กุกฺกุรชาตกํ - ว่าด้วยสุนัขที่ถูกฆ่า
เย กุกฺกุรา ราชกุลมฺหิ วทฺธา,
โกเลยฺยกา วณฺณพลูปปนฺนา;
เตเม น วชฺฌา มยมสฺม วชฺฌา,
นายํ สฆจฺจา ทุพฺพลฆาติกายนฺติฯ
"สุนัขเหล่าใดอันบุคคลเลี้ยงไว้ในราชสกุล เกิดในราชสกุล สมบูรณ์ด้วยสีสรรและกำลัง สุนัขเหล่านี้นั้นไม่ถูกฆ่า, พวกเรากลับถูกฆ่า เมื่อเป็นเช่นนี้ นี้ชื่อว่าการฆ่าโดยไม่แปลกกันก็หาไม่ กลับชื่อว่าฆ่าแต่สุนัขทั้งหลายที่ทุรพล."
กุกกุรชาดกอรรถกถา
พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในพระเชตวันวิหารทรงปรารภการประพฤติ ประโยชน์แก่พระญาติ จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า เย กุกฺกุรา ดังนี้.
การประพฤติประโยชน์แก่พระญาตินั้น จักมีแจ้งในภัททสาลชาดก ทวาทสนิบาต. ก็พระศาสดาทรงตั้งเรื่องนี้แล้วทรงนำอดีตนิทานมา ดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ทรงอาศัยกรรมเห็นปานนั้น บังเกิดในกำเนิดสุนัข ห้อมล้อมด้วยสุนัข มิใช่น้อยอยู่ในสุสานใหญ่.
อยู่มาวันหนึ่ง พระราชาเสด็จขึ้นทรงรถเทียมม้าสินธพขาว ประดับด้วยเครื่องประดับทั้งปวง เสด็จไปยังพระอุทยานทรงเล่นในพระอุทยานนั้น ตลอดส่วนภาคกลางวัน เมื่อพระอาทิตย์อัสดง จึงเสด็จเข้าพระนคร ราชบุรุษทั้งหลายวางสายเชือกหนึ่งรถนั้นตามที่ผูกไว้นั้นแหละที่พระลานหลวง เนื้อฝนตกตอนกลางคืน รถนั้นก็เปียกฝน.
พวกสุนัข ที่เลี้ยงไว้ในราชตระกูลลงจากปราสาทชั้นบน กัดกินหนึ่งและชะเนาะของรถนั้น. วันรุ่งขึ้น พวกราชบุรุษจึงกราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่สมมติเทพ สุนัขทั้งหลายเข้าไปทางท่อน้ำ กัดกินหนังและชะเนาะของรถนั้นพระเจ้าข้า.
พระราชาทรงกริ้วสุนัข จึงตรัสว่า พวกท่านจงฆ่าพวกสุนัขในที่ที่ได้เห็นแล้ว ๆ. ตั้งแต่นั้นมาความพินาศใหญ่หลวงจึงเกิดขึ้นแก่พวกสุนัข.
สุนัขเหล่านั้นเมื่อถูกฆ่าในที่ที่พบเห็นจึงหนีไปป่าช้าได้พากันไปยังสำนักของพระโพธิสัตว์.
พระโพธิสัตว์ถามว่า „ท่านทั้งหลายเป็นอันมากพากันมาประชุม เหตุอะไรหนอ ?" สุนัขเหล่านั้นกล่าวว่า „พระราชาทรงกริ้วว่า นัยว่า สุนัขกินหนังและชะเนาะของรถภายในพระราชวัง จึงทรงสั่งให้ฆ่าสุนัข สุนัขเป็นอันมากพินาศ มหาภัยเกิดขึ้นแล้ว“.
พระโพธิสัตว์คิดว่า ในที่ที่มีการอารักขา สุนัขทั้งหลายในภายนอก ย่อมไม่มีโอกาส, กรรมนี้จักเป็นกรรมของพวกสุนัขเลี้ยงในภายในพระราชนิเวศน์นั่นเอง, ก็ภัยอะไร ๆ ย่อมไม่มีแก่พวกโจร, ส่วนพวกที่ไม่ใช่โจรกลับได้ความตาย, ถ้ากระไร เราจะแสดงพวกโจรแก่พระราชาแล้วไห้ทานชีวิตแก่หมู่ญาติ“.
พระโพธิสัตว์นั้น ปลอบโยนญาติทั้งหลายให้เบาใจแล้วกล่าวว่า „ท่านทั้งหลายอย่ากลัว เราจักนำความไม่มีภัยมาให้แก่ท่านทั้งหลาย พวกท่านจงอยู่ที่นี้แหละจนกว่า เราจะได้เฝ้าพระราชา“, แล้วรำพึงถึงบารมีกระทำเมตตาภาวนาให้เป็นปุเรจาริกไปในเบื้องหน้าแล้วอธิษฐานว่า ใคร ๆอย่าได้สามารถขว้างก้อนดินหรือไม้ค้อนเบื้องบนเรา ผู้เดียวเท่านั้น เข้าไปภายในพระนคร.
ครั้งนั้น แม้สัตว์ตัวหนึ่งเห็นพระโพธิสัตว์แล้วชื่อว่าโกรธแล้วแลดู มิได้มี. ฝ่ายพระราชาทรงสั่งฆ่าสุนัขแล้วประทับนั่งในที่วินิจฉัยด้วยพระองค์เอง พระโพธิสัตว์ไปในที่วินิจฉัยนั้นนั่นแลแล้ววิ่งเข้าไปภายใต้อาสน์ของพระราชา.
ลำดับนั้น พวกราชบุรุษเริ่มเพื่อจะนำพระโพธิสัตว์นั้นออกมา แต่พระราชาทรงห้ามไว้พระโพธิสัตว์นั้นพักอยู่หน่อยหนึ่งแล้วออกจากภายใต้อาสน์ ถวายบังคมพระราชาแล้วทูลถามว่า ได้ยินว่า „พระองค์ทรงให้ฆ่าสุนัขจริงหรือพระเจ้าข้า?“.
พระราชาตรัสว่า „เออ เราให้ฆ่า“.
พระโพธิสัตว์ทูลถามว่า „ข้าแต่พระจอมคนสุนัขเหล่านั้นมีความผิดอะไร ?"
พระราชาตรัสว่า „สุนัขทั้งหลายมันกินหนังหุ้มและชะเนาะแห่งรถของเรา“
พระโพธิสัตว์ทูลถามว่า „พระองค์ทรงรู้จักสุนัขตัวที่กินแล้วหรือ?“.
พระราชาตรัสว่า ไม่รู้, พระโพธิสัตว์ทูลว่า "ข้าแต่สมมติเทพการไม่ทรงทราบโดยถ่องแท้ว่า โจรที่กินหนังชื่อนี้ แล้วทรงให้ฆ่าในที่ที่ได้พบเห็นทันที ไม่สมควร พระเจ้าข้า“.
พระราชาตรัสว่า „เพราะพวกสุนัขมักกัดกินหนังหุ้มรถ, เราจึงสั่งฆ่าสุนัขว่า พวกท่านจงฆ่าสุนัขที่ได้พบเห็นทั้งหมดเลย“.
พระโพธิสัตว์ทูลว่า „ก็มนุษย์ทั้งหลายเหล่านั้นฆ่าสุนัขทั้งหมดทีเดียวหรือ หรือว่า สุนัข แม้ไม่ได้ความตายก็มีอยู่“.
พระราชาตรัสว่า „มีอยู่, สุนัขเลี้ยงในสำหนักของเราไม่ได้การถูกฆ่าตาย“.
พระมหาสัตว์ทูลว่า „ข้าแต่มหาราชพระองค์ได้ตรัสในบัดนี้ทีเดียวว่า เพราะพวกสุนัขมักกัดกินหนังหุ้มรถ เราจึงสั่งฆ่าสุนัขว่า พวกท่านจงฆ่าสุนัขทุกตัวที่ได้พบเห็น, แต่บัดนี้พระองค์ตรัสว่า สุนัขเลี้ยงในตำหนักของเราไม่ได้การถูกฆ่าตาย, เมื่อเป็นอย่างนั้น พระองค์ย่อมลุอคติเช่นฉันทาคติเป็นต้น, ก็ชื่อว่าการลุอคติไม่สมควรและไม่เป็น(ทศพิธ) ราชธรรม ธรรมดาพระราชาผู้แสวงหาเหตุและมิใช่เหตุ เป็นเช่นกับตาชั่งจึงจะควร. บัดนี้สุนัขเลี้ยงในราชสกุลไม่ได้การตาย, สุนัขที่ทุรพลเท่านั้นจึงจะได้, เมื่อเป็นเช่นนั้น อันนี้ไม่เป็นการฆ่าสุนัขทุกตัว แต่อันนี้ชื่อว่าเป็นการฆ่าสุนัขที่ทุรพล“,
ก็แหละครั้น ทูลอย่างนี้แล้วจึงเปล่งเสียงอันไพเราะกราบทูลว่า „ข้าแต่มหาราชสิ่งที่พระองค์ทรงกระทำนั้นไม่เป็นธรรม“ เมื่อจะแสดงธรรมแก่พระราชา จึงกล่าวคาถานี้ว่า :-
"สนัขเหล่าใดอันบุคคลเลี้ยงไว้ในราชสกุลเจริญ ในราชสกุล สมบูรณ์ด้วยสีสันและกำลัง สุนัขเหล่านี้นั้นไม่ถูกฆ่า พวกเรากลับถูกฆ่าโดยไม่แปลกกัน หา มิได้ กลับชื่อว่าการฆ่าแต่สุนัขทั้งหลายที่ทุรพล".
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เย กุกฺกุรา ได้แก่ สุนัขเหล่าใด. เหมือนอย่างว่า ปัสสาวะแม้ยังมีน้ำอุ่นก็เรียกว่า มูตรเน่า สุนัขจิ้งจอกแม้เกิดในวันนั้นก็เรียกว่า สุนัขจิ้งจอกแก่ เถาหัวด้วนแม้ยังอ่อนก็เรียกว่า เถาหัวเน่า กายแม้จะมีสีเหมือนทองก็เรียกว่า กายเปื่อยเน่า ฉันใด สุนัขแม้มีอายุ ๑๐๐ ปี ก็เรียกว่า กุกกุระ ลูกสุนัข ฉันนั้นเหมือนกัน. เพราะฉะนั้น สุนัขเหล่านั้นแก่แต่สมบูรณ์ด้วยกำลังกาย ก็เรียกว่า กุกกุระเหมือนกัน.
บทว่า วฑฺฒา แปลว่า เจริญเติบโต. บทว่า โกเลยฺยถา ได้แก่ เกิดแล้ว มีแล้ว เจริญแล้วในราชสกุล. บทว่า วณฺณพลูปปนฺนา ได้แก่ สมบูรณ์ด้วยสีร่างกายและกำลังกาย. บทว่า เตเม น วชฺณา ความว่า สุนัขเหล่านี้นั้นมีเจ้าของมีการอารักขา จึงไม่ถูกฆ่า. บทว่า มยมสฺส วชฺณา ความว่า เราทั้งหลายไม่มีเจ้าของไม่มีการอารักขา เป็นสุนัขที่ถูกฆ่า. บทว่า นายํ สฆจฺจา ความว่า เมื่อเป็นอย่างนั้น อันนี้ย่อมไม่ชื่อว่ามีการฆ่าโดยไม่แปลกกัน. บทว่า ทุพฺพลฆาติกายํ ความว่า ส่วนอันนี้ย่อมชื่อว่าเป็นการฆ่าอันทุรพล เพราะฆ่าเฉพาะสุนัขทุรพลทั้งหลาย.
อธิบายว่า
„ธรรมดาพระราชาทั้งหลายควรข่มพวกโจร พวกที่ไม่เป็นโจรไม่ควรข่ม แต่ในเหตุการณ์นี้ โทษอะไร ๆ ไม่มีแก่พวกโจร พวกที่ไม่ใช่โจรกลับได้ความตาย โอ! ในโลกนี้ สิ่งที่ไม่ควรย่อมเป็นไป, โอ! อธรรมย่อมเป็นไป“.
พระราชาได้ทรงสดับคำของพระโพธิสัตว์แล้วจึงตรัสว่า „ดูก่อนบัณฑิต ก็ท่านรู้หรือว่า สุนัขชื่อโน้นกินหนังหุ้มรถ“.
พระโพธิสัตว์กล่าวว่า „รู้พระเจ้าข้า“.
พระราชาตรัสว่า „สุนัขพวกไหนกิน“.
พระโพธิสัตว์ทูลว่า „พวกสุนัขเลี้ยงที่อยู่ในตำหนักของพระองค์กินพระเจ้าข้า“.
พระราชาตรัสว่า „ท่านต้อง (พิสูจน์) รู้ว่า สุนัขเหล่านั้นกินอย่างไร?“.
พระโพธิสัตว์ทูลว่า „ข้าพระบาทจักแสดงความที่ สุนัขเหล่านั้นกิน“.
พระราชาตรัสว่า „จงแสดงเถิดบัณฑิต".
พระโพธิสัตว์ทูลว่า „พระองค์จงให้นำพวกสุนัขเลี้ยงในตำหนักของพระองค์มาแล้วให้นำเปรียงและหญ้าแพรกมาหน่อยหนึ่ง“.
พระราชาได้ทรงการทำอย่างนั้น.
ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ให้ขยำหญ้ากับเปรียงแล้วทูลกะพระราชานั้นว่า „ขอพระองค์จงให้สุนัข เหล่านั้นดื่ม“ พระราชาทรงให้ทำอย่างนั่นแล้วให้ดื่ม สุนัขทั้งหลายที่ดื่มแล้ว ๆ ก็ถ่ายออกมาพร้อมกับหนังทั้งหลาย พระราชาทรงดีพระทัยว่า เหมือนพยากรณ์ของพระสัพพัญญูพุทธเจ้า จึงได้ทรงทำการบูชาพระโพธิสัตว์ด้วยเศวตฉัตร.
พระโพธิสัตว์จึงแสดงธรรมแก่พระราชา ด้วยคาถาว่าด้วยการประพฤติธรรม ๑๐ ประการ อันมาในเตสกุณชาดก มีอาทิว่า „ข้าแต่มหาราชผู้บรมกษัตริย์พระองค์จงประพฤติธรรมในพระชนกและชนนี“ ดังนี้แล้วทูลว่า „ข้าแต่มหาราชจำเดิมแต่นี้ไป พระองค์จงเป็นผู้ไม่ประมาท“, แล้วให้พระราชาดำรงอยู่ในศีล ๕ จึงได้ถวายคืนเศวตฉัตรแด่พระราชา.
พระราชาได้ทรงสดับธรรมกถาของพระมหาสัตว์แล้วทรงให้อภัยแก่สัตว์ทั้งปวงทรงเริ่มตั้งนิตยภัยเช่นกับโภชนะของพระองค์แก่สุนัขทั้งปวงมีพระโพธิสัตว์เป็นต้น, ทรงตั้งอยู่ในโอวาทของพระโพธิสัตว์ทรงการทำบุญมีทานเป็นต้นตลอดชั่วพระชนมายุ สวรรคตแล้วเสด็จอุบัติ ในเทวโลก.
กุกกุโรวาทได้ดำเนินไปถึงหมื่นปี.
ฝ่ายพระโพธิสัตว์ดำรงอยู่ตราบชั่วอายุแล้วได้ไปตามยถากรรม.
พระศาสดา ตรัสว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตประพฤติประโยชน์แก่พระญาติทั้งหลาย ในบัดนี้เท่านั้น ก็หามิได้ แม้ในกาลก่อนก็ได้ประพฤติแล้วเหมือนกัน" ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาสืบต่ออนุสนธิแล้วจึงทรงประชุมชาดกว่า พระราชาในกาลนั้นได้เป็นพระอานนท์ บริษัทที่เหลือนอกนี้ได้เป็นพุทธบริษัท ส่วนกุกกุรบัณฑิตคือเราแล.
CR: หมายเหตุ ข้อมูลที่มา ภาษาบาฬี จากเว็บไซต์ tipitaka.org คำแปลจาก ฉบับมหิดล, ฉบับสยามรัฐ, ฉบับมหาเถรสมาคม เป็นต้น, ส่วนอรรถกถาแปลโดยมากจากฉบับมหาจุฬาฯ.
22. กุกฺกุรชาตกํ - ว่าด้วยสุนัขที่ถูกฆ่า , 21. กุรุงฺคมิคชาตกํ - ว่าด้วยกวางกุรุงคะ , 20. นฬปานชาตกํ - เหตุที่ไม้อ้อเป็นรูทะลุตลอด , 19. อายาจิตภตฺตชาตกํ - ว่าด้วยการเปลื้องตน , 18. มตกภตฺตชาตกํ - ว่าด้วยสัตว์ไม่ควรฆ่าสัตว์ , 17. มาลุตชาตกํ - ว่าด้วยความหนาวเกิดแต่ลม , 16. ติปลฺลตฺถมิคชาตกํ - ว่าด้วยเล่ห์กลลวงพราน , 15. ขราทิยชาตกํ - ว่าด้วยผู้ล่วงเลยโอวาท , 14. วาตมิคชาตกํ - ว่าด้วยอำนาจของรส , 13. กณฺฑินชาตกํ - ว่าด้วยผู้ตกอยู่ในอำนาจหญิง , 12. นิคฺโรธมิคชาตกํ - ว่าด้วยการเลือกคบ , 11. ลกฺขณมิคชาตกํ - ว่าด้วยผู้มีศีล , 10. สุขวิหาริชาตกํ - ว่าด้วยการอยู่เป็นสุข , 09. มฆเทวชาตกํ - ว่าด้วยเทวทูต , 08. คามณิชาตกํ - ว่าด้วยไม่ใจเร็วด่วนได้ , 07. กฏฺฐหาริชาตกํ - ว่าด้วยพระเจ้ากัฏฐวาหนะ , 06. เทวธมฺมชาตกํ - ว่าด้วยธรรมของเทวดา , 05. ตณฺฑุลนาฬิชาตกํ - ว่าด้วยราคาข้าวสาร, 04. จูฬเสฏฺฐิชาตกํ - ว่าด้วยคนฉลาดตั้งตนได้ , 03. เสริววาณิชชาตกํ - ว่าด้วยเสรีววาณิช , 02. วณฺณุปถชาตกํ - ว่าด้วยผู้ไม่เกียจคร้าน , 01. อปณฺณกชาตกํ - ว่าด้วยการรู้ฐานะและมิใช่ฐานะ
พระบรมพระธาตุนาดูน จังหวัดมหาสารคาม
พระธาตุนาดูน (Phra That Na Dun) หรือ “พุทธมณฑลแห่งอีสาน” พระธาตุองค์สีขาวงดงาม หนึ่งในพระธาตุที่มีความสำคัญและมีชื่อเสียงที่สุดของทางภาคอีสานซึ่งจำลองแบบมาจากศิลปะสมัยทวารวดีที่มีอายุเก่าแก่กว่า 1,000 ปี
ภาพ : นักรบตะวันออก
0 comments: