วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

"ผู้ใดให้ที่พักอาศัย ผู้นั้นชื่อว่าให้สิ่งทั้งปวง, ผู้ใดสอนธรรม ผู้นั้นชื่อว่าให้อมตะ"

โส  จ  สพฺพทโท  โหติ       โย  ททาติ  อุปสฺสยํ 
อมตนฺทโท  จ  โส  โหติ     โย  ธมฺมมนุสาสติ.

ผู้ใดให้ที่พักอาศัย ผู้นั้นชื่อว่าให้สิ่งทั้งปวง,  
ผู้ใดสอนธรรม ผู้นั้นชื่อว่าให้อมตะ.

แยกเป็น ๒ ประเด็นหลัก คือผู้ให้ที่พักอาศัยชื่อว่าให้สิ่งทั้งปวงได้อย่างไร และเพราะเหตุใดผู้สอนธรรมจึงชื่อว่าให้อมตะ.

พระพุทธเจ้าตรัสจำแนกประเภทของการให้ว่าคนที่ให้อาหารเป็นทานชื่อว่าให้กำลัง ให้เสื้อผ้าชื่อว่าให้ผิวพรรณ ให้ยานพาหนะชื่อว่าให้ความสุข ให้ประทีปโคมไฟชื่อว่าให้แสงสว่าง 

แต่ผู้ให้ที่พักอาศัยเชื่อว่าให้ทุกอย่างที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งท่านกล่าวเปรียบเทียบไว้ดังนี้ว่าคนที่มีร่างกายเหน็ดเหนื่อย อ่อนเพลียจากการเดินทาง  เมื่อได้พักอาบน้ำแล้วนอนในที่พักอาศัยก็ทำให้มีกำลังวังชากลับคืนได้, การเที่ยวไปภายนอกบางทีก็ทำให้ผิวพรรณกร้านดำเพราะลมและแดด  แต่เมื่อได้พักผ่อนในที่อยู่อาศัยผิวพรรณก็กลับมีปกติดังเดิม, คนที่นอนอยู่ในที่พักย่อมปลอดภัยจากภยันตรายต่างๆ ที่จะมาเบียดเบียน มีความสุขอยู่กับการพักผ่อนอย่างเต็มที่ 

อนึ่ง คนที่อยู่กลางแจ้งเมื่อกลับเข้าสู่ที่อยู่อาศัย ทีแรกหูตาย่อมฝ้าฟางเป็นธรรมดา ครั้นได้พักสักนิดหนึ่ง เมื่อสายตาปรับความเคยชินได้แล้ว  แสงสว่างภายในบ้านก็ปรากฏดังเดิม ดังนั้น คนที่ให้ที่พักจึงชื่อว่าให้ทุกอย่างที่กล่าวมาข้างต้นนั้น

ส่วนการสอนธรรมชื่อว่าเป็นการให้อมตะ คือเป็นการให้ที่ไม่มีตาย ถ้าเป็นระดับโลกิยะก็เป็นการสอนเพื่อให้มีชีวิตอยู่ในโลกด้วยความปลอดภัยและเป็นสุข  แต่ในที่นี้ท่านมุ่งหมายถึงการสอนธรรมที่เป็นข้อปฏิบัติอันนำไปสู่ความดับทุกข์ทั้งป่วง ไม่ต้องวนเวียนเกิดดับอีกต่อไป ซึ่งเรียกว่านิพพาน การสอนให้ปฏิบัติดังนี้เรียกว่าเป็นการให้อมตธรรมอย่างแท้จริง.

พึงทราบวินิจฉัยในกินททสูตรที่ ๒ ต่อไป :-

บทว่า  อนฺนโท  อธิบายว่า บุคคลแม้มีกำลังมากแต่ไม่ได้กินอาหารหลายๆ วัน (สองสามวัน) ก็ไม่อาจเพื่อจะลุกขึ้น ส่วนบุคคลผู้มีกำลังทรามได้กินอาหารแล้วก็ย่อมถึงพร้อมด้วยกำลังได้ เหตุใด เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า บุคคลให้อาหารชื่อว่าให้กำลัง ดังนี้.

บทว่า  วตฺถโท  อธิบายว่า บุคคลแม้มีรูปงาม แต่มีผ้าสกปรกดังผ้าขี้ริ้วหรือไม่มีผ้าเลย ย่อมเป็นผู้น่าเกลียด ถูกเหยียดหยาม ไม่น่าดู บุคคลมีผ้าปกปิดดีแล้วย่อมงามราวกะเทพบุตร เหตุใด เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า บุคคลให้ผ้าชื่อว่าให้วรรณะ ดังนี้.

บทว่า  ยานโท  ได้แก่ ยานทั้งหลายมีหัตถิยาน (ยานช้าง) เป็นต้น ก็แต่ว่าในบรรดายานเหล่านั้น ยานช้าง ยานม้าย่อมไม่สมควรแก่สมณะ การให้ไปด้วยรถก็ไม่สมควรเหมือนกัน ยานที่สมควรแก่สมณะ ก็คือรองเท้าสำหรับสมณะผู้รักษาอยู่ซึ่งศีลขันธ์ เพราะฉะนั้น บุคคลให้รองเท้า ไม้เท้าคนแก่ เตียง ตั่ง. อนึ่ง บุคคลใดย่อมชำระหนทาง ย่อมทำบันได ย่อมทำสะพาน ย่อมมอบเรือให้แม้ทั้งหมดนี้ ก็ชื่อว่าให้ยานเหมือนกัน.

บทว่า  สุขโท  โหติ  คือ ชื่อว่าให้ความสุข ก็เพราะนำความสุขในยานมาให้.   บทว่า  จกฺขุโท  โหติ  อธิบายว่า ให้ประทีปโคมไฟ ชื่อว่าให้จักษุ เพราะความที่บุคคลทั้งหลาย ถึงแม้มีตาก็ไม่สามารถมองเห็นในที่มืดได้ ผู้ให้ประทีปโคมไฟนั้นย่อมได้แม้ซึ่งความถึงพร้อมแห่งทิพยจักษุเหมือนพระอนุรุทธเถระ.

บทว่า  สพฺพโท  โหติ  อธิบายว่า ผู้ให้ทุกสิ่งทุกอย่างดังที่กล่าวแล้วนั่นแหละ คือมีการให้กำลังเป็นต้น คือว่าเมื่อภิกษุเที่ยวบิณฑบาตไปสองสามบ้านไม่ได้อะไรๆ มาอยู่ก็ดี เมื่ออาบน้ำในสระโบกขรณีอันเย็นแล้วเข้าไปสู่ที่พักอาศัย นอนในเตียงครู่หนึ่งแล้วลุกขึ้นมานั่งก็ดี ย่อมได้กำลังราวกะบุคคลอื่นนำมาใส่ให้ในร่างกาย.

ก็บุคคลเที่ยวไปในภายนอก ผิวพรรณในกายย่อมคล้ำไปด้วยลมและแดด เมื่อเข้าไปสู่ที่พักอาศัยปิดประตูแล้วนอนสักครู่หนึ่ง ความสืบต่อแห่งวิสภาคะย่อมเข้าไปสงบระงับ ความสืบต่อแห่งสภาคะย่อมก้าวลง ย่อมได้ผิวพรรณวรรณะ ราวกะบุคคลนำใส่ไว้ให้.

ก็เมื่อบุคคลเที่ยวไปภายนอก หนามย่อมทิ่มแทง ตอไม้ย่อมกระทบ อันตรายทั้งหลายมีงูเป็นต้นและโจรภัยย่อมเกิดขึ้น เมื่อเข้าไปสู่ที่พักอาศัยปิดประตูนอนแล้ว อันตรายทั้งหมดเหล่านั้นย่อมไม่มี. เมื่อสาธยายอยู่ ปีติและความสุขในธรรมย่อมเกิดขึ้น เมื่อทำกรรมฐานไว้ในใจอยู่ ความสุขอันสงบย่อมเกิดขึ้น เมื่อบุคคลเที่ยวไปภายนอก เหงื่อทั้งหลายย่อมไหลออก ตาทั้งสองย่อมฝ้าฟาง ในเวลาที่เข้าไปสู่เสนาสนะย่อมเป็นราวกะว่าตกลงไปในหลุม เตียงและตั่งย่อมไม่ปรากฏ ก็เมื่อบุคคลนอนพักสักครู่หนึ่ง ความผ่องใสแห่งตาก็จะมีได้ ราวกะว่าบุคคลนำมาใส่ไว้ให้ ช่องลมประตูหน้าต่างและเตียงตั่งย่อมปรากฏ.

ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า  โส  จ  สพฺพทโท  โหติ  โย  ททาติ  อุปสฺสยํ  แปลว่า ก็บุคคลใดให้ที่พักพาอาศัย บุคคลนั้นชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ดังนี้.

บทว่า  อมตํ  ทโท  จ  โส  โหติ  อธิบายว่า เมื่อบุคคลยังบิณฑบาตให้เต็มด้วยโภชนะอันประณีต แล้วถวายอยู่ ชื่อว่าให้ความไม่ตาย.

บทว่า  โย  ธมฺมมนุสาสติ  อธิบายว่า บุคคลใดย่อมพร่ำสอนธรรม ย่อมบอกอรรถกถา ย่อมสอนบาลี ย่อมแก้ปัญหาที่ถามแล้ว ย่อมบอกกรรมฐาน ย่อมทำธรรมสวนะ แม้ทั้งหมดนี้ ชื่อว่าย่อมพร่ำสอนธรรม.

อนึ่ง การให้ธรรมนี้เท่านั้น บัณฑิตพึงทราบว่าเป็นเลิศกว่าการให้ทั้งหมด.  ข้อนี้ สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า

สพฺพทานํ  ธมฺมทานํ  ชินาติ          สพฺพรตึ  ธมฺมรติ  ชินาติ
สพฺพรสํ  ธมฺมรโส  ชินาติ            ตณฺหกฺขโย  สพฺพทุกฺขํ  ชินาติ.

การให้ธรรมย่อมชนะการให้ทั้งปวง  ความยินดีในธรรมย่อมชนะความยินดีทั้งปวง  
รสแห่งธรรมย่อมชนะรสทั้งปวง   ความสิ้นตัณหาย่อมชนะทุกข์ทั้งปวง ดังนี้.

จบอรรถกถากินททสูตรที่ ๒      

ที่มา :  https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=15&i=137    

🙏Support me

___

ผู้ประพฤติธรรม ย่อมอยู่เป็นสุข , คนโง่ ไม่ควรเป็นผู้นำ , ผู้นำ ผู้ตาม , ม่ถูกนินทา ไม่มีในโลก , ผู้ใดให้ที่พักอาศัย ผู้นั้นชื่อว่าให้สิ่งทั้งปวง ผู้ใดสอนธรรม ผู้นั้นชื่อว่าให้อมตะ , บุญเป็นสิ่งเดียวที่โจรขโมยจากเราไปไม่ได้ , ผู้มีศีลย่อมได้รับคำชื่นชมและมีความสุขสงบใจอันเกิดจากกุศล , ผู้ให้ ย่อมผูกไมตรีไว้ได้ , สุภาษิตและสำนวนในภาษาอังกฤษ (2) , สุภาษิตและสำนวนในภาษาอังกฤษ (1) , คำคมภาษาอังกฤษ ,  'เชื่อมั่นในตน' เกิดเป็นคนควรจะพยายามจนกว่าจะประสบความสำเร็จ , ตนแล เป็นที่พึ่งแห่งตน , ชนะตนแล ประเสริฐกว่า , ปัญญาย่อมประเสริฐกว่าทรัพย์ , คนที่เป็นอยู่ด้วยปัญญา นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า มีชีวิตประเสริฐ , ธรรมเป็นเหตุให้ยศเจริญ , ผู้ให้ ย่อมเป็นที่รัก , ชนเหล่าใดประมาท ชนเหล่านั้นเป็นเหมือนคนที่ตายแล้ว , จิตที่บุคคลตั้งไว้ชอบ ,  เพียงดังแก้วมณีโชติรส , ผู้ดำเนินชีวิตโดยธรรม ,  ผู้เห็นภัยในความประมาทโดยปกติ ,  ผู้เพ่งความสงบ พึงละโลกามิสเสีย , พุทธภาษิตเกี่ยวกับความตาย , ความไม่รู้เป็นมลทินร้ายที่สุด , คนชั่วช้า ไม่พ้นตาสังคม ,  เมื่อจักขุวิญญาณเห็นรูป ก็เป็นเพียงแต่เห็น , เมื่อจิตเลื่อมใสแล้ว ทักขิณาทานชื่อว่าน้อย ย่อมไม่มี , ช่วยกันเขียนให้ถูก และแปล อย่าให้ผิด , ผู้ใดมีมรรคผลเป็นแก่นสาร ผู้นั้นจักทนอยู่ได้ การให้ธรรมเป็นทาน ย่อมชนะการให้ทั้งปวง , คนล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร , มลทินที่ร้ายแรงที่สุด







Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: