วันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2561

เกร็ดน่ารู้ว่าด้วยเรื่องพระเจ้าอโศกมหาราชทรงจับสึกพระอลัชชี และเริ่มปฏิรูปเผยแผ่พระพุทธศาสนา

เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชทรงกวาดล้าง จับสึกพระอลัชชี ทรงให้มีการสังคยานาพระไตรปิฏกครั้งที่ 3 และเริ่มปฏิรูปเผยแผ่พระพุทธศาสนา

ครั้งหนึ่งในอดีต “พระเจ้าอโศกมหาราช” ทรงร่วมปฏิรูปพระศาสนา จับสึกพระอลัชชีผู้ตกอยู่ใต้อำนาจกิเลส สั่งสมของมัวเมาในลาภสักการะ เหลวไหลในเกียรติ เห่อเหิมและเพลิดเพลินในโลกียวัตถุ จากนั้นทรงเป็นศาสนูปถัมภกในการสังคยานา และส่งสมณฑูตประกาศพระพุทธศาสนา

เมื่อเกิดเหตุการณ์นักบวชนอกศาสนามาปลอมบวช เพื่อหวังลาภสักการะและบิดเบือนคำสอนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระเจ้าอโศกมหาราช (AShoka the great) แห่งราชวงศ์ โมริยะ กษัตริย์ผู้ปกครองดินแดนอินเดีย (พ.ศ.276 – พ.ศ.312) พระองค์ ทรงมีพระทัยเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ได้ทรงทำนุบำรุงพุทธศาสนา เช่นทรงสร้างวัด วิหาร พระสถูป พระเจดีย์ และหลักศิลาจารึกเป็นต้น ได้บำรุง พระภิกษุสงฆ์ด้วยปัจจัย 4 คือ อาหาร ที่อยู่ อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค การที่พระองค์ทรงบำรุงพระภิกษุสงฆ์เช่นนี้ ก็เพื่อจะได้พระภิกษุในพุทธศาสนาได้รับความสะดวก มีโอกาสบำเพ็ญสมณธรรมได้เต็มที่ ไม่ต้องกังวลในการแสวงหาปัจจัย 4 แทนที่จะเป็นเช่นนั้น

แต่กลับปรากฏว่ามีพวกนักบวชนอกศาสนาเป็นจำนวนมาก ปลอมบวชในพุทธศาสนา เพราะเห็นแก่ลาภสักการะ เมื่อบวชแล้วก็คงสั่งสอนลัทธิศาสนาเก่าของตน โดยอ้างว่าเป็นคำสอนของพุทธศาสนา แสดงลัทธิธรรมให้ผิดคลองพระพุทธบัญญัติกระทำให้สังฆมณฑลยุ่งเหยิง แตกสามัคคีด้วยสัทธรรมปฏิรูป

ข้อนี้ทำให้พระโมคคัลลีบุตรติสสะเถระ (คนละรูปกับพระมหาโมคคัลลานะเถระในพุทธกาล) ซึ่งเป็นผู้ที่มีความแตกฉานในพระไตรปิฎก เกิดความระอาใจต่อการประพฤติปฏิบัติของเหล่าพระภิกษุอลัชชีที่ปลอมบวชทั้งหลาย จึงได้ปลีกตัวไปอยู่ที่ ถ้ำอุโธตังคบรรพต เจริญวิเวกสมาบัติอยู่ที่นั้นอย่างเงียบๆ เป็นเวลา 7 ปี และมอบภารกิจคณะสงฆ์ให้พระมหินทเถระดูแลแทน

เมื่อจำนวนพระอลัชชีมีมากกว่าพระภิกษุแท้ ๆ จนพระภิกษุผู้บริสุทธิ์ งดทำอุโบสถสังฆกรรมร่วม ถึง 7 ปี

ในสมัยนั้นจำนวนของพระอลัชชี มีมากกว่าพระภิกษุแท้ ๆ จึงทำให้ต้องหยุดการทำอุโบสถสังฆกรรมถึง 7 ปี เพราะเหตุที่พระสงฆ์ ผู้มีศีลบริสุทธิ์ไม่ยอมร่วมกับพระอลัชชีเหล่านั้น

จึงทำให้พระเจ้าอโศกมหาราชไม่สบายพระหฤทัยในการแตกแยกของพระสงฆ์ ทรงปวารณาจะให้พระสงฆ์เหล่านั้นสามัคคีกัน จึงได้ตรัสสั่งให้อำมาตย์หาทางสามัคคี ฝ่ายอำมาตย์ฟังพระดำรัสไม่แจ้งชัด สำคัญผิดในหน้าที่ จึงได้ทำความผิดอันร้ายแรง คือ ได้บังคับให้พระภิกษุบริสุทธิ์ทำอุโบสถร่วมกับพระอลัชชี พระภิกษุผู้บริสุทธิ์ต่างปฏิเสธที่จะร่วมอุโบสถสังฆกรรม อำมาตย์จึงตัดศีรษะเสียหลายองค์

เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชทราบข่าวนี้ ทรงตกพระทัยยิ่งจึงเสด็จไปขอขมาโทษต่อพระภิกษุที่อาราม และได้ตรัสถามสงฆ์ว่า การที่อำมาตย์ได้ทำความผิดเช่นนี้ ความผิดจะตกมาถึงพระองค์หรือไม่ พระสงฆ์ถวายคำตอบไม่ตรงกัน บ้างก็ว่า ความผิดจะตกมาถึงพระองค์ด้วยเพราะอำมาตย์ทำตามคำสั่ง แต่บางองค์ก็ตอบว่าไม่ถึงเพราะไม่มีเจตนา

คำวิสัชนาที่ขัดแย้งกันเช่นนี้ทำให้พระเจ้าอโศกมหาราชกระวนกระวายพระทัยยิ่งนัก ทรงปรารถนาที่จะให้พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ผู้มีความสามารถและแตกฉานในพระธรรมวินัยถวายคำวิสัชนาอย่างแจ่มแจ้ง จึงได้ตรัสถามถึง พระภิกษุเหล่านั้นก็ได้ตรัสตอบว่า มีแต่พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระรูปเดียวเท่านั้นที่อาจแก้ความสงสัยได้

พระเจ้าอโศกมหาราช จึงได้ส่งสาส์นไปอาราธนาพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ให้ท่านเดินทางมายังเมืองปาฏลีบุตร แต่ไม่สำเร็จ เพราะพระเถระไม่ยอมเดินทางมาตามคำอาราธนา พระเจ้าอโศกมหาราชก็ทรงไม่หมดความพยายาม จึงได้รับสั่งให้พนักงานออกเดินทางโดยทางเรือรบท่านตามคำแนะนำของพระติสสะเถระ ผู้เป็นพระอาจารย์ของโมคคัลลีบุตรติสสะเถระ

ในที่สุดพระเถระก็ยอมมาและในวันที่ท่านเดินทางมาถึงนั้น พระเจ้าอโศกมหาราชได้เสด็จไปรับพระเถระด้วยพระองค์เอง ได้เสด็จลุยน้ำไปถึงพระชานุ แล้วยื่นพระกรให้พระเถระจับและตรัสว่า

"ขอพระคุณท่านจงสงเคราะห์ข้าพเจ้าเถิด"

แล้วได้นำท่านไปสู่อุทยาน ได้ทรงแสดงความเคารพพระเถระอย่างสูง และได้ตรัสถามพระเถระว่า การที่อำมาตย์ได้ตัดศีรษะพระภิกษุนั้นจะเป็นบาปกรรมตกถึงตนหรือไม่ พระเถระได้ตอบว่า

“มหาบพิตร จะเป็นเป็นบาปได้ก็ต่อเมื่อพระองค์มีเจตนาที่จะฆ่าเท่านั้น”

คำวิสัชนาของพระเถระนั้น ทำให้พระองค์ทรงพอพระทัยมาก

พระอลัชชีมัวเมาในลาภสักการะ แม้แต่พระภิกษุก็ยังตกภายใต้อำนาจ

ฝ่ายพระอลัชชีผู้ปลอมบวชในพุทธศาสนานั้นก็ยังพยายามที่จะประกอบมิจฉาชีพอยู่ต่อไป พระเหล่านั้นได้มัวเมาหลงใหลในลาภสักการะไม่พอใจในการปฏิบัติธรรม อาศัยผ้าเหลืองเลี้ยงชีพ ประพฤติผิดธรรมวินัยไม่สำรวมระวังในสีลาจารวัตร เที่ยวอวดอ้างคุณสมบัติโดยอาการต่าง ๆ เพื่อหลอกลวงประชาชนให้หลงเชื่อ เพื่อหาลาภสักการะเข้าตัว เพราะเหตุนี้จึงทำให้พระสัทธรรมอันบริสุทธิ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องพลอยด่างพร้อยไปด้วย ความอลเวงได้เกิดขึ้นในวงการของพุทธศาสนาทั่วไปลาภสักการะมีอำนาจเหนือ อุดมคติของผู้เห็นแก่ได้

แม้กระทั่งผู้ทรงเพศเป็นพระภิกษุห่มเหลืองก็ยังตกอยู่ภายใต้อำนาจของมัน ที่จริงผู้มีลาภคือผู้มีบุญ แต่มัวเมาในลาภคือสั่งสมบาป การที่พระได้ของมามาก ๆ จากประชาชนที่เขาบริจาคด้วยศรัทธานั้น นับว่าเป็นการดีไม่มีผิด แต่การที่พระสั่งสมของมัวเมาในลาภ เหลวไหลในเกียรติ เห่อเหิมและเพลิดเพลินในโลกียวัตถุ จนลืมหน้าที่ของตนนั้นนับว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง

เริ่มกระบวนการกวาดล้างพระอลัชชี เพื่อทำพระพุทธศาสนาให้บริสุทธิ์

พ.ศ.287 พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ได้ถวายเทศนาแก่พระเจ้าอโศกมหาราช จนพระองค์ทรงมีความเลื่อมใส และซาบซึ้งในหลักธรรมอันบริสุทธิ์ของพระพุทธองค์ ได้ประทับอยู่ที่อุทยานนับเป็นเวลา 7 วัน เพื่อชำระพระศาสนาให้บริสุทธิ์จากเดียรถีย์ที่เข้ามาปลอมบวช ในวันที่ 7 พระองค์ได้ประกาศบอกนัดให้พระภิกษุที่อยู่ในชมพูทวีปทั้งสิ้นให้มาประชุมที่อโศการามเพื่อชำระความบริสุทธิ์ของตน ภายใน 7 วัน พระองค์ประทับนั่งภายในม่านกับท่านโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ได้สั่งให้ภิกษุผู้สังกัดอยู่ในนิกายนั้น ๆ นั่งรวมกันเป็นนิกาย ๆ แล้วตรัสถามให้พระภิกษุเหล่านั้นอธิบายคำสอนของพระพุทธองค์ ซึ่งพระสงฆ์เหล่านั้นได้อธิบายผิดไปตามลัทธิของตน ๆ พระเจ้าอโศกมหาราชจึงได้ตรัสให้สึกพระอลัชชีเหล่านั้นทั้งหมด ซึ่งเป็นจำนวน 60,000 รูป

ครั้นกำจัดพระภิกษุพวกอลัชชีให้หมดไปจากพุทธศาสนาแล้ว พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ จึงได้จัดให้มีการทำสังคายนาครั้งที่ 3 ขึ้น ณ อโศการาม เมืองปาฏลีบุตร โดยได้รับราชูปถัมภ์จากพระเจ้าอโศกมหาราชอย่างเต็มที่

การสังคายนาพระไตรปิฏก ครั้งที่ 3 และเผยแผ่พระพุทธศาสนา ผ่านคณะสมณทูต

หลังจากที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเสด็จดับขันธปรินิพพานไปได้ประมาณ 236 ปีเศษ คณะสงฆ์ได้ทําการสังคายนาครั้งที่ 3

เมื่อทําสังคายนาเสร็จแล้ว พระเจ้าอโศกมหาราชได้ส่งคณะสมณทูตไปเผยแผ่ พระพุทธศาสนาในแคว้นและประเทศต่างๆ รวมทั้งหมดมี 9 สาย มีรายนามตามคัมภีร์ที่บันทึก เป็นภาษาบาลี ดังต่อไปนี้

1. คณะพระมัชฌันติกเถระ ไปแคว้นแคชเมียร์และคันธาระ ซึ่งอยู่ทางทิศ ตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ได้แก่ แคว้นแคชเมียร์ในปัจจุบัน

2. คณะพระมหาเทวเถระ ไปมหิสสกมณฑลอยู่ทางตอนใต้ของดินแดน แถบลุ่มแม่น้ําโคธาวารี ทางภาคใต้ของอินเดีย ได้แก่ แคว้นไมซอร์ในปัจจุบัน

3. คณะพระรักขิตเถระ ไปวนวาสีประเทศ ซึ่งอยู่ในเขตกนราเหนือ ทาง ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดีย แคว้นบอมเบย์ ในปัจจุบัน

4. คณะพระธัมมรักขิตเถระ ซึ่งท่านเป็นชนชาติกรีก ไปปรันตชนบท อยู่ ริมฝั่งทะเลอาระเบียน ทางทิศเหนือของบอมเบย์

5. คณะพระมหาธัมมรักขิตเถระ ไปแคว้นมหาราษฎร์ปัจจุบันเป็นดินแดน แถบตะวันออกเฉียงเหนือ ห่างจากเมืองบอมเบย์

6. คณะพระมหารักขิตเถระ ไปโยนกประเทศ ได้แก่ แคว้นของชาวกรีก ในทวีปเอเซียตอนกลาง เหนือประเทศอิหร่านต่อขึ้นไปจนถึงเตอร์กีสถาน

7. คณะพระมัชฌิมเถระและพระมหาเถระอีก 4 รูป คือ พระกัสสปโคตตะ พระมูลกเทวะ พระทุนทภิสสระ และพระเทวะ ไปแคว้นดินแดนแถบภูเขาหิมาลัย ได้แก่ เนปาล ซึ่งอยู่ตอนเหนือของอินเดีย

8. คณะพระโสณเถระ และพระอุตตรเถระ ไปสุวรรณภูมิ ได้แก่ ไทยพม่า ในปัจจุบัน

9. คณะพระมหินทเถระผู้เป็นโอรสของพระเจ้าอโศกมหาราช ได้นํา พระพุทธศาสนาไปประดิษฐานที่เกาะสิงหล หรือประเทศศรีลังกาเป็นครั้งแรก

ขอขอบคุณที่มา:  Trueplookpanya


วันจันทร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2561

"ฝึกหัดเปลี่ยนนิสัย" โดย หลวงปู่ชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี

การตามดูใจของตัวเองนี่ น่าสนใจมาก ใจที่ยังไม่ได้ฝึก มันก็คอยวิ่งไปตามนิสัยเคยชินที่ยังไม่ได้ฝึก ไม่ได้อบรม มันเต้นคึกคักไปตามเรื่องตามราว ตามความคะนอง เพราะมันยังไม่เคยถูกฝึก ดังนั้นจงฝึกใจของตัวเอง การปฏิบัติภาวนาในทางพุทธศาสนาก็คือการปฏิบัติเรื่องใจ ฝึกจิตฝึกใจของตัว ฝึกอบรมจิตของตัวเองนี่แหละเรื่องนี้สำคัญมาก การฝึกใจเป็นหลักสำคัญ พุทธศาสนาเป็นศาสนาของใจ มันมีเท่านี้ ผู้ที่ฝึกปฏิบัติทางจิต คือผู้ปฏิบัติธรรมในทางพุทธศาสนา

*การฝึกใจ

ใจของเรานี่มันอยู่ในกรง ยิ่งกว่านั้นมันยังมีเสือที่กำลังอาละวาดอยู่ในกรงนั้นด้วย ใจที่มันเอาแต่ใจของเรานี้ ถ้าหากมันไม่ได้อะไรตามที่มันต้องการแล้ว มันก็อาละวาด เราจะต้องอบรมใจด้วยการปฏิบัติภาวนา ด้วยสมาธิ นี้แหละที่เราเรียกว่า "การฝึกใจ"

*พื้นฐานของการปฏิบัติธรรม

ในเบื้องต้นของการฝึกปฏิบัติธรรม จะต้องมีศีลเป็นพื้นฐานหรือรากฐาน ศีลนี้เป็นสิ่งอบรมกาย วาจา ซึ่งบางทีก็จะเกิดการวุ่นวายขึ้นในใจเหมือนกัน เมื่อเราพยายามจะบังคับใจไม่ให้ทำตามความอยาก

กินน้อย นอนน้อย พูดน้อย นิสัยความเคยชินอย่างโลกๆ ลดมันลง อย่ายอมตามความอยาก อย่ายอมตามความติดของตน หยุดเป็นทาสมันเสีย พยายามต่อสู้เอาชนะอวิชชาให้ได้ด้วยการบังคับตัวเองเสมอ นี้เรียกว่าศีล

เมื่อพยายามบังคับจิตของตัวเองนั้น จิตมันก็จะดิ้นรนต่อสู้มันจะรู้สึกถูกจำกัด ถูกข่มขี่ เมื่อมันไม่ได้ทำตามที่มันอยาก มันก็จะกระวนกระวายดิ้นรน ทีนี้เห็นทุกข์ชัดละ

*เห็นทุกข์ทำให้เกิดปัญญา

"ทุกข์" เป็นข้อแรกของอริยสัจจ์ คนทั้งหลายพากันเกลียดกลัวทุกข์ อยากหนีทุกข์ ไม่อยากให้มีทุกข์เลย ความจริง ทุกข์นี่แหละจะทำให้เราฉลาดขึ้นล่ะ ทำให้เกิดปัญญา ทำให้เรารู้จักพิจารณาทุกข์ สุขนั่นสิมันจะปิดหูปิดตาเรา มันจะทำให้ไม่รู้จักอด ไม่รู้จักทน ความสุขสบายทั้งหลายจะทำให้เราประมาท

กิเลสสองตัวนี้ทุกข์เห็นได้ง่าย ดังนั้นเราจึงต้องเอาทุกข์นี่แหละมาพิจารณา แล้วพยายามทำความดับทุกข์ให้ได้ แต่ก่อนจะปฏิบัติภาวนาก็ต้องรู้จักเสียก่อนว่าทุกข์คืออะไร

ตอนแรกเราจะต้องฝึกใจของเราอย่างนี้ เราอาจยังไม่เข้าใจว่ามันเป็นอย่างไร ทำไป ทำไปก่อน ฉะนั้นเมื่อครูอาจารย์บอกให้ทำอย่างใดก็ทำตามไปก่อน แล้วก็จะค่อยมีความอดทนอดกลั้นขึ้นเองไม่ว่าจะเป็นอย่างไรให้อดทนอดกลั้นไว้ก่อน เพราะมันเป็นอย่างนั้นเองอย่างเช่นเมื่อเริ่มฝึกนั่งสมาธิ เราก็ต้องการความสงบทีเดียวแต่ก็จะไม่ได้ความสงบ เพราะมันยังไม่เคยทำสมาธิมาก่อน ใจก็บอกว่า"จะนั่งอย่างนี้แหละจนกว่าจะได้ความสงบ"

*อย่าทอดทิ้งจิต

แต่พอความสงบไม่เกิดก็เป็นทุกข์ ก็เลยลุกขึ้น วิ่งหนีเลย การปฏิบัติอย่างนี้ไม่เป็น "การพัฒนาจิต" แต่มันเป็นการ "ทอดทิ้งจิต"ไม่ควรจะปล่อยใจไปตามอารมณ์ ควรที่จะฝึกฝนอบรมตนเองตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ขี้เกียจก็ช่าง ขยันก็ช่าง ให้ปฏิบัติมันไปเรื่อยๆ ลองคิดดูซิ ทำอย่างนี้จะไม่ดีกว่าหรือ การปล่อยใจตามอารมณ์นั้นจะไม่มีวันถึงธรรมของพระพุทธเจ้า

เมื่อเราปฏิบัติธรรม ไม่ว่าอารมณ์ใดจะเกิดขึ้นก็ช่างมัน แต่ให้ปฏิบัติไปเรื่อยๆ ปฏิบัติให้สม่ำเสมอ การตามใจตัวเองไม่ใช่แนวทางของพระพุทธเจ้า ถ้าเราปฏิบัติธรรมตามความคิดความเห็นของเรา เราจะไม่มีวันรู้แจ้งว่าอันใดผิด อันใดถูก จะไม่มีวันรู้จักใจของตัวเองและไม่มีวันรู้จักตัวเอง ดังนั้นถ้าปฏิบัติธรรมตามแนวทางของตนเองแล้วย่อมเป็นการเสียเวลามากที่สุด แต่การปฏิบัติตามแนวทางของพระพุทธเจ้าแล้วย่อมเป็นหนทางตรงที่สุด

*การพัฒนาจิต

ขอให้จำไว้ว่า ถึงจะขี้เกียจก็ให้พยายามปฏิบัติไป ขยันก็ให้ปฏิบัติไป ทุกเวลาและทุกหนทุกแห่ง นี่จึงจะเรียกว่า "การพัฒนาจิต" ถ้าหากปฏิบัติตามความคิดความเห็นของตนเองแล้ว ก็จะเกิดความคิดความสงสัยไปมากมาย มันจะพาให้คิดไปว่า "เราไม่มีบุญ เราไม่มีวาสนาปฏิบัติธรรมก็นานนักหนาแล้ว ยังไม่รู้ ยังไม่เห็นธรรมเลยสักที" การปฏิบัติธรรมอย่างนี้ไม่เรียกว่าเป็น "การพัฒนาจิต" แต่เป็น "การพัฒนาความหายนะของจิต"

ถ้าเมื่อใดที่ปฏิบัติธรรมไปแล้ว มีความรู้สึกอย่างนี้ว่ายังไม่รู้อะไร ยังไม่เห็นอะไร ยังไม่มีอะไรใหม่ๆเกิดขึ้นบ้างเลย นี่ก็เพราะที่ปฏิบัติมามันผิด ไม่ได้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

*สิ้นสงสัยด้วยการปฏิบัติที่ถูกต้อง

พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า "อานนท์ ปฏิบัติให้มาก ทำให้มากแล้วจะสิ้นสงสัย" ความสงสัยจะไม่มีวันสิ้นไปได้ ด้วยการคิด ด้วยทฤษฎี ด้วยการคาดคะเน หรือด้วยการถกเถียงกัน หรือจะอยู่เฉยๆไม่ปฏิบัติภาวนาเลย ความสงสัยก็หายไปไม่ได้อีกเหมือนกัน กิเลสจะหายสิ้นไปได้ก็ด้วยการพัฒนาทางจิต ซึ่งจะเกิดได้ก็ด้วยการปฏิบัติที่ถูกต้องเท่านั้น

การปฏิบัติทางจิตที่พระพุทธเจ้าทรงสอนนั้น ตรงกันข้ามกับหนทางของโลกอย่างสิ้นเชิง คำสั่งสอนของพระองค์มาจากพระทัยอันบริสุทธิ์ ที่ไม่ข้องเกี่ยวกับกิเลสอาสวะทั้งหลาย นี่คือแนวทางของพระพุทธเจ้าและสาวกของพระองค์

เมื่อเราปฏิบัติธรรม เราต้องทำใจของเราให้เป็นธรรม ไม่ใช่เอาธรรมะมาตามใจเรา ถ้าปฏิบัติอย่างนี้ ทุกข์ก็จะเกิดขึ้น แต่ไม่มีใครสักคนหรอกที่จะพ้นจากทุกข์ไปได้ พอเริ่มปฏิบัติ ทุกข์ก็อยู่ตรงนั้นแล้ว หน้าที่ของผู้ปฏิบัตินั้นจะต้องมีสติ สำรวม และสันโดษ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราหยุด คือเลิกนิสัยความเคยชินที่เคยทำมาแต่เก่าก่อนทำไมถึงต้องทำอย่างนี้ ถ้าไม่ทำอย่างนี้ ไม่ฝึกฝนอบรมใจตนเองแล้วมันก็จะคึกคะนอง วุ่นวายไปตามธรรมชาติของมัน

*ธรรมชาติของจิตฝึกได้เสมอ

ธรรมชาติของใจนี้มันฝึกกันได้ เอามาใช้ประโยชน์ได้ เปรียบได้กับต้นไม้ในป่า ถ้าเราปล่อยทิ้งไว้ตามธรรมชาติของมัน เราก็จะเอามันมาสร้างบ้านไม่ได้ จะเอามาทำแผ่นกระดานก็ไม่ได้ หรือทำอะไรอย่างอื่นที่จะใช้สร้างบ้านก็ไม่ได้ แต่ถ้าช่างไม้ผ่านมาต้องการไม้ไปสร้างบ้าน เขาก็จะมองหาต้นไม้ในป่านี้และตัดต้นไม้ในป่านี้เอาไปใช้ประโยชน์ ไม่ช้าเขาก็สร้างบ้านเสร็จเรียบร้อย

การปฏิบัติภาวนาและการพัฒนาจิตก็คล้ายกันอย่างนี้ ก็ต้องเอาใจที่ยังไม่ได้ฝึกเหมือนไม้ในป่านี่แหละ มาฝึกมัน จนมันละเอียดประณีตขึ้น รู้ขึ้น และว่องไวขึ้น ทุกอย่างมันเป็นไปตามภาวะธรรมชาติของมัน เมื่อเรารู้จักธรรมชาติ เข้าใจธรรมชาติ เราก็เปลี่ยนมันได้ ทิ้งมันก็ได้ ปล่อยมันไปก็ได้ แล้วเราก็จะไม่ทุกข์อีกต่อไป

*จิตยึดมั่นมันก็สับสนวุ่นวาย

ธรรมชาติของใจเรามันก็อย่างนั้น เมื่อใดที่เกาะเกี่ยวผูกพันยึดมั่นถือมั่นก็จะเกิดความวุ่นวายสับสน เดี๋ยวมันก็จะวิ่งวุ่นไปโน่นไปนี่พอมันวุ่นว่ายสับสนมากๆเข้า เราก็คิดว่าคงจะฝึกอบรมมันไม่ได้แล้วแล้วก็เป็นทุกข์ นี่ก็เพราะไม่เข้าใจว่ามันต้องเป็นของมันอย่างนั้นเองความคิด ความรู้สึก มันจะวิ่งไปวิ่งมาอยู่อย่างนี้ แม้เราจะพยายามฝึกปฏิบัติ พยายามให้มันสงบ มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น มันจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ เมื่อเราติดตามพิจารณาดูธรรมชาติของใจอยู่บ่อยๆก็จะค่อยๆเข้าใจว่าธรรมชาติของใจมันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น มันจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้

*ปล่อยวางได้จิตใจก็สงบ

ถ้าเราเห็นอันนี้ชัด เราก็จะทิ้งความคิดความรู้สึกอย่างนั้นได้ ทีนี้ก็ไม่ต้องคิดนั่นคิดนี่อีก คอยแต่บอกตัวเองไว้อย่างเดียวว่า "มันเป็นของมันอย่างนั้นเอง" พอเข้าใจได้ชัด เห็นแจ้งอย่างนี้แล้ว ทีนี้ก็จะปล่อยอะไรๆได้ทั้งหมด ก็ไม่ใช่ว่าความคิดความรู้สึกมันจะหายไป มันก็ยังอยู่นั่นแหละ แต่มันหมดอำนาจเสียแล้ว

เปรียบก็เหมือนกับเด็กที่ชอบซน เล่นสนุก ทำให้รำคาญ จนเราต้องดุเอา ตีเอา แต่เราก็ต้องเข้าใจว่าธรรมชาติของเด็กก็เป็นอย่างนั้นเอง พอรู้อย่างนี้ เราก็ปล่อยให้เด็กเล่นไปตามเรื่องของเขาความเดือดร้อนรำคาญของเราก็หมดไป มันหมดไปได้อย่างไร ก็เพราะเรายอมรับธรรมชาติของเด็ก ความรู้สึกของเราเปลี่ยน และเรายอมรับธรรมชาติของสิ่งทั้งหลาย เราปล่อยวาง จิตของเราก็มีความสงบเยือกเย็น นี่เรามีความเข้าใจอันถูกต้องแล้ว เป็นสัมมาทิฏฐิ

ถ้ายังไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ยังเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่ แม้จะไปอยู่ในถ้ำลึกมืดสักเท่าใด ใจมันก็ยังยุ่งเหยิงอยู่ ใจจะสงบได้ก็ด้วยความเห็นที่ถูกต้อง เป็นสัมมาทิฏฐิเท่านั้น ทีนี้ก็หมดปัญหาจะต้องแก้เพราะไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น นี่มันเป็นอย่างนี้ เราไม่ชอบมัน เราปล่อยวางมัน เมื่อใดที่มีความรู้สึกเกาะเกี่ยวยึดมั่นถือมั่นเกิดขึ้น เราปล่อยวางทันที เพราะรู้แล้วว่าความรู้สึกอย่างนั้นมันไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อจะกวนเรา แม้บางทีเราอาจจะคิดอย่างนั้น แต่ความเป็นจริงความรู้สึกนั้นเป็นของมันอย่างนั้นเอง

ถ้าเราปล่อยวางมันเสีย รูปก็เป็นสักแต่ว่ารูป เสียงก็สักแต่ว่าเสียง กลิ่นก็สักแต่ว่ากลิ่น รสก็สักแต่ว่ารส โผฏฐัพพะก็สักแต่ว่าโผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ก็สักแต่ว่าธรรมารมณ์ เปรียบเหมือนน้ำมันกับน้ำท่า ถ้าเราเอาทั้งสองอย่างนี้เทใส่ขวดเดียวกัน มันก็ไม่ปนกัน เพราะธรรมชาติมันต่างกัน เหมือนกับที่คนฉลาดก็ต่างกับคนโง่ พระพุทธเจ้าก็ทรงอยู่กับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ แต่พระองค์ทรงเป็นพระอรหันต์ พระองค์จึงทรงเห็นสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงสิ่ง "สักว่า" เท่านั้น

*ใจก็สักว่าใจ ความคิดก็สักว่าความคิด

พระองค์ทรงปล่อยวางมันไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ทรงเข้าพระทัยแล้วว่า ใจก็สักว่าใจ ความคิดก็สักว่าความคิด พระองค์ไม่ทรงเอามันมาปนกัน ใจก็สักว่าใจ ความคิดความรู้สึกก็สักว่าความคิด ความรู้สึกปล่อยให้มันป็นเพียงสิ่ง "สักว่า" รูปก็สักว่ารูป เสียงก็สักว่าเสียงความคิดก็สักว่าความคิด จะต้องไปยึดมั่นถือมั่นทำไม ถ้าคิดได้รู้สึกได้อย่างนี้เราก็จะแยกกันได้ ความคิดความรู้สึก (อารมณ์) อยู่ทางหนึ่งใจก็อยู่อีกทางหนึ่ง เหมือนกับน้ำมันกับน้ำท่า อยู่ในขวดเดียวกันแต่มันแยกกันอยู่

พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกของพระองค์ ก็อยู่ร่วมกับปุถุชนคนธรรมดาที่ไม่ได้รู้ธรรม ท่านไม่ได้เพียงอยู่ร่วมเท่านั้น แต่ท่านยังสอนคนเหล่านั้น ทั้งคนฉลาด คนโง่ ให้รู้จักวิธีที่จะศึกษาธรรมปฏิบัติธรรมและรู้แจ้งในธรรม ท่านสอนได้เพราะท่านได้ปฏิบัติมาเองท่านรู้ว่ามันเป็นเรื่องของใจเท่านั้น เหมือนอย่างที่ได้พูดมานี่แหละ

ดังนั้นการปฏิบัติภาวนานี้อย่าไปสงสัยมันเลย เราหนีจากบ้านมาบวช ไม่ใช่เพื่อหนีมาอยู่กับความหลงหรืออยู่กับความขลาดความกลัว แต่หนีมาเพื่อฝึกอบรมตัวเอง เพื่อเป็นนายตัวเอง ชนะตัวเองถ้าเราเข้าใจได้อย่างนี้ เราก็จะปฏิบัติธรรมได้ ธรรมะจะแจ่มชัดขึ้นในใจของเรา

*ธรรมะมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง

ผู้ที่เข้าใจธรรมะก็เข้าใจตัวเอง ใครเข้าใจตัวเองก็เข้าใจธรรมะทุกวันนี้ก็เหลือแต่เปลือกของธรรมะเท่านั้น ความเป็นจริงแล้วธรรมะมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ไม่จำเป็นที่จะต้องหนีไปไหน ถ้าจะหนีก็ให้หนีด้วยความฉลาด ด้วยปัญญา หนีด้วยความชำนิชำนาญ อย่าหนีด้วยความโง่ ถ้าเราต้องการความสงบก็ให้สงบด้วยความฉลาด ด้วยปัญญาเท่านั้นก็พอ

เมื่อใดที่เราเห็นธรรมะ นั่นก็เป็นสัมมาปฏิปทาแล้ว กิเลสก็สักแต่ว่ากิเลส ใจก็สักแต่ว่าใจ เมื่อใดที่เราทิ้งได้ ปล่อยวางได้แยกได้เมื่อนั้นมันก็เป็นเพียงสิ่งสักว่า เป็นเพียงอย่างนี้อย่างนั้นสำหรับเราเท่านั้นเอง เมื่อเราเห็นถูกแล้ว ก็จะมีแต่ความปลอดโปร่ง ความเป็นอิสระตลอดเวลา

พระพุทธองค์ตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลายท่านอย่ายึดมั่นในธรรม" ธรรมะคืออะไร คือทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมะความรักความเกลียดก็เป็นธรรมะ ความสุขความทุกข์ก็เป็นธรรมะความชอบความไม่ชอบก็เป็นธรรมะ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งเล็กน้อยแค่ไหนก็เป็นธรรมะ

*ปฏิบัติเพื่อละ อย่าปฏิบัติเพื่อสะสม

เมื่อเราปฏิบัติธรรมเราเข้าใจอันนี้ เราก็ปล่อยวางได้ ดังนั้นก็ตรงกับคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า ไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในใจเรา ในจิตเรา ในร่างกายของเรา มีแต่ความแปรเปลี่ยนไปทั้งนั้น พระพุทธองค์จึงทรงสอนไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นพระองค์ทรงสอนพระสาวกของพระองค์ให้ปฏิบัติเพื่อละ เพื่อถอนไม่ให้ปฏิบัติเพื่อสะสม

ถ้าเราทำตามคำสอนของพระองค์ เราก็ถูกเท่านั้นแหละ เราอยู่ในทางที่ถูกแล้ว แต่บางทีก็ยังมีความวุ่นวายเหมือนกัน ไม่ใช่คำสอนของพระองค์ทำให้วุ่นวาย กิเลสของเรานั้นแหละที่มันทำให้วุ่นวาย มันมาบังคับความเข้าใจอันถูกต้องเสีย ก็เลยทำให้เราวุ่นวาย

ความจริงการปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น ไม่มีอะไรลำบาก ไม่มีอะไรยุ่งยาก การปฏิบัติตามทางของพระองค์ไม่มีทุกข์เพราะทางของพระองค์คือ "ปล่อยวาง" ให้หมดทุกสิ่งทุกอย่าง

จุดหมายสูงสุดของการปฏิบัติภาวนานั้น ท่านทรงสอนให้"ปล่อยวาง" อย่าแบกถืออะไรให้มันหนัก ทิ้งมันเสีย ความดีก็ทิ้งความถูกต้องก็ทิ้ง คำว่าทิ้งหรือปล่อยวางไม่ใช่ไม่ต้องปฏิบัติ แต่หมายความว่าให้ปฏิบัติ "การละ" "การปล่อยวาง" นั่นแหละ

เนื้อหาบางส่วนจาก พระธรรมเทศนาเรื่องการฝึกใจ โดย หลวงปู่ชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี SmartDhamma

Cr. วีดีโอ วิธีเปลี่ยนนิสัย หลวงปู่ชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี


โดย ชีวิตนี้น้อยนัก

วันศุกร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

คุณสมบัติของชาวพุทธ เพื่อการรักษาพระศาสนา, บทความโดย นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

พระพุทธศาสนามีบทบาทเคียงคู่มากับสังคมไทยเป็นเวลาช้านาน จนกล่าวได้ว่าพระพุทธศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย, เวลานี้เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าพระพุทธศาสนากำลังมีภัย ทั้งภัยที่เกิดจากภายในพระพุทธศาสนา คือการประพฤติปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องของชาวพุทธเอง และภัยที่แฝงมาจากต่างศาสนา
สิ่งที่ผู้ทำหน้าที่รักษาพระพุทธศาสนาควรจะต้องทำความเข้าใจให้ชัดก็คือ ๑ ความเป็นจริง ๒ สิ่งที่จะต้องทำ

เบื้องต้น ต้องเข้าใจความเป็นจริงของตัวชาวพุทธเอง-โดยเฉพาะชาวพุทธในเมืองไทย ในการรักษาพระศาสนา ที่ผ่านมาเรามักจะฝากความหวังไว้ที่คนนั้นคนนี้คนโน้น นั่นเป็นการกระทำที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรง ! คนที่เราจะฝากความหวังได้แน่ๆ มีคนเดียวเท่านั้น-คือตัวเราเอง, ความผิดพลาดอย่างยิ่งใหญ่ของชาวพุทธในประเทศไทยก็คือ เมื่อมีกรณีอันใดเกิดขึ้น เราจะคิดทันทีว่า ไม่ใช่เรื่องของเรา แต่เป็นเรื่องของใครคนนั้นคนโน้นเขา, ยกตัวอย่าง กรณีท่านอาจารย์บรรจบ บรรณรุจิ เคยแถลงว่ามีแนวคิดจะตั้งกองทุน "พุทธวิชัย" เพื่อดำเนินการให้บรรจุข้อความว่า "พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ" ไว้ในรัฐธรรมนูญ, ทุกคนก็จะประทับตราลงไปทันทีว่า “เป็นเรื่องของอาจารย์บรรจบ” หรือกรณีที่นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย เสนอให้คณะสงฆ์ตั้งกองวิชาการพระพุทธศาสนา เพื่อศึกษาและวินิจฉัยปัญหาทั้งปวงเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เช่น การปฏิบัติตามหลักพระธรรมวินัย ทำอย่างนั้นผิดหรือไม่ ทำอย่างนี้ถูกหรือไม่ วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องคืออย่างไร ฯลฯ

ทุกคนก็จะประทับตราทันทีว่า-“เป็นเรื่องของนาวาเอกทองย้อย” หรือใครจะเสนอโครงการอะไรขึ้นมาอีกซึ่งเป็นเรื่องที่ดีงามเป็นประโยชน์แก่การศึกษาและปฏิบัติธรรม เป็นการจรรโลงพระพุทธศาสนา ชาวพุทธทั้งหลายก็จะพากันมองว่า เป็นเรื่องของคนคนนั้นคนเดียว ไม่เกี่ยวกับข้าพเจ้า ไม่มีใครเลยที่จะรู้สึกว่า-นี่เป็นเรื่องของข้าพเจ้าด้วย เรื่องนี้ข้าพเจ้าจะต้องทุ่มเทและรับผิดชอบในฐานะเป็นเจ้าภาพเต็มๆ ด้วยคนหนึ่ง ซึ่งหมายถึง-อาจจะต้องทำไปตามลำพังคนเดียวด้วย,

เพราะฉะนั้น ต้องกลับตัวกันใหม่ ต้องปรับความคิดใหม่ทั้งหมดตั้งแต่เดี๋ยวนี้, ต้องบอกตัวเองตั้งแต่เดี๋ยวนี้ว่า ทุกเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเป็นหน้าที่โดยตรงของข้าพเจ้า ถ้ายังไม่มีความรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ของข้าพเจ้าโดยตรง ก็อย่ามาบอกว่าฉันเป็นชาวพุทธ เป็นหน้าที่ของข้าพเจ้าแต่เพียงคนเดียวเท่านั้น ใครอื่นจะทำอะไรก็ทำไป แต่ข้าพเจ้าจะไม่ฝากความหวังไว้กับเขาหรือกับใครทั้งสิ้น บุคคลคนเดียวที่ข้าพเจ้าจะฝากความหวังได้ก็คือ-ตัวข้าพเจ้าเอง, เพื่องานพระศาสนา ข้าพเจ้าพร้อมจะร่วมมือกับใครอื่นทุกคน แต่ข้าพเจ้าจะไม่นั่งรอให้ใครอื่นเป็นคนทำ ส่วนข้าพเจ้าเป็นคนดู (แล้วก็เอาแต่ตำหนิคนนั้นคนนี้คนโน้นอย่างสนุกปาก เช่นว่า-มันน่าจะทำอย่างนั้น มันน่าจะทำอย่างโน้น)

แต่ข้าพเจ้านี่แหละจะลงมือทำในส่วนที่อยู่ตรงหน้าของข้าพเจ้า, ข้าพเจ้าจะไม่เป็นเหมือนคนสั่งอาหารแล้วไม่ทำอะไร นอกจากนั่งรอกิน !!, แต่ข้าพเจ้าจะลงมือทำอาหารให้ตัวเองด้วย และพร้อมที่จะทำให้คนอื่นได้กินด้วย-ถ้าทำได้ เรื่องสำคัญอย่างยิ่งเรื่องหนึ่งที่จะต้องทำใจให้รับรู้ความจริงก็คือ ชาวพุทธในเมืองไทยส่วนมาก หรือจะพูดว่าทั้งหมดเลยก็ว่าได้ ถูกครอบงำด้วยลัทธิบูชาอาจารย์ ติดอาจารย์ ติดสำนัก, ชาวพุทธในเมืองไทยไม่ได้นับถือพระพุทธเจ้าเป็นศูนย์รวมใจสูงสุดเพียงพระองค์เดียว เหมือนกับที่ชาวคริสต์หรือมุสลิมนับถือพระเจ้าสูงสุดพระองค์เดียว, แต่ชาวพุทธในเมืองไทยนับถืออาจารย์ของตน หรืออาจารย์ของใครก็ได้ และนับถือยิ่งกว่าหรือเหนือกว่าพระพุทธเจ้า

อาจารย์หรือสำนักในเมืองไทยมีมากเท่าไร ชาวพุทธในเมืองไทยก็แบ่งแยกกันมากเท่านั้น ลัทธิบูชาอาจารย์จึงเป็นกำแพงกั้นชาวพุทธในเมืองไทยไว้เป็นก๊กเป็นเหล่าโดยไม่รู้สึกตัว, เพราะเราไม่ได้ยึดถือพระพุทธเจ้าเป็นศูนย์รวมใจสูงสุดร่วมกัน แต่ยึดถืออาจารย์เป็นศูนย์รวมใจของใครของมัน เราจึงหาเอกภาพไม่ได้เลยแม้แต่น้อย, การบอกให้ปล่อยอาจารย์ยากเพียงใด การบอกให้ยึดถือพระพุทธเจ้าเป็นศูนย์รวมใจสูงสุดร่วมกันก็ยากเพียงนั้น, เพราะฉะนั้นก็ต้องไม่เพ้อฝันไปว่าวันนี้หรือพรุ่งนี้ชาวพุทธในเมืองไทยจะมีน้ำใจเป็นหนึ่งเดียวกัน, เหตุการณ์ในอดีตและที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันเป็นประจักษ์พยานยืนยันซ้ำแล้วซ้ำเล่า เวลาเกิดภัยขึ้นแก่พระพุทธศาสนาไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหนและในรูปแบบอย่างไร จะหาคนที่มีใจเจ็บร้อนร่วมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไม่ได้เลย

ใครเจ็บร้อนก็เชิญเจ็บไป, ใครอยู่ใกล้เหตุการณ์ก็เชิญรับเหตุการณ์นั้นไป, ข้าพเจ้าไม่เกี่ยว, ไม่ใช่เรื่องของข้าพเจ้า, ไม่ใช่เรื่องอาจารย์ของข้าพเจ้า และไม่เกี่ยวกับสำนักของข้าพเจ้า, นอกจากมีมือที่ไม่ช่วยพายเป็นอันมากแล้ว ยังมีตีนที่ราน้ำอยู่ในเหตุการณ์นั้นๆ กรณีนั้นๆ ไม่ใช่น้อยเช่นกัน, จึงขอให้ตระหนักและยอมรับในความเป็นจริงข้อนี้ไว้ให้จงมาก, อย่างไรก็ตาม การยอมรับความจริงไม่ได้หมายความว่าให้ยอมจำนนด้วย, เหมือนยอมรับว่าเกิดมาแล้วต้องตายแน่ ไม่ได้แปลว่าให้นอนรอความตายโดยไม่ต้องทำอะไร, เพราะฉะนั้น ต้องคิดหาวิธีทำให้ชาวพุทธในเมืองไทยมีพระพุทธเจ้าเป็นศูนย์รวมใจสูงสุดร่วมกันให้จงได้ไว้เสมอ

บอกให้ชาวพุทธนับถือบูชาอาจารย์ต่อไป แต่ขอให้มีพระพุทธเจ้าเป็นศูนย์รวมใจสูงสุดร่วมกัน ไม่ใช่สูงสุดอยู่ที่อาจารย์ใครอาจารย์มัน สำนักใครสำนักมันต้องเตือนกันไว้ และส่งเวรต่อจากรุ่นสู่รุ่น ว่าเรามีภารกิจที่จะต้องทำการบ้านที่ยังทำไม่เสร็จข้อนี้-คือข้อที่จะต้องคิดหาวิธีทำให้ชาวพุทธในเมืองไทยหลุดจากข่ายของอาจารย์ ผ่านไปให้ถึงพระพุทธเจ้า และมีพระพุทธเจ้าเป็นศูนย์รวมใจสูงสุดร่วมกัน

ต่อไปก็ยอมรับความจริงว่า คำว่า “เราจะต้องร่วมมือกัน” หรือ “ชาวพุทธเราจะต้องร่วมมือกัน” เป็นคำพูดที่ไม่มีความหมายอะไรเลย, เพราะฉะนั้น เลิกพูดได้แล้ว, ขอประทานโทษ-มีหลายท่านที่เมื่อพูดคำนี้จบประโยคแล้ว ก็รู้สึกว่าตัวเองได้ทำหน้าที่ชาวพุทธเสร็จสมบูรณ์แล้ว และไม่มีหน้าที่จะต้องทำอะไรอีก
ความจริงคือ ไม่มีใครแม้แต่คนเดียวที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่า การที่จะแก้ปัญหาและพัฒนากิจการอะไรก็ตามนั้นเราต้องร่วมมือกัน

เรื่องนี้รู้กันดีแล้วทุกคน, ปัญหาไม่ได้อยู่ที่-เราไม่รู้ว่าจะต้องร่วมมือกัน แต่ปัญหาอยู่ที่-เราไม่ร่วมมือกันเอง รู้หรือไม่รู้เราก็ไม่ร่วมมือกัน, ใครจะชักชวนอย่างไร พรรณนาอานิสงส์อย่างไร เราก็ไม่ร่วมมือกันอยู่ดี เพราะทุกคนคิดว่าไม่ใช่หน้าที่ของข้าพเจ้า แต่เป็นหน้าที่ของคนนั้น คนโน้น, คนไหนก็ไม่รู้แหละ แต่ไม่ใช่ข้าพเจ้าก็แล้วกัน, เพราะฉะนั้น ถ้าปรารถนาดีต่อพระพุทธศาสนาจริงๆ เอาเวลาที่พูดว่า-“เราจะต้องร่วมมือกัน” หรือ “ชาวพุทธเราจะต้องร่วมมือกัน” นั้นไปคิดหาวิธีทำดีกว่า

คือคิดหาวิธีทำว่า ทำอย่างไรชาวพุทธเราจึงจะร่วมมือกัน หรือทำอย่างไรพวกเราจึงจะร่วมมือกันได้จริงๆจะพูดประโยคนั้นด้วยก็ได้ถ้าอยากพูด แต่โปรดเข้าใจว่าหน้าที่ของผู้ปรารถนาดีต่อพระพุทธศาสนาจริงๆ ไม่ได้จบแค่พูดจบ แต่ยังจะต้องทำอย่างอื่นต่อไปอีกมาก

*ทั้งหมดที่ว่ามา เป็นส่วนที่เราต้องรู้ความจริง ยอมรับความจริง ว่าเราเป็นอย่างนี้ และเราควรเป็นอย่างไร
เมื่อรู้ว่าเราเป็นอย่างนี้-หรือพวกเราก็มักเป็นเสียอย่างนี้-แล้ว คราวนี้ก็มาถึงเรื่องที่เราจะต้องทำ เรื่องที่เราจะต้องทำที่ผมจะพูดต่อไปนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความจริงที่กล่าวมาแล้ว และความจริงข้อที่เป็นตัวหลักแห่งปัญหาก็คือ เราไม่ชอบร่วมมือกัน แต่เราชอบคิดว่าเรื่องนั้นเป็นหน้าที่ของคนอื่น ไม่ใช่หน้าที่ของเรา เพราะฉะนั้น เรื่องที่เราจะต้องทำต่อไปนี้จึงสามารถทำได้ตามลำพัง ไม่ต้องร่วมมือกับใครก็ทำได้ ไม่ต้องรอใคร ไม่ต้องขอความร่วมมือจากใคร ไม่ต้องไปร่วมมือกับใคร และไม่ต้องรอให้คนนั้นคนนี้มาถึงหรืออยู่ที่นี่เสียก่อนจึงจะทำได้

ไม่มีใครเลย มีแต่เราคนเดียวก็ทำได้ แต่ข้อสำคัญที่สุด ต้องลงมือทำจริงๆ ไม่ใช่เอาแต่นั่งคิด แต่ไม่ลงมือทำ เรื่องที่เราจะต้องทำต่อไปนี้ ไม่ใช่เรื่องที่ผมนั่งเทียนจินตนาการขึ้นมาเอง แต่ผมอัญเชิญมาจากมหาปรินิพพานสูตรในพระไตรปิฎก (ทีฆนิกาย มหาวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๐ ข้อ ๙๕)

*สรุปเรื่องสั้นๆ นิดหนึ่งครับ
เมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้แล้ว พญาวสวัตดีมารได้เข้าไปกราบทูลว่า บัดนี้พระองค์ก็ได้ตรัสรู้สมความปรารถนาแล้ว ไม่มีกิจที่จะต้องทำอีกต่อไปแล้ว ขอให้ปรินิพพานเสียเถิด, พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า พระองค์ขอเวลาประกาศธรรมที่ได้ตรัสรู้นี้สักระยะหนึ่งก่อน เมื่อพุทธบริษัทมีความรู้ความสามารถที่จะรักษาพระศาสนาสืบต่อไปได้แล้วพระองค์ก็จะปรินิพพาน, พระพุทธองค์เสด็จประกาศพระศาสนาอยู่ ๔๕ พรรษา จนมีพุทธบริษัทแพร่หลายพรั่งพร้อมแล้ว พญาวสวัตดีมารก็ได้เข้าไปกราบทูลทวงสัญญา ตามคำของมารที่กราบทูล เป็นอันพระพุทธองค์ทรงยอมรับว่า บัดนี้พุทธบริษัทมีความสามารถที่จะรักษาพระธรรมวินัยสืบอายุพระพุทธศาสนาต่อไปได้แล้ว ก็จึงตกลงพระทัยที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน

*คำของมารที่กราบทูลเฉพาะความตอนที่แสดงคุณสมบัติของพุทธบริษัทมีว่าดังนี้

เอตรหิ โข ปน ภนฺเต ภิกฺขู ภควโต สาวกา- ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็บัดนี้ ภิกษุ (ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา) ผู้เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า วิยตฺตา เป็นผู้ฉลาด, วินีตา ได้รับแนะนำดีแล้ว, วิสารทา เป็นผู้แกล้วกล้า, พหุสฺสุตา เป็นพหูสูต ธมฺมธรา เป็นผู้ทรงธรรม, ธมฺมานุธมฺมปฏิปนฺนา ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม, สามีจิปฏิปนฺนา เป็นผู้ปฏิบัติชอบ, อนุธมฺมจาริโน ประพฤติตามธรรม, สกํ อาจริยกํ อุคฺคเหตฺวา เรียนกับอาจารย์ของตนแล้ว

อาจิกฺขนฺติ เทเสนฺติ ปญฺญเปนฺติ ปฏฺฐเปนฺติ วิวรนฺติ วิภชนฺติ อุตฺตานีกโรนฺติ
ย่อมบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ตื้นได้
อุปฺปนฺนํ ปรปฺปวาทํ สหธมฺเมน สุนิคฺคหิตํ นิคฺคเหตฺวา สปฺปาฏิหาริยํ ธมฺมํ เทเสนฺติ
แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ข่มขี่ปรัปวาทที่เกิดขึ้นได้โดยสหธรรมเรียบร้อย

*นี่คือคุณสมบัติของพุทธบริษัทที่พระพุทธองค์ทรงรับรองว่าจะสามารถรักษาสืบทอดพระพุทธศาสนาเอาไว้ได้

ขอความกรุณากลับไปอ่านซ้ำอีกหลายๆ เที่ยว แล้วลองสรุปดูว่าคุณสมบัติของพุทธบริษัทที่พระพุทธองค์ทรงรับรองว่าจะสามารถรักษาสืบทอดพระพุทธศาสนาเอาไว้ได้นั้นมีอะไรบ้าง

*ผมได้อ่านซ้ำอีกหลายเที่ยวแล้ว ขออนุญาตถอดความออกมาตามสติปัญญา เป็นหลักปฏิบัติหรือหน้าที่ของชาวพุทธได้ว่า

๏ ศึกษาเล่าเรียน ๏ พากเพียรปฏิบัติ ๏ เคร่งครัดบำรุง ๏ มุ่งหน้าเผยแผ่ ๏ แก้ไขให้หมดจด

*ขออนุญาตขยายความสั้นๆ
๏ ศึกษาเล่าเรียน ค้นคว้าอ่านเขียนเรียนพระธรรมสม่ำเสมอ อันไหนเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า อันไหนไม่ใช่ อย่าคิดเป็นอันขาดว่ารู้แล้ว

๏ พากเพียรปฏิบัติ อย่าเรียนเพื่อรู้อย่างเดียว ลงมือปฏิบัติด้วย
คุณธรรมใดๆ ที่ยังไม่มีในตน ขวนขวายบำเพ็ญให้เกิดมี ที่มีแล้วทำให้มีมากยิ่งๆ ขึ้นไป

๏ เคร่งครัดบำรุง จะดีจะชั่วอย่างไร อย่าทิ้งวัด อย่าทิ้งพระ อย่าเอาความบกพร่องของท่านมาทำให้เราบกพร่องต่อหน้าที่ของเราไปอีกคนหนึ่ง ถ้าพวกเราไม่ดูแลกันเอง แล้วจะหวังให้ใครเขาเห็นใจ
คนเก่าท่านสอนว่า ถ้าไม่ศรัทธาที่จะไหว้พระ ก็ขอให้มีศรัทธาที่จะไหว้ผ้าเหลืองอันเป็นธงชัยของพระอรหันต์

๏ มุ่งหน้าเผยแผ่ ช่วยกันประกาศพระธรรมวินัยที่ถูกต้องทุกโอกาสทุกช่องทางที่สามารถทำได้
แนะนำสั่งสอนคนในครอบครัว ขยายไปถึงญาติมิตรในวงกว้างออกไป นั่นหมายถึงว่าต้องหาความรู้ไว้ให้พอด้วย

๏ แก้ไขให้หมดจด ใครสอนผิด พูดผิด และประพฤติผิดต่อพระรัตนตรัย อย่าปล่อยให้ผ่านไปโดยคิดว่าไม่ใช่ธุระที่จะไปทักท้วงชี้แจง ตรงกันข้าม ต้องถือว่าเป็นธุระโดยตรงที่จะต้องช่วยกันแก้ไข

*นี่คือภารกิจของแต่ละคนที่จะต้องทำ, นี่คือคำตอบที่ถามว่า-แล้วเราจะทำอย่างไรกัน
ภารกิจเหล่านี้ ชาวพุทธจะอ้างไม่ได้อีกแล้วว่า ไม่ใช่หน้าที่ของข้าพเจ้า จะทำได้กี่ข้อ ทำได้มากได้น้อย ไม่เป็นประมาณ แต่ต้องทำ ต้องพยายามทำ และต้องลงมือทำทันที เดี๋ยวนี้และตลอดไป ใครที่ไม่ทำภารกิจเหล่านี้ อย่ามาเสนอหน้าว่าข้าพเจ้าเป็นชาวพุทธ ทำเต็มความสามารถแล้ว ถ้ายังไม่อาจจะรักษาพระศาสนาไว้ได้ ก็ไม่ต้องเสียใจอะไรเลย แต่มีสิทธิ์ที่จะภาคภูมิใจว่า เราได้ทำหน้าที่ของเราแล้ว ใครจะนั่งรอให้บัญญัติศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติอยู่ตรงนี้ ก็เชิญรอไปเถิด เป้าหมายอยู่ข้างหน้า ผมไม่รอละ

*โพสต์ครั้งแรก ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑
๑๒:๔๒

ขอขอบคุณที่มา: ทองย้อย แสงสินชัย

วันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

มส.คัด 16 วัดรายได้เกิน 50 ล้าน/ปี นำร่องทำบัญชีทรัพย์สินตามแผนปฏิรูปพุทธ – “พงศ์พร” ลงนามตั้ง 3 รองผอ.พศ. สมเกียรติ-ณรงค์-จันทนา

มส.คัด 16 วัดรายได้เกิน 50 ล้าน/ปี นำร่องทำบัญชีทรัพย์สินตามแผนปฏิรูปพุทธ – “พงศ์พร” ลงนามตั้ง 3 รองผอ.พศ. สมเกียรติ-ณรงค์-จันทนา

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ที่อาคารสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ พุทธมณฑล จ.นครปฐม นายสิปป์บวร แก้วงาม ผอ.สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม ในฐานะโฆษกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) คนที่ 2 กล่าวภายหลังการประชุมมหาเถรสมาคม(มส.) ว่า มส.มีมติเห็นชอบ 16 วัดนำร่องในการจัดทำบัญชีทรัพย์สินวัดอย่างละเอียด ประกอบด้วย วัดพิชยญาติการาม วัดธาตุทอง วัดพระศรีมหาธาตุ วัดดุสิตาราม วัดบางนานอก วัดอรุณราชวราราม วัดนวลจันทร์ วัดลาดปลาเค้า วัดศิริพงษ์ธรรมนิมิตร วัดหัวลำโพง วัดนาคปรก วัดเทวราชกุญชร วัดสุวรรณาราม วัดไร่ขิง จ.นครปฐม  วัดพระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม  และวัดไผ่ล้อม จ.นครปฐม โดยรูปแบบการจัดทำบัญชีดังกล่าวจะเป็นแบบละเอียดที่ผ่านการหารือกันของพศ. และคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(ก.พ.ร.) แล้ว ซึ่งกำหนดวัดที่จัดทำบัญชีทรัพย์สินดังกล่าว ต้องมีรายได้เฉลี่ยต่อปีไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท และพศ.ได้จัดทำคู่มือในการจัดทำบัญชีทรัพย์สินให้กับเจ้าอาวาสทั้ง 16 วัด


นายสิปป์บวร กล่าวต่อไปว่า สำหรับบัญชีทรัพย์สินวัดอย่างละเอียดที่จะทดลองใช้ใน 16 วัดนำร่องนั้น จะต่างจากบัญชีทรัพย์สินวัดที่มส.เคยมีมติให้ทุกวัดทั่วประเทศจัดทำที่จะเป็นแบบง่าย ทำเพียงบัญชีรายรับรายจ่ายเท่านั้น แต่บัญชีทรัพย์สินแบบละเอียด จะต้องมีการลงบัญชีแยกเป็นประเภทต่างๆ อย่างชัดเจน เช่น เงินรายได้จากการรับบริจาค กฐิน ผ้าป่า บัญชีรายงานเงินคงเหลือ เงินฝาก ระยะเวลาลงบัญชี เป็นต้น และจะต้องรายงานมาที่พศ.ในช่วงสิ้นปีงบประมาณ จากนั้นจะมีการประเมิน และปรับปรุงรายละเอียด พร้อมทั้งขยายผลไปยังวัดต่างๆ เพิ่มเติมต่อไป โดยในเร็วๆ นี้ทางพศ.จะเชิญเจ้าอาวาสวัดทั้ง 16 วัด มาประชุมทำความเข้าใจแนวทางปฏิบัติก่อนจึงเริ่มดำเนินการต่อไป

วันเดียวกันพ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผอ.พศ. ได้ลงนามแต่งตั้งรองผอ.พศ. 3 ราย ประกอบด้วย 1. นายสมเกียรติ ธงศรี ผู้ตรวจราชการ พศ. 2.นายณรงค์ ทรงอารมณ์ ผู้ตรวจราชการ พศ. และ3.น.ส.จันทนา สุทธิเรืองวงศ์ เลขานุการกรม พศ. โดยมีผลตั้งแต่วันนี้ ( 9 ก.พ.) เป็นต้นไป




ขอขอบคุณที่มา: Thairnews

วันจันทร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2561

พระเยอรมันเจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ สายวัดหนองป่าพงของหลวงปู่ชา สอบผ่านพระอุปัชฌาย์รูปแรก ดีกรีนักวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์อีกด้วย

สอบผ่านพระอุปัชฌาย์ในระบบสงฆ์ไทยตามกฎมหาเถรสมาคมรูปแรก ดีกรีนักวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ ศรัทธาในพระพุทธศาสนาบวชจนได้เป็นเจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ สายวัดหนองป่าพงของหลวงปู่ชา อุบลราชธานี เผยชอบนั่งสมาธิตั้งแต่เด็ก ศรัทธาวิธีสอนหลวงปู่ชา มาบวชในไทยตั้งแต่อายุ 28 ชี้ภูมิใจสอบผ่านพระอุปัชฌาย์ที่ยาก

วันนี้ (28 ม.ค.)ที่ศาลาอบรมสงฆ์ วัดสามพระยา กรุงเทพฯ  มีพิธีการมอบตราตั้งพระอุปัชฌาย์ในการฝึกอบรมหรือสอบความรู้ โดยมีสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม เจ้าคณะใหญ่หนกลาง สมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก พระวิสุทธิวงศาจารย์ รองเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ และพระพรหมจริยาจารย์ เจ้าอาวาสวัดกะพังสุรินทร์ เจ้าคณะใหญ่หนใต้ เป็นประธานมอบตราตั้งแก่พระอุปัชาย์ใหม่ที่ผ่านการสอบ จำนวน 200 รูป โดยพระพรหมโมลี (สุชาติ ธมฺมรตโน) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ในฐานะเลขาธิการสมัชชามหาคณิสร กล่าวว่า ครั้งนี้นับเป็นเรื่องที่น่ายินดี ตนได้อนุโมทนาแก่พระครูอุบลภาวนาวิเทศ (เฮ็นนิ่ง เกวลี) เจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ จังหวัดอุบลราชธานี เจ้าสำนักปฏิบัติธรรมวัดป่านานาชาติ ที่ได้ผ่านการสอบเป็นพระอุปัชฌาย์ตามระบบคณะสงฆ์ไทย แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 17 พ.ศ.2536 ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระอุปัชฌาย์ ออกตามพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม 2535 ซึ่งที่ผ่านมามส.ได้เปิดโอกาสให้เจ้าสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด ที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ เช่น มีการบรรพชาอุปสมบทหมู่เฉลิมพระเกียรติ จัดกิจกรรมปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น ได้สอบเป็นพระอุปัชฌาย์ แต่ก็มีจำนวนไม่มากนัก เนื่องจากส่วนใหญ่จะเน้นไปที่พระสังฆาธิการระดับเจ้าคณะตำบล เจ้าอาวาสพระอารามหลวง ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง เป็นส่วนใหญ่ ถือว่า เป็นพระต่างประเทศรูปแรกก็ว่าได้ ที่ได้เข้าระบบการสอบของมส

พระครูอุบลภาวนาวิเทศ กล่าวว่า ตนมีความสนใจวิปัสสนากรรมฐานมาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ ที่มหาวิทยาลัยฟรี กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี โดยได้ไปฝึกนั่งสมาธิที่วัดไทยในเยอรมนี  จากนั้นจึงได้อ่านหนังสือสอนวิปัสสนากรรมฐานของหลวงปู่ชาที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ และเคยได้มาประเทศไทย ชอบวิถีวัฒนธรรมของคนไทย ชอบพระพุทธศาสนา เมื่อเรียนจบจึงตัดสินใจมาที่วัดป่านานาชาติ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นวัดป่าสายหลวงปูชา จึงได้ตัดสินใจบวชที่วัดดังกล่าวในปี 2541 ตอนอายุประมาณ 28 ปี กระทั่งได้รับความไว้วางใจจากพระราชภาวนาวิกรม หรือหลวงพ่อเลียม วัดหนองป่าพง และได้รับความเมตตาจากสมเด็จพระพุฒาจารย์(เกี่ยว อุปเสโณ) เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ในขณะนั้น สนับสนุนให้พระต่างชาติได้มาบวช และทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา

“การมาสอบพระอุปัชฌาย์ครั้งนี้ทางพระเถระ โดยพระพรหมสิทธิ เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เจ้าคณะภาค 10 ท่านเห็นว่า ควรจะมีพระอุปัชฌาย์ในวัดป่านานาชาติ ทำหน้าที่บวชพระภิกษุทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เนื่องจากพระเถระในวัดก็มีอายุมากขึ้น จึงได้ส่งเสริมให้อาตมาเข้าสู่กระบวนการสอบพระอุปัชฌาย์ตามระบบคณะสงฆ์ไทย ถือเป็นพระภิกษุชาวต่างประเทศรูปแรกที่ได้เข้ามาสอบในระบบคณะสงฆ์ไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมาสมเด็จเกี่ยวท่านได้เมตตาแต่งตั้ง รุ่นอาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์เป็นกรณีพิเศษ เช่น หลวงพ่อสุเมโธ หรือพระราชสุเมธาจารย์ ท่านอมโร หรือพระวิเทศพุทธิคุณ ท่านปสันโน หรือพระโพธิญาณวิเทศ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม อาตมารู้สึกภูมิใจที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่สำคัญเช่นนี้ ขอบคุณคณะสงฆ์ไทยที่ให้โอกาสพระชาวต่างประเทศได้ทำหน้าที่เหมือนกับพระสงฆ์ไทย ทำให้รู้สึกอบอุ่นใจเป็นเกียรติ เพราะที่ผ่านมาทางพระพรหมสิทธิ ท่านให้คำปรึกษาและส่งเสริมพระป่าสายวิปัสสนากรรมฐานมาโดยตลอด อีกทั้งการสอบพระอุปัชฌาย์ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับพระสงฆ์ไทย โดยเฉพาะพระชาวต่างชาติอย่างอาตมาถือว่า ยากขึ้นไปอีก เพราะจะต้องท่องบาลีให้ถูกต้อง เขียนให้ถูกต้อง ผ่านทดสอบความรู้ตามพระธรรมวินัยอีกด้วย”พระครูอุบลภาวนาวิเทศ กล่าว

สำหรับประวัติพระครูอุบลภาวนาวิเทศ เป็นชาวเยอรมัน จบการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ จบนักธรรมเอก ปัจจุบันอายุ 49 ปี พรรษา 20 ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติรูปที่ 7  ในปี 2551 ต่อจากพระอาจารย์ญาณธัมโม ชาวออสเตรเลีย  สำหรับวัดป่านานาชาติ เป็นวัดป่าสายวัดหนองป่าพง ที่ตั้งอยู่ในบ้านบุ่งหวาย อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี  ก่อตั้งเมื่อปี 2518 โดยมีหลวงปู่ชา สุภทฺโท (พระโพธิญาณเถร) เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติเข้ามาศึกษาพระธรรมวินัยเป็นภาษาอังกฤษ จนสามารถที่จะออกบวชเป็นพระภิกษุและปฏิบัติ ตามข้อวัตรสายวัดป่าเผยแผ่ศาสนาในวัดสาขาที่ต่างประเทศได้ ปัจจุบัน พระภิกษุสามเณรสังกัดวัดป่านานาชาติที่อยู่ในเมืองไทย ทั้งหมดมีประมาณ 40 รูป รวมประมาณ 20 สัญชาติ มีเจ้าอาวาสมาที่เป็นชาวต่างชาติทั้งหมด  7 รูป ได้แก่ พระราชสุเมธาจารย์ (หลวงพ่อสุเมโธ) ชาวอเมริกัน ปี 2518-2519  พระอาจารย์ปภากโร ชาวอเมริกัน ปี2520-2521 พระอาจารย์ชาคโร ชาวออสเตรเลีย ปี2522 – 2524 พระอาจารย์ปสันโน ชาวแคนาดา ปี2525-2539 พระอาจารย์ชยสาโร ชาวอังกฤษ  ปี2540 – 2544 พระอาจารย์ญาณธัมโม ชาวออสเตรเลีย ปี2545-2550 และพระครูอุบลภาวนาวิเทศ (เฮ็นนิ่ง เกวลี) ชาวเยอรมัน ปี2551 - ปัจจุบัน

ที่มา: dailynews

วันพุธที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2561

พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ บอกเคล็ดลับ "สิ่งที่คำทำนายก็เอาชนะไม่ได้" อย่างนี้ต้องอ่านๆแล้ว ที่นี้ก็ต้องลงมือทำกันแล้วล่ะ ขอบอก..

สิ่งที่คำทำนายก็เอาชนะไม่ได้

มันมีนิทานในคัมภีร์พุทธศาสนา อยู่เรื่องหนึ่งนะ คือมีพระราชาอยู่ ๒ เมือง เป็นอริกัน แล้วทั้งสององค์นี่ก็มีที่ปรึกษานะ เป็นดาบสมีอภิญญา รู้โหราศาสตร์ สามารถติดต่อกับเทวดาได้ พระราชาเมืองหนึ่งนี่ก็ให้ที่ปรึกษาของตนเองทำนายการสงครามนะ ให้ไปถามเทวดา ว่าถ้าออกรบแล้วจะชนะหรือเปล่า ดาบสก็ไปถามให้นะ แล้วก็ได้คำตอบว่า พระองค์จะต้องมีชัยชนะแน่นอน

ส่วนพระราชาอีกเมืองหนึ่งก็สอบถามที่ปรึกษาของตัวเองเหมือนกันนะ ปรากฎว่าพอดาบสดูดวงชะตาแล้ว ก็เห็นความปราชัยของพระราชาพระองค์นี้ ก็เลยพยากรณ์ว่า พระองค์จะแพ้สงคราม

พระราชาทั้งสององค์นี้ พอได้ฟังคำทำนายทายทักนะ องค์ที่รู้ว่าตัวเองจะชนะ ก็ประมาท ไม่ฝึกซ้อมไพล่พล รอแต่จะให้ถึงวันออกรบอย่างเดียว ส่วนพระราชาที่รู้ว่าตนเองจะแพ้ กลับไม่ยอมจำนนให้กับคำทำนายนะ ก็ตระเตรียม รับสั่งให้ฝึกซ้อมไพร่พล เตรียมการรบ ตัวพระองค์เองก็ทำความเพียรเป็นการใหญ่

ปรากฎว่า พอถึงวันทำสงครามจริงจริง องค์ที่ถูกทำนายว่าจะชนะกลับแพ้นะ องค์ที่ถูกทำนายว่าจะแพ้กลับชนะนะ องค์ที่แพ้นี่ก็ทุกข์ใจมาก กลับไปต่อว่าดาบสที่ทำนายดวงให้ ถามว่าไหนเทวดาบอกว่าจะชนะ ดาบสก็จนใจนะ ไปถามเทวดา เทวดาก็เลยให้ข้อคิดว่า ความเพียรของคน ถึงต่อให้เป็นเทวดา ก็กีดกันไม่ได้

นี่ นิทานเรื่องนี้มันให้แง่คิดกับเรานะ ว่าโดยหลักพุทธแล้ว กรรมะ หรือการกระทำ มันมีอิทธิพลเหนือทุกอย่าง คือมันสามารถเปลี่ยนได้แม้แต่อนาคต แม้แต่ดวงชะตา ยังต้องจำนนต่อการกระทำของมนุษย์นะ ฉะนั้น ถ้าคิดแบบพุทธ มนุษย์จะต้องไม่ยอมก้มหัวให้กับอะไรง่ายๆ แล้วอนาคตต้องเป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถกำหนดทิศทางด้วยตัวเองได้ ไม่ใช่ปล่อยให้สิ่งอื่นที่ไหนมากำหนด


ที่มา : ไพรวัลย์ วรรณบุตร

วันเสาร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2561

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระคติธรรม เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๖๑ ความว่า “สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสอนวิธีที่ทำให้บุคคลได้ชื่อว่าเป็นคนดี เป็นที่รักของผู้คนทั่วไปไว้วิธีหนึ่ง เรียกว่า ‘อัตถจริยา’

เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระคติธรรม เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๖๑ ความว่า 

“สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสอนวิธีที่ทำให้บุคคลได้ชื่อว่าเป็นคนดี เป็นที่รักของผู้คนทั่วไปไว้วิธีหนึ่ง

เรียกว่า ‘อัตถจริยา’ หมายถึง การบำเพ็ญประโยชน์ การประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ช่วยเหลือ ทำงานสร้างสรรค์ด้วยความตั้งใจอย่างดีเลิศ ส่งเสริมให้เพื่อนสมาชิกในสังคมประพฤติดีงาม และมีสติปัญญา

อัตถจริยาดังกล่าวนี้ปัจจุบันนิยมเรียกว่า ‘จิตอาสา’ ซึ่งถ้าพิจารณาอย่างผิวเผินอาจ
เข้าใจคลาดเคลื่อนไปว่าจิตอาสากำลังจำต้องเหน็ดเหนื่อยหรือเผชิญทุกข์กว่าคนที่ไม่เป็นจิตอาสา

แต่ถ้าพิเคราะห์ในแง่มุมกลับกัน แท้จริงแล้ว คนทำงานจิตอาสาด้วยใจจริง ย่อมมีความรู้สึกเบิกบานยิ่งกว่าคนไม่ทำงานจิตอาสา

เพราะจิตอาสาที่แท้จริงจะไม่คิดว่าตนกำลังสูญเสียพละกำลังหรือประโยชน์ใดๆ โดยไร้ค่า
หากกลับเป็นฝ่ายได้รับประโยชน์คือได้ความสุขใจ ชื่นใจที่เห็นความสุขของผู้อื่น และได้ภาคภูมิใจว่าเป็นผู้สร้างสรรค์สังคมที่ดีงาม

เด็กและเยาวชนเป็นกำลังสำคัญที่จะพาบ้านเมืองไทยให้รุ่งเรืองสืบไป จึงขอให้ผู้ใหญ่เร่งปลูกฝังและสร้างสรรค์ให้เด็กและเยาวชนเป็นผู้หนักแน่นในคุณธรรมข้ออัตถจริยา

และขอให้เด็กๆ รู้สึกสนุกสนานเบิกบานทุกครั้งที่ได้ทำประโยชน์ จงอย่ายอมแพ้แก่ความรู้สึกเหน็ดเหนื่อยหรือยากลำบาก

ขอให้ระลึกไว้เสมอว่ากำลังเล็กๆ ของเด็กๆ อย่างเรานี้แล มีอานุภาพสูงยิ่งที่จะช่วยสร้างสรรค์ประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า

อย่ามัวรั้งรอผัดผ่อนให้เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่เสียก่อนค่อยเริ่มทำความดี เพราะเมื่อนั้นเด็กๆ จะเผลอชินกับการทำความชั่ว จนกลายเป็นคนเห็นแก่ตัว และไม่รู้วิธีทำตนเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้ในที่สุด

ขอให้เด็กและเยาวชนทุกคนมีกำลังใจที่จะบำเพ็ญประโยชน์ด้วยความสุขใจนับแต่บัดนี้เป็นต้นไป ขอจงรักษาคุณลักษณะจิตอาสาอย่างสมบูรณ์ไว้ตลอดกาล เพื่ออนาคตของตนเอง และสังคมไทยของเราทุกคน.”






Cr. สำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช 

วันอาทิตย์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2561

 เพจพระธรรมวิทยากรไทย ในแดนพุทธภูมิ (DhammaLecturer935) ประกาศชี้แจงเรื่องการอุปสมบทของพระแซม ยุรนันท์ ที่มีการปล่อยข่าวว่า จะบวชไม่สึก??

เพจพระธรรมวิทยากรไทย ในแดนพุทธภูมิ ประกาศชี้แจงเรื่องการอุปสมบทของพระแซม ยุรนันท์ ที่มีการปล่อยข่าวว่า จะบวชไม่สึก??

ประกาศชี้แจงเรื่องการอุปสมบทของพระแซม ยุรนันท์


ในฐานะที่กองงานพระธรรมวิทยากรไทย ในแดนพุทธภูมิ ได้รับผิดชอบดูแลเป็นพระธรรมวิทยากร พระวิปัสสนาจารย์ และพี่เลี้ยง ให้กับ พระยุตฺตมนฺติโพธิ พรือ พระแซม ยุรนันท์ ภมรมนตรี จึงขอกล่าวชี้แจงถึงกระแสที่มีการปล่อยข่าวอย่างบิดเบือนออกไปว่า พระแซมละทางโลกบวชไม่สึก หรือ พระแซมประกาศบวชไม่สึก เป็นต้น

เรื่องนี้ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เพราะ พระแซม #ไม่เคยประกาศเช่นนั้น เพียงแต่พระแซมมีความตั้งใจว่า จะตั้งใจศึกษาและปฏิบัติธรรมให้เต็มที่ในระหว่างที่อยู่บวชนี้ โดยไม่ให้กรอบเวลามาเป็นกฎเกณฑ์ คือ อาจบวช ๑๕ วัน , ๓๐ วัน หรือ เกินกว่านั้นก็ได้ ตามที่เหตุปัจจัยทุกอย่างเอื้ออำนวย ซึ่งขณะนี้พระแซม ก็กำลังอยู่ในช่วงปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อซึมซับรับหลักการอันเป็นเนื้อแท้ในพระพุทธศาสนา

โดยพระแซมมีความตั้งใจว่าจะออกปฏิบัติธรรมถวายเป็นพุทธบูชาในระหว่างที่บวชอยู่นี้ ให้ครบถ้วนในสังเวชนียสถานทั้ง ๔ แห่ง จึงเป็นที่น่าอนุโมทนาบุญร่วมกัน...

ขอคนละแชร์เพื่อแก้ความเข้าใจผิด

เพราะหากต่อไปท่านลาสิกขา หลังจากศึกษาปฏิบัติธรรมจนสมควรแก่กาลแล้ว จะได้ไม่เกิดความเข้าใจผิดจากผู้ไม่รู้ จนกล่าวตู่ท่านว่า เป็นผู้เสียสัจจะ หรือ ผิดคำพูด ต่อไป






ที่มา: พระธรรมวิทยากรไทย ในแดนพุทธภูมิ 

วันจันทร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2561

พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี-V.Vajiramedhi) แนะ ‘อย่าก่นด่าประเทศตัวเอง’ จงลุกขึ้นสร้างความเปลี่ยนแปลง ขอปี 61 เป็นปีทองของการให้

พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี-V.Vajiramedhi) แนะ ‘อย่าก่นด่าประเทศตัวเอง’ จงลุกขึ้นสร้างความเปลี่ยนแปลง ขอปี 61 เป็นปีทองของการให้

เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2561 นี้ เฟสบุ๊คของ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี-V.Vajiramedhi) ซึ่งมีผู้ติดตามมากกว่า 6 ล้านคน ได้เผยแพร่ข้อคิดเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ว่า ขอให้ปี 2561 จงเป็น “ปีทองของการให้” นอกจากนี้ ยังระบุ ‘9 หลักคิด เพื่อชีวิตที่ดีงาม’ มีดังนี้

1. การพัฒนาตนเอง ‘มองทุกอย่างเป็นครู เธอจะมีชีวิตอยู่อย่างแสนรื่นรมย์’
2. ครอบครัว ‘ ดูแลกันและกันให้ดี เพราะไม่มีวันนี้สองครั้ง’
3. การงาน ‘ทำให้ดีที่สุด ณ จุดที่ทำ เป็นให้ดีที่สุด ณ จุดที่เป็น’
4. สุขภาพ ‘งานสัมฤทธิ์ ชีวิตรื่นรมย์’
5. สัมพันธภาพ ‘ยอดไม้อ่อนโยน ยอดคนอ่อนน้อม’
6. สังคม ‘อยู่เพื่อตัวเอง อยู่แค่สิ้นใจ อยู่เพื่อคนทั่วไป อยู่ชั่วฟ้าดิน’
7. การเสพสื่อ/โซเชียลมีเดีย ‘ ในสื่อสังคมออนไลน์ มีทั้งดอกไม้และกองขยะ จงเลือกดมดอกไม้ ไม่ใช่หลงใหลอยู่กับกองขยะ’
8. ประเทศ ‘ อย่าก่นด่า (ประเทศตัวเอง) แต่จงลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลง
9. โลก/จักรวาล ‘เราต่างมีกันและกันในสรรพสิ่ง เราต่างอิงคืองค์อื่นอีกหมื่นหมาย เราต่างถ้อยธำรงจึงทรงกาย เราต่างคล้ายเป็นส่วนหนึ่งที่ถึงกัน’