วันศุกร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2564

มูลเหตุแห่งการวิวาท บาดหมาง แย่งชิง มาจาก “ความอยาก” ที่ไม่รู้จัก“พอ”

มูลเหตุแห่งการวิวาท บาดหมาง แย่งชิง มาจาก “ความอยาก” ที่ไม่รู้จัก“พอ”

สิ่งที่ชาวโลกต้องการเอามาให้เต็ม มีอยู่ ๒ อย่าง คือ “ลาภ” กับ “เกียรติ” ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสอยู่เสมอว่า สิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ได้แก่ “ตัวเรา”(เกียรติ) กับ “ของเรา”(ลาภ)

ในทางจิตวิทยา ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งจิตวิทยา” ได้แก่ “ซิกมันต์ ฟรอยด์” ได้บัญญัติต้นเหตุแห่งพฤติกรรมของมนุษย์ว่า มาจาก “กามารมณ์” อันหมายถึง สิ่งที่เรียกว่า“ของเรา” แต่ “แอดเลอร์” ผู้เป็นศิษย์ของ ฟรอยด์ แย้งว่า มาจาก “ความต้องการเป็นคนสำคัญ” อันนี้ได้แก่ สิ่งที่เรียกว่า “ตัวเรา” อาจารย์กับศิษย์มองเห็นคนละด้าน (ความจริงถูกทั้งสองคนแต่ถูกคนละด้าน) เมื่อเอามารวมกันแล้ว ก็เป็นความสมบูรณ์ตามหลักพุทธศาสนา ซึ่งบัญญัติ “ความยึดถือ” อันเป็นต้นเหตุของพฤติกรรมทั้งมวลของมนุษย์ลงในสิ่ง ๒ สิ่ง คือ “ตัวเรา”(อัตตา) กับ “ของเรา”(อัตนียา)

เมื่อเกิดความต้องการขึ้น เพื่อแสวงหาให้ได้มาในสิ่ง ๒ ประการ คือ “ลาภ”(ของเรา) กับ “เกียรติ”(ตัวเรา) ชาวโลกผู้ไม่รู้ย่อมไปแสวงหาด้วยการเอาตามอำนาจของ “ความอยาก”(ตัณหา)

เมื่อถูกผลักดันไปด้วยความอยาก จะทำให้เกิดความ “ไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอ” ได้ก็เหมือนไม่ได้ เพราะได้แล้วไม่เอา จะไปเอาสิ่งที่ยังไม่ได้อยู่ร่ำไป ทำให้เหน็ดเหนื่อยกระหืดกระหอบอยู่ตลอดเวลา 

เมื่อตนเองไม่พอก็เป็นเหตุให้มีการแย่งชิงกับผู้อื่น ซึ่งมีความไม่พอเหมือนกัน ทำให้มีการเอารัดเอาเปรียบกันด้วยอำนาจความเห็นแก่ตัว นำมาซึ่งการทะเลาะวิวาท บาดหมางกัน ถึงกับมีการฆ่าแกงกันในที่สุด จนกลายเป็นสงครามมหาสงคราม 

ทั้งหมดนี้มาจาก“ความอยาก”ที่ไม่รู้จัก “พอ” ตัวเดียว.”

พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : ธรรมบรรยายหัวข้อเรื่อง “สุญญตาธรรม”



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: