วันพุธที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

อ่านบาลีจากพระสูตร

อ่านบาลีจากพระสูตร

เพื่อถวายกำลังใจแก่พระสงฆ์

ผมเชื่อว่าพระสูตรที่จะนำมาเสนอต่อไปนี้ พระภิกษุสามเณรของเราส่วนมากยังไม่เคยได้อ่าน  ผลจากการอ่านพระไตรปิฎกบ่อยๆ ทำให้ไปเจอพระสูตรนี้เข้า  ในพระไตรปิฎกยังมีพระสูตรอีกมากมายที่น่าสนใจ แต่เราไม่ได้ศึกษา เพราะคิดว่ามีกิจอื่นที่จำเป็นกว่า

อันที่จริง การศึกษาพระธรรมวินัยพระไตรปิฎกท่านจัดเป็นกิจสำคัญอันดับต้นๆ ของผู้เข้ามาอยู่ในพระพุทธศาสนา

ขออนุญาตทำหน้าที่เสมือน “อ่านหนังสือให้คุณยายฟัง” นะครับ มีคำบาลียกประกอบไว้ด้วย อ่านไม่ถนัดก็ข้ามไป พออ่านได้ก็กัดฟันอ่านเอาหน่อย ทำความรู้สึกเหมือนกำลังอ่านหนังสือสวดมนต์เวลาที่ท่าน “สวดมนต์” ก็ดีนะครับ ถ้าสวดมนต์ได้บุญ อ่านบาลีจากพระสูตรก็ได้บุญเช่นกัน

อ่านแล้วช่วยกันถวายกำลังใจให้พระภิกษุสามเณรของเรามีอุตสาหะในการศึกษาบาลีไปให้ถึงพระไตรปิฎกโดยทั่วกัน

อ้อ! ผมจงใจเอามาเล่าไว้ไม่จบพระสูตร เพื่อที่ว่า-ท่านที่สนใจจะได้ลองไปหาอ่านต่อเอาเอง เป็นการฝึกการอ่านพระไตรปิฎกไปในตัวด้วย,   อนุโมทนาบุญกับทุกท่านครับ

อุปมาภิกษุกับท่อนไม้ลอยน้ำ

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ที่แห่งหนึ่งแทบฝั่งแม่น้ำคงคา ได้ทอดพระเนตรเห็นท่อนไม้ใหญ่ท่อนหนึ่งอันกระแสน้ำพัดลอยมาที่ริมฝั่ง จึงตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ท่อนไม้ใหญ่โน้นอันกระแสน้ำพัดลอยมาในแม่น้ำคงคา เธอทั้งหลายเห็นหรือไม่ ภิกษุทูลหลายกราบทูลว่า เห็นพระเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า -

ภิกษุทั้งหลาย ถ้าท่อนไม้จะไม่เข้ามาติดฝั่งนี้หรือฝั่งโน้น ไม่จมเสียในท่ามกลาง ไม่เกยบก ไม่ถูกมนุษย์หรืออมนุษย์จับเอาไว้ ไม่ถูกน้ำวนดูดไว้ ไม่ผุภายใน ด้วยประการดังกล่าวมานี้แลท่อนไม้นั้นจักลอยไหลเลื่อนไปสู่สมุทรได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเหตุว่ากระแสน้ำแห่งแม่น้ำคงคาย่อมไหลหลากเรื่อยไปสู่สมุทร ข้อนี้ฉันใด

เธอทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถ้าไม่แวะเข้าฝั่งข้างนี้หรือฝั่งข้างโน้น ไม่จมลงในท่ามกลาง ไม่เกยบก ไม่ถูกมนุษย์หรืออมนุษย์จับไว้ ไม่ถูกเกลียวน้ำวนดูดไว้ ไม่เป็นผู้เน่าใน ด้วยประการดังกล่าวมานี้ เธอทั้งหลายก็จักน้อมโน้มเอียงโอนไปสู่นิพพานได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเหตุว่าสัมมาทิฏฐิย่อมนำพวกเธอให้น้อมโน้มเอียงโอนไปสู่นิพพาน

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถามว่า 

กึ  นุ  โข  ภนฺเต  โอริมํ  ตีรํ     ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ฝั่งนี้ได้แก่อะไร

กึ  ปาริมํ  ตีรํ     ฝั่งโน้นได้แก่อะไร

โก  มชฺเฌ  สํสีทิโต   การจมลงในท่ามกลางได้แก่อะไร

โก  ถเล  อุสฺสาโท    การเกยบกได้แก่อะไร

โก  มนุสฺสคฺคาโห   ถูกมนุษย์จับไว้คืออะไร

โก  อมนุสฺสคฺคาโห    ถูกอมนุษย์จับไว้คืออะไร

โก  อาวฏฺฏคฺคาโห      เกลียวน้ำวนดูดไว้คืออะไร

โก  อนฺโตปูติภาโวติ ฯ     ความเป็นผู้เน่าในคืออะไร

โอริมํ  ตีรนฺติ  โข  ภิกฺขุ  ฉนฺเนตํ  อชฺฌตฺติกานํ  อายตนานํ  อธิวจนํ  ฯ    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ คำว่า “ฝั่งนี้” เป็นชื่อแห่งอายตนะภายใน ๖ 

ปาริมํ  ตีรนฺติ  โข  ภิกฺขุ  ฉนฺเนตํ  พาหิรานํ  อายตนานํ  อธิวจนํ  ฯ   คำว่า “ฝั่งโน้น” เป็นชื่อแห่งอายตนะภายนอก ๖ 

มชฺเฌ  สํสีทิโตติ  โข  ภิกฺขุ  นนฺทิราคสฺเสตํ  อธิวจนํ  ฯ   คำว่า “จมลงในท่ามกลาง” เป็นชื่อแห่งนันทิราคะ (ความติดใจในความเพลิดเพลิน)

ถเล  อุสฺสาโทติ  โข  ภิกฺขุ  อสฺมิมานสฺเสตํ  อธิวจนํ  ฯ   คำว่า “เกยบก” เป็นชื่อแห่งอัสมิมานะ (ความถือตัวว่าเรามีเราเป็น)

กตโม  จ  ภิกฺขุ  มนุสฺสคฺคาโห  ฯ   ดูก่อนภิกษุ ถูกมนุษย์จับไว้เป็นไฉน?

อิธ  ภิกฺขุ  คิหีหิ  สํสฏฺโฐ  วิหรติ  สหนนฺทิ  สหโสกี    ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้คลุกคลี เพลิดเพลิน โศกเศร้าอยู่กับพวกคฤหัสถ์ 

สุขิเตสุ  สุขิโต    เขาสุขก็สุขด้วย 

ทุกฺขิเตสุ  ทุกฺขิโต    เขาทุกข์ก็ทุกข์ด้วย

อุปฺปนฺเนสุ  กิจฺจกรณีเยสุ  อตฺตโน  โยคํ  อาปชฺชติ  ฯ    เขามีกิจกรณีย์เกิดขึ้น ก็เอาตัวเข้าร่วมไปกับเขาด้วย

อยํ  วุจฺจติ  ภิกฺขุ  มนุสฺสคฺคาโห  ฯ     ดูก่อนภิกษุ นี้เรียกว่าถูกมนุษย์จับไว้

กตโม  จ  ภิกฺขุ  อมนุสฺสคฺคาโห  ฯ     ดูก่อนภิกษุ ถูกอมนุษย์จับไว้เป็นไฉน?

อิธ  ภิกฺขุ  เอกจฺโจ    ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้

อญฺญตรํ  เทวนิกายํ  ปณิธาย  พฺรหฺมจริยํ  จรติ     ย่อมประพฤติพรหมจรรย์ด้วยปรารถนาเป็นเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่ง

อิมินาหํ  สีเลน  วา  วตฺเตน  วา  ตเปน  วา  พฺรหฺมจริเยน  วา   เทโว  วา  ภวิสฺสามิ  เทวญฺญตโร  วาติ  ฯ   (กล่าวคือตั้งใจว่า) ด้วยศีล ด้วยวัตร ด้วยตบะ หรือด้วยพรหมจรรย์นี้ เราจักได้เป็นเทวดาหรือเทพยเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง

อยํ  วุจฺจติ  ภิกฺขุ  อมนุสฺสคฺคาโห  ฯ   ดูก่อนภิกษุ นี้เรียกว่าถูกอมนุษย์จับไว้

อาวฏฺฏคฺคาโหติ  โข  ภิกฺขุ  ปญฺจนฺเนตํ  กามคุณานํ  อธิวจนํ  ฯ   ดูก่อนภิกษุ คำว่า “เกลียวน้ำวนดูดไว้” นี้ เป็นชื่อแห่งเบญจกามคุณ

กตโม  จ  ภิกฺขุ  อนฺโตปูติภาโว  ฯ   ดูก่อนภิกษุ ความเป็นผู้เน่าในเป็นไฉน?

อิธ  ภิกฺขุ  เอกจฺโจ     ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้

ทุสฺสีโล  โหติ     เป็นผู้ทุศีล 

ปาปธมฺโม      เลวทราม

อสุจิ    ไม่สะอาด

สงฺกสฺสรสมาจาโร     มีความประพฤติน่ารังเกียจ

ปฏิจฺฉนฺนกมฺมนฺโต    ปกปิดการกระทำไว้

อสฺสมโณ  สมณปฏิญฺโญ     ไม่เป็นสมณะก็แสดงตัวว่าเป็นสมณะ

อพฺรหฺมจารี  พฺรหฺมจารีปฏิญฺโญ     ไม่เป็นพรหมจารีก็แสดงตัวว่าเป็นพรหมจารี

อนฺโตปูติ     เป็นผู้เน่าใน

อวสฺสุโต      มีใจชุ่มด้วยกาม

กสมฺพุกชาโต  ฯ    เป็นดุจขยะมูลฝอย

อยํ  วุจฺจติ  ภิกฺขุ  อนฺโตปูติภาโวติ  ฯ   ดูก่อนภิกษุ นี้เรียกว่าความเป็นผู้เน่าใน

ความในพระสูตรยังดำเนินต่อไป ...

ที่มา: ปฐมทารุขันธสูตร สังยุตนิกาย สฬายตนวรรค,  พระไตรปิฎกเล่ม ๑๘ ข้อ ๓๒๒-๓๒๔

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย ,  ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ,  ๑๖:๔๖





Previous Post
Next Post

0 comments: