ทางให้เกิดปัญญา / How to Make Wisdom Arise
พระเณรทุกคนที่เข้ามา มาเพื่อที่จะรับฟัง เพื่อจะเรียนรู้สิ่งต่างๆ คงจะไม่แบกทิฏฐิเข้ามาในวัด แบกมาแล้วก็คงจะไม่เอามาใช้ในสถานที่เช่นนี้ เช่นว่ามาอยู่ที่นี่ กิจบางอย่าง เช่นกรรม การกระทำบางอย่าง ผมยกไว้ก่อน เพื่อจะดูว่าควรหรือไม่ วัตรของอาคันตุกะหรืออาจริยวัตร ก็ต้องดูก่อน เราตั้งใจจะขอนิสสัยเพื่ออยู่เสมอ อาจริยวัตรอย่าให้ทันที ก็ต้องรอดูกันก่อน ต้องให้รู้เรื่องกันก่อน แจกอาหาร บิณฑบาต ฉันกันธรรมดา แยกไว้เพื่อให้รู้จัก ท่านกำชับวัตรของเจ้าอาวาส อย่ารีบให้นิสสัยอาคันตุกะเร็ว ต้องรู้เรื่องกันก่อนว่าเราตั้งใจอยู่ปฏิบัติ ต่างพอใจซึ่งกันและกัน ต่างคนต่างดูว่าควรหรือไม่? ชอบไหม?มีความเห็นพ้องกันหรือไม่ จึงค่อยให้นิสสัย และขอนิสสัย เป็นธรรมดาอย่างนั้น
พยายามถอนสิ่งที่จะขัดข้องในการปฏิบัติ เป็นเหตุปฏิบัติดำเนินไปช้า เราควรเสียสละสิ่งไม่จำเป็น เช่นของใช้สอย การเสพติดบางอย่างในวัดไม่ทำ ถ้าเรามาทำกันก็ลักหลั่นกัน การกินหมากในสมัยก่อนผมพิจารณาดูแล้วไม่มีอะไร ไม่ติดกัน ถ้ามีมาก็ใช้เล็กๆน้อยๆ แล้วเลิกเสียก็ดี สิ่งที่ดีเป็นวินัยเรารักษาได้ ก็จะทำให้เราแปลกออกไปในสิ่งที่ควร ผู้ที่เป็นหัวหน้าควรจะทำเพื่อชักจูงศรัทธาญาติโยม อะไรที่ไม่มีก็พยายามทำให้น้อย ให้ง่าย การขบฉันนี้ก็เหมือนกัน ถ้ามีพระมากก็ตัดภาระลงไปให้ง่ายเข้า
เป็นเรื่องจำเป็น จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานะเภสัช เราต้องอาศัย ถ้าเรายังไม่ตาย ปัจจัยสี่เราต้องอาศัยปัจจัยสี่นี้ ไม่เฉพาะพระเรานะ ทางฆราวาสก็มีเช่นกัน ถ้ายังมีชีวิตอยู่ก็ต้องอาศัย
พระเราจะออกจากความวุ่นวายมันก็แปลกกัน อย่างจีวรก็แปลกเขา ท่านให้ใช้ผ้าสามผืน ย้อมผ้าฝาดแก่นขนุนสีเดียว จะไปไหนก็เท่านี้ นี่เรียกว่าผู้มักน้อยจริงๆ ไม่เหมือนฆราวาสเขามีหลากสีหลายอย่าง บิณฑบาตก้อนข้าวที่เป็นอาหาร ที่บริโภคเพื่อยังชีวิตให้เป็นอยู่ อันนี้ก็ต่างกับโยม ก้อนข้าวที่เราฉันเข้าไปต้องเป็นกาลเวลา โยมเขาวันหนึ่งไม่รู้จักกี่มื้อ ทุกอิริยาบถก็ได้ ไปไหนก็ได้ ไม่ว่ากลางคืนกลางวัน ได้ทั้งนั้น
เราเป็นคนมักน้อยย่อเข้ามาเพราะอะไร เพราะเครื่องปัจจัยเหล่านี้ พวกเราอาศัยผู้อื่นเลี้ยง ถ้าเลี้ยงยากก็ลำบากผู้อื่น ทำให้หมดศรัทธา เสนาสนะก็ใช้หลังเล็กๆ ยาบำบัดโรคพิสดาร ท่านให้ใช้น้ำมูตรเน่าดองสมอ. เราเพื่อจะถอนตัวออกจากความวุ่นวาย จะต้องทิ้งการสนุกสนาน เขานั้นชอบสนุก สงบแล้วไม่สบาย เขาจึงหาเรื่องสนุกสนาน วุ่นวาย จึงต่างกัน ในทางที่ดีแล้ว ให้รู้จักตนของตนดีกว่า ว่านี่เราเป็นพระ เราจะเดิน พูด กิน อย่างฆราวาสไม่ได้ จะต้องพิจารณาว่าบัดนี้เราเป็นอะไร? คิดอะไรอยู่ไหม? อยู่ทีเดียว. ต้องมีสติ สติเป็นหัวหน้าที่จะจูงผู้ประพฤติปฏิบัติให้รู้จักทาง มันแลดูซับซ้อนตรงที่คนมาทำกัน เรื่องความจริงนั้นมันไม่มีเรื่องอะไรซับซ้อนมากมายนัก ตรงไปตรงมาอย่างง่ายๆ
พูดง่ายๆ มันก็ง่าย พูดให้ยาก มันก็ยากขึ้น เช่นว่า ลักษณะอาการที่จะต้องปฏิบัติมันครบแล้ว พวกเรามีรูปมีนามมาครบแล้ว เช่นอายตนะสังวรสำรวมหูตาจมูกลิ้นกายใจเท่านั้นไม่ให้ยินดียินร้ายเวลาสัมผัส อินทรียสังวร อินทรีย์คือผู้เป็นใหญ่ในการนั้นๆ เช่นตาก็เป็นผู้ใหญ่ในการเห็น ปฏิบัติจนอินทรีย์แก่กล้า จนรู้จักรับอารมณ์ รู้อารมณ์ รู้เรื่องของอารมณ์นั้นเท่าถึงกัน เป็นอินทรีย์กล้า ละกิเลสได้ หายไป เรียกว่าอินทรีย์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
จิตแต่ละอย่างๆนั้นมันเกิดขึ้นมาแล้วเป็นใหญ่ ไม่ให้ยินดียินร้ายในสิ่งนั้น เพราะว่าถ้ายินดียินร้ายเราก็หลง เราทำไปอย่างนี้ จนกว่าเราจะรู้จักตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่นมันมียินดีไหม? ยินร้ายไหม? ถ้ายินดียินร้ายมันก็หลง ถ้าสภาวะอันนี้เป็นอารมณ์อย่างนี้ก็เข้าใจว่าหลงอยู่ หลง
อย่าเพลิน อย่าเมาไปตามมันเลย ทำไมถึงจะรู้? รู้ซิ เพราะมันเป็นใหญ่ ปฏิบัติต้องรู้อย่างนี้ ไม่ใช่ว่าปฏิบัติไม่รู้ ตาเป็นใหญ่ในการเห็นรูป หูไม่ได้เห็นในสิ่งที่จะเห็นรูปและรู้สึก มันยินดีไหม? ยินร้ายไหม? มันส่งถึงใจ มีความรู้สึกเป็นตัวอุปาทาน ทำให้เกิดอะไรขึ้นมานั่น เราก็ต้องรู้อย่างนี้ ท่านจึงบอกว่าอปัณณกะหลักที่สำคัญคือข้อปฏิบัติที่ไม่ผิด ถ้าเรากระทบทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
มันไม่ยินดียินร้ายนั่นแหละคือเราไม่เป็นทาสอารมณ์นั่นแหละคือเราไม่หลงอารมณ์ไม่ต้องหลงรูปเรามีการสังวรสำรวมอยู่อย่างนี้เรียกว่ามีการสอบอารมณ์ของเราไม่ต้องให้ใครสอบเพราะของเหล่านี้มีอยู่ในเราหมดแล้ว ของที่เรามีอยู่แล้วนี้ไม่จำเป็นจะต้องให้ผู้อื่นลำบากแก่เรา เราควรสอบเอาเองซิ ที่มันกระทบมาแล้วมันยินดีไหม? เออ...มันยังยินดีอยู่ มันยังยินร้ายอยู่ เพราะอะไร? หาเอาเองซิ เรารู้มาแล้วว่าอารมณ์นี้มันเป็นอย่างนี้ เราหลงอารมณ์แล้วนี่ เราจะสอบอารมณ์ของเรา แก้ซิทำไมมันยินดี? เพราะอะไร? ต้องดูซิ เพราะเราทำความเข้าใจว่า อันนั้นเราชอบ อุปาทานมันเกิดเราก็เข้าใจอันนั้นดี เพราะเราปรุงแต่งขึ้นมา เราชอบจึงดี อันนั้นเราไม่ชอบ ปรุงแต่งไปก็ไม่ยินดี เป็นของร้าย มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น ที่ดีหรือร้ายเราเอาเข้าไปใส่ในตรงนั้น แต่ความจริงอารมณ์มันไม่อะไร มันเป็นกับบุคคลที่ไปหมายมั่นยึดมั่นมัน ถ้าดีก็ยึดว่ามันดีร้ายก็ยึดว่ามันร้าย เหมือนโลกนี้ โลโกนี้ มันเป็นปกติของมันอยู่อย่างนี้ เราว่ามันไม่ดี หรือว่าเราว่ามันดีสารพัดอย่าง โลกมันก็เฉย มันเป็นปกติของมันอยู่ ตัวเราเองนี่ซิไม่เป็นปกติ เดี๋ยวชอบอันนี้ เดี๋ยวชอบอันนั้น เดี๋ยวนินทาอันนี้ อย่างนี้นะ เราเองเสือกไสไปยึดมั่นถือมั่นอย่างนั้น
ฉะนั้น จะปฏิบัติในที่สงบให้รู้จักว่า อันนี้คือสอบอารมณ์ จนกว่าที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันสัมผัสอารมณ์มาแล้วทุกอย่าง มันจะวางตัวเป็นกลางๆ ไม่ยินดียินร้าย นี่ เพราะอะไร? ถ้ายินดีก็ไม่ถูกมันจะนำทุกข์มาให้เรา ถ้ายินร้ายก็ไม่ถูก มันจะนำทุกข์มาให้เรา เมื่อเป็นเช่นนั้น เราก็เป็นทาสของอารมณ์อยู่ เป็นทาสของตัณหา เป็นทาสของความอยากอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ทางที่จะพ้นทุกข์ เมื่อมันติดอารมณ์อยู่อย่างนั้นเราก็รู้จักว่าอารมณ์เป็นอย่างนี้เราก็เรียกว่าสอบอารมณ์ เรารู้จักมันอยู่ เราก็แก้ไปเรื่อยๆ นี่ปฏิบัติไม่ผิด จนกว่าจะเห็นโทษมันเห็นโทษในการยึดมั่นถือมั่น ในความร้าย เห็นโทษมันอย่างแท้จริง มันก็วาง และมองเห็นประโยชน์จากการปล่อยวาง นี้ก็มีประโยชน์ เห็นประโยชน์อย่างสัมมาทิฏฐิ เห็นโทษอย่างสัมมาทิฏฐิแล้ว มันก็วางเท่านั้นแหละ มันจะไปตรงไหนล่ะ? จะปฏิบัติขนาดไหน? ถ้าไม่เห็นโทษแล้ว มันเป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่เห็นประโยชน์แน่นอนก็หมดศรัทธา เมื่อเราดูอารมณ์แล้วเห็นโทษก็ละ เมื่อเห็นประโยชน์ ลำบากก็ทำได้ เท่านี้เอง!
เราจะรู้อารมณ์ก็เป็นสัมมาปฏิปทา ถ้าเป็นเช่นนี้เป็น อปัณณกปฏิปทา ไม่ผิด เป็นข้อปฏิบัติอย่างนี้ เป็นข้อพิจารณาอย่างนี้ไม่ผิด คือไม่ยินดียินร้าย เกิดแล้วดับไป วางมันอย่างนั้นตลอดไป เป็นอุเบกขา
การปฏิบัติท่านให้ดูอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันสัมพันธ์ติดต่อกันอยู่นี่ จะโกรธ จะเกลียด มันก็รู้จักกันอยู่ตรงนี้ มันไม่รู้ที่อื่น ถ้าอารมณ์ยินดีก็ยินดีจนหลง เมาอารมณ์ดีก็เมาดี อารมณ์ร้ายก็เมาร้าย ทำไมจะไม่รู้จักว่าเราปฏิบัติผิด ปราชญ์ท่านพูดไว้ถูกแล้ว
อินทรียสังวร ให้สำรวมในอินทรีย์หก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ยินดียินร้าย ในเวลาเห็นรูป ฟังเสียง สัมผัสโผฏฐัพพะธรรมารมณ์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่สัมผัสถูกต้อง แต่มันเกิดขึ้นในจิต หรือถูกต้องแต่ขาดระยะไป ผลมันจะเกิดขึ้นในจิตถ้าเราดูกายกับจิตของเราอย่างนี้ทำไมจะไม่รู้มีอะไรเกิดขึ้นเรารู้ทันไหม?ไม่รู้ขนาดนี้ก็เป็นคนตายพระตายเณรตายเท่านั้นเอง จะให้ใครสอนแนะนำอยู่เสมอจะให้ใครสอบอารมณ์เราเล่า? เราก็ต้องช่วยตัวเองเท่านั้นแหละ หูกระทบกับเสียง มันเกิดความรู้สึกเป็นอย่างไร ตากระทบกับรูปเกิดความรู้สึกขึ้นมาอย่างไร มันโกรธ เกลียด ชอบไหม? อะไรไหม? ลิ้นลิ้มรสถูกขึ้นมา มันชอบไหม? รังเกียจไหม? ทำไมไม่รู้จัก?ถ้าเรารู้อยู่พิจารณาอยู่ภาวนาอยู่ไปไหนก็เอาไปด้วยทำไมจะไม่รู้มัน ถ้าเรามีสติอยู่ ต้องรู้ทั้งนั้นแหละ ฉะนั้นทำอย่างไรให้สติมันดีการปฏิบัตินี้มีสติและสัมปชัญญะปัญญามันจะเกิด อายตนะนั้นมันก็บอกอยู่อย่างนั้น
โภชเนมัตตัญญุตา คือรู้จักประมาณในการบริโภคอาหารไม่มากไม่น้อย มันถูกแล้ว นี่เรียกว่าปฏิบัติไม่ผิด รู้จักประมาณอาหารของเราพอควร โดยมากไม่รู้จักพอควรมันจึงเกิดโทษ ไม่รู้จักพอควร ก็ไม่รู้จักปฏิปทา ไม่รู้จักมรรค ไม่รู้จักปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ไม่สร้างมรรคขึ้นมา
ชาคริยานุโยค การประกอบความเพียรเกิดขึ้นทางจิตของเรารู้จักความเห็นชอบเสมอๆไม่นิ่งนอนใจไม่อาศัยความประมาทเป็นอยู่ เรานอนก็จริง แต่ให้ลึกซึ้งไปอีก ให้รู้รอบสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น ถ้าเราตั้งใจทำจริงๆมันไม่นาน ไม่ใช่ว่าท่านไม่ให้ทำอะไร ทำได้ แต่ให้รู้เรื่องของเรา เช่น เราพูดอย่างนี้มีความหมายอย่างไรไหม? ที่จะพูดนี่ที่จะทำนี่ มีความหมายไหม? ให้รู้เรื่องของตัวเองคนเรามาปฏิบัติกรรมฐานก็เรื่องสมาธิเท่านั้นแหละ อยากจะให้เป็นอย่างไรก็ไม่รู้ ไม่รู้เรื่องกัน มันนาน ไม่รู้เรื่อง ถ้าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้รู้เรื่อง มันสงบเท่านั้นแหละไม่มักมากไม่อยากมากไม่มีความประมาทในความเป็นอยู่
นอกจากนั้นไป ถอยกรรมฐานพิจารณาความเกิด หรือความตาย ทั้งหลายเหล่านี้ท่านให้ยกมาเพื่ออะไร เพื่อให้มันทำลายความโลภมากอยากมากพอดีนี่เรียกว่าการปฏิบัติไม่ผิด เรารู้จักมีแต่ปฏิบัติทั้งนั้น ไม่ต้องสงสัย ผมปฏิบัติอย่างนี้ผิดไหมหนอ? ถูกไหมหนอ? ไม่ต้องไปถามใครแล้ว มันรู้จักแล้วไม่ยินดีเกินไป ไม่ยินร้ายเกินไปถ้ายินดีก็รู้จักความยินดีแล้วก็วางลงไปเสียยินร้ายก็วางเสียมันไม่เที่ยงไม่แน่นอน เขี่ยมันออกเสีย อารมณ์เกิดขึ้นมามันจะเป็นอุปาทาน อันนี้ไม่แน่นอน ที่ไม่แน่นอนเขี่ยออกเสียเรื่อยๆ วางเสีย ที่หมายมั่นเป็นทุกข์
ฉะนั้น กรรมฐานนี้มีอารมณ์หลายอย่าง เป็นต้นว่า อนุสติสิบเป็นกรรมฐาน ให้ใจสงบวิปัสสนากรรมฐานเป็นกรรมฐานให้เกิดปัญญา มันไม่มาก มีอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้ว่าไปเถอะ เขี่ยมันออกไปเสีย เรื่องมันไม่เที่ยง อะไรเกิดขึ้นมาก็สอบอารมณ์เจ้าของ ดีนี่ก็ไม่แน่ ชั่วนี้ก็ไม่แน่นะ ได้มานี่ก็ไม่แน่นะ เสียไปนี่ก็ไม่แน่นะ เขี่ยไปเขี่ยมาอย่างนี้ สักวันหนึ่งมันจะเกิดความแน่ขึ้นมา นี่แหละทำให้ปัญญาเกิดแหละไม่ต้องไปเรียนอภิธรรมความเป็นจริงรู้เรื่องสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันก็รู้เรื่องแล้ว เราไม่ยึดมั่นถือมั่น เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป เท่านี้จิตมันก็สงบ เห็นชัดเข้าไป ท่านจึงว่าปฏิบัติไม่ผิด ถ้ารู้หลัก เอาสองอย่างนี้เท่านั้นมีสติสัมปชัญญะปัญญาเกิดเพราะว่าเราใช้คำบริกรรมว่าอนิจจังทุกขังอนัตตาว่ามันไม่แน่
ถ้าคุณทั้งหลายเห็นว่าไม่แน่เกิดขึ้นคุณจะสงบ คุณจะสบาย แล้วความโกรธเกิดขึ้นมาคุณจะทิ้งเดี๋ยวนั้น ความรัก ชัง เกิดขึ้น ก็จะทิ้งเดี๋ยวนั้นแหละ เพราะมันไม่แน่! จิตของคุณก็สงบเท่านั้น จะสะพายบาตรไปเขาลูกไหน? จะสะพายบาตรไปทะเลไหนล่ะ? จะไปอยู่ป่าไหนล่ะ? ดูซิ ต้องพิจารณาอย่างนี้ สมแล้วที่จะปฏิบัติในสถานที่เช่นนี้ เรื่องจะไปโน่นไปนี่มันเรื่องของตัณหา เรื่องของความอยาก ไปแล้วก็เป็นทุกข์ กลับมาแล้วก็เป็นทุกข์ ไปแล้วก็สบายหน่อย กลับมานี่มันไม่เต็มส่วนมันต้องไปก็สบายอยู่ก็สบาย มันแน่นอนของมันอยู่อย่างนั้น นี่เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ
หาความสงบอยู่ตรงไหนล่ะ? ไม่ใช่อยู่ภูเขา ป่าชัฏ ทุ่งนา ไม่ใช่อยู่ทะเล สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบนี่คือสร้างมรรคขึ้นมาสัมมามรรคในอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงนั่นแหละ!ความสงบอยู่ตรงนั้น
ถ้าไม่เห็นชอบ จะไปอยู่ในถ้ำในป่าก็ไปเถอะ ไม่มีประโยชน์ ถ้าเห็นชอบก็เกิดประโยชน์ เพราะไปหาประโยชน์ อยู่ก็สร้างประโยชน์ ไปตรงไหนก็จะละให้หมดไปทั้งนั้นผมเห็นว่าคนไม่รู้เรื่องคือคนไม่ปฏิบัติ ไม่รู้เรื่องปฏิบัติไม่ค่อยจะเดินจงกรมไม่ค่อยจะนั่งสมาธิ อันนี้มันจะเกิดอะไรเล่า...ไม่มีเรื่องการประพฤติปฏิบัติเป็นเรื่องให้สัมมาทิฏฐิเกิดขึ้น รู้เรื่อง อย่าเอาอะไรมันมากเลย อยู่เป็นพระผมคิดว่าไม่มีอะไรยิ่งไปกว่านี้ ถึงรู้หลายอย่างก็จบตรงนี้ ท่านทั้งหลายจำไว้เถอะ พิจารณาเถอะ มันจะไม่พ้นตรงนี้
มันจะเปรียบกับมนุษย์คนหนึ่งเกิดมามันจะสวยมันจะสดมันจะร้องรำทำเพลงอย่างไรก็ตามเรื่องของมันเถอะผลที่สุดมันก็แก่ตาย มันมาลงตรงนั้น ถ้าเราไปเห็นชัดอย่างนั้นก็หมดสงสัย ให้พิจารณาให้ดี นี่คือเรื่องการประพฤติปฏิบัติไม่ผิด
เราทำอะไรให้ทำด้วยปัญญาของเรา อย่าเข้าใจว่าหย่อมหญ้าเล็กๆนั้นไม่มีประโยชน์ เช่นว่าการปฏิบัติของเรานี้โดยมาก คนเรามันชอบรุนแรง มีความเห็นว่า นักปฏิบัติไม่ต้องทำอะไรมาก การสวดโน่นสวดนี่ กิจนั้นนี้มันไม่จำเป็นอะไร ผมเคยขึ้นสมองเหมือนกัน แต่แล้วมันก็เป็นของจำเป็น กุฏิผุพังจำเป็นจะต้องซ่อมแซม รักษามัน เราคิดง่ายๆ เกื้อกูลกัน ต้นไม้ใหญ่มันก็มีความชุ่มชื้นจากต้นไม้น้อยๆ ฝนตกก็เก็บความเย็นเกื้อกูลกันการสวดนี่ก็เป็นธรรมะอันหนึ่ง ดีกว่าแช่งกันไหม การแช่งกันนี้ก็เกิดประโยชน์ในทางเลวร้าย มันมีอำนาจ การสวดพระสูตรนี้ไม่ใช่เราสวดเพื่อหากิน เมื่อเราทำกรรมฐานเหน็ดเหนื่อย เหนื่อยไปก็ยกสวดอันใดอันหนึ่งขึ้นมาสวด อย่างนี้มันเป็นเหตุกันถีนมิทธะความง่วงเหงาหาวนอน ได้เหมือนกัน ไม่มีอะไรเลยมันก็ไม่ได้ อย่างการนั่งสมาธิ เราจะนั่งท่าเดียวมันก็ง่วง ต้องยืน ต้องเคลื่อนไหวเป็นธรรมดาสมาธิมันเกิดจากการยืนเดินนั่งก็มี มันช่วยกันทั้งนั้น
ธรรมวินัย ธรรมะทั้งปวงนั้นมันก็เหมือนกับร่างกายเรานี่ เราจะเห็นแต่ร่างกายส่วนใหญ่ ส่วนเล็กไม่เกิดประโยชน์ อย่าไปว่ามันเลย ถ้าหากว่าร่างกายเรามีสัดส่วน แม้ของน้อยนิดก็มีประโยชน์ทั้งนั้น แม้ขนเส้นหนึ่ง ชิ้นเล็กน้อยรวมกันเข้าก็มีประโยชน์ อย่าคิดว่าต้นไม้จะมีเฉพาะกิ่งใหญ่ๆเท่านั้น อย่าคิดเลยไป เพราะเป็นความคิดที่ไม่รอบคอบ นอกพรรษาพระเณรในสมัยก่อนท่านหลีกเร้นอยู่ ท่านไม่คลุกคลีกับใคร หลีกเร้นอยู่คนเดียว ทำเช่นนั้น คือหลีกเร้นจากการอยู่หลายคนนั่นเองล่ะ! แต่ถ้ารู้จักเก็บเอาสิ่งที่มันสงบ ไม่ฟุ้งซ่านวุ่นวายกับใคร เช่น พระเณรชอบคุยมาก พระที่ฉลาดก็หลีกเสีย อย่าส่งเสริม หลีกเร้นอยู่คนเดียว
ภายในยิ่งกว่านั้น อารมณ์ต่างๆที่มันเกิดขึ้นมานั้น ท่านให้มีอารมณ์เดียว อารมณ์เดียวอย่างไร? อารมณ์พอใจ ไม่พอใจ มีสุข มีทุกข์ ท่านก็พิจารณาว่าสุขนี้ก็สักว่าสุข ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา เรียกว่าสุขเวทนา นั่น! ทุกข์เกิดขึ้นมา ทุกข์นี้ท่านเรียกว่าทุกขเวทนาเท่านั้น มีอารมณ์เดียวอย่างนี้ ไม่วิ่งไปกับมัน ให้เรารู้เท่านี้ นี่เรียกว่าอารมณ์เดียวเป็นสมาธิ
สมาธิ แปลว่าความตั้งมั่น ไม่ใช่ที่ว่าไม่มีเสียงอะไร ไม่มีรูปอะไรไม่มีอารมณ์อะไร มันมีอยู่ แต่ว่าสมาธิ คือความตั้งใจมั่นแต่อารมณ์อันเดียว สังวร สำรวม รวมเข้ามา ที่เรียกว่าสุขนี้พบแล้วก็ไม่ลืมไปตามสุขนี้ เรียกว่าสุขเวทนา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา เรียกว่าเวทนามันก็หมดเรื่อง มันเป็นเรื่องเวทนาเท่านั้น เมื่อเห็นชัดเจน จิตเราก็ถอนกลับเท่านั้น จะไปยึดอะไรเล่า อันนี้เรียกว่ามันมั่น จิตมันมั่นมีอารมณ์หลายอารมณ์ทุกอย่างแต่เราก็ยึดมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวมันมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวให้เข้าใจอย่างนี้ เสียงก็รู้อย่างหนึ่ง กลิ่นก็รู้อย่างหนึ่ง รสก็รู้อย่างหนึ่ง หลายอย่าง แต่ว่าต้องสังวร สำรวม และก็รู้ว่ามันเป็นอันเดียวสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นมันเป็นอันเดียวเรียกว่าเวทนา ถ้าสุขก็สุขเวทนา ถ้าทุกข์ก็ทุกขเวทนา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขาถ้าเราเข้าใจว่าเป็นตัวตนบุคคลเราเขาก็เกิดอุปาทานขึ้นมา มันก็ทุกข์ อย่างนั้น ท่านจึงหลีกอยู่องค์เดียว พระพุทธองค์ท่านก็ตรัสรู้ในโลกนี้แหละ บรรลุในโลก ไม่หลีกไปไหน
ถ้าหาก สัมมาทิฏฐิ เกิดขึ้นแล้วอยู่ตรงไหน ก็สบายมันก็สงบ ถ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ก็ไม่สบายทั้งนั้น อันนี้ให้พิจารณาให้ดีที่สุด มันจะพบธรรมะจริงๆ เมื่อมันถอนจากสิ่งเหล่านี้ทั้งหลายแล้ว มันจะสงบ การประชุมมีประโยชน์ พระองค์สอนว่าอย่าเชื่อความเห็นของเราให้มาก เราจะไปอยู่ตรงไหนกัน? อย่าไปเชื่อมั่นในความเห็นของผู้อื่นให้มาก อยู่ตรงนี้มันจะเกิดปัญญา เราจะอยู่ตรงไหนกัน? คือท่านไม่ให้ยึดมั่นตัวเอง และยึดมั่นในบุคคลอื่นเกินขอบเขต อยู่ตรงนี้มันจะเกิดปัญญา ดูซิ! ให้เอาไปภาวนา มีประโยชน์นั่น! ถ้าเราเชื่อมั่นตนเองมากที่สุดก็โง่เกินไป ในผู้อื่นก็เช่นกัน
ดึกๆดื่นๆขึ้นมาตีสองตีสาม เอาเวลาที่เพื่อนมันได้กำหนดดี วันหนึ่งคืนหนึ่ง ๒๔ ชั่วโมง จะเป็นเวลาทำความเพียรเสีย ๒๐ ชั่วโมง เป็นเวลาพักผ่อนเสีย ๔ ชั่วโมง นี่คือการกำหนดทำเพียรของเราอย่างดี แล้วแต่เราจะเอา จะเดิน นั่ง หรือจะใฝ่ธรรมะใส่ในจิตใจเจ้าของก็ดี อย่าให้ประมาท การทำเพียรนั้นไม่ใช่ให้มันขี้เกียจทำเพียรนะ...ไม่ใช่... คนขี้เกียจทำเพียรนี้ไม่บรรลุธรรมะ การทำเพียรนี้ไม่ขี้เกียจลักษณะจิตผู้ปฏิบัติกรรมฐานนี้นะครับมันจะขยันมากที่สุดกว่าคนธรรมดาเราถึงแม้ท่านไม่ได้เดินแต่ท่านก็รู้เรื่องจิตในเรื่องเดินของท่านอยู่มีสติสัมปชัญญะอยู่เต็มที่ของท่าน เมื่อมีกิจส่วนรวม ท่านก็ออกจากกิจส่วนตัวมารวมกิจทำวัตร แต่จิตของท่านมุ่งมั่นอยู่ตลอดเวลา ไม่มีเสียหายอะไรนัก เราผู้ประพฤติปฏิบัติใหม่ๆไม่ค่อยจะรู้เรื่อง จะเห็นนั่งหลับตาหรือเห็นเดินจงกรม จงเข้าใจว่าทำเพียรปฏิบัติคือทำเพียรทางจิต
พุทธศาสนาเป็นเรื่องของจิต เราจะทำกิจบางอย่างอยู่เราก็จะต้องปฏิบัติ เราเย็บผ้าเราก็ทำกรรมฐานไปด้วย แต่เราไม่รู้เรื่อง เย็บผ้าก็เย็บไป อยากให้แล้วเสร็จวันนี้ ไม่เปลืองเวลา ทั้งกลางวันกลางคืน ท่านอาจารย์เดินมาเห็นก็ถามว่า จะรีบไปไหนกันนี่? เย็บผ้าตอนกลางวันไม่รู้ว่าแดดมาส่องหัวตอนนั้น คืออยากจะให้มันเสร็จ แล้วจะไปทำอะไร? จะรีบไปไหน? เท่านี้ให้สติเรา เท่านี้เราก็รู้จักแล้ว เย็บผ้าก็ให้ภาวนา เย็บตรงนี้ให้ภาวนาตรงนี้ ไม่ให้รำคาญ ไม่ไปยึดหมายของมันทั้งหลายเหล่านี้จะยืนจะเดินก็ให้ภาวนาอยู่ในจิต เพราะเรื่องจิตเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เรานั่งอยู่เฉยก็ไม่รู้เรื่อง ว่าจิตมันไปปรุงแต่ง ไม่บังคับบัญชา นี่เรียกว่าเราไม่ฉลาดในการทำความเพียร ถึงจะทำไปเท่าไรมันก็ไม่ฉลาด จะต้องฉลาด การทำเพียรของเรา ไม่มีเวลาที่จะไม่ได้ทำเพียร คือตลอดเวลานั่นเอง
วันนี้ ตีระฆัง ออกจากสมาธิ เราก็คิดว่าเลิกแล้ว ความจริงจิตมุ่งมั่นอยู่ไม่ใช่ออก จิตของท่านปฏิบัติอยู่ไม่ออก เลิกไปจากนี่ไปกุฏิท่านก็ไม่ออก มีอยู่ในจิตของท่านเสมอ เราตีระฆังเม้ง หยุดแล้ว หาเรื่องอื่นมาคุยแทนเสีย เลยกลบเกลื่อนไปหมด เลยไม่มีเหลือ เป็นอารมณ์หมด เมื่อมาทำอีก ดึงจิตมันให้เข้ามามันไม่เข้ามา เพราะมันไปเล่นอารมณ์อยู่มากที่สุดแล้ว คือเราไม่รู้จักการทำความเพียรทางจิตการทำเพียรนี้ถึงเวลาฉันข้าวเวลาบิณฑบาตหรือทำการงานบางอย่างอยู่ท่านที่ทำแต่ว่าท่านไม่เสียจิต มันเป็นอกาลิโกรู้ไม่เลือกกาลเวลาครั้งแรกนี้ต้องทำเป็นกาลิโกต้องทำเป็นกาลเวลาทำไปขยันไปจนชำนาญจนเป็นอกาลิโกจะยืนเดินนั่งนอนมีสติสำรวมสังวรอยู่ตลอดเวลานั่นเรียกว่าทำเพียรทางจิต
เมื่อเรามีสติอยู่ตลอดเวลาแล้ว อะไรมันจะไม่รู้ มันต้องรู้ซิ! คล้ายๆลานกุฏิ เมื่อกวาดให้สะอาดเสีย เราก็อยู่ตรงนั้น อะไรมาตกตรงนั้นเราก็รู้ เพราะเราดูอยู่ เมื่อมีสติอยู่อะไรมากระทบเราก็ต้องรู้จัก มันจะคิดไปทางไหน พอรู้จักปุ๊บมันก็ยกขึ้นมาพิจารณาเห็นปัญญาเกิด ถึงแม้เราจะไม่ว่าง การกระทำเพียรนี้ไม่ว่าไม่ว่าง มันจะเกิดตรงที่ว่าง มันก็เหมือนกับที่ว่าอนิจจังมันไม่แน่เรื่องนิจจังความแน่มันก็เกิดขึ้นในอนิจจังนั้นเรื่องความว่างของจิตมันก็เกิดขึ้นขณะที่มันไม่ว่างมันจึงเห็นช่องว่างในที่มันไม่ว่าง
อนิจจัง ไม่เที่ยง ก็พิจารณาไปจนกว่าเห็นของเที่ยงอยู่ในสิ่งที่ว่ามันไม่เที่ยงก็ใช้ได้แล้ว มันจะต้องเป็นอย่างนี้ เรื่องของมันเป็นอย่างนี้ เมื่อหากว่าจิตเราไม่เป็นไปแล้วนะ เมื่อเราจะดับกายวายชนม์ตรงไหน เราก็ลืมตรงนั้น ถ้าจิตเราไม่เป็น ทำจิตให้มันเป็น ให้มันเห็นชัด จะไปอยู่ตรงไหนก็ให้มันชัด มันรู้มันตื่นอยู่อย่างนั้น มันจะไปตรงไหน มันทำของมันเรื่อยๆอยู่ตลอดเวลา เหมือนน้ำเราเอามาหยดดู ตุ๋มๆห่างๆ เราก็เร่งเทน้ำเร็วๆ มันก็หยดถี่เข้าไป เร่งไปอีก จนกว่าหยดน้ำติดกันจนเป็นสายน้ำสายน้ำเกิดขึ้นเพราะหยดน้ำถี่ขึ้นนั่นเอง
การประพฤติปฏิบัติ สติสัมปชัญญะ นี่ก็เหมือนกัน สติจำกาล คำพูดแม้นานได้ดูจิตก็เห็นสติดูสติก็เห็นจิต มันก็เป็นอันเดียวกันเลย จะเดิน ยืน นั่ง นอน จะไปไหนมันก็ไม่ลืม ไม่หลง มันมีสติอยู่แล้ว ทีนี้จะพูดว่าจนมันเป็นอัตโนมัติของมันขนาดนั้น มันจะเกิดปัญญาขึ้นมาดับทุกข์ ต้องรู้จัก ต้องมีสติ สตินี้จึงสำคัญมากศรัทธาวิริยะสติสมาธิปัญญาพลังทั้งห้ารวมกันเข้า
การปฏิบัตินี้มันต้องทำให้รู้เรื่อง ไม่คาดคะเนเอา ทำจนรู้เรื่องว่ามันเป็นจริงอย่างนั้นอย่างที่เรานั่ง นั่งไปก็ไม่สงบ เดี๋ยวคิดไปโน่นคิดไปนี่ เป็นทุกคน เพราะในระยะนั้นมันจะต้องเป็นลักษณะอย่างนั้น เราจะต้องเป็นคนที่ฉลาดในจิต ฉลาดในการสอนจิตของเรา ฉลาดฝึกจิตของตัวเอง ต้องอาศัยกาลเวลาพอสมควร ทั้งการได้ยิน ได้ฟัง แล้วเอาไปพิจารณา
อาศัยการเดินจงกรม นั่งสมาธิ เมื่อนั่งเมื่อย ก็เดินทำให้มาก เจริญให้มาก ในเรื่องเหล่านี้ จนกระทั่งว่าความเพียรของผู้ปฏิบัติไม่เคยเกียจคร้าน ขยันมากที่สุดถึงแม้นั่งอยู่เฉยๆท่านก็เดินจงกรมของท่านอยู่ เราเคยเห็นไหม? ฟังออกไหม? เราไม่รู้จักนั่งเราจึงเรียกว่านั่ง เห็นเดินจึงเรียกว่าเดิน ท่านเดินจงกรมโดยการนั่ง อย่างนี้ฟังไม่ออกถ้าเขามีนิสัยอยู่แล้ว ได้ทำอยู่ จะฟังได้ง่าย ไม่ได้เป็นของยากอะไรนัก อย่างความว่างมันก็อยู่ในความไม่ว่าง หรือความเที่ยงมันก็เกิดอยู่ในความไม่เที่ยงอย่างนี้ อันนี้มันเป็นของจริงแท้ แต่เราไม่ค่อยจะหวนกลับมันไปตรงนั้น ฉะนั้นเราจึงห่างพระสัจจธรรม
จิตนี้มันปรุงแต่งเป็นสังขารต่อไปเรื่องปรุงแต่งมันจะกลายเป็นปัญญาไปแทนตัวของมันแล้ว ครั้งแรกเราต้องไปจับสังขารเป็นตัวปัญญา มันปรุงแต่งสารพัดอย่าง ฉะนั้นมันจึงหลงใหลเราทำทำไปจนตัวสังขารนี้ทับตัวปัญญาปัญญานั้นไปแทนตัวสังขารก็เป็นปัญญา สังขารไม่มีอำนาจที่จะปรุงแต่ง มันเป็นไปทำนองนั้น ใหม่ๆนี้สังขารมันปรุงแต่งทั้งนั้น เราก็คิดว่ามันเป็นปัญญา เหมือนกับวิปัสสนา-วิปัสสนู คือแรงๆเหมือนกัน เหมือนสัมมาทิฏฐิกับมิจฉาทิฏฐิ มันแรงเท่ากัน ให้เราคิดดู มีอำนาจเหมือนกัน
ทำอะไรน้อยๆ ทำไมถึงว่าให้มันน้อยล่ะ? มันจะไม่ผิดหรือ? เพื่อการพอดีของคนเรา เอาน้อยขนาดไหน? มันก็อยากจะมาก กำลังตัณหานี่ ฉะนั้นมักน้อยไว้ดีกว่า เราพูดกับคนกิเลสมาก ก็ต้องพูดอย่างนี้
เคยพบความสงบที่มันบังเอิญขึ้นมา จับปุ๊บเลย ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น? ไม่มีเวลาจะทำเพียร คือตัณหามันตะครุบอยู่เรื่อยๆ ไปอยู่ทางเหนือ วันหนึ่งไปบิณฑบาตได้นิดเดียว ไม่มีอะไรมาก ก็เลยมาฉันข้าวกับเกลือ คืนนั้นภาวนาดี ทุกวันมีอาหารดี ภาวนาไม่ดี วันนั้นฉันข้าวกับเกลือไม่อิ่มกลับดี ทำไมมันดีล่ะ! มันมานั่งเท่าไรก็ไม่ง่วง สบาย เราก็เลยไปจับเอาตรงนั้น เราก็มาพิจารณาเรื่องฉันอาหารของเราถูกไม่ใช่อย่างนั้นเรานึกว่าฉันพอดีเพราะตัณหามันปิดบังไว้อะไรก็ยังไม่พอนั่งก็ง่วงตัวหนัก วันนั้นพอรู้เรื่องบังเอิญอย่างนี้ มันหลงไปในทางที่ถูกมันเสียอาหารน้อยวันนั้นพอตกบ่ายก็ว่างถึงตอนเย็นนั่งสมาธิพอขาขวาทับขาซ้ายมันเข้าพับของมันเลยเห็นไหมมันเบาร่างกาย
ทุกวันอาหารมันทับเสียเราไม่รู้เรื่องมัน เพราะอะไร เราไม่ได้สังเกต อันนี้เราจับได้เป็นเช่นนี้เอง ตั้งแต่นั้นมาก็ทำสมาธิถูกต้องดีกว่าเก่า ทั้งๆที่เราพยายามหาทางที่จะทำให้ดีขึ้นกว่าเก่า เพราะเราไม่รู้จักแก้ไข เมื่อจับหลักได้ก็ทำเรื่อยๆมา พอเรื่องของมันเป็นเองอย่างนั้น อ้อ! นี่เอง วันนั้นจะเป็นเทวดาหรือไร อย่างนั้นจึงหลงผิดมา
การภาวนา ให้ถือว่าทุกเวลา เมื่อเรามีสติอยู่ในอิริยาบถใดๆในเวลานั้นจึงเป็นโอกาสที่เราจะต้องภาวนา เป็นของมันเรื่อย ถ้าเป็นอย่างนั้นมันจึงจะต้านทานอะไรได้ เป็นวงกลมรอบอยู่ มันต้านทานอารมณ์ได้ ไม่รู้ว่าต้านทานอารมณ์ที่ไม่เข้าใจว่าไม่ให้มันมีอารมณ์ มีอารมณ์แต่มันชนะอารมณ์ ไม่ใช่ว่าอารมณ์มันหาย อารมณ์มันก็มีแต่มันชนะอารมณ์ อารมณ์มาถูกปุ๊บมันทำให้เกิดปัญญา เป็นเหตุให้พิจารณาทับเข้าไปเรื่อยๆ ดังนี้
มันสงบเพราะรู้จักอารมณ์ มันแก้ไขวางไปเรื่องสมถะนี้มันสงบเพราะอารมณ์มันหายไป ไม่พูดถึงการรู้จักอารมณ์ ว่าอารมณ์มันปราศไปเฉยๆ จิตมันสงบวิปัสสนานี้มันสงบเพราะรู้จักอารมณ์นั่งอยู่ก็รู้อารมณ์แต่ว่าอารมณ์มันเข้าไม่ถึง ปัญญามันชำระอยู่เสมอ การรู้รอบอยู่มันมี ฉะนั้นจึงมีความสงบด้วยวิธีหนึ่ง คือสงบด้วยวิปัสสนา รู้ตามความเป็นจริง รู้เท่านั้น เรียกว่าสงบถึงแก่นมัน เห็นชัดว่าเป็นอย่างนั้น ก็เลยปล่อยไปให้มันเป็นอย่างนั้น ไม่ต้องเข้าไปขัดขวาง มันเป็นอย่างนั้นก็ให้มันเป็นอย่างนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอย่างนั้น มองเห็นปัญญา รู้เท่าทันตามความเป็นจริงของมันอย่างนั้น
หลักของมัน เป็นอย่างนี้ เราอยากให้มันเป็นอย่างนั้น มันเป็นอย่างนั้น เราอยากจะให้เป็นอย่างนี้ มันจึงไม่สงบ เราจะเข้าไปหาตรงที่มันจบ มันจะจบอยู่ที่ตรงนั้น ที่มันไม่จบ เพราะการยึดมั่นถือมั่นของเรา ตัวอย่างเช่น พระ ก. กับ พระ ข. เห็นไก่ และ พระ ข. เรียกเป็ด จึงไม่ตรงกัน แต่ทั้งไก่และเป็ดมันไม่รู้ตัวของมันเองเลย จนทั้งสองได้ทะเลาะกัน ถ้าเรามาพิจารณาดูแล้ว ทั้งไก่และเป็ดมันเป็นเรื่องที่สมมุติกันทั้งนั้นถ้ามันเกินสมมุติมันไม่มีเป็ดไม่มีไก่ ถ้าความเห็นมันสูงขนาดนี้ พระ ก. กับ พระ ข. ก็จะไม่ทะเลาะกัน
ถ้าสมมุติ มันต่างกัน แต่ถ้าวิมุตติมันอันเดียวกันเสมอความสงบมีอยู่ตรงนั้นตรงที่เรียกว่ามันไม่มีอะไรแล้ว ไม่มีเป็ด ไม่มีไก่ ถ้ามีก็ทะเลาะ วิปัสสนาเกิดขึ้นก็ไปทำนองนั้น แล้วก็อย่าคิดมากๆ ฟังธรรมแล้ว รักษากาย วาจา ให้ห่างจากฆราวาส ค่อยๆทำไป อะไรที่เคยสงสัย มันจะหายตรงในที่การกระทำของเรา ไม่หายสงสัยเพราะไปดูหนังสือ หรือดูอะไร จะหายเมื่อทำ ความรู้ที่เรียกว่า พุทโธ จะเกิด คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน อาศัยกาลเวลา อย่าไปนัดมัน เราทำเรื่อยๆ แต่ทำยากสักหน่อย เรื่องจิตนี้รู้มันเลิศเขา เรื่องมันรู้มันก็เลิศเขาทั้งนั้น ไม่ใช่รู้อย่างอื่น มันรู้ที่นี่ ฯ
ที่มา : http://www.ajahnchah.org/
0 comments: