พระพุทธเจ้าทรงฝากพระพุทธศาสนาไว้กับ “พุทธบริษัททั้ง ๔” แต่ต้องมองให้ตลอดด้วยว่า ทรงฝากพระพุทธศาสนาไว้กับพุทธบริษัทที่เป็นอย่างไร ?
“ในแง่ของการสังคายนา ชาวพุทธก็รู้กันอยู่แล้วว่า การสังคายนาเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นการประมวลหรือรวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า การสังคายนานั้นเริ่มมีมาตั้งแต่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ดังที่พระองค์เคยปรารภกับ “พระจุนทะ” ว่า ควรจะสังคายนาธรรมทั้งหลายที่พระองค์ได้ทรงสั่งสอนไว้ เพื่อให้ “พรหมจริยะ” คือ “พระศาสนา” ดำรงอยู่ได้ยั่งยืน
พระพุทธศาสนานั้นมีชื่อเรียกได้หลายอย่าง คำเรียกอย่างหนึ่งคือที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า “พรหมจริยะ” หรือ “พรหมจรรย์” พรหมจรรย์ หรือ พรหมจริยะ นั้น คือ “พระพุทธศาสนา”
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ควรสังคายนาหลักธรรมคำสอนของพระองค์ เพื่อให้พรหมจริยะดำรงอยู่ยั่งยืนนาน เพื่อประโยชน์และความสุขแก่พหูชน #ก่อนพระพุทธเจ้าปรินิพพาน “พระสารีบุตร”ได้ทำสังคายนาเป็นตัวอย่างไว้ ดังปรากฏใน “สังคีติสูตร” ซึ่งอยู่ใน พระไตรปิฎกเล่ม ๑๑
การสังคายนาพระธรรมวินัยเริ่มเอาจริงเอาจังเป็นงานเป็นการใหญ่ของสงฆ์ส่วนรวมขึ้น หลังพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน เมื่อ “พระมหากัสสปเถระ” เป็นประธานทำสังคายนาครั้งที่ ๑
“การสังคายนา” ก็คือ..การประมวลคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า อันได้แก่พระธรรมวินัย มาจัดวางไว้เป็นแบบแผน ให้ทรงจำไว้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นหลักของพระพุทธศาสนาสืบมา พระธรรมวินัยที่ได้สังคายนารวบรวมไว้นี้ ต่อมาก็เป็น “พระไตรปิฎก” พระไตรปิฎกจึงเป็นผลของการสังคายนา โดยเป็นที่รวบรวมพระธรรมวินัยที่ได้สังคายนาไว้นั้น
ในเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วว่า ให้สังคายนาพระธรรมวินัย เพื่อให้พรหมจริยะคือพระศาสนายั่งยืน เพื่อประโยชน์สุขแก่ชาวโลก พระไตรปิฎกก็คือผลงานที่เป็นประจักษ์พยานของการสังคายนานี้ เพราะฉะนั้น พระไตรปิฎกจึงมีความสำคัญโดยเป็นที่รักษาพระพุทธศาสนาอยู่ในตัวของมันเอง
รักษาพระไตรปิฎก ทำให้พุทธบริษัทมีคุณสมบัติที่จะรักษาพระพุทธศาสนา
ก่อนจะปรินิพพานพระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า พระองค์จะปรินิพพานต่อเมื่อพุทธบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทั้งหลายทั้งปวง คือพระภิกษุ ทั้งเถระ ทั้งมัชฌิมะ ทั้งนวกะ ภิกษุณีก็เช่นเดียวกัน พร้อมทั้งอุบาสก อุบาสิกา ทั้งที่ถือพรหมจรรย์ และที่เป็นผู้ครองเรือนทั้งหมด #ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติที่จะรักษาพระศาสนาได้ คือ
๑. ต้องเป็นผู้
ก) มีความรู้ เข้าใจหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ดี และ ข) ประพฤติปฏิบัติได้ถูกต้อง ตรง เป็นธรรมานุธรรมปฏิบัติ
๒. นอกจากรู้เข้าใจเอง และปฏิบัติได้ดีแล้ว ยังสามารถบอกกล่าวแนะนำสั่งสอนผู้อื่นได้ด้วย
๓. เมื่อมีปรัปวาทเกิดขึ้น คือ คำจ้วงจาบสอนคลาดเคลื่อนผิดเพี้ยนจากพระธรรมวินัย ก็สามารถชี้แจงแก้ไขได้ด้วย
ถ้าพุทธบริษัททั้ง ๔ มีความสามารถอย่างนี้ พระองค์จึงจะปรินิพพาน ตอนที่พระองค์จะปรินิพพานนั้น มารก็มากราบทูลว่า เวลานี้พุทธบริษัท ๔ มีคุณสมบัติพร้อมอย่างที่พระองค์ได้ตรัสเหมือนกับเป็นเงื่อนไขไว้แล้ว พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาเห็นว่าเป็นอย่างนั้น จึงทรงรับที่จะปรินิพพาน โดยทรงปลงพระชนมายุสังขาร
พุทธดำรัสนี้ ก็เหมือนกับว่า..พระพุทธเจ้าทรงฝากพระพุทธศาสนาไว้กับ “พุทธบริษัททั้ง ๔” แต่ต้องมองให้ตลอดด้วยว่า ทรงฝากพระพุทธศาสนาไว้กับพุทธบริษัทที่เป็นอย่างไร ซึ่งก็ตอบได้เลยว่า ทรงฝากไว้กับพุทธบริษัทที่มีคุณสมบัติอย่างที่กล่าวมาแล้ว เริ่มด้วยรู้เข้าใจและปฏิบัติได้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย หรือถูกต้องตามธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า พระธรรมวินัยนี้อยู่ที่ไหน ก็อยู่ในพระไตรปิฎก ถ้าไม่มีพระไตรปิฎก พระธรรมวินัยก็อยู่มาจนถึงปัจจุบันไม่ได้
เพราะฉะนั้น ชาวพุทธจะเป็นผู้มีคุณสมบัติถูกต้องตามที่พระพุทธเจ้าฝากพระศาสนาไว้ ก็โดยมีพระไตรปิฎก และเรียนรู้เข้าใจพระธรรมวินัยจากพระไตรปิฎกนี้แหละ
เป็นอันว่า ในแง่นี้พระไตรปิฎกก็เป็นหลักของพุทธบริษัท ต้องอยู่คู่กับพุทธบริษัท โดยเป็นฐานให้แก่พุทธบริษัท ซึ่งจะทำให้ชาวพุทธเป็นผู้มีคุณสมบัติที่จะรักษาพระศาสนาไว้ได้ นี้ก็เป็นอีกแง่หนึ่งที่พระไตรปิฎกมีความสำคัญต่อการธำรงพระศาสนา
รักษาพระไตรปิฎกไว้เป็นฐานของ... ปริยัติ ปฏิบัติ และ ปฏิเวธ
อีกแง่หนึ่ง ขอให้มองว่าพระพุทธศาสนานี้คืออะไรบ้าง เราพูดกันว่า พระพุทธศาสนานี้ ตัวแท้ตัวจริง ถ้าสรุปง่ายๆ ก็เป็น ๓ ดังที่เรียกว่าเป็น “สัทธรรม ๓” คือ ปริยัติ ปฏิบัติ และ ปฏิเวธ พระศาสนาทั้งหมดก็มีเท่านี้ คือ ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ
“ปริยัติ” ก็คือ พุทธพจน์ที่เรานำมาเล่าเรียนศึกษา พุทธพจน์ที่เราจะเล่าเรียนนั้นอยู่ที่ไหน ก็อยู่ในพระไตรปิฎก ถ้าไม่มีพระไตรปิฎก พุทธพจน์ก็ไม่สามารถมาถึงเราได้ การที่ท่านสังคายนาก็คือนำพุทธพจน์มารวมไว้ให้อยู่ในพระไตรปิฎกนี่เอง พุทธพจน์ที่รวบรวมไว้เหล่านี้นี่แหละ เป็นปริยัติที่เราเล่าเรียน
“ปริยัติ” เป็นผลจาก “ปฏิเวธ” และเป็นฐานของการ “ปฏิบัติ”
ที่ว่า ปริยัติเป็นผลมาจากปฏิเวธนั้น หมายความว่า พระพุทธเจ้าทรงปฏิเวธ คือทรงบรรลุผลการปฏิบัติของพระองค์แล้ว จึงทรงนำประสบการณ์ที่เป็นผลจากการปฏิบัติของพระองค์นั้นมาเรียบเรียงร้อยกรองสั่งสอนพวกเรา คือทรงสั่งสอนพระธรรมวินัยไว้ คำสั่งสอนของพระองค์นั้น ก็มาเป็นปริยัติของเรา คือเป็นสิ่งที่เราจะต้องเล่าเรียน ปริยัติที่เป็นผลจากปฏิเวธนั้น หมายถึงปฏิเวธของพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะ คือผลการปฏิบัติของพระพุทธเจ้า และที่พระพุทธเจ้าทรงยอมรับเท่านั้น ไม่เอาผลการปฏิบัติของโยคี ฤาษี ดาบส นักพรต ชีไพร อาจารย์ เจ้าลัทธิ หรือศาสดาอื่นใด
ที่ว่าปริยัติเป็นฐานของการปฏิบัติ ก็คือ ถ้าไม่ได้เล่าเรียนปริยัติ ไม่รู้หลักคำสอนของพระพุทธเจ้า การปฏิบัติก็เขว ก็ผิด ก็เฉไฉ ออกนอกพระพุทธศาสนา ถ้าปฏิบัติผิด ก็ได้ผลที่ผิด หลอกตัวเองด้วยสิ่งที่พบซึ่งตนหลงเข้าใจผิด ปฏิเวธก็เกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีปริยัติเป็นฐาน ปฏิบัติและปฏิเวธก็พลาดหมด เป็นอันว่าเหลวไปด้วยกัน พูดง่ายๆ ว่า จากปฏิเวธของพระพุทธเจ้า ก็มาเป็น ปริยัติของเรา แล้วเราก็ปฏิบัติตามปริยัตินั้น เมื่อปฏิบัติถูกต้องก็บรรลุปฏิเวธอย่างพระพุทธเจ้า ถ้าวงจรนี้ยังดำเนินไปพระศาสนาของพระพุทธเจ้าก็ยังคงอยู่
ปริยัติ ที่มาจากปฏิเวธของพระพุทธเจ้า และเป็นฐานแห่งการปฏิบัติของพวกเราเหล่าพุทธบริษัททั้งหลาย ก็อยู่ในพระไตรปิฎกนี้แหละ
ฉะนั้น มองในแง่นี้ก็ได้ความหมายว่า ถ้าเราจะรักษาปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธไว้ ก็ต้องรักษาพระไตรปิฎกนั่นเอง ตกลงว่า ในความหมายที่จัดแบ่งตัวพระศาสนาเป็น “สัทธรรม ๓” หรือบางทีแยกเป็น “ศาสนา ๒” คือ ปริยัติศาสนา กับ ปฏิบัติศาสนา นั้น รวมความก็อยู่ที่พระไตรปิฎกเป็นฐาน จึงต้องรักษาพระไตรปิฎกไว้ เมื่อรักษาพระไตรปิฎกได้ ก็รักษาพระพุทธศาสนาได้”
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )
ที่มา : ธรรมนิพนธ์ “รู้จักพระไตรปิฎก เพื่อเป็นชาวพุทธที่แท้” หน้า ๗ - ๑๑ ไฟล์ PDF โหลดได้ที่นี่ https://www.watnyanaves.net/th/book_detail/371
0 comments: