ธนกีตา - ภรรยาประเภทที่ 1
ภรรยาสินไถ่
ควรทราบก่อน : ในจำนวนศีล 227 สิกขาบทของภิกษุ ในหมวดอาบัติสังฆาทิเสสมี 13 สิกขาบท สิกขาบทที่ 5 บัญญัติว่า “ภิกษุชักสื่อให้ชายหญิงเป็นผัวเมียกัน ต้องสังฆาทิเสส” (นวโกวาท หน้า 3)
เมื่อกล่าวถึง “ชายหญิงเป็นผัวเมียกัน” ตามสิกขาบทนี้ พระวินัยปิฎกจำแนกหญิงที่ชายได้มาเป็นภรรยาไว้ 10 ประเภท คือ -
(1) ธนกีตา = ภรรยาสินไถ่
(2) ฉันทวาสินี = ภรรยาที่อยู่ด้วยความเต็มใจ
(3) โภควาสินี = ภรรยาที่อยู่เพราะสมบัติ
(4) ปฏวาสินี = ภรรยาที่อยู่เพราะผ้า
(5) โอทปัตตกินี = ภรรยาที่สมรส
(6) โอภตจุมพฏา = ภรรยาที่ถูกปลงเทริด
(7) ทาสี จ ภริยา จ = ภรรยาที่เป็นทั้งคนใช้เป็นทั้งภรรยา
(8 ) กัมมการี จ ภริยา จ = ภรรยาที่เป็นทั้งลูกจ้างทั้งเป็นภรรยา
(9) ธชาหฏา = ภรรยาเชลย
(10) มุหุตติกา = ภรรยาชั่วคราว
ชื่อภรรยาทั้ง 10 ประเภทนี้ ไม่ใช่คำแสดงลักษณะนิสัยของภรรยาเหมือนภรรยา 7 ประเภท เช่น “โจรีภริยา” ภรรยาเยี่ยงโจร “มาตาภริยา” ภรรยาเยี่ยงมารดา เป็นต้น หากแต่เป็นคำแสดงที่มาหรือลักษณะที่ได้หญิงนั้นมาเป็นภรรยาว่าได้มาด้วยวิธีใด
ชื่อภรรยาทั้ง 10 ประเภทนี้บ่งบอกถึงสภาพสังคมหรือค่านิยมในการหาคู่ครองของชายชาวชมพูทวีปในสมัยพุทธกาล เป็นเรื่องน่ารู้ จึงนำแต่ละชื่อมาแสดงความหมายตามกรอบขอบเขตของ “บาลีวันละคำ” พอเป็นอลังการของนักเรียนบาลี
“ธนกีตา” อ่านว่า ทะ-นะ-กี-ตา
รูปคำบาลีเป็น “ธนกฺกีตา” (ซ้อน กฺ) อ่านว่า ทะ-นัก-กี-ตา ประกอบด้วยคำว่า ธน + กีตา
(๑) “ธน” บาลีอ่านว่า ทะ-นะ รากศัพท์มาจาก -
(1) ธนฺ (ธาตุ = ส่งเสียง) + อ (อะ) ปัจจัย : ธนฺ + อ = ธน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันผู้คนออกเสียงว่าเป็นของเรา” (คือแสดงความเป็นเจ้าของด้วยความชื่นชม)
(2) ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลง ช เป็น ธ
: ชนฺ + อ = ชน > ธน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งยังภาวะคนจนให้เกิด” (คำแปลนี้ฟังเหมือนขัดแย้ง คือถ้ามี “ธน” ความจนก็จะไม่เกิด แต่มองในมุมกลับก็คือ “เพราะไม่มีสิ่งนี้ จึงทำให้มีคนจน”) “ธน” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง ทรัพย์สมบัติ, โดยปกติได้แก่ทรัพย์สินเงินทอง, ความร่ำรวย, สมบัติ (wealth, usually wealth of money, riches, treasures)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“ธน, ธน- : (คำนาม) ทรัพย์สิน. (ป., ส.).”
(๒) “กีตา” รูปคำเดิมเป็น “กีต” (กี-ตะ) รากศัพท์มาจาก กี (ธาตุ = แลกเปลี่ยนด้วยทรัพย์, ชื้อขาย) + ต ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: กี + ต = กีต แปลตามศัพท์ว่า “อันเขาซื้อแล้ว” หมายถึง สิ่งที่ถูกซื้อมา (bought)
: กีต + อา = กีตา แปลตามศัพท์ว่า “(หญิง) อันเขาซื้อแล้ว”
ธน + กีตา ซ้อน กฺ = ธนกฺกีตา แปลว่า “(หญิง) อันเขาซื้อแล้วด้วยทรัพย์” หมายถึง หญิงที่ถูกซื้อมาด้วยทรัพย์
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ธนกฺกีตา” ว่า bought for money (ผู้ที่ถูกซื้อมาด้วยทรัพย์) “ธนกฺกีตา” (ทะ-นัก-กี-ตา) เขียนโดยอนุรูปแก่ภาษาไทยเป็น “ธนกีตา” (ทะ-นะ-กี-ตา) แปลโดยภาษาไทยเก่าว่า “ภรรยาสินไถ่”
ขยายความ : ในพระไตรปิฎก สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ 5 ให้คำจำกัดความ “ธนกีตา” ไว้ดังนี้ -
ธนกฺกีตา นาม ธเนน กีณิตฺวา วาเสติ ฯ ภรรยาที่ชื่อว่า “ธนกีตา” (ภรรยาสินไถ่) หมายถึง สตรีที่ชายจ่ายทรัพย์แล้วให้มาอยู่ร่วมกัน
ที่มา: วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 1 พระไตรปิฎกเล่ม 1 ข้อ 433
คัมภีรอรรถกถาพระวินัยปิฎกขยายความ “ธนกีตา” ไว้ดังนี้ -
อปฺเปน วา พหุนา วา ธเนน กีตา ธนกฺกีตา ฯ หญิงที่เขาซื้อมาด้วยทรัพย์จะน้อยก็ตาม มากก็ตาม ชื่อว่า ธนกีตา
ยสฺมา ปน สา น ธนกฺกีตมตฺตาเยว ภริยา แต่เพียงแค่จ่ายทรัพย์ซื้อ หญิงนั้นยังไม่ชื่อว่าเป็นภรรยา
สํวาสตฺถาย ปน กีตตฺตา ภริยา ต่อเมื่อซื้อแล้วอยู่ครองคู่กัน จึงจะชื่อว่าเป็นภรรยา
ตสฺมาสฺส นิทฺเทเส ธเนน กีณิตฺวา วาเสตีติ วุตฺตํ ฯ เพราะฉะนั้น ในคำจำกัดความคำว่า “ธนกีตา” ท่านจึงระบุลงไปว่า “ธเนน กีณิตฺวา วาเสติ” แปลว่า “จ่ายทรัพย์แล้วให้มาอยู่ร่วมกัน”
ที่มา: สมันตปาสาทิกา ภาค 2 หน้า 57 (อธิบายสังฆาทิเสสสิกขาบทที่ 5)
คำว่า “ธนกีตา” ในบาลีโดยมากหมายถึงสตรีที่เป็นทาส หรือเรียกให้สุภาพขึ้นว่า “คนรับใช้” สตรีที่เป็นคนรับใช้นี้อยู่ในฐานะเป็น “วัตถุ” ชนิดหนึ่งที่เจ้าของมีสิทธิ์นำออกขายได้ ชายที่พอใจในตัวคนรับใช้ที่ถูกนำออกขายถ้ามีเงินก็ซื้อตัวมา
การซื้อตัวเช่นนี้น่าจะมีวัตถุประสงค์ต่างกัน เช่นชื้อมาเป็นคนรับใช้ หญิงนั้นก็ต้องอยู่ในฐานะคนรับใช้ต่อไป เพียงแต่เปลี่ยนนาย แต่ถ้าซื้อมาเป็นภรรยา ตามคำอธิบายในคำจำกัดความ ท่านว่า แค่จ่ายเงินจะถือว่าเป็นภรรยายังไม่ได้ ต้องมาอยู่ครองคู่กันให้เป็นที่ปรากฏ จึงจะนับว่าเป็นภรรยา
ดูก่อนภราดา! : เงิน ซื้อเมียที่สวยได้ : แต่ซื้อแม่ที่ดีให้ลูกไม่ได้
(วาทะหลวงพ่อจรัญ วัดอัมพวัน สิงห์บุรี)
บาลีวันละคำ (3,587), ทองย้อย แสงสินชัย
มุหุตติกา - ภรรยาประเภทที่ 10 , ธชาหฏา - ภรรยาประเภทที่ 9 , กัมมการี จ ภริยา จ - ภรรยาประเภทที่ 8 , ทาสี จ ภริยา จ - ภรรยาประเภทที่ 7 , โอภตจุมพฏา - ภรรยาประเภทที่ 6 , โอทปัตตกินี - ภรรยาประเภทที่ 5 , ปฏวาสินี - ภรรยาประเภทที่ 4 , โภควาสินี - ภรรยาประเภทที่ 3 , ฉันทวาสินี - ภรรยาประเภทที่ 2 , ธนกีตา - ภรรยาประเภทที่ 1
0 comments: