วันอาทิตย์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2565

แผ่เมตตาให้ถูกวิธี ตอนที่ ๕-หมายเหตุอุเบกขา

แผ่เมตตาให้ถูกวิธี ตอนที่ ๕-หมายเหตุอุเบกขา

ในตอนที่ผ่านมาได้วาดภาพให้เห็นว่า --

๑ เพื่อนร่วมโลกอยู่ในสภาพเป็นปกติ เปรียบเหมือนผู้ที่ยืนอยู่เป็นปกติบนพื้นราบธรรมดา - ท่านให้แผ่เมตตา ขอให้เขาอยู่เป็นปกติสุขสืบไป

๒ เพื่อนร่วมโลกอยู่ในสภาพเป็นทุกข์ เปรียบเหมือนเขาพลัดตกลงไปจากพื้น - ท่านให้แผ่กรุณา ขอให้เขากลับขึ้นมาสู่สภาพปกติได้อีก

๓ เพื่อนร่วมโลกอยู่ในสภาพเป็นสุข เปรียบเหมือนเขาก้าวสูงขึ้นไปจากพื้นราบ ไปยืนในที่สูงขึ้นดีขึ้น - ท่านให้แผ่มุทิตา แสดงความยินดีกับเขา

๔ เพื่อนร่วมโลกอยู่ในสภาพเป็นไปตามสภาวะ เปรียบเหมือนพื้นราบที่ยืนอยู่นั้นเกิดวิปริตแปรปรวน เช่นไหวหวั่นสั่นสะเทือนแตกแยกอันเป็นอาการที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของใครๆ - ท่านให้แผ่อุเบกขา

ข้อ ๑-๒-๓ เปรียบกับพื้นราบที่ยืนอยู่นั้นอยู่ในอาการปกติที่ยังพอสามารถควบคุมได้ คือ - 

๑ รักษาสภาพปกติไว้ - อยู่ในวิสัยที่สามารถทำได้ จึงแผ่เมตตา

๒ พลัดตกแล้วกลับขึ้นมาสู่สภาพปกติ - อยู่ในวิสัยที่สามารถทำได้ จึงแผ่กรุณา

๓ สามารถก้าวสูงขึ้นไปจากสภาพปกติ - อยู่ในวิสัยที่สามารถทำได้ จึงแผ่มุทิตา

แต่ข้อ ๔ เปรียบเหมือนพื้นราบที่ยืนอยู่นั้นเกิดวิปริตแปรปรวนอันเป็นอาการที่อยู่นอกเหนือการควบคุม - หมายความว่าอย่างไร?

“อยู่นอกเหนือการควบคุม” อาจพูดอีกอย่างหนึ่งว่า “อยู่เหนือวิสัย” 

ไม่ได้พลัดตก ไม่ได้ก้าวสูงขึ้น แต่จะยืนอยู่ตามปกติก็ไม่ได้เพราะพื้นแปรปรวน จะบังคับไม่ให้แปรปรวนก็ไม่ได้เพราะอยู่เหนือวิสัย

สภาพเช่นนี้แหละที่ใช้คำเรียกข้างต้นว่า “เป็นไปตามสภาวะ” 

“สภาวะ” แปลตามศัพท์ว่า (๑) “ภาวะของตน” (๒) “ภาวะอันมีพร้อมอยู่” (๓) “ภาวะที่เป็นเอง”

หมายความว่า ไม่มีใครมาทำให้มันเป็น แต่มันเป็นเช่นนั้นเอง 

สภาพเช่นนี้แหละที่ท่านสอนให้แผ่อุเบกขา 

เมื่อมองภาพรวมออกแล้ว ทีนี้ก็มาถึงคำถามที่ตั้งใจจะเขียนเป็นหมายเหตุของอุเบกขา นั่นคือ อาการที่ว่า “อยู่เหนือวิสัย” หมายความว่าอย่างไร ทั้งนี้เพื่อที่ว่าเมื่อเข้าใจความหมายแล้วจะได้เข้าใจทะลุไปด้วยว่า-เพราะอย่างนี้เองท่านจึงให้แผ่อุเบกขา

สิ่งที่ “อยู่เหนือวิสัย” ในขอบเขตที่จะแผ่อุเบกขาน่าจะมีอยู่ ๒ ลักษณะ คือ -

๑ สิ่งที่เป็นเงื่อนไขของมนุษย์ คือที่เป็นเช่นนั้นเพราะมนุษย์เป็นผู้ทำหรือกำหนดขึ้นเอง

๒ สิ่งที่เป็นเงื่อนไขของธรรมชาติ คือไม่มีใครไปทำอะไร แต่มันเป็นเช่นนั้นเอง

ข้อ ๑ “สิ่งที่เป็นเงื่อนไขของมนุษย์” เพื่อให้เข้าใจง่าย ขอวาดภาพด้วยตำแหน่งหน้าที่ของ “ข้าราชการ”

มีปัญหาอย่างหนึ่งเกิดขึ้น เป็นเรื่องที่จะต้องแก้ไข ปัญหาที่ว่านี้ คนระดับ “ประจำแผนก” ไม่สามารถแก้ไขได้เพราะความสามารถไม่พอหรือเป็นเรื่องนอกเหนือหน้าที่ นี่คือ “อยู่เหนือวิสัย” แต่ปัญหาเดียวกันนั่นเอง คนระดับ “หัวหน้าแผนก” สามารถแก้ไขได้

ปัญหาบางอย่าง คนระดับ “หัวหน้าแผนก” ไม่สามารถแก้ไขได้ แต่คนระดับ “ผู้อำนวยการกอง” สามารถแก้ไขได้

ปัญหาบางอย่าง คนระดับ “ผู้อำนวยการกอง” ไม่สามารถแก้ไขได้ แต่คนระดับ “อธิบดี” สามารถแก้ไขได้

ปัญหาบางอย่าง คนระดับ “อธิบดี” ไม่สามารถแก้ไขได้ แต่คนระดับ “ปลัดกระทรวง” สามารถแก้ไขได้

ปัญหาบางอย่าง คนระดับ “ปลัดกระทรวง” ไม่สามารถแก้ไขได้ แต่คนระดับ “รัฐมนตรี” สามารถแก้ไขได้

ปัญหาบางอย่าง คนระดับ “รัฐมนตรี” ไม่สามารถแก้ไขได้ แต่คนระดับ “นายกรัฐมนตรี” สามารถแก้ไขได้

จะเห็นได้ว่าปัญหาแต่ละอย่าง อยู่ในวิสัยที่ใครจะแก้ไขได้หรือไม่ได้ขึ้นอยู่กับตำแหน่งหน้าที่ซึ่งมนุษย์เป็นผู้กำหนดขึ้น  ในที่นี้ยกเอา “ตำแหน่งหน้าที่” เป็นเงื่อนไข เรื่องอื่นๆ อาจมีสิ่งอื่นๆ เป็นเงื่อนไขได้อีก ซึ่งไม่ว่าอะไรจะเป็นเงื่อนไขก็ล้วนแต่เป็นสิ่งที่มนุษย์เองเป็นผู้กำหนดขึ้น อาจเรียกว่า “เงื่อนไขสมมุติ” ก็ได้ 

“เงื่อนไขสมมุติ” นี้ แต่ละคน แต่ละถิ่นแต่ละสังคม อาจมีไม่เท่ากัน ไม่เหมือนกัน สิ่งที่เป็นเงื่อนไขของคนหนึ่งอาจไม่เป็นเงื่อนไขของอีกคนหนึ่งก็ได้  นี่คือตัวอย่างสิ่งที่ “อยู่เหนือวิสัย” ชนิดที่เป็นเงื่อนไขของมนุษย์ 

เนื่องจากแต่ละคนมี “วิสัย” ไม่เท่ากันไม่เหมือนกัน ใครไปอยู่ในตำแหน่งที่ไม่สามารถแก้ปัญหาบางอย่างได้ ก็ต้องยอมรับว่าปัญหานั้นอยู่เหนือวิสัยของตน เมื่อยอมรับแล้วก็ปฏิบัติต่อเรื่องนั้นๆ ไปตามเหตุผลที่สมควร 

การยอมรับและปฏิบัติไปตามที่สมควรนี่แหละ คือการ “แผ่อุเบกขา”  แต่ถ้าไม่ยอมรับ และพยายามจะแก้ปัญหาที่อยู่เหนือวิสัยของตน ความเดือดร้อนหรือความทุกข์ด้วยประการต่างๆ ก็จะเกิดขึ้น

ข้อ ๒ “สิ่งที่เป็นเงื่อนไขของธรรมชาติ” เพื่อให้ตรงประเด็นขอชี้เฉพาะไปที่หลักไตรลักษณ์

“ไตรลักษณ์” แปลว่า “ลักษณะ ๓ อย่าง” หมายถึง อาการที่เป็นเครื่องกำหนดหมาย ๓ อย่าง อันให้รู้ถึงความจริงของสภาวธรรมทั้งหลาย ที่เป็นอย่างนั้นๆ ตามธรรมดาของมัน คือ -

๑ อนิจจตา ความเป็นของไม่เที่ยง (impermanence; transiency)

๒ ทุกขตา ความเป็นทุกข์ (state of suffering or being oppressed)

๓ อนัตตตา ความเป็นของไม่ใช่ตน (soullessness; state of being not self)

นี่คือที่เรามักพูดกันว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือที่พูดติดปากกันมานานนักหนาว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือที่เวลานี้เริ่มจะได้ยินพูดกันว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตามศัพท์ธรรมะว่า อุปปาทะ ฐิติ ภังคะ (อุปปาทะ = เกิดขึ้น ฐิติ = ตั้งอยู่ ภังคะ = ดับไป)

อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา - เกิด แก่ เจ็บ ตาย - เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เหล่านี้รวมลงในคำว่า “เป็นไปตามสภาวะ” และเป็นเรื่องที่ “อยู่เหนือวิสัย” อีกลักษณะหนึ่ง ที่เรียกว่า “เงื่อนไขของธรรมชาติ” อาจเรียกว่า “เงื่อนไขปรมัตถ์” ก็ได้

“เงื่อนไขปรมัตถ์” นี้ เป็นเงื่อนไขที่ยุติธรรมอย่างยิ่ง ไม่ว่าใครจะอยู่ในฐานะไหน รวมทั้งมนุษย์ที่มีความสามารถตั้งเงื่อนไขสมมุติเอากับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันได้นั่นด้วย ล้วนตกอยู่ภายใต้อำนาจของเงื่อนไขปรมัตถ์โดยเสมอหน้ากัน

เมื่อเห็นเพื่อนมนุษย์-หรือแม้ตัวเราเอง-อยู่ในสภาพเป็นไปตามสภาวะเช่นนี้ พึงทราบว่าเรากำลังเผชิญกับเรื่องที่อยู่เหนือวิสัยเข้าแล้ว หน้าที่ของเราก็คือทำความเห็นให้ตรงกับความเป็นจริง ซึ่งก็คือยอมรับความจริง

การทำความเห็นให้ตรงกับความเป็นจริงและยอมรับความจริงเช่นนี้แหละคือการ “แผ่อุเบกขา”

ความจริง เราก็มีคำที่พูดกันอยู่คำหนึ่ง คือคำว่า “ทำใจ” เช่นญาติป่วย รักษาอย่างไรอาการก็ไม่ดีขึ้น มีแต่ทรุดลง เราก็จะบอกกันว่า “ทำใจเถอะ”

“ทำใจเถอะ” นั่นแหละคือแผ่อุเบกขา จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จขึ้นอยู่กับว่า ทำใจได้ หรือว่ายังทำใจไม่ได้

มีเรื่องเล่ากันขำๆ ว่า นักอธิบายธรรมด้วยเทศนาโวหารท่านหนึ่ง อธิบายธรรมะว่าด้วยมรณสติได้หยดย้อยจับใจผู้ฟังยิ่งนัก แต่เมื่อภรรยาท่านตาย ท่านร้องไห้เป็นวรรคเป็นเวร

มาถึงตอนนี้จะเห็นความจริงอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือ การศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจเข้าถึงความเป็นจริงเป็นเรื่องสำคัญ แต่การทำได้จริงปฏิบัติได้จริงตรงตามความจริงนั้นๆ เป็นเรื่องสำคัญที่สุด

มีข้อคิดปิดท้ายตอนนี้นิดหนึ่ง

เงื่อนไขสมมุติหรือเงื่อนไขที่มนุษย์กำหนดขึ้น บางทีก็มีเหตุไปคาบเกี่ยวเข้ากับเงื่อนไขปรมัตถ์หรือเงื่อนไขตามธรรมชาติ และชวนให้เข้าใจไขว้เขวไปได้

ตัวอย่างเช่น คนรวยป่วยกับคนจนป่วย

เมื่อเจ็บป่วย คนรวยมีความสามารถจัดหา+จัดให้มีกระบวนการในการรักษาได้พร้อมที่จะรักษาให้หาย จึงรอดตาย แต่คนจนไม่มีความสามารถเช่นนั้น แม้ป่วยด้วยโรคเดียวกันนั่นเอง คนรวยหาย แต่คนจนตาย

ไหนว่าเกิดแก่เจ็บตายเป็นเรื่องธรรมดามีเสมอกันหมด? 

คนรวยป่วย ไม่ตาย แต่คนจนป่วย ตาย จะว่าเสมอกันได้อย่างไร?

ตามตัวอย่างนี้ก็ต้องแยกเงื่อนไขให้ถูก

การรักษาอาการเจ็บป่วยย่อมเป็นไปตามความสามารถของแต่ละคนซึ่งเป็น “เงื่อนไขสมมุติ” ถ้าเงื่อนไขนั้นมีข้อบกพร่อง-เช่นเป็นเหตุให้คนหนึ่งไม่ตาย แต่อีกคนหนึ่งตาย-ก็ต้องแก้ไขกันที่กฎเกณฑ์ในการตั้งเงื่อนไขให้เป็นว่า-ไม่ว่าคนรวยหรือคนจน เมื่อเจ็บป่วยจะต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างเท่าเทียมกัน แต่จะตั้งเงื่อนไขให้เกิดผลเช่นนี้ได้จริงหรือไม่เพียงไรก็ต้องขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของมนุษย์ในแต่ละสังคม 

นี่คือแยกการดูแลรักษาการบริหารจัดการออกไปเป็นส่วนหนึ่ง เป็น “เงื่อนไขสมมุติ” ที่มีข้อบกพร่อง และมนุษย์จะต้องแก้ไขกันเอง

แต่ความตาย ไม่ใช่ว่าใครเป็นคนรวย มีความสามารถ ก็จะไม่ตาย ใครเป็นคนจน ไม่มีความสามารถ จึงจะตาย 

รวยหรือจน สามารถหรือไม่สามารถ ย่อมตายทุกคน ไม่มีใครเลยที่เกิดแล้วไม่ตาย ความตายจึงเป็น “เงื่อนไขปรมัตถ์” เป็นเงื่อนไขที่ยุติธรรม ไม่มีข้อบกพร่องที่จะต้องแก้ไข มีแต่เราเองที่ต้องทำความเห็นให้ถูกต้องตรงกับความเป็นจริง

เข้าใจได้เช่นนี้ก็จะปฏิบัติธรรมในการ “แผ่อุเบกขา” ได้อย่างโปร่งโล่งปลอดจากข้ออึดอัดขัดข้องใจทั้งปวง

ตอนต่อไป:  แผ่เมตตาให้ถูกวิธี ตอนที่ ๖-สรุปความ

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๐ เมษายน ๒๕๖๕ , ๑๕:๒๖

แผ่เมตตาให้ถูกวิธี ตอนที่ ๑-เมตตา ,  แผ่เมตตาให้ถูกวิธี ตอนที่ ๒-กรุณา ,  แผ่เมตตาให้ถูกวิธี ตอนที่ ๓-มุทิตา ,  แผ่เมตตาให้ถูกวิธี ตอนที่ ๔-อุเบกขา ,  แผ่เมตตาให้ถูกวิธี ตอนที่ ๕-หมายเหตุอุเบกขา ,  แผ่เมตตาให้ถูกวิธี ตอนที่ ๖-สรุปความ





Previous Post
Next Post

0 comments: