ทำประทักษิณ คือทำอะไรกันแน่
ในภาษาบาลี มีข้อความที่พบบ่อยๆ คือ “ปทกฺขิณํ กตฺวา” หรือ “ปทกฺขิณํ กโรติ” เราแปลกันว่า “ทำประทักษิณ”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ อธิบายไว้ว่า - to go round so as to keep the right side turned to a person, a mode of reverential salutation (เวียนรอบโดยให้ด้านขวาหันเข้าหาบุคคล, วิธีแสดงความเคารพอย่างหนึ่ง)
และคำที่มักควบกันมาด้วยอีกคำหนึ่งก็คือ “ติกฺขตฺตุํ” (ติก-ขัด-ตุง) แปลว่า “สามครั้ง”
รวมข้อความเป็น “ติกฺขตฺตุํ ปทกฺขิณํ กตฺวา” หรือ “ติกฺขตฺตุํ ปทกฺขิณํ กโรติ” แปลกันว่า “ทำประทักษิณสิ้นวาระสามรอบ”
คำที่เราใช้กันในภาษาไทยอันเนื่องมาจากคำว่า “ปทกฺขิณ” ก็มีคำว่า “ประทักษิณ” “ทักขิณาวัฏ” “ทักษิณาวรรต” และ “เวียนเทียน”
คำเหล่านี้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกความหมายไว้ดังนี้ -
๑ ประทักษิณ : (คำนาม) การเวียนขวา โดยให้สิ่งที่เรานับถือหรือผู้ที่เรานับถือเป็นต้นอยู่ทางขวาของผู้เวียน. (ส.).”
๒ ทักขิณาวัฏ : (คำนาม) การเวียนขวาเพื่อความเป็นสิริมงคลอย่างเดินเวียนเทียน. (คำวิเศษณ์) เวียนไปทางขวา คือเวียนเลี้ยวทางขวาอย่างเข็มนาฬิกา, ทักษิณาวรรต ก็ว่า, ตรงข้ามกับ อุตราวัฏ หรือ อุตราวรรต. (ป. ทกฺขิณาวฏฺฏ; ส. ทกฺษิณาวรฺต).
๓ ทักษิณาวรรต : (คำนาม) การเวียนขวาเพื่อความเป็นสิริมงคลอย่างเดินเวียนเทียน. (คำวิเศษณ์) เวียนไปทางขวา คือเวียนเลี้ยวทางขวาอย่างเข็มนาฬิกา, ทักขิณาวัฏ ก็ว่า, ตรงข้ามกับ อุตราวรรต หรือ อุตราวัฏ. (ส. ทกฺษิณาวรฺต; ป. ทกฺขิณาวฏฺฏ).
๔ เวียนเทียน : (คำกริยา) นั่งหรือยืนเป็นวงกลมแล้วส่งแว่นที่จุดเทียนติดไว้ต่อ ๆ กันไป, อาการที่ถือดอกไม้ธูปเทียนเดินประทักษิณสิ่งที่เคารพบูชา เช่น เวียนเทียนรอบพระอุโบสถในวันวิสาขบูชา, เดิมเรียกว่า เดินเทียน; ยกแว่นที่จุดเทียนติดไว้ วักเข้าหาตัว ๓ ครั้ง แล้วโบกควันออก และส่งต่อให้คนอื่นเวียนไปโดยรอบสิ่งที่ทำขวัญ; โดยปริยายหมายความว่า ทำแล้วกลับมาทำอีก เช่น เด็กเวียนเทียนรับของบริจาค.
จะเห็นได้ว่า ทุกคำมีความหมายว่าการเดินรอบ หรือส่งเครื่องสักการะต่อๆ กันไป รอบบุคคลหรือสิ่งที่ถูกทำประทักษิณ
ต่อไปนี้เป็นข้อสงสัยของผม
ข้อสงสัยก็คือ มีบางกรณีที่ดูเหมือนว่าบุคคลหรือสิ่งที่ถูก “ทำประทักษิณ” นั้นนั่งอยู่ หรือยืนอยู่ หรือตั้งอยู่ในสถานที่อันเห็นได้ว่าไม่สามารถจะเดินเวียนรอบได้ เช่นมีผนังกั้นอยู่และบุคคลนั้นนั่งชิดผนัง คนอื่นไม่สามารถเดินอ้อมไปด้านหลังได้ หรือขณะนั้นมีผู้นั่งล้อมรอบบุคคลนั้นอยู่เต็ม แต่ในเรื่องนั้นก็ยังบอกว่า ผู้ลากลับก็ “ทำประทักษิณสิ้นวาระสามรอบ” แล้วจึงกลับ
จึงทำให้เกิดความสงสัยว่า เดินเวียนรอบบุคคลหรือสิ่งนั้นได้อย่างไรในเมื่อ (เห็นได้ชัดว่า) สถานที่ตรงนั้นไม่สามารถเดินเวียนรอบได้?
และจึงทำให้ชวนกังขาว่า “ติกฺขตฺตุํ ปทกฺขิณํ กตฺวา” หรือ “ติกฺขตฺตุํ ปทกฺขิณํ กโรติ” = ทำประทักษิณ คือเดินเวียนรอบแน่หรือ? หรือว่าทำกิริยาอย่างไรกันแน่?
ขอฝากนักเรียนบาลีช่วยกันศึกษาสืบค้น ถ้าพบความหมายเป็นอย่างอื่นจากที่เคยเข้าใจกัน เราก็จะได้ความรู้เพิ่มขึ้น
หรือแม้ในที่สุดจะพบว่า “ประทักษิณ” มีความหมายว่าเดินเวียนรอบ-ตามที่เข้าใจกันมานั่นเอง เราก็ยังได้ความรู้อยู่นั่นเอง คือได้ข้อยืนยันว่า ความหมายตามที่เข้าใจกันมานั้นเป็นความหมายที่ถูกต้องแล้ว
ผมยังไม่ได้สืบค้นครับ อยากให้นักเรียนบาลีช่วยกันทำงานบ้าง งานบาลีไม่ได้มีแค่เรียนให้สอบได้ และพอสอบได้แล้วก็จบ-เท่านั้นนะขอรับ
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๙ เมษายน ๒๕๖๕ , ๑๑:๑๑
"วัดพิกุลทอง" จังหวัดสิงห์บุรี
ประดิษฐาน "หลวงพ่อใหญ่" มองเห็นจากทางเข้าวัด เป็นแลนด์มาร์คที่งดงามของสิงห์บุรี บรรยากาศวัดร่มรื่น มีพิพิธภัณฑ์หลวงพ่อแพ พระพิฆเนศ สวนธรรมะ สระน้ำขนาดใหญ่ สามารถให้อาหารปลาได้
0 comments: