วันอาทิตย์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2565

แผ่เมตตาให้ถูกวิธี ตอนที่ ๓-มุทิตา

แผ่เมตตาให้ถูกวิธี ตอนที่ ๓-มุทิตา

๓ แผ่มุทิตา  -  แผ่เมตตาข้อที่ ๓ หมายถึงแผ่ “มุทิตา” อันเป็นพรหมวิหารธรรมข้อที่ ๓ 

ขอสรุปสภาพที่เกิดขึ้นแก่ “สัพเพ สัตตา” หรือเพื่อนร่วมโลกให้เห็นชัดอีกที เพื่อปฏิบัติการได้อย่างถูกต้อง

๑ เพื่อนร่วมโลกอยู่ในสภาพเป็นปกติ เปรียบเหมือนผู้ที่ยืนอยู่เป็นปกติบนพื้นราบธรรมดา   ท่านให้แผ่เมตตา ขอให้เขาเป็นปกติสุขตลอดไป

๒ เพื่อนร่วมโลกอยู่ในสภาพเป็นทุกข์ เปรียบเหมือนเขาพลัดตกลงไปจากพื้น   ท่านให้แผ่กรุณา ขอให้เขากลับขึ้นมาอยู่บนพื้นราบได้ตามปกติ

๓ เพื่อนร่วมโลกอยู่ในสภาพเป็นสุข เปรียบเหมือนเขาก้าวสูงขึ้นไปจากพื้นราบ ไปยืนในที่สูงขึ้นดีขึ้น   ตอนนี้แหละที่ท่านให้แผ่มุทิตา

๔ เพื่อนร่วมโลกอยู่ในสภาพเป็นไปตามสภาวะ เปรียบเหมือนพื้นราบที่ยืนอยู่นั้นเกิดวิปริตแปรปรวน เช่นไหวหวั่นสั่นสะเทือนแตกแยกอันเป็นอาการที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของใครๆ   ท่านแนะให้แผ่อุเบกขา-ซึ่งจะได้กล่าวถึงในตอนต่อไป

ควรเข้าใจให้ชัดขึ้นอีกหน่อยว่า คำว่า “เพื่อนร่วมโลกอยู่ในสภาพเป็นสุข” นั้น เอาอะไรเป็นตัวชี้วัด ทั้งนี้เพื่อตอบให้ชัดลงไปว่า เขาเป็นอย่างนี้ๆ ยังไม่ต้องมุทิตา แต่ถ้าเขาเป็นอย่างนี้ๆ นี่แหละมุทิตาได้เลย

ตัวชี้วัดชนิดหนึ่งที่ใช้ “แนวคิดทางธรรม” พิจารณาดูแล้ว เห็นว่าน่าจะใช้ได้ นั่นก็คือ โลกธรรมฝ่ายอิฏฐารมณ์ คือโลกธรรมฝ่ายที่น่ายินดีพอใจ ที่เราต่างก็คุ้นกันดี คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข

๑ ลาภ (gain) คือเขาได้อะไรมาสักอย่าง ซึ่งตามปกติเขาไม่มีไม่ได้ แต่อยากได้ เช่นครอบครัวที่อยากมีลูก รอมานาน แล้วอยู่มาวันหนึ่งก็ได้ลูกสมปรารถนา หรือตัวอย่างขำๆ อยู่มาวันหนึ่งเกิดถูกหวยขึ้นมา นี่คือลาภ แม้แต่อยากกินอะไร แล้วมีคนส่งของกินสิ่งนั้นมาให้ นี่เราก็เรียกกันว่า “ลาภปาก”

๒ ยศ (fame; rank; dignity) ข้อนี้มองเห็นง่าย เช่น มียศ มีตำแหน่ง ได้เลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง มีสถานภาพทางสังคมสูงขึ้น

๓ สรรเสริญ (praise) ได้รับการยกย่องในทางใดๆ ก็ตาม เช่น ได้รับชัยชนะในการแข่งขัน ได้รับรางวัลในการประกวด ได้รับการประกาศนามให้เป็นบุคคลที่มีเกียรติมีชื่อเสียงในทางใดทางหนึ่งเป็นที่รู้จักของสังคม

๔ สุข (happiness) ข้อนี้ออกจะกว้างหน่อย ดูกันตรงไหนว่าเขามี happiness 

จุดหนึ่งที่พอคิดเห็นได้ก็คือ เขาผ่านพ้นจากปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งที่รุมล้อมหรือเผชิญอยู่ คืนสู่สภาพปกติ เช่น หายป่วย พ้นโทษ พ้นผิด พ้นจากข้อกล่าวหา หมดหนี้หมดสิน ได้งานทำหลังจากตกงานอยู่นาน ของที่หายได้คืน ฯลฯ สภาพอย่างนี้ย่อมทำให้เกิดความสุข นี่คือ “สุข” ในโลกธรรม-สุขที่เกิดจากการพ้นปัญหา

เมื่อรู้เห็นว่าเพื่อนร่วมโลกมีสุขเป็นสุขดังว่ามานี้ ก็เป็นโอกาสที่ควรจะ “แผ่มุทิตา”

“มุทิตา” คืออย่างไร?

“มุทิตา” (โปรดอย่าเขียนผิดเป็น “มุฑิตา” ไม่ใช่ -ฑิ- ฑ ทณโฑ แต่เป็น -ทิ- ท ทหาร) แปลตามศัพท์ว่า -

(๑) “กิริยาที่ยินดี” หมายถึง ชื่นชม, ยินดี, พอใจ (pleased, glad, satisfied)

ความหมายตามนัยนี้ ถ้าเป็นคุณศัพท์ มีความหมายว่า มีใจชื่นชม, มีใจปราโมทย์, ดีใจ (with gladdened heart, pleased in mind)

(๒) “ความเป็นผู้อ่อนโยน” หมายถึง ความมีใจอ่อน, ความกรุณา, ความเห็นอกเห็นใจ (soft-heartedness, kindliness, sympathy) 

ความหมายตามนัยนี้ ในทางปฏิบัติก็คือ ใครจะสุขหรือจะทุกข์ ก็รู้สึกเป็นพวกเดียวกัน ถ้าสุขก็พลอยยินดี ถ้าทุกข์ก็พลอยเดือดร้อนใจไปด้วย

คำว่า “มุทิตา” ในทางธรรม มีความหมายอย่างเดียวกับคำว่า “อนุโมทนา”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกไว้ว่า -

“มุทิตา : (คำนาม) ความมีจิตพลอยยินดีในลาภยศสรรเสริญสุขของผู้อื่น เป็น ๑ ในพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา. (ป.).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า -

“มุทิตา : ความพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี, เห็นผู้อื่นอยู่ดีมีสุข ก็แช่มชื่นเบิกบานใจด้วย เห็นเขาประสบความสำเร็จเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป ก็พลอยยินดีบันเทิงใจ พร้อมที่จะส่งเสริมสนับสนุน ไม่กีดกันริษยา; ธรรมตรงข้ามคือ อิสสา (ข้อ ๓ ในพรหมวิหาร ๔).”

เมื่อจะแผ่มุทิตาตามรูปแบบ มีคำบาลีที่กำหนดไว้ดังนี้ -

สพฺเพ  สตฺตา  ลทฺธสมฺปตฺติโต  มา  วิคจฺฉนฺตุ. 

เขียนแบบคำอ่านเป็นดังนี้ -

สัพเพ  สัตตา ลัทธะสัมปัตติโต  มา  วิคัจฉันตุ. 

คำบาลีสลับคำแปลที่นิยมแปลกันเป็นดังนี้ -

สัพเพ  สัตตา = สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น 

ลัทธะสัมปัตติโต  มา  วิคัจฉันตุ = จงอย่าไปปราศจากสมบัติอันได้แล้วเถิด

เราน่าจะคุ้นเคยกับถ้อยคำแสดงออกที่มักจะได้ยินกันเสมอๆ ๒ คำนี้ -

๑ “ขอแสดงความเสียใจด้วย”

๒ “ขอแสดงความยินดีด้วย”

“ขอแสดงความเสียใจด้วย” คือ “แผ่กรุณา”

“ขอแสดงความยินดีด้วย” นี่คือ “แผ่มุทิตา”

เวลาที่เพื่อนมนุษย์ได้ดีมีสุข เป็นเวลาที่ควรแสดงความยินดีต่อกัน การแผ่มุทิตาก็คือการแสดงความยินดีและขอให้เพื่อนมนุษย์ได้เชยชมสมบัติหรือความสำเร็จนั้นไปนานๆ  แผ่มุทิตาเป็นกิจที่ควรทำเท่าๆ กับแผ่เมตตาและแผ่กรุณา

การแผ่มุทิตาเป็นกิจทางใจ อาจแสดงออกโดยทางกิริยาวาจา เช่นกล่าวแสดงความยินดี แต่ที่สุดแล้วตัดสินกันที่น้ำใสใจจริง   ถ้าไม่มีใจยินดีจริง กิริยาวาจาที่แสดงออกก็เป็นการหลอกลวง 

ถ้ามีใจยินดีอย่างแท้จริง แม้ไม่ได้พูดอะไรหรือแสดงกิริยาใดๆ ก็ถือว่ามุทิตานั้นสำเร็จแล้ว   และถ้าแสดงออกพร้อมทั้งไตรทวาร ก็นับว่าเป็นมุทิตาที่สมบูรณ์

อุปสรรคที่ทำให้แผ่ “มุทิตา” ได้ไม่เต็มที่หรือแผ่ได้ยากก็คือ “ริษยา” เห็นเพื่อนมนุษย์ได้ดีแล้วไม่มีความสุข ร้องเอ็ดอึงอยู่ในใจว่า มันไม่น่าได้ดีมีสุขแบบนี้เลย มันควรจะตกทุกข์ได้ยากไม่มีวันผุดวันเกิดจึงจะถูก

ทั้งๆ ที่-เขาดีขึ้นก็ไม่ได้ทำให้เราเลวลงสักหน่อย แต่คิดไม่เป็น เห็นไม่ได้  เห็นใครทำบุญ ความคิดที่จะอนุโมทนาสาธุการไม่เกิด  ใครมีพื้นอารมณ์เป็นอย่างนี้ละก็ แผ่มุทิตาได้ยาก  เป็นอย่างที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อพะยอมท่านว่า “อิจฉาริษยาเขาเท่ากับจุดไฟเผาตัวเอง”-ประมาณนี้  ทางแก้ก็คือ ถอนตัวริษยาออกจากจิตของตัวเองให้ได้

พูดง่าย แต่ทำยาก  แต่ทำยาก ไม่ได้แปลว่าทำไม่ได้  ที่ทำไม่ได้เพราะไม่ลงมือทำ  ถ้าลงมือทำก็ทำได้  อาจจะยากหน่อย แต่ถ้าลงมือทำและไม่เลิกทำ วันหนึ่งก็จะทำสำเร็จ

มีข้อคิดเล็กๆ ปิดท้าย -

อิจฉาริษยามัน ไม่ชอบมัน เกลียดมัน - ก็แสดงออกบอกกันตรงๆ ไม่ปิดบัง  แบบนี้แม้น้ำใจจะไม่น่ารัก แต่ก็ยังน่านับถือในความตรงไปตรงมา  อิจฉาริษยามัน ไม่ชอบมัน เกลียดมัน - แต่กลับเสแสร้งแกล้งทำเป็นมีไมตรีจิต-แบบมือหนึ่งจับมือ แต่มือหนึ่งซ่อนมีด  แบบนี้น่ารังเกียจ ไม่ควรประพฤติ

ตอนต่อไป:  แผ่เมตตาให้ถูกวิธี ตอนที่ ๔-อุเบกขา

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑๘ เมษายน ๒๕๖๕ ,  ๑๖:๔๒

แผ่เมตตาให้ถูกวิธี ตอนที่ ๑-เมตตา ,  แผ่เมตตาให้ถูกวิธี ตอนที่ ๒-กรุณา ,  แผ่เมตตาให้ถูกวิธี ตอนที่ ๓-มุทิตา ,  แผ่เมตตาให้ถูกวิธี ตอนที่ ๔-อุเบกขา ,  แผ่เมตตาให้ถูกวิธี ตอนที่ ๕-หมายเหตุอุเบกขา ,  แผ่เมตตาให้ถูกวิธี ตอนที่ ๖-สรุปความ

The Ancient Buddhist Pagoda and Monastery premise in Sri Lanka.






Previous Post
Next Post

0 comments: