แผ่เมตตาให้ถูกวิธี ตอนที่ ๖-สรุปความ
เรื่องที่เขียนมานี้ ตั้งชื่อว่า “แผ่เมตตาให้ถูกวิธี” อาจจะชวนให้สงสัยว่า ถ้าเช่นนั้นก็แปลว่ามีการแผ่เมตตาที่ไม่ถูกวิธีด้วยละสิ แผ่เมตตาไม่ถูกวิธีมีด้วยหรือ อย่างไรเล่าที่เรียกว่าแผ่เมตตาไม่ถูกวิธี
วิธี “แผ่เมตตา” ที่เราท่านทั้งหลายทำกันอยู่ทุกวันนี้ เท่าที่พิจารณาดูแล้ว พบว่า ส่วนมากใช้วิธีท่องหรือสวดตามข้อความที่บอกกันว่าเป็นคำแผ่เมตตา
บทแผ่เมตตาที่นิยมสวดกันเป็นที่ยุติมีดังนี้
สัพเพ สัตตา อะเวรา โหนตุ อัพ๎ยาปัชฌา โหนตุ อะนีฆา โหนตุ สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ.
สัพเพ สัตตา สัพพะทุกขา ปะมุจจันตุ.
สัพเพ สัตตา ลัทธะสัมปัตติโต มา วิคัจฉันตุ.
สัพเพ สัตตา กัมมัสสะกา กัมมะทายาทา กัมมะโยนี กัมมะพันธู กัมมะปะฏิสะระณา ยัง กัมมัง กะริสสันติ กัล๎ยาณัง วา ปาปะกัง วา ตัสสะ ทายาทา ภะวิสสันตีติ.
มีคำแปลดังนี้ -
(เมตตา)
สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย อย่าได้พยาบาทเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้นเถิด
(กรุณา)
สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น จงพ้นจากทุกข์ทั้งปวงเถิด
(มุทิตา)
สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น จงอย่าไปปราศจากสมบัติอันได้แล้วเถิด
(อุเบกขา)
สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น เป็นผู้มีกรรมเป็นของตน เป็นผู้รับผลของกรรม เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด เป็นผู้มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ เป็นผู้มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย จักทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่ว จักเป็นผู้รับผลของกรรมอันนั้น.
เท่าที่ฟังมา ถ้าแผ่คนเดียวส่วนมากจะท่องหรือสวดเฉพาะท่อนแรก (สัพเพ สัตตา ...สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ) เพราะเข้าใจว่าแผ่เมตตามีข้อความเท่านั้น
แต่ถ้าสวดมนต์เป็นหมู่คณะ และสวดบทแผ่เมตตาด้วย ก็จะสวดบทเต็ม คือต่อจาก ... สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ ... ไปจนถึง ... ตัสสะ ทายาทา ภะวิสสันตีติ. แต่ส่วนมากจะไม่รู้ว่า บทยาวที่ต่อไปนั้นคือการแผ่กรุณา แผ่มุทิตา และแผ่อุเบกขาด้วย คงเข้าใจแต่เพียงว่า ทั้งหมดนั่นแหละคือ “แผ่เมตตา” และถ้าให้แยกว่าข้อความตั้งแต่ไหนถึงไหนเป็นคำ “แผ่เมตตา” ตั้งแต่ไหนถึงไหนเป็นคำ “แผ่กรุณา” ... ส่วนมากก็จะแยกไม่เป็น เพราะไม่รู้ (เพราะไม่มีใครบอก หรืออันที่จริง-เพราะตัวเองไม่ได้เฉลียวใจสงสัยใฝ่ศึกษาเรียนรู้) เมื่อได้ท่องหรือสวดข้อความดังว่านี้แล้ว ก็เข้าใจว่าได้ “แผ่เมตตา” สำเร็จเรียบร้อยแล้ว เชื่อกันแบบนั้น
โปรดทำความเข้าใจว่า การแผ่เมตตาเป็นงานทางใจ สำเร็จด้วยน้ำใสใจจริง ไม่สำเร็จด้วยการพูด หรือการท่องการสวด ยิ่งทุกวันนี้ผู้คนมีอุตสาหะในการท่องจำลดน้อยลง ดังจะเห็นได้ว่า ที่พูดกันว่า “สวดมนต์” นั้น ที่ทำกันทั่วไปก็คือกางหนังสืออ่าน ไม่ได้สวดจากความจำ
เรื่องสวดมนต์เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าจะต้องทำความเข้าใจกันให้เด็ดขาดลงไป “สวดมนต์” ในพระพุทธศาสนาเจตนาเดิมแท้คือการทบทวนความรู้หลักพระธรรมวินัยเพื่อไม่ให้หลงลืมลบเลือนออกไปจากใจ นั่นแปลว่าความรู้หลักพระธรรมวินัยต้องมีประทับอยู่ในใจแล้ว ครั้นแล้วจึงทบทวนความรู้นั้น วิธีทบทวนก็คือกล่าวข้อความนั้นออกมา ถ้าอยู่คนเดียวก็กล่าวออกมาคนเดียว ถ้ามีหลายคนก็ทบทวนพร้อมๆ กัน คือสวดออกมาพร้อมกัน นั่นคือที่เราเอามาประพฤติปฏิบัติกันในเวลานี้และเรียกว่า “สวดมนต์” ภายหลังจึงมีบทอื่นๆ เป็นบทประกอบเพิ่มขึ้น เช่นบทสรรเสริญคุณพระรัตนตรัยเป็นต้น และกลายเป็นมีรูปแบบ มีขั้นตอน และมีอาการเหมือนเป็น “พิธีกรรม” อะไรอย่างหนึ่ง-แบบเดียวกับพิธีกรรมที่ทำกันในศาสนาต่างๆ และมีผู้แต่งคำบรรยาย “อานิสงส์ของการสวดมนต์” ที่ทำกันอย่างเป็นพิธีกรรมดังที่เห็นกันทุกวันนี้
จึงต้องย้ำว่า “สวดมนต์” ในพระพุทธศาสนามีเจตนาอยู่ที่การทบทวนพระธรรมวินัยไม่ให้ลบเลือนไปจากใจ นั่นคือต้องมี “มนต์” ประทับไว้ในใจอยู่แล้ว การกางหนังสือสวดก็แปลว่า ข้อความที่เป็นมนต์นั้นไม่ได้มีอยู่ในใจ แต่ฝากไว้ในหนังสือ เจตนาเดิมที่ว่าเป็นการ “ทบทวน” ความรู้ จึงคลาดเคลื่อนเบี่ยงเบนไปหมด
ในเมื่อการแผ่เมตตาสำเร็จด้วยน้ำใสใจจริง ไม่สำเร็จด้วยการพูด หรือการท่องการสวด ยิ่งเป็นการกางหนังสืออ่านด้วยแล้วก็ยิ่งห่างไกลจากความสำเร็จมากขึ้นไปอีก เพราะคำแผ่เมตตาอยู่ในหนังสือ ออกมาจากหนังสือ ไม่ได้อยู่ในใจ
แค่เข้าใจว่า-ท่องบทแผ่เมตตา นั่นคือแผ่เมตตาสำเร็จแล้ว ก็คลาดเคลื่อนไปชั้นหนึ่งแล้ว ยิ่งถ้าบทแผ่เมตตานั้นไม่ได้อยู่ในใจ แต่อ่านเอาจากหนังสือ ก็ยิ่งคลาดเคลื่อนหนักขึ้นไปอีก แบบนี้แหละที่ขอเรียกว่า แผ่เมตตาไม่ถูกวิธี
แล้วจะทำอย่างไรกัน?
วิธีทำก็คือ แผ่เมตตาแบบที่ทำกันทั่วไป คือท่อง สวด หรือแม้แต่กางหนังสืออ่าน ก็ยังคงทำกันต่อไป เพราะทำกันมาจนฝังเข้ากระดูกแล้ว แก้ยาก อีกทั้งนักพรรณนาก็อุตส่าห์พรรณนาอานิสงส์กันอึกทึกอยู่ว่าสวดมนต์ดีอย่างไร ท่องบทแผ่เมตตามีอานิสงส์อย่างไร
คำแก้ตัวแก้ต่างที่พร้อมจะมีผู้ยกขึ้นมาอ้างก็คาดเดาได้ไม่ยาก-โอย ได้แค่นี้ก็บุญนักหนาแล้ว กางหนังสืออ่านมันก็ต้องรู้ต้องเข้าใจอะไรอยู่บ้างแหละ ไม่ใช่ว่าจะไม่รู้อะไรเสียเลย จะเอาอะไรกันนักกันหนา ทำมาอ้างหลักเคร่งครัดนัก เดี๋ยวก็ไม่มีคนสวดกันเท่านั้นเอง ...
เพราะฉะนั้น แบบที่ทำกันอยู่ก็ทำกันต่อไป ไม่ต้องเลิก แต่ขอได้โปรดทำความเข้าใจต่อไปว่า ผลสำเร็จของการแผ่เมตตาไม่ได้จบที่การท่อง การสวด หรือการกางหนังสืออ่าน
เพราะฉะนั้น เมื่อท่องเสร็จ สวดเสร็จ กางหนังสืออ่านเสร็จแล้ว งานขั้นต่อไปก็คือ ตั้งอารมณ์ไปยังเพื่อนร่วมโลก --
เมื่อเห็นเพื่อนร่วมโลกมีชีวิตอยู่เป็นปกติสุข ก็ให้ตั้งอารมณ์ว่า ขอให้อยู่เป็นปกติสุขสืบไปเถิด
เมื่อเห็นเพื่อนร่วมโลกประสบปัญหา ก็ให้ตั้งอารมณ์ว่า ขอให้ผ่านพ้นปัญหาไปได้ด้วยดีเถิด
เมื่อเห็นเพื่อนร่วมโลกประสบความสำเร็จ ก็ให้ตั้งอารมณ์ว่า ขอให้มีความสุขเช่นนั้นยั่งยืนต่อไปนานๆ เถิด
เมื่อเห็นเพื่อนร่วมโลกตกอยู่ในสภาพที่ไม่อาจจะเมตตา กรุณา หรือมุทิตาได้ เพราะไม่อยู่ในวิสัยที่เราจะทำอะไรได้ ก็ให้ตั้งอารมณ์ว่า ทุกชีวิตย่อมได้รับผลอันสมควรแก่เหตุ เรามีหน้าที่เข้าใจความจริง ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงความจริง ขอให้ประคองจิตของตนๆ ให้เป็นกลางมั่นคงต่อไปเถิด
นี่คือเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาตัวจริง จะสวดหรือไม่สวด จะท่องหรือไม่ท่อง จะกางหนังสืออ่านหรือไม่อ่าน ถ้าตั้งอารมณ์ไปยังเพื่อนร่วมโลกดังกล่าวมานี้ได้จริงๆ นั่นแหละคือได้แผ่เมตตาอย่างถูกวิธีแล้ว
ถ้าสวดด้วย ท่องด้วย อ่านด้วย และตั้งอารมณ์อย่างนี้ได้ด้วย นั่นคือการแผ่เมตตาที่สมบูรณ์ คือครบทั้งไตรทวาร อย่างไรก็ตาม โดยความเป็นจริงแล้วเราคงไม่สามารถรับรู้ความเป็นไปของเพื่อนร่วมโลกได้ทุกเวลานาทีว่า บัดนี้ใครบ้างกำลังอยู่เป็นปกติ กำลังทุกข์ กำลังสุข หรือกำลังประสบเหตุการณ์อันเป็นสภาวะตามธรรมดาอยู่ที่ไหนกันบ้าง เว้นเสียแต่ว่าจะได้รับรู้เหตุการณ์ความเป็นไปของบางคนบางเรื่องเป็นบางครั้งบางคราว
เมื่อเป็นเช่นนี้ วิธีปฏิบัติในการแผ่เมตตาที่เป็นพื้นฐานกลางๆ ก็คือ การตั้งอารมณ์ว่า ขอให้ทุกชีวิตอยู่เป็นปกติสุขเถิด-ซึ่งก็คืออารมณ์ของ “เมตตา” หมายความว่า ในชีวิตประจำวันตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน ให้แผ่ “เมตตา” เป็นพื้นของอารมณ์ตลอดเวลา เนื้อตัวแท้ๆ ของเมตตาก็อยู่ที่ความหมายของคำว่า “เมตตา” นั่นเอง
“เมตตา” ก็คือ การมองทุกคนด้วยความรู้สึกว่า “นี่คือเพื่อนรักของเรา” (เมตตา > ไมตรี > มิตร > เพื่อน)
เมื่อรู้สึกว่าทุกคนเป็นเพื่อนรักของเราแล้ว ความคิดที่จะให้ทุกคนอยู่เป็นปกติสุข ถ้ามีปัญหาขอให้ผ่านพ้นปัญหาไปได้ เมื่อมีสุขขอให้สุขยิ่งๆ ขึ้นไป ความคิดนี้จะเกิดขึ้นได้ไม่ยาก ต่อจากนั้นก็จะสามารถฝึกใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นความจริงของชีวิตและยอมรับความจริงนั้นๆ ได้ต่อไป นั่นคือสามารถแผ่กรุณา มุทิตา อุเบกขา ต่อไปได้ครบถ้วน
ข้อโต้แย้งสนุกๆ ก็คือ-ก็เขาไม่ใช่เพื่อนฉัน จะให้นึกว่าเป็นเพื่อนได้อย่างไร หรือหนักขึ้นไปอีก-ฉันเกลียดมัน จะให้นึกว่าเป็นเพื่อนได้อย่างไร
เคล็ดลับของการแผ่เมตตา ท่านจึงแนะให้เริ่มฝึกแบบง่ายๆ ไปก่อน คือคนในโลกนี้มี ๓ กลุ่มใหญ่-คนที่เราชอบ เราเฉยๆ และเราชัง ท่านให้แผ่เมตตาให้คนที่เราชอบก่อน เพราะทำได้ง่าย
พอเมตตาเริ่มแข็งแรงขึ้น ก็ให้ขยายวงไปถึงคนที่เราเฉยๆ ซึ่งอาจจะทำยากขึ้นนิดหนึ่ง แต่เพราะเมตตาแข็งแรงแล้ว ก็จะสามารถทำได้
ฝึกไปเรื่อยๆ จนเมตตากล้าแข็งคุ้นเคยอยู่กับอารมณ์เป็นอันดีแล้ว ก็ค่อยแผ่ไปยังคนที่เราชัง ซึ่งจะทำยากขึ้นอีกหน่อย
เคล็ดลับในการฝึกใจให้เลิกชัง ท่านแนะไว้ดังนี้ - (เก็บสาระบางส่วนมาจาก พรหมวิหารนิทเทส คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค ๒ หน้า ๙๑-เป็นต้นไป ผู้สนใจพึงตามไปศึกษาได้ที่นั่น นักเรียนบาลีผู้มีน้ำใจรักพระศาสนาเมื่อเรียนถึงคัมภีร์วิสุทธิมรรคแล้ว ถ้ามีกุศลจิตคิดช่วยกันเผยแผ่พระธรรม ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง)
๑ มองเห็นโทษของความชัง ดังคำของหลวงพ่อพะยอมที่ว่า โกรธคือโง โมโหคือบ้า อิจฉาริษยาเขาคือจุดไฟเผาตัวเอง
๒ มองส่วนดีของเขา ดังคำของท่านพุทธทาสภิกขุที่ว่า เขามีส่วนเลวบ้างช่างหัวเขา จงเลือกเอาส่วนที่ดีเขามีอยู่
๓ ยกให้เป็นหน้าที่ของกรรม คือทั้งเขาทั้งเราล้วนต้องรับผลกรรม เขาจะเป็นอะไรเราจะต้องไปชังเขาทำอะไร เดี๋ยวกรรมของเขาก็จัดการเอง
๔ นึกถึงคนที่เป็นตัวอย่าง เช่นพระพุทธเจ้า ใครทำอะไรท่านตั้งเท่าไรๆ ก็ไม่เห็นท่านชิงชังอะไรใครสักคนเดียว เราเป็นศิษย์ตถาคตจะมานั่งชิงชังใครอยู่ทำไม
๕ คิดว่าเขากับเราเป็นญาติกัน เพราะท่านว่าในสังสารวัฏอันยาวไกล คนที่ไม่เคยเกิดเป็นอะไรกันหาไม่ได้ง่ายๆ คนที่เราชังเขาอยู่ในบัดเดี๋ยวนี้จะต้องเคยเป็นพ่อแม่พี่น้องญาติมิตรกับเรามาแล้วในอดีตชาติ ดังนั้น เราจะมาชังญาติของเราเองอยู่ทำไมเล่า
๖ คิดแบบแยกธาตุ คือความจริงไม่มี “คน” ที่เป็นตัวตนเราเขา มีแต่ส่วนต่างๆ ที่มาประกอบกันเข้า เราชิงชังเขา แต่มองไปก็มีแต่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ ฯลฯ ไม่เห็นมี “เขา” อยู่ที่ไหน นี่เราโง่หรือเปล่าที่ไปชิงชังสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง
เคล็ดลับดังว่ามานี้พูดง่าย แต่ทำยาก ซึ่งต้องยากแน่ๆ แต่พลังเมตตาที่สะสมมาจนกล้าแข็งก็จะเอาชนะความชังได้ในที่สุด-ถ้ายังไม่เลิกฝึกใจ ในที่สุด จากคน ๓ กลุ่ม ก็จะเหลือเพียงกลุ่มเดียว มองไปทางไหนก็เห็นแต่ - “นี่คือเพื่อนรักของเรา” การแผ่เมตตาก็บรรลุผล และนั่นคือแผ่เมตตาอย่างถูกวิธี
“เราคิดอย่างนี้ แต่คนอื่นเขาไม่คิดอย่างเรา” - นี่คือตัวบั่นทอนกำลังใจอย่างร้ายกาจที่สุด และเพราะทุกคนเอาแต่คิดแบบนี้นั่นเอง จึงไม่มีใครลงมือทำดีให้เกิดมีขึ้นได้จริงๆ หากแต่พากันสรุปลงว่า “เราทำดีอยู่คนเดียว คนอื่นๆ เขาไม่ทำ เราจะทำไปทำไม” ใครที่คิดอย่างนี้เคยตั้งคำถามบ้างไหมว่า “คนอื่น” หรือ “คนอื่นๆ” น่ะใคร?
มีคนอยู่ ๑๐๐ คน เราเป็น ๑ ใน ๑๐๐ นั้นด้วย ในขณะที่ ๑ คนคิดแบบนี้ อีก ๙๙ คนก็คือ “คนอื่น” หรือ “คนอื่นๆ” ดังนั้น ถ้าทุกคนคิดแบบนี้ เรานั่นเองคือ “คนอื่น” หรือ “คนอื่นๆ” ใช่หรือไม่?
บทความชุด “แผ่เมตตาให้ถูกวิธี” ขอจบด้วยคำถามปลายเปิดไว้ตรงนี้
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๒๑ เมษายน ๒๕๖๕ , ๑๖:๑๒
แผ่เมตตาให้ถูกวิธี ตอนที่ ๑-เมตตา , แผ่เมตตาให้ถูกวิธี ตอนที่ ๒-กรุณา , แผ่เมตตาให้ถูกวิธี ตอนที่ ๓-มุทิตา , แผ่เมตตาให้ถูกวิธี ตอนที่ ๔-อุเบกขา , แผ่เมตตาให้ถูกวิธี ตอนที่ ๕-หมายเหตุอุเบกขา , แผ่เมตตาให้ถูกวิธี ตอนที่ ๖-สรุปความ
"วัดถ้ำเสือ" จังหวัดกาญจนบุรี
วัดชื่อดังแห่งเมืองกาญจ์ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางประทานพรองค์ใหญ่และเจดีย์เกษแก้วมหาปราสาท ตั้งโดดเด่นบนเนินเขา วิวทิวทัศน์สวยงาม หากไม่อยากเดินขึ้นบันได ก็มีรถรางไฟฟ้าให้บริการด้วย
0 comments: