วันพฤหัสบดีที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2565

ทางลัดที่เรายังไม่รู้

ทางลัดที่เรายังไม่รู้

มีพระคุณเจ้ารูปหนึ่งบอกผมว่า ท่านมีวิธีปฏิบัติธรรมให้บรรลุโสดาบันได้โดยทางลัด   คล้ายกับมีสูตร ปฏิบัติตาม ๑... ๒... ๓... บรรลุโสดาได้ทันที

ผมก็ไม่ได้ถามว่า ๑... ๒... ๓... ที่ละไว้นั้นคือทำอย่างไร แต่ท่านยืนยันว่าท่านมีสูตร เหมือนกับจะบอกว่า บรรลุโสดานั้นไม่ยากเลย  ที่เรียกว่า “โสดาบัน” หรือ “โสดา” นั้น หมายถึงอะไร ตรงนี้ต้องรู้เรื่อง “อริยบุคคล” สักหน่อยก่อนจึงจะเข้าใจ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกไว้ว่า - 

อริยบุคคล : (คำนาม) บุคคลผู้บรรลุธรรมวิเศษ มีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น. (ป. อริยปุคฺคล).

คำว่า “ธรรมวิเศษ” ที่พจนานุกรมฯ บอกไว้นั้น ไม่ใช่ “วิเศษ” แบบผู้วิเศษ ของวิเศษ เหาะได้ หายตัวได้ หูทิพย์ ตาทิพย์ อย่างที่เรามักเข้าใจกัน แต่หมายถึง “ระดับจิต” ที่สูงกว่าปุถุชน

อริยบุคคล แปลว่า บุคคลผู้เป็นอริยะ หมายถึงท่านผู้บรรลุธรรมที่สามารถยกจิตขึ้นเหนือโลก สุขทุกข์มากระทบก็ไม่กระเทือน กระเทือนก็น้อย ทั้งนี้ตามสภาพของคุณธรรมที่บรรลุ มี ๔ จำพวก คือ 

๑. พระโสดาบัน   ๒. พระสกทาคามี (หรือสกิทาคามี)   ๓. พระอนาคามี   ๔. พระอรหันต์

แบ่งซอยออกไปอีกเป็น ๘ จำพวก คือ 

ผู้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติมรรค และผู้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล ๑ คู่ ,  ผู้ดำรงอยู่ในสกทาคามิมรรค และผู้ดำรงอยู่ในสกทาคามิผล ๑ คู่,  

ผู้ดำรงอยู่ในอนาคามิมรรค และผู้ดำรงอยู่ในอนาคามิผล ๑ คู่ ,  ผู้ดำรงอยู่ในอรหัตมรรค และผู้ดำรงอยู่ในอรหัตผล ๑ คู่

นี่ก็คือที่เราสวดกันในบทสังฆคุณ 

... ยทิทํ จตฺตาริ ปุริสยุคานิ 

อฏฺฐ ปุริสปุคฺคลา ...

สวดมนต์แปลสำนักสวนโมกข์แปลว่า  ... คือคู่แห่งบุรุษ ๔ คู่   นับเรียงตัวบุรุษได้ ๘ บุรุษ ...

ทั้ง ๘ บุรุษนี้จำสั้นๆ ว่า ผู้ดำรงอยู่ในมรรคและผู้ดำรงอยู่ในผล

มีคำอธิบายว่า มรรคกับผลเป็นธรรมที่คู่กัน และผลจะเกิดต่อเนื่องจากมรรคทันทีไม่มีการทิ้งช่วง คือพอดำรงอยู่ในมรรคแล้วทันใดนั้นก็ไปดำรงอยู่ในผลทันที ไม่ใช่-ดำรงอยู่ในมรรค ๗ วันแล้วจึงไปดำรงอยู่ในผล-อะไรทำนองนี้

คำว่า “อกาลิโก” ที่แปลว่า “ไม่ประกอบด้วยกาล” อันเป็นลักษณะหนึ่งของพระธรรมคุณ ท่านหมายถึงอาการที่มรรคกับผลเกิดติดต่อกันไปไม่มีอะไรมาคั่นเช่นนี้แหละ

ทำความเข้าใจง่ายๆ ว่า ผลเกิดต่อเนื่องจากมรรคโดยไม่ต้องใช้เวลารอ  ใครจะเป็นอริยบุคคลจำพวกไหนหรือระดับไหน ท่านใช้กิเลสที่เรียกว่า “สังโยชน์” เป็นเกณฑ์ตัดสิน กล่าวคือ

๑. พระโสดาบัน จะต้องละสังโยชน์ ๓ ข้อนี้ได้ คือ -

(1) สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นตัวของตน เช่น เห็นรูป เห็นเวทนา เห็นวิญญาณ เป็นตนเป็นต้น 

(2) วิจิกิจฉา ความสงสัย ความลังเล ความเคลือบแคลงในกุศลธรรมทั้งหลาย

(3) สีลัพพตปรามาส ความถือมั่นศีลพรต โดยสักว่าทำตามๆ กันไปอย่างงมงายเห็นว่าจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้เพียงด้วยศีลและวัตร 

๒. พระสกทาคามี ละสังโยชน์ ๓ ข้อได้เหมือนพระโสดาบัน และทำราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาบางลง (พระโสดาบันยังทำราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาบางลงไม่ได้)

๓. พระอนาคามี ต้องละสังโยชน์ต่อไปได้อีก ๒ ข้อ คือ -

(4) กามราคะ ความกำหนัดในกาม, ความติดใจในกามคุณ

(5) ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งในใจ, ความหงุดหงิดขัดเคือง

๔ พระอรหันต์ ต้องละสังโยชน์ได้หมดทั้ง ๑๐ ข้อ คือละต่อไปได้อีก ๕ ข้อ คือ -

(6) รูปราคะ ความติดใจในอารมณ์แห่งรูปฌาน หรือในรูปธรรมอันประณีต, ความปรารถนาในรูปภพ

(7) อรูปราคะ ความติดใจในอารมณ์แห่งอรูปฌาน หรือในอรูปธรรม, ความปรารถนาในอรูปภพ

(8 ) มานะ ความสำคัญตน คือ ถือตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่

(9) อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน 

(10) อวิชชา ความไม่รู้จริง, ความหลง

คราวนี้คงพอเข้าใจแล้วว่า “โสดาบัน” หรือ “โสดา” นั้น หมายถึงอะไรหรือหมายถึงใคร

ที่ควรรู้ต่อไปอีกก็คือ ธรรมชาติของโสดาบันนั้นจะตาย-เกิดอีกไม่เกิน ๗ ชาติ ก็จะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ และพระอรหันต์นั้นเมื่อดับขันธ์แล้วก็ไม่มีภพภูมิใดๆ ที่จะต้องไปเกิดอีกต่อไป  มีคำบาลีรับรองเป็นหลักฐานว่า -

ขีณา ชาติ (ขี-นา- ชา-ติ) = การเกิดจบสิ้นแล้ว

อยมนฺติมา ชาติ (อะ-ยะ-มัน-ติ-มา ชา-ติ) = ชาตินี้เป็นการเกิดครั้งสุดท้าย

นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว (นัด-ถิ-ทา-นิ ปุ-นับ-พะ-โว) = บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีกต่อไป

ปุถุชนอย่างเราท่านตายแล้วเกิดอีกไม่มีกำหนดสิ้นสุด ที่เรียกว่าแหวกว่ายอยู่ในสังสารวัฏ คือการเวียนตายเวียนเกิด

เท่าที่ได้ศึกษามา ไม่ปรากฏว่ามี “ทางลัด” ที่จะบรรลุธรรม มีแต่พระบาลีที่แสดงเรื่องปฏิบัติลำบาก-ปฏิบัติสบาย กับบรรลุธรรมช้า-บรรลุธรรมเร็ว ดังนี้

๑. ทุกฺขา ปฏิปทา ทนฺธาภิญฺญา = ปฏิบัติลำบาก ทั้งบรรลุธรรมได้ช้า (เช่นพระจักขุบาล)

๒. ทุกฺขา ปฏิปทา ขิปฺปาภิญฺญา = ปฏิบัติลำบาก แต่บรรลุธรรมได้เร็ว (เช่นพระมหาโมคคัลลานะ)

๓. สุขา ปฏิปทา ทนฺธาภิญฺญา = ปฏิบัติสบาย แต่บรรลุธรรมได้ช้า (น่าจะได้แก่ชาวพุทธทั่วไป)

๔. สุขา ปฏิปทา ขิปฺปาภิญฺญา = ปฏิบัติสบาย ทั้งบรรลุธรรมได้เร็ว (เช่นพระสารีบุตร)

ที่มา: อังคุตรนิกาย จตุกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม ๒๑ ข้อ ๑๖๑

ถ้าท่านผู้ใดใครผู้หนึ่งมีทางลัดหรือค้นพบทางลัดที่จะบรรลุธรรมเพื่อเป็นพระอริยบุคคล ก็สมควรที่จะประกาศ แสดง เปิดเผย ออกมาให้แจ้งชัด คนทั้งหลายที่รู้ทางนั้นแล้วจะได้ดำเนินตาม เราก็จะมีคนบรรลุมรรคผลกันมากขึ้น

พระอริยบุคคล ๓ จำพวก คือ โสดาบัน สกทาคามี และอนาคามี ชาวบ้านธรรมดาที่ปฏิบัติธรรมก็สามารถเป็นได้ พูดง่ายๆ ว่า ไม่ต้องบวชพระก็เป็นได้

มีแต่ระดับพระอรหันต์เท่านั้น ถ้าบรรลุธรรมระดับนี้ต้องบวชทันที  และตามที่ศึกษามา ท่านยืนยันว่า ผู้ที่บรรลุธรรมตั้งแต่โสดาบันจะไม่ไปอบายภูมิ พูดง่ายๆ ว่าไม่ตกนรก  ที่ไม่ตกนรกก็เพราะบุคคลระดับนี้จะไม่ประพฤติชั่วอย่างเด็ดขาด  บ้านเมืองเรา หรือว่าโดยวงกว้าง โลกมนุษย์ทั้งโลกมีปัญหาเดือดร้อนสารพัดก็เพราะคนประพฤติชั่ว

ถ้าคนไม่ประพฤติเสียอย่าง โลกก็สงบร่มเย็น  ใครรู้ทางลัดปฏิบัติเป็นโสดาบัน ควรเปิดเผยให้โลกรู้   มนุษย์จะได้เป็นโสดาบันกันเยอะๆ  นั่นหมายถึงคนที่ไม่ทำชั่วจะมีมากขึ้น  คนทำชั่วจะลดน้อยลง  โลกมนุษย์จะสงบสุขมากขึ้น  เห็นแสงสว่างแห่งสันติกันหรือยังครับ

ผมกลัวแต่ว่า พอจะให้บอกทางลัดสู่ความเป็นโสดาบัน ก็เกิดตั้งเงื่อนไขนี่นั่นโน่นขึ้นมาทันที เช่น-ต้องมาเป็นศิษย์สำนักฉันก่อน - จบเลย

นึกดูอีกที ทางลัดแห่งการบรรลุธรรมนั้นพระพุทธองค์ทรงแนะไว้ให้แล้ว ศึกษาได้จากเรื่องพระภิกษุรูปหนึ่งท่านรู้สึกว่าศีลของพระมีเยอะเกินไป ท่านปฏิบัติตามไม่ไหว

เฉพาะศีลที่เป็นเงื่อนไขแห่งการดำรงวิถีชีวิตสงฆ์ คือไม่ทำสกปรก ก็ ๒๒๗ ข้อเข้าไปแล้ว  ยังศีลที่เป็นการทำตัวให้สะอาดควรแก่การกราบไหว้อีกเป็นพันข้อ

เมื่อรู้สึกว่าปฏิบัติไม่ไหว ท่านก็ขอลา  พระพุทธองค์ตรัสว่า ถ้าปฏิบัติสักข้อเดียวจะไหวไหม   

ภิกษุทูลตอบว่า ข้อเดียวน่าจะได้

พระพุทธองค์ตรัสว่า ถ้าเช่นนั้น ต่อไปนี้รักษาจิตอย่างเดียวพอ

“รักษาจิต” คือใช้สติควบคุมจิต

ภิกษุรูปนั้นใช้สติควบคุมจิตอยู่ไม่นานก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์-เลยโสดาบันไปอีก

เรื่องนี้น่าจะอยู่ในธัมมปทัฏฐกถา ขอแรงนักเรียนบาลีที่ความจำดี ช่วยสอบดูแล้วนำมาบอกกล่าวกัน ก็จะเป็นพระคุณยิ่ง (นี่คืองานของนักเรียนบาลี)

เป็นอันว่า ทางลัดคือ “ใช้สติควบคุมจิต”  และ “สติ” ตัวนี้ พระพุทธองค์ตรัสเป็นคำสั่งเสียครั้งสุดท้ายก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพานว่า “อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ” (อับ-ปะ-มา-เท-นะ สำ-ปา-เท-ถะ) เราสวดมนต์กันอยู่ทุกวัน

เรารู้ทางลัดกันทุกคนแหละ  แต่เราไม่เดิน ไม่ไป ใครจะทำไม  ทางลัดที่เรายังไม่รู้ก็คือ ทำอย่างไรมนุษย์จึงจะใช้สติควบคุมจิตกันได้มากๆ  ใครรู้ทางลัดนี้ช่วยบอกหน่อยเถิด แต่ไม่ต้องรอคำตอบนะครับ และไม่ต้องรอใคร ตัวเรานี่แหละลงมือทำเอง-ทำเดี๋ยวนี้ได้เลย

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑๐ เมษายน ๒๕๖๕ , ๑๖:๓๕

The Great Marble reclining Statue of Buddha situated at "Wat Pa Phu Kon", Udon Thani Province, Thailand.

It enshrines the 20 meter long Reclining Buddha of Lokanatha Maha Muni, beautifully carved in Italian marble. Located on the border of 3 provinces, Udon Thani, Loei and Nong Khai, nicknamed "Wat Phithak Phit Pa".

Previous Post
Next Post

0 comments: