ่งสักว่า เป็นเพียงอย่างนี้อย่างนั้นสำหรับเราเท่านั้นเอง เมื่อเราเห็นถูกแล้ว ก็จะมีแต่ความปลอดโปร่ง ความเป็นอิสระตลอดเวลา.  พระพุทธองค์ตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลายท่านอย่ายึดมั่นในธรรม" ธรรมะคืออะไร คือทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมะความรักความเกลียดก็เป็นธรรมะ ความสุขความทุกข์ก็เป็นธรรมะความชอบความไม่ชอบก็เป็นธรรมะ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งเล็กน้อยแค่ไหนก็เป็นธรรมะ

ปฏิบัติเพื่อละ อย่าปฏิบัติเพื่อสะสม

เมื่อเราปฏิบัติธรรมเราเข้าใจอันนี้ เราก็ปล่อยวางได้ ดังนั้นก็ตรงกับคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า ไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในใจเรา ในจิตเรา ในร่างกายของเรา มีแต่ความแปรเปลี่ยนไปทั้งนั้น พระพุทธองค์จึงทรงสอนไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นพระองค์ทรงสอนพระสาวกของพระองค์ให้ปฏิบัติเพื่อละ เพื่อถอนไม่ให้ปฏิบัติเพื่อสะสม. ถ้าเราทำตามคำสอนของพระองค์ เราก็ถูกเท่านั้นแหละ เราอยู่ในทางที่ถูกแล้ว แต่บางทีก็ยังมีความวุ่นวายเหมือนกัน ไม่ใช่คำสอนของพระองค์ทำให้วุ่นวาย กิเลสของเรานั้นแหละที่มันทำให้วุ่นวาย มันมาบังคับความเข้าใจอันถูกต้องเสีย ก็เลยทำให้เราวุ่นวาย.  ความจริงการปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น ไม่มีอะไรลำบาก ไม่มีอะไรยุ่งยาก การปฏิบัติตามทางของพระองค์ไม่มีทุกข์เพราะทางของพระองค์คือ "ปล่อยวาง" ให้หมดทุกสิ่งทุกอย่าง. จุดหมายสูงสุดของการปฏิบัติภาวนานั้น ท่านทรงสอนให้"ปล่อยวาง" อย่าแบกถืออะไรให้มันหนัก ทิ้งมันเสีย ความดีก็ทิ้งความถูกต้องก็ทิ้ง คำว่าทิ้งหรือปล่อยวางไม่ใช่ไม่ต้องปฏิบัติ แต่หมายความว่าให้ปฏิบัติ "การละ" "การปล่อยวาง" นั่นแหละ

จงอยู่กับปัจจุบัน อย่าจมอยู่กับอดีต

พระองค์ทรงสอนให้พิจารณาธรรมทั้งหลาย ที่กายที่ใจของเราธรรมะไม่ได้อยู่ไกลที่ไหน อยู่ที่ตรงนี้ อยู่ที่กายที่ใจของเรานี่แหละดังนั้นนักปฏิบัติต้องปฏิบัติอย่างเข้มแข็ง เอาจริงเอาจังให้ใจมันผ่องใสขึ้น สว่างขึ้น ให้มันเป็นใจอิสระ ทำความดีอะไรแล้วก็ปล่อยมันไป อย่าไปยึดไว้ หรืองดเว้นการทำชั่วได้แล้ว ก็ปล่อยมันไป พระพุทธเจ้าทรงสอนให้อยู่กับปัจจุบันนี้ ที่นี้และเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่อยู่กับอดีตหรืออนาคต.  คำสอนที่เข้าใจผิดกันมาก แล้วก็ถกเถียงกันมากที่สุด ตามความคิดเห็นของตนก็คือเรื่อง "การปล่อยวาง" หรือ "การทำงานด้วยจิตว่าง" นี่แหละ การพูดอย่างนี้เรียกว่าพูด "ภาษาธรรม" เมื่อเอามาคิดเป็นภาษาโลกมันก็เลยยุ่ง แล้วก็ตีความหมายว่าอย่างนั้น ทำอะไรก็ได้ตามใจชอบละซิ.  ความจริงมันหมายความอย่างนี้ อุปมาเหมือนว่าเราแบกก้อนหินหนักอยู่ก้อนหนึ่ง แบกไปก็รู้สึกหนัก แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรกับมันก็ได้แต่แบกอยู่อย่างนั้นแหละ พอมีใครบอกว่า ให้โยนมันทิ้งเสียซิ ก็มาคิดอีกแหละว่า "เอ...ถ้าเราโยนมันทิ้งไปแล้ว เราก็ไม่มีอะไรเหลือน่ะซิ" ก็เลยแบกอยู่นั่นแหละ ไม่ยอมทิ้ง

ประโยชน์ของการปล่อยวาง

ถ้าจะมีใครบอกว่า โยนทิ้งไปเถอะ แล้วจะดีอย่างนั้น เป็นประโยชน์อย่างนี้ เราก็ยังไม่ยอมโยนทิ้งอยู่นั่นแหละ เพราะกลัวแต่ว่าจะไม่มีอะไรเหลือ ก็เลยแบกก้อนหินหนักไว้ จนเหนื่อยอ่อนเพลียเต็มที จนแบกไม่ไหวแล้วก็เลยปล่อยมันตกลง ตอนที่ปล่อยมันตกลงนี้แหละก็จะเกิดความรู้เรื่องการปล่อยวางขึ้นมาเลย เราจะรู้สึกเบาสบาย แล้วก็รู้ได้ด้วยตัวเองว่าการแบกก้อนหินนั้นมันหนักเพียงใดแต่ตอนที่เราแบกอยู่นั้นเราไม่รู้หรอกว่าการปล่อยวางมีประโยชน์เพียงใด.  

ดังนั้นถ้ามีใครมาบอกให้ปล่อยวาง คนที่ยังมืดอยู่ก็ไม่รู้ไม่เข้าใจหรอก ก็จะหลับหูหลับตาแบกก้อนหินก้อนนั้นอย่างไม่ยอมปล่อย จนกระทั่งมันหนักจนเหลือที่จะทนนั่นแหละ ถึงจะยอมปล่อย แล้วก็จะรู้สึกได้ด้วยตัวเอง ว่ามันเบามันสบายแค่ไหนที่ปล่อยมันไปได้ต่อมาเราอาจจะไปแบกอะไรอีกก็ได้ แต่ตอนนี้เราพอรู้แล้วว่า ผลของการแบกนั้นเป็นอย่างไร เราก็จะปล่อยมันได้โดยง่ายขึ้น ความเข้าใจในความไร้ประโยชน์ของการแบกหาม และความเบาสบายของการปล่อยวางนี่แหละ คือตัวอย่างที่แสดงถึงการรู้จักตัวเอง.  ความยึดมั่นถือมั่นในตัวของเราก็เหมือนก้อนหินหนักก้อนนั้นพอคิดว่าจะปล่อย "ตัวเรา" ก็เกิดความกลัวว่าปล่อยไปแล้วก็จะไม่มีอะไรเหลือ เหมือนกับที่ไม่ยอมปล่อยก้อนหินก้อนนั้น แต่ในที่สุดเมื่อปล่อยมันไปได้ เราก็จะรู้สึกเองถึงความเบาสบายในการที่ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่น

การฝึกใจต้องไม่ยึดมั่นถือมั่น

ในการฝึกใจนี้ เราต้องไม่ยึดมั่นทั้งสรรเสริญ ทั้งนินทา ความต้องการแต่สรรเสริญ และไม่ต้องการนินทานั้น เป็นวิถีทางของโลกแต่แนวทางของพระพุทธเจ้าให้รับสรรเสริญตามเหตุตามปัจจัยของมัน และก็ให้รับนินทาตามเหตุตามปัจจัยของมันเหมือนกัน เหมือนอย่างกับการเลี้ยงเด็ก บางทีถ้าเราไม่ดุเด็กตลอดเวลา มันก็ดีเหมือนกันผู้ใหญ่บางคนดุมากเกินไป ผู้ใหญ่ที่ฉลาดย่อมรู้จักว่าเมื่อใดควรดุเมื่อใดควรชม  ใจของเราก็เหมือนกัน ใช้ปัญญาเรียนรู้จักใจ ใช้ความฉลาดรักษาใจไว้ แล้วเราก็จะเป็นคนฉลาดที่รู้จักฝึกใจ เมื่อฝึกบ่อยๆมันก็จะสามารถกำจัดทุกข์ได้ ความทุกข์เกิดขึ้นที่ใจนี่เอง มันทำให้ใจสับสนมืดมัว มันเกิดขึ้นที่นี่มันก็ตายที่นี่

ถ้ายึดมั่นเข้าเราก็ถูกกัด

เรื่องของใจมันเป็นอย่างนี้ บางทีก็คิดดี บางทีก็คิดชั่ว ใจมันหลอกลวง เป็นมายา จงอย่าไว้ใจมัน แต่จงมองเข้าไปที่ใจ มองให้เห็นความเป็นอยู่อย่างนั้นของมัน ยอมรับมันทั้งนั้น ทั้งใจดีใจชั่วเพราะมันเป็นของมันอย่างนั้น ถ้าเราไม่ไปยึดถือมัน มันก็เป็นของมันอยู่แค่นั้น แต่ถ้าเราไปยึดมันเข้า เราก็จะถูกมันกัดเอา แล้วเราก็เป็นทุกข์ ถ้าใจเป็นสัมมาทิฏฐิแล้วก็จะมีแต่ความสงบ จะเป็นสมาธิ จะมีความฉลาด ไม่ว่าจะนั่งหรือจะนอน ก็จะมีแต่ความสงบ ไม่ว่าจะไปไหน ทำอะไรก็จะมีแต่ความสงบ.   วันนี้ท่าน (ภิกษุชาวตะวันตก) ได้พาลูกศิษย์มาฟังธรรม ท่านอาจจะเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง ผมได้พูดเรื่องการปฏิบัติเพื่อให้ท่านเข้าใจได้ง่าย ท่านจะคิดว่าถูกหรือไม่ก็ตาม ก็ขอให้ท่านลองนำไปพิจารณาดู ผมในฐานะอาจารย์องค์หนึ่ง ก็อยู่ในฐานะคล้ายๆกันผมเองก็อยากฟังธรรมเหมือนกัน เพราะไม่ว่าผมจะไปที่ไหน ก็ต้องไปแสดงธรรมให้ผู้อื่นฟัง แต่ตัวเองไม่ได้มีโอกาสฟังเลย คราวนี้ก็ดูท่านพอใจในการฟังธรรมอยู่ เวลาผ่านไปเร็ว เมื่อท่านนั่งฟังอย่างเงียบๆเพราะท่านกำลังกระหายธรรมะ ท่านจึงต้องการฟัง

เมื่อก่อนนี้ การแสดงธรรมก็เป็นความเพลิดเพลินอย่างหนึ่งแต่ต่อมาความเพลิดเพลินก็ค่อยหายไป รู้สึกเหนื่อยและเบื่อ ก็กลับอยากเป็นผู้ฟังบ้าง เพราะเมื่อฟังธรรมจากครูอาจารย์นั้น มันเข้าใจง่ายและมีกำลังใจ แต่เมื่อเราแก่ขึ้น มีความหิวกระหายในธรรมะรสชาติของมันก็ยิ่งเอร็ดอร่อยมากขึ้น.  การเป็นครูอาจารย์ของผู้อื่นนั้น จะต้องเป็นตัวอย่างแก่พระภิกษุอื่นๆ เป็นตัวอย่างแก่ลูกศิษย์ เป็นตัวอย่างแก่ทุกคนฉะนั้นอย่าลืมตนเองแล้วก็อย่าคิดถึงตนเอง ถ้าความคิดอย่างนั้นเกิดขึ้น รีบกำจัดมันเเสีย ถ้าทำได้อย่างนี้ก็จะเป็นผู้ที่รู้จักตัวเอง

ให้รู้สึกตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลา

วิธีปฏิบัติธรรมมีมากมายเป็นล้านๆวิธี พูดเรื่องการภาวนาไม่มีที่จบ สิ่งที่จะทำให้เกิดความสงสัยมีมากมายหลายอย่าง แต่ให้กวาดมันออกไปเรื่อยๆ แล้วจะไม่เหลือความสงสัย เมื่อเรามีความเข้าใจถูกต้องเช่นนี้ ไม่ว่าจะนั่งหรือจะเดิน ก็มีแต่ความสงบ ความสบายไม่ว่าจะปฏิบัติภาวนาที่ไหน ให้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม อย่าถือว่าจะปฏิบัติภาวนาแต่เฉพาะขณะนั่งหรือเดินเท่านั้น ทุกสิ่งทุกอย่างทุกหนทุกแห่งเป็นการปฏิบัติได้ทั้งนั้น.  ให้รู้สึกตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลา ให้มีสติอยู่ ให้เห็นการเกิดดับของกายและใจ แต่อย่าให้มันมาทำใจให้วุ่นวาย ให้ปล่อยวางมันไป ความรักเกิดขึ้นก็ปล่อยมันไป มันมาจากไหนก็ให้มันกลับไปที่นั่น ความโลภเกิดขึ้นก็ปล่อยมันไป ตามมันไป ตามดูว่ามันอยู่ที่ไหนแล้วตามไปส่งมันให้ถึงที่ อย่าเก็บมันไว้สักอย่าง

ฝึกใจได้ใจจักปราศจากกิเลส

ถ้าท่านปฏิบัติได้อย่างนี้ ท่านก็จะเหมือนกับบ้านว่าง หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ นี่คือใจว่าง เป็นใจที่ว่างและอิสระจากกิเลส ความชั่วทั้งหลาย เราเรียกว่าใจว่าง แต่ไม่ใช่ว่างเหมือนว่าไม่มีอะไร มันว่างจากกิเลส แต่เต็มไปด้วยความฉลาด ด้วยปัญญา ฉะนั้นไม่ว่าจะทำอะไร ก็ทำด้วยปัญญา คิดด้วยปัญญา จะมีแต่ปัญญาเท่านั้น.  นี่เป็นคำสอนที่ผมขอมอบให้ในวันนี้ ถ้าการฟังธรรมทำให้ใจท่านสงบ ก็ดีแล้ว ไม่จำเป็นต้องจดจำอะไร บางท่านอาจจะไม่เชื่อ ถ้าเราทำใจให้สงบ ฟังแล้วก็ไม่ให้ผ่านไป แต่นำมาพิจารณาอยู่เรื่อยๆอย่างนี้ เราก็เหมือนเครื่องบันทึกเสียง เมื่อเรา "เปิด" มัน มันก็อยู่ตรงนั้น อย่ากลัวว่าจะไม่มีอะไร เมื่อใดที่ท่านเปิดเครื่องบันทึกเสียงของท่าน ทุกอย่างก็อยู่ในนั้น

ขอมอบธรรมะนี้ต่อพระภิกษุทุกรูปและต่อทุกคน บางท่านอาจจะรู้ภาษาไทยเพียงเล็กน้อย แต่ก็ไม่เป็นไร ให้ท่านเรียนภาษาธรรมเถิด เท่านี้ก็ดีเพียงพอแล้ว 

ขอขอบคุณ ที่มา :  http://www.ajahnchah.org

No Abiding

A Dhammatalk by Ajahn Chah

We hear some parts of the teachings and can't really understand them. We think they shouldn't be the way they are, so we don't follow them, but really there is a reason to all the teachings. Maybe it seems that things shouldn't be that way, but they are. At first I didn't even believe in sitting meditation. I couldn't see what use it would be to just sit with your eyes closed. And walking meditation...walk from this tree to that tree, turn around and walk back again... ''Why bother?'' I thought, ''What's the use of all that walking?'' I thought like that, but actually walking and sitting meditation are of great use.

Some people's tendencies cause them to prefer walking meditation, others prefer sitting, but you can't do without either of them. In the scriptures they talk about the four postures: standing, walking, sitting and lying. We live with these four postures. We may prefer one to the other, but we must use all four.

They say to make these four postures even, to make the practice even in all postures. At first I couldn't figure out what this meant, to make them even. Maybe it means we sleep for two hours, then stand for two hours, then walk for two hours ... maybe that's it ? I tried it - couldn't do it, it was impossible! That's not what it meant to make the postures even. 'Making the postures even' refers to the mind, to our awareness. That is, to give rise to wisdom in the mind, to illumine the mind. This wisdom of ours must be present in all postures; we must know, or understand, constantly. Standing, walking, sitting or lying, we know all mental states as impermanent, unsatisfactory and not-self. Making the postures even in this way can be done, it is possible. Whether like or dislike are present in the mind, we don't forget our practice, we are aware.

If we just focus our attention on the mind constantly then we have the gist of the practice. Whether we experience mental states which the world knows as good or bad we don't forget ourselves, we don't get lost in good or bad. We just go straight. Making the postures constant in this way is possible.

If we have constancy in our practice, when we are praised, then it's simply praise; if we are blamed, it's just blame. We don't get high or low over it, we stay right here. Why? Because we see the danger in all those things, we see their results. We are constantly aware of the danger in both praise and blame. Normally, if we have a good mood the mind is good also, we see them as the same thing; if we have a bad mood the mind goes bad as well, we don't like it. This is the way it is, this is uneven practice.

If we have constancy just to the extent of knowing our moods, and knowing we're clinging to them, this is better already. That is, we have awareness, we know what's going on, but we still can't let go. We see ourselves clinging to good and bad, and we know it. We cling to good and know it's still not right practice, but we still can't let go. This is 50% or 70% of the practice already. There still isn't release but we know that if we could let go that would be the way to peace. We keep seeing the equally harmful consequences of all our likes and dislikes, of praise and blame, continuously. Whatever the conditions may be, the mind is constant in this way.

But for worldly people, if they get blamed or criticized they get really upset. If they get praised it cheers them up, they say it's good and get really happy over it. If we know the truth of our various moods, if we know the consequences of clinging to praise and blame, the danger of clinging to anything at all, we will become sensitive to our moods. We will know that clinging to them really causes suffering. We see this suffering, and we see our very clinging as the cause of that suffering. We begin to see the consequences of grabbing and clinging to good and bad, because we've grasped them and seen the result before - no real happiness. So now we look for the way to let go.

Where is this 'way to let go'? In Buddhism we say ''Don't cling to anything.'' We never stop hearing about this ''don't cling to anything!'' This means to hold, but not to cling. Like this flashlight. We think, ''What is this?'' So we pick it up, ''Oh, it's a flashlight,'' then we put it down again. We hold things in this way.

If we didn't hold anything at all, what could we do ? We couldn't walk meditation or do anything, so we must hold things first. It's wanting, yes, that's true, but later on it leads to pāramī (virtue or perfection). Like wanting to come here, for instance... Venerable Jagaro came to Wat Pah Pong. He had to want to come first. If he hadn't felt that he wanted to come he wouldn't have come. For anybody it's the same, they come here because of wanting. But when wanting arises don't cling to it! So you come, and then you go back...What is this? We pick it up, look at it and see, ''Oh, it's a flashlight,'' then we put it down. This is called holding but not clinging, we let go. We know and then we let go. To put it simply we say just this, ''Know, then let go.'' Keep looking and letting go. ''This, they say is good; this they say is not good''... know, and then let go. Good and bad, we know it all, but we let it go. We don't foolishly cling to things, but we 'hold' them with wisdom Practising in this 'posture' can be constant. You must be constant like this. Make the mind know in this way, let wisdom arise. When the mind has wisdom, what else is there to look for?

We should reflect on what we are doing here. For what reason are we living here, what are we working for? In the world they work for this or that reward, but the monks teach something a little deeper than that. Whatever we do, we ask for no return. We work for no reward. Worldly people work because they want this or that, because they want some gain or other, but the Buddha taught to work just in order to work, we don't ask for anything beyond that.

If you do something just to get some return it'll cause suffering. Try it out for yourself! You want to make your mind peaceful so you sit down and try to make it peaceful - you'll suffer! Try it. Our way is more refined. We do, and then let go; do, and then let go.

Look at the Brahmin who makes a sacrifice: he has some desire in mind, so he makes a sacrifice. Those actions of his won't help him transcend suffering because he's acting on desire. In the beginning we practise with some desire in mind; we practise on and on, but we don't attain our desire. So we practise until we reach a point where we're practising for no return, we're practising in order to let go.

This is something we must see for ourselves, it's very deep. Maybe we practise because we want to go to Nibbāna - right there, you won't get to Nibbāna! It's natural to want peace, but it's not really correct. We must practise without wanting anything at all. If we don't want anything at all, what will we get? We don't get anything! Whatever you get is a cause for suffering, so we practise not getting anything.

Just this is called 'making the mind empty'. It's empty but there is still doing. This emptiness is something people don't usually understand, only those who reach it see the real value of it. It's not the emptiness of not having anything, it's emptiness within the things that are here. Like this flashlight: we should see this flashlight as empty; because of the flashlight there is emptiness. It's not the emptiness where we can't see anything, it's not like that. People who understand like that have got it all wrong. You must understand emptiness within the things that are here.

Those who are still practising because of some gaining idea are like the Brahmin making a sacrifice just to fulfill some wish. Like the people who come to see me to be sprinkled with 'holy water'. When I ask them, ''Why do you want this holy water?'' they say, ''We want to live happily and comfortably and not get sick.'' There! They'll never transcend suffering that way.

The worldly way is to do things for a reason, to get some return, but in Buddhism we do things without any gaining idea. The world has to understand things in terms of cause and effect, but the Buddha teaches us to go above and beyond cause and effect. His wisdom was to go above cause, beyond effect; to go above birth and beyond death; to go above happiness and beyond suffering.

Think about it...there's nowhere to stay. We people live in a 'home'. To leave home and go where there is no home... we don't know how to do it, because we've always lived with becoming, with clinging. If we can't cling we don't know what to do.

So most people don't want to go to Nibbāna, there's nothing there; nothing at all. Look at the roof and the floor here. The upper extreme is the roof, that's an 'abiding'. The lower extreme is the floor, and that's another 'abiding'. But in the empty space between the floor and the roof there's nowhere to stand. One could stand on the roof, or stand on the floor, but not on that empty space. Where there is no abiding, that's where there's emptiness, and Nibbāna is this emptiness.

People hear this and they back up a bit, they don't want to go. They're afraid they won't see their children or relatives. This is why, when we bless the lay people, we say ''May you have long life, beauty, happiness and strength.'' This makes them really happy, ''sādhu!'' they all say. They like these things. If you start talking about emptiness they don't want it, they're attached to abiding.

But have you ever seen a very old person with a beautiful complexion? Have you ever seen an old person with a lot of strength, or a lot of happiness? ...No...But we say, ''Long life, beauty, happiness and strength'' and they're all really pleased, every single one says ''sādhu!'' This is like the Brahmin who makes oblations to achieve some wish.

In our practice we don't 'make oblations', we don't practise in order to get some return. We don't want anything. If we still want something then there is still something there. Just make the mind peaceful and have done with it. But if I talk like this you may not be very comfortable, because you want to be 'born' again.

All you lay practisers should get close to the monks and see their practice. To be close to the monks means to be close to the Buddha, to be close to his Dhamma. The Buddha said, ''Ananda, practise a lot, develop your practice! Whoever sees the Dhamma sees me, and whoever sees me sees the Dhamma.''

Where is the Buddha? We may think the Buddha has been and gone, but the Buddha is the Dhamma, the Truth. Some people like to say, ''Oh, if I was born in the time of the Buddha I would go to Nibbāna.'' Here, stupid people talk like this. The Buddha is still here. The Buddha is truth. Regardless of whoever is born or dies, the truth is still here. The truth never departs from the world, it's there all the time. Whether a Buddha is born or not, whether someone knows it or not, the truth is still there.

So we should get close to the Buddha, we should come within and find the Dhamma. When we reach the Dhamma we will reach the Buddha; seeing the Dhamma we will see the Buddha, and all doubts will dissolve.

To give a comparison, it's like teacher Choo. At first he wasn't a teacher, he was just Mr. Choo. When he studied and passed the necessary grades he became a teacher, and became known as teacher Choo. How did he become a teacher? Through studying the required subjects, thus allowing Mr. Choo to become teacher Choo. When teacher Choo dies, the study to become a teacher still remains, and whoever studies it will become a teacher. That course of study to become a teacher doesn't disappear anywhere, just like the Truth, the knowing of which enabled the Buddha to become the Buddha.

So the Buddha is still here. Whoever practises and sees the Dhamma sees the Buddha. These days people have got it all wrong, they don't know where the Buddha is. They say, ''If I was born in the time of the Buddha I would have become a disciple of his and become enlightened.'' That's just foolishness.

Don't go thinking that at the end of the rains retreat you'll disrobe. Don't think like that! In an instant an evil thought can arise in the mind, you could kill somebody. In the same way, it only takes a split-second for good to flash into the mind, and you're there already.

And don't think that you have to ordain for a long time to be able to meditate. Where the right practice lies is in the instant we make kamma. In a flash an evil thought arises ...before you know it you've committed some heavy kamma. And in the same way, all the disciples of the Buddha practised for a long time, but the time they attained enlightenment was merely one thought moment.

So don't be heedless, even in minor things. Try hard, try to get close to the monks, contemplate things and then you'll know about monks. Well, that's enough, huh? It must be getting late now, some people are getting sleepy. The Buddha said not to teach Dhamma to sleepy people.

Source: http://www.ajahnchah.org

______________________

Other articles: Karaniya Metta Sutta Chanting , Mangala Sutta Chanting - The greatest blessing ,  Are Buddhists Idol Worshippers? ,  Attainment of Buddhahood , Faith, Confidence and Devotion , Loving-Kindness , Can We Justify War? , Dreams and Their Significance ,  Buddhism and Women  , Modern Religion , Is Buddhism a Theory or a Philosophy? , Hi Beloved Community! , Are Buddhists really idol worshippers?  , Which is the Proper Religion? , Religion in a Scientific Age , How to Save Yourself , Why is there no Peace? , You Protect Yourself , Moral and Spiritual Development , Do It Yourself , Everything is Changeable , The Meaning of Prayer , What is the purpose of life? , The Buddha's Silence , Kathina Robe Dana festival  , What is Kamma?  , The teachings of Buddha , What is Kamma? , Pavāranā day ,  The Law Of Karma , The First Buddhist Council , Practical Vipassana Meditational Exercises By Ven. Mahasi Sayadaw , There are six supreme qualities of Dhamma , Buddhist Paintings: The Life of the Buddha , The life of the Buddha , What is Buddhism? , A Basic Buddhism Guide , The Eight-Fold Path is the fourth of the Four Noble Truths - the first of the Buddha's teachings ,  A Gift of Dhamma , WHAT DID THE BUDDHA TEACH? , THE FOUR NOBLE TRUTHS , A Dhammatalk by Ajahn Chah: The Four Noble Truths , The Middle Way of Buddhism , The Path to Peace , The Middle Way Within , The Training of the Heart , Right Practice - Steady Practice , Question and Answer about Dhamma (QA1 - QA10) , Question and Answer about Dhamma (QA11-QA18) , Questions and Answers with Ajahn Chah , A Dhammatalk by Ajahn Chah:  Questions and Answers , Even One Word Is Enough , Right Restraint , Listening Beyond Words , Where did the Buddha enter Nibbāna? , Knowing the World , Wholehearted Training , Understanding Dukkha , Monastery of Confusion , It Can Be Done , About Being Careful , Unshakeable Peace , Suffering on the Road , Clarity of Insight , Evening Sitting , Transcendence , "Not Sure!" - The Standard of the Noble Ones , Sense Contact - the Fount of Wisdom , In the Dead of Night... , The Flood of Sensuality , Sammā Samādhi - Detachment Within Activity , Maintaining the Standard , Understanding Vinaya , Dhamma Fighting , Toward the Unconditioned , Still, Flowing Water , ''Tuccho Pothila'' - Venerable Empty-Scripture , Living in the World with Dhamma , Meditation , Our Real Home , Why Are We Here? , Making the Heart Good , Epilogue , Right View - the Place of Coolness ,  No Abiding , Convention and Liberation , The Peace Beyond , The Path in Harmony , On Meditation , Training this Mind ,  Just Do It! , Reading the Natural Mind , Living With the Cobra , The Two Faces of Reality , Dhamma Nature , The Last Message of the Buddha , The towering Phra Buddha Maha Nawamin of Wat Muang is one of the tallest statues in the world , "Happy Honey Full Moon Day" , Phra Phuttha Rattana Mongkhon Mahamuni at Wat Bhurapha Piram , The Big Buddha Phuket , Wat Muang, largest sitting Buddha statue in Thailand , The Big Buddha (Hong Kong) , Wat Tham Pha Daen a beautiful hill top temple , WatYaiChaiMongkol (Mongkhon), Ayutthaya, Thailand. , The sacred Buddha head in the roots of the Bodhi Tree. , Wat Phai Lom


Convention and Liberation

A Dhammatalk by Ajahn Chah

The things of this world are merely conventions of our own making. Having established them we get lost in them, and refuse to let go, giving rise to clinging to personal views and opinions. This clinging never ends, it is samsāra, flowing endlessly on. It has no completion. Now, if we know conventional reality then we'll know Liberation. If we clearly know Liberation, then we'll know convention. This is to know the Dhamma. Here there is completion.

Take people, for instance. In reality people don't have any names, we are born naked into the world. If we have names, they arise only through convention. I've contemplated this and seen that if you don't know the truth of this convention it can be really harmful. It's simply something we use for convenience. Without it we couldn't communicate, there would be nothing to say, no language.

I've seen the Westerners when they sit in meditation together in the West. When they get up after sitting, men and women together, sometimes they go and touch each other on the head! When I saw this I thought, ''Ehh, if we cling to convention it gives rise to defilements right there. '' If we can let go of convention, give up our opinions, we are at peace.

Like the generals and colonels, men of rank and position, who come to see me. When they come they say, ''Oh, please touch my head.'' If they ask like this there's nothing wrong with it, they're glad to have their heads touched. But if you tapped their heads in the middle of the street it'd be a different story! This is because of clinging. So I feel that letting go is really the way to peace. Touching a head is against our customs, but in reality it is nothing. When they agree to having it touched there's nothing wrong with it, just like touching a cabbage or a potato.

Accepting, giving up, letting go - this is the way of lightness. Wherever you're clinging there's becoming and birth right there. There's danger right there. The Buddha taught about convention and he taught to undo convention in the right way, and so reach Liberation.

This is freedom, not to cling to conventions. All things in this world have a conventional reality. Having established them we should not be fooled by them, because getting lost in them really leads to suffering. This point concerning rules and conventions is of utmost importance. One who can get beyond them is beyond suffering.

However, they are a characteristic of our world. Take Mr. Boonmah, for instance; he used to be just one of the crowd but now he's been appointed the District Commissioner. It's just a convention but it's a convention we should respect. It's part of the world of people. If you think, ''Oh, before we were friends, we used to work at the tailor's together,'' and then you go and pat him on the head in public, he'll get angry. It's not right, he'll resent it. So we should follow the conventions in order to avoid giving rise to resentment. It's useful to understand convention, living in the world is just about this. Know the right time and place, know the person.

Why is it wrong to go against conventions? It's wrong because of people! You should be clever, knowing both convention and Liberation. Know the right time for each. If we know how to use rules and conventions comfortably then we are skilled.

But if we try to behave according to the higher level of reality in the wrong situation, this is wrong. Where is it wrong? It's wrong with people's defilements, that's where! People all have defilements. In one situation we behave one way, in another situation we must behave in another way. We should know the ins and outs because we live within conventions. Problems occur because people cling to them. If we suppose something to be, then it is. It's there because we suppose it to be there. But if you look closely, in the absolute sense these things don't really exist.

As I have often said, before we were laymen and now we are monks. We lived within the convention of 'layman' and now we live within the convention of 'monk'. We are monks by convention, not monks through Liberation. In the beginning we establish conventions like this, but if a person merely ordains, this doesn't mean he overcomes defilements. If we take a handful of sand and agree to call it salt, does this make it salt? It is salt, but only in name, not in reality. You couldn't use it to cook with. It's only use is within the realm of that agreement, because there's really no salt there, only sand. It becomes salt only through our supposing it to be so.

This word 'Liberation' is itself just a convention, but it refers to that beyond conventions. Having achieved freedom, having reached Liberation, we still have to use convention in order to refer to it as Liberation. If we didn't have convention we couldn't communicate, so it does have its use.

For example, people have different names, but they are all people just the same. If we didn't have names to differentiate between them, and we wanted to call out to somebody standing in a crowd, saying. ''Hey, Person! Person!'', that would be useless. You couldn't say who would answer you because they're all 'person'. But if you called, ''Hey, John!,'' then John would come, the others wouldn't answer. Names fulfill just this need. Through them we can communicate, they provide the basis for social behaviour.

So you should know both convention and liberation. Conventions have a use, but in reality there really isn't anything there. Even people are non-existent. They are merely groups of elements, born of causal conditions, growing dependent on conditions, existing for a while, then disappearing in the natural way. No-one can oppose or control it. But without conventions we would have nothing to say, we'd have no names, no practice, no work. Rules and conventions are established to give us a language, to make things convenient, and that's all.

Take money, for example. In olden times there weren't any coins or notes, they had no value. People used to barter goods, but those things were difficult to keep, so they created money, using coins and notes. Perhaps in the future we'll have a new king decree that we don't have to use paper money, we should use wax, melting it down and pressing it into lumps. We say this is money and use it throughout the country. Let alone wax, they might even decide to make chicken dung the local currency - all the other things can't be money, just chicken dung! Then people would fight and kill each other over chicken dung!

This is the way it is. You could use many examples to illustrate convention. What we use for money is simply a convention that we have set up, it has its use within that convention. Having decreed it to be money, it becomes money. But in reality, what is money? Nobody can say. When there is a popular agreement about something, then a convention comes about to fulfill the need. The world is just this.

This is convention, but to get ordinary people to understand Liberation is really difficult. Our money, our house, our family, our children and relatives are simply conventions that we have invented, but really, seen in the light of Dhamma, they don't belong to us. Maybe if we hear this we don't feel so good, but reality is like that. These things have value only through the established conventions. If we establish that it doesn't have value, then it doesn't have value. If we establish that it has value, then it has value. This is the way it is, we bring convention into the world to fulfill a need.

Even this body is not really ours, we just suppose it to be so. It's truly just an assumption on our part. If you try to find a real, substantial self within it, you can't. There are merely elements which are born, continue for a while and then die. Everything is like this. There's no real, true substance to it, but it's proper that we use it. It's like a cup. At some time that cup must break, but while it's there you should use it and look after it well. It's a tool for your use. If it breaks there is trouble, so even though it must break, you should try your utmost to preserve it.

And so we have the four supports which the Buddha taught again and again to contemplate. They are the supports on which a monk depends to continue his practice. As long as you live you must depend on them, but you should understand them. Don't cling to them, giving rise to craving in your mind.

Convention and liberation are related like this continually. Even though we use convention, don't place your trust in it as being the truth. If you cling to it, suffering will arise. The case of right and wrong is a good example. Some people see wrong as being right and right as being wrong, but in the end who really knows what is right and what is wrong? We don't know. Different people establish different conventions about what's right and what's wrong, but the Buddha took suffering as his guide-line. If you want to argue about it there's no end to it. One says ''right,'' another says ''wrong''. One says ''wrong,'' another says ''right.'' In truth we don't really know right and wrong at all. But at a useful, practical level, we can say that right is not to harm oneself and not to harm others. This way fulfills a constructive purpose for us.

So, after all, both rules and conventions and liberation are simply dhammas. One is higher than the other, but they go hand in hand. There is no way that we can guarantee that anything is definitely like this or like that, so the Buddha said to just leave it be. Leave it be as uncertain. However much you like it or dislike it, you should understand it as uncertain.

Regardless of time and place, the whole practice of Dhamma comes to completion at the place where there is nothing. It's the place of surrender, of emptiness, of laying down the burden. This is the finish. It's not like the person who says, ''Why is the flag fluttering in the wind? I say it's because of the wind.'' Another person says it's because of the flag. The other retorts that it's because of the wind. There's no end to this! The same as the old riddle, ''Which came first, the chicken or the egg?'' There's no way to reach a conclusion, this is just nature.

All these things we say are merely conventions, we establish them ourselves. If you know these things with wisdom then you'll know impermanence, suffering and not-self. This is the outlook which leads to enlightenment.

You know, training and teaching people with varying levels of understanding is really difficult. Some people have certain ideas, you tell them something and they don't believe you. You tell them the truth and they say it's not true. ''I'm right, you're wrong...'' There's no end to this.

If you don't let go there will be suffering. I've told you before about the four men who go into the forest. They hear a chicken crowing, ''Kak-ka-dehhhh!'' One of them wonders, ''Is that a rooster or a hen?'' Three of them say together, ''It's a hen,'' but the other doesn't agree, he insists it's a rooster. ''How could a hen crow like that?'' he asks. They retort, ''Well, it has a mouth, hasn't it?'' They argue and argue till the tears fall, really getting upset over it, but in the end they're all wrong. Whether you say a hen or a rooster, they're only names. We establish these conventions, saying a rooster is like this, a hen is like that; a rooster cries like this, a hen cries like that... and this is how we get stuck in the world! Remember this! Actually, if you just say that really there's no hen and no rooster, then that's the end of it.

In the field of conventional reality one side is right and the other side it wrong, but there will never be complete agreement. Arguing till the tears fall has no use.

The Buddha taught not to cling. How do we practise non-clinging? We practise simply by giving up clinging, but this non-clinging is very difficult to understand. It takes keen wisdom to investigate and penetrate this, to really achieve non-clinging.

When you think about it, whether people are happy or sad, content or discontent, doesn't depend on their having little or having much - it depends on wisdom. All distress can be transcended only through wisdom, through seeing the truth of things.

So the Buddha exhorted us to investigate, to contemplate. This 'contemplation' means simply to try to solve these problems correctly. This is our practice. Like birth, old age, sickness and death - they are the most natural and common of occurrences. The Buddha taught to contemplate birth, old age, sickness and death, but some people don't understand this. ''What is there to contemplate?'' they say. They're born but they don't know birth, they will die but they don't know death.

A person who investigates these things repeatedly will see. Having seen he will gradually solve his problems. Even if he still has clinging, if he has wisdom and sees that old age, sickness and death are the way of nature, then he will be able to relieve suffering. We study the Dhamma simply for this - to cure suffering.

There isn't really much as the basis of Buddhism, there's just the birth and death of suffering, and this the Buddha called the truth. Birth is suffering, old age is suffering, sickness is suffering and death is suffering. People don't see this suffering as the truth. If we know truth, then we know suffering.

This pride in personal opinions, these arguments, they have no end. In order to put our minds at rest, to find peace, we should contemplate our past, the present, and the things which are in store for us. Like birth, old age, sickness and death. What can we do to avoid being plagued by these things? Even though we may still have a little worry, if we investigate till we know according to the truth, all suffering will abate, because we will no longer cling to them.

Source: http://www.ajahnchah.org

______________________

Other articles: Karaniya Metta Sutta Chanting , Mangala Sutta Chanting - The greatest blessing ,  Are Buddhists Idol Worshippers? ,  Attainment of Buddhahood , Faith, Confidence and Devotion , Loving-Kindness , Can We Justify War? , Dreams and Their Significance ,  Buddhism and Women  , Modern Religion , Is Buddhism a Theory or a Philosophy? , Hi Beloved Community! , Are Buddhists really idol worshippers?  , Which is the Proper Religion? , Religion in a Scientific Age , How to Save Yourself , Why is there no Peace? , You Protect Yourself , Moral and Spiritual Development , Do It Yourself , Everything is Changeable , The Meaning of Prayer , What is the purpose of life? , The Buddha's Silence , Kathina Robe Dana festival  , What is Kamma?  , The teachings of Buddha , What is Kamma? , Pavāranā day ,  The Law Of Karma , The First Buddhist Council , Practical Vipassana Meditational Exercises By Ven. Mahasi Sayadaw , There are six supreme qualities of Dhamma , Buddhist Paintings: The Life of the Buddha , The life of the Buddha , What is Buddhism? , A Basic Buddhism Guide , The Eight-Fold Path is the fourth of the Four Noble Truths - the first of the Buddha's teachings ,  A Gift of Dhamma , WHAT DID THE BUDDHA TEACH? , THE FOUR NOBLE TRUTHS , A Dhammatalk by Ajahn Chah: The Four Noble Truths , The Middle Way of Buddhism , The Path to Peace , The Middle Way Within , The Training of the Heart , Right Practice - Steady Practice , Question and Answer about Dhamma (QA1 - QA10) , Question and Answer about Dhamma (QA11-QA18) , Questions and Answers with Ajahn Chah , A Dhammatalk by Ajahn Chah:  Questions and Answers , Even One Word Is Enough , Right Restraint , Listening Beyond Words , Where did the Buddha enter Nibbāna? , Knowing the World , Wholehearted Training , Understanding Dukkha , Monastery of Confusion , It Can Be Done , About Being Careful , Unshakeable Peace , Suffering on the Road , Clarity of Insight , Evening Sitting , Transcendence , "Not Sure!" - The Standard of the Noble Ones , Sense Contact - the Fount of Wisdom , In the Dead of Night... , The Flood of Sensuality , Sammā Samādhi - Detachment Within Activity , Maintaining the Standard , Understanding Vinaya , Dhamma Fighting , Toward the Unconditioned , Still, Flowing Water , ''Tuccho Pothila'' - Venerable Empty-Scripture , Living in the World with Dhamma , Meditation , Our Real Home , Why Are We Here? , Making the Heart Good , Epilogue , Right View - the Place of Coolness ,  No Abiding , Convention and Liberation , The Peace Beyond , The Path in Harmony , On Meditation , Training this Mind ,  Just Do It! , Reading the Natural Mind , Living With the Cobra , The Two Faces of Reality , Dhamma Nature , The Last Message of the Buddha , The towering Phra Buddha Maha Nawamin of Wat Muang is one of the tallest statues in the world , "Happy Honey Full Moon Day" , Phra Phuttha Rattana Mongkhon Mahamuni at Wat Bhurapha Piram , The Big Buddha Phuket , Wat Muang, largest sitting Buddha statue in Thailand , The Big Buddha (Hong Kong) , Wat Tham Pha Daen a beautiful hill top temple , WatYaiChaiMongkol (Mongkhon), Ayutthaya, Thailand. , The sacred Buddha head in the roots of the Bodhi Tree. , Wat Phai Lom