วันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2565

มุหุตติกา - ภรรยาประเภทที่ 10

มุหุตติกา - ภรรยาประเภทที่ 10

ภรรยาชั่วคราว

ควรทราบก่อน :  ในจำนวนศีล 227 สิกขาบทของภิกษุ ในหมวดอาบัติสังฆาทิเสสมี 13 สิกขาบท สิกขาบทที่ 5 บัญญัติว่า “ภิกษุชักสื่อให้ชายหญิงเป็นผัวเมียกัน ต้องสังฆาทิเสส” (นวโกวาท หน้า 3)

เมื่อกล่าวถึง “ชายหญิงเป็นผัวเมียกัน” ตามสิกขาบทนี้ พระวินัยปิฎกจำแนกหญิงที่ชายได้มาเป็นภรรยาไว้ 10 ประเภท คือ -

(1) ธนกีตา  =  ภรรยาสินไถ่ 

(2) ฉันทวาสินี  =  ภรรยาที่อยู่ด้วยความเต็มใจ 

(3) โภควาสินี  =  ภรรยาที่อยู่เพราะสมบัติ

(4) ปฏวาสินี  =  ภรรยาที่อยู่เพราะผ้า 

(5) โอทปัตตกินี  =  ภรรยาที่สมรส 

(6) โอภตจุมพฏา  =  ภรรยาที่ถูกปลงเทริด 

(7) ทาสี  จ  ภริยา  จ  =  ภรรยาที่เป็นทั้งคนใช้เป็นทั้งภรรยา 

(8 ) กัมมการี  จ  ภริยา  จ  =  ภรรยาที่เป็นทั้งลูกจ้างทั้งเป็นภรรยา 

(9) ธชาหฏา  =  ภรรยาเชลย

(10) มุหุตติกา  =  ภรรยาชั่วคราว 

ชื่อภรรยาทั้ง 10 ประเภทนี้ ไม่ใช่คำแสดงลักษณะนิสัยของภรรยาเหมือนภรรยา 7 ประเภท เช่น “โจรีภริยา” ภรรยาเยี่ยงโจร “มาตาภริยา” ภรรยาเยี่ยงมารดา เป็นต้น หากแต่เป็นคำแสดงที่มาหรือลักษณะที่ได้หญิงนั้นมาเป็นภรรยาว่าได้มาด้วยวิธีใด

ชื่อภรรยาทั้ง 10 ประเภทนี้บ่งบอกถึงสภาพสังคมหรือค่านิยมในการหาคู่ครองของชายชาวชมพูทวีปในสมัยพุทธกาล เป็นเรื่องน่ารู้ จึงนำแต่ละชื่อมาแสดงความหมายตามกรอบขอบเขตของ “บาลีวันละคำ” พอเป็นอลังการของนักเรียนบาลี

“มุหุตติกา” อ่านว่า มุ-หุด-ติ-กา รูปคำเดิมมาจาก มุหุตต + อิก + อา ปัจจัย

(๑) “มุหุตต”   เขียนแบบบาลีเป็น “มุหุตฺต” (มีจุดใต้ ตฺ ตัวหน้า) อ่านว่า มุ-หุด-ตะ รากศัพท์มาจาก หุจฺฉฺ (ธาตุ = คด, คดเคี้ยว) + ต ปัจจัย, ลง มุ อาคมหน้าธาตุ (มุ + หุจฺฉฺ), ซ้อน ตฺ ระหว่างธาตุกับปัจจัย (หุจฺฉฺ + ตฺ + ต), ลบ จฺฉฺ

: มุ + หุจฺฉฺ = มุหุจฺฉฺ + ตฺ + ต = มุหุจฺฉตฺต > มุหุตฺต (มุ-หุด-ตะ) แปลตามศัพท์ว่า “กาลที่ยังคืนและวันให้คดเคี้ยว” (คือให้เปลี่ยนไป) 

“มุหุตฺต” (ปุงลิงค์; นปุงสกลิงค์) หมายถึง ครู่หนึ่ง, ชั่วประเดี๋ยวเดียว, ส่วนเล็กนิดเดียว (a moment, a very short period of time, an inkling) 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ขยายความไว้อีกนิดหนึ่งว่า as we should say “a second” (อย่างที่เราจะพูดว่า “ประเดี๋ยว”)

บาลี “มุหุตฺต” ในภาษาไทยใช้เป็น “มุหุต” (มุ-หุด) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า - 

“มุหุต : (คำนาม) เวลาครู่หนึ่ง, ขณะหนึ่ง. (ป. มุหุตฺต).”

(๒) มุหุตฺต + อิก = มุหุตฺติก (มุ-หุด-ติ-กะ) แปลว่า “ผู้ประกอบด้วยเวลาครู่หนึ่ง” คือมีเวลาทำกิจใดๆ เพียงครู่เดียว

“มุหุตฺติก” เป็นคำคุณศัพท์ เมื่อขยายคำนามที่เป็นอิตถีลิงค์ ลง อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “มุหุตฺติกา” (มุ-หุด-ติ-กา)

“มุหุตฺติกา” เขียนแบบไทยเป็น “มุหุตติกา” (ไม่มีจุดใต้ ต ตัวหน้า) แปลว่า “ภรรยาที่มีเวลาอยู่ร่วมกันเพียงครู่เดียว” แปลกระชับความว่า “ภรรยาชั่วคราว”

ขยายความ :  ในพระไตรปิฎก สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ 5 ให้คำจำกัดความ “มุหุตติกา” ไว้ดังนี้ -

มุหุตฺติกา  นาม  ตํขณิกา  วุจฺจติ  ฯ  ภรรยาที่ชื่อว่า “มุหุตติกา” (ภรรยาชั่วคราว) หมายถึง สตรีที่เรียกกันว่า “ตังขณิกา” (สตรีที่อยู่ร่วมกันชั่วขณะ) 

ที่มา: วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 1 พระไตรปิฎกเล่ม 1 ข้อ 433

คัมภีรอรรถกถาพระวินัยปิฎกขยายความ “มุหุตติกา” ไว้ดังนี้ -

อนฺตมโส  ตํขณิกายปีติ  สพฺพนฺติเมน  ปริจฺเฉเทน  ยา  อยํ  ตํขเณ  มุหุตฺตมตฺเต  ปฏิสํวสิตพฺพโต  ตํขณิกา  วุจฺจติ  มุหุตฺติกาติ  อตฺโถ    คำว่า อนฺตมโส  ตํขณิกายปิ หมายความว่า สตรีที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า “ตังขณิกา” เพราะเป็นผู้อันบุรุษพึงอยู่ร่วมเฉพาะในขณะนั้น คือเพียงชั่วครู่ ขยายความว่า เป็นภรรยาเพียงชั่วคราว อันเป็นกำหนดอย่างต่ำที่สุดในบรรดาภรรยาทุกประเภท

ตสฺสาปิ  มุหุตฺติกา  ภวิสฺสสีติ  เอวํ  ปุริสมตึ  อาโรเจนฺตสฺส  สงฺฆาทิเสโส  ฯ  เมื่อภิกษุบอกความประสงค์ของบุรุษแก่สตรีนั้นอย่างนี้ว่า “เธอจักเป็นภรรยาชั่วคราว” ก็เป็นสังฆาทิเสส

ที่มา: สมันตปาสาทิกา ภาค 2 หน้า 49 (อธิบายสังฆาทิเสสสิกขาบทที่ 5)

อธิบายแถม :   คำอธิบายของอรรถกถาสมควรขยายความเพิ่มเติมเพื่อให้เข้าใจชัดเจนขึ้น

ตัวสิกขาบทที่เป็นต้นฉบับบาลีมีข้อความดังนี้ 

โย  ปน  ภิกฺขุ  สญฺจริตฺตํ  สมาปชฺเชยฺย  อิตฺถิยา  วา  ปุริสมตึ  ปุริสสฺส  วา  อิตฺถีมตึ  ชายตฺตเน  วา  ชารตฺตเน  วา  อนฺตมโส  ตํขณิกายปิ  สงฺฆาทิเสโสติ  ฯ

ที่มา: วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 1 พระไตรปิฎกเล่ม 1 ข้อ 428

หมายเหตุ:   ผู้ใคร่ต่อการศึกษาพึงตรวจสอบกับหนังสือ “ภิกขุปาติโมกข์” ที่พระสงฆ์ประชุมสวด-ฟังกันทุกกึ่งเดือน เพื่อพิสูจน์ยันกัน

แปลว่า   อนึ่ง ภิกษุใด ถึงความเป็นผู้ชักสื่อ บอกความประสงค์ของบุรุษแก่สตรีก็ดี บอกความประสงค์ของสตรีแก่บุรุษก็ดี ในความเป็นเมียก็ตาม ในความเป็นชู้ก็ตาม โดยที่สุดบอกแม้แก่หญิงอันจะพึงอยู่ร่วมชั่วขณะ เป็นสังฆาทิเสส

ข้อความนี้ ก็คือที่ปรากฏในหนังสือ “นวโกวาท” พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ว่า “ภิกษุชักสื่อให้ชายหญิงเป็นผัวเมียกัน ต้องสังฆาทิเสส” (นวโกวาท หน้า 3)

คำว่า “ชักสื่อให้ชายหญิงเป็นผัวเมียกัน” ย่อมเข้าใจได้ว่า ชักสื่อหญิงให้เป็นภรรยาของชาย หรือชักสื่อชายให้เป็นสามีของหญิง เท่านี้เทานั้น  แต่ในตัวบทและเรื่องประกอบในพระวินัยปิฎกมีเงื่อนไขมากกว่านี้ กล่าวคือ -

๑ ชักสื่อจนชายหญิงได้เป็นสามีภรรยากัน

๒ ชักสื่อให้ชายหญิงเป็นชู้กับคู่ครองของคนอื่น นั่นคือชักสื่อให้ชายหญิงได้ร่วมเสพกามกันแม้จะไม่ถึงขั้นได้เป็นสามีภรรยากันตามธรรมเนียมก็ตาม

๓ ชักสื่อสตรีที่เรียกว่า “ตังขณิกา” ให้แก่ชาย

“ตังขณิกา” คือสตรีเช่นไร คำจำกัดความในพระวินัยปิฎกนั่นเองระบุว่า -

อนฺตมโส  ตํขณิกายปีติ  มุหุตฺติกา  ภวิสฺสสิ  ฯ  

ที่มา: วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 1 พระไตรปิฎกเล่ม 1 ข้อ 429

แปลว่า  คำว่า “อนฺตมโส  ตํขณิกายปิ” (ดูคำนี้ที่ตัวบทข้างต้น) หมายความว่า (ภิกษุบอกความประสงค์ของบุรุษแก่สตรีว่า) เธอจักเป็นมุหุตติกา

เป็นอันว่า “ตังขณิกา” ก็คือ “มุหุตติกา”   และ “มุหุตติกา” ก็คือภรรยาประเภทหนึ่งที่กำลังกล่าวถึงอยู่ในขณะนี้  แล้ว “มุหุตติกา” คือใคร? ก็ย้อนไปดูที่คำขยายความของอรรถกถาพระวินัยปิฎกที่ยกมาแสดงไว้ข้างต้น ตรงที่ว่า -

“คำว่า อนฺตมโส  ตํขณิกายปิ หมายความว่า สตรีที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า “ตังขณิกา” เพราะเป็นผู้อันบุรุษพึงอยู่ร่วมเฉพาะในขณะนั้น คือเพียงชั่วครู่ ขยายความว่า เป็นภรรยาเพียงชั่วคราว”

สตรีที่ “บุรุษพึงอยู่ร่วมเฉพาะในขณะนั้น คือเพียงชั่วครู่” คือสตรีประเภทไหน? - เริ่มจะชัดขึ้น

และถ้าตามไปศึกษาเรื่องประกอบในพระวินัยปิฎกที่เล่าต้นเหตุให้ต้องเพิ่มข้อความตอนท้ายแห่งสิกขาบทนี้ (คือตรงที่ว่า “อนฺตมโส  ตํขณิกายปิ”) ก็จะเข้าใจได้ทะลุปรุโปร่ง

เรื่องโดยสรุปคือ หนุ่มนักเลงคณะหนึ่งออกไปเที่ยวสนุกกันนอกเมือง (เรื่องนี้เหตุเกิดที่เมืองสาวัตถี) อยากสนุกให้ถึงขนาด จึงส่งคนไปที่สำนักหญิงบริการ ขอให้มาบริการพวกตนที่สวนนอกเมือง แต่หญิงบริการบ่ายเบี่ยงอ้างว่า คนที่มาติดต่อนี่เป็นใครก็ไม่รู้ ไปนอกเมืองไม่ค่อยปลอดภัย เมื่อคนติดต่อกลับไปบอก คณะหนุ่มนักเลงจึงไปขอแรงพระอุทายีให้ช่วยเจรจา พระอุทายีไปช่วยพูดจนหญิงบริการตกลงไปเปิดบริการพิเศษให้ตามประสงค์

การกระทำของพระอุทายีถูกคนทั้งหลายตำหนิติเตียนมาก เป็นเหตุให้พระพุทธองค์ทรงเพิ่มเงื่อนไขแห่งสิกขาบทนี้เข้าไปอีกท่อนหนึ่งว่า “อนฺตมโส  ตํขณิกายปิ”

ที่มา: วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 1 พระไตรปิฎกเล่ม 1 ข้อ 428

ที่ผู้เขียนบาลีวันละคำใช้คำว่า “หญิงบริการ” นั้น พระไตรปิฎกใช้คำว่า “เวสิยา”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เวสิยา” ว่า a woman of low caste, a harlot, prostitute (สตรีวรรณะต่ำ, หญิงแพศยา, หญิงโสเภณี)

จึงเป็นอันได้ข้อยุติ :  

“ตังขณิกา” คือ “มุหุตติกา”  

“มุหุตติกา” คือ “เวสิยา”  

“เวสิยา” คือ a woman of low caste, a harlot, prostitute

ดังนั้น ภรรยาประเภท “มุหุตติกา” ก็คือ สตรีที่มีอาชีพเป็นหญิงบริการ ขณะเมื่อกำลังบริการบุรุษใด ก็ได้ชื่อว่าเป็นภรรยาของบุรุษนั้น บริการเสร็จ ต่างคนต่างไป ความเป็นภรรยาก็สิ้นสุดลง

เพราะทำหน้าที่ภรรยาแค่ชั่วครู่เดียว ท่านจึงเรียกภรรยาประเภทนี้ว่า “มุหุตติกา” = ภรรยาชั่วคราว

และเป็นอันว่า กรณี “ภิกษุชักสื่อให้ชายหญิงเป็นผัวเมียกัน ต้องสังฆาทิเสส” นั้น ต้องทำความเข้าใจให้กว้างออกไปอีกว่า ไม่ใช่เพียงชักสื่อให้ชายหญิงได้เป็นสามีภรรยาชนิดอยู่ครองเรือนกันตลอดไปเท่านั้นที่มีความผิดต้องอาบัติสังฆาทิเสส ชักสื่อให้เขามีความสัมพันธ์ทางเพศกันก็ดี จัดหาหญิงบริการให้เขาก็ดี ก็มีความผิดต้องอาบัติสังฆาทิเสสด้วยเช่นกัน

การที่พระไตรปิฎกจัด “มุหุตติกา” เข้าไว้ในทำเนียบภรรยา ถือได้ว่าเป็นการให้เกียรติสตรีทางหนึ่ง

ดูก่อนภราดา!

กามกิจ (กิจของผู้เสพกาม) ทำชั่วขณะเดียวก็เสร็จ

แต่สิกขกามกิจ (กิจของผู้ใฝ่ศึกษาพระธรรมวินัย) ต้องทำตลอดชีวิต

บาลีวันละคำ (3,596) ,  ทองย้อย แสงสินชัย

มุหุตติกา - ภรรยาประเภทที่ 10 , ธชาหฏา - ภรรยาประเภทที่ 9 , กัมมการี  จ  ภริยา  จ  -  ภรรยาประเภทที่ 8 , ทาสี  จ  ภริยา  จ - ภรรยาประเภทที่ 7 , โอภตจุมพฏา - ภรรยาประเภทที่ 6  โอทปัตตกินี - ภรรยาประเภทที่ 5 , ปฏวาสินี - ภรรยาประเภทที่ 4 , โภควาสินี - ภรรยาประเภทที่ 3 ,  ฉันทวาสินี  -  ภรรยาประเภทที่ 2 , ธนกีตา - ภรรยาประเภทที่ 1




Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: