วันจันทร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2564

โลก นี้คือสิ่งซึ่งเป็น “อนัตตา” “สุญญตา”

โลก นี้คือสิ่งซึ่งเป็น “อนัตตา” “สุญญตา”

โลกนี้ คือสิ่งซึ่งเป็น “อนัตตา”, เป็น “สุญญตา”, โลก คือ สิ่งที่ไม่ใช่ตน และว่างจากตัวตน พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสอย่างนี้ “เมื่อใดมองเห็นโลกโดยความเป็นของว่าง มัจจุราชก็จะไม่มองเห็นท่าน คือจับตัวท่านไม่ได้อีก” คําว่า “ว่าง” ในที่นี้หมายความว่าหาสิ่ง หาส่วนหาอะไรที่จะควรแก่คําว่า “ตัวตน” นั้นมันไม่ได้ มันไม่เที่ยง มันเปลี่ยนแปลงเสียเรื่อย จะเอาตรง ไหนเป็นตนได้; และทุกๆ อย่างมันไม่มีอะไรมากไปกว่าการที่ปรากฏแก่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ. ถึงเจ้า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เป็นของที่ไหลเรื่อย เปลี่ยนแปลงเรื่อย มันจะเอาจริงกันที่ตรงไหนก็ไม่ได้ เมื่อของข้างในคือสิ่งที่จะรับเอาโลกนั้นเข้ามา มันก็เป็นของที่เปลี่ยนแปลงเรื่อยเสียเองอย่างนี้ ทั้งหมดก็เลยพลอยเปลี่ยนแปลงเสียหมดด้วย. นี้ก็เรียกว่าว่างเหมือนกัน ว่างจากตัวตน

คําว่า “ตัวตน” นี้ มันมาจากความยึดถือสิ่งที่รัก ที่ถูกใจ ที่พอใจ ได้อย่างใจ จึงเรียกว่าตัวตน. ถ้าไม่ได้อย่างใจก็ไม่เรียกว่าของตนหรือตัวตน. ทีนี้เราไปเข้าใจว่ามันได้อย่างใจ เลยมีตัวตนขึ้นมา พวกที่ยังไม่รู้ว่าทุกอย่างมันไม่อยู่ในอํานาจหรือในวิสัยของใคร มันเปลี่ยนไปตามเรื่องของมัน เรายังไม่ทันรู้ เราจึงไปเข้าใจเอาว่าตัวเรา ว่าของเรา, ว่าตัวกู ว่าของกู : เงินทองข้าวของก็เป็นของกู จิตใจที่ยังไม่คิดทําอะไรขึ้นมา ก็เรียกว่าตัวกู

ที่ละเอียดยิ่งไปกว่านี้ คือสรุปให้มันเหลือน้อยเข้าก็ว่า  “โลกนี้ คือ ธรรมชาติล้วนๆ”  ไม่ทราบว่าจะใช้คําพูดว่าอะไรดี ก็ถือเอาตามตัวหนังสือ ตามบาลีนั้น ๆ โดยที่บาลีมันมีอยู่ว่า “ สุทธํ  ธมฺมสมุปฺปนฺนํ ” แปลว่า  เป็นของเกิดขึ้นแห่งธรรมชาติล้วนๆ,  “ สุทฺธํ  สงฺขารสนฺตตึ ”  เป็นเพียงการสืบต่อของสังขารล้วนๆ  พึงฟังดูให้ดี ว่า   “เป็นเพียงการเกิดขึ้นแห่งธรรมชาติล้วน ๆ เป็นเพียงการสืบ

ต่อเนื่องกันของสังขารล้วนๆ” นี้ก็คือ “โลก” ล่ะ ไม่มีตัวตน ไม่มีอะไรที่ไหน นอกจากการเกิดขึ้นอย่างธรรมชาติล้วน ๆ, ธรรมชาติล้วนๆ ก็หมายความว่าไม่ใช่พระเจ้า ไม่ใช่สัตว์ บุคคล อะไรอื่น นอกจากว่าเป็นธรรมชาติล้วน ๆ : แล้วก็เป็นการสืบต่อของสังขารล้วนๆ สังขาร คือ สิ่งที่มันได้รับการปรุงแต่ง, และปรุงแต่งสิ่งอื่นต่อไป นี้เรียกว่า “สังขาร” ไม่มีตัวเองที่ไหน

ทุกสิ่งที่เรียกว่า “สังขาร” นั้น หมายความว่ามันเกิดขึ้นมาด้วยสิ่งอื่นปรุงแต่ง ไม่มีเนื้อหาสาระเป็นแก่นสารตัวตนอะไรที่ไหน, มันปรากฏขึ้นมาในลักษณะหนึ่งได้ เพราะมีอะไรๆหลายๆอย่างปรุงแต่งสร้างขึ้นมา แล้วมันเองก็ปรุงแต่งสร้างสิ่งอื่นต่อไป

พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : ธรรมบรรยายหัวข้อเรื่อง “โลกในทรรศนะของพุทธบริษัทคืออะไร” เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๔ จากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เล่ม “สันทัสเสตัพพธรรม” หน้า ๑๖๐-๑๖๑



post written by:

0 comments: