โภควาสินี - ภรรยาประเภทที่ 3
ภรรยาที่อยู่เพราะสมบัติ
ควรทราบก่อน : ในจำนวนศีล 227 สิกขาบทของภิกษุ ในหมวดอาบัติสังฆาทิเสสมี 13 สิกขาบท สิกขาบทที่ 5 บัญญัติว่า “ภิกษุชักสื่อให้ชายหญิงเป็นผัวเมียกัน ต้องสังฆาทิเสส” (นวโกวาท หน้า 3)
เมื่อกล่าวถึง “ชายหญิงเป็นผัวเมียกัน” ตามสิกขาบทนี้ พระวินัยปิฎกจำแนกหญิงที่ชายได้มาเป็นภรรยาไว้ 10 ประเภท คือ -
(1) ธนกีตา = ภรรยาสินไถ่
(2) ฉันทวาสินี = ภรรยาที่อยู่ด้วยความเต็มใจ
(3) โภควาสินี = ภรรยาที่อยู่เพราะสมบัติ
(4) ปฏวาสินี = ภรรยาที่อยู่เพราะผ้า
(5) โอทปัตตกินี = ภรรยาที่สมรส
(6) โอภตจุมพฏา = ภรรยาที่ถูกปลงเทริด
(7) ทาสี จ ภริยา จ = ภรรยาที่เป็นทั้งคนใช้เป็นทั้งภรรยา
(8 ) กัมมการี จ ภริยา จ = ภรรยาที่เป็นทั้งลูกจ้างทั้งเป็นภรรยา
(9) ธชาหฏา = ภรรยาเชลย
(10) มุหุตติกา = ภรรยาชั่วคราว
ชื่อภรรยาทั้ง 10 ประเภทนี้ ไม่ใช่คำแสดงลักษณะนิสัยของภรรยาเหมือนภรรยา 7 ประเภท เช่น “โจรีภริยา” ภรรยาเยี่ยงโจร “มาตาภริยา” ภรรยาเยี่ยงมารดา เป็นต้น หากแต่เป็นคำแสดงที่มาหรือลักษณะที่ได้หญิงนั้นมาเป็นภรรยาว่าได้มาด้วยวิธีใด
ชื่อภรรยาทั้ง 10 ประเภทนี้บ่งบอกถึงสภาพสังคมหรือค่านิยมในการหาคู่ครองของชายชาวชมพูทวีปในสมัยพุทธกาล เป็นเรื่องน่ารู้ จึงนำแต่ละชื่อมาแสดงความหมายตามกรอบขอบเขตของ “บาลีวันละคำ” พอเป็นอลังการของนักเรียนบาลี
“โภควาสินี” อ่านว่า โพ-คะ-วา-สิ-นี ประกอบด้วยคำว่า โภค + วาสินี
(๑) “โภค” บาลีอ่านว่า โพ-คะ รากศัพท์มาจาก ภุชฺ (ธาตุ = กิน) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อุ ที่ ภุ-(ชฺ) เป็น โอ, แปลง ช เป็น ค
: ภุชฺ + ณ = ภุชณ > ภุช > โภช > โภค แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันคนใช้สอย” หรือ “สิ่งที่ต้องใช้สอย”
“โภค” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ - (1) การเสพหรือบริโภค (enjoyment) (2) สมบัติ, ความร่ำรวย (possession, wealth)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“โภค, โภค-, โภคะ : (คำนาม) สมบัติ เช่น ถึงพร้อมด้วยโภคะ. (คำกริยา) กิน, ใช้สอย. (ป., ส.).”
(๒) “วาสินี” รูปคำเดิมเป็น “วาสี” อ่านว่า วา-สี รากศัพท์มาจาก วสฺ (ธาตุ = อยู่, พำนัก; ชอบใจ) + ณี ปัจจัย, ลบ ณ (ณี > อี), “ทีฆะต้นธาตุ” คือ อะ ที่ ว-(สฺ) เป็น อา (วสฺ > วาส)
: วสฺ + ณี = วสณี > วสี > วาสี (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีปรกติอยู่-(ในที่ใดที่หนึ่ง)” หมายถึง ชอบ, อาศัยอยู่ [ใน] (liking, dwelling [in])
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“วาสิน, วาสี ๑ : (คำนาม) ผู้อยู่, ผู้ครอง, มักใช้เป็นส่วนท้ายสมาส เช่น คามวาสี = ผู้อยู่บ้าน อรัญวาสี = ผู้อยู่ป่า. (ป., ส.).”
หมายเหตุ : ที่พจนานุกรมฯ สะกดเป็น “วาสิน” นั้น เป็นการถอดรูปมาจากวิธีสะกดคำบาลีด้วยอักษรโรมันแบบหนึ่ง คือคำว่า “วาสี” อาจสะกดเป็นอักษรโรมันได้ 2 แบบ คือ vāsī = วาสี ก็ได้ vāsin = วาสินฺ ก็ได้ แต่เมื่อถอดเป็นบาลีอักษรไทย เรานิยมสะกดเป็น “วาสี”
“วาสี” เป็นรูปคำปุงลิงค์ เมื่อใช้เป็นคุณศัพท์ขยายคำนามที่เป็นอิตถีลิงค์ ลง “อินี” ปัจจัย เปลี่ยนรูปเป็น “วาสินี”
แถม : “อินี” ปัจจัยนี้ใช้ลงหลังคำนามที่เป็นปุงลิงค์เพื่อทำให้นามคำนั้นเป็นอิตถีลิงค์
คำประเภทนี้ที่เราคุ้นกันในภาษาไทย เช่น -
: เศรษฐี = ชายผู้มั่งมี , เศรษฐินี = หญิงผู้มั่งมี
: ภิกษุ (บาลี: ภิกฺขุ) = ชายที่บวชเป็นพระในพระพุทธศาสนา , ภิกษุณี (บาลี: ภิกฺขุนี, ภิกฺขุ + อินี ลบ อิ) = หญิงที่บวชเป็นพระในพระพุทธศาสนา
: คหบดี (บาลี: คหปติ) = ชายที่เป็นเจ้าบ้าน , คหปตานี (บาลี: คหปติ + อินี แปลง อิ ที่ ติ และ อิ ที่ อินี เป็น อา) = หญิงที่เป็นเจ้าบ้าน
: จักรพรรดิ = ชายผู้เป็นประมุขของจักรวรรดิ (พระเจ้าจักรพรรดิผู้ชาย) , จักรพรรดินี = หญิงผู้เป็นประมุขของจักรวรรดิ (พระเจ้าจักรพรรดิผู้หญิง)
: ราชา = ชายผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน , ราชินี = หญิงผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน (แต่ในภาษาไทยใช้ในความหมายว่า หญิงผู้เป็นมเหสีของพระเจ้าแผ่นดิน)
โภค + วาสินี = โภควาสินี เขียนแบบไทยได้รูปเหมือนบาลี คือ “โภควาสินี” (โพ-คะ-วา-สิ-นี) แปลว่า “ภรรยาที่อยู่เพราะสมบัติ”
ขยายความ : ในพระไตรปิฎก สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ 5 ให้คำจำกัดความ “โภควาสินี” ไว้ดังนี้ -
โภควาสินี นาม โภคํ ทตฺวา วาเสติ ฯ ภรรยาที่ชื่อว่า “โภควาสินี” (อยู่เพราะสมบัติ) หมายถึง สตรีที่ชายมอบสมบัติให้แล้วให้อยู่ร่วมกัน
ที่มา: วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 1 พระไตรปิฎกเล่ม 1 ข้อ 433
คัมภีรอรรถกถาพระวินัยปิฎกขยายความ “โภควาสินี” ไว้ดังนี้ -
โภเคน วสตีติ โภควาสินี ฯ หญิงใดย่อมอยู่ด้วยโภคะ หญิงนั้นชื่อว่า โภควาสินี
อุทุกฺขลมุสลาทิฆรูปกรณํ ลภิตฺวา ภริยาภาวํ คจฺฉนฺติยา ชนปทิตฺถิยา เอตํ อธิวจนํ ฯ หญิงชาวบ้านทั่วไปที่ได้รับเครื่องใช้ในการครองเรือน เช่น ครก สาก เป็นต้น (ที่ฝ่ายชายมอบให้) ก็เป็นอันอยู่ในฐานะเป็นภรรยา ภรรยาเช่นนี้ชื่อว่า โภควาสินี
ที่มา: สมันตปาสาทิกา ภาค 2 หน้า 57 (อธิบายสังฆาทิเสสสิกขาบทที่ 5)
แถม : คำแปลที่ว่า “ภรรยาที่อยู่เพราะสมบัติ” ชวนให้เข้าใจว่า ยอมเป็นภรรยาเพราะหวังจะได้สมบัติของฝ่ายชาย แต่ในคำอธิบายท่านว่าไว้ชัดว่า ได้สมบัติแล้วจึงตกลงเป็นภรรยา
คำว่า “โภค” ที่อยู่ในชื่อ “โภควาสินี” หมายถึงทรัพย์สิน ที่ท่านแปลว่า “สมบัติ” อรรถกถาระบุเป็นตัวอย่าง 2 อย่าง คือ “อุทุกฺขล” (อุ-ทุก-ขะ-ละ) แปลว่า ครก (a mortar) และ “มุสล” (มุ-สะ-ละ) แปลว่า สาก (a pestle)
เราสมัยนี้ฟังดูอาจเห็นเป็นเรื่องขบขัน แต่แท้ที่จริงแล้ว ครกกับสากนี่แลคืออุปกรณ์สำคัญในการทำอาหาร ถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นแม่บ้านแม่เรือน การมอบอุปกรณ์เช่นนี้ให้ฝ่ายหญิงเป็นการยืนยันว่าฝ่ายชายยอมรับว่าสตรีนั้นสามารถทำหน้าที่แม่บ้านแม่เรือนได้ นั่นคือพร้อมที่จะเป็นภรรยา
ไทยเราก็ถือคติเช่นนี้ ดังที่เราสอนลูกสาวให้รู้จักหุงข้าวต้มแกงเป็น นั่นคือให้ผู้หญิงรู้จักงานครัวอันเป็นงานหลักของบ้านเรือน เรามีคำว่า “คหกรรมศาสตร์” เป็นเครื่องยืนยันว่า-คืองานบ้านงานเรือน เดิมจริงๆ แล้วเป็นวิชาที่เปิดสอนเฉพาะผู้หญิง คำไทยยังเรียกกันว่า “การเรือน”
การมอบทรัพย์สินให้ฝ่ายหญิงก่อนเช่นนี้ น่าจะตรงกับธรรมเนียมไทยที่ฝ่ายหญิงเรียกสินสอดทองหมั้นจากฝ่ายชายนั่นเอง
ดูก่อนภราดา!
อยู่ด้วยสมบัติ อยู่กันได้แค่ชาตินี้
อยู่ด้วยความซื่อสัตย์ อยู่กันได้ทุกภพทุกชาติ
บาลีวันละคำ (3,589) , ทองย้อย แสงสินชัย
มุหุตติกา - ภรรยาประเภทที่ 10 , ธชาหฏา - ภรรยาประเภทที่ 9 , กัมมการี จ ภริยา จ - ภรรยาประเภทที่ 8 , ทาสี จ ภริยา จ - ภรรยาประเภทที่ 7 , โอภตจุมพฏา - ภรรยาประเภทที่ 6 , โอทปัตตกินี - ภรรยาประเภทที่ 5 , ปฏวาสินี - ภรรยาประเภทที่ 4 , โภควาสินี - ภรรยาประเภทที่ 3 , ฉันทวาสินี - ภรรยาประเภทที่ 2 , ธนกีตา - ภรรยาประเภทที่ 1
0 comments: