โอทปัตตกินี - ภรรยาประเภทที่ 5
ภรรยาที่สมรส
ควรทราบก่อน : ในจำนวนศีล 227 สิกขาบทของภิกษุ ในหมวดอาบัติสังฆาทิเสสมี 13 สิกขาบท สิกขาบทที่ 5 บัญญัติว่า “ภิกษุชักสื่อให้ชายหญิงเป็นผัวเมียกัน ต้องสังฆาทิเสส” (นวโกวาท หน้า 3)
เมื่อกล่าวถึง “ชายหญิงเป็นผัวเมียกัน” ตามสิกขาบทนี้ พระวินัยปิฎกจำแนกหญิงที่ชายได้มาเป็นภรรยาไว้ 10 ประเภท คือ -
(1) ธนกีตา = ภรรยาสินไถ่
(2) ฉันทวาสินี = ภรรยาที่อยู่ด้วยความเต็มใจ
(3) โภควาสินี = ภรรยาที่อยู่เพราะสมบัติ
(4) ปฏวาสินี = ภรรยาที่อยู่เพราะผ้า
(5) โอทปัตตกินี = ภรรยาที่สมรส
(6) โอภตจุมพฏา = ภรรยาที่ถูกปลงเทริด
(7) ทาสี จ ภริยา จ = ภรรยาที่เป็นทั้งคนใช้เป็นทั้งภรรยา
(8 ) กัมมการี จ ภริยา จ = ภรรยาที่เป็นทั้งลูกจ้างทั้งเป็นภรรยา
(9) ธชาหฏา = ภรรยาเชลย
(10) มุหุตติกา = ภรรยาชั่วคราว
ชื่อภรรยาทั้ง 10 ประเภทนี้ ไม่ใช่คำแสดงลักษณะนิสัยของภรรยาเหมือนภรรยา 7 ประเภท เช่น “โจรีภริยา” ภรรยาเยี่ยงโจร “มาตาภริยา” ภรรยาเยี่ยงมารดา เป็นต้น หากแต่เป็นคำแสดงที่มาหรือลักษณะที่ได้หญิงนั้นมาเป็นภรรยาว่าได้มาด้วยวิธีใด
ชื่อภรรยาทั้ง 10 ประเภทนี้บ่งบอกถึงสภาพสังคมหรือค่านิยมในการหาคู่ครองของชายชาวชมพูทวีปในสมัยพุทธกาล เป็นเรื่องน่ารู้ จึงนำแต่ละชื่อมาแสดงความหมายตามกรอบขอบเขตของ “บาลีวันละคำ” พอเป็นอลังการของนักเรียนบาลี
“โอทปัตตกินี” อ่านว่า โอ-ทะ-ปัด-ตะ-กิ-นี ประกอบด้วยคำว่า โอท + ปัตตกินี
(๑) “โอท” บาลีอ่านว่า โอ-ทะ รากศัพท์มาจาก อุทิ (ธาตุ = ไหลไป; เปียก; ชุ่มชื้น) + อ (อะ) ปัจจัย, “ลบสระหน้า” คือ อิ ที่ (อุ)-ทิ (อุทิ > อุท), แผลง อุ เป็น โอ
: อุทิ > อุท + อ = อุท > โอท (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ไหลไป” (2) “สิ่งที่ทำให้เปียก” หมายถึง น้ำ (water)
(๒) “ปัตตกินี” เขียนแบบบาลีเป็น “ปตฺตกินี” อ่านว่า ปัด-ตะ-กิ-นี รูปคำเดิมเป็น “ปตฺตกี” (ปัด-ตะ-กี) รากศัพท์มาจาก ปตฺต + ก + อี ปัจจัย
(ก) “ปตฺต” อ่านว่า ปัด-ตะ รากศัพท์มาจาก -
(1) ปตฺ (ธาตุ = ตกลงไป) + ต ปัจจัย
: ปตฺ + ต = ปตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ภาชนะเป็นที่ตกลงแห่งข้าวสุก” หมายความว่า ข้าวสุก ( = อาหาร) ตกลงไปในภาชนะชนิดนี้ จึงเรียกภาชนะนี้ว่า “ปตฺต”
(2) ปาต (การตก) + ตา (ธาตุ = รักษา) + อ ปัจจัย, รัสสะ อา ที่ ปา-(ต) เป็น อะ (ปาต > ปต), “ลบสระหน้า” คือลบ อา ที่ ตา (ตา > ต)
: ปาต + ตา = ปาตตา > ปตฺตา > ปตฺต + อ = ปตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ภาชนะที่รักษาจากการตก” หมายความว่า (1) รักษา คือระวังไม่ให้ภาชนะนี้ตก เนื่องจากแต่เดิมภาชนะชนิดนี้ทำด้วยดิน ตกแล้วแตก (2) รักษา คือรองรับอาหารที่ตกลงมาไม่ให้หล่นถึงพื้น แต่ให้ตกลงในภาชนะนี้ จึงเรียกภาชนะนี้ว่า “ปตฺต”
“ปตฺต” คำนี้เป็นคำเดียวกับ “ปตฺต” ที่เราเอามาใช้ในภาษาไทยเป็น “บาตร” นั่นเอง
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปตฺต” (ปุงลิงค์; นปุงสกลิงค์) ว่า a bowl, esp. the alms-bowl of a bhikkhu (ชาม, โดยเฉพาะอย่างยิ่งบาตรของภิกษุ)
ในที่นี้ท่านแปล “ปตฺต” ว่า “ภาชนะ” ซึ่งไม่ระบุชัดเจนว่าเป็นภาชนะแบบไหน แต่เป็นภาชนะที่ใส่น้ำลงไปได้
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล bowl ไว้ว่า ชามกลม, ภาชนะกลมสำหรับใส่สุรา, ส่วนกลมของกล้องยาสูบตอนที่บรรจุยา, ชามอ่าง, กระปุก, กระเปาะ, หม้อ
“ปตฺต” ในคำนี้ควรเป็น “ภาชนะ” ชนิดไหน โปรดพิจารณาดู โดยเฉพาะเมื่ออ่านคำอธิบายข้างหน้าประกอบ น่าจะพอจินตนาการได้
(ข) ปตฺต + ก ปัจจัย + อี ปัจจัย
: ปตฺต + ก = ปตฺตก + อี = ปตฺตกี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีภาชนะ” (คือมีภาชนะอะไรอย่างหนึ่งที่คำอังกฤษเรียกว่า bowl)
โอท + ปตฺตกี = โอทปตฺตกี (โอ-ทะ-ปัด-ตะ-กี) แปลว่า “ผู้มีภาชนะใส่น้ำ”
“โอทปตฺตกี” เป็นรูปคำปุงลิงค์ เมื่อใช้เป็นคุณศัพท์ขยายคำนามที่เป็นอิตถีลิงค์ ลง “อินี” ปัจจัย เปลี่ยนรูปเป็น “โอทปตฺตกินี” (โอ-ทะ-ปัด-ตะ-กิ-นี) แปลว่า “หญิงผู้มีภาชนะใส่น้ำ”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ขยายความคำว่า “โอทปตฺตกินี” ไว้ว่า having a bowl of water, Ep. of bhariyā a wife, viz. the wife in the quality of providing the house with water (สตรีผู้มีหม้อน้ำ, เป็นคำแสดงลักษณะของ ภริยา = ภรรยา, กล่าวคือ ภรรยาผู้มีคุณสมบัติในการจัดให้บ้านมีน้ำ)
นี่เป็นทัศนะของฝรั่งผู้ทำพจนานุกรม เราก็รับฟังไว้ แต่ความหมายหลักต้องดูตามที่บาลีและอรรถกถาฎีกาอธิบายไว้
“โอทปตฺตกินี” เขียนแบบไทยเป็น “โอทปัตตกินี” อ่านเท่ากับคำบาลีว่า โอ-ทะ-ปัด-ตะ-กิ-นี แปลว่า “ภรรยาที่สมรส”
ทำไมท่านจึงแปล “โอทปัตตกินี” ว่า “ภรรยาที่สมรส” เหตุผลมีปรากฏในคำอธิบายขยายความ
ขยายความ : ในพระไตรปิฎก สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ 5 ให้คำจำกัดความ “โอทปัตตกินี” ไว้ดังนี้ -
โอทปตฺตกินี นาม อุทกปตฺตํ อามสิตฺวา วาเสติ ฯ ภรรยาที่ชื่อว่า “โอทปัตตกินี” (ภรรยาที่สมรส) ได้แก่ สตรีที่จับภาชนะน้ำแล้วให้อยู่ร่วมกัน
ที่มา: วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 1 พระไตรปิฎกเล่ม 1 ข้อ 433
คัมภีรอรรถกถาพระวินัยปิฎกขยายความ “โอทปัตตกินี” ไว้ดังนี้ -
โอทปตฺตกินีติ อุภินฺนํ เอกิสฺสา อุทกปาติยา หตฺเถ โอตาเรตฺวา อิทํ อุทกํ วิย สํสฏฺฐา อเภชฺชา โหถาติ วตฺวา ปริคฺคหิตาย โวหารนามเมตํ ฯ คำว่า “โอทปัตตกินี” เป็นชื่อภรรยาที่หมู่ญาติจับมือของคู่บ่าวสาวให้จุ่มลงในถาดน้ำถาดเดียวกัน แล้วกล่าวว่า “เจ้าทั้งสองจงปรองดองไม่แตกกันดุจน้ำนี้เถิด” ดังนี้ แล้วยอมรับเป็นสามีภรรยากัน
นิทฺเทเสปิสฺส ตาย สห อุทกปตฺตํ อามสิตฺวา ตํ วาเสตีติ เอวมตฺโถ เวทิตพฺโพ ฯ
แม้ในคำจำกัดความคำว่า “โอทปัตตกินี” (ที่ว่า “... จับภาชนะน้ำแล้วให้อยู่ร่วมกัน”) พึงทราบความหมายดังนี้ว่า “เจ้าบ่าวจับภาชนะน้ำร่วมกับเจ้าสาวแล้วให้อยู่ร่วมกัน”
ที่มา: สมันตปาสาทิกา ภาค 2 หน้า 57 (อธิบายสังฆาทิเสสสิกขาบทที่ 5)
แถม : ในคำจำกัดความบอกแต่เพียงว่า “อุทกปตฺตํ อามสิตฺวา” (จับภาชนะน้ำ) อรรถกถาคงเกรงว่ายังไม่ชัดเจน จึงขยายความว่า “ตาย สห อุทกปตฺตํ อามสิตฺวา” (เจ้าบ่าวจับภาชนะน้ำร่วมกับเจ้าสาว)
คำอธิบายของอรรถกถานับว่าเป็นการแสดงภาพพิธีแต่งงานได้ชัดเจน พิธีก็คือ จัดเตรียมภาชนะใส่น้ำไว้พร้อม เมื่อได้เวลาหมู่ญาติก็นำคู่บ่าวสาวมาที่ภาชนะน้ำนั้น จับมือจุ่มลงในภาชนะน้ำพร้อมกัน แล้วผู้ใหญ่ก็เอ่ยคำอวยพรว่า -
“อิทํ อุทกํ วิย สํสฏฺฐา อเภชฺชา โหถ” แปลว่า “เจ้าทั้งสองจงปรองดองไม่แตกกันดุจน้ำนี้เถิด”
เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จพิธี จะเห็นได้ว่า พิธีดังที่ท่านบรรยายนี้เรียกอย่างไทยเราก็คือพิธีแต่งงานหรือพิธีสมรสนั่นเอง
ภรรยาที่ผ่านการทำพิธีเช่นนี้เรียกว่า “โอทปัตตกินี” ท่านจึงแปลว่า “ภรรยาที่สมรส” ด้วยประการฉะนี้
แถมข้อชวนคิดถึงศัพท์นิดหนึ่ง คือ ที่ท่านแปลว่า “ภาชนะน้ำ” บาลีใช้คำว่า “อุทกปตฺต” อรรถกถาไขความ “อุทกปาติ” เท่ากับบอกว่า “ปตฺต” คือ “ปาติ” นักเรียนบาลีบ้านเราแปล “ปาติ” ว่า ถาด
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปาติ” ว่า a bowl, vessel, dish
พจนานุกรมบาลี-ไทย-อังกฤษ ฉบับภูมิพโลภิกขุ ซึ่งใช้พจนานุกรมบาลี-อังกฤษเป็นต้นร่าง แปล “ปาติ” ว่า ถาด, ภาชนะ, ชาม
“ภาชนะน้ำ” ในพิธีสมรสที่ใส่น้ำลงไปแล้วให้คู่บ่าวสาวเอามือจุ่มลงไปพร้อมกัน หน้าตาควรจะเป็นอะไรในบรรดา-ชามกลม, ภาชนะกลมสำหรับใส่สุรา, ชามอ่าง, กระปุก, กระเปาะ, หม้อ (ตามคำแปล bowl ของพจนานุกรม สอ เสถบุตร)
พิธีแต่งงานของชาวชมพูทวีปแบบที่เจ้าสาวเป็น “โอทปัตตกินี” นี้ น่าสนใจ และน่าจะมีใครลองเอามาใช้ในบ้านเราดูบ้าง บางทีเมื่อลองทำกันดูหลายๆ คู่ อาจจะมีใครคิดออกแบบ “โอทปตฺต” หรือ “อุทกปตฺต” ให้เป็นภาชนะอะไรสักอย่างที่ดูดี มีความสวยงาม แฝงไว้ด้วยความขรึมขลัง-ประเภทเดียวกับหม้อน้ำมนต์ที่เราใช้กันอยู่
ถ้อยคำอวยพรตามตำราก็เข้าทีดีนัก น่าจำเอาไปใช้
และที่น่าคิดก็คือ การรดน้ำในพิธีแต่งงานของไทยเรา พอดีพอร้ายอาจจะจำแลงมาจากพิธีแต่งงานแบบ “โอทปัตตกินี” นี่กระมัง?
ดูก่อนภราดา! รักกันเหมือนพี่ ดีกันเหมือนน้อง ครองคู่กันเหมือนน้ำ
บาลีวันละคำ (3,591) , ทองย้อย แสงสินชัย
มุหุตติกา - ภรรยาประเภทที่ 10 , ธชาหฏา - ภรรยาประเภทที่ 9 , กัมมการี จ ภริยา จ - ภรรยาประเภทที่ 8 , ทาสี จ ภริยา จ - ภรรยาประเภทที่ 7 , โอภตจุมพฏา - ภรรยาประเภทที่ 6 , โอทปัตตกินี - ภรรยาประเภทที่ 5 , ปฏวาสินี - ภรรยาประเภทที่ 4 , โภควาสินี - ภรรยาประเภทที่ 3 , ฉันทวาสินี - ภรรยาประเภทที่ 2 , ธนกีตา - ภรรยาประเภทที่ 1
0 comments: