วันศุกร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2564

“นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า”

“นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า”

พระพุทธองค์ตรัสเรื่องอจินไตยไว้ในพุทธาปทาน คำว่า “อจินไตย” หมายถึงสภาวะที่พ้นความคิดของตนที่จะคิดได้ คือไม่อยู่ในวิสัยที่จะคิดได้ 

สิ่งที่เป็นอจินไตยในพุทธาปทานนั้นมี ๒ ประการ คือ   ๑. พระพุทธเจ้า   ๒. พระธรรม

พระพุทธเจ้าและพระธรรมเป็นอจินไตยสำหรับผู้เลื่อมใส และมีวิบากเป็นอจินไตยสำหรับผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์ ดังพระดำรัสว่า

“ตามที่กล่าวมานี้ พระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นอจินไตย   ธรรมของพระพุทธเจ้าก็เป็นอจินไตย   สำหรับผู้ที่เลื่อมใสในอจินไตย ย่อมมีวิบากเป็นอจินไตย”

ในพุทธาปทานนั้นมีคำสอนดังนี้ คือ  

คำสอนที่ ๑  “ท่านทั้งหลาย จงเห็นความเกียจคร้านเป็นสิ่งน่ากลัว  แต่จงเห็นความเพียรเป็นสิ่งปลอดภัย  จงบำเพ็ญเพียรกันเถิด   นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า”

คำสอนที่ ๒  “ท่านทั้งหลาย จงเห็นการวิวาทกันเป็นสิ่งน่ากลัว  แต่จงเห็นการไม่วิวาทกันเป็นสิ่งปลอดภัย  จงสมัครสมานสามัคคีกัน  พูดจาไพเราะกันเถิด  นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า”

คำสอนที่ ๓  “ท่านทั้งหลาย จงเห็นความประมาทเป็นสิ่งน่ากลัว  แต่จงเห็นความไม่ประมาทเป็นสิ่งปลอดภัย   จงเจริญมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ เถิด  นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า”

อธิบาย

มรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ) สัมมาสังกัปปะ (ความดำริชอบ) สัมมาวาจา (การเจรจาชอบ) สัมมากัมมันตะ (การทำการงานชอบ) สัมมาอาชีวะ (การเลี้ยงชีพชอบ) สัมมาวายามะ (ความเพียรชอบ) สัมมาสติ (ความระลึกชอบ) สัมมาสมาธิ (ความตั้งใจมั่นชอบ)

ผู้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าและปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ย่อมมีวิบากเป็นอจินไตย คือให้ผลทั้งมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติ ดังนี้แล.

สาระธรรมจากพุทธาปทาน 

พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ)

10/9/64





"ធម្មជាតិរបស់ភ្នែកស្ថិតនៅទាបជាងខួរក្បាល  ចូរកុំវិនិច្ឆ័យអ្នកដទៃត្រឹមគ្រាន់តែបានឃើញ  ដោយភ្លេចត្រិះរិះពិចារណាដោយខួរក្បាលដ៏ឧត្តម"

"ธรรมชาติของตาอยู่ต่ำกว่าสมอง  จงอย่าตัดสินแค่การมอง  โดยการลืมไตร่ตรองด้วยสมองที่สูงส่ง"





Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: