ฉันทวาสินี - ภรรยาประเภทที่ 2
ภรรยาที่อยู่ด้วยความเต็มใจ
ควรทราบก่อน : ในจำนวนศีล 227 สิกขาบทของภิกษุ ในหมวดอาบัติสังฆาทิเสสมี 13 สิกขาบท สิกขาบทที่ 5 บัญญัติว่า “ภิกษุชักสื่อให้ชายหญิงเป็นผัวเมียกัน ต้องสังฆาทิเสส” (นวโกวาท หน้า 3)
เมื่อกล่าวถึง “ชายหญิงเป็นผัวเมียกัน” ตามสิกขาบทนี้ พระวินัยปิฎกจำแนกหญิงที่ชายได้มาเป็นภรรยาไว้ 10 ประเภท คือ -
(1) ธนกีตา = ภรรยาสินไถ่
(2) ฉันทวาสินี = ภรรยาที่อยู่ด้วยความเต็มใจ
(3) โภควาสินี = ภรรยาที่อยู่เพราะสมบัติ
(4) ปฏวาสินี = ภรรยาที่อยู่เพราะผ้า
(5) โอทปัตตกินี = ภรรยาที่สมรส
(6) โอภตจุมพฏา = ภรรยาที่ถูกปลงเทริด
(7) ทาสี จ ภริยา จ = ภรรยาที่เป็นทั้งคนใช้เป็นทั้งภรรยา
(8 ) กัมมการี จ ภริยา จ = ภรรยาที่เป็นทั้งลูกจ้างทั้งเป็นภรรยา
(9) ธชาหฏา = ภรรยาเชลย
(10) มุหุตติกา = ภรรยาชั่วคราว
ชื่อภรรยาทั้ง 10 ประเภทนี้ ไม่ใช่คำแสดงลักษณะนิสัยของภรรยาเหมือนภรรยา 7 ประเภท เช่น “โจรีภริยา” ภรรยาเยี่ยงโจร “มาตาภริยา” ภรรยาเยี่ยงมารดา เป็นต้น หากแต่เป็นคำแสดงที่มาหรือลักษณะที่ได้หญิงนั้นมาเป็นภรรยาว่าได้มาด้วยวิธีใด
ชื่อภรรยาทั้ง 10 ประเภทนี้บ่งบอกถึงสภาพสังคมหรือค่านิยมในการหาคู่ครองของชายชาวชมพูทวีปในสมัยพุทธกาล เป็นเรื่องน่ารู้ จึงนำแต่ละชื่อมาแสดงความหมายตามกรอบขอบเขตของ “บาลีวันละคำ” พอเป็นอลังการของนักเรียนบาลี
“ฉันทวาสินี” อ่านว่า ฉัน-ทะ-วา-สิ-นี ประกอบด้วยคำว่า ฉันท + วาสินี
(๑) “ฉันท” เขียนแบบบาลีเป็น “ฉนฺท” อ่านว่า ฉัน-ทะ รากศัพท์มาจาก -
(1) ฉนฺทฺ (ธาตุ = ปรารถนา) + อ (อะ) ปัจจัย
: ฉนฺทฺ + อ = ฉนฺท (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ความปรารถนา”
(2) ฉทฺ (ธาตุ = ปิด, บัง, ระวัง) + อ (อะ) ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุแล้วแปลงเป็น นฺ (ฉท > ฉํท > ฉนฺท)
: ฉทฺ + อ = ฉท > ฉํท > ฉนฺท (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “บทประพันธ์ที่ปกปิดโทษคือความไม่ไพเราะ”
“ฉนฺท” ในบาลีใช้ในความหมาย 3 อย่าง คือ -
(1) สิ่งกระตุ้นใจ, แรงดลใจ, ความตื่นเต้น; ความตั้งใจ, การตกลงใจ, ความปรารถนา; ความอยาก, ความประสงค์, ความพอใจ (impulse, excitement; intention, resolution, will; desire for, wish for, delight in)
(2) ความยินยอม, ความยอมให้ที่ประชุมทำกิจนั้นๆ ในเมื่อตนมิได้ร่วมอยู่ด้วย (consent, declaration of consent to an official act by an absentee) ความหมายนี้คือที่เราพูดว่า “มอบฉันทะ”
(3) ฉันทลักษณ์, กฎเกณฑ์ว่าด้วยการแต่งฉันท์, ตำราฉันท์; บทร้อยกรอง (metre, metrics, prosody; poetry) ความหมายนี้คือที่ภาษาไทยพูดว่า “กาพย์กลอนโคลงฉันท์” บาลีไม่ได้เรียกแยกชนิดเหมือนไทย คงเรียกรวมทุกอย่างว่า “ฉนฺท-ฉันท์” แต่มีชื่อเฉพาะสำหรับฉันท์แต่ละชนิด เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “คาถา”
ในที่นี้ “ฉนฺท” ใช้ในความหมายตามข้อ (1)
(๒) “วาสินี” รูปคำเดิมเป็น “วาสี” อ่านว่า วา-สี รากศัพท์มาจาก วสฺ (ธาตุ = อยู่, พำนัก; ชอบใจ) + ณี ปัจจัย, ลบ ณ (ณี > อี), “ทีฆะต้นธาตุ” คือ อะ ที่ ว-(สฺ) เป็น อา (วสฺ > วาส)
: วสฺ + ณี = วสณี > วสี > วาสี (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีปรกติอยู่-(ในที่ใดที่หนึ่ง)” หมายถึง ชอบ, อาศัยอยู่ [ใน] (liking, dwelling [in])
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“วาสิน, วาสี ๑ : (คำนาม) ผู้อยู่, ผู้ครอง, มักใช้เป็นส่วนท้ายสมาส เช่น คามวาสี = ผู้อยู่บ้าน อรัญวาสี = ผู้อยู่ป่า. (ป., ส.).”
หมายเหตุ : ที่พจนานุกรมฯ สะกดเป็น “วาสิน” นั้น เป็นการถอดรูปมาจากวิธีสะกดคำบาลีด้วยอักษรโรมันแบบหนึ่ง คือคำว่า “วาสี” อาจสะกดเป็นอักษรโรมันได้ 2 แบบ คือ vāsī = วาสี ก็ได้ vāsin = วาสินฺ ก็ได้ แต่เมื่อถอดเป็นบาลีอักษรไทย เรานิยมสะกดเป็น “วาสี”
“วาสี” เป็นรูปคำปุงลิงค์ เมื่อใช้เป็นคุณศัพท์ขยายคำนามที่เป็นอิตถีลิงค์ ลง “อินี” ปัจจัย เปลี่ยนรูปเป็น “วาสินี”
แถม : “อินี” ปัจจัยนี้ใช้ลงหลังคำนามที่เป็นปุงลิงค์เพื่อทำให้นามคำนั้นเป็นอิตถีลิงค์
คำประเภทนี้ที่เราคุ้นกันในภาษาไทย เช่น -
: เศรษฐี = ชายผู้มั่งมี , เศรษฐินี = หญิงผู้มั่งมี
: ภิกษุ (บาลี: ภิกฺขุ) = ชายที่บวชเป็นพระในพระพุทธศาสนา , ภิกษุณี (บาลี: ภิกฺขุนี, ภิกฺขุ + อินี ลบ อิ) = หญิงที่บวชเป็นพระในพระพุทธศาสนา
: คหบดี (บาลี: คหปติ) = ชายที่เป็นเจ้าบ้าน , คหปตานี (บาลี: คหปติ + อินี แปลง อิ ที่ ติ และ อิ ที่ อินี เป็น อา) = หญิงที่เป็นเจ้าบ้าน
: จักรพรรดิ = ชายผู้เป็นประมุขของจักรวรรดิ (พระเจ้าจักรพรรดิผู้ชาย) , จักรพรรดินี = หญิงผู้เป็นประมุขของจักรวรรดิ (พระเจ้าจักรพรรดิผู้หญิง)
: ราชา = ชายผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน , ราชินี = หญิงผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน (แต่ในภาษาไทยใช้ในความหมายว่า หญิงผู้เป็นมเหสีของพระเจ้าแผ่นดิน)
ฉนฺท + วาสินี = ฉนฺทวาสินี เขียนแบบไทยเป็น “ฉันทวาสินี” (ฉัน-ทะ-วา-สิ-นี) แปลว่า “ภรรยาที่อยู่ด้วยความเต็มใจ”
ขยายความ : ในพระไตรปิฎก สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ 5 ให้คำจำกัดความ “ฉันทวาสินี” ไว้ดังนี้ -
ฉนฺทวาสินี นาม ปิโย ปิยํ วาเสติ ฯ ภรรยาที่ชื่อว่า “ฉันทวาสินี” (อยู่ด้วยความเต็มใจ) หมายถึง สตรีที่ชายผู้เป็นคู่รักยอมรับว่าเป็นคู่รักให้อยู่ร่วมกัน
ที่มา: วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 1 พระไตรปิฎกเล่ม 1 ข้อ 433
คัมภีรอรรถกถาพระวินัยปิฎกขยายความ “ฉันทวาสินี” ไว้ดังนี้ -
ฉนฺเทน อตฺตโน รุจิยา วสตีติ ฉนฺทวาสินี ฯ หญิงใดย่อมอยู่ด้วยความพอใจ คือด้วยความยินดีของตน หญิงนั้นชื่อว่า ฉันทวาสินี
ยสฺมา ปน สา น อตฺตโน ฉนฺทมตฺเตเนว ภริยา โหติ ปุริเสน ปน สมฺปฏิจฺฉิตตฺตา แต่เพียงแค่ความความพอใจของตนฝ่ายเดียว หญิงนั้นจะได้ชื่อว่าเป็นภรรยาก็หามิได้ ฝ่ายชายจะต้องยอมรับด้วย (จึงจะได้ชื่อว่าเป็นภรรยา)
ตสฺมาสฺส นิทฺเทเส ปิโย ปิยํ วาเสตีติ วุตฺตํ ฯ เพราะฉะนั้น ในคำจำกัดความคำว่า “ฉันทวาสินี” ท่านจึงระบุลงไปว่า “ปิโย ปิยํ วาเสติ” แปลว่า “สตรีที่ชายผู้เป็นคู่รักยอมรับว่าเป็นคู่รักให้อยู่ร่วมกัน”
ที่มา: สมันตปาสาทิกา ภาค 2 หน้า 57 (อธิบายสังฆาทิเสสสิกขาบทที่ 5)
ดูก่อนภราดา! พอใจ คือใจรู้จักพอ
บาลีวันละคำ (3,588) , ทองย้อย แสงสินชัย
มุหุตติกา - ภรรยาประเภทที่ 10 , ธชาหฏา - ภรรยาประเภทที่ 9 , กัมมการี จ ภริยา จ - ภรรยาประเภทที่ 8 , ทาสี จ ภริยา จ - ภรรยาประเภทที่ 7 , โอภตจุมพฏา - ภรรยาประเภทที่ 6 , โอทปัตตกินี - ภรรยาประเภทที่ 5 , ปฏวาสินี - ภรรยาประเภทที่ 4 , โภควาสินี - ภรรยาประเภทที่ 3 , ฉันทวาสินี - ภรรยาประเภทที่ 2 , ธนกีตา - ภรรยาประเภทที่ 1
0 comments: