วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ความหมายของคำว่าความทุกข์

ความหมายของคำว่าความทุกข์

โดยภาษาคน - ภาษาธรรม

ถ้าพูดกันเป็นภาษาธรรมะ หรือเป็นภาษาคน พูดเป็นภาษาคนก็ว่า  ความทุกข์นี้มันเป็นของกัด เป็นของทำให้เกิดความทุกข์ หรือว่าเป็นของหนักทำให้เกิดความทุกข์ แต่ถ้าพูดโดยภาษาธรรมแล้ว  ความทุกข์เป็นผลตามธรรมชาติ ตามธรรมดาของอวิชชา อุปาทาน

กิเลส คือ อวิชชา อุปาทาน เป็นของธรรมชาติ ธรรมดา มีขึ้นที่ไหนก็ให้คลอดเป็นผลออกมาเป็นธรรมชาติ คือความทุกข์ ความทุกข์ก็คือธรรมชาติ ธรรมดา คลอดออกมาจากธรรมชาติแห่งกิเลสที่มีชื่อว่าตัณหา อวิชชา อุปาทาน

นี่เราดูให้ดีว่าเราจะเรียกความทุกข์ว่าอย่างไร ในความรู้สึกตื้นๆ ความรู้น้อยๆ ก็เรียกไปอย่างหนึ่ง นี่มีความรู้สึกลึกซึ้ง เห็นลึกก็เรียกไปอีกอย่างหนึ่ง แม้เรียกว่าเป็นทุกข์ทรมานน่าเกลียดน่าชังนี้ก็ยังเป็นรู้สึกตื้นๆ ธรรมดาๆ ถ้าเห็นว่าเป็นธรรมชาติเช่นนั้นเอง ธรรมชาติเช่นนั้นเองอย่าไปเป็นทุกข์เป็นร้อนอะไรกับมัน ก็เรียกว่าลึกๆ เป็นภาษาลึก

เห็นความทุกข์เป็นธรรมชาติ ธรรมดา เป็นตถาตา มันเป็นเช่นนั้นเอง ไม่มีความทุกข์กับมัน ถึงจะมีความทุกข์เจ็บปวดเกิดขึ้นที่ร่างกายก็เกิดที่ระบบประสาทที่เป็นเรื่องของร่างกายไม่มาถึงจิตใจ ไม่มาถึงจิตใจ ให้ธรรมชาตินั้นเป็นตถาตาเป็นของธรรมดามีอยู่ในโลก นี่เรียกว่ารู้จักความทุกข์ในแง่ลึก

กล่าวโดยภาษาธรรมก็ว่าเป็นธรรมชาติ ธรรมดา ปรากฎการณ์ของธรรมชาติ ธรรมดา ที่เป็นฝ่ายที่ให้มันเกิดผลอย่างนี้ เพราะถ้าพูดเป็นธรรมชาติ ธรรมดาแล้ว มันไม่มีดี ไม่มีชั่ว ไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ มันมีแต่ว่าทำอย่างนี้ ผลเกิดอย่างนี้ ทำอย่างนี้ ผลเกิดอย่างนี้ คือ อิทัปปัจจยตา

ถ้าใครเห็นอิทัปปัจจยตา คนนั้นจะไม่รู้สึกว่ามีดี มีชั่ ว มีสุข มีทุกข์ มีอะไรเลย มันเป็นอย่างนั้นเองตามธรรมชาติตามธรรมดา แต่เดี๋ยวนี้เอาความรู้สึกของคนธรรมดาเข้ามาวัด พอใจก็เรียกว่าสุข ไม่พอใจก็เรียกว่าทุกข์ นี้มันหลอกตัวเองให้มีความสุข ความทุกข์ ขึ้นมาให้เกิดปัญหา

ถ้าเข้าถึงความจริงกฎของธรรมชาติ ตามที่เป็นจริงอย่างไรแล้วมันก็ไม่รู้สึกสุข ไม่รู้สึกทุกข์ เห็นเป็นธรรมชาติไปหมด นี่เป็นลักษณะแห่งความหลุดพ้นหรือจิตของพระอรหันต์ เห็นทุกสิ่งเป็นตถาตา

พุทธทาสภิกขุ ,   ธรรมะใกล้มือ เรื่องทุกขตา , ความทุกข์นี้เกิดมาเพื่อดับไป (น.๓๘)  👉E-book

Credit: สโมสรธรรมทาน - co dhamma space





Previous Post
Next Post

0 comments: