วันจันทร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2564

พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ: ย้อนดูทัศนะต่อเรื่องบทบาทสงฆ์กับสังคม การเมือง คนรุ่นใหม่ และLGBT

พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ: ย้อนดูทัศนะต่อเรื่องบทบาทสงฆ์กับสังคม การเมือง คนรุ่นใหม่ และ LGBT

"ถ้าธรรมะมีเหตุผล เขาก็ยอมรับนะ แต่ว่าวิธีการนับถือ ของเขาอาจจะไม่เหมือนคนรุ่นพ่อรุ่นแม่..." บางช่วงบางตอน ที่ สะท้อนความคิดของ พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ เกี่ยวกับศาสนาและคนรุ่นใหม่ หลังถูกชวนอภิปรายในประเด็นที่ว่า คนรุ่นใหม่รู้สึกไม่อยากนับถือศาสนาแล้ว

นี่เป็นบทสนทนาในรายการปัญญาสนทนาที่พระมหาไพรวัลย์ ร่วมพูดคุยกับ ส.ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม ในหัวข้อ บทบาทของพระสงฆ์ต่อสังคมการเมืองไทย เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา

ขณะที่ประเด็นว่าด้วยคนรุ่นใหม่ไม่อยากนับถือศาสนาแล้ว ถูกพูดถึงในครั้งนั้น แต่ไลฟ์สดทางเฟซบุ๊กของ พระมหาไพรวัลย์ และพระมหาสมปอง แห่งวัดสร้อยทอง เมื่อไม่กี่วันมานี้ กลับมียอดผู้ชมสูงสุดกว่า 2 แสนคนในเวลาเดียวกัน กลายเป็นปรากฏการณ์ที่มีผู้ชมเข้ามารับชมพระสงฆ์ สนทนากับโยมทางโซเชียลมีเดีย

ตัวย่อ "พส" ถูกใช้แทนคำว่าพระสงฆ์ ซึ่งพ้องกับ พศ. ตัวย่อ ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ตลอดจน การสนทนาด้วยถ้อยคำภาษาอย่างง่ายและกันเองที่ถูกใจชาวโซเชียล ทำให้เกิดเสียงตอบรับบางส่วนว่าไม่เหมาะสม

ทว่า พระมหาไพรวัลย์ ได้โพสต์บนเฟซบุ๊กตอนหนึ่งบอกว่า การเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการในการเผยแผ่ศาสนาจะต้องมีชาวพุทธบางกลุ่มมองว่า ไม่เหมาะ ไม่ควร ทำให้ศาสนาเสื่อม หรือทำให้คนหมดศรัทธา ไม่ว่าชาวพุทธกลุ่มนั้น จะมองแบบไหน พระมหาไพรวัลย์ ขอยอมรับและไม่ขอปฎิเสธ ทั้งนี้เห็นว่า "ทุกคนสามารถเลือกเสพในสิ่งที่เหมาะหรือถูกจริตของตนเองได้"

"อาตมาจะเขียนให้ชัดอีกครั้งว่า เหมาะสมทั้งหมด ไม่มีทางเป็นไปได้ และไม่เหมาะสมทั้งหมด ก็อาจไม่มีอยู่จริง ธรรมะมันเหมือนกับอะไรบางอย่าง ซึ่งมีหลายระดับและเหมาะกับคนแต่ละช่วงวัยแตกต่างกันไป บางคนอาจจะชอบกับรสขมของอเมริกาโน่ ในขณะที่บางคนอาจกินได้แค่ลาเต้อย่างเดียว" -พระมหาไพรวัลย์ โพสต์บนเฟซบุ๊ก

เกี่ยวกับเรื่องการไลฟ์สดทางเฟซบุ๊ก วันนี้ (5 ก.ย.) มติชนออนไลน์ รายงานว่า นายสิปป์บวร แก้วงาม รอง ผอ. สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ในฐานะโฆษก พศ. บอกว่า ประชาชนสามารถพิจารณาได้เองว่าพระทั้ง 2 รูป ที่เผยแผ่พุทธศาสนาผ่านไลฟ์สดนั้นมีความเหมาะสมหรือไม่ ส่วนการพิจารณาถึงความเหมาะสม จะเป็นหน้าที่ของเจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ หรือเจ้าอาวาส ที่มีอำนาจตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์

"โดยส่วนตัวจะไม่ไปวิเคราะห์แทนพี่น้องประชาชน เพราะเชื่อว่าประชาชนมีองค์ความรู้ มีความคิดเป็นของตนเอง สามารถวินิจฉัย พินิจพิเคราะห์ได้เองว่า การแสดงลักษณะนี้อยู่ในความสำรวมของสงฆ์หรือไม่"

นอกเหนือ จากการคุยธรรมะทางโซเชียลที่กลายเป็นกระแสในขณะนี้ พระมหาไพรวัลย์ ยังเคยแสดงทัศนะในช่องทางสื่อมวลชนไว้ในหลายครั้งหลายโอกาสเกี่ยวกับบทบาทของสงฆ์ และประเด็นทางสังคมหลายเรื่อง บีบีซีไทยชวนย้อนอ่านแนวคิดของพระสงฆ์รูปนี้

พระสงฆ์กับการทำงานสังคม และเสรีภาพในการแสดงความเห็นทางการเมือง

ในบันทึกเทปรายการปัญญาสนทนา ตอน "คันฉ่องส่องพระ บทบาทของพระสงฆ์ในสังคมการเมืองไทย" เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2564 ซึ่งพระมหาไพรวัลย์ ได้ร่วมรายการกับสุลักษณ์ ศิวรักษ์ปัญญาชนสยาม นักคิด นักประวัติศาสตร์ นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องบทบาทคณะสงฆ์ไทย ส.ศิวรักษ์ ได้แสดงความเห็นต่อประเด็นที่ว่าพระไม่เกี่ยวกับทางโลก ว่าไม่เห็นด้วย และเห็นว่า หากพระสงฆ์มั่นคงในพระธรรมวินัย รักษาศีล มีจริยวัตรที่เหมาะสม การออกมาร่วมกับชาวบ้านประชาชนเป็นเรื่องธรรมดา

"พระส่วนใหญ่ ลูกชาวบ้าน ลูกคนยากคนจน แต่การศึกษาของพระ สอนให้พระอยากจะเป็น อยากให้พระเขยิบขึ้นไปในทางสมณศักดิ์ ให้เป็นเจ้าขุนมูลนาย และสึกออกมาก็อยากเป็นคนชั้นกลาง นี่ผิดหลักหมดเลย พระส่วนใหญ่เป็นลูกคนยากคนจน ควรจะเข้าใจคนยากคนจน เป็นพลังเพื่อคนยากคนจน..."

ด้านพระมหาไพรวัลย์ ได้แบ่งปันประสบการณ์ที่ออกมาช่วยเหลือชาวบ้านอย่างเช่นการบริจาคของช่วยเหลือชุมชนโดยรอบวัดสร้อยทอง หรือการแสดงทัศนะต่อสังคมว่า บางครั้งได้รับคำวิจารณ์ว่า "ไม่ใช่กิจของพระ"

พระมหาไพรวัลย์ กล่าวต่อไปว่า จากคำพูดของ สุลักษณ์ที่พูดบ่อย ๆ ว่า สังคมพระจะอยู่ได้ ต้องเห็นแก่ชุมชน ต้องอยู่ข้างคนเล็กคนน้อยนั้น พระมหาไพรวัลย์เห็นตรงกับแนวทางดังกล่าว

"อาตมาเห็นตรงกับอาจารย์สุลักษณ์ว่า ถ้าเราไม่ทำงานพวกนี้ ไม่ทำอะไรที่ชาวบ้านจะเห็นว่า เรายังคงเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอยู่ ต่อไปคณะสงฆ์ก็หมดความสำคัญ อย่างที่อาจารย์สุลักษณ์พูดบ่อย ๆ ว่า ไม่มีใครรู้จักชื่อพระเถระที่อยู่ในกรรมการมหาเถรสมาคมเลย พระส่วนใหญ่ที่ชาวบ้านรู้จัก เป็นพระนอกกระแสทั้งหมด อย่างหลวงพ่อพยอม อย่างท่านอาจารย์ไพศาล (พระไพศาล วิสาโล) ... พระพวกนี้ต่างหากที่เป็นที่รู้จักของคนในสังคม เพราะว่าท่านทำงานเพื่อสังคม"


หลังจากนั้นผู้ดำเนินรายการได้ชวนอภิปรายเกี่ยวกับบทบาทในทางการเมืองและการเคลื่อนไหวของพระสงฆ์หรือเณร ควรมีบทบาทต่อสังคมการเมืองอย่างไร ซึ่งขณะนั้นเป็นห้วงที่มีภาพพระสงฆ์และเณร ร่วมชุมนุมทางการเมืองกับกลุ่ม "ราษฎร" ตั้งแต่ในช่วงปี 2563

พระมหาไพรวัลย์ตอบว่า "ในฐานะที่อาตมาทำเรื่องพวกนี้อยู่ อาตมาก็พยายามจะยืนยันสิทธิว่า พระเณรในฐานะปัจเจกชน ควรมีเสรีภาพ ที่จะแสดงความคิดเห็นในทางการเมือง ตามกรอบของพระธรรมวินัยได้ ไปกันได้กับหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ยึดสันติอหิงสา เป็นธรรมและอยู่ข้างคนที่ถูกกดขี่"

"ในทางกลับกันในทางมายาคติ อาตมามองว่า การที่พระสงฆ์นิ่งเงียบต่างหาก และอยู่กับฝ่ายของคนที่มีอำนาจ อย่างคำที่ อ.สุลักษณ์ใช้ คือ คำว่า อยู่ภายใต้มายาคติ อาตมาว่า อันนี้ต่างหาก แสดงว่าคณะสงฆ์ไม่ได้อยู่ในฐานะที่เป็นผู้นำเลย"

คนรุ่นใหม่กับการนับถือศาสนา

ในรายการเดียวกัน พระมหาไพรวัลย์ ได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับการปรับตัวของพระสงฆ์ของพุทธสนา ในภาวะสังคมปัจจุบันที่คนรุ่นใหม่ รู้สึกไม่อยากนับถือศาสนา แล้ว ว่า "ถ้าธรรมะมีเหตุผล เขาก็ยอมรับนะ แต่ว่าวิธีการนับถือ ของเขาอาจจะไม่เหมือนคนรุ่นพ่อรุ่นแม่"

พระมหาไพรวัลย์ กล่าวว่า คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ นับถือศาสนา ในฐานะที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งที่กราบไหว้บูชา แต่คนรุ่นใหม่นับถือศาสนาในฐานะที่เป็นมิติทางปรัชญา เป็นสิ่งที่มีเหตุผล และมิติความเป็นธรรม

"(คนรุ่นใหม่นับถือศาสนา เพราะ) เขามองเห็นว่ามันเป็นธรรมกับเขา เรื่องเป็นธรรมก็สำคัญมากเหมือนกัน เพราะธรรมะสมัยก่อน เป็นธรรมะที่มีแต่เรื่องการตัดสิน บาปบุญคุณโทษ แต่คนรุ่นใหม่เขาสนใจว่า ธรรมะจะให้ความเป็นธรรมกับเขาได้ยังไง อย่างอาตมาไปคุยในเวทีเสวนากับคนรุ่นใหม่หลายคน พูดเรื่องคำถามหลายเรื่องที่เป็นปัญหาสมัยใหม่ เขาก็ยังอยากได้คำตอบของศาสนาอยู่ อย่างเช่น ศาสนามองเรื่องการทำแท้งยังไง มองเรื่องการุณยฆาต ยังไง ถ้าศาสนาให้คำตอบ กับคนเหล่านี้ได้ คนเหล่านี้ก็ยอมรับนับถือศาสนาอยู่"

พระมหาไพรวัลย์ ยกตัวอย่างทัศนะเกี่ยวกับการทำแท้งว่า การจะให้พระแนะนำเรื่องทำแท้ง ทำได้ แต่ต้องออกจากความเป็นพระไปด้วย และมองว่าประเด็นเรื่องการทำแท้งเป็นเรื่องปลายเหตุ แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าสังคมต้องการทางเลือก รวมทั้งมนุษย์เองก็ต้องการทางเลือก

"เพราะฉะนั้นเราควรเสนอทางเลือกให้เขา ทางที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม ที่เขาจะเห็นแล้ว มองว่าดีกว่าที่เขาจะทำแท้ง หรือการเอาเด็กออก อาตมาก็เสนอมุมมองเหล่านั้นว่า มันควรมีทางเลือก ศาสนาควรให้ทางเลือกกับเขา เป็นกัลยาณมิตร กับเขา คุยกับเขาได้ ไม่ใช่การมองว่าคนเหล่านี้เป็นคนบาป"

LGBT กับการบวชเป็นพระ

ทัศนะต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือ LGBT ต่อการบวชในศาสนาพุทธ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่พระมหาไพรวัลย์แสดงความเห็นไว้ช่องยูทิวบ์ของพระมหาไพรวัลย์

พระมหาไพรวัลย์ กล่าวในประเด็นนี้ว่า คณะสงฆ์ในไทยเปิดกว้าง ยอมรับคนที่เป็นบุคคลเพศหลากหลายเข้ามาบวช แต่เป็นการเปิดกว้างตามธรรมวินัย เมื่อบวชเข้ามาแล้วต้องอยู่ในกรอบวินัยของสงฆ์ อีกทั้งต้องมีพระอุปชฌาย์รับรอง โดยยกตัวอย่าง หลวงพี่แจ๊ซ อดีตมิสทิฟฟานี

"ศาสนาในสังคมไทย ไม่ได้กีดกันเลย เพียงแต่ว่าการบวช มันก็มีขอเขต กฎเกณฑ์ของการบวช ซึ่งต้องไปดูพระวินัย อาตมาเคยพูดไปแล้วในพระวินัย ในบัณเฑาะก์ 5 ประเภท มี 2 ประเภทเท่านั้นเองที่ท่านห้าม ประเภทแรกก็คือ เป็นประเภทที่ถูกตอนไปแล้ว ไม่มีอวัยวะเพศ หรืออาจจะแปลงเพศไปแล้ว ก็บวชไม่ได้ หรือคนมีสองเพศในเพศเดียวกัน หรือมีเพศที่ระบุไม่ได้ไม่ชัดเจน แต่อีกสามประเภท ที่มีลักษณะเบี่ยงเบน หรือรักร่วมเพศ ก็ได้ ท่านไม่ได้ห้ามเลย เพียงแต่ว่า มีข้อแม้ว่า เมื่อคุณมาบวชแล้ว คุณต้องละพฤติกรรมเหล่านั้น ให้หมด..."

พระมหาไพรวัลย์ กล่วาว่า แต่การแต่งหน้าทาปาก หรือแสดงกิริยาบางอย่างญาติโยมรู้สึกว่าไม่นำไปสู่ความศรัทธาเลื่อมใสนั้นก็ไม่สามารถทำได้

"อาตมาว่ามีหลาย ๆ ท่านเลยที่อดีตเคยเป็น LGBT ที่ท่านบวชมาแล้วท่านปฏิบัติได้ ท่านอยู่ได้"

"อย่าว่าแต่ผู้ชายเลยนะ ทุกวันนี้ ยังมีกลุ่มภิกษุณี แม้ทางคณะสงฆ์ยังไม่ยอมรับ แต่ก็มี คณะภิกษุณี คณะสงฆ์ก็ไม่ได้ทำอะไรท่านเลย อย่างภิกษุณีที่เกาะยอ หรือ ที่นครปฐม ก็อยู่คณะของท่านไป และทำงานเผยแผ่ศาสนาได้เหมือนกัน"

Source: https://www.bbc.com/thai/thailand-58455025

ที่ 1 สร้อยทองจะมาร่วงเพราะเวทีแบบนี้ไม่ได้...!!


ช่วงเอื้อยอ้ายขอขอบคุณ...





Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: