วันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ผู้มีปัญญาเป็นเครื่องทรงจำ เรากล่าวว่า เป็นบัณฑิต เพราะการยึดได้ซึ่งประโยชน์ในทิฏฐธรรม และประโยชน์ในสัมปรายภพ

ทิฏฺเฐ ธมฺเม จ โย อตฺโถ    โย จตฺโถ สมฺปรายิโก, อตฺถาภิสมยา ธีโร   ปณฺฑิโตติ ปวุจฺจติ

เป้าหมายสูงสุดของชีวิต

ในทุกวันนี้ มนุษย์ส่วนใหญ่ต่างยังไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม อะไรคือเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต และเมื่อไม่มีโอกาสได้ฟังธรรมของพระพุทธองค์ ชีวิตจึงยังต้องเวียนวนอยู่ในกระแสแห่งความทุกข์ระทม เหมือนถูกตรึงด้วยเครื่องพันธนาการร้อยรัด แต่เมื่อได้ฟังพระสัทธรรม จึงจะเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต แล้วรู้ว่าอะไรคือเป้าหมายสูงสุดของการเกิดมาเป็นมนุษย์ จะได้ไม่เสียเวลาเพื่อมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายที่แท้จริงนั้น

มีพุทธพจน์บทหนึ่ง พระพุทธองค์ตรัสไว้ใน อุโภอัตถสูตร ว่า “ทิฏฺเฐ ธมฺเม จ โย อตฺโถ    โย จตฺโถ สมฺปรายิโก,​   อตฺถาภิสมยา ธีโร    ปณฺฑิโตติ ปวุจฺจติ

ผู้มีปัญญาเป็นเครื่องทรงจำ เรากล่าวว่า เป็นบัณฑิต เพราะการยึดได้ซึ่งประโยชน์ในทิฏฐธรรม และประโยชน์ในสัมปรายภพ”

บัณฑิต คือผู้มีใจผ่องใสเป็นปกติ และดำเนินชีวิตอยู่ด้วยปัญญา เป็นผู้ฉลาดในอุบายแห่งความเสื่อมและความเจริญ มีความทรงจำดี เนื่องจากมีใจใส ทำให้ความเห็น ความจำ ความคิด ความรู้จึงบริสุทธิ์ เมื่อจิตบริสุทธิ์ ดวงจำก็บริสุทธิ์ จึงมีความทรงจำแม่นยำไม่ผิดพลาด  เมื่อทรงจำได้มาก ถึงเวลาจะใช้งานก็สามารถนำออกมาใช้งานได้คล่องแคล่ว มีปัญญาแตกฉาน รอบรู้ในทุกๆ ด้าน รู้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว อะไรถูกอะไรผิด อะไรเป็นบุญอะไรเป็นบาป มีวินิจฉัยที่ถูกต้องร่องรอยตามความเป็นจริง มองเห็นประโยชน์ทั้งในปัจจุบันและอนาคตอย่างแจ่มแจ้ง

นักปราชญ์ราชบัณฑิตในสมัยก่อน เช่น พระบรมโพธิสัตว์ท่านสอนตนเองได้ รู้ว่าเกิดมา  มีอะไรที่เป็นสาระหรือไม่เป็นสาระ จึงรู้จักวิธีการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง ว่าต้องสร้างบารมีไปจนกว่าบารมีจะเต็มเปี่ยมได้บรรลุเป้าหมายสูงสุดของชีวิต คือ พระนิพพาน ตราบใดที่ยังไม่หลุดพ้นจากอาสวกิเลส ไม่ได้บรรลุกายธรรมอรหัต เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกายธรรมอรหัต ก็ยังประมาทไม่ได้ อย่างน้อยจะต้องยึดเอาประโยชน์ในปัจจุบันและประโยชน์ในอนาคตไว้ก่อน

ประโยชน์ในปัจจุบัน เรียกว่า ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ คือ ถึงพร้อมด้วยความหมั่น ตั้งแต่ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน นำวิชาความรู้นั้นมาประกอบอาชีพสุจริต ขยันขันแข็งทำงาน ไม่เกียจคร้าน ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง ได้ทรัพย์มาแล้วก็รู้จักเก็บรักษา ถึงพร้อมด้วยการรักษา ไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย แต่ใช้ทรัพย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อตนเองและส่วนรวม และการที่จะให้ชีวิตสมบูรณ์ได้นั้น ต้องมีต้นแบบ ต้องรู้จักคบคนดี มีนักปราชญ์ราชบัณฑิตเป็นกัลยาณมิตร เพื่อที่จะดำเนินชีวิตได้ถูกต้อง พบกับชีวิตอันประเสริฐ ชีวิตจะได้ดำเนินอยู่บนหนทางสายกลาง  เลี้ยงชีวิตได้เหมาะสม เป็นอยู่อย่างพอดี ถ้าปฏิบัติให้ถึงพร้อมอย่างนี้ได้ จะเกิดความเจริญรุ่งเรืองในปัจจุบัน โบราณท่านเรียกธรรมหมวดนี้ว่า หัวใจเศรษฐี ใครที่ปฏิบัติตามแล้ว จะได้เป็นเศรษฐีในปัจจุบันทีเดียว  

เมื่อทำประโยชน์ในปัจจุบันให้เกิดขึ้นแล้ว ต้องมองการณ์ไกลถึงประโยชน์ในอนาคตอีกด้วย ที่เรียกว่า สัมปรายิกัตถประโยชน์ คือ ประโยชน์ในภายหน้า ที่จะทำให้เราเดินทางไปสู่สัมปรายภพได้อย่างปลอดภัย หลังจากละโลกไปแล้วต้องไปสู่ชีวิตใหม่ที่สดใสกว่าเดิม นั่นคือ ต้องเป็นผู้ ถึงพร้อมด้วยศรัทธา คือ มีความเลื่อมใสในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในใจเห็นพระธรรมกายใสแจ่ม ทั้งเลื่อมทั้งใสสว่างเห็นตลอดเวลา เลื่อมใสในพระธรรม เห็นธรรมรัตนะใสแจ่มในกลางพุทธรัตนะ เสื่อมใสในพระสงฆ์ คือ เห็นสังฆรัตนะ ธรรมกายที่ละเอียดกว่า ซ้อนอยู่ในกลางธรรมรัตนะ ความเลื่อมใสจะนำไปสู่ความบริสุทธิ์ภายใน และความบริสุทธิ์นี้จะเป็นบ่อเกิดแห่งคุณความดีทั้งหลาย จะทำให้เราเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล เมื่อกาย วาจา ใจของเราบริสุทธิ์ ใจจะมีแต่ความคิดที่ดีๆ คิดจะเสียสละ คิดจะเป็นผู้ให้ เราก็จะถึงพร้อมด้วยจาคะ สละความตระหนี่ออกจากใจ โดยเฉพาะสละอารมณ์ที่ไม่ดีออกไป ให้เหลือไว้แต่อารมณ์ที่ดีเท่านั้น อารมณ์สบาย อารมณ์เยือกเย็น มีใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส มีแต่ให้ความปรารถนาดีต่อผู้อื่น ประการสุดท้ายคือ ความถึงพร้อมด้วยปัญญา รู้จักบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์หรือมิใช่ประโยชน์ เป็นปัญญาทางธรรมที่จะช่วยชี้หนทางสว่างในชีวิต ช่วยให้เราพ้นจากทุกข์ ไม่พลัดตกไปในอบายภูมิ

ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาพระสัทธรรมคำสั่งสอน ให้รู้จักประโยชน์ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เพื่อชีวิตเราจะได้ปลอดภัยทั้งในโลกนี้และโลกหน้า โดยเฉพาะปัญญาที่เกิดจากการทำสมาธิเจริญภาวนา เรียกว่าเป็นภาวนามยปัญญา เป็นปัญญาที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้น ท่านได้กล่าวไว้ว่า “แสงสว่างใดจะเสมอด้วยแสงสว่างแห่งปัญญานั้นไม่มี” จะสว่างได้ใจต้องหยุด ถ้าใจหยุดเดี๋ยวสว่างเอง เราจะเข้าถึงแสงสว่างภายใน เข้าถึงกายภายใน และเข้าถึงพระธรรมกายเป็นลำดับ

ในอดีตเขารู้จักปฏิบัติตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากันอย่างนี้ ถึงได้เรียกว่าบัณฑิต เพราะได้ทำประโยชน์ทั้งในภพนี้และภพหน้า ส่วนประโยชน์ที่สูงยิ่งไปกว่านั้น เรียกว่า ปรมัตถประโยชน์ คือประโยชน์อันสูงสุด นั่นคือการทำพระนิพพานให้แจ้ง มีวิธีการเดียวเท่านั้น ที่จะทำให้เราเข้าไปถึงความรู้แจ้ง คือ ทำใจหยุดอย่างเดียว หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ  ท่านถึงยํ้าว่า หยุดเป็นตัวสำเร็จ ถ้าหยุดนิ่งได้สนิท เราจะไปถึงเป้าหมายอันสูงสุด คือ ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน การฝึกใจหยุดนิ่งจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก จะก่อให้เกิดประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่ตัวเราเอง และมวลมนุษยชาติ  

เพราะฉะนั้น เราต้องกระทำทั้งประโยชน์ในปัจจุบัน ประโยชน์ในอนาคต และประโยชน์อันสูงสุดให้ได้ ต้องมีพระนิพพานเป็นแก่นสาร มีที่สุดแห่งธรรมเป็นเป้าหมาย ถึงจะได้ชื่อว่าเป็นยอดนักสร้างบารมีที่แท้จริง  


ในสมัยพุทธกาล มีอุบาสกท่านหนึ่ง เกิดมาพร้อมกับสมบัติมากมาย อีกทั้งเป็นคนมีสติปัญญาเฉียบแหลม เรียนจบไตรเพท พอมีโอกาสเข้ามาศึกษาความรู้ทางพระพุทธศาสนา ได้ถามพระภิกษุรูปหนึ่งว่า “ทำอย่างไรจึงจะใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า และทำอย่างไรถึงจะได้บุญมาก” พระท่านตอบว่าให้หมั่นทำทานอย่างสม่ำเสมอ อุบาสกกลับไปบ้าน ก็ตั้งใจทำบุญตักบาตรทุกวัน ช่วยเหลือเจือจุนคนยากคนจนมิได้ขาด แต่ก็ยังไม่อิ่มใจ จึงได้ย้อนกลับไปถามพระใหม่ว่า "ทำทานแล้วควรทำอย่างไรอีก" พระท่านก็ตอบว่า "ให้ตั้งใจรักษาศีล" เขาก็ตั้งใจรักษาศีล ๕ และศีล ๘ อย่างเต็มที่ จนมีความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจขึ้นมา ต่อมาจึงอยากจะทำสมาธิภาวนาให้เหมือนกับพระท่านบ้าง

สุดท้ายจึงเห็นว่า ชีวิตฆราวาสเป็นชีวิตที่คับแคบ มากไปด้วยธุลี โอกาสที่จะทำตนให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ประดุจสังข์ขัดนั้นทำได้ยาก โอกาสในการทำภาวนาก็ไม่ค่อยมี ท่านจึงได้ตัดสินใจขอบวชเป็นพระภิกษุ เมื่อบวชแล้วก็ตั้งใจแสวงหาหนทางดับทุกข์ ตั้งใจประพฤติตามพระธรรมวินัยเป็นอย่างดี แล้วก็ทำภาวนาอย่างเอาจริงเอาจัง ปรารภความเพียรอย่างไม่ลดละ เพียงไม่กี่วันก็สามารถทำใจหยุดนิ่ง เข้าถึงกายธรรมอรหัตเป็นพระอรหันต์ในที่สุด พระพุทธองค์ทรงทราบแล้วได้ตรัสอนุโมทนาสาธุการในท่ามกลางพุทธบริษัท และทรงสอนให้เอาเป็นแบบอย่างในการสร้างความดี คือให้สั่งสมความดีไปเรื่อยๆ จนกระทั่งความดีถึงที่สุด

เราจะเห็นว่า สุดยอดของการแสวงหา คือการได้เข้าถึงความสุขภายใน เข้าถึงกายธรรมอรหัตซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต เพราะฉะนั้น เราจะต้องศึกษาให้เข้าใจว่า อะไรคือแก่นแท้ของชีวิต อะไรคือเรื่องหลัก อะไรคือเรื่องรอง ถ้าเราทราบได้อย่างนี้ เราจะได้เป็นคนที่ไม่หลงโลก ไม่เพลิดเพลินอยู่ในโลก จะใช้ชีวิตอยู่ในโลกนี้ได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ เพราะเราต่างทราบแล้วว่า ธรรมกายคือเป้าหมายของชีวิต เกิดมาแล้วต้องเข้าถึงธรรมกายให้ได้

จะเข้าถึงได้ใจต้องหยุด คือเอาใจมาหยุดนิ่งตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เมื่อหยุดถูกส่วนจะเห็นเป็นดวงใสสะอาดบริสุทธิ์ ปรากฏเกิดขึ้นมาที่ศูนย์กลางกาย อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน หรือยิ่งกว่านั้น จะขนาดไหนก็ตาม เมื่อเกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เรียกว่า ดวงปฐมมรรค ซึ่งแปลว่า หนทางเบื้องต้นที่จะเข้าถึงธรรมกาย และธรรมกายจะเกิดขึ้นที่เดียวเท่านั้น คือที่ฐานที่ ๗ ซึ่งกายธรรมนี่แหละเป็นกายแห่งการตรัสรู้ธรรมของทุกๆ คน

เมื่อถึงธรรมกายก็จะเกิดธรรมจักขุและญาณทัสสนะ การเห็นด้วยธรรมกายเป็นการเห็นที่แตกต่างไปจากการเห็นด้วยตามนุษย์หรือตาทิพย์ คือเห็นได้รอบตัว ทั้งซ้าย ขวา หน้า หลัง บน ล่าง ตรงกลาง ระหว่างหัวต่อในเวลาเดียวกัน เห็นอย่างนี้เรียกว่าเห็นรอบตัว เห็นรอบทิศ และก็หยั่งรู้ได้ด้วยญาณทัสสนะของธรรมกาย รู้ทั่วถึง รู้พร้อม รู้ยิ่ง รู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดหมดในภพสาม โลกันตร์ และนิพพาน

ธรรมกายนี้มีอยู่หลายระดับ ตั้งแต่ธรรมกายโคตรภู ธรรมกายพระโสดาบัน ธรรมกายพระสกทาคามี ธรรมกายพระอนาคามี และธรรมกายพระอรหัต เป้าหมายสูงสุด คือต้องเข้าไปให้ถึงกายธรรมอรหัตที่ละเอียดที่สุด บริสุทธิ์ที่สุด หลุดพ้นจากการบังคับบัญชาของกิเลสอาสวะ ถ้าถึงกายธรรมอรหัตก็ได้ชื่อว่า บรรลุเป้าหมายสูงสุดของการเกิดมาเป็นมนุษย์ในชาตินี้

ถ้าจับหลักเช่นนี้ได้แล้ว เราจะได้รู้ว่าธรรมกายนี้แหละ เป็นเป้าหมายที่แท้จริงของมวลมนุษยชาติ เป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุด ที่เรียกว่าเป็นสรณะ ไม่ใช่ต้นไม้ ภูเขาเลากา ไม่ใช่จอมปลวก เจ้าทรงผีสิงอะไรต่างๆ เหล่านี้ล้วนไม่ใช่สรณะ ไม่ใช่ที่พึ่งที่ระลึกอันแท้จริง ที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริงนั้นอยู่ภายในตัวของเรานี่เอง คือธรรมกายหรือพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ  สามอย่างนี้เท่านั้นที่เป็นสรณะอันประเสริฐ ควรที่เราจะระลึกนึกถึงอยู่ตลอดเวลา

เพราะฉะนั้น ให้หมั่นฝึกใจให้หยุด ให้นิ่ง ให้เข้าถึงธรรมกายให้ได้ อย่าเอาภารกิจการงานมาเป็นข้ออ้างสำหรับตัวเรา ทำให้เราทอดธุระในการปฏิบัติธรรม เพราะเวลาในโลกนี้มีอยู่อย่างจำกัด จงใช้เวลาทุกวินาทีให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการประพฤติปฏิบัติธรรม ทำใจให้หยุดนิ่งกันให้ได้ทุกๆ ท่าน

พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี

วันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

๒. ชนกชาดก - เรื่อง พระมหาชนก


๒. ชนกชาดก - เรื่อง พระมหาชนก

ณ เมืองมิถิลาแห่งรัฐวิเทหะ พระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระนามว่า พระเจ้ามหาชนกทรงมีพระโอรสสององค์ คือ เจ้าอริฏฐชนก และ เจ้าโปลชนก เจ้าอริฏฐชนกทรงเป็นอุปราชส่วนเจ้าโปลชนกทรงเป็นเสนาบดี เมื่อพระราชบิดาสวรรคต เจ้าอริฏฐชนกผู้เป็นอุปราชก็ได้ครองบ้านเมืองต่อมา เจ้าโปลชนกทรงเป็นอุปราช ทรงเอาใจใส่ดูแลบ้านเมืองช่วยเหลือพระเชษฐาอย่างดียิ่ง มีอำมาตย์คนหนึ่งไม่พอใจพระเจ้าโปลชนกจึงหาอุบายให้ พระราชาอริฏฐชนกระแวงพระอนุชา โดยทูลพระราชาว่า เจ้าโปลชนกคิดขบถจะปลงพระชนม์พระราชา พระราชาทรงเชื่อคำอำมาตย์จึงให้จับเจ้าโปลชนกไปขังไว้ เจ้าโปลชนกเสด็จหนีไปจากที่คุมขังได้หลบไปอยู่ที่ชายแดนเมืองมิถิลา เจ้าโปลชนกทรงคิดว่าเมื่อครั้งที่ยังเป็นอุปราชนั้น มิได้เคยคิดร้ายต่อพระราชาผู้เป็นพี่เลยแต่ก็ยังถูกระแวงจนต้องหนีมา ถ้าพระราชาทรงรู้ว่า อยู่ที่ไหนก็คงให้ทหารมาจับไปอีกจนได้

บัดนี้ผู้คนมากมายที่ชายแดนที่เห็นใจและพร้อมที่จะเข้าเป็นพวกด้วย ควรที่จะรวบรวมผู้คนไปโจมตีเมืองมิถิลาเสียก่อนจึงจะดีกว่า เมื่อคิดดังนั้นแล้วเจ้าโปลชนกก็พาสมัครพรรคพวกยกเป็นกองทัพไปล้อมเมืองมิถิลา บรรดาทหารแห่งเมืองมิถิลาพากัน เข้ากับเจ้าโปลชนกอีกเป็นจำนวนมากเพราะเห็นว่าเจ้าโปลชนกเป็นผู้ซื่อสัตย์และมีความสามารถ แต่กลับถูกพระราชาระแวง และจับไปขังไว้โดยไม่ยุติธรรม ครั้นเมื่อเจ้าโปลชนกมีผู้คนไพร่พลเข้าสมทบด้วยเป็นจำนวนมากมายเช่นนี้ พระเจ้าอริฏฐชนกทรงเห็นว่าไม่มีทางจะเอาชนะได้จึงตรัสสั่งพระมเหสีซึ่งกำลังทรงครรภ์แก่ให้ทรงหลบหนีเอาตัวรอด ส่วนพระองค์เองทรงออกทำสงครามและสิ้นพระชนม์ในสนามรบ เจ้าโปลชนกจึงทรงได้เป็นกษัตริย์ครองเมืองมิถิลาสืบต่อมา ฝ่ายพระมเหสีของพระเจ้าอริฏฐชนกเสด็จหนีออกจากเมืองมาตั้งพระทัยจะเสด็จไปอยู่เมืองกาลจัมปากะแต่กำลังทรงครรภ์แก่ เดินทางไม่ไหวด้วยเดชานุภาพแห่งพระโพธิสัตว์ซึ่งอยู่ในพระครรภ์พระอินทร์จึงเสด็จมาช่วย ทรงแปลงกายเป็นชายชราขับเกวียนมาที่ศาลาที่พระนางพักอยู่และถามขึ้นว่า "มีใครจะไปเมืองกาลจัมปากะบ้าง"

พระนางดีพระทัยรีบตอบว่า "ลุงจ๋า ฉันจะไปจ๊ะ" พระอินทร์แปลงจึงรับพระนางขึ้นเกวียน พาเดินทางไป เมืองกาลจัมปากะ ด้วยอานุภาพเทวดา แม้ระยะทาง ไกลถึง 60 โยชน์ เกวียนนั้นก็เดินทางไปถึงเมืองในชั่ววันเดียว พระมเหสีเสด็จไปนั่งพักอยู่ในศาลาแห่งหนึ่งในเมืองนั้น บังเอิญมีพราหมณ์ทิศาปาโมกข์ผู้หนึ่งเดินผ่านมาเห็นพระนางเข้าก็เกิดความเอ็นดูสงสารจึงเข้าไปไต่ถาม พระนางก็ตอบว่าหนีมาจากเมืองมิถิลา และไม่มีญาติพี่น้องอยู่ที่เมืองนี้เลย พราหมาณ์ทิศาปาโมกข์จึงรับพระนางไปอยู่ด้วย ที่บ้านของตนอุปการะเลี้ยงดูพระนางเหมือนเป็นน้องสาว ไม่นานนักพระนางก็ประสูติพระโอรสทรงตั้งพระนามว่า มหาชนกกุมาร ซึ่งเป็นพระนามของพระอัยกาของพระกุมาร มหาชนกกุมารทรงเติบโตขึ้นในเมืองกาลจัมปากะ มีเพื่อนเล่นเด็กๆ วัยเดียวกันเป็นจำนวนมาก วันหนึ่งมหาชนกกุมารโกรธกับเพื่อนเล่นจึงลากเด็กคนนั้นไปด้วยกำลังมหาศาล เด็กก็ร้องไห้บอกกับคนอื่นๆ ว่าลูกหญิงม่ายรังแกเอา มหาชนกกุมารได้ยินก็แปลกพระทัยจึงไปถามพระมารดาว่า "ทำไมเพื่อนๆ พูด ว่า ลูกเป็นลูกแม่ม่าย พ่อของลูกไปไหน"


พระมารดาตอบว่า "ก็ท่านพราหมณ์ทิศา ปาโมกข์นั่นแหล่ะเป็น พ่อของลูก" เมื่อมหาชนกกุมารไปบอกเพื่อนเล่นทั้งหลายเด็กเหล่านั้นก็หัวเราะเยาะบอกว่า "ไม่จริง ท่านอาจารย์ทิศาปาโมกข์ไม่ใช่พ่อของเจ้า"
มหาชนกก็กลับมาทูลพระมารดา อ้อนวอนให้บอกความจริง พระมารดาขัดไม่ได้ จึงตรัสเล่าเรื่องทั้งหมดให้พระโอรสทรงทราบ เมื่อพระกุมารทราบว่าพระองค์ทรงมีความเป็นมาอย่างไรก็ทรงตั้งพระทัยว่าจะร่ำเรียนวิชาการเพื่อให้มีความรู้ความสามารถ จะได้เสด็จไปเอาราชสมบัติเมืองมิถิลาคืนมา

ครั้นมหาชนกกุมารร่ำเรียนวิชาในสำนักพราหมณ์จนเติบใหญ่ พระชนม์ได้ 16 พรรษาจึงทูลพระมารดาว่า
"หม่อมฉันจะเดินทาง ไปค้าขาย เมื่อมีทรัพย์สินมากพอแล้ว จะได้คิดอ่าน เอาบ้านเมืองคืนมา" พระมารดาทรงนำเอาทรัพย์สินมีค่ามาจากมิถิลา 3 สิ่ง คือ แก้วมณี แก้วมุกดา และแก้ววิเชียร อันมีราคามหาศาล จึงประทานแก้วนั้นให้พระมหาชนกเพื่อนำไปซื้อสินค้า พระมหาชนกทรงจัดซื้อสินค้าบรรทุกลงเรือร่วมไปกับพ่อค้าชาวสุวรรณภูมิในระหว่างทางเกิดพายุใหญ่โหมกระหน่ำ คลื่นซัดจนเรือจวนจะแตก บรรดาพ่อค้าและลูกเรือพากันตระหนกตกใจบวงสรวงอ้อนวอนเทพยดาขอให้รอดชีวิต

ฝ่ายมหาชนกกุมารเมื่อทรงทราบว่าเรือจะจมแน่แล้วก็เสวยอาหารจนอิ่มหนำทรงนำผ้ามาชุบน้ำมันจนชุ่ม แล้วนุ่งผ้านั้นอย่างแน่นหนา ครั้นเมื่อเรือจมลงเหล่าพ่อค้ากลาสีเรือทั้งปวงก็จมน้ำกลายเป็นอาหารของสัตว์น้ำไปหมด แต่พระมหาชนกทรงมีกำลังจากอาหารที่เสวยมีผ้าชุบน้ำมันช่วยไล่สัตว์น้ำและช่วยให้ลอยตัวอยู่ในน้ำได้ดี จึงทรงแหวกว่าย อยู่ในทะเลได้นานถึง 7 วัน

ฝ่ายนางมณีเมขลาเทพธิดาผู้รักษามหาสมุทรเห็นพระมหาชนกว่ายน้ำอยู่เช่นนั้นจึงลองพระทัยพระมหาชนก "ใครหนอ ว่ายน้ำอยู่ได้ถึง 7 วัน ทั้งๆ ที่มองไม่เห็นฝั่ง จะทนว่ายไปทำไมกัน" 

พระมหาชนกทรงตอบว่า "ความเพียรย่อมมีประโยชน์ แม้จะมองไม่เห็นฝั่ง เราก็จะว่ายไปจนกว่าจะถึง ฝั่งเข้าสักวันหนึ่ง"


นางมณีเมขลากล่าวว่า "มหาสมุทรนี้กว้างใหญ่นัก ท่านจะพยายามว่ายสักเท่าไรก็คงไม่ถึงฝั่ง ท่านคงจะ ตายเสียก่อนเป็นแน่"

พระมหาชนกตรัสตอบว่า "คนที่ทำความเพียรนั้น แม้จะต้องตายไปในขณะกำลังทำ ความเพียรพยายามอยู่ ก็จะไม่มีผู้ใดมาตำหนิติเตียนได้ เพราะได้ทำหน้าที่เต็มกำลังแล้ว"


นางมณีเมขลาถามต่อว่า "การทำความพยายามโดยมองไม่เห็น ทางบรรลุเป้าหมายนั้น มีแต่ความยากลำบาก อาจถึงตายได้ จะต้องเพียรพยายามไปทำไมกัน"


พระมหาชนกตรัสตอบว่า "แม้จะรู้ว่าสิ่งที่เรา กำลังกระทำนั้นอาจไม่สำเร็จก็ตาม ถ้าไม่เพียรพยายามแต่กลับหมดมานะเสียแต่ต้นมือ ย่อมได้รับ ผลร้ายของความเกียจคร้านอย่างแน่นอน ย่อมไม่มีวัน บรรลุถึงเป้าหมายที่ต้องการ บุคคลควรตั้งความเพียรพยายาม แม้การนั้นอาจไม่สำเร็จก็ตาม เพราะเรามีความพยายาม ไม่ละความตั้งใจ เราจึงยังมีชีวิตอยู่ได้ ในทะเลนี้ เมื่อคนอื่นได้ตายกันไปหมดแล้ว เราจะพยายามสุดกำลัง เพื่อไปให้ถึงฝั่งให้จงได้"

นางมณีเมขลาได้ยินดังนั้นก็เอ่ยสรรเสริญความเพียรของมหาชนกกุมารและช่วยอุ้มพามหาชนกกุมารไปจนถึงฝั่งเมืองมิถิลา วางพระองค์ไว้ที่ศาลาในสวนแห่งหนึ่ง

ในเมืองมิถิลา พระราชาโปลชนกไม่มีพระโอรสทรงมีแต่พระธิดาผู้ฉลาดเฉลียวเป็นอย่างยิ่ง พระนามว่าเจ้าหญิงสิวลี ครั้นเมื่อพระองค์ประชวรหนักใกล้จะสวรรคตบรรดาเสนาทั้งปวงจึงทูลถามขึ้นว่า เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์แล้วราชสมบัติ ควรจะตกเป็นของผู้ใดในเมื่อไม่ทรงมีพระโอรส พระเจ้าโปลชนกตรัสสั่งเสนาว่า
"ท่านทั้งหลายจงมอบราชสมบัติให้แก่ผู้มีความสามารถดังต่อไปนี้ ประการแรก เป็นผู้ที่ทำให้พระราชธิดาของเราพอพระทัยได้ประการที่สอง สามารถรู้ว่าด้านไหนเป็นด้านหัวนอนของบัลลังก์รูปสี่เหลี่ยม ประการที่สาม สามารถยกธนูใหญ่ซึ่งต้องใช้แรงคนธรรมดาถึงพันคนจึงจะยกขึ้นได้ ประการที่สี่ สามารถชี้บอกขุมทรัพย์มหาศาลทั้ง 13 แห่งได้"

แล้วจึงตรัสบอกปัญหาของขุมทรัพย์ทั้ง 13 แห่งแก่เหล่าอำมาตย์ เช่น ขุมทรัพย์ที่ดวงอาทิตย์ขึ้น ขุมทรัพย์ที่ดวงอาทิตย์ตก ขุมทรัพย์ที่อยู่ภายใน ขุมทรัพย์ที่อยู่ภายนอก ขุมทรัพย์ที่ไม่ใช่ภายในและภายนอก ขุมทรัพย์ที่ปลายไม้ ขุมทรัพย์ที่ปลายงา ขุมทรัพย์ที่ปลายหาง เป็นต้น เมื่อพระราชาสิ้นพระชนม์ บรรดาเสนาบดีทหารพลเรือนและประชาราษฎร์ทั้งหลายต่างพยายามที่จะเป็นผู้สืบราชสมบัติ แต่ก็ไม่มีผู้ใดสามารถทำให้เจ้าหญิงสีวลีพอพระทัยได้ เพราะล้วนแต่พยายามเอาพระทัยเจ้าหญิงมากเกินไป จนเสียลักษณะของผู้ที่จะปกครองบ้านเมือง ไม่มีผู้ใดสามารถยกมหาธนูใหญ่ได้ ไม่มีผู้ใดรู้ทิศหัวนอนของบัลลังก์สี่เหลี่ยม และไม่มีผู้ใดไขปริศนาขุมทรัพย์ได้ ในที่สุดบรรดาเสนาข้าราชบริพารจึงควรตั้งพิธีเสี่ยงราชรถเพื่อหาตัวบุคคลผู้มีบุญญาธิการสมควรครองเมือง บุษยราชรถเสี่ยงทายนั้นก็แล่นออกจากพระราชวัง ตรงไปที่สวนแล้วหยุดอยู่หน้าศาลาที่พระมหาชนกทรงนอนอยู่ ปุโรหิตที่ตามราชรถจึงให้ประโคมดนตรีขึ้น พระมหาชนกได้ยินเสียงประโคม จึงลืมพระเนตรขึ้นเห็นราชรถก็ทรงดำริว่า คงเป็นราชรถเสี่ยงทายพระราชาผู้มีบุญเป็นแน่ แต่ก็มิได้แสดงอาการอย่างใดกลับบรรทมต่อไป ปุโรหิตเห็นดังนั้น ก็คิดว่าบุรุษผู้นี้เป็นผู้มีสติปัญญาไม่ตื่นเต้นตกใจกับสิ่งใดโดยง่ายจึงเข้าไปตรวจดูพระบาทพระมหาชนก เห็นลักษณะต้องตามคำโบราณว่าเป็นผู้มีบุญจึงให้ประโคมดนตรีขึ้นอีกครั้งแล้วเข้าไปทูลอัญเชิญ พระมหาชนกให้ทรงเป็นพระราชาเมืองมิถิลา พระมหาชนกตรัสถามว่า "พระราชาไปไหนเสีย"

ปุโรหิตก็กราบทูลว่า "พระราชาสวรรคต ไม่มีพระโอรสมีแต่พระธิดาคือเจ้าหญิงสิวลี แต่องค์เดียว" พระมหาชนกจึงทรงรับเป็นกษัตริย์ครองมิถิลา ฝ่ายเจ้าหญิงสิวลีได้ทรงทราบว่าพระมหาชนกได้ราชสมบัติก็ประสงค์จะทดลองว่าพระมหาชนกสมควรเป็นกษัตริย์หรือไม่ จึงให้ราชบุรุษไปทูลเชิญเสด็จมาที่ปราสาทของพระองค์ พระมหาชนกก็เฉยเสียมิได้ไปตามคำทูล เจ้าหญิงให้คนไปทูลถึง 3 ครั้ง พระมหาชนกก็ไม่สนพระทัย จนถึงเวลาหนึ่งก็เสด็จไปที่ปราสาทของเจ้าหญิงเองโดยไม่ทรงบอกล่วงหน้า เจ้าหญิงตกพระทัยรีบเสด็จมาต้อนรับเชิญไปประทับบนบัลลังก์พระมหาชนกจึงตรัสถามอำมาตย์ว่าพระราชาที่สิ้นพระชนม์ ตรัสสั่งอะไรไว้บ้าง อำมาตย์ก็ทูลตอบ

พระมหาชนกจึงตรัสสั่งว่า

ข้อที่ 1 "ที่ว่าทำให้เจ้าหญิงพอพระทัย เจ้าหญิงได้ แสดงแล้วว่าพอพระทัยเราจึงได้เสด็จมาต้อนรับเรา"
ข้อที่ 2 เรื่องปริศนาทิศหัวนอนบัลลังก์นั้น พระมหาชนกทรงคิดอยู่ครู่หนึ่งแล้วถอดเข็มทองคำที่กลัดผ้าโพกพระเศียรออก ส่งให้เจ้าหญิงให้วางเข็มทองคำไว้ เจ้าหญิงทรงรับเข็มไปวางไว้บนบัลลังก์สี่เหลี่ยม พระมหาชนกจึงทรงชี้บอกว่าตรงที่เข็มวาง อยู่นั้นแหละคือทิศหัวนอนของบัลลังก์ โดยสังเกต จากการที่เจ้าหญิงทรงวางเข็มทองคำจากพระเศียรไว้ 

ข้อที่ 3 นั้นก็ตรัสสั่งให้นำมหาธนูมาทรงยกขึ้นและน้าวอย่างง่ายดาย 

ข้อที่ 4 เมื่ออำมาตย์กราบทูลถึงปัญหาของขุมทรัพย์ทั้ง 13 แห่ง พระมหาชนกทรงคิดอยู่ครู่หนึ่ง แล้วก็ ตรัสบอกคำแก้ปริศนา ขุมทรัพย์ทั้ง 13 แห่งได้หมด เมื่อสั่งให้คนไปขุดดู ก็พบขุมทรัพย์ ตามที่ตรัสบอกไว้ทุกแห่ง ผู้คนจึงพากันสรรเสริญปัญญาของ พระมหาชนกกันทั่วทุกแห่งหน พระมหาชนกโปรดให้เชิญพระมารดาและพราหมณ์ทิศาปาโมกข์จากเมืองกาลจัมปากะ ทรงอุปถัมภ์ บำรุงให้สุขสบาย ตลอดมา จากนั้นทรงสร้างโรงทานใหญ่ 6 ทิศในเมืองมิถิลา ทรงบริจาคมหาทานเป็นประจำ เมืองมิถิลาจึงมีแต่ความผาสุก สมบูรณ์ เพราะพระราชาทรงอยู่ในทศพิธราชธรรม ต่อมาพระนางสิวลีประสูติพระโอรส ทรงนามว่า ทีฆาวุกุมาร เมื่อเจริญวัยขึ้น พระบิดาโปรดให้ดำรงตำแหน่งอุปราช

อยู่มาวันหนึ่ง พระราชามหาชนกเสด็จอุทยานทอดพระเนตร เห็นมะม่วงต้นหนึ่งกิ่งหัก ใบไม้ร่วง อีกต้นมีใบแน่นหนา ร่มเย็นเขียวชอุ่ม จึงตรัสถาม อำมาตย์กราบทูลว่าต้นมะม่วง ที่มีกิ่งหักนั้น เป็นเพราะรสมีผลอร่อย ผู้คนจึงพากันสอยบ้าง เด็ดกิ่งและขว้างปาเพื่อเอาบ้าง จนมีสภาพเช่นนั้น ส่วนอีกต้น ไม่มีผล จึงไม่มีคนสนใจ ใบและกิ่งจึงสมบูรณ์เรียบร้อยดี พระราชาได้ฟังก็ทรงคิดว่า ราชสมบัติ เปรียบเหมือน ต้นไม้มีผลอาจถูกทำลาย แม้ไม่ถูกทำลายก็ต้องคอย ระแวดระวังรักษา เกิดความกังวล เราจะทำตนเป็นผู้ ไม่มีกังวลเหมือนต้นไม้ไม่มีผล เราจะออกบรรพชา สละราชสมบัติเสีย มิให้เกิดกังวล

พระราชาเสด็จกลับมาปราสาท ปลงพระเกศาพระมัสสุ ครองผ้ากาสาวพัสตร์ ครองอัฏฐบริขารครบถ้วน แล้วเสด็จออกจากมหาปราสาทไป ครั้นพระนางสิวลีทรงทราบ ก็รีบติดตามมา ทรงอ้อนวอนให้ พระราชาเสด็จกลับ พระองค์ก็ไม่ยินยอม พระนางสิวลีจึงทำอุบายให้อำมาตย์ เผาโรงเรือนเก่าๆ และ กองหญ้า กองใบไม้ เพื่อให้พระราชา เข้าพระทัยว่าไฟไหม้พระคลังจะได้เสด็จกลับ

พระราชาตรัสว่า พระองค์เป็นผู้ไม่มีสมบัติแล้ว สมบัติที่แท้จริงของพระองค์ คือความสุขสงบจากการบรรพชานั้นยังคงอยู่กับพระองค์ ไม่มีผู้ใดทำลายได้ พระนางสิวลีทรงทำอุบายสักเท่าไร พระราชาก็มิได้สนพระทัย และตรัสให้ประชาชนอภิเษก พระทีฆาวุราชกุมารขึ้นเป็นกษัตริย์ เพื่อปกครองมิถิลาต่อไป
พระนางสิวลีไม่ทรงละความเพียร พยายามติดตาม พระมหาชนกต่อไปอีก


วันรุ่งขึ้นมีสุนัขคาบเนื้อที่เจ้าของเผลอ วิ่งหนีมาพบผู้คนเข้าก็ตกใจทิ้งชิ้นเนื้อไว้ พระมหาชนกคิดว่า ก้อนเนื้อนี้เป็นของไม่มีเจ้าของ สมควรที่จะเป็นอาหารของเราได้ จึงเสวยก้อนเนื้อนั้น พระนางสิวลีทรงเห็นดังนั้น ก็เสียพระทัยอย่างยิ่ง ที่พระสวามีเสวยเนื้อที่สุนัขทิ้งแล้ว แต่พระมหาชนกว่า นี่แหล่ะเป็นอาหารพิเศษ
ต่อมาทั้งสองพระองค์ทรงพบเด็กหญิงสวมกำไลข้อมือ ข้างหนึ่งมีกำไลสองอัน อีกข้างมีอันเดียว
พระราชาตรัสถามว่า"ทำไมกำไลข้างที่มีสองอันจึงมีเสียงดัง"

เด็กหญิงตอบว่า"เพราะกำไลสองอันนั้น กระทบกันจึงเกิดเสียงดัง ส่วนที่มี ข้างเดียวนั้นไม่ได้กระทบกับอะไรจึงไม่มีเสียง"

พระราชาจึง ตรัสแนะให้ พระนางคิดพิจารณาถ้อยคำของเด็กหญิง กำไลนั้นเปรียบเหมือนคนที่อยู่สองคน ย่อมกระทบกระทั่งกัน ถ้าอยู่คนเดียวก็จะสงบสุข แต่พระนางสิวลียังคงติดตามพระราชาไปอีก จนมาพบนายช่างทำลูกศร

นายช่างทูลตอบคำถามพระราชาว่า "การที่ต้องหลับตาข้างหนึ่งเวลาดัด ลูกศรนั้น ก็เพราะถ้าลืมตาสอง ข้างจะไม่เห็นว่าข้างไหนคด ข้างไหนตรง เหมือนคนอยู่สองคนก็จะขัดแย้งกัน ถ้าอยู่คนเดียวก็ไม่ขัดแย้ง กับใคร" พระราชาตรัสเตือนพระนางสิวลีอีกครั้งหนึ่งว่า พระองค์ประสงค์จะเดินทางไปตามลำพัง เพื่อแสวงหา ความสงบไม่ประสงค์จะมีเรื่องขัดแย้งกระทบกระทั่ง หรือความไม่สงบอันเกิดจากการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น อีกต่อไปพระนางสิวลีได้ฟังพระวาจาดังนั้นก็น้อยพระทัยจึงตรัสว่า "ต่อไปนี้หม่อมฉันหมดวาสนาจะได้อยู่ร่วมกับ พระองค์อีกแล้ว"

พระราชาจึงเสด็จไปสู่ป่าใหญ่แต่ลำพังเพื่อบำเพ็ญสมาบัติ มิได้กลับมาสู่พระนครอีก ส่วนพระนางสิวลีเสด็จกลับเข้าสู่ พระราชวัง อภิเษกพระทีฆาวุกุมารขึ้นเป็นพระราชา แล้วพระนางโปรดให้สร้างเจดีย์ขึ้นในที่ต่างๆ เพื่อรำลึกถึง พระราชามหาชนก ผู้ทรงมีพระสติปัญญา และที่ยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด คือ ทรงมีความ เพียรพยายามเป็นเลิศ มิได้เคยเสื่อมถอย จากความเพียร ทรงตั้งพระทัยที่จะกระทำการโดยเต็มกำลัง ความสามารถ เพราะทรงยึดมั่นว่า บุคคลควรตั้งความเพียรพยายามไม่ว่ากิจการนั้น จะยากสักเพียงใด ก็ตาม คนมีปัญญาแม้ได้รับทุกข์ ก็จะไม่สิ้นหวัง ไม่สิ้นความเพียรที่จะพาตนให้พ้นจากความทุกข์นั้นให้ ได้ในที่สุด

คติธรรม : บำเพ็ญวิริยบารมี
"เกิดเป็นคนควรมีความพากเพียรให้ถึงที่สุด เพื่อให้ถึงแก่สิ่งที่มุ่งหวัง เพียรสุดกำลังจนชีวิตหาไม่ก็จงเพียร แล้วความสำเร็จจะมาเยือน"

ที่มา : ธรรมะไทย


วันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

๐๖ ราโชวาทชาดก - คุณสมบัติของผู้นำ

กลฺยาณํ วต โภ สกฺขิ อตฺตานํ อติมญฺญสิ 

ท่านเอ๋ย ! ท่านก็สามารถทำดีได้ ไยจึงมาดูหมิ่นตัวเองเสีย

ในสมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถีทรงปรารภโอวาทของพระราชา ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่า กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพระฤๅษีนำเพ็ญเพียรอยู่ในป่าหิมพานต์ มีรากไม้และผลไม้เป็นอาหาร ในสมัยนั้น พระเจ้าพรหมทัตขึ้นครองราชสมบัติในเมืองพาราณสี พระองค์เป็นผู้รังเกียจความไม่ดี วันหนึ่งทรงดำริว่า "เราปกครองเมืองมานี้ มีใครเดือนร้อนและกล่าวโทษของเราหรือเปล่าหนอ" จึง ทรงแสวงหาอยู่ทั้งในวังและนอกวังก็ไม่พบเห็นใครกล่าวโทษพระองค์ ทรงปลอมพระองค์ไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ ก็ไม่พบเห็นจึงแวะเข้าไปในป่าหิมพานต์เข้าไปสนทนากับฤๅษีด้วยทำทีเป็นคนหลงทาง


ฤๅษีได้ทำการต้อนรับด้วยผลไม้ป่านานาชนิด พระราชาปลอมได้เสวยผลไม้ป่ามีรสหวานอร่อยดี จึงถามถึงสาเหตุที่ทำให้ผลไม้มีรสหวานอร่อยดี ฤๅษีจึงทูลว่า "ท่านผู้มีบุญ เป็นเพราะพระราชาครองราชย์โดยธรรมเป็นแน่ ผลไม้จึงมีรสหวานอร่อยดี" พระราชาปลอมสงสัยจึงถามอีกว่า "ถ้าพระราชาไม่ครองราชย์โดยธรรม ผลไม้จะมีรสชาติเป็นเช่นไรล่ะพระคุณเจ้า "ฤๅษีตอบว่า "ผลไม้ก็จะมีรสขมฝาด หมดรสชาติไม่อร่อยละโยม" พระราชาปลอมสนทนาเสร็จแล้วก็อำลาฤๅษีกลับคืนเมืองไป ทรงทำการทดลองคำพูดของพระฤๅษีด้วยการไม่ประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นปีแล้วกลับไปหาฤๅษีอีก ฤๅษีก็ทำการต้อนรับด้วยผลไม้ พอผลไม้เข้าปากเท่านั้นก็ต้องถ่มทิ้งไป เพราะผลไม้มีรสขมฝาด


ฤๅษีจึงแสดงธรรมว่า "โยม..คงเป็นเพราะพระราชาไม่ครองราชย์โดยธรรมแน่เลย ธรรมดาฝูงโคว่ายข้ามแม่น้ำ จ่าฝูงว่ายคดฝูงโคก็ว่ายคดตามกันไป เหมือนหมู่มนุษย์ถ้าผู้นำมนุษย์ประพฤติไม่เป็นธรรม ประชาชนก็ประพฤติไม่เป็นธรรมเช่นเดียวกัน พระราชาผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม ทวยราษฎร์ก็เป็นทุกข์ทั่วกัน ถ้าจ่าฝูงโคง่ายน้ำตรง ฝูงโคก็ว่ายตรงเช่นกัน เหมือนหมู่มนุษย์ถ้าผู้นำประพฤติเป็นธรรม ประชาชนก็ต้องประพฤติเป็นธรรมเช่นกัน พระราชาผู้ตั้งอยู่ในธรรม ทวยราษฎร์ก็อยู่ร่มเย็นเช่นกัน"


พระราชาสดับธรรมของพระฤๅษีแล้วจึงแสดงพระองค์เป็นพระราชาให้พระฤๅษีทราบ ไหว้ฤๅษีแล้วกลับคืนเมืองประพฤติตั้งตนอยู่ในทศพิธราชธรรมเช่นเดิม ทำให้สรรพสิ่งทั้งปวงกลับเป็นปกติตามเดิม


นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า : ผู้นำที่ดีต้องเป็นตัวอย่างและที่พี่งของประชาชนได้และเป็นไปเพื่อความสงบสุขของประชาชน


ที่มา : หนังสือนิทานชาดก โดย พระมหาสุนทร สุนฺทรธฺมโม (เสนาซุย)

วันเสาร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

10. หมวดลงทัณฑ์ - PUNISHMENT

10. หมวดลงทัณฑ์ - PUNISHMENT

๑. สพฺเพ  ตสนฺติ  ทณฺฑสฺส   สพฺเพ  ภายนฺติ  มจฺจุโน,  

    อตฺตานํ  อุปมํ  กตฺวา    น  หเนยฺย  น  ฆาตเย ฯ๑๒๙ฯ

สัตว์ทั้งหมดกลัวโทษทัณฑ์ สัตว์ทั้งหมดกลัวความตาย เปรียบตนเองกับผู้อื่นอย่างนี้แล้ว ไม่ควรฆ่าเอง ไม่ควรสั่งให้คนอื่นฆ่า

All tremble at punishment; All fear death; Comparing others with oneself, One should neither kill nor cause to kill.

๒. สพฺเพ  ตสนฺติ  ทณฺฑสฺส   สพฺเพสํ  ชีวิตํ  ปิยํ, 

    อตฺตานํ  อุปมํ  กตฺวา   น  หเนยฺย  น  ฆาตเย ฯ๑๓๐ฯ

สัตว์ทั้งหมดกลัวโทษทัณฑ์ สัตว์ทั้งหมดรักชีวิตของตน เปรียบตนเองกับคนอื่นอย่างนี้แล้ว ไม่ควรฆ่าเอง ไม่ควรสั่งให้คนอื่นฆ่า

All tremble a punishment; To all life is dear; Comparing others with oneself, One should neither kill nor cause to kill.

๓. สุขกามานิ  ภูตานิ   โย  ทณฺเฑน  วิหึสติ, 

    อตฺตโน  สุขเมสาโน   เปจฺจ  โส  น  ลภเต  สุขํ ฯ๑๓๑ฯ

สัตว์ทั้งหลายล้วนต้องการความสุข ผู้ที่ต้องการความสุขแก่ตน แต่เบียดเบียนสัตว์อื่น ตายไปแล้วย่อมไม่ได้รับความสุข

Whoso, himself seeking happiness, Harms pleasure-loving beings- He gets no happiness In the world to come.

๔. สุขกามานิ  ภูตานิ   โย ทณฺเฑน น หึสติ,      

    อตฺตโน  สุขเมสาโน   เปจฺจ  โส  ลภเต  สุขํ ฯ๑๓๒ฯ

สัตว์ทั้งหลายล้วนต้องการความสุข ผู้ที่ต้องความสุขแก่ตน ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น ตายไปแล้วย่อมได้รับความสุข

Whoso, himself seeking happiness, Harms not pleasure-loving being- He gets happiness In the world to come.

๕. มาโวจ  ผรุสํ  กญฺจิ    วุตฺตา ปฏิวเทยฺยุ ตํ, 

    ทุกฺขา  หิ  สารมฺภกถา   ปฏิทณฺฑา  ผุเสยฺยุ  ตํ ฯ๑๓๓ฯ

อย่ากล่าวคำหยาบแก่ใครๆ เมื่อถูกท่านด่าว่า เขาจะโต้ตอบท่าน การพูดจากร้าวร้าวกันเป็นเหตุก่อทุกข์ อาจลุกลามถึงขั้นลงมือประทุษร้ายกัน

Speak not harshly to anyone. Those thus addressed will retort. Painful, indeed, is vindictive speech. Blows in exchange may bruise you.

๖. สเจ  เนเรสิ  อตฺตานํ    กํโส  อุปหโต  ยถา,  

    เอส  ปตฺโตสิ  นิพฺพานํ   สารมฺโภ  เต  น  วิชฺชติ ฯ๑๓๔ฯ

ถ้าเธอทำตนให้เงียบเสียงได้ เหมือนฆ้องแตก ก็นับว่าเธอเข้าถึงนิพพานแล้ว เธอก็จะไม่ต้องทะเลาะเบาะแว้งกับใครอีก

If you silence yourself As a broken gong, You have already attained Nibbana. No contention will be found in you.

๗. ยถา  ทณฺเฑน  โคปาโล   คาโว  ปาเชติ  โคจรํ,  

    เอวํ  ชรา  จ  มจฺจุ  จ   อายุํ  ปาเชนฺติ  ปาณินํ ฯ๑๓๕ฯ

ความแก่และความตาย ไล่ต้อนอายุสัตว์ทั้งหลายไป เหมือนเด็กเลี้ยงโค ถือท่อนไม้ คอยไล่ต้อนฝูงโคไปสู่ที่หากิน

As with a staff the cowherd drives His cattle out to pasture-ground, So do old age and death comple The life of beings (all around).

8. อถ  ปาปานิ  กมฺมานิ   กรํ  พาโล  น  พุชฺฌติ, 

    เสหิ  กมฺเมหิ  ทุมฺเมโธ   อคฺคิทฑฺโฒว  ตปฺปติ ฯ136ฯ

คนพาล เวลาทำชั่ว หาสำนึกถึงผลของมันไม่ คนทรามปัญญามีกเดือดร้อน เพราะกรรมชั่วของตัว เหมือนถูกไฟไหม้

When a fool does wicked deeds, He does not know their future fruit. The witless one is tormented by his own deeds As if being burnt by fire.

9. โย  ทณฺเฑน  อทณฺเฑสุ    อปฺปทุฎฺเฐสุ  ทุสฺสติ, 

    ทสนฺนมญฺญตรํ  ฐานํ    ขิปฺปเมว  นิคจฺฉติ ฯ137ฯ

ผู้ทำร้ายลงทัณฑ์แก่บุคคล ผู้ไม่เบียดเบียน ไม่ทำร้ายใคร ย่อมได้รับผลสนองสิบอย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งทันตาเห็น

He who inflicts pnishment on those Who are harmless and who offend no one Speedily comes to one of these ten states;

10. เวทนํ  ผรุสํ  ชานึ    สรีรสฺส  จ  เภทนํ,  

    ครุกํ  วาปิ  อาพาธํ    จิตฺตกฺเขปํ  ว  ปาปุเณ ฯ138ฯ

ได้รับเวทนาอย่างรุนแรง ได้รับความเสท่อมเสีย ถูกทำร้ายร่างกาย เจ็บป่วยอย่างหนัก กลายเป็นคนวิกลจริต

To grievous bodily pain, To disaster, To bodily injury, To serious illness, To loss of mind, Will he come.

11. ราชโต  วา  อุปสคฺคํ   อพฺภกฺขานํ  ว  ทารุณํ, 

    ปริกฺขยํ  ว  ญาตีนํ   โภคานํ  ว  ปภงฺคุณํ ฯ139ฯ

ต้องราชภัย ถูกกล่าวหาอย่างรุนแรง ไร้ญาติพี่น้อง ทรัพย์สมบัติก็พินาศฉิบหาย

To oppression by the king, to grave accusation, To loss of relatives, To destruction of wealth, (will he come).

12. อถวาสฺส  อคารานิ   อคฺคิ  ฑหติ  ปาวโก,  

    กายสฺส  เภทา  ทุปฺปญฺโญ   นิรยํ  โส  อุปปชฺชติ ฯ140ฯ

หรือไม่บ้านเรือนของเขาย่อมถูกไฟไหม้ ตายไป เขาผู้ทรามก็ตกนรก

Or his house will be burnt up with fire, And that unwise one will pass to hell In the world to come.

13. น  นคฺคจริยา  น  ชฎา  น  ปงฺกา, 

    นานาสกา  ตณฺฑิลสายิกา  วา, 

    รโชชลฺลํ  อุกฺกุฎิกปฺปธานํ, 

    โสเธนฺติ  มจฺจํ  อวิติณฺณกงฺขํ ฯ141ฯ

ไม่ใช่ประพฤติตนเป็นชีเปลือย ไม่ใช่มุ่นชฏา ไม่ใช่เอาโคลนทาร่างกาย ไม่ใช่การอดอาหาร ไม่ใช่นอนบนดิน ไม่ใช่คลุกฝุ่นธุลี ไม่ใช่นั่งกระโหย่ง ที่ทำให้คนผู้ยังไม่ข้ามพ้นความสงสัย บริสุทธิ์

Not nakedness, nor matted hair, Nor dirt, nor fasting, Nor lying on the ground, Nor besmearing oneself with ashes, Nor squatting on the heels, Can purity a mortal Who has not overcome doubts.

14. อลงฺกโต  เจปิ  สมํ  จเรยฺย,  

    สนฺโต  ทนฺโต  นิยโต  พฺรหฺมจารี, 

    สพฺเพสุ  ภูเตสุ  นิธาย  ทณฺฑํ,  

    โส  พฺรามหฺมโณ  โส  สมโณ  ส  ภิกขุ ฯ142ฯ

ถึงจะแต่งกายแบบใด ๆ ก็ตาม ถ้าใจสงบระงับ ควบคุมตัวได้ มั่นคง บริสุทธิ์ ไม่เบียดเบีนคนอื่น เรียกว่า พราหมณ์ สมณะ หรือ ภิกษุ

In whatever he be decked, If yet he cultivates tranquility of mind, Is calm, controlled, certain and chaste, And has ceased to injure all other beings, He is indeed, a brahmana, a samana, a bhikkhu.

15. หิรินิเสโธ  ปุริโส                   โกจิ  โลกสฺมึ  วิชฺชติ,  

    โย  นิทฺทํ  อปโพเธติ              อสฺโส  ภโทฺร  กสามิว ฯ153ฯ

ผู้หักห้ามใจไม่ทำชั่วเพราะละอายบาป หาได้น้อยนักในโลกนี้ คนเช่นนี้ย่อมปลุกตัวเองจากหลับอยู่เสมอ เหมือนม้าดี ระวังตัวเองให้พ้นแส้

Rarely is found in this world anyone Who is restrained by shame and wide-awake, As a thoroughbred horse avoids the whip.

16. อสฺโส  ยถา  ภโทฺร  กสานิวิฎฺโฐ, 

    อาตาปิโน  สํเวคิโน  ภวาถ, 

    สทฺธาย  สีเลน  จ  วีริเยน  จ, 

    สมาธินา  ธมฺมวินิจฺฉเยน  จ, 

    สมฺปนฺนวิชฺชาจรณา  ปติสฺสตา,

    ปหิสฺสถ  ทุกฺขมิทํ  อนปฺปกํ ฯ144ฯ

ธรรมดาม้าดี เมื่อถูกลงแส้ครั้งหนึ่ง ย่อมสำนึก (ความผิดครั้งแรก)และพยายาม(วิ่งให้เร็ว) พวกเธอก็จงทำตนเช่นนั้น อาศัยศรัทธา, ศีล, ความเพียรมสมาธิ, การวินิจฉัยธรรม, ความสมบูรณ์ด้วย ความรู้และความประพฤติ และอาศัยสติ พวกเธอจักละทุกข์ได้ไม่น้อยเลย

Even as a thoroughbred horse once touched by the whip Becomes agitated and exerts himself greatly, So be strenuous and filled with religious emotion, By confidance, virtue, effort and concentration, By the investigation of the Doctrine, By being endowed with knowledge and conduct And by keeping your mind alert, Will you leave this great suffering behind.

17. อุทกํ  หิ  นยนฺติ  เนตฺติกา,          

    อุสุการา  นมยนฺติ  เตชนํ,  

    ทารุํ  นมยนฺติ  ตจฺฉกา,                 

    อตฺตานํ  ทมยนฺติ  สุพฺพตา ฯ145ฯ

ชาวนา ไขน้ำเข้านา ช่าวศร ดัดลูกศร ช่างไม้ ถากไม้ คนดี ฝึกตนเอง

Irrigators lead water; Fletchers fashion shafts; Carpenters bend wood; The good tame themselves.

ที่มา : หนังสือพุทธวจนในธรรมบท โดย อ.เสถียรพงศ์ วรรณปก

1. หมวดคู่ - THE PAIRS2. หมวดไม่ประมาท - Heedfulness3. หมวดจิต - The Mind4. หมวดดอกไม้ - THE FLOWERS5. หมวดคนพาล - THE FOOL,  6. หมวดบัณฑิต - The Wise7. หมวดพระอรหันต์ - THE WORTHY8. หมวดพัน - THE THOUSANDS9. หมวดบาป - EVIL10. หมวดลงทัณฑ์ - PUNISHMENT11. หมวดชรา - OLD AGE12. หมวดตน - THE SELF13. หมวดโลก - THE WORLD14. หมวดพระพุทธเจ้า - THE ENLIGHTENED ONE15. หมวดความสุข - HAPPINESS16. หมวดความรัก - AFFECTIONS17. หมวดความโกรธ - ANGER18. หมวดมลทิน - IMPURITY19. หมวดเที่ยงธรรม - THE JUST20. หมวดทาง - THE PATH21. หมวดเบ็ดเตล็ด - MISCELLANEOUS22. หมวดนรก - HELL23. หมวดช้าง - THE ELEPHANT24. หมวดตัณหา - CRAVING25. หมวดภิกษุ - THE MONK,  26. หมวดพราหมณ์ - THE BRAHMANA

อุดมมงคล คือ มงคลอันสูงสุด — highest blessings


อุดมมงคล คือ มงคลอันสูงสุด — highest blessings
มงคล 38 (สิ่งที่ทำให้มีโชคดี, ธรรมอันนำมาซึ่งความสุขความเจริญ — blessings; เรียกเต็มว่า อุดมมงคล คือมงคลอันสูงสุด — highest blessings)
       
คาถาที่ 1

1. อเสวนา จ พาลานํ (ไม่คบคนพาล — not to associate with fools; to dissociate from the wicked)
2. ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา (คบบัณฑิต — to associate with the wise)
3. ปูชา จ ปูชนียานํ (บูชาคนที่ควรบูชา — to honor those who are worthy of honor)

คาถาที่ 2
4. ปฏิรูปเทสวาโส จ (อยู่ในปฏิรูปเทศ, อยู่ในถิ่นมีสิ่งแวดล้อมดี — living in a suitable region; good environment)
5. ปุพฺเพ จ กตปุญฺญตา (ได้ทำความดีให้พร้อมไว้ก่อน, ทำความดีเตรียมพร้อมไว้แต่ต้น — having formerly done meritorious deeds)
6. อตฺตสมฺมาปณิธิ จ (ตั้งตนไว้ชอบ — setting oneself in the right course; right direction in self-guidance; perfect self-adjustment)

คาถาที่ 3

7. พาหุสจฺจญฺจ (เล่าเรียนศึกษามาก, ทรงความรู้กว้างขวาง, ใส่ใจสดับตรับฟัง ค้นคว้าหาความรู้อยู่เสมอ — great learning; extensive learning)
8. สิปฺปญฺจ (มีศิลปวิทยา, ชำนาญในวิชาชีพของตน — skill; knowledge of the arts and sciences)
9. วินโย จ สุสิกฺขิโต (มีระเบียบวินัย, ได้ฝึกอบรมตนไว้ดี — highly trained discipline)
10. สุภาสิตา จ ยา วาจา (วาจาสุภาษิต, รู้จักใช้วาจาพูดให้เป็นผลดี — well-spoken speech)

คาถาที่ 4

11. มาตาปิตุอุปฏฺฐานํ (บำรุงมารดาบิดา — support of mother and father)
12/13. ปุตฺตทารสฺส สงฺคโห = ปุตฺตสงฺคห (สงเคราะห์บุตร — cherishing of children) และ ทารสงฺคห (สงเคราะห์ภรรยา — cherishing of wife)
14. อนากุลา จ กมฺมนฺตา (การงานไม่อากูล — a livelihood which is free from complications)๑
๑ ท่านอธิบายว่า ได้แก่ อาชีพการงาน ที่ทำด้วยความขยันหมั่นเพียร เอาธุระ รู้จักกาล ไม่คั่งค้าง ย่อหย่อน -- spheres of work which are free from such unprofitableness as dilatoriness and tardiness. (ขุทฺทก.อ. 153; KhA.139).

คาถาที่ 5

15. ทานญฺจ (รู้จักให้, เผื่อแผ่แบ่งปัน, บริจาคสงเคราะห์และบำเพ็ญประโยชน์ — charity; liberality; generosity)
16. ธมฺมจริยา จ (ประพฤติธรรม, ดำรงอยู่ในศีลธรรม — righteous conduct)
17. ญาตกานญฺจ สงฺคโห (สงเคราะห์ญาติ — rendering aid to relations)18. อนวชฺชานิ กมฺมานิ (การงานที่ไม่มีโทษ, กิจกรรมที่ดีงาม เป็นประโยชน์ ซึ่งไม่เป็นทางเสียหาย — blameless actions; unexceptionable or beneficial activities)๒
๒ ท่านยกตัวอย่างไว้ เช่น การสมาทานอุโบสถ การบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ สร้างสวน ปลูกป่า สร้างสะพาน เป็นต้น (ขุทฺทก.อ. 156; KhA.141)

คาถาที่ 6
19. อารตี วิรตี ปาปา (เว้นจากความชั่ว — abstaining from evils and avoiding them)
20. มชฺชปานา จ สญฺญโม (เว้นจากการดื่มน้ำเมา — abstinence from intoxicants)
21. อปฺปมาโท จ ธมฺเมสุ (ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย — diligence in virtue; perseverance in virtuous acts)

คาถาที่ 7

22. คารโว จ (ความเคารพ, การแสดงออกที่แสดงถึงความเป็นผู้รู้จักคุณค่าของบุคคล สิ่งของ หรือกิจการนั้นๆ และรู้จักให้ความสำคัญและความใส่ใจเอื้อเฟื้อโดยเหมาะสม — reverence; respect; appreciative action)
23. นิวาโต จ (ความสุภาพอ่อนน้อม, ถ่อมตน — humility; courtesy; politeness)
24. สนฺตุฏฺฐี จ (ความสันโดษ, ความเอิบอิ่มพึงพอใจในผลสำเร็จที่ได้สร้างขึ้น หรือในปัจจัยลาภที่แสวงหามาได้ ด้วยเรี่ยวแรงความเพียรพยายามของตนเองโดยทางชอบธรรม — contentment)
25. กตญฺญุตา (มีความกตัญญู — gratitude)
26. กาเลน ธมฺมสฺสวนํ (ฟังธรรมตามกาล, หาโอกาสแสวงหาความรู้เกี่ยวกับหลักความจริง ความดีงาม และเรื่องที่เป็นประโยชน์ — the opportune hearing of the Doctrine; listening to good advice and the teaching of Truth on due occasions)

คาถาที่ 8

27. ขนฺตี จ (มีความอดทน — patience; forbearance; tolerance)
28. โสวจสฺสตา (เป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย, พูดกันง่าย ฟังเหตุผล — amenability to correction; obedience)
29. สมณานญฺจ ทสฺสนํ (พบเห็นสมณะ, เยี่ยมเยียนเข้าหาท่านผู้สงบกิเลส — seeing the holy men)
30. กาเลน ธมฺมสากจฺฉา (สนทนาธรรมตามกาล, หาโอกาสสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นกันเกี่ยวกับหลักความจริงความดีงามและเรื่องที่เป็นประโยชน์ — religious discussion at due seasons; regular or opportune discussion of Truth)

คาถาที่ 9
31. ตโป จ (มีความเพียรเผากิเลส, รู้จักบังคับควบคุมตน ไม่ปรนเปรอตามใจอยาก — self-control; simple life)
32. พฺรหฺมจริยญฺจ (ประพฤติพรหมจรรย์, ดำเนินตามอริยมรรค, การรู้จักควบคุมตนในทางเพศ หรือถือเมถุนวิรัตตามควร* — a holy life)
*พรหมจรรย์ในที่นี้ มุ่งเอาอัฏฐังคิกมรรคเป็นหลัก แต่จะตีความแคบหมายถึงเมถุนวิรัติก็ได้ ความหมายอย่างหย่อนสำหรับคฤหัสถ์ คือ ถือพรหมจรรย์ในบุคคลที่มิใช่คู่ครอง หรือถือเด็ดขาดในวันอุโบสถ เป็นต้น
33. อริยสจฺจาน ทสฺสนํ (เห็นอริยสัจ, เข้าใจความจริงของชีวิต — discernment of the Noble Truths)
34. นิพฺพานสจฺฉิกิริยา จ (ทำพระนิพพานให้แจ้ง, บรรลุนิพพาน — realization of Nibbana)

คาถาที่ 10
35. ผุฏฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ จิตฺตํ ยสฺส น กมฺปติ (ถูกโลกธรรม จิตไม่หวั่นไหว — to have a mind which is not shaken when touched by worldly vicissitudes)
36. อโสกํ (จิตไร้เศร้า — to have the mind which is free from sorrow)
37. วิรชํ (จิตปราศจากธุลี — to have the mind which is undefiled)
38. เขมํ (จิตเกษม — to have the mind which is secure)
แต่ละคาถามีบทสรุปว่า “เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ” (นี้เป็นมงคลอันอุดม — this is the highest blessing)
มีคาถาสรุปท้ายมงคลทั้ง 38 นี้ว่า “เอตาทิสานิ กตฺวาน    สพฺพตฺถมปราชิตา, สพฺพตฺถ โสตฺถี คจฺฉนฺติ    ตนฺเตสํ มงฺคลมุตฺตมนฺติ.” แปลว่า “เทวะมนุษย์ทั้งหลายกระทำมงคลเช่นนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่ปราชัยในที่ทุกสถาน ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทั้งปวง นี้คืออุดมมงคลของเทวะมนุษย์เหล่านั้น.” (Those who have done these things see no defeat and go in safety everywhere. To them these are the highest blessings.)

จากหนังสือพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖

มงคลที่ 1 , มงคลที่ 2 , มงคลที่ 3มงคลที่ 4 , มงคลที่ 5 , มงคลที่ 6 , มงคลที่ 7 มงคลที่ 8 , มงคลที่ 9 , มงคลที่ 10 , มงคลที่ 11 , มงคลที่ 12 , มงคลที่ 13 , มงคลที่ 14 , มงคลที่ 15 , มงคลที่ 16 , มงคลที่ 17 , มงคลที่ 18 มงคลที่ 19 , มงคลที่ 20 , มงคลที่ 21 , มงคลที่ 22 , มงคลที่ 23 , มงคลที่ 24 มงคลที่ 25 , มงคลที่ 26 , มงคลที่ 27 , มงคลที่ 28 , มงคลที่ 29 , มงคลที่ 30 , มงคลที่ 31 , มงคลที่ 32 , มงคลที่ 33 มงคลที่ 34 , มงคลที่ 35 , มงคลที่ 36มงคลที่ 37มงคลที่ 38 ฯ

มงคลอันสูงสุด ๓๘ ประการ

 

มงคลอันสูงสุด ๓๘ ประการ

มงคล  สิ่งที่ทำให้มีโชคดี  ตามหลักพระพุทธศาสนา หมายถึง ธรรมที่นำมาซึ่งความสุขความเจริญ
มงคล ๓๘ ประการ หรือเรียกเต็มว่า อุดมมงคล (มงคลอันสูงสุด) ๓๘ ประการ มีดังนี้

คาถาที่ ๑ =
๑. อเสวนา จ พาลานํ     ไม่คบคนพาล
๒. ปณฺฑิตานญฺจเสวนา    คบบัณฑิต
๓. ปูชา จ ปูชนียานํ     บูชาคนที่ควรบูชา

คาถาที่ ๒ =
๔. ปฏิรูปเทสวาโส จ อยู่ในปฏิรูปเทส,   อยู่ในถิ่นมีสิ่งแวดล้อมดี
๕. ปุพฺเพ จ กตปุญฺญตา   ได้ทำความดีให้พร้อมไว้ก่อน, ทำความดีเตรียมพร้อมไว้แต่ต้น
๖. อตฺตสมฺมาปณิธิ จ    ตั้งตนไว้ชอบ
       
คาถาที่ ๓ =

๗. พาหุสจฺจญฺจ    เล่าเรียนศึกษามาก, ทรงความรู้กว้างขวาง, ใส่ใจสดับตรับฟังค้นคว้าหาความรู้อยู่เสมอ
๘. สิปฺปญฺจ    มีศิลปวิทยา, ชำนาญในวิชาชีพของตน
๙. วินโย จ สุสิกฺขิโต    มีระเบียบวินัย, ได้ฝึกอบรมตนไว้ดี
๑๐. สุภาสิตา จ ยา วาจา    วาจาสุภาษิต, รู้จักใช้วาจาพูดให้เป็นผลดี

คาถาที่ ๔ =
๑๑. มาตาปิตุอุปฏฺฐานํ    บำรุงมารดาบิดา
๑๒/๑๓. ปุตฺตทารสฺส สงฺคโห =ปุตฺตสงฺคห สงเคราะห์บุตร  และ ทารสงฺคห   สงเคราะห์ภรรยา
๑๔. อนากุลา จ กมฺมนฺตา    การงานไม่อากูล

คาถาที่ ๕ =
๑๕. ทานญฺจ   รู้จักให้, เผื่อแผ่แบ่งปัน, บริจาคสงเคราะห์และบำเพ็ญประโยชน์
๑๖. ธมฺมจริยา จ   ประพฤติธรรม, ดำรงอยู่ในศีลธรรม
๑๗. ญาตกานญฺจ สงฺคโห    สงเคราะห์ญาติ
๑๘. อนวชฺชานิ กมฺมานิ    การงานที่ไม่มีโทษ, กิจกรรมที่ดีงาม เป็นประโยชน์ ไม่เป็นทางเสียหาย

คาถาที่ ๖ =
๑๙. อารตี วิรตี ปาปา   เว้นจากความชั่ว
๒๐. มชฺชปานา จ สญฺญโม   เว้นจากการดื่มน้ำเมา
๒๑. อปฺปมาโท จ ธมฺเมสุ   ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย

คาถาที่ ๗ =

๒๒. คารโว จ    ความเคารพ, การแสดงออกที่แสดงถึงความเป็นผู้รู้จักถึงคุณค่าของบุคคล สิ่งของหรือกิจการนั้นๆ และรู้จักให้ความสำคัญและความใส่ใจเอื้อเฟื้อโดยเหมาะสม
๒๓. นิวาโต จ    ความสุภาพอ่อนน้อม, ถ่อมตน
๒๔. สนฺตุฏฺฐี จ    ความสันโดษ, ความเอิบอิ่มพอใจในผลสำเร็จที่ได้สร้างขึ้นหรือในปัจจัยลาภที่แสวงหามาได้ ด้วยเรี่ยวแรงความเพียรพยายามของตนเองโดยทางชอบธรรม
๒๕. กตญฺญุตา    มีความกตัญญู
๒๖. กาเลน ธมฺมสฺสวนํ    ฟังธรรมตามกาล, หาโอกาสแสวงหาความรู้ ในเรื่องที่แสดงหลักความจริง

คาถาที่ ๘ =
 ๒๗. ขนฺตี จ   มีความอดทน
 ๒๘. โสวจสฺสตา   เป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย
 ๒๙. สมณานญฺจ ทสฺสนํ    พบเห็นสมณะ, เยี่ยมเยือนเข้าหาท่านผู้สงบกิเลส
๓๐. กาเลน ธมฺมสากจฺฉา    สนทนาธรรมตามกาล, หาโอกาสสนทนาถกเถียงเกี่ยวกับหลักความจริงและหลักความถูกต้องดีงาม

คาถาที่ ๙ =
๓๑. ตโป จ    มีความเพียรเผากิเลส, รู้จักบังคับควบคุมตน ไม่ปรนเปรอตามใจอยาก
๓๒. พฺรหฺมจริยญฺจ    ประพฤติพรหมจรรย์, ดำเนินตามอริยมรรค, การรู้จักควบคุมตนในทางเพศ หรือถือเมถุนวิรัติตามควร
๓๓. อริยสจฺจานทสฺสนํ    เห็นอริยสัจ, เข้าใจความจริงของชีวิต
๓๔. นิพฺพานสจฺฉิกิริยา จ    ทำพระนิพพานให้แจ้ง, บรรลุนิพพาน

คาถาที่ ๑๐ =
๓๕. ผุฏฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ จิตฺตํ ยสฺส น กมฺปติ    ถูกโลกธรรม จิตไม่หวั่นไหว
๓๖. อโสกํ    จิตไร้เศร้า
๓๗. วิรชํ    จิตปราศจากธุลี
๓๘. เขมํ   จิตเกษม

จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม โดยพระธรรมปิฏก

มงคลที่ 1 , มงคลที่ 2 , มงคลที่ 3มงคลที่ 4 , มงคลที่ 5 , มงคลที่ 6 , มงคลที่ 7 มงคลที่ 8 , มงคลที่ 9 , มงคลที่ 10 , มงคลที่ 11 , มงคลที่ 12 , มงคลที่ 13 , มงคลที่ 14 , มงคลที่ 15 , มงคลที่ 16 , มงคลที่ 17 , มงคลที่ 18 มงคลที่ 19 , มงคลที่ 20 , มงคลที่ 21 , มงคลที่ 22 , มงคลที่ 23 , มงคลที่ 24 มงคลที่ 25 , มงคลที่ 26 , มงคลที่ 27 , มงคลที่ 28 , มงคลที่ 29 , มงคลที่ 30 , มงคลที่ 31 , มงคลที่ 32 , มงคลที่ 33 มงคลที่ 34 , มงคลที่ 35 , มงคลที่ 36มงคลที่ 37มงคลที่ 38 ฯ

วันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

พระประวัติของพระบรมศาสดา (ฉบับย่อ)

พระประวัติของพระบรมศาสดา (ฉบับย่อ)

พระพุทธเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ตรัสรู้เองโดยชอบ
“..ตถาคตมีวิชชาและ วิมุติเป็นผลานิสงส์อยู่ โพชฌงค์ ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว เพิ่มพูนแล้วย่อมยัง วิชชาและวิมุติให้บริบูรณ์ สติปัฎฐาน ๔ อันบุคคลเจริญแล้วยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ สุจริต ๓ อันบุคคลเจริญแล้วยังมีสติปัฎฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ อินทรีย์สังวร อันบุคคลเจริญแล้ว ย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์” หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

ปัจฉิมโอวาทของพระพุทธเจ้า-Last words of the Buddha
หมายถึง ปัจฉิมวาจา คือ พระดำรัสสุดท้ายของพระพุทธเจ้าก่อนจะปรินิพพานว่า
อถ โข ภควา ภิกฺขู อามนฺเตสิ "หนฺททานิ ภิกฺขเว, อามนฺตยามิ โว, วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถา"ติ. อยํ ตถาคตสฺส ปจฺฉิมา วาจา.
Atha kho bhagavā bhikkhū āmantesi, "handadāni bhikkave, āmantayāmi vo: vayadhammā saṅkhārā appamādena sampādethā"ti. Ayaṃ tathāgatassa pacchimā vācā.
ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนท่านทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลาย  มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด นี้เป็นพระปัจฉิมวาจาของพระตถาคต ฯ
Now the Blessed One advised the bhikkhus – Well now, bhikkhus, my counsel is: experience is disappointing, [it is] through vigilance [that] you succeed. These were the last words for the Tathāgata.


- สกุลกำเนิดและปฐมวัย
ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี พระนางสิริมายา ราชธิดาของกษัตริย์โกลิยวงค์ผู้ครองกรุงเทวทหะ พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ กษัตริย์ผู้ครองกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงประสูตรพระโอรส เมื่อวันศุกร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีจอ ณ สวนลุมพินีวันซึ่งตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวทหะ (ปัจจุบัน คือ ตำบลรุมมินเด ประเทศเนปาล)

- หลังจากประสูติ

อสีตดาบส เป็นมหาฤษีอยู่ ณ เชิงเขาหิมพานต์เป็นที่เคารพของราชสกุลได้รับ ทราบข่าวการประสูตรของพระกุมารจึงเดินทางมาเยี่ยม และได้ทำนายว่า ถ้าพระกุมารอยู่ครองฆราวาสจะได้เป็นจักรพรรดิ ถ้าออกบวชจะได้เป็นศาสดาเอกของโลก ๕ วันหลังประสูติพระเจ้าสุทโธทนะพร้อมทั้งพระนางสิริมหามายา พระประยูรญาติได้จัดพิธีขนาน พระนามพระราชกุมารว่า สิทธัตถะ โดยเชิญพราหมณ์ ๑๐๘ คนมาเลี้ยง แล้วได้คัดเลือก เอาพราหมณ์ชั้นยอด ๘ คนให้เป็นผู้ทำนายลักษณะพระกุมาร เมื่อประสูติได้ ๗ วัน พระมารดาก็เสด็จทิวงคต พระเจ้าสุทโธทนะ จึงมอบให้พระนางประชาบดี ซึ่งเป็นพระขนิษฐา ของพระนางสิริมหามายา เป็นผู้เลี้ยงดู เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะพระชนมายุ 8 พรรษา ได้ทรงศึกษาในสำนักครูวิศวะมิตร พระองค์ทรงศึกษาได้อย่างรวดเร็ว มีความจำดีเลิศ และทรงพระปรีชาสามารถในการกีฬา ขี่ม้า ฟันดาบ และยิงธนู

- อภิเศกสมรส
วัยหนุ่ม พระราชบิดาไม่ต้องการให้เจ้าชายสิทธัตถะทรงออกบวช พระองค์ทรงพอพระทัยที่จะให้เจ้าชายสิทธัตถะเป็นองค์จักรพรรดิ จึงใช้ควาพยายามทุกวิถีทางเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา
พระราชบิดาได้โปรดให้สร้างปราสาท ๓ หลัง ให้ประทับใน ๓ ฤดู และทรงสู่ขอพระนางโสธราพิมพา พระราชธิดาของพระเจ้าสุปปพุทธะ แห่งกรุงเทวทหะ อยู่ในตระกูลโกลิยวงค์ให้อภิเษกด้วย เจ้าชายสิทธัตถะได้เสวยสุขสมบัติจนพระชนมายุ ๒๙ พรรษา
พระนางยโสาธาราก็ประสูติพระโอรส ทรงพระนามว่าราหุล

- ออกบรรพชา
เสด็จออกบรรพชา เจ้าชายสิทธัตถะทรงเบื่อหน่ายในโลกียวิสัย ถึงแม้ว่าพระองค์จะทรงสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติอย่างเหลือล้น พระองค์ก็ยังคงตริตรองถึงชีวิตคน ฝักใฝ่พระทัยคิดค้นหาวิธีทางดับทุกข์ ที่มนุษย์เรามีมากมาย พระองค์คิดว่า ถ้ายังอยู่ในเพศฆราวาส พระองค์คงหาทางแก้ทุกข์ อันเกิดจากความแก่ ความเจ็บ ความตายไม่ได้แน่ พระองค์จึงตัดสินใจเสด็จออกบวช โดยพระองค์ทรงม้ากัณฐกะ สู่แม่น้ำอโนมา ณ ที่นี้พระองค์ทรงอธิษฐานเพศเป็นบรรพชิต และมอบหมายเครื่องประดับและม้ากัณฐกะให้นายฉันนะนำกลับไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ เข้าศึกษาในสำนักดาบสการแสวงหาธรรม ระยะแรกหลังจากทรงออกบวชแล้ว เจ้าชายสิทธัตถะได้ทรงศึกษา ในสำนักอาฬารดาบส ที่กรุงราชคฤห์ อาณาจักรมคธ เมื่อสำเร็จการศึกษาจากสำนักนี้แล้ว พระองค์ทรงเห็นว่าไม่ใช่หนทางในการหลุดพ้นจากทุกข์ ตามที่พระองค์ได้ทรงมุ่งหวังไว้ พระองค์จึงลาอาฬารดาบสและอุททกดาบสเดินทางไปแถบแม่น้ำคยา ในตำบลอุรุเวลาเสนานิคมแห่งกรุงราชคฤห์ อาณาจักรมคธ

- บำเพ็ญทุกรกิริยา
การบำเพ็ญทุกรกิริยา เมื่อพระองค์ทรงเปลี่ยนพระทัย ที่จะคิดค้นคว้าแสวงหาความรู้ด้วยพระองค์เอง แทนที่จะทรงเล่าเรียนในสำนักอาจารย์แล้ว พระองค์เริ่มด้วยการทรมานพระวรกาย ตามวิธีการของโยคี เรียกว่า การบำเพ็ญทุกรกิริยา บริเวณแม่น้ำ เนรัญชรานั้น พระมหาบุรุษได้ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาเป็นเวลา ๖ ปีพระองค์ก็ยังคงมิได้ค้นหาทางหลุดพ้นจากทุกข์ได้ พระองค์ทรงเลิกการบำเพ็ญทุกรกิริยา แล้วกลับมาเสวยพระกระยาหาร เพื่อบำรุงพระวรกายให้แข็งแรง จะได้มีกำลังในการคิดค้นพบวิธีใหม่ ในขณะที่พระมหาบุรุษได้ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยานั้น ได้มีปัญจวัคคีย์มาคอยปรนนิบัติรับใช้ ด้วยความหวังว่า พระมหาบุรุษได้ตรัสรู้แล้วพวกตนจะได้รับการถ่ายทอดบ้าง และเมื่อพระมหาบุรุษ ล้มเลิกการบำเพ็ญทุกรกิริยา ปัญจวัคคีย์ก็ได้ชวนกันละทิ้งมหาบุรุษไปทั้งหมด เป็นผลทำให้พระมหาบุรุษได้อยู่ตามลำพัง ในที่สงบเงียบ ปราศจากสิ่งรบกวนทั้งปวง ปัญจวัคคีไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน กรุงพาราณสี พระองค์ได้ทรงตั้งพระสติ และเดินทางกายกลาง คือ การปฏิบัติในความพอเหมาะพอควร

- ตรัสรู้
ตรัสรู้ ตอนเช้าวันเพ็ญเดือน ๖ ปีระกา ก่อนพุทธศักราช ๔๕ นางสุชาดา ได้นำข้าวมธุปายาสเพื่อไปบวงสรวงเทวดา ครั้นเห็นพระมหาบุรุษประทับที่โคนต้นไทร ด้วยอาการสงบ นางคิดว่าเป็นเทวดา จึงถวายทอดข้าวมธุปายาสแล้ว เสด็จไปริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตอนเย็นวันนั้นเอง พระองค์ได้กลับมายังต้นโพธิ์ที่ประทับ พบคนหาบหญ้าชื่อโสตถิยะ คนหาบหญ้าได้ถวายหญ้าให้พระองค์ปูลาด ณ ใต้ต้นโพธิ์ แล้วขึ้นประทับหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก และได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า แม้เลือดในกายของเราจะเหือดแห้งไปเหลือแต่หนัง เอ็น กระดูก ก็ตาม ถ้ายังไม่พบธรรมวิเศษแล้ว จะไม่ยอมหยุดความเพียรเป็นอันขาด เมื่อทรงตั้งจิตอธิษฐานแล้ว พระองค์ก็ทรงสำรวมจิตให้สงบแน่วแน่ พระองค์เริ่มบำเพ็ญเพียรทางจิต และในที่สุด ทรงชนะความลังเลพระทัย ทรงบรรลุความสำเร็จ เมื่อพระองค์ทรงรู้เห็นอย่างนี้ จิตก็พ้นจากกิเลสทั้งปวงพระองค์ก็ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระชนมายุ ๓๕ พรรษา ในวันเพ็ญ เดือน ๖ ปีระกาธรรมสูงส่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้น คือ อริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค 

- ประกาศพระศาสนาครั้งแรก
การแสดงปฐมเทศนา วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือนอาสาฬหะ (เดือน ๘) ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พระพุทธเจ้าเสด็จไปหาปัญจวัคคีย์ พระองค์ได้ทรงแสดงธรรมในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ เรียกว่า ธรรมจักกัปวัตนสูตร ในขณะที่ทรงแสดงธรรมนั้น ท่านโกณฑัญญะได้ธรรมจักษุ คือ พระโสดาบัน ได้ทูลขออุปสมบท ในพระธรรมวินัยของสัมมสัมพุทธเจ้า เรียกการบวชครั้งนี้ว่า "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" พระอัญญาโกณฑัญญะ จึงเป็นพระภิกษุรูปแรกในพุทธศาสนา

- การประกาศพระพุทธศาสนา
เมื่อพระองค์ มีสาวกเป็นพระอรหันต์ ๖๐ องค์ และก็ได้ออกพรรษาแล้ว ทรงพิจารณาเห็นสมควรว่า จะออกไปประกาศศาสนา ให้เป็นที่แพร่หลายได้แล้ว พระองค์จึงเรียกประชุมสาวกทั้งหมด แล้วตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย เราได้พ้อนจากบ่วงทั้งปวงทั้งชนิดที่เป็นทิพย์ และชนิดที่เป็นของมนุษย์แล้ว แม้ท่านทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน เราทั้งหลายจงพากันจาริกไปยังชนบททั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุขแก่มหาชนเถิด อย่าไปรวมกันทางเดียวถึงสองรูปเลย จงแสดงธรรมให้งาม ทั้งในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ เถิด จงประกาศพรหมจรรย์ อันบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง สัตว์ทั้งหลายที่มีกิเลสเบาบางนั้นมีอยู่ เพราะโทษที่ไม่ได้ฟังธรรม ย่อมจะเสื่อมจากคุณที่จะพึงได้ถึง ผู้รู้ทั่วถึงธรรมคงจักมีอยู่ แม้ตัวเราก็จะไปยังอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรมเช่นกัน "พระองค์ทรงส่งสาวกออกประกาศศาสนาพร้อมกันทีเดียว ๖๐ องค์ ไป ๖๐ สาย คือ ไปกันทุกสารทิศทีเดียว แม้พระองค์เองก็ไปเหมือนกัน ไม่ใช่แต่สาวกอย่างเดียวเท่านั้น นับว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของบุคคลที่จะเป็นผู้นำทีเดียว

 

- สาวกทั้ง ๖๐ องค์เมื่อได้รับพุทธบัญชาเช่นนั้น ก็แยกย้ายกันไปประกาศศาสนาตามจังหวัด อำเภอ และตำบลต่างๆ ทำให้กุลบุตรในดินแดนถิ่นฐานต่าง ๆ เหล่านั้น หันมาสนใจมากเลื่อมใสมากขึ้น บางคนขอบวช แต่สาวกเหล่านั้นยังให้บวชเองไม่ได้ จึงต้องพากุลบุตรเหล่านั้นมาเฝ้าพระพุทธเจ้า เพื่อให้พระองค์บวชให้ ทำให้ได้รับความลำบากในการเดินทางมาก ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาต ให้สาวกเหล่านั้นอุปสมบทกุลบุตรได้ โดยโกนผมและหนวดเคราเสียก่อน แล้วจึงให้นุ่งห่มผ้าย้อมด้วยน้ำฝาด นั่งคุกเข่าพนมมือกราบภิกษุแล้วเปล่งว่าจาว่า "ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นสรณะ ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ" รวม ๓ ครั้ง การอุปสมบทนี้เรียกว่า "ติสรณคมนูปสัมปทา" คือ อุปสมบทโดยวิธีให้ปฏิญญาณตนเป็นผู้ถึงสรณคมน์

- ตั้งแต่พรรษาที่ ๑ ที่พระองค์ได้สาวกเป็นพระอรหันต์จำนวน ๖๐ องค์แล้ว พระองค์ก็ได้อาศัยพระมหากรุณาคุณ ทำการประกาศเผยแผ่คำสอน จนได้สาวกเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เป็นพุทธบริษัท ๔ ขึ้น อย่างแพร่หลายและมั่นคง การประกาศศาสนาของพระองค์ ได้ดำเนินการไปอย่างเข้มแข็ง โดยการจาริกไปยังหมู่บ้าน ชนบทน้อยใหญ่ ในแคว้นต่าง ๆ ทั่วชมพูทวีปตลอดเวลาอีก ๔๔ พรรษาคือ พรรษาที่ ๒ - ๔๕ ดังนี้ พรรษาที่ ๒ เสด็จไปยังเสนานิคมในตำบลอุรุเวลา ในระหว่างทางได้สาวกกลุ่ม ภัททวคคีย์ ๓๐ คน และที่ตำบลอุรุเวลาได้ ชฎิล ๓ พี่น้อง คือ อุรุเวลกัสสปะ นทีกัสสปะ และ คยากัสสปะ กับศิษย์ ๑,๐๐๐ คน เทศนาอาทิตตปริยายสูตร ที่คยาสีสะ เสด็จไปยังราชคฤห์แห่งแควว้นมคธ กษัตริย์เสนิยะพิมพิสาร ทรงถวายสวนเวฬุวัน แด่คณะสงฆ์ ได้สารีบุตร และโมคคัลลานะเป็นสาวก อีก ๒ เดือนต่อมาเสด็จไปยังกบิลพัสดุ์ ทรงพำนักที่ นิโครธาราม ได้สาวกมากมาย เช่น นันทะ ราหุล อานนท์ เทวทัต และพระญาติอื่นๆ อนาถปิณฑิกะเศรษฐี อาราธนาไปยังกรุงสาวัตถี แห่งแคว้นโกศล ถวายสวนเชตวันแต่คณะสงฆ์ ทรงจำรรษาที่นี่

พรรษาที่ ๓ นางวิสาขาถวายบุพพาราม ณ กรุงสาวัตถี ทรงจำพรรษาที่นี่
พรรษาที่ ๔ ทรงจำพรรษาที่เวฬุวัน ณ กรุงราชคฤห์แห่งแคว้นมคธ
พรรษาที่ ๕ โปรดพระราชบิดาจนได้บรรลุอรหัตตผล ทรงไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่าง พระญาติฝ่ายสักกะ กับพระญาติฝ่ายโกลิยะเกี่ยวกับการใช้น้ำ ในแม่น้ำ โรหิณี ทรงบรรพชาอุปสมบทพระนางปชาบดีโคตมี และคณะเป็นภิกษุณี
พรรษาที่ ๖ ทรงแสดงยมกปาฏิหารย์ในกรุงสาวัตถีย์ ทรงจำพรรษาบนภูเขามังกลุบรรพต
พรรษาที่ ๗ ทรงเทศนาและจำพรรษาที่กรุงสาวัตถี ระหว่างจำพรรษาเสด็จขึ้นไปยังสวรรค์ ชั้นดาวดึงส์ โปรดพุทธมารดาด้วยพระอภิธรรม
พรรษาที่ ๘ ทรงเทศนาในแคว้นภัคคะ ทรงจำพรรษาในสวนเภสกลาวัน
พรรษาที่ ๙ ทรงเทศนาในแคว้นโกสัมพี
พรรษาที่ ๑๐ คณะสงฆ์แห่งโกสัมพีแตกแยกกันอย่างรุนแรง ทรงตกเตือนไม่เชื่อฟัง จึงเสด็จไปประทับ
และจำพรรษาในป่าปาลิเลยยกะ มีช้างเชือกหนึ่งมาเฝ้าพิทักษ์ และรับใช้ตลอดเวลา
พรรษาที่ ๑๑ เสด็จไปยังกรุงสาวัตถี คณะสงฆ์แห่งโกสัมพีปรองดองกันได้ ทรงจำพรรษาในหมู่บ้านพราหมณ์ชื่อ เอกนาลา
พรรษาที่ ๑๒ ทรงเทศนาและจำพรรษาที่เวรัญชา เกิดความอดอยากรุนแรง
พรรษาที่ ๑๓ ทรงเทศนาและจำพรรษาบน ภูเขาจาลิกบรรพต
พรรษาที่ ๑๔ ทรงเทศนาและจำพรรษาที่กรุงสาวัตถี ราหุลขอบรรพชาอุปสมบท
พรรษาที่ ๑๕ เสด็จไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ สุปปพุทธะถูกแผ่นินสูบเพราะขัดขวางทางโคจร
พรรษาที่ ๑๖ ทรงเทศนาและจำพรรษาที่ อาลวี
พรรษาที่ ๑๗ เสด็จไปยังกรุงสวัตถี กลับมายังอาลวีและทรงจำพรรษาที่กรุงราชคฤห์
พรรษาที่ ๑๘ เสด็จไปยัง อาลวี ทรงจำพรรษาบน ภูเขาจาลิกบรรพต
พรรษาที่ ๑๙ ทรงเทศนาและจำพรรษาที่บน ภูเขาจาลิกบรรพต
พรรษาที่ ๒๐ โจร องคุลีมาลย์ กลับใจเป็นสาวก ทรงแต่งตั้งให้พระอานนท์ รับใช้ใกล้ชิดตลอดกาล ทรงจำพรรษาที่กรุงราชคฤห์ ทรงเริ่มบัญญัติวินัย
พรรษาที่ ๒๑ - ๔๔ ทรงยึดเอาเชตวัน และบุพพารามในกรุงราชคฤห์ เป็นศูนย์กลางการเผยแพร่ และเป็นที่ประทับจำพรรษา เสด็จพร้อมสาวก ออกเทศนาโปรดเวไนยสัตว์ตามแว่นแคว้นต่าง ๆ โดยรอบ
พรรษาที่ ๔๕ และสุดท้าย พระเทวทัต คิดปลงพระชนม์ กลิ้งก้อนหิน จนเป็นเหตุให้พระบาทห้อโลหิต ทรงได้รับการบำบัดจากหมอชีวก


-ทรงปรินิพาน
การเสด็จปรินิพพาน หลังจากพระพุทธเจ้าแสดงปัจฉิมโอวาท ซึ่งวันนั้นตรงกับวันเพ็ญเดือนวิสาขะ (เดือน ๖) ในยามสุดท้ายของวันนั้น ณ ป่าไม้สาละ(สาลวันอุทยาน) ของกษัตริย์มัลละ กรุงกุสินารา พระองค์ได้ประทับใต้ต้นสาละคู่ หลังจากตรัสโอวาทให้แก่พระอริยสงฆ์แล้ว พระองค์มิได้ตรัสอะไรอีกแล้วเสด็ ปรินิพพาน ด้วยพระอาการสงบ ซึ่งเป็นที่น่าอัศจรรย์นัก ที่วันประสูติ วันตรัสรู้ และวันปรินิพพานของพระพุทธเจ้าตรงกัน คือ วันเพ็ญเดือน ๖

ที่มา : สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

- จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์ ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำจิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระหลุดพ้นโดยบริบูรณ์ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

- หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป

พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล 

ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์


มงคลที่ ๑ อเสวนา จ พาลานํ - การไม่คบคนพาล

มงคลที่ ๑ อเสวนา จ พาลานํ - การไม่คบคนพาล

อเสวนา จ พาลานํ อย่าคบมิตรที่พาลสันดานชั่ว  จะพาตัวเน่าดิบจนฉิบหาย แม้ความคิดชั่วช้าอย่ากล้ำกราย เป็นมิตรร้ายภายในทุกข์ใจครัน 

ท่านว่าลักษณะของคนพาลมี ๓ ประการ คือ

๑. คิดชั่ว คือการมีจิตคิดอยากได้ในทางทุจริต มีความพยาบาท และมิจฉาทิฏฐิ คือเห็นผิดเป็นชอบ

๒. พูดชั่ว คือคำพูดที่ประกอบไปด้วยวจีทุจริตเช่น พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ และพูดเพ้อเจ้อ

๓. ทำชั่ว คือทำอะไรที่ประกอบด้วยกายทุจริตเช่น การฆ่าสัตว์ ลักขโมย ฉ้อโกง ฉุดคร่าอนาจาร ประพฤติผิดในกาม

รูปแบบของคนพาล มีข้อควรสังเกตุคือ

๑. ชอบแนะนำไปในทางที่ผิด หรือที่ไม่ควรแนะนำ อาทิเช่น แนะนำให้ไปเล่นการพนัน ให้ไปลักขโมย ให้กินยาบ้า ให้เสพยา ชวนไปฉุดคร่าอนาจาร เป็นต้น เหล่านี้ถือว่าเป็นพาล

๒. ชอบทำในสิ่งที่ไม่ใช่ธุระ อาทิเช่น ไม่ทำงานตามหน้าที่ของตนให้เรียบร้อย แต่กลับชอบจะไปก้าวก่ายยุ่งกับหน้าที่การงานของผู้อื่น หรือไปจับผิดเพื่อนร่วมงาน แกล้ง ยุยง นินทาว่าร้ายกันและกัน เป็นต้น

๓. ชอบทำผิดโดยเห็นสิ่งผิดเป็นของดี อาทิเช่น การสูบยาได้เป็นฮีโร่ เห็นคนที่ซื่อสัตย์เป็นคนโง่ไม่กินตามน้ำ ชอบรับสินบน ทุจริตในหน้าที่ หรือช่วยพวกพ้องให้พ้นจากความผิด เป็นต้น

๔. จะโกรธเคืองเมื่อพูดเตือน อาทิเช่น การเตือนเรื่องการเที่ยวเตร่ เตือนเรื่องการดื่มเหล้า กลับบ้านดึก เตือนเรื่องการคบเพื่อนเป็นต้น คนพวกนี้จะโกรธเมื่อได้รับการตักเตือน และไม่รับฟัง

๕. ไม่มีระเบียบวินัย อาทิเช่น ไม่เข้าคิวตามลำดับก่อนหลัง แต่ชอบแซงคิวอย่างหน้าด้านๆ ทิ้งขยะลงคลอง หรือข้างทาง ไม่เคารพกฏหมายของบ้านเมือง หรือของท้องถิ่น เป็นต้น

ที่มา : ธรรมะไทย
มงคลที่ 1 , มงคลที่ 2 , มงคลที่ 3มงคลที่ 4 , มงคลที่ 5 , มงคลที่ 6 , มงคลที่ 7 มงคลที่ 8 , มงคลที่ 9 , มงคลที่ 10 , มงคลที่ 11 , มงคลที่ 12 , มงคลที่ 13 , มงคลที่ 14 , มงคลที่ 15 , มงคลที่ 16 , มงคลที่ 17 , มงคลที่ 18 มงคลที่ 19 , มงคลที่ 20 , มงคลที่ 21 , มงคลที่ 22 , มงคลที่ 23 , มงคลที่ 24 มงคลที่ 25 , มงคลที่ 26 , มงคลที่ 27 , มงคลที่ 28 , มงคลที่ 29 , มงคลที่ 30 , มงคลที่ 31 , มงคลที่ 32 , มงคลที่ 33 มงคลที่ 34 , มงคลที่ 35 , มงคลที่ 36มงคลที่ 37มงคลที่ 38 ฯ
 9. หมวดบาป - EVIL


9. หมวดบาป - EVIL


๑. อภิตฺถเรถ  กลฺยาเณ    ปาปา  จิตฺตํ  นิวารเย, 
    ทนฺธํ  หิ  กรโต  ปุญฺญํ    ปาปสฺมึ  รมตี  มโน ฯ๑๑๖ฯ

พึงรีบเร่งกระทำความดี และป้องกันจิตจากความชั่ว เพราะเมื่อกระทำความดีช้าไป ใจจะกลับยินดีในความชั่ว

Make haste in doing gook, And check your mind from evil, Who so is slow in making merit-His mind delights in evil.

๒. ปาปญฺเจ  ปุริโส  กยิรา    น  นํ  กยิรา  ปุนปฺปุนํ,  
    น  ตมฺหิ  ฉนฺทํ  กยิราถ   ทุกฺโข  ปาปสฺส  อุจฺจโย ฯ๑๑๗ฯ

ถ้าหากจำต้องทำชั่วไซร้ ก็ไม่ควรทำบ่อยนัก และไม่ควรพอใจในการทำชั่วนั้น เพราะการสะสมบาป นำทุกข์มาให้

Should a man commit evil, Let him not do it again and again, Nor turn his heart to delight therein; Painful is the heaping-up of evil.

๓. ปุญฺญญฺเจ  ปุริโส  กยิรา   กยิราเถนํ  ปุนปฺปุนํ, 
    ตมฺหิ  ฉนฺทํ  กยิราถ   สุโข  ปุญฺญสฺส  อุจฺจโย ฯ๑๑๘ฯ

ถ้าหากจะทำความดี ก็ควรทำดีบ่อยๆ ควรพอใจในการทำความดีนั้น เพราะการสะสมความดีนำสุขมาให้

Should a man perform merit, Let him do it again and again, And trun his mind to delight therein; Blissful is the piling-up of merit.
 
๔. ปาโปปิ  ปสฺสตี  ภทฺรํ   ยาว  ปาปํ  น  ปจฺจติ, 
    ยทา  จ  ปจฺจตี  ปาปํ   อถ  ปาโป  ปาปานิ  ปสฺสติ ฯ๑๑๙ฯ

เมื่อบาปยังไม่ส่งผล คนชั่วก็เห็นว่าเป็นของดี ต่อเมื่อมันเผล็ดผลเมื่อใด เมื่อนั้นแหละเขาจึงรู้พิษสงของบาป

For the evil-doer all is well, While the evil ripens not; But when his evil yields its fruit, He sees the evil results.

๕. ภทฺโรปิ  ปสฺสตี  ปาปํ   ยาว  ภทฺรํ  น  ปจฺจติ,  
    ยทา  จ  ปจฺจตี  ภทฺรํ   อถ  ภทฺโร  ภทฺรานิ  ปสฺสติ ฯ๑๒๐ฯ

เมื่อความดียังไม่ส่งผล คนดีก็มองเห็นความดีเป็นความชั่ว ต่อเมื่อใดความดีเผล็ดผล เมื่อนั้นแหละเขาจึงจะเห็นผลของความดี

For the good man, perhaps, all is ill, While as yet his good is not ripe; But when it bears its fruit, He sees the good results.

๖. มาวมญฺเญถ  ปาปสฺส   น  มตฺตํ  อาคมิสฺสติ, 
    อุทพินฺทุนิปาเตน    อุทกุมฺโภปิ  ปูรติ, 
    อาปูรติ  พาโล  ปาปสฺส  โถกํ  โถกมฺปิ  อาจินํ ฯ๑๒๑ฯ

อย่าดูถูกความชั่วเล็กน้อยว่าจักไม่สนองผล น้ำตกจากเวหาทีละหยาดๆ ยังเต็มตุ่มได้ คนพาลทำความชั่วทีละเล็กละน้อย ย่อมเต็มด้วยความชั่วได้เช่นกัน

Despise not evil, Saying, 'It will not come to me'; Drop by drop is the waterpot filled, Lidewise the fool, gathering little by little, Fills himself with evil.

๗. มาวมญฺเญถ  ปุญฺญสฺส   น  มตฺตํ  อาคมิสฺสติ,  
    อุทพินฺทุนิปาเตน    อุทกุมฺโภปิ  ปูรติ,  
    อาปูรติ  ธีโร  ปุญฺญสฺส    โถกํ  โถกมฺปิ  อาจินํ ฯ๑๒๒ฯ

อย่าดูถูกบุญเล็กน้อยว่าจักไม่สนองผล น้ำตกจากเวหาทีละหยาดๆ ยังเต็มตุ่มได้ นักปราชญ์สะสมบุญทีละเล็กละน้อย ย่อมเต็มด้วยบุญได้เช่นกัน

Despise not merit, Saying, 'It will not come to me'; Drop by drop is the waterpot filled, Likewise the man, gathering little by little Fills himself with merit.

๘. วาณิโชว  ภยํ  มคฺคํ   อปฺปสตฺโถ  มหทฺธโน, 
    วิสํ  ชีวิตุกาโมว   ปาปานิ  ปริวชฺชเย ฯ๑๒๓ฯ

พ่อค้ามีทรัพย์มาก มีพวกน้อย ละเว้นทางที่มีภัย คนรักชีวิตละเว้นยาพิษ ฉันใด บุคคลพึงละบาป ฉันนั้น

As a rich merchant, with small escort, Avoids a dangerous path, As one who loves life avoids poison, Even so should one shun evil.

๙. ปาณิมฺหิ  เจ  วโณ นาสฺส   หเรยฺย  ปาณินา  วิสํ, 
    นาพฺพณํ  วิสมเนฺวติ    นตฺถิ  ปาปํ  อกุพฺพโต ฯ๑๒๔ฯ

เมื่อมือไม่มีแผล บุคคลย่อมจับต้องยาพิษได้ ยาพิษนั้นไม่สามารถทำอันตรายได้ บาปก็ไม่มีแก่ผู้ไม่ทำบาป

If no wound there be in the hand, One may handle poison; Poison does not affect one who has no wound; There is no ill for him who does no wrong.

๑๐. โย  อปฺปทุฏฺฐสฺส  นรสฺส  ทุสฺสติ,  
    สุทฺธสฺส  โปสสฺส  อนงฺคณสฺส, 
    ตเมว  พาลํ  ปจฺเจติ  ปาปํ, 
    สุขุโม  รโช  ปฏิวาตํว  ขิตฺโต ฯ๑๒๕ฯ

บาปก็ย่อมตามสนองผู้โง่เขลา ซึ่งทำร้ายบุคคลที่ไม่ทำร้ายตอบ ผู้หมดจด ปราศจากกิเลส ดุจธุลีที่ซัดทวนลม (วกกลับมาหาผู้ซัด)

Whosoever offends a harmless person, One pure and guiltles, Upon that very fool the evil recoils Even as fine dust thrown against the wind.

๑๑. คพฺภเมเก  อุปปชฺชนฺติ   นิรยํ  ปาปกมฺมิโน,  
    สคฺคํ  สุคติโน  ยนฺติ   ปรินิพฺพนฺติ  อนาสวา ฯ๑๒๖ฯ

สัตว์บางพวกกลับมาเกิดอีก พวกที่ทำบาป ไปนรก พวกที่ทำดี ไปสวรรค์ พวกที่หมดอาสวกิเลส ปรินิพพาน

Some are born in the womb again; The evil-doers are born in hell; The good go to heaven; The Undefiled Ones attain Nibbana.

๑๒. น  อนฺตลิกฺเข  น  สมุทฺทมชฺเฌ,  
    น  ปพฺพตานํ  วิวรํ  ปวีสํ,  
    น วิชฺชตี โส ชคติปฺปเทโส, 
    ยตฺรฏฺฐิโต  มุญฺเจยฺย  ปาปกมฺมา ฯ๑๒๗ฯ

ไม่ว่าบนท้องฟ้า ไม่ว่าท่ามกลางสมุทร ไม่ว่าในหุบเขา ไม่มีแม้แต่แห่งเดียว ที่ผู้ทำกรรมชั่วอาศัยอยู่ จะหนีพ้นกรรมไปได้

Neither in the sky nor in mid-ocean, Nor in the clefts of the rocks, Nowhere in the world is a place to be found Where abiding one may escape from (the consequences of) an evil deed.

๑๓. น  อนฺตลิกฺเข  น  สมุทฺทมชฺเฌม,     
    น  ปพฺพตานํ  วิวรํ  ปวีสํ, 
    น  วิชฺชตี  โส  ชคติปฺปเทโส, 
    ยตฺรฏฺฐิตํ  นปฺปสเหยฺย  มจฺจุ ฯ๑๒๘ฯ

ไม่ว่าบนท้องฟ้า ไม่ว่าท่ามกลางสมุทร ไม่ว่าในหุบเขา ไม่มีแม้สักแห่งเดียว ที่คนเราอาศัยอยู่แล้ว จะหนีพ้นความตายได้

Neither in the sky no in mid-ocean, Nor in the clefts of the rocks, Nowhere in the world is found that place Where abiding one will not be overcome by death.

ที่มา : หนังสือพุทธวจนในธรรมบท โดย อ.เสถียรพงศ์ วรรณปก

1. หมวดคู่ - THE PAIRS2. หมวดไม่ประมาท - Heedfulness3. หมวดจิต - The Mind4. หมวดดอกไม้ - THE FLOWERS5. หมวดคนพาล - THE FOOL,  6. หมวดบัณฑิต - The Wise7. หมวดพระอรหันต์ - THE WORTHY8. หมวดพัน - THE THOUSANDS9. หมวดบาป - EVIL10. หมวดลงทัณฑ์ - PUNISHMENT11. หมวดชรา - OLD AGE12. หมวดตน - THE SELF13. หมวดโลก - THE WORLD14. หมวดพระพุทธเจ้า - THE ENLIGHTENED ONE15. หมวดความสุข - HAPPINESS16. หมวดความรัก - AFFECTIONS17. หมวดความโกรธ - ANGER18. หมวดมลทิน - IMPURITY19. หมวดเที่ยงธรรม - THE JUST20. หมวดทาง - THE PATH21. หมวดเบ็ดเตล็ด - MISCELLANEOUS22. หมวดนรก - HELL23. หมวดช้าง - THE ELEPHANT24. หมวดตัณหา - CRAVING25. หมวดภิกษุ - THE MONK,  26. หมวดพราหมณ์ - THE BRAHMANA