ทาสี จ ภริยา จ - ภรรยาประเภทที่ 7
ภรรยาที่เป็นทั้งคนใช้เป็นทั้งภรรยา
ควรทราบก่อน : ในจำนวนศีล 227 สิกขาบทของภิกษุ ในหมวดอาบัติสังฆาทิเสสมี 13 สิกขาบท สิกขาบทที่ 5 บัญญัติว่า “ภิกษุชักสื่อให้ชายหญิงเป็นผัวเมียกัน ต้องสังฆาทิเสส” (นวโกวาท หน้า 3)
เมื่อกล่าวถึง “ชายหญิงเป็นผัวเมียกัน” ตามสิกขาบทนี้ พระวินัยปิฎกจำแนกหญิงที่ชายได้มาเป็นภรรยาไว้ 10 ประเภท คือ -
(1) ธนกีตา = ภรรยาสินไถ่
(2) ฉันทวาสินี = ภรรยาที่อยู่ด้วยความเต็มใจ
(3) โภควาสินี = ภรรยาที่อยู่เพราะสมบัติ
(4) ปฏวาสินี = ภรรยาที่อยู่เพราะผ้า
(5) โอทปัตตกินี = ภรรยาที่สมรส
(6) โอภตจุมพฏา = ภรรยาที่ถูกปลงเทริด
(7) ทาสี จ ภริยา จ = ภรรยาที่เป็นทั้งคนใช้เป็นทั้งภรรยา
(8 ) กัมมการี จ ภริยา จ = ภรรยาที่เป็นทั้งลูกจ้างทั้งเป็นภรรยา
(9) ธชาหฏา = ภรรยาเชลย
(10) มุหุตติกา = ภรรยาชั่วคราว
ชื่อภรรยาทั้ง 10 ประเภทนี้ ไม่ใช่คำแสดงลักษณะนิสัยของภรรยาเหมือนภรรยา 7 ประเภท เช่น “โจรีภริยา” ภรรยาเยี่ยงโจร “มาตาภริยา” ภรรยาเยี่ยงมารดา เป็นต้น หากแต่เป็นคำแสดงที่มาหรือลักษณะที่ได้หญิงนั้นมาเป็นภรรยาว่าได้มาด้วยวิธีใด
ชื่อภรรยาทั้ง 10 ประเภทนี้บ่งบอกถึงสภาพสังคมหรือค่านิยมในการหาคู่ครองของชายชาวชมพูทวีปในสมัยพุทธกาล เป็นเรื่องน่ารู้ จึงนำแต่ละชื่อมาแสดงความหมายตามกรอบขอบเขตของ “บาลีวันละคำ” พอเป็นอลังการของนักเรียนบาลี
“ทาสี จ ภริยา จ” อ่านว่า ทา-สี จะ พะ-ริ-ยา จะ ประกอบด้วยคำว่า ทาสี + ภริยา และมี “จ-ศัพท์” (จะ-สับ) แทรก
(๑) “ทาสี”
บาลีอ่านว่า ทา-สี รูปคำเดิมมาจาก ทาส + อี ปัจจัย
(ก) “ทาส” บาลีอ่านว่า ทา-สะ รากศัพท์ของคำว่า “ทาส” มีมาหลายทาง เช่น -
(1) ทาสฺ (ธาตุ = ร้อน) + อ (อะ) ปัจจัย = ทาส แปลว่า “ผู้เดือดร้อน”
(2) ทุ ( = ไม่ดี, น่าเกลียด) > ท > ทา + อส (ธาตุ = กิน) + อ (อะ) ปัจจัย = ทาส แปลว่า “ผู้กินน่าเกลียด”
(3) ทา (ธาตุ = ให้) + ส ปัจจัย = ทาส แปลว่า “ผู้อันเขาให้” คือถูกยกให้คนอื่นไปใช้
(4) บางมติว่า คำว่า “ทาส” กลายเสียงมาจากสันสกฤตว่า “ทสฺยุ” คำนี้บาลีเป็น “ทสฺสุ” (ทัด-สุ) แปลว่า ข้าศึก, ศัตรู, ขโมย ขยายความว่า เมื่อจับคนพวกนี้ได้ แทนที่จะฆ่าเสีย ก็เอาตัวมาเป็นคนรับใช้ : ทสฺยุ > ทสฺสุ > ทาส
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ อธิบายความหมายเดิมของ “ทาส” ว่า meaning "non-Aryan" i. e. slave = “ไม่ใช่อารยัน” คือทาส
ในคัมภีร์ระบุถึงทาส 4 ประเภท คือ
1 อนฺโตชาต แปลว่า “เกิดภายใน” = ทาสในเรือนเบี้ย
2 ธนกฺกีต แปลว่า “ซื้อมาด้วยเงิน” = ทาสน้ำเงิน, ทาสสินไถ่
3 กรมรานีต แปลว่า “ถูกนำมาเป็นเชลย” = ทาสเชลย
4 สามํทาสพฺยอุปคต แปลว่า “ยอมเป็นทาสเอง” = ทาสแท้
(ข) ทาส + อี ปัจจัย ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: ทาสฺ + อี = ทาสี แปลว่า “สตรีผู้เป็นทาส” หรือ “สตรีผู้เป็นคนใช้”
(๒) “ภริยา”
บาลีอ่านว่า พะ-ริ-ยา รากศัพท์มาจาก ภรฺ (ธาตุ = เลี้ยง) + อิ อาคม + ย ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: ภรฺ + อิ + ย = ภริย + อา = ภริยา แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันสามีต้องเลี้ยงดู”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ภริยา” ว่า a wife และบอกคำแปลตามรากศัพท์ไว้ว่า one who is supported (ผู้ถูกเลี้ยงดู)
บาลี “ภริยา” ในภาษาไทยใช้ว่า “ภริยา” และ “ภรรยา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
(1) ภริยา : (คำนาม) ภรรยา, เมีย, หญิงที่เป็นคู่ครองของชาย, คู่กับ สามี. (ป.; ส. ภารฺยา).
(2) ภรรยา : (คำนาม) ภริยา, เมีย, หญิงที่เป็นคู่ครองของชาย, คู่กับ สามี. (ส. ภารฺยา; ป. ภริยา).
โปรดสังเกตศึกษาวิธีให้คำนิยามของพจนานุกรมฯ
“ภริยา” บอกว่าคือ “ภรรยา”
“ภรรยา” ก็บอกว่าคือ “ภริยา”
หมายความ ทั้ง 2 คำใช้ได้เท่ากัน ไม่มีคำไหนเป็นคำหลัก-คำรอง คือเป็นคำหลักทั้งคู่ คำนิยามต่อมาก็ตรงกันทั้ง 2 คำ
(๓) “จ-ศัพท์” อ่านว่า จะ-สับ แปลว่า “ศัพท์คือ จ” (จะ) หมายความว่า “จ” เป็นศัพท์ชนิดหนึ่งในภาษาบาลี เรียกตามหลักบาลีไวยากรณ์ว่า “นิบาต” หน้าที่ของนิบาตที่นักเรียนบาลีท่องจำกันมาก็คือ “สำหรับลงในระหว่างนามศัพท์บ้าง กิริยาศัพท์บ้าง”
นิบาตมีหลายจำพวก “จ-ศัพท์” เป็นนิบาตจำพวกที่เรียกว่า “นิบาตสำหรับผูกศัพท์และประโยคมีอัตถะเป็นอเนก”
นักเรียนบาลีในเมืองไทยจำคำแปลของ “จ-ศัพท์” ว่า “จ (จะ) : ด้วย, อนึ่ง, ก็, จริงอยู่”
ในที่นี้ “จ-ศัพท์” แปลโดยพยัญชนะว่า “-ด้วย” แปลโดยอรรถว่า “และ” หรือตรงกับภาษาอังกฤษว่า and
การประสมคำ :
๑ “ทาสี” กับ “ภริยา” เข้าคู่กัน แต่ยังคงแยกเป็น 2 คำ
๒ ใช้ “จ-ศัพท์” ลงแทรกไว้ท้ายศัพท์ทั้ง 2
: ทาสี จ ภริยา จ อ่านว่า ทา-สี จะ พะ-ริ-ยา จะ
รวมแล้วเป็นคำบาลี 4 คำ คือ (1) ทาสี (2) จ (3) ภริยา (4) จ
รวม 4 คำ เป็นกลุ่มคำเดียวกัน แต่ยังแยกกันเป็นคำๆ ไม่ได้สมาสเป็นศัพท์เดียวกัน แต่พูดรวมเป็นคำเดียวว่า “ทาสี จ ภริยา จ” และใช้เป็นชื่อเรียกภรรยาประเภทหนึ่ง
แปลโดยพยัญชนะ: ทาสี จ ภริยา จ = อันว่าสตรีที่เป็นคนใช้ด้วย เป็นภรรยาด้วย (นี่คือ “จ” แปลว่า “-ด้วย”)
แปลโดยอรรถ: ทาสี จ ภริยา จ = สตรีที่เป็นคนใช้และเป็นภรรยา (นี่คือ “จ” แปลว่า “และ”)
“ทาสี จ ภริยา จ” เป็นรูปคำบาลี เขียนแบบไทยก็คงใช้รูปเดียวกัน ไม่ได้สะกดเป็น “ทาสี จะ ภริยา จะ” และยังคงเขียนแยกเป็นคำๆ ไม่ได้เขียนติดกันเป็น “ทาสีจะภะริยาจะ” เวลาอ่านก็อ่านแบบบาลี แต่ถือว่าเป็นการอ่านแบบไทยไปในตัว จะเรียกว่าเขียนแบบบาลี แต่อ่านแบบไทย ใช้แบบไทยก็ได้
“ทาสี จ ภริยา จ” แปลโดยประสงค์ว่า “ภรรยาที่เป็นทั้งคนใช้เป็นทั้งภรรยา”
ขยายความ : ในพระไตรปิฎก สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ 5 ให้คำจำกัดความ “ทาสี จ ภริยา จ” ไว้ดังนี้ -
ทาสี นาม ทาสี เจว โหติ ภริยา จ ฯ ภรรยาที่ชื่อว่า “ทาสี” (คนใช้) หมายถึง สตรีที่เป็นทั้งคนรับใช้ เป็นทั้งภรรยา
ที่มา: วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 1 พระไตรปิฎกเล่ม 1 ข้อ 433
คัมภีรอรรถกถาพระวินัยปิฎกขยายความ “ทาสี จ ภริยา จ” ไว้ดังนี้ -
ทาสี จาติ อตฺตโนเยว ทาสี จ โหติ ภริยา จ ฯ คำว่า “ทาสี จ” หมายความว่า สตรีที่เป็นทั้งคนรับใช้ เป็นทั้งภรรยาของตนนั่นเอง
ที่มา: สมันตปาสาทิกา ภาค 2 หน้า 57 (อธิบายสังฆาทิเสสสิกขาบทที่ 5)
แถม : ภรรยาประเภท “ทาสี จ ภริยา จ” นี้ ถ้าพูดตามสภาพสังคมไทยสมัยหนึ่งที่บ้านผู้มีอันจะกินนิยมมีคนใช้ผู้หญิงประจำบ้าน ก็คือ “ได้คนใช้เป็นเมีย” นั่นแล
ดูก่อนภราดา!
เห็นคนใช้เป็นเมีย ไม่เป็นไร แต่อย่าเห็นเมียเป็นคนใช้
บาลีวันละคำ (3,593) , ทองย้อย แสงสินชัย
มุหุตติกา - ภรรยาประเภทที่ 10 , ธชาหฏา - ภรรยาประเภทที่ 9 , กัมมการี จ ภริยา จ - ภรรยาประเภทที่ 8 , ทาสี จ ภริยา จ - ภรรยาประเภทที่ 7 , โอภตจุมพฏา - ภรรยาประเภทที่ 6 , โอทปัตตกินี - ภรรยาประเภทที่ 5 , ปฏวาสินี - ภรรยาประเภทที่ 4 , โภควาสินี - ภรรยาประเภทที่ 3 , ฉันทวาสินี - ภรรยาประเภทที่ 2 , ธนกีตา - ภรรยาประเภทที่ 1
0 comments: