วันอาทิตย์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2565

กุรุงฺคมิคชาตกํ - ว่าด้วยกวางกุรุงคะ

กุรุงฺคมิคชาตกํ - ว่าด้วยกวางกุรุงคะ

ญาตเมตํ  กุรุงฺคสฺส,    ยํ  ตฺวํ  เสปณฺณิ  สิยฺยสิ [1];
อญฺญํ  เสปณฺณิ  คจฺฉามิ,    น  เม  เต  รุจฺจเต  ผลนฺติ ฯ

"ดูกรไม้มะรื่น การที่ท่านปล่อยผลให้ตกกลิ้งมานั้น เราผู้เป็นกวางรู้แล้ว,    เราจะไปสู่ไม้มะรื่นต้นอื่น, เพราะเราไม่ชอบใจผลของท่าน."

1) [เสยฺยสิ (สี. สฺยา. ปี.)];

๑. อรรกถากุรุงคมิคชาดก

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในพระวิหารเวฬุวันทรงปรารภพระเทวทัตจึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ คำเริ่มต้นว่า   ญาตเมตํ  กุรุงฺคสฺส  ดังนี้. 

ความพิศดารว่า สมัยหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายนั่งประชุมกันในโรงธรรมสภานั่งกล่าวโทษของพระเทวทัตว่า „ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย พระเทวทัตประกอบนายขมังธนู เพื่อต้องการปลงพระชนม์พระตถาคตกลิ้งศิลา ปล่อยช้างธนปาลกะตะเกียกตะกายเพื่อจะปลงพระชนม์ของพระทศพล แม้ในกาลทั้งปวง“.

พระศาสดาเสด็จมาแล้วประทับนั่งบนอาสนะที่ตกแต่งไว้แล้ว ตรัสถามว่า „ภิกษุทั้งหลายบัดนี้ พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ ?“ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า „ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายนั่งสนทนากันด้วยเรื่องการกล่าวโทษของพระเทวทัตว่า, „พระเทวทัตตะเกียกตะกายเพื่อปลงพระชนม์ของพระองค์“.

พระศาสดาตรัสว่า „ภิกษุทั้งหลาย พระเทวทัตตะเกียกตะกายเพื่อจะฆ่าเราในบัดนี้ เท่านั้นหามิได้, แม้ในกาลก่อนก็ตะเกียกตะกายเหมือนกัน, ก็แต่ว่า ไม่สามารถจะฆ่าเราได้“, แล้วทรงนำอดีตนิทานมา ดังต่อไปนี้ :- 

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในพระนครพาราณสี.  พระโพธิสัตว์เกิดเป็นกวางเคี้ยวกินผลาผลทั้งหลายในราวป่าแห่งหนึ่ง. ในคราวหน้า กวางนั้นกินผลมะรื่นที่ต้น มะรื่นอันมีผลสะพรั่ง. 

ลำดับนั้น มีพรานนั่งห้างชาวบ้านคนหนึ่งพิจารณารอยเท้าเนื้อทั้งหลายแล้วจึงผูกห้างบนต้นไม้แล้วนั่งบนห้างนั้น เอาหอกแทงพวกเนื้อที่มากินผลไม้แล้วขายเนื้อของเนื้อเหล่านั้นเลี้ยงชีวิต. 

วันหนึ่งพรานนั้น เห็นรอยเท้าของพระโพธิสัตว์ที่โคนต้นไม้นั้น จึงผูกห้างบนต้นมะรื่นนั้นแล้ว บริโภคอาหารแต่เช้าตรู่แล้วถือหอกเข้าป่าขึ้นไปยังต้นไม้นั้นแล้วนั่งห้าง. 

ฝ่ายพระโพธิสัตว์ก็ออกจากที่อยู่แต่เช้าตรู่มาด้วยหวังว่า „จักกินผลมะรื่น " แต่ไม่ได้ผลุนผลันเข้าไปที่โคนต้นไม้นั้น คิดว่า "บางคราวพวกพรานนั่งห้างจะผูกห้างบนต้นไม้ อันตรายเห็นปานนี้ มีไหมหนอ?“ จึงได้ยืนพิจารณาอยู่แต่ภายนอก. 

ฝ่ายนายพรานรู้ว่า พระโพธิสัตว์ไม่มา นั่งอยู่บนห้างนั่นแหละ โยนผลมะรื่นให้ตกลงล้างหน้าพระโพธิสัตว์นั้น.

พระโพธิสัตว์คิดว่า „ผลเหล่านี้มาตกลงข้างหน้าเรา เบื้องบนต้นไม้นั้น มีนายพรานหรือหนอ?“ เมื่อแลดูบ่อย ๆ ก็เห็นนายพราน แต่ทำเป็นไม่เห็นพูดว่า „ต้นไม้ผู้เจริญ เมื่อก่อนท่านให้ผลไม้ทั้งหลายตกลงตรง ๆ เหมือนเขย่าผลที่ห้อยอยู่ฉะนั้น, บัดนี้ท่านละทิ้งรุกขธรรมเสียแล้ว, เมื่อท่านละทิ้งรุกขธรรมเสียอย่างนี้, เราจักเข้าไปยังโคนต้นไม้แม้ต้นอื่น แสวงหาอาหารของเรา“, แล้วจึงกล่าวคาถานี้ว่า :- 

„แน่ะไม้มะรื่น การที่ท่านปล่อยผลไม้ไห้กลิ้งมานั้น, เราผู้เป็นกวางรู้แล้ว เราจะไปสู่ไม้นะรื่นต้นอื่น, เพราะเราไม่ชอบใจผลของท่าน". 

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า  ญาตํ  ได้แก่ ปรากฏ คือเกิดแล้ว.  บทว่า  เอตํ  โยคว่า กรรมนี้.  บทว่า  กุรุงฺคสฺส  แปลว่า เนื้อชนิดกวาง.  บทว่า  ยํ  ตฺวํ  เสปณฺณิ  เสยฺยสิ  ความว่า ดูก่อนต้นไม้มะรื่นผู้เจริญการที่ท่านปล่อยให้ผลกลิ้งตกลงข้างหน้า คือได้เป็นผู้มีผลกระจายมานั้น ทั้งหมดเกิดเป็นสิ่งลามกสำหรับเนื้อกวาง.  ด้วยบทว่า  น  เม  เต  รุจฺจเต  นี้ กวางกล่าวว่า เราไม่ชอบใจผลของท่านผู้ให้ผลอยู่อย่างนี้ท่านจงหยุดเถิดเราจักไปที่อื่น ดังนี้ได้ไปแล้ว. 

ลำดับนั้น นายพรานทั้งที่นั่งอยู่บนห้างนั่นแล พุ่งหอกไปเพื่อพระโพธิสัตว์นั้นแล้วกล่าวว่า „ท่านจงไปเถิด บัดนี้เราเป็นคนผิดหวังท่าน“.

พระโพธิสัตว์หันกลับมายืนกล่าวว่า „บุรุษผู้เจริญ แม้บัดนี้ท่านผิดหวังเราก็จริง แต่ถึงกระนั้นท่านจะไม่ผิดหวังมหานรก ๘ ขุม อุสสทนรก ๑๖ ขุมและกรรมกรณ์ทั้งหลายมีการจองจำ ๕ ประการเป็นต้น“ ก็แหละครั้นกล่าวอย่างนี้แล้วก็ได้ไปตามชอบใจ. ฝ่ายนายพรานลงมาแล้วไปตามความชอบใจ. 

แม้พระศาสดาก็ตรัสว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เทวทัตตะเกียกตะกายเพื่อจะฆ่าเราในบัดนี้ เท่านั้นก็หามิได้ แม้ในกาลก่อน ก็ตะเกียกตะกายแล้วเหมือนกัน“ ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาสืบอนุสนธิแล้วทรงประชุมชาดกว่า „นายพรานนั่งห้างในครั้งนั้นได้เป็นเทวทัต ส่วนกวางในครั้งนั้นได้เป็นเราแล“.

Credit: Palipage : Guide to Language - Pali

22. กุกฺกุรชาตกํ - ว่าด้วยสุนัขที่ถูกฆ่า , 21.  กุรุงฺคมิคชาตกํ - ว่าด้วยกวางกุรุงคะ , 20.  นฬปานชาตกํ  -  เหตุที่ไม้อ้อเป็นรูทะลุตลอด ,  19. อายาจิตภตฺตชาตกํ - ว่าด้วยการเปลื้องตน , 18.  มตกภตฺตชาตกํ - ว่าด้วยสัตว์ไม่ควรฆ่าสัตว์ , 17. มาลุตชาตกํ - ว่าด้วยความหนาวเกิดแต่ลม , 16. ติปลฺลตฺถมิคชาตกํ - ว่าด้วยเล่ห์กลลวงพราน , 15. ขราทิยชาตกํ - ว่าด้วยผู้ล่วงเลยโอวาท , 14.  วาตมิคชาตกํ - ว่าด้วยอำนาจของรส , 13. กณฺฑินชาตกํ - ว่าด้วยผู้ตกอยู่ในอำนาจหญิง , 12. นิคฺโรธมิคชาตกํ - ว่าด้วยการเลือกคบ , 11.  ลกฺขณมิคชาตกํ - ว่าด้วยผู้มีศีล , 10. สุขวิหาริชาตกํ - ว่าด้วยการอยู่เป็นสุข , 09. มฆเทวชาตกํ - ว่าด้วยเทวทูต , 08. คามณิชาตกํ  - ว่าด้วยไม่ใจเร็วด่วนได้ , 07. กฏฺฐหาริชาตกํ - ว่าด้วยพระเจ้ากัฏฐวาหนะ ,  06. เทวธมฺมชาตกํ  -  ว่าด้วยธรรมของเทวดา , 05. ตณฺฑุลนาฬิชาตกํ - ว่าด้วยราคาข้าวสาร,  04. จูฬเสฏฺฐิชาตกํ - ว่าด้วยคนฉลาดตั้งตนได้ , 03. เสริววาณิชชาตกํ - ว่าด้วยเสรีววาณิช , 02. วณฺณุปถชาตกํ - ว่าด้วยผู้ไม่เกียจคร้าน , 01. อปณฺณกชาตกํ - ว่าด้วยการรู้ฐานะและมิใช่ฐานะ 







Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: